In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

เงินเฟ้อ หรือ เงินฝืด (2)

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดย ท่านปลัดศิริพล ยอดเมืองเจริญ ได้แถลงตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Price Index:CPI) หรือ ที่ชาวบ้านเข้าใจกันว่าเป็น "อัตราเงินเฟ้อ" สำหรับเดือน ม.ค.2552 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2551 (หรือเมื่อปีที่แล้ว) พบว่า ลดลง 0.4% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค.2542

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ความเชื่อมั่นว่า "ยังไม่มีสัญญาณเงินฝืด เพราะการใช้จ่ายสินค้าจำเป็นยังมีอยู่ แต่ยอมรับสินค้าที่ไม่จำเป็น มีการชะลอการซื้อขายไปก่อน สาเหตุที่เงินเฟ้อติดลบในเดือนนี้ มาจากราคาสินค้าที่ปรับลดลงมากจากปีก่อนที่ราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติ" ("พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อม.ค.ติดลบ 0.4% ในรอบ 9 ปี" กรุงเทพธุรกิจ 3 ก.พ.2551)



การปรับตัวลดลงของ ดัชนี CPI ในครั้งนี้ ทำให้ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเงินฝืด หรือ Deflation ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกัน ผมจึงขอถือโอกาสทบทวนความหมายคำว่า เงินฝืด หรือ Deflation ให้ท่านผู้อ่านกันอีกสักครั้งนะครับ



ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า "เงินฝืด หรือ Deflation" หมายความว่า "ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อยไป การใช้จ่ายลดน้อยลง ทําให้ราคาสินค้าตก" ในขณะที่คำที่มีความหมายตรงข้ามอย่าง "เงินเฟ้อ หรือ Inflation" หมายความว่า "ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไปทําให้ราคาสินค้าแพงและเงินเสื่อมค่า"



ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินฝืด หรือ Deflation จะมีความหมายอีกความหมายหนึ่งนั่นคือ การปรับตัวลดลงของดัชนีราคา (Price Index) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้ามีราคาลดลง



การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าในภาวะเงินฝืด เป็นภาวะที่ค่อนข้างน่ากลัว เพราะหากผู้บริโภคคาดว่าสินค้ามีแนวโน้มของราคาที่ลดลง ผู้บริโภคก็จะไม่ใช้จ่ายแต่จะกอดเงินเอาไว้เพื่อรอที่จะซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าในอนาคต ซึ่งทำให้ไม่มีผู้คนต้องการใช้จ่าย เศรษฐกิจที่หดตัวอยู่แล้วก็จะหดตัวยิ่งขึ้นไปอีก



คนที่โชคร้ายที่สุดในภาวะเศรษฐกิจที่เป็นเงินฝืดก็คือ คนที่เป็นหนี้ เช่น นาย A เงินเดือน 7 หมื่นบาท กู้เงินมา 3 ล้านบาท (ติดหนี้แบงก์) เพื่อซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง แต่ในภาวะ Deflation ราคาสินทรัพย์ทุกอย่างมีแนวโน้มลดต่ำลง ทั้งค่าจ้าง บ้าน รถยนต์ คอนโด และ GDP สมมุติ กรณีของนาย A ถูกลดเงินเดือนเหลือ 4 หมื่น ทำให้ผ่อนบ้านต่อไม่ไหว นาย A จึงต้องขายบ้าน ที่ซื้อมาที่ราคา 3 ล้านบาท ไปที่ราคา 2.5 ล้านบาท แถมต้องติดหนี้ธนาคารอีก 5 แสนบาท (ถูกลดเงินเดือน เสียบ้าน แถมติดหนี้อีก)

ด้วยสภาพ Deflation นี้ ทำให้ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศต่างเป็นหนี้อย่างสหรัฐอเมริกา กลัวว่าประเทศจะเข้าสู่ภาวะ Deflation เป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ทั้ง ธนาคารกลางของสหรัฐ หรือ FED และ รัฐบาลสหรัฐ พยายามทุกวิถีทางไม่ให้ประเทศตกเข้าสู่ภาวะ Deflation

ช่วงที่ผ่านมา FED ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์ (0 - 0.25%) อัดฉีดเงินเข้าระบบธนาคารเป็นจำนวนมาก ตามนโยบาย Quantitative Easing รวมถึงมีแผนที่จะซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเสมือนกับการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเพื่อแก้ปัญหา หรือ เสมือนกับการเพิ่มปริมาณเงิน (Money Supply) ให้กับระบบ (โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกต่างมีนโยบายลดดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน)

จากภาวะการขาดความเชื่อมั่นในภาวะวิกฤติปัจจุบัน ทำให้ดูเหมือนกับว่าการแก้ปัญหาของ FED ด้วยการพิมพ์เงินออกมาเข้าระบบในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดภาวะ เงินเฟ้อ หรือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคานัก โดยสังเกตจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของราคาเมื่อปีที่แล้วแทบทั้งสิ้น (หากจะเปรียบเทียบ เช่นเดียวกันกับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ธนาคารกลางเยอรมันได้เพิ่มเงินในระบบขึ้นถึง 400% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนต่างเก็บเงินเอาไว้ไม่ใช้จ่ายในยามภาวะสงคราม)
ปัจจุบันยังเกิดข้อถกเถียงกันว่าด้วยมาตรการของธนาคารกลางทั่วโลก จะส่งผลให้โลกของเราจะเผชิญกับปัญหา เงินเฟ้อ หรือเงินฝืด กันแน่ในอนาคตอันใกล้

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของท่านกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการซื้อขาย Gold Futures ที่ซื้อขายกันในตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX ว่า "ถือเป็นจังหวะดีในการเปิดซื้อขาย Gold Futures ในช่วงนี้ ที่นักลงทุนไทยและนักลงทุนทั่วโลกมองหาวิธีการบริหารความเสี่ยง หลังจากที่ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ มีความผันผวนอย่างหนัก ในและภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา ที่ถกเถียงกันมากว่าขณะนี้มีปัญหาเงินเฟ้อ หรือเงินฝืด ความสนใจลงทุนในตลาดนี้น่าจะมีมากขึ้น" (โกลด์ฟิวเจอร์สวันแรกแห่เก็งสั้น 1 เดือน กรุงเทพธุรกิจ 3 ก.พ.2551)

ทั้งนี้ เหมือนอย่างที่หลายท่านล้วนทราบกันดีว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เช่นเดียวกัน กับสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง น้ำมัน หรือ ยางพารา (ในปัจจุบันมีการซื้อขายยางพาราล่วงหน้า หรือ Rubber Futures แล้วในตลาดสินค้าล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET)

แต่ ทองคำเป็นสินค้าที่มีความพิเศษในตัวมันอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ทองคำสามารถทำหน้าที่เป็น เงินตรา (Currency) เหมือนที่ครั้งหนึ่งที่ นายอลัน กรีนสแปน ครั้งหนึ่งเคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “Gold Still Represents The Ultimate form of Payment in The World."

หากทองคำทำหน้าที่เป็นเงินตราแล้ว จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะเงินฝืด ด้วยเช่นกัน อาทิ ช่วง Deflation ในสหรัฐฯ หลังจากจากแตกของฟองสบู่อินเทอร์เน็ต (Internet Bubble) ในสหรัฐ ระหว่างปี ค.ศ.2001 - 2004 ที่ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 267.2 ดอลลาร์ ไปที่ 437.2 ดอลลาร์ต่อออนซ์

การนำสินค้า Gold Futures เข้าซื้อขายใน TFEX ช่วงเวลาเช่นนี้ จึงถือว่าถูกที่ ถูกเวลา สำหรับการเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนในประเทศไทย สำหรับภาวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ หรือ เงินฝืด นอกเหนือไปจากทางเลือกที่นักลงทุนต้องไปต่อแถวซื้อ-ขายทองคำที่เยาวราช หรือ ซื้อกองทุนรวมทองคำอย่างของ TMB หรือ K-Gold

In Step with AFET Futures : ดร.พีรพล ประเสริฐศรี
//www.bangkokbiznews.com/home/news/finance/guru/2009/02/05/news_13564.php




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 16:50:04 น.
Counter : 631 Pageviews.  

จะเล่นทอง ฟังทางนี้ก่อน

ในวันนี้ วันที่ทองรูปพรรณราคาสูงถึงบาทละ 14,000 กว่าบาท ดูเหมือนว่าจะมีผู้คนเข้ามาแห่เก็งกำไรทองคำกันมากมาย

ผมก็อยากจะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้สักเล็กน้อย ขอออกตัวก่อนว่า 1.ผมไม่ได้อยู่ในวงการค้าทองคำ 2.กลไกการกำหนดราคาของบรรดาร้านทอง สำหรับผมเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจะขอให้ความเห็นตามธรรมชาติของการเป็น trader คนหนึ่ง ซึ่งน่าจะนำทักษะการ trade สินค้า หรือบริการอย่างหนึ่งมาประยุกต์ในการ trade สินค้าอีกอย่างหนึ่ง (กรณีนี้คือทองคำ) ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

เหตุการณ์ล่าสุดที่สะกิดผมให้เขียนเรื่องนี้ ก็คือข่าวเรื่องร้านทองปิดร้านในช่วงตรุษจีน (ซึ่งปกติเป็นช่วงที่ไม่เคยปิด) เนื่องจากมีชาวบ้านแห่นำทองมาขาย จนร้านรับไม่ไหว ที่สะกิดผมก็เพราะว่า ในทางปฏิบัติของการ trading ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) ของการซื้อ/ขาย ทองคำในบ้านเรา มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และนี่คือคำเตือนข้อแรกของผมสำหรับคนที่จะเข้ามาเก็งกำไรทองคำในแบบปัจจุบัน (คือซื้อ/ขายที่ร้านทอง)
ปกติของการเก็งกำไรอะไรก็ตาม สภาพคล่องในตลาดรองมีความสำคัญมาก ที่จะกำหนดให้ผู้เล่นทราบว่า สินค้า หรือบริการที่กำลังซื้อ/ขายอยู่ “liquid” แค่ไหน หาก liquid มากก็จะทำให้มีการเข้ามาซื้อ/ขายมาก แบบที่ชาวบ้านเรียกว่าซื้อง่ายขายคล่อง

นอกเหนือจากเรื่องสภาพคล่องแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ ก็คือ ความสามารถของ “เจ้ามือ” โดยปกติการซื้อขายแบบที่เราเรียกว่า “Over the counter” บรรดาเจ้ามือ (market maker) มีหน้าที่ที่จะทำการเสนอราคาซื้อ/ขายให้กับลูกค้าแบบตลอดเวลา โดยมีผลตอบแทนได้เป็นส่วนต่างของราคาซื้อ/ขาย (bid-offer spread) market maker ที่เก่ง ๆ จะทำการ make market ที่เร็ว และมี spread ที่แคบ

ความสามารถเช่นนี้จะแยกแยะเจ้ามือที่เก่งออกจากคนที่ไม่เก่ง เมื่อเหลือ market maker น้อยรายแล้ว ก็สามารถที่จะ command ตลาดได้ ซึ่งหมายถึง ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และกลไกตลาดก็จะปรับตัวไปเรื่อย ๆ คือหากเงินดีย่อมที่จะดึงดูดให้คนนอกเข้ามาทำเพิ่ม spread ก็จะลดลงเองเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป ที่อธิบายมายืดยาวเพื่อที่ชี้ให้เห็นว่า liquidity ของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ มีปฏิกิริยาโดยตรงกับการกำหนดราคาซื้อ/ขาย โดย market maker ในตลาดที่มีสภาพคล่องสูงมาก ๆ เช่นตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในเงินสกุลที่มีสภาพคล่องสูง ๆ จะมีโอกาสที่จะไม่มีราคาซื้อ/ขาย น้อยมาก กล่าวคือโอกาส “ปิดร้าน” ไม่รับซื้อ/ขาย มีอยู่น้อยมาก

กลไกกำหนดราคาทองคำปัจจุบัน ต้องดู 2 อย่าง ซึ่งอาจจะเคลื่อนไหวขึ้นลงไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ หรือจะตรงกันข้ามก็ได้ ของ 2 อย่างที่ต้องใส่ใจก็คือ 1. ราคาทองคำตัวมันเอง และ 2. อัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น ในบางขณะหากเงินบาทมีค่าอ่อนมาก ๆ โดยที่ราคาทองคำเองสูงขึ้นไปด้วย ก็จะทำให้ราคาซื้อ/ขายที่ร้านทองสูงขึ้นแบบ 2 เด้ง ในบางขณะเงินบาทมีค่าแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยที่ราคาทองคำไม่เคลื่อนไหว ราคาทองคำก็น่าจะลดลง คำถามที่เราต้องถามตัวเองต่อไปก็คือ เรามีการติดตามการเคลื่อนไหวขึ้นลงของ 2 สิ่งนี้มากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะเก็งกำไรทองคำ

เมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งได้แก่ 1. สภาพคล่องในตลาดของทองคำ 2. ข้อจำกัดหรือสมรรถภาพของบรรดาร้านทองในการเสนอราคาซื้อ/ขาย และ 3. ความตื่นตัวของตัว “นักลงทุน” ในเรื่องการเคลื่อนไหวของราคาทองคำและอัตราแลกเปลี่ยน ผมก็อยากจะเรียนว่า ถ้าไม่ได้คิดจะซื้อทองเพื่อเป็นสินทรัพย์ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น เป็นเครื่องประดับหรือไปหมั้นสาวให้ตัวเอง หรือลูกชาย ก็อย่าไปเก็งมันเลย ผมว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย แต่ถ้าจะเก็งกำไรเพื่อกำไร (หรือขาดทุน) ผมก็อยากจะให้ไปศึกษาตลาด futures ของทองคำให้มาก ๆ สิ่งที่ TFEX กำลังทำจะเปิดมิติใหม่ของการเก็งกำไรทองคำในบ้านเรา และผมก็เป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับ TFEX และก็เอาใจช่วยให้ futures ทองคำ ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุที่คำเตือนข้อ 1 และ 2 ของผมได้รับการดูแล มีความเป็นธรรมและโปร่งใสในระดับสากล

Money Time: เสถียร ตันธนะสฤษดิ์
//www.bangkokbiznews.com/home/news/finance/guru/2009/02/04/news_13133.php




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 16:48:48 น.
Counter : 724 Pageviews.  

เมื่อผมตกงาน..

คงไม่มีใครอยากตกงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องของอนาคตเราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

เพราะฉะนั้นทุกคนจึงไม่ควรประมาทเมื่อมีงานทำมีรายได้ก็ควรจะต้องรู้จักรักษางานหรืออาชีพที่มีอยู่นั้นให้ดีที่สุด รู้จักการเก็บออมสำหรับใช้จ่ายในอนาคต หรือในยามที่ไม่มีรายได้

“เมื่อผมตกงาน ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของเงินออมอย่างมาก” เป็นคำพูดของสามีแฟนคอลัมน์ท่านหนึ่ง ที่เธอเฝ้าพยายามแนะนำสามีของเธอให้แบ่งเงินเดือนบางส่วนมาออมบ้าง เธอพยายามพูดอยู่เกือบปี จึงสำเร็จ สามีของเธอทำงานกับบริษัทต่างชาติเงินเดือนประมาณ 70,000 บาท อันดับแรกเธอแนะนำสามีของเธอให้เปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ฝากเท่าๆ กันทุกเดือนเป็นระยะเวลา 2 ปี ไม่ต้องเสียภาษี

โดยแนะนำให้ฝากเดือนละ 20,000 บาท แต่สามีเธอไม่สนใจเพราะเป็นคนไม่ค่อยมีวินัยในการออมเท่าไรไม่แน่ใจจะฝากได้ทุกเดือนหรือไม่ แต่สามีคิดว่าจะเก็บในบัญชีออมทรัพย์ที่เป็นบัญชีเงินเดือน ซึ่งแน่นอนไม่น่าจะเก็บได้ตามที่ตั้งใจเพราะบัญชีนั้นมีบัตร ATM ถอนได้ง่ายดายมากประกอบกับสามีของเธอเป็นคนใจโตเป็นทุนเดิมอยู่แล้วยิ่งไปกันใหญ่

เธอจึงปรึกษาว่าน่าจะใช้เครื่องมือใดในการออม ได้แนะนำให้เปิดบัญชีกองทุนรวมที่สามารถซื้อ-ขายได้ทุกวัน ลงทุนในตราสารหนี้ ความเสี่ยงต่ำ ไม่เสียภาษี สามีตกลงเปิดบัญชีกองทุนรวม จำนวนเงิน 50,000 บาทในครั้งแรก โดยเธอเป็นผู้ดูแลบัญชีติดตามให้ฝากทุกเดือนพร้อมรายงานยอดเงินในบัญชี เพื่อให้เกิดกำลังใจกับผู้ออม โดยทุกเดือนสามีจะนำเงินมาให้เธอซื้อกองทุนให้ทุกเดือนประมาณ 20,000-50,000 บาท

จนในที่สุดสามีของเธอสามารถเก็บเงินได้ร่วมล้านบาทภายในระยะเวลาปีครึ่ง และรู้สึกสนุกกับการออมมากๆ ซึ่งระหว่างเส้นทางของการออมก็จะนำเงินบางส่วนไปซื้อกองทุนรวมที่ผลตอบแทนดีๆ บ้าง หรือ นำไปฝากประจำระยะสั้นๆ บ้าง แหละแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อสามีของเธอซึ่งมีผลงานดี เป็นกำลังของบริษัทถูกเลิกจ้างอย่างไร้สาเหตุ แต่เท่าที่ฟังดูน่าจะเกิดจากการขัดแย้งกับหัวหน้างานชาวต่างชาติมากกว่า ถึงวันนี้เขาตกงานมาเป็นระยะเวลาร่วมปีแล้ว การหางานใหม่ไม่ง่ายนักด้วยเงินเดือนที่สูงพอสมควรบวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนต่างๆ ทำให้หลายๆ งานที่น่าจะได้กลับเงียบหายไป

ตลอดระยะเวลาร่วมปีที่ตกงานเขาใช้เงินอย่างประหยัดและรู้ถึงคุณค่าของเงินออมก้อนนี้อย่างมากที่ช่วยให้เขามีกินมีใช้ ไม่รู้สึกเครียดจนเกินไปและไม่ต้องเป็นภาระของภรรยา เขาบอกว่าไม่รู้จะขอบคุณภรรยาอย่างไรที่แนะนำเขาให้ออมในวันนั้น วันนี้ถึงแม้ตกงานแต่ก็ยังสามารถเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ หากรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด

“ผมอยากจะบอกผู้อ่านทุกท่านว่า เพราะเงินออมก้อนนี้แท้ๆ ที่ช่วยชีวิตผมยามที่ผมตกงาน จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่มีงานทำ แต่ผมไม่เคยท้อที่จะหางานต่อไป ออมเถอะครับยามที่ทุกท่านยังมีรายได้ วันหนึ่งข้างหน้าเงินออมก้อนนี้จะมีประโยชน์กับทุกท่านมากๆ ในวันที่ท่านไม่มีรายได้ (ตกงาน เกษียณ ฯลฯ) ในวันที่ท่านเดือดร้อนจำเป็นต้องใช้เงิน เงินออมช่วยท่านได้ ช่วยกันเก็บเงินเถอะครับ มีแต่ได้กับได้”

โดย : โดย ..พจนี คงคาลัย
//www.bangkokbiznews.com/home/news/finance/personal/2009/02/08/news_14301.php




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 16:46:50 น.
Counter : 628 Pageviews.  

วางแผนเพื่อการเกษียณ (2)

ในสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้แจ้งถึงแหล่งเงินเพื่อการเกษียณจากกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นส่วนพื้นฐานมากๆ ไม่เพียงพอให้ท่านมีชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบายแน่นอน สัปดาห์นี้ เราจะมาดูแหล่งอื่นๆ กันอีก คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการประกันชีวิต ซึ่งเป็นภาคสมัครใจทั้งหมด และสำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการก็มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการค่ะ

ผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชนและบริษัทจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ในปัจจุบัน มีเพียงประมาณ 2.011 ล้านคนเท่านั้น มีเงินกองทุน 450,374 ล้านบาท เฉลี่ยคนละประมาณ 223,957 บาท และเงินที่จะได้รับเมื่อถึงเวลาเกษียณก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการเกษียณอายุอย่างสุขสบาย ยิ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ก็ยิ่งต้องมีการวางแผนการออมเพื่อการเกษียณอย่างมากเลยค่ะ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะจัดตั้งขึ้นมาได้ ต้องมีทั้งนายจ้างและลูกจ้างตกลงร่วมกัน จะมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ในปัจจุบันจะกำหนดให้ลูกจ้างสะสมเข้าไม่น้อยกว่า 2% และไม่เกินอัตราสมทบของนายจ้าง โดยนายจ้างอาจจะสมทบให้ 2-15% ของค่าจ้าง ในที่นี้ขอสมมติว่าสะสม 3% และนายจ้างก็สมทบ 3% ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำดั้งเดิม และมีบริษัทใช้อัตรานี้กันมาก

คนทั่วไปโดยปกติก็ได้ขึ้นเงินเดือนทุกปี เพราะฉะนั้น เงินส่วนที่ถูกหักสะสมกับเงินที่นายจ้างสมทบก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอายุงาน สมมติว่าท่านเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 25 ปี และได้ขึ้นเงินเดือนปีละ 5% ทุกปี หากสะสม 3% และนายจ้างสมทบให้ 3% ลงทุนได้รับผลตอบแทนปีละ 4% พออายุ 60 ปี ท่านจะมีเงินในกองทุน 1.175 ล้านบาทค่ะ

เมื่อนำส่วนนี้มาหักออกจากเป้าหมายที่ต้องมีเงินก้อนจำนวน 7.68 ล้านบาท ณ วันเกษียณ และหักเงินบำนาญประกันสังคมกรณีชราภาพที่คำนวณไว้ในสัปดาห์ที่แล้วอีก 1.77 ล้านบาท ท่านก็จะยังคงมีส่วนต่างอีก 4.735 ล้านบาท ซึ่งท่านต้องพยายามออมและลงทุนให้ได้ค่ะ

ท่านจึงต้องหาว่า ณ ตอนนี้ที่ท่านอายุ 40 ปี ท่านจะต้องเก็บออมเงินอีกเดือนละเท่าไร จึงจะได้เงินอีก 4.735 ล้านบาทเมื่อท่านเกษียณ ดิฉันคำนวณให้แล้วว่า ถ้าได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ท่านต้องเก็บเงินเพิ่มอีกเดือนละ 8,146 บาท เป็นเวลา 20 ปี (240 เดือน) ท่านจึงจะบรรลุเป้าหมายค่ะ

วิธีหนึ่งที่รัฐช่วยกระตุ้นให้ท่านอยากบรรลุเป้าหมายในการออมเพื่อการเกษียณได้ ก็คือการจูงใจให้ออมผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า Retirement Mutual Funds หรือ RMF โดยท่านสามารถนำเงินได้ที่ไปลงทุนหักออกจากเงินได้พึงประเมิน อาทิเช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่ะ

นอกจากนี้ ยังมี การออมผ่านการประกันชีวิต ที่เป็นลักษณะของการออมทรัพย์ ในส่วนนี้เมื่อครบสัญญาและท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็จะได้เงินก้อนคืนเพื่อนำมาเลี้ยงชีพหลังเกษียณ หรือในต่างประเทศจะมีการออมผ่านบริษัทประกันภัย และหลังจากเกษียณท่านจะได้รับเงินรายงวดทุกปี เพื่อให้ท่านได้ใช้จ่าย จนกว่าท่านจะจากไป ซึ่งดิฉันชอบมากแต่ยังไม่มีกรมธรรม์ประเภทนี้ขายในเมืองไทยค่ะ

ดิฉันลองคำนวณดู ถ้าท่านเริ่มลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มทำงาน และท่านออมทุกเดือน และใช้สิทธิเต็มที่เพื่อให้เต็มอัตราที่รัฐให้การยกเว้นภาษี คือ 15% ท่านก็ออมอีก 12% ของรายได้ เริ่มจากรายได้ 10,000 บาทต่อเดือนในปีแรก และรายได้ท่านเพิ่มปีละ 5% ผลตอบแทนที่ได้ คือ 4% เมื่อเกษียณอายุงาน ท่านจะมีเงิน 2.26 ล้านบาทค่ะ ก็ยังห่างจากเป้าหมาย 4.735 ล้านบาท อยู่อีก 2.475 ล้านบาทค่ะ แปลว่าท่านต้องออมเพิ่มเกินกว่าส่วนที่ได้รับสิทธิทางภาษี (หรืออาจจะยังอยู่ในส่วนที่ได้รับการยกเว้น หากออมรวมกับที่ออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ไม่ถึง 5 แสนบาทต่อปี) ได้ลองคำนวณมาแล้วว่า ถ้าท่านออมอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ต้น และไม่มีเงินพิเศษให้ออมเพิ่มเลย ณ รายได้ที่เพิ่มปีละ 5% และอัตราผลตอบแทน 4% ท่านต้องออมถึงเดือนละ 30% ของรายได้ทุกเดือน แต่ถ้าอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 6% ท่านสามารถออมเพิ่มในระดับ 19% ของรายได้ ก็จะมีเงินพอสำหรับการเกษียณ
หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เราจะมาดูกันว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปได้ ท่านต้องดูว่าจะ มีเงินพิเศษมาออมเพิ่มเติมไหม อาทิเช่น เงินโบนัส เงินที่ได้จากการทำงานพิเศษ ส่วนใหญ่ท่านก็จะได้รับการปรับตำแหน่งด้วย ในที่นี้ ดิฉันคำนวณว่าท่านได้รับเงินเดือนเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 5% ไม่ได้มีสมมติฐานเรื่องการมีโบนัสหรือรายได้อื่น

นอกจากนี้ ท่านยัง สามารถแบ่งระดับการออมเป็นช่วงๆ ได้ ในช่วงเงินเดือนน้อย ท่านก็ออมเป็นสัดส่วนน้อยหน่อย อาทิเช่น 10% พอเงินเดือนหรือรายได้สูงขึ้น ท่านก็สามารถออมเพิ่มขึ้น เป็น 20% หรือ 30% ได้

หากไม่ไหวจริงๆ ท่านก็อาจจะ ต้องลดมาตรฐานความเป็นอยู่ จะลดในปัจจุบัน เพื่อให้เก็บออมได้มากขึ้น หรือลดในอนาคต โดยใช้เงินต่อเดือนหลังเกษียณน้อยลงก็ได้ค่ะ

นอกจากนี้ ท่านก็ สามารถยืดการเกษียณอายุงานไปได้ จาก 60 ปี ก็อาจจะเป็น 65 ปี หรือพยายามลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งนักวางแผนการเงิน หรือที่ปรึกษาการลงทุนจะช่วยให้คำปรึกษากับท่านได้ค่ะ

สำหรับข้าราชการ ก็คล้ายๆ กันนะคะ คือ ท่าน ต้องคำนวณค่าเงินในอนาคต ณ วันเกษียณ ของเงิน กบข.ที่ท่านออมทุกเดือน และต้องคำนวณค่า ณ วันเกษียณอายุของเงินบำนาญที่ท่านจะได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ไปจนถึงอายุ 80-85 ปี ในกรณีที่ท่านเลือกรับเงิน บำนาญแล้วนำมาหักออกจากเป้าหมาย 7.68 ล้านบาท เพื่อดูส่วนต่าง และคำนวณหาว่าจะต้องออมเงินอีกเท่าไร จึงจะได้ครบตามที่ต้องการ

หากท่านเลือกรับเงินบำเหน็จ ท่านก็ต้องคิดมูลค่าของเงินบำเหน็จที่ท่านจะได้รับ ณ วันเกษียณอายุงาน แล้วหาส่วนต่าง เพื่อวางแผนการออมเพิ่มค่ะ

ไม่ยากใช่ไหมคะ ดิฉันทำตารางมาให้ดูคร่าวๆ ว่า หากท่านเริ่มออมตอนไหน ท่านจะต้องออมเดือนละเท่าใด ท่านจึงจะมีเงินใช้หลังเกษียณในอัตราที่ต้องการ จะเห็นว่า สองส่วนที่มีความสำคัญมากต่อการออม คือ ระยะเวลาการออม และอัตราผลตอบแทน คือ ถ้าท่านเริ่มออมเร็ว หรือสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนสูง อัตราการออมในแต่ละเดือนก็สามารถปรับลดลงได้

ข้อสำคัญ ท่านต้องไม่ใจอ่อน ไม่ท้อใจ เลิกล้มการออมไปเสียก่อน ต้องคิดว่า ไม่มีใครบังคับก็ต้องบังคับตัวเอง มิฉะนั้น ท่านจะต้องแก่อย่างยากจน สู้ สู้ค่ะ คติของการออม คือ "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น"

หมายเหตุ ท่านสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม //www.sso.or.th เพื่อดูว่าท่านจะมีเงินบำนาญชราภาพจำนวนเท่าใด ส่วนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้น ท่านก็สามารถดูได้เช่นกัน และหากต้องการทราบจำนวนเงินทั้งหมดที่ท่านมีอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถดูได้จากรายงานที่ผู้จัดการกองทุนส่งให้ท่านทุก 6 เดือน

MoneyPro: วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
//www.bangkokbiznews.com/home/news/finance/guru/2009/02/02/news_12335.php




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2552 19:11:39 น.
Counter : 616 Pageviews.  

เงินฝืดคืออะไรแน่

คอลัมน์คลินิกการเงินวันนี้ คนเขียนประจำขอยกพื้นที่คอลัมน์นี้ให้บทความจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในหัวข้อนี้
ใเพราะเชื่อว่ากำลังตกเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ว่าประเทศไทยตกอยู่ในอาการข้างต้นหรือยัง อีกทั้งคนเขียนก็เขียนออกมาด้วยภาษาที่ง่ายมากๆ ดังนี้

นปีที่ผ่านมา เราเห็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างรวดเร็ว โดยหลายประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันในปัจจุบันปรับลดลงถึง 75% จากราคาสูงสุดในเดือนก.ค.ปีที่แล้ว ทําให้เงินเฟ้อลดลงมากในเกือบทุกประเทศทั่วโลก หลายฝ่ายจึงเริ่มเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หรือ Deflation ได้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทําไมการที่ราคาสินค้าทั่วไปลดลงต่อเนื่อง จึงทําให้คนทั่วโลกกังวลกันมากนัก ทั้งๆ ที่ราคาสินค้าที่ลดลงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในแง่ลดการใช้จ่าย

ดังนั้น น่าจะมีอะไรลึกๆ เกี่ยวกับคําว่าภาวะเงินฝืด

ภาวะเงินฝืด ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง การลดลงอย่างกว้างขวางของระดับราคาสินค้าและบริการติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน (Persistent) แต่ความหมายอย่างเดียวอาจทําให้เรามองภาวะเงินฝืดไม่ชัดเจนเท่ากับการเข้าใจสาเหตุหรือการเกิดขึ้นของภาวะเงินฝืด

ภาวะเงินฝืดไม่ได้เกิดกันง่ายๆ การลดลงของระดับราคาอย่างรุนแรงของสินค้าบางกลุ่ม เช่น น้ำมัน หรือการที่อัตราเงินเฟ้อติดลบในบางช่วงเวลายังไม่เรียกว่าภาวะเงินฝืด เงื่อนไขที่จําเป็นคือการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทําให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเชื่อว่าราคาสินค้าต่างๆ จะลดลงไปอีกในอนาคต ผู้บริโภคจึงเลื่อนการจับจ่ายใช้สอยออกไปเพื่อรอให้สินค้ามีราคาถูกลง ส่วนนักธุรกิจก็หยุดลงทุนและปรับลดต้นทุนสินค้า รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน เพราะคาดว่าจะได้กําไรน้อยลง ซึ่งการคาดการณ์นี้จะวกกลับไปสร้างแรงกดดันทําให้เศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องจริงๆ

ดังนั้น วงจรของภาวะเงินฝืดจะเกิดขึ้นได้ต้องมีลักษณะสําคัญ 3 ประการ คือ

1.การลดลงของราคาสินค้าอย่างกว้างขวาง มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

2.มีความต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งอาจกินเวลาหลายปี

3.ประชาชนมีความเชื่อว่าราคาจะปรับลดลงต่อเนื่อง จึงเลื่อนการบริโภคและการลงทุนออกไป

ภาวะเงินฝืดเคยเกิดขึ้นที่สหรัฐ และญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1990 โดยในกรณีของสหรัฐเกิดจากการที่ฟองสบู่ในตลาดหุ้นแตก และระบบสถาบันการเงินประสบกับวิกฤต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดําเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อจัดการกับภาวะฟองสบู่ในช่วงก่อนหน้านั้น ขณะที่ไม่ได้ใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทําให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (Great Depression)

สำหรับกรณีของญี่ปุ่นเริ่มต้นมาจากการแตกของฟองสบู่ในภาคที่อยู่อาศัยและตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทําให้หนี้เสียในระบบธนาคารเพิ่มสูงขึ้นมาก ประกอบกับการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีความล่าช้าและประสิทธิผลต่ำ ภาวะเงินฝืดในทั้งสองกรณีดังกล่าว พบว่าระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปลดลงพร้อมๆ กับการหดตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงติดลบ (Negative real incomes) ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นั่นคือเหตุผลว่า ทําไม Bernanke ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบัน เคยกล่าวในปี 2545 ว่า เราต้องไม่ให้สิ่งนั้น (Deflation หรือเงินฝืด) เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอีก

สําหรับประเทศไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ตั้งแต่เดือนก.ย. 2551 จะชะลอลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนเป็นสําคัญ ขณะที่เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในส่วนที่ไม่ใช่น้ำมัน และอยู่นอกเหนือมาตรการของภาครัฐที่กล่าวข้างต้น พบว่าราคาส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับลดลง จึงอาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีสัญญาณของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ดังนั้น แม้ในระยะสั้นจะมีโอกาสที่จะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบบ้าง แต่ก็เป็นผลจากการปรับลดลงอย่างมากของราคาสินค้าเฉพาะกลุ่ม คือ ราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีที่แล้วอยู่ในระดับสูงกว่าปัจจุบันมาก นอกจากนี้ จากการสํารวจความเห็นของผู้ประกอบการและการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวที่คํานวณจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government bond yield curve) สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเงินเฟ้อจะต่ำไปอีกนานๆ

รายงานโดย :อัมพร แสงมณี
//www.posttoday.com/stockmarket.php?id=30234




 

Create Date : 29 มกราคม 2552    
Last Update : 29 มกราคม 2552 15:21:34 น.
Counter : 631 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.