การทำบุญ

ค้นคว้า..หามาเขียนครั้งที่แล้วซึ่งเป็นฉบับปฐมฤกษ์ ผู้เขียนได้นำเรื่อง พระไตรปิฎก มาอธิบายให้ทราบกันว่ามีความหมายอย่างไรและมีรายละเอียดหลักอะไรบ้าง ในวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของการทำบุญ

จากครั้งที่แล้วที่ว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นั้น ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าเดี๋ยวนี้คนเข้าวัดทำบุญกันมากขึ้น สมัยเมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กอายุประมาณ 7-8 ปี ก็มีหน้าที่ที่ชอบมากอย่างหนึ่งคือ พายเรือไปวัดกับคุณปู่ พอถึงวันก่อนวันพระหนึ่งวันหรือที่เรียกกันว่าวันโกน คุณปู่ก็จะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ที่ขาดไม่ได้ก็คือหมากพลูและยาเส้น จากนั้นคุณปู่
และหลานสาวตัวจ้อยก็พากันพายเรือไปนอนค้างที่วัด เพื่อที่ว่าวันโกนจะได้ร่วมทำวัตรเย็นกับพระทั้งวัดและสมาทานศีล 8 กลางคืนก็ได้นั่งวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งกิจอันนี้ต้องหมายถึงคุณปู่เป็นผู้ทำแน่นอน เพราะตัวผู้เขียนเองยังเด็กอยู่มากก็เอาแต่เที่ยวเล่นสนุกไปวัน ๆ การได้มาวัดกับคุณปู่หมายถึงการได้ออกมาเที่ยวนอกบ้าน มีขนมกิน มีเพื่อนเล่น ที่สำคัญได้กินข้าววัด..


พอรุ่งเช้าไก่ขัน น่าจะประมาณตี 3 พระจะเคาะระฆังเตรียมตัวทำวัตรเช้ากันแล้ว ดังนั้นหากไม่มานอนค้างที่วัด พายเรือมาตอนเช้าเห็นท่าจะไม่ไหว เพราะหนทางจากบ้านมาวัดก็ไกลโขอยู่ทีเดียว ประกอบกับสมัยนั้นเรือหางยาวยังเป็นของใหม่สำหรับสังคมชนบท ชาวบ้านธรรมดาก็ต้องใช้เรือพาย ถึงจะมีปัญญาหาซื้อเรืองหางยาวมาใช้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเสียสตางค์ เนื่องจากวิถีชีวิตยุคนั้นไม่ต้องเร่งรีบไปเสียทุกลมหายใจเข้าออกเหมือนสมัยนี้

เวลาที่คุณปู่พายเรือพาผู้เขียนไปวัด ระหว่างทางก็จะพบเห็นวิถีชีวิตชาวบ้านริมน้ำที่บางคนก็ลงมาอาบน้ำซักผ้าในคลอง บ้างก็เก็บสายบัว บ้างก็ตกปลา ดำนา ทุกครั้งที่ผ่านพบชาวบ้านทำกิจธุระอยู่ริมน้ำ คุณปู่ ก็จะตะโกนทักทายคุยกันไปพายเรือไปตลอดทาง บางบ้านก็เรียกให้แวะดื่มน้ำแล้วเอาขนมใส่ห่อใบตองให้ผู้เขียนเป็นเสบียงไปอยู่วัด ซึ่งอันนี้ผู้เขียนจะชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะแต่ละบ้านก็จะมีฝีมือในการทำอาหารหรือขนมแตกต่างกันออกไป กว่าจะไปถึงวัด ผู้เขียนก็มีเสบียงอยู่ในเรือมากพอที่จะเอาไปถวายพระบ้าง แบ่งกินกับเพื่อนบ้าง เรียกว่าได้หน้าโดยไม่ต้องลงทุน


ที่วัด ส่วนใหญ่จะเป็นคนแก่คนเฒ่ามาทำบุญกัน หาน้อยมากที่เป็นหนุ่ม ๆ สาว ๆ ส่วนเด็ก ๆ ไม่ต้องพูดถึง ที่เห็นเด็ก ๆ มาวัดนั้น ส่วนใหญ่ก็ติดสอยห้อยตามบรรดาปู่ย่าตายายมากันทั้งนั้น ดังนั้นท่าผูกเรือที่วัดก็จะคลาคล่ำไปด้วยเรือพาย จนผู้เขียนเองก็ยังเคยสงสัยว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรือลำไหนเป็นของใคร เพราะเห็นมันเหมือน ๆ กันหมด แต่ก็นั่นแหละความสงสัยของเด็ก ถึงแม้จะได้คำตอบก็ไม่ได้ใส่ใจจำ เมื่อปฏิบัติภารกิจในวันพระเสร็จแล้ว บรรดาญาติโยมทั้งหลายก็จะร่วมรับประทานอาหารกันในศาลาวัด ตกบ่ายแก่ ๆ คุณปู่ก็จะลาพระลาศีลพาหลานกลับบ้านด้วยความสุข เป็นเช่นนี้ทุกวันโกนวันพระ ตราบจนท่านชราภาพมากจนไม่สามารถพายเรือได้แล้ว กิจกรรมนี้ก็จบไปพร้อมกับสังขารของท่าน ส่วนตัวผู้เขียนนั้น จะได้ร่วมกิจกรรมนี้กับท่านก็ต่อเมื่อเป็นเวลาที่โรงเรียนปิดเทอมใหญ่เท่านั้น เพราะเมื่อเปิดเทอมต้องเรียนหนังสือและอยู่ที่กรุงเทพฯ กับพ่อแม่


การได้ไปวัดกับคุณปู่นั้นถึงแม้จะยังเป็นเด็กอยู่ แต่ก็ได้ซึมซับสิ่งดี ๆ มามาก
พอสมควร เช่นการไหว้พระ สวดมนต์ แต่ด้วยวัยที่เด็กซึ่งมักจะซุกซนชอบวิ่งเล่นไปตามประสา จึงไม่สนใจเรื่องการสนทนาธรรมกับพระ หรือการสวดมนต์ปฏิบัติธรรมอะไร ๆ หรอก รู้แต่ว่าชอบฟังเสียงพระสวดมนต์มาก ฟังแล้วมันไพเราะจับใจ ถึงแม้จะไม่รู้ความหมายแต่ก็ชอบ พอพระเริ่มสวดมนต์ก็จะมานั่งที่ท่าน้ำหน้าศาลาวัดเป็นประจำ กินขนมไปพลางฟังไปพลางหรือไม่ก็สวดตามท่านไปบ้าง สวดก็ไม่ได้เก่งหรือถูกต้องหรอกนะ ได้แต่จำเป็นท่อน ๆ เป็นคำ ๆ เอา อาศัยมาบ่อยได้ยินบ่อย ๆ เข้ามันก็พอจำได้มั่ง ถึงเวลาเพลเมื่อพระจะฉัน ก็จะวิ่งไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่ไม่ไกลจากวงข้าวพระ เพราะเมื่อท่านฉันเสร็จก็ถึงคราวที่ตัวเองจะได้กินข้าวก้นบาตรพระ อันเป็นความสุขอย่างยิ่งยวดของผู้เขียน แม้กระทั่งเมื่ออยู่กรุงเทพฯ ก็ยังแสวงหาข้าวกันบาตรพระกินอยู่เป็นประจำ................


ย้อนอดีตไปเสียยืดยาว กลับมาพูดเรื่องปัจจุบันกันต่อดีกว่า......
ปัจจุบันนี้คนเข้าวัดกันมากขึ้น มีทั้งพ่อแม่ที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวพาลูกเล็ก ๆ หรือพาคุณพ่อคุณแม่ มากันเป็นครอบครัวบ้าง มากันเป็นคู่ ๆ บ้าง เวลาไปปฏิบัติธรรมถือศีลกินเพลที่วัด มักจะพบเห็นเด็กหนุ่มสาวมาถือศีลกินเพลกันมากขึ้น อย่างเวลาที่โรงเรียนปิดเทอม แต่ละวัดก็จะมีการประชาสัมพันธ์ชวนให้นำเด็กผู้ชายมาบวชเป็นสามเณร หรือ กิจกรรมที่เรียกว่า “ สามเณรภาคฤดูร้อน “ ( ผู้เขียนชอบเรียกว่า สามเณรซัมเมอร์ ) โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกปลาบปลื้มที่เห็นคนมาทำบุญปฏิบัติธรรมกันเยอะ ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว เพราะเชื่อว่าด้วยการปฏิบัติธรรมจะสามารถนำพาชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นดำเนินไปในทางที่ดีแน่นอน ดังนั้น วันนี้ผู้เขียนจึงอยากจะนำบทความเกี่ยวกับการทำบุญมาเขียนให้ท่านทั้งหลายได้อ่านเพื่อเป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ


“ บุญ “ หรือ “ ปุญญ “ แปลว่า ชำระ หมายถึงการทำให้หมดจดจากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ “ บุญ “ ตามพระไตรปิฎกนั้น เราสามารถสร้าง “ บุญ “ กันได้ 3 อย่าง คือ

1) ทาน คือการให้ เช่นการตักบาตร บริจาคทรัพย์ ถวายสังฆทาน เป็นต้น ถือเป็นจาคะหรือการให้ ซึ่งนับเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่มีการให้บางประการที่ไม่นับเป็นบุญ เช่นให้สุรา มหรสพ ให้สิ่งเพื่อกามคุณ เป็นต้น

2) ศีล คือความประพฤติที่ไม่ละเมิด หรือ รักษาความสำรวมทางกาย วาจา ใจ การรักษาศีลสำหรับฆราวาสได้แก่ศีล 5 และอุโบสถศีล หรือ ศีล 8

3) ภาวนา คือการอบรมจิตทางสมถะและทางวิปัสสนาเรียกว่า วิปัสสนาภาวนา คือ สติรู้ถึงรูป-นาม

ทั้ง 3 ข้อข้างต้นนี้ รวมเรียกว่า “ บุญกิริยาวัตถุ 3 “
“ บุญ “ ยังมีอีก 7 อย่าง ตามอรรถกถา หรือ ข้อปลีกย่อยนอกเหนือจากพระไตรปิฎก ได้แก่

4) อปจายนะ ความเป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม

5) เวยยาวัจจะ ความขวนขวายในกิจหรืองานที่ควรกระทำ

6) ปัตติทาน การให้บุญที่ตนถึงแล้วแก่คนอื่น เช่นการอุทิศส่วนกุศล การกรวดน้ำ

7) ปัตตานุโมทนา การยินดีในบุญที่ผู้อื่นถึงพร้อมแล้ว เช่น เห็นผู้อื่นทำบุญตักบาตร เมื่อเราพลอยปลื้มปิติยินดีกล่าวอนุโมทนา เพียงเท่านี้ก็ได้บุญแล้ว

8) ธัมมัสสวนะ หรือการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังธรรมโดยตรง หรือ จากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ

9) ธัมมเทศนา หรือการแสดงธรรม เมื่อได้ศึกษาธรรมะแล้ว การถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น นับเป็นบุญประการหนึ่งด้วย

10) ทิฏฐุชุกรรม คือการกระทำความเห็นให้ตรง หรือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

เมื่อเราเข้าใจว่า “ บุญ “ ที่จะทำนั้นมีอะไรบ้างและมีความหมายอย่างไร เราก็จะสามารถเลือกทำได้ตามสถานะและกาลเวลาอย่างถูกต้อง บุญที่เราตั้งใจทำก็จะเป็นบุญที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะนำความสุขใจมาให้อย่างหาที่เปรียบมิได้ หรือที่เรียกกันว่า “ อิ่มบุญ “ นั่นเอง

ถึงเวลาที่จะต้องอำลากันอีกแล้ว ผู้เขียนขออธิษฐานจิต ให้กุศลผลบุญที่ผู้เขียนได้กระทำมาทั้งในอดีตชาติ จนถึงในชาติปัจจุบันและแม้แต่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จงส่งผลให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ที่สำคัญขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงตลอดชั่วอายุขัย.......จนกว่าจะพบกันใหม่คราวหน้า........สวัสดี


“ พรหมญาณี “








Create Date : 21 พฤษภาคม 2551
Last Update : 19 มีนาคม 2558 12:45:52 น. 0 comments
Counter : 1085 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมญาณี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]








Prommayanee Tansukchai




ส่งอีเมล์ถึงป้า
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
21 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add พรหมญาณี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.