Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
7 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 

ภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน

. . .

ภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน

จากเหตุการณ์ปะทะกันของตำรวจ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณหน้ารัฐสภา และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทั้งความเชื่อมั่น การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และตลาดเงินตลาดทุน

หอการค้าไทย

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน หอการค้าไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง อยากให้ทุกฝ่ายพึงสังวรณ์ ว่าหากความขัดแย้งในประเทศยังเกิดอยู่ต่อไป เชื่อว่าการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติจะหยุดชะงัก เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าจะสงบสุขเมื่อไร

อยากให้ทุกฝ่ายพูดจายุติปัญหาความขัดแย้ง ประนีประนอมด้วยเหตุด้วยผล บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และกระทบต่อคนไทย และหลังจากนี้ภาครัฐ และเอกชนจะต้องร่วมมือกันเร่งหาทางออก ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเสียเปรียบต่อการแข่งขันทางการค้าได้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการและรองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ยังอยู่ในวิสัยที่ภาคเอกชนรับได้ แต่มีความเป็นห่วงว่าเหตุการณ์บานปลายไปถึงรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจมีการนัดหยุดงาน เพื่อประท้วงความไม่ชอบธรรมในการสลายการชุมนุม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจอย่างแน่นอน


สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเกรงว่าเหตุการณ์จะลุกลามออกไป และยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคให้ชะลอการจับจ่ายใช้สอยลงไปอีกจนถึงสิ้นปีนี้ และกระทบภาคธุรกิจในที่สุด

นายสันติ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างประเทศติดตามข่าวอยู่แล้ว จึงย่อมมีผลต่อภาพลักษณ์ของไทย ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งหาทางยุติสถานการณ์โดยเร็ว ไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง พร้อมทั้งดูแลผู้บาดเจ็บที่เป็นคนไทยด้วยกัน


ม.หอการค้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หากรัฐบาลหมดความชอบธรรมในการเจรจาเพื่อยุติปัญหากับกลุ่มพันธมิตรฯ คาดว่าจะส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและค่าเงินบาทของไทย ที่ได้รับผลทางจิตวิทยาในเชิงลบ จากปัญหาการเงินสหรัฐฯอยู่แล้ว โดยจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอีก และจะลามต่อไป

ส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือด้านการท่องเที่ยว รองลงมาได้แก่ ภาคการบริโภค และการลงทุนในประเทศ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เดิมคาดว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะปรับตัวดีขึ้นหลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุน และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ชะลอตัวลง


สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ

นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การที่สำนักข่าวต่างชาติเผยแพร่ข่าวการสลายการชุมนุม ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก ซบเซายิ่งขึ้น และหากเหตุการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป จะทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้กว่า 10,000 ล้านบาท และอาจถูกประกาศให้เป็นประเทศที่ควรระวังในการท่องเที่ยว (Travel warning ) เหมือนกับในช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเดือนกันยายน

นักท่องเที่ยวจากแถบยุโรปจะไม่ยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากมีการจองโปรแกรมล่วงหน้าค่อนข้างนาน แต่อาจจะเปลี่ยนเป้าหมายในการเดินทาง พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ที่ประกอบการกระจายตลาดนักท่องเที่ยว เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน


ทีดีอาร์ไอ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะกระทบกับความเชื่อมั่นของประเทศให้ลดลงไปอีก เพราะทุกฝ่ายไม่ต้องการเห็นการใช้กำลังรุนแรงสลายการชุมนุม แต่ควรยึดแนวทางในการเจรจามากกว่า ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เห็นผล

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปัญหา แต่จะต้องมีเหตุการณ์ต่อเนื่องไปอีก เพราะในขณะนี้มีการเล่นการเมืองหลายฝ่าย ทำให้เหตุการณ์ภายในประเทศย่ำแย่ลง"

ส่วนการสลายการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายเป็นการชอบธรรมหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า มองได้หลายมุม ทั้งเห็นด้วยที่ควรเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ทำงานสักระยะหนึ่งก่อน และแก้ไขไปในแนวทางการสร้าง ส.ส.ร. 3 และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังของรัฐบาล


ผู้บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นห่วงการเมืองทำลายจุดเด่นประเทศไทย

นายวีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ ประธานกรรมการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ที่น่าวิตกกังวล เพราะภาพที่ออกไปสู่สายตาต่างประเทศทำให้นักลงทุนต่างประเทศขาดความเชื่อถือ เป็นการสะท้อนถึงการไม่มีระเบียบวินัย และรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ซึ่งปัญหาการเมืองได้เข้ามาทำลายจุดเด่น และความน่าสนใจของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะมีทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น ได้เข้ามาทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีของไทยด้อยลง

สิ่งสำคัญคือ ต้องเร่งแก้ปัญหาการเมืองด้วยเหตุผล ด้วยการใช้ความสามัคคี ซึ่งยอมรับว่าต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปี จึงจะแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะต้องวางรากฐานเรื่องคุณธรรม วัฒนธรรม ให้กับคนไทย และนักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่ให้แตกแยกกัน

“การแก้ปัญหาเรื่องการแตกแยกทางการเมืองไม่เชื่อว่าจะแก้ได้ทันตาเห็น ต้องค่อยๆวางรากฐานทางความคิด ทางการศึกษาให้กับคนรุนใหม่ ให้ระบบการเมืองไม่แตกแยก ไม่ทะเลาะกัน” นายวีระพันธุ์ กล่าว

นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า อยากเห็นความสามัคคีเพื่อที่ประเทศไทยจะได้ใช้โอกาสที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอตัว สร้างศักยภาพและประโยชน์ให้กับประเทศ

ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่นทั้งเรื่องการท่องเที่ยว สินค้าเกษตร อุตสาหกรรม โดยมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนปี 2540 เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะดี และมีธุรกรรมลงทุนในต่างประเทศไทยมาก ดังนั้น ผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐจึงไม่รุนแรง

. . .



ขสมก.ยืนยันไม่หยุดเดินรถ

นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก.ยังไม่มีการหารือกันในเรื่องของการนัดหยุดงานตามที่ทางแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศไปแต่อย่างใด และตนเห็นว่าหากทาง ขสมก.จะมีการหยุดเดินรถจริง ก็จะหยุดเพราะปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยของการเดินรถที่ต้องผ่านจุดที่มีการปะทะกันรุนแรง แต่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ก็ยังเปิดเดินรถตามปกติ และยืนยันว่า ขสมก.จะไม่มีการหยุดเดินรถ เนื่องจากสาเหตุทางการเมือง


ผู้ว่าการ กฟผ. ออกบันทึกให้พนักงานทำงานตามปกติ

นายปราโมทย์ อินทร์สว่าง รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หลังจากรับทราบข่าว นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ.ได้ออกบันทึกด่วนถึงผู้บริหารและพนักงาน กฟผ. ให้ปฏิบัติงานตามปกติ ตามระเบียบวินัย รักษาระบบผลิตกำลังส่งไฟฟ้าไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ ทั้งในส่วนการผลิตจากโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ และการส่งไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งต่างๆ

รองผู้ว่า กฟผ.ย้ำว่า จากการจัดตั้ง กฟผ.มานาน 40 ปี จะเห็นได้ว่า แม้จะมีการชุมนุมไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม กฟผ. ก็จะไม่ดับไฟฟ้าหรือหยุดเดินเครื่องเป็นเครื่องมือต่อรองการเจรจาแต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ทางฝ่ายบริหารก็พูดคุยกับสหภาพฯโดยตลอด ทราบว่า ไปชุมนุมในส่วนของการทำงานร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และทำตามระเบียบ คือ ไปร่วมชุมนุมนอกเวลาทำงาน แต่หากไปชุมนุมในเวลางานก็ต้องใช้การลาปฏิบัติงานตามระเบียบ


ผู้ว่าการ รฟท. เร่งทำความเข้าใจพนักงานหวั่นหยุดงานประท้วงอีกรอบ

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จากการประกาศของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้รัฐวิสาหกิจหยุดงานเพื่อตอบโต้การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่รัฐสภาวันที่ 7 ต.ค.ว่า จะเร่งทำความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในการให้บริการประชาชน และย้ำว่า รฟท.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และบทเรียนที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการหยุดเดินรถของพนักงาน รฟท.

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีพนักงาน รฟท.บางคน ที่จะหยุดงานเพื่อไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่น่าจะเป็นส่วนน้อย เพราะพนักงานส่วนใหญ่ของ รฟท. เชื่อว่ายังมีสำนึกในหน้าที่ของการเป็นพนักงาน

. . .


ตลาดหุ้นไทยเจอปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศดิ่งต่ออีก 4%

ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (7 ต.ค.) ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ ทั้งวิกฤติการเงินในตลาดโลก และปัญหาการเมืองในประเทศที่เกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันที่ 7 ต.ค.ปิดที่ 528.71 จุด ร่วงลง 23.09 จุด หรือร้อยละ 4.18 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 16,313 ล้านบาท

นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,542 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิที่ 738 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 804 ล้านบาท

นางวิริยา ลาภพรหมรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน มองว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่องและรุนแรง เพราะเจอแรงกดดัน 2 เด้ง คือ ตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับลดลงจากความกังวลเรื่องวิกฤติการเงินในสหรัฐ และปัญหาการเมืองในประเทศจากกรณีการเข้าสลายการชุมนุม

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับข้อมูล และข่าวลือเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ออกมาเป็นระยะ เช่น การปฏิวัติ ทำให้หุ้นไทยปรับลดลงแรง แต่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับภูมิภาคที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3-4

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (8 ต.ค.) หากการเมืองยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ จะเป็นปัจจัยกดดันตลอดทั้งสัปดาห์ และแนวโน้มดัชนียังคงผันผวนในทางลงอยู่ในระดับ 510-500 จุด จึงแนะนำว่านักลงทุนควรจะรอดูสถานการณ์ก่อน เพราะตลาดยังไม่มีจุดบอกว่า ความกังวลทั้ง 2 ประเด็นจะผ่อนคลาย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรงกว่าภูมิภาค คาดว่าน่าจะเกิดจากนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐที่ชะลอตัว จึงตัดสินใจขายหุ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาก่อน

ส่วนปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่มีเหตุการณ์รุนแรงไม่มีนัยสำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะเหตุการณ์ยังไม่รุนแรงมาก และเชื่อว่าในเร็วๆนี้คงจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและมีทางออกที่ดีได้

. . .




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2551
0 comments
Last Update : 7 ตุลาคม 2551 19:49:59 น.
Counter : 545 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.