Group Blog
 
All blogs
 
ความลับบนแหลมไซไน อีกหนึ่งมนต์ขลังแห่งทะเลทราย จากโสภาค สุวรรณ

 

พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๓ สำนักพิมพ์คลังวิทยา

เมื่อ ชาครี ... พี่ชายผู้กำความลับสำคัญเอาไว้ถูกตามล่าถึงชีวิต

เอมิลา .. นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยไคโร

น้องสาวคนเดียวจึงจำต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย

เพื่อช่วยพี่ชายให้หลุดพ้นจากผู้ตามล่า

ทว่า .. ท่ามกลางความยากลำบากต่างๆ นานา

ความรักความเข้าใจระหว่างเอมิลาและ ฮัซซาร์

เจ้าชายแห่งอียิปต์

นายตำรวจจากกรมสืบราชการลับ

ก็ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความสำเร็จในการช่วยพี่ชาย

และไขความลับบนแหลมไซไน

 

กระแส ฟ้าจรดทรายฟีเวอร์ ทำให้นึกถึงนวนิยายเรื่องโปรดอีกเรื่องจากนามปากกา โสภาค สุวรรณ ที่ต้องตามหาซื้อมาเก็บ แต่ก่อนจะเก็บต้องอ่านก่อน   "ความลับบนแหลมไซไน"  ที่จำเนื้อเรื่องไม่ได้เลยเพราะเคยอ่านตั้งแต่ตอนยังเด็ก แต่จำได้แม่นอยู่อย่างหนึ่งว่าเป็นเรื่องแนวทะเลทรายที่ชอบมากกว่าฟ้าจรดทราย  เมื่อได้อ่านอีกครั้ง  ที่ไม่อยากไปไหน ไม่อยากทำอะไรนอกจากหมกมุ่นกับการอ่านเพื่อติดตามเรื่องราวความเป็นไปของตัวละคร เพื่อไขปริศนาความลับบนแหลมไซไนให้กระจ่าง ก็ได้คำตอบแล้วว่าทำไมชอบมากกว่า เพราะนอกจากเรื่องนี้จะมี "ความรัก" ที่ไม่ได้น้อยหน้าฟ้าจรดทราย แล้วยังมี "ความลับ" ชวนให้ลุ้นติดตาม และยิ่งกว่านั้น ยังมีทั้ง ประวัติศาสตร์, สังคมการเมือง และ ศาสนา ที่ส่วนตัวเชื่อว่าบรรดานักอ่านที่ไม่โปรดฟ้าจรดทราย ด้วยเหตุผลที่ว่าบรรยายมากมายจนนึกเบื่อ คงจะโปรดเรื่อง ความลับบนแหลมไซไน ได้ยากเหมือนกัน รวมถึงเรื่อง เจ้าชาย ด้วย เพราะสองเรื่องหลังนี้ นอกจากจะหนักทั้งบรรยายแล้วยังหนักทั้งคำพูดของตัวละครอีกด้วย เรียกได้ว่าความรู้ 'เข้มข้น' กว่ากันเยอะ จนอาจจะกลายเป็นความน่าเบื่อสำหรับนักอ่านบางท่านได้ เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ชวนขำที่จำมาได้ประโยคหนึ่งจากบล็อกรีวิวเรื่องเจ้าชายว่า .. มันอาจจะหนักหนาสำหรับคนที่ไม่ชอบความรู้อันอัดแน่น    แต่ก็ไม่แน่นะคะท่าน ถ้าหากตัวละครและเรื่องราวมีความน่าสนใจ ท่านอาจจะนึกรักนึกชอบเรื่องนี้ก็ได้ ใครจะรู้ 

ส่วนตัวเป็นคนชอบสไตล์การเขียนของโสภาค สุวรรณอยู่แล้ว (แม้บางเรื่องจะหนักหนาจริงอย่างที่ว่า)  ทั้งยังชอบเรื่องราวของประวัติศาสตร์และสังคมเป็นทุนอยู่ด้วย ตอนเด็กอยากเป็นนักรัฐศาสตร์บ้างล่ะ อยากเป็นนักโบราณคดีบ้างล่ะ  (แต่ที่เรียนมาและเป็นมาอยู่เนี่ย .. สุดจะห่างไกลเหมือนคนละฟากฟ้า ) ย่อมนึกชอบนวนิยายเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง นี่ยังไม่รวมถึงมูลเหตุจูงใจที่มีความรักอย่างสุดซึ้งให้กับ การ์ตูนเรื่องคำสาปฟาโรห์ มีใครเคยอ่านบ้างไหมคะ  เรื่องของเจ้าชายเมมฟิสแห่งอียิปต์ แครอล ไอซิส เจ้าชายอิสมิลแห่งอิปไทน์ กษัตริย์ราคัชแห่งบาบิโลน ฯลฯ น่ะค่ะ   กระทั่งอียิปต์กลายเป็นดินแดนปิรามิดที่มีความใฝ่ฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องไปเยือนให้ได้  

เมื่อสถานที่หลักของเรื่องนี้ คือ อียิปต์ .. การบรรยายบอกเล่าถึงประวัติศาตร์ของอียิปต์จึงถูกจริตอย่างมาก ยิ่งถ้าประกอบเข้ากับเรื่องราวของความรักของพระเอกนางเอกที่สุดแสนจะโดนใจเข้าด้วยล่ะก็ ยิ่งชอบเข้าไปกันใหญ่   ความหวาน ความโรแมนติก จึงไม่ใช่เหตุผลหลักของการเป็นนวนิยายรักที่น่าประทับใจเสมอไป  มันต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ เป็นเครื่องปรุงแต่งให้กลมกล่อมเหมือนกันการปรุงอาหารนั่นไง และแน่นอนว่ารสชาดความอร่อยของคนแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน

เชื่อว่า "ความรัก" เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของนวนิยายที่จะทำให้ "ได้ใจ" ผู้อ่านมากน้อยแค่ไหน

คุณสนใจจะลองสัมผัสความรักในแบบของ เอมิลา กับ เจ้าชายฮัซซาร์  ดูบ้างมั้ยล่ะ ?

เป็นความรักที่ไม่ค่อยเหมือนนวนิยายเรื่องไหนๆ และเราขอตั้งนิยามเอาไว้ว่านี่คือ

Smiley  "รักแท้ในความห่างเหิน"  Smiley

เอมิลา แฮสติ้ง เป็นลูกครึ่งฟิลิปปินส์-อังกฤษ แม่ของเธอเป็นมุสลิมชาวฟิลิปปินส์ที่เคยมาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไคโร  พ่อเป็นนักชีววิทยาสำรวจใต้ทะเลลึกชาวอังกฤษ เคยไปทำงานสำรวจชีวิตปลาพวกหนึ่งแถวชาร์มเล็ลชีคทางใต้สุดของแหลมไซไนแล้วมาพักผ่อนที่อียิปต์ จึงได้พบรักกับแม่  เมื่อ มุสลิม กับ ยิว พบรักกัน ความแตกต่างทั้งด้านเชื้อชาติและศาสนานำมาซึ่งอุปสรรคมากมายที่ทำให้ต้องต่อสู้ฟันฝ่า แต่ก็ยังมิวายต้องพลัดพราก  ที่หมายรวมถึงการแยกกันอยู่กับชาครี การตายอย่างเป็นปริศนาของพ่อและการหายไปของพี่ชายในเวลาต่อมาด้วย

เอมิลายังโชคดีที่ได้อยู่กับพ่อและแม่ที่ดันซาลัน ส่วนพี่ชาย ชาครี ต้องอยู่กับลุงรอฮีมและเติบโตขึ้นมาที่ดาเวา บ้านเกิดของแม่และผองพี่น้องทั้งหลาย แต่ความห่างไกลไม่ได้ทำให้สายสัมพันธ์ของครอบครัวนั้นเหินห่างตามไปด้วย  ชาครีกับเอมิลา จึงเป็นพี่น้องที่มีความรักความผูกพันต่อกันอย่างแน่นแฟ้น

บนเรือเดินสมุทรบรรทุกคนโดยสารผู้เดินทางไปจาริกแสวงบุญที่นครมักกะห์ เอมิลาและแม่ซึ่งเป็นมุสลิมก็ร่วมเดินทางเพื่อไปทำฮัจญ์และนัดพบกับชาครีในครั้งนี้ด้วย  แต่แม่ของเอมิลาเสียชีวิตระหว่างการเดินทางอยู่กลางทะเล  เอมิลาจึงเหลือตัวคนเดียวตามลำพังและคาดหวังจะได้พบกับพี่ชายที่มาเรียนต่อใมหาวิทลัยเก่าแก่อัลฮัซฮัรของอียีปต์และนัดหมายจะมาพบกัน  แต่ที่ท่าเรือจิดดาห์ เอมิลาไม่เห็นแม้แต่เงาของชาครี 

เจ้าหญิงคาครียา นาบิล เอ็ล ฟาร์ราซ บาดาวี คือเพื่อนรักของแม่เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยไคโร แม่กับเจ้าหญิงนัดหมายมาพบเพื่อจะไปทำฮัจญ์ด้วยกัน  แล้วหลังจากนั้นเจ้าหญิงจะรับเอมิลาไปอยู่ด้วยเพื่อเข้าศึกษาต่อด้านแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไคโรในอียิปต์ เมื่อสิ้นแม่เสียแล้ว เจ้าหญิงคาครียาจึงรับอุปการะเอมิลาอย่างเต็มตัว

แต่ใช่ว่าจะสุขสบายมีชีวิตอยู่ในวังได้พบรักกับเจ้าชายผู้ทรงอำนาจเหมือนชีวิตในฝันหรอกนะคะ

เพราะคำว่า 'เจ้าหญิง' เป็นเพียงพระยศที่ไม่มีอำนาจราชศักดิ์ใดหลงเหลืออยู่อีกต่อไป อียิปต์ในยุคนั้นเป็นยุคหลังการปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังก์  'เจ้าหญิง' 'เจ้าชาย' จึงเป็นเพียงพระยศที่ติดอยู่กับบรรดาสายเลือดสุดท้ายของเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่สิ้นอำนาจ  ปราสาทราชวัง สมบัติพัสถาน ถูกรัฐบาลริบไปหมดสิ้น เจ้าหญิงคาครียาประทับอยู่ในที่พักเล็กๆ ที่รัฐบาลเช่าให้ในตึกเก่าๆ โทรมๆ แห่งหนึ่ง

เจ้าชายฮัซซาร์ เอ็ล ฟาร์ราซ บาดาวี  เป็นหลานชายที่ในอดีตเยาว์วัยทรงได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในตำหนักของท่านป้าคือเจ้าหญิงคาครียา   หลังการโค่นล้มราชบัลลังก์เจ้าชายฮัที่ยังเด็กต้องเสด็จตามเชื้อพระวงศ์บางส่วนที่ลี้ภัยไปตั้งรกรากอยู่ที่ฝรั่งเศส และทรงเติบโตขึ้นที่นั่นได้รับการศึกษาที่ฝรั่งเศสก่อนจะไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ  แม้ว่าความเป็นอยู่ของเหล่าเชื้อพระวงศ์ในต่างแดนจะไม่ได้ลำบากมากนัก ยังพอมีราชทรัพย์ส่วนพระองค์พอให้ใช้เป็นทุนสร้างเนื้อสร้างตัว แต่หลังสำเร็จการศึกษาเจ้าชายฮัซซาร์ได้ตัดสินพระทัยเสด็จกลับสู่อียิปต์เพียงลำพังเพราะมีพระประสงค์จะใช้ความรู้ความสามารถในการรับใช้ชาติบ้านเมือง แม้แค่เพียงในฐานะประชาชนอียิปต์คนหนึ่ง  ทรงเป็นนายทหารที่ออกร่วมรบในสงครามสร้างเกียรติภูมิให้แก่ประเทศชาติ และต่อมาถูกย้ายมาเป็นนายตำรวจประจำการอยู่ในกรมสืบราชการลับ

เฉกเช่นท่านป้าของท่านที่จะใช้อียิปต์เป็นเรือนตาย แม้จะไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย นอกจากการเป็นนายตำรวจยศพันเอก กินเงินเดือนราชการ มีฐานะพออยู่ได้ปานกลาง และเช่าห้องพักเล็กๆ อยู่อาศัย เหมือนชายโสดธรรมดาทั่วไปคนหนึ่ง

สาวๆ ทั้งหลาย ที่นิยมพระเอกนวนิยาย หล่อรวยเงินทอง-มั่งมียศศักดิ์-อำนาจบารมีเหลือล้น อย่าเพิ่งถอดใจกับเจ้าชายไร้ทรัพย์ที่เป็นเชื้อพระวงศ์อนาถาผู้นี้นะคะ ขึ้นชื่อว่าเป็นสายเลือดขัตติยา หรือ ที่มักเรียกกันว่า "เลือดสีน้ำเงิน" รัฐบาลก็ริบได้แต่เฉพาะอำนาจและทรัพย์สมบัติ ไม่อาจริบเอาความทระนงองอาจและเกียรติยศศักดิ์ศรีของท่านไปได้  พระเอกที่มีเชื้อสายกษัตริย์มักจะต้องมีความเท่ห์ที่ "ไม่ธรรมดา" ทุกราย ดูแต่ท่านราชองครักษ์ชารีฟแห่งฟ้าจรดทรายยังให้มีเชื้อพระวงศ์ฝ่ายแม่ที่เป็นเจ้าหญิงอยู่ครึ่งหนึ่ง  ความเท่ห์ของท่านราชองค์รักษ์จะได้ขลังยิ่งกว่าเดิม เป็นที่พึ่งคนสำคัญของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ทั้งเก่งกาจและจงรักภักดี

 

เจ้าหญิงคาครียา เป็นเหมือน "ท่านแม่" ของเจ้าชายฮัซซาร์  ที่ประทับของเจ้าหญิงจึงเป็นที่ที่เจ้าชายจะเสด็จแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนเป็นปกติของท่านอยู่แล้วเสมอ ตั้งแต่ก่อนที่เจ้าหญิงจะรับเอาเอมิลามาอุปการะ เจ้าชายท่านมีกุญแจบ้านใช้เข้าออกของท่านเอง มาจิบกาแฟตอนเช้ามืดหลังออกเวร มาเสวยกับท่านป้า มางีบหลับยามเหน็ดเหนื่อยจากงานและผ่านมาใกล้    ในเรื่องจะไม่ได้บอกอายุแน่ชัด แต่เริ่มแรกเมื่อเอมิลามาถึงไคโร อายุยังไม่เต็มยี่สิบปี การดำเนินเรื่องราวในเรื่องนี้กินเวลาประมาณสี่ปี เอมิลาอายุประมาณ ๑๘-๒๒ ปี ส่วนเจ้าชายประมาณเอาว่าน่าจะอายุมากกว่านางเอกประมาณ ๗-๘ ปี ก็ราวๆ ๒๖-๓๐  เพราะจากที่อ่าน จินตนาการคือหนุ่มวัยฉกรรจ์กับสาวน้อยแรกรุ่นน่ะค่ะ สถานะของเจ้าชายกับเอมิลา จึงเหมือน "ผู้ใหญ่" กับ "เด็ก"  ที่คนทั่วไปไม่มีใครเคยคิดเฉลียวใจว่าจะเห็นกันเป็นอื่นไปได้  เมื่อเจ้าชายฮัซซาร์สละโสดชื่อของเจ้าสาวจึงเป็นเรื่องไม่นึกไม่ฝัน เจ้าบ่าวของเอมิลาก็เป็นชื่อเหนือความคาดคิด ที่แม้แต่เพื่อนสนิทของเธออย่างอามินยังบอกว่า 

"คุณทำให้ผมหงายหลังตกเก้าอี้หลังไหล่แทบหักพออ่านพระนามของเจ้าบ่าวในบัตรเชิญ"

ขนาดท่านป้า คาครียา ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน ยังดูหลานชายที่เคยเลี้ยงมากับมือไม่ออกเลย  ท่านก็หลงเข้าใจเหมือนคนทั้งไคโร เจ้าชายฮัซซาร์จะลงเอยกับลูกสาวเศรษฐี อิซิส ฟาเดล

อามิน ฟาเดล    เป็นลูกชายเพื่อนเก่าพ่อของเอมิลาคือคุณหมอ อับดุลลา ฟาเดล และ มาดามไลลา  เขามีพี่สาวคนสวยคนหนึ่งชื่อ อิซิส  ฟาเดล ครอบครัวฟาเดลถือเป็นครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย   มารดาของอามินเป็นสตรีจากยุคเก่าที่ยังมีความจงรักภักดีฝังหัว ขณะที่พี่สาว-อิซิสเติบโตขึ้นมาในยุคที่สตรีมีอิสระเสรีและมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในสังคมอียิปต์ยุคใหม่ ความเก่ากับความใหม่จึงประสานกันอยู่ในครอบครัวที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างลงตัวได้ ฐานะที่ดีของครอบครัวทำให้อิซิสได้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศและกลับมามีธุรกิจการงานที่ดี  เป็นสตรีเนื้อหอมที่ถูกหมายปองจากหนุ่มๆ มากหน้าหลายตา  แต่ตัวอิซิสเอง กำลังอยู่ระหว่างการเลือก ตำรวจใหญ่เลือดสีน้ำเงินเข้มข้นจากราชวงศ์ในอดีต-เจ้าชายฮัซซาร์  หรือนักการเมืองการกฏหมาย - ซากี้ อาบุฟ  ขณะที่นางไลลาปรารถนาจะมีเขยเป็นเจ้าชายเพื่อมีหลานที่สืบทอดสายเลือดมาจากราชวงศ์อียิปต์ เช่นเดียวกับอามินที่ชอบเจ้าชายฮัซซาร์มากกว่าซากี้ แต่เขาไม่เคยดูออกเลยว่าเจ้าชายฮัซซาร์คิดอย่างไร ท่านไม่ได้ห่างเหินมากนัก แต่ท่านก็ไม่ได้มีท่าทีว่าอยากจะชิดใกล้   เจ้าชายองค์นั้น เป็นคนที่ไม่เคยมีใครอ่านความรู้สึกนึกคิดของท่านออก และแน่นอนว่า ถ้าท่านไม่เต็มใจเองก็จะไม่มีใครสามารถบังคับท่านได้

อามินศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีมีอาชีพเป็นไกด์นำเที่ยว  เจ้าหญิงคาครียาเป็นพระอาจารย์สอนด้านนี้ ท่านเคยสอนอามินเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา  และปัจจุบันท่านก็ยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งหนึ่ง   เจ้าชายฮัซซาร์ก็สืบสายเลือดมาจากราชวงศ์อียิปต์ เคยผจญกับเหตุการณ์ในยุคเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เคยเป็นนายทหารออกรบในสงคราม อิเมลดาและเฮนรี่ พ่อแม่ของเอมิลา เป็นตัวแทนของสองศาสนาที่แตกต่างแต่รักกันและสร้างครอบครัวที่อบอุ่นปรองดอง ลุงรอฮีมผู้มีศรัทธาในศาสนาเดียวกันแต่ความเชื่อการตีความในหลักธรรมคำสั่งสอนนั้นแตกต่าง   เหล่านี้..เป็นการสร้างตัวละครที่สามารถสร้างเหตุการณ์เชื่อมโยงสถานที่ เชื่อมโยงเรื่องราวเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคมการเมือง และศาสนา ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวมากทีเดียว ความขัดแย้งเพราะความเชื่อหนึ่ง และความปรองดองเพราะความเชื่อหนึ่งระหว่าง อาหรับ กับ ยิว มีปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้อย่างน่าทึ่ง  

อามิน เป็นตัวละครเดินเรื่องที่สำคัญ เพราะการเป็นไกด์นำเที่ยวนี่แหละ เขาเป็นเพื่อนสนิทของเอมิลา ที่รู้กันอยู่เพียงสองคนว่าเรา 'เพื่อนกัน'  เพราะในสายตาของคนทั่วไปทั้งสองคือ 'คนรัก' ที่คบหาดูใจกันมาตลอดด้วยดี  โดยไม่มีใครนอกจากเอมิลาที่รู้ว่าอามินรักอยู่กับ นาซารีน สาวน้อยนักเต้นระบำหน้าท้องที่ถือเป็นรักต่างชนชั้น และยากจะเป็นที่ยอมรับของครอบครัวได้  ส่วนเอมิลาก็ใช้ประโยชน์จากอามินในการเป็นผู้นำทางเพื่อออกตามหาพี่ชายของเธอ โดยที่อามินไม่เคยรู้ตัวเองในแง่นั้น     

ชาครีไม่ได้มารับเอมิลากับแม่ที่ท่าเรือจิดดาห์ตามที่สัญญากันไว้ ไม่มีชื่อของชาครีอยู่ในทะเบียนนักศึกษาปีปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเก่าแก่อัลฮัซฮัร  ชาครีหายไปพร้อมกับปริศนาความลึกลับที่เอมิลาได้รับเพียงข่าวสั้นๆ จาก โกมา ชาวนูเบียนที่เคยเป็นคนรับใช้เก่าแก่ของพ่อ และโกมาก็ไม่รู้รายละเอียดอะไรมากไปกว่าการคอยส่งข่าวตามคำขอร้องของชาครี ข่าวสั้นๆ ที่ไม่ช่วยให้เอมิลารู้อะไรมากนัก นอกจากพอปะติดปะต่อได้ว่าเขากำลังหลบหนีศัตรูและการตามล่าเอาชีวิต  ชาครีที่ต้องการจะพบน้องสาวเหลือเกิน แต่ก็ไม่อาจจะพบกันได้  เอมิลาจึงทุกข์ทรมานอยู่กับความรักความห่วงกังวลที่ไม่รู้ว่าชาครีอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร ทำได้เพียงการเฝ้ารอ 'ข่าว' จากโกมา และออกติดตามค้นหาเพื่อจะพบกัน แต่ไม่อาจจะรู้เลยว่าชาครีหนีอะไร หนีใคร และไปทำอะไรมาถึงต้องหนี  

มีความหวังเข้ามาเติมเชื้อไฟเป็นระยะ แต่แล้วก็เป็นแค่ความหวังที่สูญเปล่า หนทางจะพบชาครียังมืดมน   แรกๆ จึงรู้สึกว่าอืด ดำเนินเรื่องช้าอยู่สักหน่อย แต่หลังจากมีเบาะแสที่มากขึ้น ขบวนการตามล่าก็ออกโรง และการฆ่าอย่างเหี้ยมโหดก็เกิดขึ้น

ตลอดสามปีที่ผันผ่าน .. 'เด็กคนนั้น' อยู่ในสายพระเนตรพระกัณฐ์ของเจ้าชายฮัซซาร์ ทั้งที่เฝ้าจับตามองเอมิลาด้วยตนเอง  ทั้งที่ส่งลูกน้องเฝ้าติดตาม  เพราะใช่แต่เอมิลาเท่านั้นที่ต้องการจะพบชาครี  เจ้าชายฮัซซาร์ก็ต้องการตัวพี่ชายของเธอด้วยเช่นกัน ความลับที่ชาครีมีเป็นที่ต้องการของรัฐบาล และการติดตามค้นหาตัวชาครีพร้อมกับความลับนั้น เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของเจ้าชายฮัซซาร์นายตำรวจกรมสืบราชการลับ

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมกับความเกี่ยวข้องของเจ้าชายอัซซาร์ ที่สอดคล้องให้ต้องสงสัยว่าเขาคือศัตรูที่ตามล่าหมายเอาชีวิตชาครี   ความหวาดกลัวที่มีต่อเจ้าชายฮัซซาร์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม เจอความไม่ไว้ใจซ้ำเข้าไป ยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์อันห่างเหิน ที่เพิ่มความโกรธเคืองเติมเข้าไปอีกไม่น้อย 

เสน่ห์ความน่ารักของพระเอกนางเอกเรื่องนี้คือ ความห่างเหินนี่แหละ เจ้าชายฮัซซาร์เป็นคนดุ  ที่พบกันทีไรเอมิลาเป็นต้องนึกกลัวอยู่เสมอ ยิ่งเข้าใจว่าเป็นศัตรู  ที่เคยกลัวท่านอยู่แล้ว  ยิ่งทั้งกลัว ทั้งโกรธ และพ่วง เกลียด เข้าไปด้วย  คนโหดเหี้ยม.. คนใจร้าย...อำมหิต  กลัว ..เกลียด.. เกลียดเจ้าชายฮัซซาร์ เอ็ล ฟาร์ราซ บาดาวี จับใจ อย่างที่ไม่เคยเกลียดใครมาก่อนในชีวิต

เรารู้สึกว่าตั้งแต่แรกที่เอมิลากลัวเจ้าชายฮัซซาร์อยู่ตลอด หลีกเลี่ยงไม่พบหน้า ไม่พูดจาด้วยถ้าไม่จำเป็นมันน่ารักดีน่ะค่ะ เจ้าชายจะพูดถึงเอมิลากับท่านป้า ส่วนเอมิลามักจะพูดถึงเจ้าชายกับซุลตานา หญิงรับใช้ในบ้านที่เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงของเธอ  เอมิลารับรู้ว่าเจ้าชายพูดถึงตัวอย่างไรจากท่านป้าคาครียา  ส่วนเจ้าชายฮัซซาร์ก็รับรู้ว่าเอมิลาพูดถึงท่านอย่างไรจากซุลตานา   ท่านป้าไม่ได้มีอะไรเอะใจเพราะในสายพระเนตรของท่านเจ้าฮัซซาร์เป็นผู้ใหญ่ การบอกเล่าถึงเอมิลา ก็เป็นเพราะท่านเองที่เป็นห่วงและฝากฝังให้เจ้าชายเป็นหูเป็นตาคอยช่วยดูแล 'น้อง'  ส่วนซุลตานา อาจจะแปลกใจในอารมณ์ของคุณเอมิลาที่พูดถึงเจ้าชายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสัญญาณจะบอกอะไรได้มากกว่า เด็กคนหนึ่ง ที่กลัวผู้ใหญ่ดุๆ ท่านนึง  เป็นสายใยบางๆ ท่ามกลางบรรยากาศความเหินห่างที่เชื่อมใจคนสองคนนี้ไว้ด้วยกันและค่อยๆ กลายเป็นความผูกพันที่เหนียวแน่นขึ้นตามกาลเวลา

ชอบความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอกนับตั้งแต่แรกพบสบหน้า "เด็กคนนั้น" ที่ออกอาการกลัว "ท่าน" อย่างเห็นได้ชัด  ต่อมาผู้ใหญ่ก็เห็นว่าเด็กดื้อรั้น ส่วนเด็กก็เห็นว่าผู้ใหญ่ท่านอวดดี  น่าโกรธ น่า..เกลียด และเวลาท่านกริ้วเอา เอมิลาก็กลัวซะแข้งขาแข็ง มือไม้สั่น  แต่เรื่องของชาครีเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตต่อให้กลัวแค่ไหนเด็กก็หันมาเล่นงานด้วยการกัดผู้ใหญ่ซะจมฟันแบบสุดแรง รอยฟันของเด็กจึงเป็นแผลเป็นติดอยู่บนหัตถ์ของผู้ใหญ่ เป็นรอยคอยย้ำเตือนให้คิดถึงคะนึงหา... (ชอบมากมาย )  

ยิ่งการติดตามค้นหาชาครีไปสู่การไขความลับบนแหลมไซไนได้เริ่มต้นการเดินทางขึ้นอย่างแท้จริงพร้อมกับอันตรายที่ติดตามประชั้นชิดอยู่รอบตัว   เมื่อผูกเข้ากับปมของเรื่องราวของความลับที่แขวนชีวิตของชาครีไว้บนเส้นด้ายแล้วยังพ่วงเอาชีวิตของเอมิลาไปแขวนไว้อีกชีวิตหนึ่งด้วย ทั้งคำสั่งเสียก่อนตายของแม่ ที่ราวกับแม่จะรู้ล่วงหน้าว่าชาครีจะไม่มาตามคำสัญญา จดหมายปิดผนึกซองหนาปึกของพ่อ ที่สั่งห้ามเอมิลาเปิดอ่านและส่งให้ถึงมือของพี่ชายให้ได้  ชิ้นส่วนเอกสารลับที่เขียนด้วยภาษาฮีโรกลิฟฟิคโบราณของอียิปต์ที่ตกมาอยู่ในมือของเอมิลาส่วนหนึ่ง แล้วยัง ชีคซากาเรีย อัล อาร์มี อัล ซาอุด แห่งคูเวต ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ท่านชีคหนุ่มเศรษฐีบ่อน้ำมันรูปงามที่หวังให้เอมิลาตอบรับไมตรีจิตอันหวานชื่น

ชีคซากาเรียผู้มีศักดิ์แห่งเจ้าชายเท่าเทียมกันกับเจ้าชายฮัซซาร์  แต่ฐานะต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่จากการวางตัวของเจ้าชายฮัซซาร์ คือ ความสง่างามในเกียรติภูมิของผู้สืบทอดราชวงศ์อียิปต์ ที่ความร่ำรวยชองชีคซากาเรียมิอาจข่มทับให้ท่านต้อยต่ำกว่าได้ (ณ จุดนี้ รักพระเอกซะจริงๆ ขอบอก)

ครึ่งแรกก็อ่านลุ้นอยู่กับการรอคอยการพบกันของพระเอกนางเอกแต่ละครั้ง พอครึ่งหลังที่เรื่องราวเข้มข้นขึ้นก็กลายเป็นความยากสักหน่อยที่จะวางหนังสือลง ชอบเจ้าชายเพราะท่าน 'ดุ' นี่แหละค่ะ จิตใจที่ผ่านความทุกข์ความผันแปรในชีวิตมามากทำให้เป็นคนกร้าวแกร่ง เสียงรับสั่งก็ติดจะห้วนสั้น เป็นการเป็นงาน  สงสารเอมิลาท่านก็สงสารอยู่หรอกแต่ความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทำให้ไม่มีเวลาจะมาคอยทนุถนอม คำพูดหวานหู การกระทำอ่อนโยนเอาอกเอาใจท่านทำไม่เป็น  ทั้งยังคอยหักห้ามใจเพราะคิดว่าเป็นแต่เพียงความรู้สึกที่ต้องใกล้ชิดยามร่วมทางกันเท่านั้น ท่านมีเพียงแต่ศักดิ์เจ้าชายหน้านาม ไม่ได้มีฐานะอื่นใดสมเป็นเจ้าชาย  จึงไม่เคยคิดว่าเด็กสาวสวยสะอาดอย่างเอมิลาจะมีเยื่อใยให้    ชอบเจ้าชายเวลาดุเอมิล่าด้วยคำว่า  "ไม่เข้าเรื่อง"   ชอบการปลอบโยนให้กำลังใจที่ไม่ได้มีความอ่อนหวานแต่ก็เป็นการปลุกปลอบที่เติมพลังให้ฮึดสู้อย่างเข้มแข็ง  ชอบความเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ทั้งความอ่อนน้อมยามเสด็จไปพบเบดูอินผู้เฒ่า ความเมตตาอ่อนโยนที่มีต่อสัตว์  น้ำใจไมตรีและความดุดันเฉียบขาดที่จะใช้ในแต่ละสถานการณ์เพื่อเอาตัวรอดจากการเดินทางผ่านทะเลทรายไปสู่เขตแหลมไซไนที่จะต้องบุกบั่นความยากลำบากไปให้ถึงยอดภูเขาไซไน ที่ๆ ความลับรอการเปิดเผย และเมื่อการเดินทางสิ้นสุดลง  ความรักที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยรู้ใจของอีกฝ่าย จะเดินทางกันต่อไป..ไกลถึงไหน ถึงจะมาบรรจบพบกันและลงเอยด้วยความเข้าใจว่า 'รัก' .. ซะที 

สนุกมากค่ะ  เป็นอีกหนึ่งในนวนิยายหลายๆ เรื่องของโสภาค สุวรรณ ที่ประทับใจ  

นอกเหนือจากความรู้สึกชื่นชมในประสบการณ์ความรู้ที่ถูกนำมาบรรยายถ่ายทอดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งในแง่โบราณสถานและโบราณคดีแล้ว การเขียนถึงเรื่องราวของสิทธิสตรี สังคมการเมือง และศาสนา ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แต่เขียนออกมาในแบบที่ทำให้เรารู้สึกว่า โสภาค สุวรรณ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้อย่างลึกซึ้งเป็นแน่ จึงถ่ายทอดออกมาได้งดงามเช่นนั้น เรื่องนี้ต้องขอยกย่อง  

 

และขอคัดลอกเอาความตั้งใจของโสภาค สุวรรณ เกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้มาเล่าสู่กันอ่าน 

คำนำ

ความลับบนแหลมไซไน เป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นด้วยความบันดาลใจหลายอย่างรวมกัน  เริ่มแรกนั้นก็ด้วยมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศอียิปต์เพื่อเยี่ยมเยียนบิดามารดาตามปรกติ  เมื่อไปถึงข้าพเจ้าก็ได้รับความรักความกรุณาอย่างเคย นั่นคือ อะไรที่เป็นความรู้ ทั้งบิดา มารดา จะเล่าสู่กันฟัง เพื่อประดับสติปัญญาลูกสาวท่าน  ใช่แต่เท่านั้น เมื่อว่างเว้นหน้าที่ราชการ ท่านก็พาข้าพเจ้าออกตระเวนดูความเป็นไปของประชาชนและภูมิประเทศ แม้ในส่วนซึ่งหวงห้าม เราก็มีโอกาสผ่านเข้าไปได้อย่างน่าประหลาด

แต่ไหนแต่ไรมา บิดาผู้เขียนเป็นผู้ให้ความรู้ทางวิชาการและมารดานั้น ท่านชำนาญในเรื่องสืบเสาะเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการตีสนิทกับผู้คนหลายระดับ จากวงราชการไปจนถึงประชาชน ท่านเป็นผู้บอกเล่าและพาข้าพเจ้าออกตระเวนหาความรู้ทุกซอกทุกมุมชนิดที่เรียกว่า ไม่มีทัวร์ลีดเดอร์คนไหนจะให้โอกาสนักท่องเที่ยวได้รู้เห็นเท่านี้

ข้าพเจ้าได้บเจ้าหญิง เจ้าชายนอกราชบัลลังก์ ประทับใจในความสง่างาม และความเป็นผู้ดี ทระนงในสายเลือดของท่านแม้จะไร้บัลลังก์ก็ตาม ได้เห็นวังเก่าซึ่งสวยงาม โอ่อ่า ที่กลายเป็นสถานทูตของประเทศหนึ่งไปเสียแล้ว  มารดาข้าพเจ้ายังแนะนำให้รู้จักผู้คน ทั้งจากอดีต คือผู้ซึ่งเคยเห็นความเป็นไปก่อนเปลี่ยนแปลงและปัจจุบัน รับฟังเรื่องราวตลอดจนรับรู้อารมณ์ความนึกคิดของเขาเหล่านั้น 

บรรยากาศ ภูมิประเทศ เสน่ห์แห่งทะเลทรายอันมีมนต์ขลัง เจ้าชายและเจ้าหญิงไร้บัลลังก์ แม้ "เหลียง หวัง" ตัวจริง ซึ่งพบกันอย่างบังเอิญกับมารดาข้าพเจ้าบนเครื่องบิน อีกทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ  สิ่งเหล่านี้คือจุดบันดาลใจให้จินตนาการเรื่อง ความลับบนแหลมไซไน ขึ้น

ข้าพเจ้ามีความสนุกและเป็นสุขที่ได้เขียนและถ่ายทอดสิ่งซึ่งรู้เห็นลงในนวนิยาย ถึงอย่างนั้นก็ตาม นวนิยายก็คงเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากจินตนาการของคนเขียน ความรู้ที่สอดแทรกได้มาจากหนังสือวิชาการ ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่าไม่ได้คิดเอาเอง เพียงแต่ไม่ถึงกับลงบัญชีรายการค้นคว้าท้ายเล่ม เพราะไม่ได้เขียนวิทยานิพนธ์  ส่วนคำบอกเล่านั้น ข้าพเจ้าได้มาจากมารดาและผู้ซึ่งมีเจตนาดีโดยแท้จริง มั่นใจว่า ท่านเหล่านั้นไม่โป้ปดมดเท็จ หรือนึกฝันพูดไปหาสาระไม่ได้ ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ยังตั้งใจอยู่ดีว่า นี่คือนวนิยายอ่าเพลินพอสนุกแก้เหงา คลายเครียดเท่านั้นเอง

งานเขียนของข้าพเจ้าอยู่บนรากฐานดังกล่าวมาแล้ว คือนอกจากจะให้ความบันเทิง ก็อยากจะให้อะไรพอประดับสติปัญญาท่านผู้อ่านบ้างเท่านั้นเอง อาจเรียกได้ว่าเป็นสไตล์หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ได้เหมือนกัน 

ด้วยเหตุนี้ ขอท่านได้อ่านนวนิยายของข้าพเจ้าเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวร่วมกับคนเขียนเถิด

อนึ่ง หนังสือเล่มนี้จะสมบูรณ์ไปไม่ได้ ถ้าข้าพเจ้าเว้นไม่กล่าวถึงผู้มีพระคุณและมิตรซึ่งมีส่วนช่วยเหลือให้ ความลับบนแหลมไซไน จบลงอย่างครบถ้วนเป็นรูปเล่มเช่นนี้

ข้าพเจ้าของกราบบิดามารดา ผู้มีส่วนมหาศาลในการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์และนำพาให้ได้รายละอียดทุกด้านที่ต้องการอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะกาศึกษาเรื่องภาษาฮีโรกลิฟฟิคโบราณของอียิปต์นั้น นับเป็นความอดทนมหาศาลของมารดาข้าพเจ้าที่ได้เพียรหัดอ่านเขียน แล้วถ่ายทอดมาสู่ข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์ในการนี้โดยเฉพาะ

ขอขอบคุณ MRS. HELEN ELIZABETH FENTON และ MR. CASSIUS MARVIN FENTON อดีตเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของ  U.N. (สหประชาชาติ) ผู้เคยใช้ชีวิตช่วยเหลือพวกลี้ภัยปาเลสไตน์ ท่านมีน้ำใจเอื้อเฟื้อให้หยิบยืมเอกสารและภาพยนตร์เกี่ยวกับไซไนโดยละเอียด  ขอขอบคุณคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการสตรีสารที่จะไม่ลืมคือ สายสัมพันธ์ ฉัตรพลรักษ์ น้องสาวข้าพเจ้า ผู้จัดการธุรกิจให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นรูปเล่มถาวร และสำนักพิมพ์คลังวิทยาผู้จัดพิมพ์ขึ้น 

ก่อนจบคำนำครั้งนี้ ข้าพเจ้าของขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ให้ความสนใจงานเขียนของข้าพเจ้าเสมอมา น้ำใจไมตรีจิตความปรารถนาดีที่ท่านมีต่อข้าพเจ้านั้น ยากจะลืมเลือน ขอได้รับความขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ด้วยความรักและปรารถนาดี

โสภาค สุวรรณ

ขอบคุณ โสภาค สุวรรณ เช่นกันค่ะ นึกขอบคุณเสมอ ... ที่ในวัยเด็กได้มีโอกาสอ่านผลงานของท่าน  ที่มีส่วนก่อให้เกิดนิสัยรักการอ่าน และยังอ่านมาจนถึงทุกวันนี้  

อ่านเรื่องนี้แล้ว ก็ทำให้คิดถึงเจ้าชายผู้สูงค่าอีกองค์  "เจ้าชาย  ชาครี ราชิด  อัลซาอิด  อัลโมราวิท (เรื่อง เจ้าชาย )  รอก่อนนะท่าน .. แล้วเราจะได้พบกัน   Smiley




Create Date : 25 สิงหาคม 2556
Last Update : 26 สิงหาคม 2556 20:26:47 น. 19 comments
Counter : 4590 Pageviews.

 
โอ้โห.. จขบ.รีวิวได้ละเอียดสุดๆ
เพราะกระแสฟ้าจรดทรายที่เราไม่ได้ดู
ทำให้เรานึกถึงและอยากอ่านนิยายแนวนี้ที่เรารักของโสภาค สุวรรณเหมือนกัน
ซึ่งก็คือ ความลับบนแหลมไซไน กับ เจ้าชาย
แต่จนใจที่หาไม่จอ จำไม่ได้ว่าเก็บไว้กล่องไหน
ได้มาอ่านรีวิวจขบ.แล้วพอจะหายคิดถึงได้บ้าง

เห็นด้วยว่า คนที่ไม่ชอบอ่านบทบรรยาย ชอบประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
อาจจะไม่ชอบนิยายของโสภาค สุวรรณ แต่เราชอบมาก
และนี่คือ ส่วนสำคัญที่ทำให้เราชอบนิยายของนักเขียนท่านนี้
(แต่ยกเว้นงานในยุคหลังๆ ยอมแพ้กับบทบรรยายเหมือนกัน)

รออ่านรีวิว เจ้าชาย นะคะ


โดย: ฟ้าใส ในเงาจันทร์ วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:18:16:36 น.  

 
เป็นรีวิวที่ละเอียดมากๆ แต่ก็ชอบมากเพราะเคยอ่านเรื่องนี้นานแล้วและชอบมากด้วยค่ะ
พระเอกนี่ตอนแรกแนวผู้ใหญ่ชอบดุเด็ก แต่พักหลังนี่แสดงออกว่ารักได้แบบน่ารักมาก


โดย: ณ พิชา IP: 49.48.108.139 วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:19:03:21 น.  

 
@ ฟ้าใส ในเงาจันทร์ @ ณ พิชา ถ้าเป็นนวนิยายหรือละครเรื่องโปรดล่ะก็ แตะเบรกลำบากทุกทีค่ะ


โดย: prysang วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:19:11:45 น.  

 
เป็นเรื่องแนวทะเลทรายยุคแรกๆของคุณโสภาค ที่ชอบมากครับ
แนะนำ "โกบี" อีกเรื่องครับ แต่อาจจะได้อารมณ์ในอีกแบบ


โดย: สามปอยหลวง IP: 122.154.3.131 วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:20:47:20 น.  

 
อยากอ่านเหมือนกันครับ เพราะได้ยินคำชมถึงเรื่องนี้มามาก ยิ่งมีนักอ่านบางท่านชอบมากกว่าฟ้าจรดทรายเสียอีก


โดย: อุ้มสม วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:20:48:56 น.  

 
เข้ามาอ่านรายละเอียดอีกรอบ.. ขอบคุณนะคะที่รีวิวได้ละเอียดมาก
หานิยายไม่เจอ อ่านรีวิวไปก่อนก็ได้

#น้องอุ้มสม เข้ามายกมือว่าเป็นอีกเสียงว่า ชอบเรื่องนี้มากกว่า ฟ้าจรดทราย
แนวทะเลทรายของโสภาค สุวรรณ ชอบ ความลับบนแหลมไซไน กับเจ้าชายใกล้เคียงกัน
รองมา คือ ยังมีรักที่อฮักการ์ แล้วถึงเป็น ฟ้าจรดทราย
แต่ถ้านับ ฟ้าสางที่ดักการ์(ปากีสถาน) ฟ้าจรดทรายจะตกไปเป็นลำดับ 5 เลย


โดย: ฟ้าใส ในเงาจันทร์ วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:21:29:08 น.  

 
รีวิวได้สุดยอดมากค่ะ ยังไม่เคยอ่านนิยายของโสภาค สุวรรณ เลยค่ะ แต่ก็มีอยู่ในกองดองหลายเล่มเหมือนกันค่ะ


โดย: Sab Zab' วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:21:36:54 น.  

 
เรื่องนี้เคยอ่านนานมากๆแล้วค่ะ
สมัยยังไม่ฮิตเรื่องทะเลทราย
ชอบค่ะ เป็นเรื่องที่ชอบเรื่องนึงเลย

ขอบคุณมากๆนะคะ



โดย: lovereason วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:23:47:01 น.  

 
เป็นอีกเรื่องที่มีคนแนะนำกันเยอะ
แต่เรายังไม่ได้อ่านสักที


โดย: คอเล่า วันที่: 26 สิงหาคม 2556 เวลา:8:27:30 น.  

 
เคยอ่านตั้งแต่สมัยคลั่งไคล้งานของผู้เขียนที่ตะลุยอ่านงานทะเลทรายจนเกือบหมด เรื่องนี้ ไม่ค่อยเหลือในความทรงจำเท่าไหร่น่ะค่ะ


โดย: ~:พุดน้ำบุศย์:~ วันที่: 26 สิงหาคม 2556 เวลา:10:26:02 น.  

 
เรื่องนี้ยังไม่เคยอ่านเลยค่ะ สงสัยต้องไปหายืมมาอ่านบ้างแล้วค่ะ


โดย: polyj วันที่: 26 สิงหาคม 2556 เวลา:10:53:26 น.  

 
เรื่องนี้อ่านนานมากแล้วค่ะ สมัยโน้น อ่านงานของคุณป้าโสภาค เยอะมาก ๆ

แต่สมัยนี้ไม่ค่อยได้อ่านเลยค่ะ...มันคงอิ่มจากไพรัชนิยายละมังคะ


โดย: Serverlus วันที่: 27 สิงหาคม 2556 เวลา:8:17:18 น.  

 
เป็นเล่มโปรดเช่นกันค่ะ


โดย: กล้ายางสีขาว วันที่: 27 สิงหาคม 2556 เวลา:12:16:32 น.  

 
กำลังมองหานิยายเล่มนี้อยู่พอดี ติดใจจากยังมีรักที่อฮัคการ์


โดย: Nat_NM วันที่: 27 สิงหาคม 2556 เวลา:12:30:52 น.  

 
ยังไม่เคยได้อ่านทั้งฟ้าจรดทรายและเรื่องนี้เลยค่ะ...


โดย: Aneem วันที่: 27 สิงหาคม 2556 เวลา:19:54:48 น.  

 
อ่านรีวิวแล้วรู้สึกมีอารมณ์ร่วมตามเลยค่ะ ถ้าผู้จัดละครไทยมีทุนน่าจะสร้างเป็นละครอีกสักเรื่องนะ อยากดู ><


โดย: คุณหนูฤดูร้อน วันที่: 28 สิงหาคม 2556 เวลา:12:52:15 น.  

 
เป็นรีวิวที่ละเมียดละไมจริงๆค่ะ รู้สึกเหมือน จขบ.เลยค่ะ ชอบเรื่องนี้มากกว่าฟ้าจรดทรายเช่นกัน พัฒนาการความสัมพันธ์ของตัวเอกทั้งคู่มันมีมิติมากกว่า จากความรู้สึกติดลบ มีอารมณ์ซึน ปากแข็ง จนตกลงแต่งงาน อินได้มากกว่าค่ะ ณ จุดนี้ ในฟ้าจรดทราย อิช้านก็ยังไม่เข้าจายว่าทำมายท่านชารีฟโดนซ้อมปางตายแล้วยังหื่นได้ขนาดน้านนน (ถึกทนราวกับแรมโบ้ เน๊อะ)


โดย: เกล้า IP: 58.8.65.179 วันที่: 2 กันยายน 2556 เวลา:23:10:39 น.  

 

@ คุณเกล้าคะ ขอฉีกยิ้มกับประเด็นท่านชารีฟ ใจตรงกันเลย ส่วนตัวเราเห็นว่ามันเป็นจุดที่ดรอปความดีความชอบของ ฟ้าจรดทรายไปพอสมควร (แต่ก็ยังชอบอยู่นะ) ประมาณว่า .. อาไรเนี่ย ..ท่านชารีฟ มิเชล คือ บรรยากาศมันไม่ให้ค่ะท่าน ณ จุดนั้น มันยังไม่ใช่()

เปรียบกับสถานการณ์ความรักสุกงอมและบรรยากาศสุดแสนจะเป็นใจ เอมิลาที่เห็นอกเห็นใจเจ้าชายอย่างสุดซึ้ง ถึงกับต้องออกปาก"หม่อมฉัน ไม่..ไม่ได้ห้ามเพคะ" (ไม่ได้ห้าม ถ้าเจ้าชายจะไม่ยับยั้งชั่งใจ) คำขอบใจ และคำตอบของเจ้าชายฮัซซาร์ โห ..สุด..ได้ใจ สุภาพบุรุษสุดแมน เท่ห์ที่ซู้ด ..

แต่ก็นะ .. ท่านเป็นเจ้าชายนี่ คนสองคนที่รักกัน แม้ท่านคิดว่าไม่ผิด แต่ก็คิดเช่นกันว่า ไม่ถูกต้องนัก ..เจ้าชายจะทำเรื่อง 'ไม่งาม' ได้ยังไงกัน นั่นอาจเป็นที่มาของคำวิจารณ์ว่าเรื่องนี้ไม่หวาน ...แต่ความอดทนและสำนึกอันดีงามแบบนั้นแหละที่เราชอบ


โดย: prysang วันที่: 2 กันยายน 2556 เวลา:23:48:13 น.  

 
เพิ่งจะอ่านจบไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง หลังจากที่เคยอ่านครั้งแรกเมื่อตอนมัธยมต้น จำรายละเอียดแทบไม่ได้เลย พอมาอ่านอีกทียิ่งสนุกกว่าเดิมเหมือนไม่เคยอ่านมาก่อนเลย ชอบplotเรื่องกำหนดได้ดี บุคคลิกของตัวละครแต่ละตัวเหมือนมีตัวตนจริงๆ เล่าเรื่องได้สนุกไม่เคอะเขิน บทพูดก็เป็นธรรมชาติดี ตัวละครอีกตัวที่น่าชมคือ อามิน ฟาเดล นำเที่ยวได้สนุกดี ถ้าจะให้ดีควรเปิดแผนที่ไปด้วยจะเข้าใจและสนุกได้มากขึ้น ควรอ่านฟ้าจรดทรายก่อนเรื่องนี้


โดย: Reading Nook IP: 202.182.30.148 วันที่: 17 ตุลาคม 2561 เวลา:17:54:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.