Group Blog
All Blog
### ความสุขที่ถูกมองข้าม ###







คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่เชื่อว่า 
ยิ่งมีเงินทองมากเท่าไร
 ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น
 ความเชื่อดังกล่าวดูเผิน ๆ ก็น่าจะถูกต้อง
โดยไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ 
แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง 
ประเทศไทยน่าจะมีคนป่วย
ด้วยโรคจิตน้อยลง
 มิใช่เพิ่มมากขึ้น
ทั้ง ๆ ที่รายได้ของคนไทยสูงขึ้นทุกปี 
ในทำนองเดียวกัน
ผู้จัดการก็น่าจะมีความสุข
มากกว่าพนักงานระดับล่าง ๆ
เนื่องจากมีเงินเดือนมากกว่า 
แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ไม่นานมานี้มหาเศรษฐีคนหนึ่งของไทย
ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า 
เขารู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต
เขาพูดถึงตัวเองว่า
 "ชีวิต(ของผม)เริ่มหมดค่าทางธุรกิจ"
 ลึกลงไปกว่านั้นเขายังรู้สึกว่า
ตัวเองไม่มีความหมาย
เขาเคยพูดว่า "ผมจะมีความหมายอะไร 
ก็เป็นแค่....มหาเศรษฐีหมื่นล้านคนหนึ่ง" 
เมื่อเงินหมื่นล้านไม่ทำให้มีความสุข
เขาจึงอยู่เฉยไม่ได้ 
ในที่สุดวิ่งเต้นจนได้เป็นรัฐมนตรี 
ขณะที่เศรษฐีหมื่นล้านคนอื่น ๆ 
ยังคงมุ่งหน้าหาเงินต่อไป
ด้วยความหวังว่าถ้าเป็นเศรษฐีแสนล้าน
จะมีความสุขมากกว่านี้ คำถามก็คือ 
เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นจริงหรือ ?

คำถามข้างต้นคงมีประโยชน์ไม่มากนัก
สำหรับคนทั่วไป เพราะชาตินี้คงไม่มีวาสนา
แม้แต่จะเป็นเศรษฐีร้อยล้านด้วยซ้ำ
แต่อย่างน้อยก็คงตอบคำถามที่อยู่ในใจ
ของคนจำนวนไม่น้อยได้บ้างว่า 
ทำไมอัครมหาเศรษฐีทั้งหลาย 
รวมทั้งบิล เกตส์
จึงไม่หยุดหาเงินเสียที 
ทั้ง ๆ ที่มีสมบัติมหาศาล 
ขนาดนั่งกินนอนกินไป ๗ ชาติ
ก็ยังไม่หมด

แต่ถ้าเราอยากจะค้นพบ
คำตอบให้มากกว่านี้ 
ก็น่าจะย้อนถามตัวเองด้วยว่า 
ทำไมถึงไม่หยุดซื้อแผ่นซีดีเสียที
ทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วนับหมื่นแผ่น
 ทำไมถึงไม่หยุดซื้อเสื้อผ้าเสียที
ทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วเกือบพันตัว
ทำไมถึงไม่หยุดซื้อรองเท้าเสียที
ทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วนับร้อยคู่ 
แผ่นซีดีที่มีอยู่มากมายนั้น 
บางคนฟังทั้งชาติก็ยังไม่หมด
ในทำนองเดียวกัน เสื้อผ้า 
หรือรองเท้า ที่มีอยู่มากมายนั้น 
บางคนก็เอามาใส่ไม่ครบทุกตัว
หรือทุกคู่ด้วยซ้ำ
มีหลายตัวหลายคู่
ที่ซื้อมาโดยไม่ได้ใช้เลย 
แต่ทำไมเราถึงยังอยากจะได้อีก
ไม่หยุดหย่อน

ใช่หรือไม่ว่า สิ่งที่เรามีอยู่แล้วในมือนั้น
ไม่ทำให้เรามีความสุขได้
มากกว่าสิ่งที่ได้มาใหม่ 
มีเสื้อผ้าอยู่แล้วนับร้อย
ก็ไม่ทำให้จิตใจเบ่งบานได้เท่ากับ
เสื้อ ๑ ตัวที่ได้มาใหม่
มีซีดีอยู่แล้วนับพัน
ก็ไม่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น
ได้เท่ากับซีดี ๑ แผ่นที่ได้มาใหม่
ในทำนองเดียวกัน
มีเงินนับร้อยล้านในธนาคาร
ก็ไม่ทำให้รู้สึกปลาบ ปลื้มใจ
เท่ากับเมื่อได้มาใหม่อีก ๑ ล้าน
พูดอีกอย่างก็คือ
 คนเรานั้นมักมีความสุขจากการได้
 มากกว่าความสุขจากการ มี 
มีเท่าไรก็ยังอยากจะได้มาใหม่
เพราะเรามักคิดว่า
ของใหม่จะให้ความสุขแก่เราได้มากกว่า
สิ่งที่มีอยู่เดิม
บ่อยครั้งของที่ได้มาใหม่นั้น
ก็เหมือนกับของเดิมไม่ผิดเพี้ยน
แต่เพียงเพราะว่ามันเป็นของใหม่ 
ก็ทำให้เราดีใจแล้วที่ได้มา 
จะว่าไปนี่อาจเป็นสัญชาตญาณ
ที่มีอยู่กับสัตว์หลายชนิด
ไม่เฉพาะแต่มนุษย์เท่านั้น 
ถ้าโยนน่องไก่ให้หมา หมาก็จะวิ่งไปคาบ
 แต่ถ้าโยนน่องไก่ชิ้นใหม่ไปให้
มันจะรีบคายของเก่า
และคาบชิ้นใหม่แทน 
ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองชิ้นก็มีขนาดเท่ากัน
ไม่ว่าหมาตัวไหนก็ตาม 
ของเก่าที่มีอยู่ในปาก
ไม่น่าสนใจเท่ากับของใหม่ที่ได้มา

ถ้าหากว่าของใหม่ให้ความสุข
ได้มากกว่าของเก่าจริง ๆ 
เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือ
ของใหม่นั้นไม่นานก็กลายเป็นของเก่า 
และความสุขที่ได้มานั้นในที่สุดก็จางหายไป 
ผลก็คือกลับมารู้สึก "เฉย ๆ" เหมือนเดิม
และดังนั้นจึงต้องไล่ล่าหาของใหม่มาอีก 
เพื่อหวังจะให้มีความสุขมากกว่าเดิม 
แต่แล้วก็วกกลับมาสู่จุดเดิม
เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ 
น่าคิดว่า
ชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขจริงหรือ ? 


เพราะไล่ล่าแต่ละครั้งก็ต้องเหนื่อย 
ไหนจะต้องขวนขวายหาเงินหาทอง 
ไหนจะต้องแข่งกับผู้อื่น
เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ
ครั้นได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ 
ไม่ให้ใครมาแย่งไป 
แถมยังต้องเปลืองสมอง
หาเรื่องใช้มันเพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า
ยิ่งมีมากชิ้นก็ยิ่งต้องเสียเวลา
นการเลือกว่าจะใช้อันไหนก่อน 
ทำนองเดียวกับคนที่มีเงินมาก ๆ
ก็ต้องยุ่งยากกับการตัดสินใจว่า
จะไปเที่ยวลอนดอน นิวยอร์ค เวกัส
 โตเกียว มาเก๊า หรือซิดนีย์ดี

ถ้าเราเพียงแต่รู้จักแสวงหาความสุข
จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว 
ชีวิตจะยุ่งยากน้อยลง
และโปร่งเบามากขึ้น
อันที่จริงความพอใจ
ในสิ่งที่เรามีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก
 แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะ
เราชอบมองออกไปนอกตัว
และเอาสิ่งใหม่มาเทียบกับของที่เรามีอยู่ 
หาไม่ก็เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
เมื่อเห็นเขามีของใหม่ ก็อยากมีบ้าง 
คงไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้บ่อยครั้ง
เท่ากับการชอบเปรียบ เทียบตัวเองกับคนอื่น
การเปรียบเทียบจึงเป็นหนทางลัด
ไปสู่ความทุกข์ที่ใคร ๆ ก็นิยมใช้กัน

นิสัยชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น 
ทำให้เราไม่เคยมีความพอใจ
ในสิ่งที่ตนมีเสียที
แม้จะมีหน้าตาดี ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย 
เพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับดารา
หรือพรีเซนเตอร์ในหนังโฆษณา

การมองแบบนี้ทำให้ "ขาดทุน" สองสถาน
 คือนอกจากจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว
 ยังเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่อยาก
พูดอีกอย่างคือไม่มีความสุขกับปัจจุบัน 
แถมยังเป็นทุกข์เพราะอนาคต
ที่พึงปรารถนายังมาไม่ถึง
ไม่มีอะไรที่เป็นอุทธาหรณ์สอนใจได้ดี
เท่ากับนิทานอีสปเรื่องหมา คาบเนื้อ 
คงจำได้ว่า มีหมาตัวหนึ่ง
ได้เนื้อชิ้นใหญ่มา
ขณะที่กำลังเดินข้ามสะพาน 
มันมองลงมาที่ลำธาร
 เห็นเงาของหมาตัวหนึ่ง
 (ซึ่งก็คือตัวมันเอง) 
กำลังคาบเนื้อชิ้นใหญ่ เนื้อชิ้นนั้น
ดูใหญ่กว่าชิ้นที่มันกำลังคาบเสียอีก 
ด้วยความโลภ (และหลง) 
มันจึงคายเนื้อที่คาบอยู่ 
เพื่อจะไปคาบชิ้นเนื้อที่เห็นในน้ำ
ผลก็คือเมื่อเนื้อตกน้ำ 
ชิ้นเนื้อในน้ำก็หายไป 
มันจึงสูญทั้งเนื้อที่คาบอยู่
และเนื้อที่เห็นในน้ำ

บ่อเกิดแห่งความสุข
มีอยู่กับเราทุกคนในขณะนี้อยู่แล้ว
 เพียงแต่เรามองข้ามไป
หรือไม่รู้จักใช้เท่านั้น
เมื่อใดที่เรามีความทุกข์ 
แทนที่จะมองหาสิ่งนอกตัว 
ลองพิจารณาสิ่งที่เรามีอยู่และเป็นอยู่ 
ไม่ว่า มิตรภาพ ครอบครัว
สุขภาพ ทรัพย์สิน
รวมทั้งจิตใจของเรา 
ล้วนสามารถบันดาลความสุข
ให้แก่เราได้ทั้งนั้น 
ขอเพียงแต่เรารู้จักชื่นชม รู้จักมอง 
และจัดการอย่างถูกต้องเท่านั้น

แทนที่จะแสวงหาแต่ความสุขจากการได้ 
ลองหันมาแสวงหาความสุขจากการ มี 
หรือจากสิ่งที่ มี ขั้นต่อไปคือ
การแสวงหาความสุขจากการ ให้
 กล่าวคือยิ่งให้ความสุข ก็ยิ่งได้รับความสุข
สุขเพราะเห็นน้ำตาของผู้อื่น
เปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม
 และสุขเพราะภาคภูมิใจที่ได้ทำความดี
และทำให้ชีวิตมีความหมาย
จากจุดนั้นแหละ
ก็ไม่ยากที่เราจะค้นพบความสุข
จากการ ไม่มี นั่นคือสุขจากการปล่อยวาง
ไม่ยึดถือในสิ่งที่มี 
และเพราะเหตุนั้น แม้ไม่มีหรือสูญเสียไป
 ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้
เกิดมาทั้งที น่าจะมีโอกาสได้สัมผัส
กับความสุขจากการ ให้ และ การ ไม่มี 
เพราะนั่นคือสุขที่สงบเย็น
และยั่งยืนอย่างแท้จริง



พระไพศาล วิสาโล
วัดป่าสุคะโต อ.แก่งคร้อ จ.ชัยภูมิ



Create Date : 09 กันยายน 2556
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2557 13:28:13 น.
Counter : 754 Pageviews.

0 comment
### เรื่องเล่าหลวงพ่อเทียน โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต






.เรื่องเล่าวันพระ : ก่อนมาเป็นหลวงพ่อเทียน
หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ วัดสนามใน
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ
ซึ่งได้รับการยกย่องจากนายแพทย์ประเวศ วะสี
ว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสตินั้น
ชื่อเดิมของท่านคือพันธ์ อินทผิว
 ส่วน “เทียน”นั้นเป็นชื่อบุตรชายของท่าน
ธรรมเนียมของเชียงคานบ้านเกิดของท่าน
นิยมเรียกผู้ใหญ่ตามชื่อของลูกคนหัวปี
(หรือคนโตที่ยังมีชีวิตอยู่)
ใครต่อใครจึงรู้จักท่านในนามของ “หลวงพ่อเทียน”

พันธ์ อินทผิวเป็นคนที่ใฝ่ในการทำบุญตั้งแต่เล็ก
 เมื่อโตขึ้นได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน
 ก็เป็นผู้นำชาวบ้านในการทำบุญเสมอมา
นอกจากนั้นความที่ท่านเป็นพ่อค้า
 มีเรือค้าขายขึ้นล่องตามลำน้ำโขงไปจนถึงเมืองลาว
 ประสบความสำเร็จพอสมควร
จึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก

เมื่ออายุราว ๔๐ ปี ได้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิต
ที่ทำให้ท่านหันมาสนใจปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง
 ครั้งนั้นท่านเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่เมืองลาว
ในงานมีมหรสพต่าง ๆ มากมาย
 เช่น หมอลำ ภาพยนตร์
ท่านได้ตกลงกับภรรยาว่า การใช้จ่ายต่าง ๆ
 ตลอดจนการจัดอาหารเลี้ยงแขก
ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยา
ส่วนตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล

ครั้นถึงเวลาเช้าภรรยาของท่านมาถามว่า
จะต้องจ่ายค่าหมอลำเป็นจำนวนเท่าใด
ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าความรู้สึกตอนนั้นว่า
 “มันหนักจนลุกแทบจะไม่ได้ มันตำเข้าในใจ”
 แต่ท่านก็ข่มอารมณ์ไว้ และตอบด้วยสีหน้าปกติว่า
เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน
 อย่างไรก็ตามความโกรธนั้น
ยังคงคุกรุ่นในจิตใจของท่าน
 เมื่อเสร็จงานกฐิน
ระหว่างรับประทานอาหารมื้อเย็นกับภรรยา
ท่านเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตอนเช้าว่า
“คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ”
ท่านกล่าวซ้ำหลายหนจนภรรยาเอะใจ
เมื่อสอบถามจนรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ก็พูดขึ้นว่า
 “เจ้าไม่พอใจละสิ .....โอ เจ้าตกนรกแล้ว
 แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า ”

คำพูดของภรรยากระทบใจท่านมาก
ทำให้ได้คิดขึ้นมาว่า การทำบุญให้ทานนั้น
ไม่ได้ช่วยให้ท่านหายทุกข์เลย
ท่านจึงหันมาสนใจการทำกรรมฐาน
 และตั้งใจว่าหากยังเอาชนะความทุกข์ไม่ได้
ก็จะไม่เลิกละการทำกรรมฐาน
นับแต่นั้นท่านได้ตัดสินใจว่าจะเลิกทำมาค้าขาย
เพื่อทำกรรมฐานอย่างเดียว
แต่กว่าจะสะสางการงาน
และจัดการเรื่องเงินทองต่าง ๆ
 จนแล้วเสร็จก็ใช้เวลาถึงสามปี
 จากนั้นท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์
เพื่อแนะนำการปฏิบัติธรรม
แต่ก็ไม่พบวิธีที่จะช่วยแก้ทุกข์ของท่านได้
จนได้ทดลองปฏิบัติตามแบบของท่านเอง
ด้วยการยกมือเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ
พร้อมกับมีสติรู้กายตามไปด้วย ในยามที่ใจเผลอ
ไปคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ก็มีสติรู้ทันอาการของใจ
แล้วพาใจกลับมารู้กาย
จนเกิดความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง
 ท่านทำเช่นนี้อยู่นานจนเช้าวันหนึ่ง
ขณะที่กำลังนั่งเจริญสติอยู่
จู่ ๆ แมงป่องแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งตกมาที่ขาของท่าน
 แล้วลูกมันก็ออกมาวิ่งตามขาของท่าน
 พอท่านเอาไม้มาแตะขา แมงป่องก็เกาะไม้นั้นไว้
ระหว่างที่ท่านเอาไม้และแมงป่องไปวางไว้ที่คันนา
ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นที่ใจของท่าน
เกิดปัญญาเห็นรูปนาม รู้สมมติ เข้าใจไตรลักษณ์
 เมื่อถึงตอนเย็นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอีก
จนท่านรู้ชัดในอริยสัจและปรมัตถสภาวะ

นับแต่วันนั้นท่านก็มั่นใจว่าได้พบสิ่งที่แสวงหามานาน
 ความทุกข์ใจที่เคยมีดับไปอย่างสิ้นเชิง
ท่านจึงหยุดการแสวงหา และเริ่มแนะนำญาติมิตร
ให้รู้จักการเจริญสติด้วยวิธีดังกล่าว
 ในเวลาต่อมาก็มีคนมาเรียนกับท่านมากขึ้น
 แต่ท่านก็เห็นความจำกัดของเพศคฤหัสถ์ในการสอนผู้คน
 ในที่สุดจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี ๒๕๐๓
 ด้วยวัย ๔๘ ปี เป็นเวลา ๒๘ ปีที่ท่านสอนลูกศิษย์
อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
ด้วยวิธีการที่เป็นแบบฉบับของท่านเอง
 จนมรณภาพเมื่อปี ๒๕๓๑ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี
หากท่านยังไม่ละสังขาร ก็จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปีในปี ๒๕๕๔












Create Date : 03 กันยายน 2556
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2557 10:24:32 น.
Counter : 1483 Pageviews.

0 comment
 วิธีหาจิต 





วันนี้จะนำเสนอพระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน
 ของพระอาจารย์บัวเกตุ
เรื่อง วิธีหาจิต 
 มามอบแต่ทุกท่านที่สนใจในการปฏิบัติกรรมฐาน
 ท่านได้เทศนาอบรมไว้
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2535 
 ณ.ศาลาบำเพ็ญบุญแม่ปาง 
วัดป่าริมธาราวาส
(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวันแม่ลาน้อย)
อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ท่านที่สนใจในการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน
 ท่านลองอ่านและศึกษาดู
อาจจะช่วยให้ท่านได้สมความปรารถนาในการนี้ได้
 ขอทุกท่านจงประสบความสำเร็จ
และพบกับความสุขโดยทั่วกัน


ในลำดับต่อไปจะได้แสดงธรรม
อันเป็นคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเรื่องสมาธิภาวนา
 การทำใจให้สงบ เรืยกกันสั้นๆว่า 
 สมาธิบ้าง ภาวนาบ้าง
สมาธิคือ ทำให้จิตใจมั่นคง 
 ภาวนาคือ ทำให้มีให้เป็นซึ่งความมั่นคงทางจิตใจ
การทำสมาธินอกจากจะทำให้ใจสงบแล้ว 
 ยังเป็นแนวทางให้เกิดปัญญา 
 คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงอีกขั้นหนึ่งด้วย
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นข้อปฏิบัติ
 เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามประการ
ซึ่งเป็นหลักการปฏิบัตินั้น
ล้วนแต่เป็นธรรมซึ่งส่งผลซึ่งกันและกัน คือ
การปฏิบัติในศีลก็เพื่อให้กายกับวาจามีความเรียบร้อย
อยู่ในขอบเขตอันดีงาม
การที่กายกับวาจาอยู่ในขอบเขตอันดีงาม
ย่อมเป็นผลสะท้อนส่งไปถึงใจ เพื่อให้ใจเกิดความสุข
ความสบายไร้กังวล ไม่ต้องมีวิปฏิสาร
 คือ เดือดเนื้อร้อนใจเพราะการทำการพูด
เมื่อใจเป็นปกติไม่เดือดร้อนก็เป็นผลส่งต่อให้เกิดสมาธิ 
 คือทำใจให้สงบแน่วแน่ง่ายขึ้น
ข้อนี้ดังจะเห็นได้ง่าย 
 เช่น ถ้าเรามีอะไรเรื่องร้อนใจมากๆ 
 เรามักจะมีความกังวลในเรื่องนั้น
และยากที่จะบังคับใจให้เกิดความสงบได้
ถ้าไม่ชำนาญจริงๆ 
 และก็ยากที่จะทำได้อย่างมากทีเดียว
และยิ่งเป็นเรื่องกังวลเกี่ยวกับความประพฤติด้วยแล้ว
ก็จะทำให้เกิดความร้อนใจอยู่ร่ำไป


เพราะฉะนั้น ศีลเมื่อรักษาดีแล้ว
จึงเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดสมาธิได้ง่าย
การทำสมาธิดังที่เคยแสดงไว้บ่อยๆ
ในหลักที่พระองค์ทรงวางไว้ก็มีอยู่ 40 แบบด้วยกัน
ใน 40 แบบนี้จะกล่าวโดยสั้นๆ ก็เหลือเพียง 2 อย่าง
 คือ การทำสมาธิด้วยการพิจารณาอย่างหนึ่ง
การทำสมาธิด้วยการเพ่งอย่างหนึ่ง 
 การทำสมาธิด้วยการพิจารณานั้น 
 ในบทกรรมฐาน เช่น กายคตาสติ 
 หรือมรณะสติ อสุภะกรรมฐานเหล่านี้ 
 ทำให้เกิดการพิจารณากายคตาสติ
คือ พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง 
 ลงไปให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นของปฏิกูล
คือเป็นของเลอะเทอะสกปรก ทั้งสี สัณฐาน
 กลิ่น ที่เกิด ที่อยู่ ของแต่ละอย่างละอย่าง
ล้วนแล้วแต่อยู่กับพื้นฐานที่ไม่สะอาดทั้งสิ้น 
 การที่พระองค์ทรงวางหลักอย่างนี้
ก็เพื่อถอนใจที่มีอุปทานในความยึดมั่นถือมั่น
 ว่าร่างกายนี้สวย ร่างกายนี้งามเหล่านี้เป็นต้น 
ออกไปเสียได้


เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงแสดงว่า 
"อัตถิ อิมัสสะมิงกาเย" กายของเรามีอย่างนี้
เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เป็นต้น 
 ไปจนถึงมุตตัง น้ำมูตร โดยแสดงให้เห็นว่า
กายมีสิ่งเหล่านี้อยู่ มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน
 มีหนัง 
 มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก มีไส้น้อย ไส้ใหญ่ เป็นต้น 
ตลอดจนมีน้ำมูก น้ำลายต่างๆมีสิ่งเหล่านี้ 
 อาการที่พระองค์ทรงแสดงมาแต่ละอย่างนั้น
เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า 
สิ่งใดบ้างว่าเป็นของสวยงาม
ทุกสิ่งทุกอย่างให้มองเห็น สิ่งแต่ละอย่าง
ที่พระองค์ทรงแสดงออกมาแล้วนั้น 
ในสรีระร่างกายที่แยกออกมาเป็นส่วนๆนั้น 
 ไม่มีอะไรที่ว่าสวยงามเลย
ส่วนการที่สิ่งเหล่านี้มีเป็นธาตุ
แต่ละอย่างมาประชุมกันเข้า เป็นสัตว์เป็นร่าง 
 เป็นบุคคล เป็นตัวตน เรา เขา
และมีการประดับประดาตกแต่งด้วยประการต่างๆแล้ว
 ก็ทำให้บุคคลลืมของเก่า ลืมพื้นฐานเดิม
ครั้นเมื่อลืมพื้นฐานเดิม ลืมของเก่า 
 ก็ไปติดอยู่ในของใหม่ ของใหม่ที่เขาแต่งไว้
ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เพื่อให้เกิดความสวยงามน่าพึงพอใจ เป็นต้น
 ก็เป็นเครื่องย้อมใจทำให้กิเลศเกิดขึ้น
 คือความใคร่ เป็นต้น ได้แก่ ราคะ









การที่พระองค์ทรงสอนให้รู้ว่า
กายมีของเหล่านี้เท่านั้น 
 มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน 
ที่ว่าเป็นของสะของสวย
ของงามอ้นนั้นมาปรุงแต่ง
มาเติมกันเข้า
เดิมทีเดียวไม่มีอย่างนี้
ให้รู้ความจริงอย่างนี้ 
 การที่รู้ความจริงอย่างนี้แล้ว
จะได้รู้จักว่าอะไรที่เข้ายึดถือ
อะไรเป็นธรรมชาติ
อะไรเป็นของจริง อะไรเป็นของปลอม 
เมื่อใจรู้อย่างนี้แล้ว
ก็จะได้ไม่เข้าไปติดในอารมณ์นั้นๆ
จะเป็นเหตุให้ใจว่างหรือว่าเป็นกลาง 
 คือไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
 ใจนั้นเมื่อเป็นกลาง
ไม่มี่อะไรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว
ตั้งบทภาวนาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
 คืออารมณ์ใจอีกแบบหนึ่ง 
 คือให้สงบ ใจก็สงบได้
การที่เราทำใจทุกๆวันแต่ไม่สงบ 
 เพราะยังถอนความยึดมั่นถือมั่น
ที่มีมาแต่ในปางก่อนนั้นยังไม่หมด
ใจยังไม่มีอิสรภาพ ยังไม่เป็นกลาง 
 ยังมีกิเลส ยังมีตัณหา ยังมีอารมณ์ 
 หยาบบ้าง กลางบ้าง ละเอียดบ้างฝังอยู่
เพราะฉะนั้น ในวันใดถ้าหากว่าเราปลงตก 
 อารมณ์หยาบหมดไป พอใจจะเป็นกลางได้บ้าง
วันนั้นภาวนาอย่างไรใจก็จะค่อยยังชั่วขึ้น 
 คือสงบขึ้น ง่ายขึ้น และดีขึ้น เห็นอรรถ
เห็นธรรมอันจะเป็นแนวทาง
แห่งความสงบต่อไปได้



ถ้าหากว่าคราวใด
ยังไม่สามารถสะสางนิวรณ์ทั้งห้า 
หรือกิเลสตัณหาดังได้กล่าวมาแล้ว
ให้จิตใจเบาบางลงไปได้ 
 ใจก็จะไม่มีโอกาสมองเห็นของจริง 
 เหมือนตะเกียง
ที่หลอดมันเลอะเทอะเปรอะเปื้อน
ด้วยฝุ่นเขม่าไฟจนดำ 
 แม้ไฟจะมีอยู่ในภายใน
ก็ไม่สามารถส่งแสงออกมาได้
หรือเหมือนพระอาทิตย์
ที่มีอยู่ในโลกตลอดเวลา 
แต่ในช่วงเวลากลางคืนเพราะบังเหลี่ยมโลก
พระอาทิตย์ไม่สามารถจะส่องแสงได้ 
 ทำให้โลกนี้กลับมืดฉันใด ใจก็เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ใจที่ถูกกิเลสครอบงำแล้ว
 จึงทำให้ไม่เห็นอรรถเห็นธรรม 
 ไม่เห็นตามสภาวะธรรมที่เป็นจริง
แม้จะภาวนาบทไหนอย่างไร
ก็ยากที่จะทำให้เกิดความสงบ
 ให้เกิดความสว่าง 
ให้เกิดความหมดจดขึ้นได้


เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมต่างๆ 
 มีนิวรณ์ เป็นต้น 
จึงเป็นสิ่งที่ต้องชำระสะสาง
ให้จิตใจสะอาด
ด้วยการพิจารณาธรรม
ที่พระองค์ทรงวางหลักไว้
 คือ กามฉันท์ก็พิจารณากายคตาสติบ้าง
อสุภกรรมฐานบ้าง 
 พยาบาทก็เจริญเมตตากรุณาไว้ในใจเป็นนิจ 
 ถีนมิทธะ ความที่จิตใจหดหู่เคลิบเคลิ้ม
ก็เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ 
 สังฆานุสสติ ทำให้ใจว่างไว้เสมอ
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ 
ท่านก็สอนให้นึกถึงความตายไว้เป็นอารมณ์
เพื่อให้จิตเกิดความสังเวช วิจิกิจฉา 
 ความลังเลสงสัยก็ให้เจริญปัญญา 
 คือพิจารณากายนี้ว่าเป็นธาตุเป็นขันธ์
เป็นสิ่งแต่ละอย่างละอย่างมาประชุมกัน
มาประกอบกัน 
 เพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
จนเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง 
 อย่างนี้เรียกว่า พยายามสะสางอกุศลเหล่านั้น
ให้เบาบางและหมดไปจากใจ


ดังได้กล่าวมาแล้วว่าใจเหมือนพระอาทิตย์
 ที่ถูกเหลี่ยมโลกบังหรือเมฆหมอกบังอยู่
ครั้นพ้นจากการบังแล้วก็จะส่องแสง
 ใจก็เหมือนกันพ้นจากการบดบังของกิเลส 
 อกุศล นิวรณ์ เหล่านี้แล้ว
ก็จะเกิดความส่องแสง คือเป็นปรกติ 
 ได้แก่ความผ่องแผ้วของจิต 
 ก็จะเกิดภูมิธรรมหรือปัญญา
การทำสมาธิอบรมจิตใจให้สงบ
 เป็นสิ่งสำคัญในการอบรมจิตใจ
ให้เกิดความารู้จริงเห็นจริงดังกล่าวมาแล้วนี้
รวมความข้อสำคัญในกาารปฏิบัติข้อที่ว่า
 คือ ต้องพยายามสะสางใจให้หมดจดนั่นเอง
จึงจะภาวนาบทใดบทหนึ่ง 
 จะเป็นพุทโธก็ตาม อื่นๆก็ตาม 
 ความสงบก็จะเกิดง่ายขึ้น
เพราะเหตุนั้นก่อนที่จะทำกรรมฐาน
 จึงมักจะมีการไหว้พระสวดมนต์ 
 เพื่อทำจิตใจหายความฟุ้งซ่าน
หรือฟังธรรมเพื่อให้เป็นแนวทางของจิตใจ
 จะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง 
 และเกิดความสงบเป็นต้น



ส่วนสำหรับเวลาที่เราทำกรรมฐาน
คือทำสมาธิภาวนา จะเจริญบทใด
เช่น พุทโธ พุทโธ เป็นต้น 
ก็ต้องบำเพ็ญ คือภาวนา
ด้วยความมีสติทุกๆขณะ 
 คือทุกลมหายใจเข้าออก
หรือทุกๆคำที่เราว่าภาวนา 
 เราจะว่าพุท ใจจะนึกว่าพุท 
 ก็มีสติดูใจที่นึกว่าพุทรู้อยู่ด้วย
ใจจะนึกว่าโธ ก็มีสติดูใจที่นึกว่าโธด้วย
 โดยห่างสติไม่ได้ สติต้องเข้าคุมไว้อยู่เสมอ
ในขณะนึกนั้น ถ้ามิฉะนั้นแล้ว 
ใจนึกได้ไม่กี่รอบก็จะพลั้งเผลอ
ไปนึกเอาสิ่งอื่นมาเป็นอารมณ์อีก
หรือตาเห็นรูป หูฟังเสียง ได้ยินสิ่งหนึ่งสิ่งใด 
 หรือได้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็อาจจะเผลอ
ปล่อยจิตใจเลื่อนลอยไปคิดเรื่องอื่น
ซึ่งไม่เกี่ยวกับพุทโธอีกเป็นได้ 
 ทำให้จิตใจไม่สงบ
เพราะฉะนั้น สติเป็นธรรมที่สำคัญ
ที่จะประคองใจให้อยู่ในแนวทางแห่งความสงบ
เราจะภาวนามาก ภาวนาน้อย อย่างไรก็แล้วแต่
 ถ้าหากว่าขาดสติคุมอยู่ทุกระยะแล้วใจสงบได้ยาก
ต่อเมื่อมี่สติคุมใจให้อยู่ทุกๆขณะแล้ว 
 จึงจะเป็นหนทางให้เกิดความสงบได้
เพราะฉะนั้นการภาวนาบทใดก็ตาม 
 จะว่าง่าย ว่ายาก 
 อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม
 ขึ้นอยู่กับสติคุมจิตใจนั้น
และขึ้นอยู่กับการสะสางใจ
ให้เบาบางจากอกุศล
ดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นด้วย 
 เป็นข้อสำคัญในการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น จงตั้งใจตรวจตรา
สภาพจิตใจของเรา
 ถ้าหากว่ามีอะไรอันเป็นอกุศล
พึงสะสางชำระสิ่งเหล่านั้นเสีย
ให้ใจปรกติ ให้มีสติอยู่เป็นปรกติ
 ใจก็จะเป็นกลาง เมื่อใจเป็นกลางแล้ว 
ความสงบอันเกิดจากไม่มีกิเลสรบกวน
และความเป็นกลางของจิต 
 ใจก็จะสงบเป็นสมาธิภาวนาขึ้น
 เพราะฉะน้้น ต่อไปนี้จงตั้งใจภาวนา
พุทโธ พุทโธ ด้วยความมีสติ 
เพื่อให้จิตใจสงบตั้งมั่น
เป็นสมาธิภาวนาต่อไป...


###################








Create Date : 10 เมษายน 2555
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2557 13:06:24 น.
Counter : 1270 Pageviews.

2 comment
 การทำใจให้สงบ 





วันนี้ขอนำเสนอพระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน 
 ของท่านอาจารย์พระครูบัวเกตุ อีกนะจ๊ะ
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้วิธีปฏิบัติกรรมฐาน 
   หรือรู้ไว้เพื่อปฏิบัติต่อตนเองให้ได้พบกับความสุข
สามารถนำไปปรับเปลี่ยนชำระใจเราเองให้ผ่องแผ้ว
  และมีชีวิตอยู่ในโลกใบโปรดนี้อย่างสุขกาย สุขใจ สงบ
และมีสติตลอดเวลา รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งต่างๆ
ที่เข้ามากระทบกายและใจเรา เมื่อเราปฏิบัติได้ดีแล้ว
เราจะพ้นจากทุกข์และพบกับความสุขตลอดไป
   พระธรรมเทศนามีดังนี้....

เรื่อง การทำใจให้สงบ

อบรมเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
   ณ. ศาลาบำเพ็ญบุญแม่ปาง
วัดป่าริมธาราวาส
(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแม่ลาน้อย) 
  อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ในโอกาสต่อไปเป็นเวลาฟังธรรม
และปฏิบัติธรรม
  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ
อันจะเป็นการนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ
ตามคำสั่งสอนของ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น 
  เป็น นิยามกะธรรม คือ นำผู้ปฏิบัติได้ดีแล้ว
ให้ออกจากทุกข์ หรือ ให้พ้นทุกข์ 
 ที่ว่าพระธรรมนำผู้ปฏิบัติดีแล้ว
ให้พ้นจากทุกข์
  เช่น การทำใจให้สงบ
ใจที่สงบกับใจที่ไม่สงบ 
 ก็จะเห็นได้ว่าอะไรเป็นสุข
  อะไรเป็นทุกข์ ใจที่เวลาเป็นทุกข์
ไม่เคยปรากฎว่ามีความสงบเลย
มีแต่ความวุ่นวาย ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น 
  ส่วนใจที่สงบ ส่วนใจที่มีความสุข 
 จะมีคำว่า "สงบ" อยู่หน้าเสมอ
เช่น "สงบสุข" คือใจสงบแล้วนั่นเอง
  จึงจะมีความสุข 
 เหมือนน้ำที่จะใสก็เพราะมันนิ่ง
  ถ้าน้ำมันเป็นระลอกคลื่น
ก็จะหาความใสของน้ำนั้นไม่ได้ฉันใด
  น้ำจิตน้ำใจก็เช่นเดียวกัน
  พอเมื่อสงบแล้วจึงจะเกิดผลอันหนึ่ง
คือ....ความสุขที่เกิดจากใจสงบ 
   เพราะฉะนั้น 
  การที่เราทำกิจการงานใดก็ตาม
 ทำแล้วก็เพื่อให้สำเร็จ
ถ้าสำเร็จแล้วก็สงบ สงบแล้วก็เป็นสุข 
 ถ้าการงานที่ทำนั้นไม่สำเร็จ
 ความสงบก็ไม่มี
 คือยังมีความกังวลอยู่
เมื่อความไม่สงบมีอยู่ ความสุขก็ไม่เกิดขึ้น
  หรือเกิดขึ้นไม่ได้เท่าที่ควร อย่างนี้เป็นต้น


ใจก็เหมือนกันดังกล่าวมาแล้ว 
  ดังนั้นการทำใจให้สงบ 
 จึงเป็นเหตุให้เกิดความสุข โดยแท้ โดยตรง
การทำใจให้สงบนั้น 
 พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสอนไว้ ๔๐ แบบ 
 ซึ่งเรียกว่า กัมมัฎฐาน ๔๐
แต่ละข้อๆนั้น เป็นชื่อหัวข้อแห่งการเรียน 
  สำหรับผู้ที่นำมาปฏิบัตินั้น
เพียงแต่เอาอุบายข้อใดข้อหนึ่ง
มาเป็นข้อปฏิบัติก็ใช้ได้
   ไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้หมด 
  เพราะได้ปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่ง
ด้วยความจริงใจสม่ำเสมอ 
 มีความเพียรกล้า 
 เอาใจใส่ด้วยดี ตั้งใจแน่วแน่
ก็จะเกิดความสงบ
เมื่อเกิดความสงบแล้ว วิธีอื่นๆก็เหมือนกัน
   ก็จะรู้เห็นเหมือนกันหรือได้เท่ากัน
จะผิดกันเพียงบ้างในอิริยาบทต่างๆเท่านั้น 
  คือว่า เราจะภาวนาว่า "พุทโธ" ก็สงบ 
  หรือจะพิจารณายุบหนอ พองหนอ ก็สงบ
หรือจะภาวนาว่า สัมพุทโธก็สงบ
  หรือธัมโม สังโฆ อรหัง
  อย่างใดอย่างหนึ่งก็เพื่อให้มุ่งสงบทั้งสิ้น
ดูคำสอนของพระองค์เป็นตัวอย่าง 
 ที่พระองค์ทรงวางหลักไว้ 
  เช่น กายคตาสติให้พิจารณาว่า
เกสา คือผม นึกไปที่ผม ดูไปที่ผม
  ไม่ต้องไปกังวลที่อื่น
โลมา คือ ขน นึกไปที่ขนทั้งสรรพางค์กาย
  ไม่ต้องคิดไปที่อื่น
นะขา คือ เล็บ นึกไปที่เล็บทั้งนิ้วมือนิ้วเท้า 
 ไม่ต้องนึกไปที่อื่น
ทันตา คือ ฟัน นึกถึงฟันของตนเอง
  ทั้งฟันล่างฟันบน ไม่ต้องนึกไปที่อื่น
ตะโจ คือ หนัง 
นึกไปถึงสิ่งหนึ่ง
ที่ห่อหุ้มไปทั่วสรีระร่างกายของเรา
   กริยาที่ส่งใจนึกไปตามคำที่พิจารณานั้น
นึกมากๆเข้า คล่องมากเข้า
จนจิตเกิดความชำนาญ
   เมื่อจิตเกิดความชำนาญ
  นึกในที่นั้นไม่ฟุ้งซ่าน
ไปที่อื่นความสงบก็จะเกิดขึ้น 
  ในขณะที่นึกที่เห็นนั้น ยิ่งนึกยิ่งสงบ
  ยิ่งสงบก็ยิ่งเห็นว่าสิ่งนี้แต่ละอย่างเป็นปฏิกูล
แต่ถ้าหากเราเพียงแต่นึก แล้วก็ว่าฝึกเป็น 
  ว่าคาถาแบบนั้น ไม่ได้ส่งใจอันหนึ่งอันใด 
 ความสงบจึงไม่มี
แม้จะว่า เกสา โลมา นะขา ตะโจ ตะโจ 
 ทันตา นะขา โลมา เกสา
  สักกี่ร้อยเที่ยว ร้อยจบ
ถ้าไม่จงใจคือไม่ส่งใจ 
 ไม่ตั้งใจให้อยู่กับสิ่งนั้นๆ 
   ทำอย่างไรๆก็ไม่สงบ 
  เพราะฉะนั้น
เวลาจะพิจารณาแต่ละข้อๆแล้ว
เมื่อส่งใจจริงจัง ฝึกไปมากๆเข้า
ด้วยความเพียร ก็จะพบความสงบ 
 ด้วยพบเห็นตามความเป็นจริงว่า
สิ่งนี้เป็นปฏิกูลด้วย 
 จึงรวมความว่าจะพิจารณา
ข้อไหนอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
  ดังได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น
ก็เป็นหนทางแห่งความสงบทั้งสิ้น
  ใครจะภาวนาข้อไหนอย่างไร
ก็ให้สงบก็แล้วกันเป็นใช้ได้ 
 ถือว่าเป็นแดนชัย


ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
  คือ ความสงบ
  เพื่อนำความสงบไปอบรมจิต
การนำความสงบไปอบรมจิต
   หรือทำจิตให้สงบนั้น
  เป็นการอบรมอย่างยอดเยี่ยม อย่างดีงาม
จิตคือความนึกความคิดมีหน้าที่อย่างนั้น 
    จิตที่นึกที่คิดนั้น โดยอาศัยตาเห็นรูป 
 หูฟังเสียง   จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส 
  กายได้ถูกต้องสัมผัส
  แล้วก็ส่งความรู้ไปถึงใจ
   ใจก็นึกก็คิดไปตามสิ่งที่รู้นั้น
เรียกว่าอารมณ์ 
  ทำให้เกิดความชอบบ้างไม่ชอบบ้าง
  ใจจึงสามารถรู้นึกอะไรได้
และสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ก็นึกในปัจจุบัน 
  เมื่อล่วงเลยมาแล้ว
น้อมนึกไปถึงสิ่งเหล่านั้น
ก็นึกเอามาคิดเป็นอดีตของอารมณ์
   หรือนึกว่าถ้าคงจะต้องเป็นอย่างนั้น
ในคราวหน้าเป็นอนาคตกาล
อันเป็นการปลูกอารมณ์ให้เกิดขึ้น 
 ย้อมได้ที่ใจแล้วก็ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง
  เป็นอยู่อย่างนี้ใจก็จะถูกความย้อม
ความติดอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ นั้น 
  ไม่สามารถที่จะหลีกหนีพ้น
แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไปได้
และไม่สามารถจะมีอุบายอะไรให้แก้ได้
  ครั้นเมื่อใช้สติปัญญา
หาทางให้สิ่งเหล่านี้สงบ
คืออารมณ์สงบ ได้แก่ใจสงบนั่นเอง
   ได้แก่จิตที่สงบนั่นเอง เมื่อสงบแล้ว
ก็ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงนั้นไป
คืออารมณ์ต่างๆ นั้นไป 
 เหลือแต่จิตแท้ๆ หรือที่เรียกว่าใจ 
 ซึ่งท่านได้เปรียบเทียบไว้
คำว่าจิต คำว่าใจ ควรรู้จัก
และควรเข้าใจให้ถูกต้อง 
 ในขณะที่นึกที่คิดท่านเรียกว่า จิด
ในขณะที่เป็นกลางๆ 
 ไม่นึกไม่คิดแต่รู้สึกอยู่ เรียกว่าใจ 
 รวมความว่า ถ้าจะทำจิตให้สงบ
ก็คือภาวนาจิตให้ถึงใจ











แท้จริงจิตกับใจนั้นเป็นอันเดียวกัน 
 ในคราวที่สงบเป็นใจในคราวที่นึกคิดเป็นจิต
ถ้าจะเปรียบเทียบเหมือนต้นไม้ใบไม้
   ใบไม้เวลาไม่มีลมพัด
ใบมันก็อยู่นิ่งๆเหมือนใจ
ครั้นเมื่อเวลามีลมพัดใบไม้
มันก็แกว่งไปแกว่งมา
 เหมือนจิต หรือเหมือนน้ำในทะเล
เวลามีลมพัดมีระลอกคลื่นนั่นเหมือนจิต 
 เวลาที่ลมหมดแล้วน้ำนิ่งๆ นั่นเหมือนใจ
หรือเมื่อนำน้ำไปต้มเวลาน้ำมันเดือด
มีไอมีควันขึ้นเหมือนจิต 
 เวลาน้ำมันเย็นนิ่งสงบเหมือนใจ
เพราะฉะนั้นภาวนาจิตให้เป็นใจ
ก็ด้วยหาอุบายต่างๆ
   อุบายต่างๆที่ท่านกล่าวว่า
  กัมมัฎฐาน ๔๐ นั้น
พึงกล่าวในเบื้องต้นไว้ว่า 
 จะบทใดบทหนึ่งก็ได้ 
 ทำใจให้สงบ คือ 
 ไม่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ
อะไรบ้างที่จะมาทำใจให้เกิดความไม่สงบ 
 อะไรเป็นศัตรูของใจที่คอยกวนใจ 
 ที่คอยรังควานใจ
หรือที่คอยล้างผลาญคุณงามความดีของใจ
  ไม่ให้ใจถึงซึ่งแดนแห่งความสงบ 
 สิ่งนั้นพระพุทธเจ้าสอนว่า
นิวรณ์ คือ ธรรมอันกั้นจิต
มิให้บรรลุความดี
  ความพอใจใคร่ในรูปเป็นต้น 
 เรียก กามฉันท์
เป็นศัตรูของใจไม่ให้เกิดความสงบอย่างหนึ่ง
  การที่คิดอาฆาตพยาบาทจองเวร 
 เรียกว่าพยาบาท
เป็นศัตรูที่ทำใจไม่ให้สงบอย่างหนึ่ง
  การที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม
ท้อถอยและเบื่อหน่าย
 เรียกว่า ถีนมิทธะ
เป็นศัตรูรบกวนใจและขวางใจ
ไม่ให้ถึงแดนความสงบอย่างหนึ่ง 
 การทีใจฟุ้งซ่านรำคาญด้วยประการต่างๆ
เช่น มีอะไรสักนิดก็คิดไปเสียมากมาย
ยืดยาวจนเกินไป 
 และหาจุดที่ขึ้นที่ลงไม่พบ
และไม่สามารถจะยับยั้งได้
  เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ
   เป็นศัตรูกวนใจ
ไม่ให้ถึงแดนสงบอย่างหนึ่ง
ความสงสัยลังเลไม่แน่ใจลงไปว่า
  เราจะภาวนาพุทโธ ดีหรือไม่
  จะสงบง่ายหรือไม่
หรือจะภาวนาว่า อะระหัง จึงจะสงบ
   หรือจะคิดว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง 
  อันเป็นกายคตาสติจึงจะสงบ
หรือจะพิจารณาเป็น อสุภะ 
 หรือจะเพ่งไฟให้เป็นฌาน 
 เพ่งดินให้เป็นฌาน
  เป็นกสิณ เหล่านี้เป็นต้น
คิดอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้าง
  ลองทำอย่างโน้นนิด 
 ลองคิดอย่างนี้หน่อย 
 แล้วก็ไม่สามารถที่จะเกิดผล
แต่อย่างหนึ่งอย่างใดได้
ในที่สุดก็วนไปวนมา 
  แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย 
 เป็นทั้งวิจิกิจฉาด้วย 
 เป็นทั้ง ถีนมีทธะด้วย
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหนทางกั้นจิตใจ
ไม่ให้ถึงแดนแห่งความสงบ 
  เพราะฉะนั้นผู้ที่จะพยายามทำใจให้สงบ
ต้องรู้จักศัตรูทั้ง ๕ ประการนี้
และต้องล้างผลาญคือต้องทำลาย 
 การล้างผลาญการทำลาย
ก็ต้องอาศัย สติปัญญา


พระพุทธเจ้าที่พร่ำสอนให้รู้ตามสภาพ
แห่งความเป็นจริงที่ในโลกเขาไม่สอนกัน
เช่นให้นึกถึงความตาย ไม่มีใครเขาสอนกัน
  แต่พระพุทธเจ้าสอนให้นึกถึงความตาย
และเมื่อยังไม่ตายก็สอนให้นึกถึงความตาย 
 และเมื่อยังไม่แก่ก็ให้นึกถึง
ความเจ็บหรือความแก่
ความเจ็บความตายนี้ไม่มีใครเขาสอน
ให้นึกถึงกันไว้บ่อยๆ ให้นึกถึงกันไว้มากๆ
ให้นึกถึงกันไว้เป็นนิตย์
มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นสอน 
 ก็พระองค์ทรงพบเหตุแห่งความเป็นจริง 
 ผลแห่งความเป็นจริง
แห่งการนึกคิดเหล่านั้นไว้ว่า
แต่ละอย่างที่แท้
 "ลางเนื้อชอบลางยา"
  ความประมาทเกิดขึ้น
อะไรไม่ดีเท่ากับนึกถึงความแก่ 
 ความเจ็บ ความตาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตาย
เมื่อนึกถึงแล้วเป็นเหตุ
ให้เกิดความสลดสังเวชใจ 
  ความสลดสังเวชนี้แหละ
เป็นตัวบ่อเกิดที่จะเปิดหนทาง
หรือเป็นสะพานเชื่อมให้ใจเข้าถึงความสงบ 
   ถ้าจิตไม่สังเวช มีความฟุ้งซ่าน
 มีความทะเยอทะยาน
รับรองว่า จิตทำอย่างไร ๆ ก็ไม่สงบ 
  จึงต้องหาอุบายทำให้จิตเกิดความสังเวช
การที่จะทำให้จิตเกิดความสังเวช 
  อะไรก็ไม่ดีเท่าความตาย 
 ความตายจึงเป็นยาวิเศษรักษาใจให้สงบ
ความตายเป็นสะพานเชื่อมโยงให้ใจ
ไปถึงความสงบ 
  ความตายเป็นเครื่องปราบปรามกิเลส
ให้ถึงซึ่งความสงบ


เพราะฉะนั้น บุคคลที่ทะเยอทะยานก็ดี
  ประมาทก็ดี
   เมื่อนึกถึงความตายเป็นอารมณ์แล้ว
ก็จะเกิดความสงบ เกิดความสังเวช 
  เมื่อเกิดความสังเวชขึ้นตราบใด
ความที่ทะเยอทะยานเหล่านั้นเป็นต้น
ก็จะหายไปหรือเบาบางไป 
 หรือ หมดไปในที่สุด
  เพราะเหตุนั้นท่านจึงสอน
ให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ไว้บ่อยๆ
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นธรรม 
 ความแก่ก็เป็นธรรม 
 ความเจ็บก็เป็นธรรม
   ความตายก็เป็นธรรม
คือเป็นธรรมชำระจิตใจ
ให้เกิดความหมดจด 
  จึงรวมความว่า 
 ที่กล่าวว่าลางเนื้อชอบลางยา
สิ่งหนึ่งที่เกิดมาด้วย
และสิ่งนั้นต้องเป็นไปอย่างนี้ด้วย 
  โดยเอาผลอย่างนั้น
ที่จะเป็นไปมาแก้เหตุเบื้องต้น
ให้รู้ตามความเป็นจริง 
  ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นได้
   เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านทรงสอน
ธรรมที่ไม่เหมือนผู้อื่น 
 เพราะทรงค้นพบมาด้วยดีแล้ว 
  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เป็นสิ่งที่เป็นสภาพแห่งความเป็นจริง
ทุกคนเกิดมาแล้วไม่พ้นความแก่ 
  ความเจ็บ ความตาย
  ถ้าทุกคนเกิดมาแล้ว แก่ เจ็บ ตาย แล้ว
มานั่งกอดเข่าระทมทุกข์ว่าทำไมจะต้องแก่ 
 ทำไมจะต้องเจ็บ ทำไมจะต้องตาย 
 ทำไมไม่พ้นจากความแก่
ทำไมไม่พ้นจากความเจ็บ 
  ทำไมไม่พ้นจากความตาย 
  ในโลกนี้อะไรๆในยุคนี้สามารถคิดมาได้
ลงไปในน้ำก็มีเรือ 
 มีเรือดำน้ำสามารถดำลงไปได้
  บนอากาศก็สามารถบินขึ้นไปได้ 
 ในโลกอื่นก็สามารถไปได้
แต่ทำไมไม่คิดหาหลักการ
เอาให้พ้นจากความแก่ 
  ความตาย ซึ่งมีอยู่ในตัวนี้ได้
มัวคิดมัวแต่ระทมใจอยู่อย่างนี้
ก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากทุกข์นี้ไปได้



เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ
วิธีการดังได้กล่าวมาแล้ว
  ก็คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น
สิ่งนั้นต้องสลายไป
เอาสิ่งสลายมาแก้ความเกิด 
  เพราะความเกิดจะเกิดความมัวเมา 
 จะทำให้เกิดความรู้สึกมัวเมา
สิ่งที่จะรักษาความมัวเมาก็คือ
ความสลายจากไปของการเกิดนั่นเอง 
 นำมาเป็นยาคือเป็นข้อรักษาจิตใจ
เพราะฉะนั้น การพิจารณาถึงความแก่ 
 ความเจ็บ ความตาย
  จึงเป็นอุบายทำให้ใจสงบ
แม้ในข้ออื่นๆ ซึ่งเราได้สดับตรับฟังมา 
  ไม่ว่าจะเป็นอสุภะกรรมฐาน 
 หรือการพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ให้รู้ตามความเป็นจริงก็ตาม 
  ก็เพื่อให้ฝึกจิตเกิดความสังเวชด้วยกันทั้งสิ้น
เราจะภาวนา พุทโธ พุทโธ
บางทีภาวนาทำไม ภาวนาไปแล้วไม่สงบ 
 คุมใจอยู่อย่างนี้เดี๋ยวใจก็หนีไปอย่างอื่นอีก
ตั้งใจว่าใจอยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ แต่ว่าไป
   เดี๋ยวใจไปอีกแล้วเผลอนิดเดียวใจไปอีกแล้ว
เพราะยังไม่มีความสลด 
 ยังไม่มีความสังเวช 
 ต้องหาอุบาย
ให้ใจเกิดความสังเวชให้ดีเสียก่อน
เมื่อใจรับรู้ความสังเวชนั้น
เกิดมีขึ้นในจิตที่แท้จริงแล้ว
  ความที่ใจจะฟุ้งซ่าน
เลื่อนลอยอื่นๆ ไปแล้วก็จะน้อยลง
เมื่อน้อยลงก็สติคุมได้ง่าย คือไม่รุนแรง
 จะเป็นเหตุให้จิตอยู่ในความควบคุมของสติ 
 จะเป็นเหตุให้สติคุมจิตอยู่่ได้
ไม่ช้าไม่นานจิตก็จะเป็นกลาง 
 คือเกิดความสงบเกิดขึ้นตามลำดับ 
 เพราะฉะนั้นจึงรวมความว่า
ที่ท่านกล่าวว่า เราจะภาวนาธรรม
หรือทำสมาธิบทใดต้องมีสติปัญญา
พิจารณาให้รอบคอบ
คอยแก้อารมณ์ของจิตให้จบเสียก่อน
ให้ดีเสียก่อน แล้วจึงค่อยตั้งใจภาวนา
 จิตจึงจะสงบได้ง่าย


ก็เพราะต้องอาศัยการพิจารณาดูจิต
  ให้รู้ก่อนว่าวันนี้เราฟุ้งซ่านมาก
หรือน้อยเพียงใดหรือสงบดีแล้ว
ในขณะนี้จิตของเราควร
พิจารณาปราบปรามเสียก่อน
  หรือเพ่งให้สงบเลย
หรือว่า พุทโธ พุทโธ ไปเลย
ต้องดูให้ดีเสี่ยก่อน ถ้าดูแล้ว พบแล้ว 
 ก็ควรแก้ไขอย่างไรแล้วจึงหาอุบายมาแก้ไข
ถ้าควรพิจารณาให้เกิดความสังเวช
   ก็พิจารณาให้เกิดให้เห็นความสังเวชเสียก่อน
แล้วจึงค่อยภาวนา
ถ้าหากว่าจิตจะสงบอยู่แล้วไม่มีอะไรกวนใจ
ก็ภาวนาไปได้เลย เพราะวันหนึ่งๆที่ผ่านมานั้น
อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 
 ได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ 
 และบางทีสติมีมากบ้างน้อยบ้าง
วันไหนสติมีมาก
การกระทบอะไรสติควบคุมไว้ 
  ก็ทำให้คล้ายกับว่า
ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ
ถ้าวันไหนกระทบอะไรมากก็ตาม น้อยก็ตาม 
 แต่สติมีน้อยก็หวั่นไหวไปตามสิ่งที่กระทบ
คือที่สัมผัส เช่น ตาเห็นรูปเป็นต้น 
 แล้วก็ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านไปด้วยประการต่างๆ
ในสิ่งที่เห็นนั้น ที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง เป็นต้น
  เก็บมาไว้เป็นอารมณ์เป็นเครื่องนึก เป็นเครื่องคิด
ถ้าเราพิจารณาก็ต้องแก้ไขเหตุการณ์
จุดเหล่านั้นให้เกิดความสังเวช 
 คือเบาบางไปเสียก่อน สติจึงจะสามารถคุมได้
เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติ นักภาวนา 
 จะภาวนาอยู่ในระดับใดก็ต้องพึ่งพาอาศัยสติทั้งนั้น


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเบื้องต้นที่เราจะพิจารณา
หรือว่าภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ นั้น
เราพิจารณาหรือภาวนากันมาเป็นปีๆ 
  เป็นเวลานานๆ ทำไมจึงไม่สงบ 
 ก็เพราะยังแก้วาระจิตไม่ตก
มีสติน้อย สติไม่สามารถจะคุมจิตได้
จึงต้องอาศัยปัญญาเข้าช่วย 
 เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ที่เราจะพากันภาวนา
พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือบทใดบทหนึ่งก็ตาม 
 พึงตรวจตราในสภาพจิตของตน
ให้เกิดความสังเวช
เพื่อให้จิตเป็นปกติหรืออ่อนลง
ไม่เกิดความฟุ้งซ่าน 
 อันควรแก่สติที่จะควบคุมได้
อันจะเป็นหนทางแห่งความสงบได้ง่าย
  เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ จงต้้งใจน้อมใจ
นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ให้เกิดศรัทธาเชื่อมั่นดีแล้ว 
  ต้ังใจให้เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ดูจิตของตน
  ตรวจตราชำระสะสางให้ปกติ
แล้วตั้งภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ด้วยความมีสติ
  จนกว่าจิตของเราจะเกิดสงบ
ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ 
 ขอเชิญภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ
  หรือที่เคยปฏิบัติมา
เพื่ออบรมจิตของตนให้สงบ
ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป........



#######################



ท้ายนี้ขออารธนาคุณพระศรีรัตนตรัย
โปรดดลบันดาลให้ทุกท่านที่ปรารถนาความสุข
จงได้พบแต่ความสุขกาย สุขใจ 
 ตราบชีวิตยังคงมีอยู่ในโลกนี้ด้วยเทอญ









Create Date : 26 มีนาคม 2555
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2557 12:03:31 น.
Counter : 3185 Pageviews.

0 comment
(•‿•✿) ♦♦♦ ทางสายกลาง ♦♦♦





วันนี้ขอเสนอพระธรรมเทศนา
ของท่านอาจารย์พระครูบัวเกตุ
เป็นพระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน
เรื่อง "ทางสายกลาง"
ซึ่งท่านได้เทศอบรมญาติโยม
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2535
ณ ศาลาบำเพ็ญบุญแม่ปาง วัดป่าริมธาราวาส
 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแม่ลาน้อยแล้ว)
อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พระธรรมเทศนาเหล่านี้เราได้คัดลอกมาจากหนังสือ
ท่านพระครูวิบูลธรรมกิจ (บัวเกตุ ปทุมสิโร)
 มีอายุครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537


เมื่อท่านต้้งใจอ่านและฝึกปฏิบัติ
ไปตามที่ท่านได้เทศได้สอนไว้แล้ว
 ท่านที่มีจิตประสงค์ที่จะฝึกกรรมฐาน
ก็จะสามารถฝึกได้อย่างดียิ่ง
 แต่หากท่านยังไม่พร้อมที่จะฝึก
ก็ขอให้ท่านได้อ่านจนจบเถิด
เพราะผลแห่งการอ่านบทเทศนาธรรมบทนี้
จะทำให้จิตใจท่านผ่องแผ้ว และจะได้รู้แจ้งว่า
 "ทางสายกลาง" นั้นคืออะไร
เรามั่นใจว่า จิตของท่านจะสงบลง ไม่ฟุ้งซ่าน
และเมื่อจิตสงบลงแล้ว สติก็จะมา ปัญญาก็จะเกิด อย่างแน่นอน



ซึ่งพระธรรมเทศนามีดังต่อไปนี้:-



ในโอกาสต่อไปนี้เป็นเวลาฟังธรรม ปฏิบัติธรรม
 ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานี้
พระองค์ทรงแสดงไว้เด่นชัดว่า
ต้องปฏิบัติธรรมในสายมัชฌิมาปฏิปทา
ดังปรากฎในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก
 คือ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"
ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พรหมณ์ทั้งห้า
คือ ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันฯ
 แขวงเมืองพาราณสี เป็นพยานหลักฐานในแนวทางปฏิบัติ
เพราะในสมัยนั้นมีการปฏิบัติเอนเอียงไปทาง
 "กามสุขัลลิกานุโยก" คือหย่อนไป และ
"อัตตกิลมถานุโยค" คือ การตึงเกินไป
ทั้งสองทางพระองค์ได้ทรงแสดง ได้ทรงเห็นแล้วว่า
ไม่ใช่เป็นทางตรัสรู้อมตธรรม
จึงได้ทรงคัดค้านหนทางทั้งสอง
 และทรงแสดงแนวทางอีกอันเป็นอริยมรรคทั้งแปด
อันเป็นอริยมรรคที่จะพาให้บุคคลสูงถึงโลกุตตรภูมิ
หรือพ้นจากอาสวะกิเลสได้ในทางสาย มัชฌิมาปฏิปทา
มีอริยมรรคมีองค์แปด
เพราะฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง
 เราก็ต้องพึงตีความหมายให้เข้าใจ
คำว่า "ทางสายกลาง " ในอริยมรรคมีองค์แปดนั้น
 เพราะในอริยมรรคมีองค์แปดนั้น พร้อมด้วยศีล
พร้อมด้วยสมาธิ พร้อมด้วยปัญญา
การปฎิบัติให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
จึงต้องให้ศีลเป็นมัชฌิมาปติปทา
สมาธิเป็น มัชฌิมาปฏิปทา
ปัญญาเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
 ให้สมบูรณ์ดีแล้ว จึงจะถึงโลกุตตรภูมิ
หรือถึงซึ่งวิมุตติความหลุดพ้นจากกิเลสได้
ก็แล คำว่ามัชฌิมาปฏิปทาสายกลางนี้ ซึ่งเราแปลกันว่า
ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป พอเหมาะพอดี
การที่เราจะถือเอาอะไรเป็นเขตว่า
อะไรพอเหมาะพอดีแก่ตัวเรา
คือการปฏิบัติอันใดเป็นไปเพื่อตัดกิเลสและกองทุกข์ได้
 หรือทำให้ดีขึ้นไม่ตกต่ำลง ทางนั้นเป็นทางที่ดี
เรียกว่าทางสายกลาง
เพราะถ้าหากว่าการปฏิบัติไม่เจริญขึ้น
 หย่อนเกินไปก็ตกต่ำ ตึงเกินไปก็ตกต่ำ


จึงสังเกตุตัวเองได้ว่า ถ้าหากว่าทางใดที่ปฏิบัติแล้ว
เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งธรรมนั้น
ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ท้้งปัญญา
นั่นก็ถือแนวทางเป็นขอบเขตได้ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เฉพาะอย่างยิ่ง อย่าเอาตัวเองเข้าไปวัด
ต้องเอาผลแห่งการปฏิบัติ
คือถ้าหากว่าเอาตัวเองเข้าไปวัดแล้ว
ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้
เช่นว่า นึกว่าพระพุทธเจ้าสอน
ให้ปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา
บำเพ็ญหรือปฏิบัติมากไป เกรงจะเหนื่อย
 เกรงจะลำบาก เหล่านี้
แล้วก็อ้างว่าไม่ใช่ม้ชฌิมาปฏิปทาเป็นต้น
อันนั้นก็ไม่ถูก จึงบอกว่าไม่ควรเอาตัวเองเข้าไปวัด
 ต้องพึงดูข้อที่เราปฏิบัติดูว่า
เป็นไปเพื่อความสลัดกิเลสและกองทุกข์หมดไปบ้าง
 บัดนี้ธรรมที่ปฏิบัตินั้นเจริญขึ้นหรือไม่
เช่น ศีลที่รักษา เราเกิดความดีใจ
เกิดความอิ่มใจ เกิดความอุ่นใจ เกิดความสบายใจ
เกิดความสุขใจ เกิดจากการรักษาศีลเพิ่มขึ้นหรือไม่
หรือว่าเป็นไปเรื่อยๆ
หรือว่าบางทีเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนกังวล เป็นต้น
นั่นหมายความว่ายังไม่มีอะไรแน่นอน


ต้องให้เห็นว่าศีลที่เราปฏิบัตินี้บริสุทธิ์ดีขึ้น
จึงมีความสบายใจขึ้น
นึกถึงศีลแล้วเกิดความสุขกายสุขใจ
เพราะเหตุที่ได้ประพฤติปฏิบัติดีแล้ว
 กิริยาที่ปฏิบัติอย่างนั้น
ชื่อว่าถูกทางแห่งความเป็นสายกลาง
แต่ว่าการที่จะปฏิบัติให้ถูกทางเป็นสายกลางนั้น
ต้องอาศัยความสม่ำเสมอด้วย
 ศีลต้องรักษาด้วยความสม่ำเสมอ
การอบรมจิตต้องทำด้วยความสม่ำเสมอ
การใช้สติปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง
ต้องทำด้วยความสม่ำเสมอ
ในทางสายกลางนั้น ถ้าหากว่าทำมากบ้างน้อยบ้าง
มันเท่ากับว่าตึงเกินไปและหย่อนเกินไปเหมือนกัน
ต้องให้เกิดความสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น
ศีลต้องให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาและสม่ำเสมอ
จิตต้องให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาและสม่ำเสมอ
ปัญญาต้องให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาและสม่ำเสมอ
ตลอดจนอิริยาบทที่มีความเป็นไปแต่ละวัน
คือ การกระทำ การพูด การคิดในสิ่งที่ไม่ใช่แนวทางก็ดี
และอื่นๆก็ดี  ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
 ทำไมวันนี้นั่งสมาธิแล้วจึงสบาย
รุ่งอีกวันหนึ่งความสบายอันเกิดจากสมาธิ
นั้นหายไปไหนหมด
วันหนึ่งความเป็นไปเราอาจจะต่างกัน
เพราะไม่มัชฌิมาปฏิปทา คือวันนี้พูด มากไป
 วันนี้นอนมากไป  วันนี้ฉันอาหารมากไป
หรือวันนี้ฉันอาหารน้อยไปจนอิดโรย
หรือวันนี้นั่งคิดนอนคิดอะไรไปจนเครียด
จิตใจจึงเกิดความฟุ้งซ่านเหล่านี้ เป็นต้น
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่เป็นกลาง


เพราะฉะนั้น พึงสังเกตุในความเป็นไป
ทุกๆอิริยบท ทุกๆความเป็นไปของเรา
เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฉันอาหาร
 พอเหมาะพอดีและสม่ำเสมออยู่เรื่อยๆ
แล้วจะทำให้ ความเป็นกลางเกิดขึ้นได้ง่าย
ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้ง่าย
ถ้าหากว่าแต่ละวันเกิดความผันผวนไม่ปกติแล้ว
วันไหนที่อิ่มมากเกินไป
กิเลสชนิดหนึ่งคือ โกสัชชะ ความเกียจคร้านจะเกิดขึ้น
 วันไหนกินน้อยเกินไป ความอิดโรยของร่างกาย
ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจก็จะเกิดขึ้น
 เพราะฉะนั้น การถือเอาความเป็นกลางๆ
จึงต้องขยายความออกไปให้ทั่วถึงทุกๆอิริยาบท
ทุกๆในความเป็นไป
 และข้อที่สำคัญนั้นต้องพึงรู้ตัวเองว่า
 ที่เราปฏิบัตินี้ ควรกับความพอเหมาะพอดีหรือยัง
วันหนึ่งสิบสองชั่วโมง เรามีเวลาปฏิบัตินึกถึง
พุทโธ พุทโธ กี่ชั่วโมง
คืนหนึ่งอีกสิบสองชั่วโมงเป็นยี่สิบสี่ชั่วโมง
เรามีโอกาสนึกถึง พุทโธ พุทโธ หรือปฏิบัติกี่ชั่วโมง
พึงเปรียบเทียบกัน ถ้าหากปฏิบัติน้อยกว่า
 อันนั้นหมายความว่าเรายังย่อหย่อน ต้องเร่งขึ้นมา
ทำความเพียรขึ้นมาให้ได้มาก
 เท่าที่เรียกว่าไม่ให้เสียเปรียบในฝ่ายที่ไม่ได้ปฏิบัติ
จึงจะเข้าขีดมัชฌิมาปฏิปทา


แต่ถ้าหากว่าชั่วโมงแห่งการปฏิบัติน้อยมากเกินไป
จนเสียเปรียบชั่วโมงไม่ได้ปฏิบัติ
ถึงแม้เวลาปฏิบัติแต่ละครั้งจะเกิดความเหนื่อยยาก
 ก็ยังถือว่า ไม่ใช่ขีดแห่งมัชฌิมาปฏิปทาเพราะฉะนั้น
มัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้าจึงรวมความว่า
ปฏิบัติให้กิเลสต่างๆ สงบระงับ
และธรรมเจริญขึ้น ศีลเจริญขึ้น
สมาธิเจริญขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น
จึงจะเรียกว่าเข้าสู่เขตแดนมัชฌิมาปฏิปทา
ตามคำสอน
เพราะการปฏิบัติเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแล้วจะทำให้เสมอ
จะทำให้เกิดความพอดี
เมื่อเสมอและเกิดความพอดีแล้ว
ใจจะไม่กระวนกระวาย ใจจะไม่หงุดหงิด
 ใจจะตั้งมั่นได้ง่าย
เพราะชินต่อสภาพที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาที่พอดีอยู่
นี่เป็นส่วนหนึ่งแห่งการปฏิบัติ


ส่วนที่สองที่เราจะต้องปฏิบัติคือ
ทำสมาธิภาวนาให้จิตสงบได้ง่ายได้เร็ว
ข้อสำคัญก็ดังที่เคยกล่าวมาแล้วบ่อยๆ
คือ สติ เป็นตัวสำคัญ เวลาที่เรานึกว่าพุทโธนั้น
 ถ้าหากนึกอยู่ ให้จิตเป็นตัวผู้นึกว่า พุท ว่า โธ
และมีสติคุมอยู่ที่จิตที่นึกว่า พุท ว่า โธ นั้นอยู่ทุกคำที่นึก
 จะทำให้ใจเป็นกลางได้ง่าย ๆ
แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า
ถ้าหากว่าจิตใจของเรายังไม่ผ่องแผ้วเพียงพอ
 เราก็ต้องหาอุบายเช่น
นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
 นึกถึงกรรมฐานต่างๆ ปราบนิวรณ์ให้ราบคาบกันก่อน
แล้วจึงหาจิต  คำที่หลวงปู่เทสก์ท่านสอนไว้ว่า
วิธีหาจิตให้พบก่อนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องต่อการปฏิบัติมาก
เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดความรวมหรือมีสติเข้าพุ่งสู่คุมจิต
ตรงที่จิตน้้นได้ดีที่สุด ถ้าหากว่ายังหาไม่ได้
หรือว่าเฉียดๆ ไม่เข้าจุดศูนย์กลาง
ความสงบก็ยังคลาดเคลื่อนได้ง่าย
 คือจิตแกว่งไปมาส่งส่ายได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ที่ท่านบอกว่า จงกลั้นใจ อึดใจ
แล้วตรงไหนมีความรู้สึกอยู่ตรงนั้นคือใจ
และก็มีสติคุมตรงนั้นไว้
และเมื่อเวลาให้ใจตรงนั้นคิดนึกว่า พุท ว่า โธ
เวลานึก เวลาคิด ก็เป็นจิต เวลานิ่งๆก็เป็นใจ
เหมือนกับว่าใบไม้ที่ไม่โดนลมมันก็นิ่ง
 เวลาใบไม้มันโดนลมมันก็แกว่งไปแกว่งมา
 เปรียบเทียบกับใจที่มันนิ่งอยู่
ความที่มันคิดปรุงแต่งส่งส่าย
เหมือนกับใบไม้ที่มันโดนลม
 หรืออีกอย่างหนึ่งเหมือนกับคลื่นเวลา
มีระลอกคลื่นเหมือนกับจิต
น้ำที่นิ่งๆเหมือนคลื่นสงบแล้ว เหมือนกับใจ
หรืออีกประการหนึ่งเหมือนเราถือขันน้ำอยู่ในมือ
น้ำยากที่จะนิ่งได้มันย่อมกระเพื่อมบ้างเหมือนจิต
 เมื่อตั้งขันไว้เฉยๆ น้ำมันก็จะนิ่งเหมือนใจ
กิเลสเหมือนคลื่น กิเลสเหมือนลม
กิเลสเหมือนการถือขันน้ำที่เปรียบเทียบให้ฟังนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าปราบกิเลสมันสงบ กามฉันท์สงบ
พยาบาทสงบ ถีนมิทธะสงบ อุทธัจจะสงบ
วิจิกิจฉาสงบ จิตมันก็สงบเป็นใจ คือ อยู่ส่วนกลาง
หมายความว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
คือในส่วนเป็นกลางจิตมันก็จะสงบราบรื่นเป็นปกติ
 เพราะความพอเหมาะพอดี


จุดที่สำคัญในการเพ่ง
 ทำไมท่านจึงต้องให้สัมผัสเอาลมหายใจเข้าออกก็ดี
หรือบางขณะเช่นว่าให้เพ่งจุดนั้นบ้าง จุดนี้บ้าง
 เพื่ออะไร จุดสำคัญก็คือว่า ให้มีเป้าหมายในการเพ่ง
เฉพาะอย่างยิ่ง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
มีสติคุมไว้ที่ปลายจมูก ทำความรู้สึกเวลาหายใจเข้า
ลมปะทะตรงไหนของปลายจมูก นึกอยู่ตรงนั้น
 ทั้งเข้าทั้งออก แล้วก็นึกว่า พุท แล้วนึกว่า โธ
อันนี้ก็เป็นอุบายอันหนึ่ง
หรือหาจิตได้แล้วนึกไว้ที่จิต
ที่จิตนึกว่า พุท ว่า โธ โดยไม่ต้องกำหนดลม
อันนี้ก็เป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่ง
 แล้วแต่ว่าใครจะสะดวกอย่างไร
แต่ข้อที่สำคัญในการปฏิบัติที่แท้จริงก็คือ
เมื่อเวลาจิตนึกว่าพุท ว่า โธ นั้น
หาเครื่องหมายแห่งความรู้ว่าจิตอยู่ตรงนั้นอยู่ตรงนี้
ใจอยู่ตรงนั้น ใจอยู่ตรงนี้ให้ได้ แน่วแน่เสียก่อน
 การที่จะนึกถึงให้ใจว่าอยู่ตรงนี้แน่นอนนั้น
บางทีก็อาจจะมีวิจิกิจฉาอยู่บ้าง
เฉพาะอย่างยิ่งถ้านิวรณ์ยังไม่หมด
 จะกำหนดให้รู้ว่าจิตอยู่ตรงนี้ ความรู้สึกอยู่ตรงนี้
 และความรู้สึกที่อยู่ตรงนั้น
ต้องให้ความรู้สึกรวมเป็นจุดหนึ่ง
และมีสติเพ่งอยู่ตรงนั้น
ถ้าจับตรงนี้ได้ไม่ช้าไม่นานก็สงบ
 แล้วก็กำหนด พุทโธ พุทโธ
ตรงนี้อย่าให้คลาดเคลื่อนมีสติคุมไว้
ในขณะที่เมื่อย จับตรงนี้ได้คุมได้
เดี๋ยวเดียวก็หายเมื่อย
 ในขณะที่กายหนักคุมตรงนี้ได้ เจอตรงนี้ได้
เดี๋ยวเดียวกายก็เบาและเดี๋ยวเดียวก็สงบ
สงบนานหรือไม่นานนั่นขึ้นอยู่กับสติปัญญาอีกตอนหนึ่ง


เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า
ให้หาจิตให้ได้ก่อนอันนั้นเป็นข้อที่สำคัญมาก
 ถ้าหากว่าไม่ถนัดอันนั้น
หาลมหายใจเข้าออก จุดลมหายใจเข้า ออก
แต่เมื่อหาจุดลมหายใจเข้า ออก นั่นพบแล้ว
มีจิตมีสติคุมได้แล้ว ลมหายใจหมดไปแล้วเบาแล้ว
 ลมหายใจมี แต่มันละเอียดเข้า
เขาเรียกว่าหมดไปแล้ว
จิตจะเกิดความสุข คือใจจะเกิดความสุข เป็นหนึ่งขึ้น
ก็ต้องมีสติไปคุมใจอีกต่อหนึ่งโดยทิ้ง พุทโธ เสีย
หรือเพ่งโดยจิตอย่างเดียวที่จิตว่า
พุทโธ พุทโธ ว่าไป ว่าไป ว่าไป ถ้าพบจุดของจิต
คือพบที่อยู่ของจิตของใจแล้วทิ้งคำว่า พุทโธ ออกไป
มีสติดูจิตดูใจอันนั้นไว้อย่างเดียวด้วยความมีสติ
ถ้าหากว่าเผลอและมันรวนเร จึงค่อยว่า พุทโธใหม่
เพื่อฝึกให้เกิดความชำนาญ
ถ้าหากว่าเวลาเพ่งที่จิตนั้น เพ่งที่ใจน้้น
 เพ่ง เพ่ง ไปจนจำได้ จุดดีแล้วถ้าหากว่าไม่ทิ้งพุทโธ
มันก็ไม่เดินหน้า ความสงบก็จะไม่เดินหน้า
และก็จะรวนเรเหมือนกัน
คือความปรานีตของจิตจะดิ่งลง
แต่ไม่ยอมลงเพราะพุทโธดึงอยู่
คือมีสติไปหน่วงเหนี่ยวอยู่กับพุทโธ


เพราะฉะนั้นจุดนี้ต้องฉลาด
เมื่อได้จุดแล้วเพ่งว่า พุทโธ พุทโธ จนสนิทดีแล้ว
 จึงค่อยๆห่างปล่อยวางพุทโธเสีย
ดูแต่จุดนั้นจุดเดียวด้วยความมีสติตั้งมั่น
 กายจะเบาลงความปรานีตละเอียดจะเกิดขึ้น
 ความปวดเมื่อยจะหายไปจะเบาขึ้นตามลำดับ
 และการที่กายค่อยๆเบาขึ้นจิตแน่วแน่ขึ้นนั้น
เป็นตัวสมาธิที่ดิ่งลงตามควร
แต่การที่จิตจะดิ่งลงตามควรนั้น
 ถ้าหากว่าไม่มีสติมั่นคงเพียงพอ
นิดเดียวก็ถอนตัวขึ้นมาอีก
เกิดความรู้สึกอื่นๆอีก มันจะเป็นอยู่อย่างนี้
 ต้องฝึกอาการเหล่านั้นให้เกิดความชำนาญ
เพราะฉะนั้น หลักการทื่สำคัญดังกล่าวมาแล้ว
 ปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทาในศีล ในสมาธิ ในปัญญา
และในความเป็นไป ตลอดจนฉลาดมีสติในการคุมจิต
 ดูจิต เพ่งจิต ภาวนาจิต สมาธิจึงจะเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นต่อนี้ไปจงตั้งใจภาวนา
ตามหลักการที่ได้บอกไว้แล้ว
เอาคำบอกเล่านั้น คำสอนนี้ไปฝึก
และเมื่อพบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จำจุดที่ฝึกนั้นไว้
ดัดแปลงแก้ไขทดสอบดูให้เข้าใจ
จะเกิดความช่ำชอง ชำนาญ
และสามารถปฎิบัติได้ จงปฏิบัติต่อไป...........


♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦


ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ
ในการฝึกจิตของตนเองให้สงบ
และขอให้ได้พบกับความสุขกายสุขใจ
ตลอดไปและตลอดกาลเทอญ........



Create Date : 23 มีนาคม 2555
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2557 11:22:53 น.
Counter : 1134 Pageviews.

2 comment
1  2  3  4  5  6  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ