space
space
space
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
22 เมษายน 2552
space
space
space

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน




หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม ทำให้ต่อมเมือกของหลอดลมโตขึ้นและหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามากกว่าปกติ เกิดอาการไอมีเสมหะ บางครั้งอาจอุดกั้นให้ช่องทางเดินของหลอดลมแคบลง เกิดอาการหอบเหนื่อยได้




หลอดลมอักเสบ แบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน (ซึ่งเกิด จากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่) และชนิดเรื้อรัง (ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่จัดเป็นส่วนใหญ่ มักมีอาการไอมีเสมหะติดต่อกันทุกวัน นานมากกว่า 3 เดือนใน 1 ปี และเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี)

ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
♦ ชื่อภาษาไทย หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Acute bronchitis
♦ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งมักเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ จึงมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้เสมหะเปลี่ยนจากสีขาว (จากการติดเชื้อไวรัส) เป็นสีเหลืองหรือสีเขียว

บางรายอาจเกิดจากการถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง สารเคมี เป็นต้น นอกจากนี้ ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ก็อาจมีน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนลงมาระคายเคืองต่อหลอดลมได้ เหล่านี้ทำให้ต่อมเมือกของหลอดลมโตขึ้น และมีเสมหะมากขึ้น

♦ อาการ
ที่สำคัญคือ อาการไอบ่อย ระยะแรกอาจไอแห้งๆ 2-3 ชั่วโมง หรือ 2-3 วันต่อมา ไอมีเสมหะเล็กน้อย ต่อมาเสมหะจะมีปริมาณมากขึ้น เสมหะอาจมีลักษณะใสหรือเป็นสีขาว (ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือการระคายเคือง) หรือเป็นเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียว (ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย)

ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้ บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ อยู่ 3-5 วัน
ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอนำมาก่อนที่จะเกิดอาการไอ บางรายอาจไม่มีอาการเหล่านี้นำมาก่อนก็ได้


อาการไอมักเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจไอนานกว่านี้ อาจไอมากตอนกลางคืน (จนทำให้นอนไม่หลับ) หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า

บางรายอาจมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ หรือเจ็บหน้าอกเวลาไอ ในเด็กเล็กอาจไอจนอาเจียนบางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือรู้สึกหอบเหนื่อยร่วมด้วย

♦ การแยกโรค
อาการไอมีเสมหะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

- ปอดอักเสบ ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ สีเหลืองหรือเขียว อาจมีอาการเจ็บแปล๊บที่หน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ ถ้ามีรุนแรง มักจะมีอาการหายใจหอบร่วมด้วย

- วัณโรคปอด ผู้ป่วยมักจะมีไข้ต่ำๆ ไอเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นแรมเดือน มีเสมหะเหลืองหรือเขียว ต่อมาจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอออกเป็นเลือด

- มะเร็งปอด ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นเดือนๆ อาจมีอาการเจ็บหน้าอกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อย ผู้ป่วยมักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมากนาน แต่บางรายอาจไม่มีประวัติสูบบุหรี่มาก่อนก็ได้

- โรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยมักมีอาการคันจมูก คันคอ น้ำมูกใส จามและไอ เวลาสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น อากาศเย็น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เป็นต้น มักมีอาการเป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี

- หืด ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง และมีอาการหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงดังวี้ดเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ มักมีประวัติว่ามีญาติสายตรงเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ

♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบจากอาการแสดง ได้แก่ อาการไอมีเสมหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โดยที่ผู้ป่วยกินได้ดี น้ำหนักไม่ลด ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ปกติ

ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy)

♦ การดูแลตนเอง

1. เมื่อมีอาการไอมีเสมหะ ให้ปฏิบัติตัวดังนี้
- พักผ่อนนอนหลับให้มากๆ
- ดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ เพื่อช่วยระบายเสมหะ
- งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ความเย็น น้ำเย็น น้ำแข็ง ของทอด ของมันๆ ฝุ่น ควัน อากาศเสีย ลมจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

2. ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ (ถ้ามีไข้) ถ้ารู้สึกระคายคอมากให้อมยาอมมะแว้ง จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือน้ำมะนาวคั้นใส่เกลือและน้ำตาล หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับการไอ และยาแก้หวัดแก้แพ้ (เช่น คลอร์เฟนิรามีน) อาจทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก

3. ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- น้ำหนักลด
- หายใจหอบเหนื่อย
- มีเสมหะเหลืองหรือเขียว
- มีไข้นานเกิน 7 วัน
- ไอเป็นเลือด
- เจ็บแปล๊บที่หน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ
- อาการไอไม่ทุเลาใน 2 สัปดาห์ หรือมีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามลักษณะอาการ และสาเหตุที่ตรวจพบ ดังนี้
1. แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองดังกล่าว
2. ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม (ถ้ามีอาการหายใจดังวี้ดหรือหลอดลมตีบ)
3. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) อีริโทรไมซิน (erythromycin) หรือโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) เฉพาะในรายที่มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (เช่น หืด หลอดลมพอง) หรือไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวเกิน 7 วัน
4. ในรายที่ตรวจพบว่ามีสาเหตุจากโรคกรดไกลย้อน แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรด เช่น โอเมพราโซล (omeprazole) ร่วมด้วย

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ที่อาจมีอันตรายร้ายแรง ได้แต่ ปอดอักเสบ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะพบในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง (เช่น หืด ถุงลมโป่งพอง)

ในรายที่เป็นซ้ำซาก อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่สูบบุหรี่

♦ การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักจะหายได้โดยการรักษาตามอาการ ส่วนน้อยที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ
อาการไอมักเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ บางรายอาจไอโครกๆ อยู่นาน 7-8 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน โดยมีอาการไอแห้งๆ หรือมีเสมหะสีขาว ทั้งนี้เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจากการอักเสบ ทำให้หลอดสมไวต่อสิ่งกระตุ้น (เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่น ลม ความเย็น) ผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้ น้ำหนักตัวไม่ลด กินอาหารและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ แพทย์จะให้การดูแลโดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่างๆ ให้ยาบรรเทาไอแล้วรอเวลาให้หลอดลมค่อยๆ ฟื้นตัวเป็นปกติ

♦ การป้องกัน
หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และหาทางป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ (เช่น อย่าให้ผู้ป่วยไอจามรดหน้า หมั่นล้างมือบ่อยๆ)

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมทั้งผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่




ขอบคุณ หมอชาวบ้าน


Create Date : 22 เมษายน 2552
Last Update : 22 เมษายน 2552 7:50:13 น. 1 comments
Counter : 1112 Pageviews.

 
ขอบคุณที่ให้ความรู้คะ


โดย: tempopo วันที่: 22 เมษายน 2552 เวลา:11:10:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

tanas251235
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]






space
space
[Add tanas251235's blog to your web]
space
space
space
space
space