Group Blog
All Blog
♦♦♦ อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ โดย พระไพศาล สาทโร ♦♦♦








เราได้รับแจกหนังสือของพระไพศาล สาทโร 
  สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา
เรื่อง อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ 
 อ่านแล้วดีมากเลยอยากจะให้ท่านได้อ่านบ้าง
จึงได้คัดลอกนำมาเสนอแต่ทุกท่าน 
 และ พร้อมนี้ก็ขออนุญาตต่อ ท่านพระไพศาล สาทโร
มา ณ โอกาสนี้ด้วย 
 เรื่องนี้เหมาะสำหรับทุกท่านที่คิดจะบวช 
 หรือ กำลังบวช หรือมีญาติจะบวช
จะได้ช่วยแนะนำกันไป 
 เมื่อคิดจะบวชแล้วก็อย่าให้เสียเวลาไปเปล่าๆ
  ควรจะได้อานิสงส์จากการบวชบ้าง ...


อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

วันนี้ ที่ 24 สิงหาคม 2553 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีขาล

พระธรรมเทศนาในค่ำคืนนี้ 
 เป็นพระธรรมเทศนาตามปกติ
ในพรรษาเป็นประจำของทุก ๆ ปี
เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและวิริยะ
ความภาคเพียรของท่านทั้งหลาย ที่มาประชุมพร้อมกัน
ณ. สวนโมกข์วัดธารน้ำไหลแห่งนี้
ให้มีความเจริญก้าวหน้าในพระธรรม
ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดายิ่งๆ ขึ้นไป
จนกว่าจะยุติลงด้วยเวลา

เพื่อความสะดวกของกระผมหรืออาตมา
   จึงขอปาฐกถาธรรมแทนการเทศนา
และท่านทั้งหลายไม่ต้องพนมมือ

เรื่องที่จะบรรยายปาฐกถาธรรมคือ
  เรื่องอานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ
ซึ่งคนเราส่วนใหญ่มีความเข้าใจในคำว่า
อานิสงส์ของผู้บวชน้อยมาก
คำว่า อานิสงส์ หมายถึง ผลบุญกุศล ผลดี 
 ที่ผู้บวชจะพึงได้รับ รวมทั้ง พ่อ - แม่ - ปู่ -ย่า-ตา-ยาย 
 ญาติพี่น้องของตน
อีกทั้งยังมีอานิสงส์ต่อการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา 
 ให้ยั่้งยืนมั่นคงเป็นมรดกให้กับลูกหลานต่อ ๆ ไป
นี่แหละคือ อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ
 ดังจะได้กล่าวในตอนต่อไป

ปัจจุบันนี้มีผู้บวชอยู่นานๆ มีน้อยมาก
  จะมีแต่ผู้สูงอายุที่จะบวชอยู่นาน ๆ หรือบวชตลอดชีวิต
ส่วนคนหนุ่มหรือผู้มีอายุน้อยส่วนใหญ่
จะถือบวชกัน 7 วัน 15 วัน 1 เดือน หรือ 1 - 2 พรรษา
  ตามแต่โอกาสจะอำนวย

ส่วนใหญ่บวชกันตามประเพณี 
 หรือบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณของมารดา - บิดา
จึงมีผู้สนใจในอานิสงส์ผลบุญกุศล
ที่ผู้บวชพึงจะได้รับน้อยมาก 
 เพราะคนเราจะต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพ
และหันไปนิยมวัตถุที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา
  เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย
จะใช้จะเดินทางไปที่ไหนก็สะดวกสบาย รวดเร็วท้นใจ
  การติดต่อสื่อสารก็สะดวก เช่น โทรศัพท์
จะโทรฯ ติดต่อกันเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสัมผัสเลขหมาย
ตามที่ต้องการก็สามารถพูดคุยกันได้ทันที
จะอยู่ที่ไหนๆ คนละประเทศ คนละซึกโลก คนละทวีป 
 ก็สามารถพูดคุยกันเห็นหน้าตากัน เสมือนอยู่ใกล้ๆกัน
แต่มนุษย์ก็ยังไม่พอ ยังหาความสุขไม่ได้ตามที่ตนต้องการ 
 จะกินจะนอนจะเสพกาม จะมีชื่อเสียง มีเกียรติยศ
  เป็นเศรษฐีมีเงินร่ำรวยเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน 
 เขาเหล่านั้นก็ยังหาความสุขให้เป็นที่พอใจไม่ได้
เพราะวัตถุ ทรัพย์สิน เงินทองเหล่านั้น
เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทางร่างกาย
จะซื้อจะกินจะใช้จ่ายอะไรก็ได้ 
   จะเดินทางไปไหนก็สะดวกสบายได้ตามความปรารถนา
แต่ไม่สามารถดับความทุกข์ได้ 
 เป็นเพียงช่วยบรรเทาความทุกข์ลงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

และวัตถุสิ่งของเหล่านั้นยังเอื้ออำนวยประโยชน์
ให้กับกิเลสตัณหา ความอยาก ความโลภ ความโกรธ
  ความหลงของอวิชา ทำให้คนเรามีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น
 ขาดความสามัคคี  ไม่มีศีลธรรมมีแต่ความเห็นแก่ตัว
  แบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งสีกันดังที่ปรากฎให้เห็นกันอยู่ 
 หาความสงบสุขไม่ได้

เพื่อความสงบมีสันติสุข คนเราจึงต้องอาศัยธรรมะ
ของพระพุทธเจ้า ที่ท่านนำมาสั่งสอน
และได้บัญญัติไว้แล้วเท่านั้น จึงจะช่วยให้เรา
ได้พบกับความสุขที่แท้จริง และมีสันติสุข

ทีนี้จะพูดถึงอานิสงส์ของผู้บวช 
 และพระภิกษุผู้บวชใหม่ ถ้าภิกษุมีความตั้งใจจริง
บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ตามธรรมวินัย
กล่าวโดยย่อ ข้อวัตรในการปฏิบัติเบื้องต้นคือ
1. ลงอุโบสถฟังปาฎิโมกข์
2. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
3. สวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเช้า - เย็น
4. กวาดอาวาสวิหารลานวัด
5. รักษาผ้าครองไตรจีวร
6. อยู่ปริวาสกรรม
7. โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ
8. ศึกษาสิกขาบท และปฎิบัติต่ออาจารย์
9. เทศนาบัติ
10. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4
เป็นต้น และเป็นผู้มักน้อย รักสันโดษสงัดเงียบ 
 พอใจในเสนาสนะ และปัจจัย 4 ตามพึงมีพึงได้
ฉะนั้น ภิกษุผู้บวชจะต้องเป็นผู้เสียสละสิ่งของ
 อันเป็นวัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ทางโลก
ออกเสียด้วยความอดกลั้นอดทน
มีความสำรวมกาย วาจา ใจ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์สุจริตจริง
  เหมาะแก่การกราบไหว้ของบุคคลทั่วไป
ผู้บวชย่อมจะได้รับอานิสงส์อันใหญ่หลวง



อานิสงส์ข้อแรก ของผู้บวชเป็นพระภิกษุ
โดยส่วนมากผู้บวชมีความมุ่งหวัง
เพื่อตอบแทนคุณของมารดา - บิดา
และเพื่อดับไฟกิเลสไฟทุกข์
 เพื่อเราจะได้พ้นจากความทุกข์ท้้งปวง
  คือ บรรลุ มรรคผล นิพพาน เป็นที่ตั้ง
หากไม่ได้ถึงน้้นก็ย่อรองลงมา
เป็นการเผาผลาญไฟกิเลสไฟทุกข์ให้เบาบางลง
แล้วแต่ความสามารถของตน
ในการประพฤติปฎิบัติธรรมวินัยให้ได้ผลดี
มากน้อยเพียงไร กล่าวย่อโดยสรุป 
 ผู้บวชจะได้เรียนรู้ศาสนาที่ตนได้นับถืออย่างใกล้ชิด 
 จักได้ลองชิมการปฎิบัติธรรมะ และวินัย
ด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฎิบัติจริง
เพื่อความพ้นทุกข์เท่าที่ตนจะสามารถปฎิบัติได้
  เมื่อลาสิกขากลับออกไปสู่ความเป็นฆราวาส
จะได้เป็นคนที่ดีกว่าเก่า
เหมาะที่จะเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าครอบครัว 
 นี่คืออานิสงส์ข้อแรกที่ผู้บวชพึงจะได้รับ
  ด้วยการปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ถูกต้อง
เหมาะแก่การกราบไหว้ของบุคคลทั่วไป 
 จะได้ไม่เสียทีที่ได้บวชมาในพระพุทธศาสนา
จะไม่เป็นหมันเปล่า



อานิสงส์ข้อที่ 2 ได้แก่มารดาบิดา 
 ผู้บวชย่อมมุ่งตอบแทนบุญคุณ
ของผู้มีพระคุณเป็นที่ตััง
 คือมารดา - บิดา
เพราะเราเกิดมายังไม่ทันลืมตาดูโลก 
 เราก็เป็นหนี้บุญคุณท่านก่อนแล้ว 
 ทุก ๆ ท่านย่อมประจักษ์กันดีอยู่แล้ว
ถ้าบุตรคนใดทำให้มารดา - บิดา
ที่เป็นมิจฉาทิฎฐิเป็นสัมมาทิฎฐิ 
 หรือทำให้มารดา - บิดา
ที่มีสัมมาทิฎฐิมีสัมมาทิฎฐิมากขึ้น
มีความศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
จนถึงกับมารดา - บิดา ออกพ้นจากกองทุกข์
ได้หมดสิ้นเชิงจึงจะสมกับบุญคุณที่ท่านมีต่อเรา
และยังมีอานิสงส์แก่ญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหาย
และบุคคลอื่นที่เป็นมิจฉาทิฎฐิให้เป็นสัมมาทิฎฐิ
มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประพฤติปฎิบัติธรรมวินัย
เรียนรู้ธรรมะอันลึกซึ้งมั่นคงไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย
  จึงจะนับว่าเป็นการบวชที่ถูกต้อง
และตอบแทนบุญคุณของ มารดา - บิดา ได้จริง 
 ได้รับผลแห่งพรหมจรรย์นี้จริง แล้วตั้งหน้าสอนผู้อื่นจริง
เป็นที่ศรัทธาของมหาชนทั่วไป 
  ให้เขากราบไหว้ได้อย่างสนิทใจไม่เป็นขบถ
หรือหลอกลวงต่อความหวังดีของมารดา - บิดา
และญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งเป็นผู้หวังดี
 แต่ประการใดเลย อันนี้แหละเรียกว่าอานิสงส์ของผู้บวช



อานิสงส์ข้อที่ 3 ประการสุดท้าย
 อันพึงได้แก่พระศาสนาจากการบวชของเรา
เป็นการสืบอายุพระศาสนาให้มั่นคงสืบไป
เหตุที่เราได้บวชกันเพราะพระพุทธศาสนามีอยู่ก่อนแล้ว 
 ถ้าเราไม่มีศาสนาเราก็คงไม่ได้บวชดังที่ปรากฎนี้
ฉะนั้น เราจึงต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณของพระศาสนา
ระลึกถึงคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์
ที่สืบทอดอายุพระพุทธศาสนากันมาตามลำดับ ๆ
นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนมาถึงปัจจุบัน
เป็นเวลากว่า 2500 ปีมาแล้ว
เราจึงได้บวชกันเราจึงต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
  ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมั่นคงอยู่ในโลกนี้
เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของท่าน
และเพื่อประโยชน์ของสัตว์โลกทั้งหลายสืบไป


ธรรม หมายถึง หลักความจริงของธรรมชาติ 
 ซึ่งไม่มีใครตั้งขึ้นหรือบัญญัติขึ้น
แต่เป็นกฎธรรมดาของธรรมชาติ หรือของสิ่งทั้งปวง
   ซึ่งมีอยู่อย่างตายตัว อยู่ในตัวของมันเอง
ธรรมช่วยส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติธรรมออกพ้นจากกองทุกข์
เป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง
ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์เป็นตถตา 
 คือความเป็นเช่นนั้น 
  อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย
สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น


วินัยเป็นสิ่งที่บังคับ มนุษย์เป็นผู้บัญญัติ
วางกฎขึ้นเพื่อใช้สำหรับบุคคลหรือหมู่คณะนั้นๆ
ให้ปฏิบัติตามวินัยอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง
  และเหมาะสมทั้งธรรมะและวินัยทั้ง 2 อย่าง
มีความสัมพันธ์กัน
คือวินัยบัญญัติขึ้น ก็อนุโลมเพื่อให้ได้ผลตามธรรมะสูงสุด
 คือ มรรค ผล นิพพาน


วินัยเป็นเครื่องหมายของการทำคนให้เป็นคนดีมีระเบียบ
 ทำให้หมู่คณะมีระเบียบมีวินัยเรียบร้อย
มีความสามัคคีกลมเกลียวกันมีความไว้วางใจกัน
  มีความเคารพในภันเต(ผู้บวชก่อน) ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ทำให้หมู่คณะอยู่ร่วมกันเข้ากันได้ด้วยดี 
 ไม่มีการเบียดเบียนกัน 
 เสมือนหนึ่งน้ำนมกับน้ำย่อมเข้ากันได้หมด


เช่นเดียวกับพระภิกษุมาจากต่างถิ่น ต่างสถานที่ 
 ต่างความคิด ต่างความเห็น
ทุกคนต้องปฏิบัติตามพระวินัย 
  ย่อมทำให้ทุกคนมีระเบียบ เรียบร้อย มีความสามัคคี
อยู่ร่วมกันมีความสุขสงบเปรียบเสมือนดอกไม้หลากหลาย 
 หลายๆสี เมื่อจัดมารวมกันไว้ให้อยู่ในแจกันเดียวกัน
ก็จะดูสวยงามเป็นที่ชื่นชมเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส
ของมหาชนทั่วไป เป็นเนื้อนาบุญของโลก
คือผู้บวชจะต้องปฏิบัติดีถูกต้อง
นับว่าเป็นโชคดีของมหาชนทั่วไป
วินัยเปรียบเสมือนหนึ่งรากแก้วที่หยั่งลึกลงใต้ดิน 
 ทำให้ต้นไม้ใหญ่แข็งแรงมั่นคง
สามารถต่อต้านพายุได้ (พายุคือกิเลสตัณหา)
ต้นไม้ใหญ่คือพระธรรม ที่พระพุทธองค์
ได้ทรงนำมาสั่งสอนพระภิกษุสามเณร
และชาวโลกทั้งหลายทั่วไป
ส่วนรากฝอยเป็นรากหาอาหารมาหล่อเลี้ยงลำต้น
ให้ออกดอกออกผล คือ มรรค ผล นิพพาน
นี่คืออานิสงส์ของผู้ปฏิบัติธรรมวินัย 
  เพื่อให้ตนออกพ้นจากกองทุกข์


ฉะนั้น การบวชของพระภิกษุจะต้องเป็นผู้เสียสละ
สิ่งของอันเป็นวัตถุที่มีอยู่ทางโลกออกเสีย
ด้วยการอดกลั้น อดทน บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง 
 และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามสืบต่อไปได้จริง
และปฏิบัติตามพระวินัยอันเป็นเครื่องนำพา
ไปสู่สภาวะอันวิเศษ ประเสริฐแก่หมู่คณะ
ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ด้วยการทำปาฏิโมกข์ทุก 15 วัน 
 นี่แหละอานิสงส์ 3 ประการที่ผู้บวชพึงได้จากการบรรพชา 
 จึงจะไม่เป็นหมันเปล่า แต่จะมีผลเป็นกำไร


สรุป พระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาส
ท่านกล่าวไว้ในคำสอนผู้บวชพรรษาเดียวว่า
ผู้บวชที่ประสงค์จะได้รับอานิสงส์ผลแห่งการบวช 
  จะต้องระลึกหรือสำเนียกถึงความรับผิดชอบในความล้มเหลว
หรือความประสบผลสำเร็จในการบวชของตนด้วยตนเอง 
 เพราะตนขอบวชด้วยความสมัครใจของตนเอง
เพื่อเป็นเครื่องเตือนตนไม่ให้เป็นผู้เสียหาย
ในการปฏิบัติของตน 
 จะต้องระลึกถึงข้อที่ตนได้ทำพิธีบวชของตน
ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ในโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์
  ในท่ามกลางหมู่สงฆ์ที่ประชุมกันในนามของพระรัตนตรัย
ตนจะต้องมีหิริและโอตัปปะ ในการรักษาเกียรติยศของตน
  ตามที่ได้ปฏิญาณในการบวชของตนไว้อย่างไร
เป็นผู้สำนึกในลักษณะของการบวชอันแท้จริง
  กล่าวคือ การไปหมดจากเรือน จากการกินอยู่นุ่งห่ม
การใช้สอย การทำ การพูด และความรู้สึกนึกคิด
อย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง และเป็นผู้เว้นหมด
จากสิ่งที่ควรเว้น ควรละ ตามธรรมตามวินัยในพระศาสนานี้ 
 ทำการบวชของตนให้เป็นการบวชที่บริสุทธิ์ และถูกต้อง
ไม่นำมาซึ่งอันตรายแก่ตน 
 เพราะการบวชของตนมีพระรัตนตรัย 
 ซึ่งมีใจความสำคัญรวมอยู่ที่ความสะอาด สว่าง สงบ
เป็นวัตถุที่ตั้งอยู่อาศัยของตน
ตลอดถึงผลที่พึงได้แก่ตน แก่ผู้มีพระคุณของตน
  ตลอดถึงผลอันจะพึงได้แก่พระศาสนา
ความเป็นอย่างนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้ถึงที่สุด 
 เพราะตนมีอาวุธอันประเสริฐของบุคคลซึ่งบวชแล้ว
กล่าวคือ กัมมัฎฐานอันเป็นประธาน 
 มีอสุภกัมฐานเป็นต้น 
 และประกอบด้วยกัมมัฎฐานอันเป็นบริวาร
มีการพิจารณาจตุปัจจ้ย
 เครื่องอาศัย 5 อย่าง ของบรรพชิต
แล้วบริโภคสำเร็จประโยชน์ ได้อย่างบริสุทธิ์
นับว่าเป็นอาวุธและเป็นเครื่องป้องกัน
ในการบำบัดอันตราย
  อันจะพึงเกิดขึ้นแก่บรรพชาของตน
จนทำให้ตนมีสิทธิ์อันชอบธรรม
ที่จะรับทักษิณาทาน และการกราบไหว้บูชา
ท้้งของเทวดาและมนุษย์
รู้จักถือเอาประโยชน์อันสูงสุด
ซึ่งเป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงแห่งการบวช 
 กล่าวคือ ความเร็วในการบรรลุมรรคผล
และโอกาสที่ตนสามารถบำเพ็ญประโยชน์ตน
  และประโยชน์ผู้อื่นได้กว้างขวางไพศาลสูงสุด
อย่างไม่มีขอบเขต
สมกับบาลีที่ว่า อปิ เจ ปตฺตมาทาย อนาคาโร
  ปริพฺพเช อญฺญํ อหึสย โล เก อปิ รชฺเชน ต วรํ
(อ่านว่า อิปิ เจ ปัตตะมาทายะ อะนาคาโร
ปะริพพะเช อัญญัง อะหึงสะยัง โล เก อะปิ รัชเชนะ ต้ง วะรัง)
ซึ่งมีใจความว่า แม้บวชเป็นคนไม่มีเหย้าไม่มีเรือน 
 มีแต่ภาชนะแห่งคนขอทานถืออยู่ 
 ก็ไม่ทำใคร ๆในโลกให้เดือดร้อน
การบรรพชานั้นยังประเสริฐกว่าความเป็นจักรพรรดิ 
  ดังนี้โดยไม่ต้องสงสัยเลย

และนี่คือ คำสอนที่พระเดชพระคุณ
หลวงพ่อพุทธทาสท่านกล่าวไว้ในคำสอนผู้บวชพรรษาเดียว


และทั้งหมดนี่คือ ปาฐกถาธรรม
เรื่องอานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ 
 ของท่านพระไพศาล สาทโร
ซึ่งเราได้นำมาเสนอเฉพาะเรื่องนี้ 
 ซึ่งท่านยังมีช่วงที่ยกนิทานชาดกมาเล่าด้วย 
 แต่เห็นว่าจะยาวเกินไป
เลยขออนุญาตตัดทอนมาเพียงนี้ก่อน
  สำหรับนิทานชาดกนั้นวันหน้า
จะนำมาเสนอให้ท่านต่อไปหากมีผู้สนใจ

ขอให้ทุกท่านที่อ่านเรื่องนี้จงมีแต่ความสุข
   สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ ปราศจากโรคภัย
  ภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงด้วยเทอญ.












Create Date : 09 มีนาคม 2555
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2557 10:56:56 น.
Counter : 15435 Pageviews.

3 comments
  
อ่านแล้วเข้าใจง่าย มีประโยชน์มากๆ เยาวชนควรศึกษา และบอกต่อให้เพื่อได้ด้วยก็จะได้รับอานิสงส์ไปพร้อมๆกัน / ขอขอบคุณผู้นำเสนอเรื่องนี้ มีประโยชน์มากที่สุด/
โดย: khissada IP: 183.88.249.218 วันที่: 5 กรกฎาคม 2556 เวลา:7:54:30 น.
  
Very good
โดย: Siiripanya IP: 49.230.151.46 วันที่: 8 กันยายน 2557 เวลา:20:34:38 น.
  
มีชาดกย่อๆ ประกอบจะดูดี
โดย: Phrathawip IP: 159.192.216.73 วันที่: 23 มีนาคม 2561 เวลา:19:50:29 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ