In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
Investment Diary

นักลงทุนนั้น ว่ากันว่าเป็นคนที่มีความทรงจำสั้นมาก เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเขาจะจำได้ติดตา

เช่น วิกฤติที่ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนัก และเหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤตินั้น เมื่อเวลาผ่านไป บางทีก็ไม่นานนัก พวกเขาก็จะลืมเหตุการณ์เลวร้ายนั้น รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น พวกเขาซื้อขายหุ้นโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ หรือสนใจน้อยมาก นั่นทำให้ประวัติศาสตร์การเงิน "ซ้ำรอย" ครั้งแล้วครั้งเล่า เราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเมื่อมันผ่านไปนานแล้ว

เพื่อที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า มันเกิดความผิดพลาดขึ้น ในเรื่องอื่นๆ นั้น ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เรามักจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ในเรื่องของการลงทุนนั้น บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันมีความผิดพลาดขึ้น เหตุผลก็คือ มีจิตวิทยาบางอย่างที่อาจจะบดบังความเข้าใจที่ถูกต้องของเรา

จิตวิทยาข้อแรก ก็คือ "ดีเป็นเพราะฝีมือเรา แย่เป็นเพราะคนอื่น หรือเรื่องอื่น" หรือที่เรียกว่า Self-Attribution Bias นี่เป็นจิตวิทยาของมนุษย์ทั่วๆ ไป อย่างเช่นเวลาที่เราเล่นกีฬา ทีมที่ชนะส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะฝีมือของทีม แต่เวลาแพ้ บางทีก็โทษกรรมการ หรือโทษโชคชะตา ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง ก็คือ ฝีมือสู้เขาไม่ได้ หรือใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่ผิดพลาด เช่นเดียวกัน เวลาที่เราลงทุนและได้กำไรดีนั้น เรามักจะคิดว่าเป็นฝีมือของเรา แต่เวลาขาดทุน บางครั้งเราก็คิดว่ามันเป็นสาเหตุอื่น หรือโชคร้ายหรือเหตุบังเอิญที่เราไม่อาจคาดได้ การไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ย่อมทำให้เราไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้

จิตวิทยาข้อสอง ก็คือ สิ่งที่ผมอยากจะใช้สำนวนว่า "ผมว่าแล้ว" นี่คือ สิ่งที่คนเราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะกลับไปอธิบายเหตุผล ที่ทำให้มันเกิดขึ้น หรือที่เรียกในทางวิชาการว่า Hindsight Bias นี่เป็นความลำเอียงของจิตใจที่คิดว่าเรา "แน่" เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งที่เราไม่รู้และเราไม่ได้คิดคาดการณ์เอาไว้ก่อน เรามา "รู้" ก็ตอนที่เราเห็นแล้วว่าอะไรมันเกิดขึ้น วิธีที่จะแก้ปัญหาความลำเอียงข้อนี้ ก็คือ การจดบันทึกสิ่งที่เราคิด หรือคาดการณ์ไว้ก่อน เมื่อเกิดผลลัพธ์ขึ้น เราจะได้รู้ว่าเราคิดถูก หรือคิดผิด ในกรณีของการลงทุน เราจะเรียกมันว่า Investment Diary นี่ก็คือ ไดอารี่ที่เราจะจดบันทึกเกี่ยวกับความคิด หรือการวิเคราะห์ของเราในการลงทุนในหุ้นหรืออื่นๆ การซื้อหุ้นแต่ละตัวเราจะบันทึกว่าอะไรคือเหตุผลที่เราซื้อหุ้นตัวนั้น

เมื่อเราจดบันทึกเหตุผลของการลงทุนในหุ้น หรือหลักทรัพย์ตัวไหนแล้ว เราก็รอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ภาพที่ออกมานั้น สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็นสี่แบบด้วยกันดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง กรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ และเหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ก. เพราะเราเชื่อว่ากำไรของบริษัทนี้กำลังเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาสหน้า และจะเติบโตต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปี โดยที่ราคาหุ้นที่เห็นนั้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับพื้นฐานที่กำลัง ดีขึ้น และราคายังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เราก็จดบันทึกไว้ หลังจากนั้น เมื่อกำไรในไตรมาสถูกประกาศออกมา ก็เป็นจริงดังคาดและดูแล้วอนาคต ก็น่าจะยังโตต่อเนื่อง ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปในระดับหนึ่งประมาณ 20% ซึ่งสอดคล้องกับกำไรที่ดีขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ เราอาจจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องแล้ว เรายังไม่ขายหุ้นออกไป เพราะเชื่อว่า กำไรจะยังเติบโตดีมากอยู่และในอนาคตราคาก็ยังปรับตัวขึ้นไปได้อีกมาก ในภาษาของนักลงทุน เรา "Right for the right reason" เราถูกต้อง นั่นอาจจะหมายความว่าเรามีฝีมือ

แบบที่สอง กรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจนั้นกลับไม่ถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ข. เพราะเราคิดว่ากำไรในไตรมาสหน้าจะดีมาก เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งบริษัทได้ประกาศแจกวอร์แรนท์ฟรีจำนวนมาก ราคาหุ้นวิ่งขึ้นอย่างแรง เราขายหุ้นทิ้งได้กำไรงดงาม งบรายไตรมาสที่ประกาศออกมาภายหลังพบว่ากำไรของบริษัทลดลงมาก แบบนี้เราเรียกว่า "Right for the wrong reason" เราซื้อหุ้นถูกตัวด้วยเหตุผลที่ผิด พูดง่ายๆ เราประสบความสำเร็จเพราะโชคไม่ใช่ฝีมือ อย่าหลอกตัวเองว่าตนเองเก่ง

แบบที่สาม กรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลในการลงทุนของเราผิด เช่น เราคิดว่าบริษัท ค. กำลังจะมีผลประกอบการที่ดี เราซื้อหุ้นลงทุน ผลประกอบการออกมาปรากฏว่า บริษัทขาดทุนอย่างหนัก ราคาหุ้นตกต่ำลงมามาก เราขายหุ้นทิ้ง กรณีนี้เรียกว่าเรา "Wrong for the wrong reason" เราลงทุนผิดเพราะเราวิเคราะห์ผิด เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนี้

แบบที่สี่ กรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนนั้นถูกต้องเป็นไปตามคาด เช่น เราซื้อหุ้น ง. เพราะคิดว่ากำไรของบริษัทในไตรมาสที่กำลังมาถึงนั้นจะเติบโตขึ้น เมื่องบไตรมาสถูกประกาศออกมาปรากฏว่า กำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นจริง ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นเกิดภาวะวิกฤติอันเป็นผลมาจากต่างประเทศ ราคาหุ้น ง. ตกลงอย่างหนัก เราขาดทุนแต่เป็นเพราะว่าโชคไม่ดี ไม่ใช่เพราะเราคิดผิด เรา "Wrong for the right reason"

ด้วยการบันทึกเหตุผลของการตัดสินใจลงทุนลงใน Investment Diary และศึกษาผลลัพธ์ในสี่กรณีดังกล่าว เราจะได้รู้ว่าเราประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวและด้วยเหตุผลใด เรามีฝีมือหรือเราไม่เก่งเลย เราโชคดี หรือโชคร้าย สิ่งนี้จะทำให้เราสามารถเรียนรู้จากประวัติการลงทุนของเราได้อย่างถูกต้อง

ส่วนตัวผมเอง ยอมรับว่าไม่เคยจดบันทึกเหตุผลการลงทุนลงในไดอารี่ แต่เชื่อว่าตนเองจำได้ว่า ลงทุนในหุ้นแต่ละตัวด้วยเหตุผลใด ผมคิดว่าผมจำได้ เพราะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว สำหรับ VI นั้น ผมคิดว่า การจดบันทึกเป็นสิ่งที่ดี เหนือสิ่งอื่นใด จอร์จ โซรอส บอกว่าเขาบันทึกความคิดของเขาแบบ Real-Time นั่นคืออาจจะพูดลงในเทป เขาบอกว่ามันทำให้การลงทุนของเขาดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/nives/20100525/117245/Investment-Diary.html


Create Date : 25 พฤษภาคม 2553
Last Update : 25 พฤษภาคม 2553 1:58:21 น. 0 comments
Counter : 469 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.