In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ

เวลานักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ พวกเขามักจะใช้วิธีอ้างตัวเลขทำนอง ว่า คนไทยกลุ่มที่รวยที่สุด

มีสินทรัพย์หรือรายได้มากกว่ากลุ่มที่จนที่สุดเป็นกี่เท่า (เป็นตัวเลขที่ฟังดูเยอะมาก) เพื่อพิสูจน์ว่าคนไทยยังไม่มีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอยู่มาก


การอ้างแบบนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ต้องนิยามให้ชัด ว่า คำว่าความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของผู้พูดนั้น หมายถึงอะไรกันแน่ เพราะมันทำให้เข้าใจได้ ว่า สังคมจะมีความเท่าเทียมกัน ก็ต่อเมื่อทุกคนมีรายได้เท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน แต่ว่านั่นคือความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจจริงหรือ


สมมติว่ามีไม้วิเศษอันหนึ่งที่สามารถเสกให้ทุกคนในสังคมมีรายได้เท่ากันได้ ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น คือ ความไม่เท่าเทียมกันทันที เพราะความมั่งคั่งทางเศรษฐศาสตร์นั้น ไม่ได้วัดที่รายได้ที่เป็นตัวเงิน (อย่างที่มักเข้าใจกัน) แต่วัดกันที่ "อัตถประโยชน์" (Utility) ซึ่งหมายถึง ความพึงพอใจสุดท้ายที่แต่ละคนได้รับ


คนที่ทำงาน Consulting firms ได้เงินเดือนหลายแสนบาท แต่ต้องรับแรงกดดันจากการทำงานที่สูงมาก เพราะองค์กรก็ต้องใช้งานเขาอย่างคุ้มค่าสมกับที่จ้างด้วยเงินเดือนแพง เหมือนต้องทำงานตลอดเวลา ภาระมาก ความรับผิดชอบสูง ความเครียดสูง แถมกว่าจะได้ทำงานนี้ ก็จะต้องดิ้นรนไปเรียนจบจากยูท็อปเทนมา เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของตนเองก่อน เขาเหล่านี้เลือกที่จะทำงานที่หฤโหดมาก เพื่อแลกกับการได้เงินเดือนที่มากกว่าคนทั่วไป ในขณะที่คนที่เลือกทำงานในองค์กรแบบไม่กดดัน วันๆ แทบไม่ต้องทำงานอะไร เนื้องานก็เป็นแบบ routine ไม่ต้องตัดสินใจมาก จะลาพักร้อนเมื่อไรก็ได้ เลิกงานก็กลับบ้านได้เลย ชิวๆ การที่พวกเขาได้เงินเดือนน้อยกว่าหลายเท่าตัวนั้น ไม่ได้แปลว่า สังคมไม่มีความเท่าเทียม แต่นั่นคือ การชดเชยกันระหว่างเนื้องานกับเงินเดือน มันเป็นเรื่องของค่านิยมในการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่ไม่เหมือนกันต่างหาก


หากกำหนดให้สองคนนี้จะต้องได้เงินเดือนเท่ากัน จะกลายเป็นว่าในแง่อัตถประโยชน์ คนที่ทำงานชิวๆ กำลังเอาเปรียบคนที่โหมงานหนักอยู่ เพราะงานสบายกว่าแต่ว่าได้ค่าตอบแทนเท่ากัน สังคมจำเป็นต้องให้เงินเดือนที่สูงขึ้นกับงานบางอย่างที่มีคนอยากทำน้อย เพราะว่าจะต้องแลกกับอะไรอีกหลายอย่างในชีวิต ก็เพื่อจูงใจให้มีคนบางส่วนยอมทำงานบางอย่างนี้ และทำให้สังคมทั้งระบบเดินหน้าต่อไปได้


ที่จริงแล้ว ความยุติธรรมคือแบบไหนกันแน่ ระหว่าง "ทุกคนได้เท่ากัน ไม่ว่าทำมากทำน้อย" หรือ "ใครทำมากก็จะได้มาก ใครทำน้อยก็จะได้น้อย"


จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การพยายามทำให้ทุกคนมีรายได้ใกล้เคียงกันให้ได้ แต่ควรเป็นการทำให้ทุกคนในสังคม จึงมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะ "ขันอาสา" ทำงานอะไรก็ตามได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกกีดกันด้วยเชื้อชาติ ศาสนา อายุ เพศ ชนชั้น เส้นสาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับ qualification ของงานนั้นๆ ส่วนแต่ละคนจะเลือกทำงานหนักหรืองานชิวๆ นั่นก็เป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวของแต่ละบุคคลแล้ว ถ้าหากเขาทำงานที่ตอบสนองคุณค่าทางใจแล้วได้เงินเดือนน้อย นั่นคือ การเลือกของเขาเอง ไม่ใช่ความไม่เท่าเทียม


เวลาพูดว่า "รายได้มากน้อยตามการทำประโยชน์" มักจะมีข้อถกเถียงกันอย่างไม่จบสิ้นว่างานไหนมีคุณค่ามากหรือน้อยกว่ากัน เพราะประโยชน์นั้นเป็นเรื่องที่แล้วแต่คนจะมอง บางคนบ่นว่าทำไมครูถึงได้เงินเดือนน้อยกว่า ธงชัย ใจดี มาก ทั้งๆ ที่ครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่ามากกว่านักกอล์ฟ แต่ถ้าหากเราจะเถียงกันเรื่องคุณค่าแบบนี้ รับรองว่าเถียงกันไม่มีวันจบแน่ การให้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสินนั้น แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้ถูกใจทุกภาคส่วนในสังคมได้ แต่ก็เป็นกติกาที่ไม่ต้องเถียงกัน ให้ดีมานด์และซัพพลายของแต่ละอาชีพนั้นเป็นตัวกำหนดเอง ครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่าสูงมากก็จริง แต่เนื่องจากคนที่มีฝีมือระดับธงชัย ใจดี นั้น หาได้ยากมาก เลยทำให้ธงชัยต้องได้รายได้สูงกว่าครูครับ ที่จริงแล้ว ครูที่มีรายได้สูงมากๆ นั้นก็มีอยู่เหมือนกัน เพียงแต่มีแค่ไม่กี่คน แบบเดียวกันกับนักกอล์ฟนั่นแหละครับ


โอกาสในการทำงานที่ไม่เท่าเทียมกันเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นชัดเจนทุกวันนี้ คือ วุฒิการศึกษา (วุฒิการศึกษานะครับ ไม่ใช่การศึกษา) งานบางอย่างที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีเสมอไป เช่น ฝ่ายขายสินค้าบางอย่างตามบริษัท แต่คนที่ไม่มีวุฒิ ป.ตรี เพราะตอนเด็กไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจะไม่มีโอกาสได้ทำงานเหล่านั้นเลยตลอดชีวิต ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าให้โอกาส เขาอาจทำงานนั้นได้ดีกว่าคนที่จบปริญญาตรีก็ได้ ทุกวันนี้ แทนที่วุฒิการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมกัน กลับกลายเป็นเครื่องกีดขวางอย่างหนึ่ง ที่คอยกดคนส่วนหนึ่งในสังคมเอาไว้ให้ทำได้แต่งานแบกหามไปตลอดชีวิต


ดังนั้น ถ้าหากเสกได้ ผมจะเสกให้ เด็กทุกคนที่เกิดมา มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงแค่ไหนก็ได้เท่าที่เด็กคนนั้นจะสามารถเรียนไหว โดยที่ไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางบ้านของเด็กนั้น มากกว่าที่จะเสกให้ทุกคนมีรายได้เท่ากันครับ

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20100601/118669/ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ.html


Create Date : 03 มิถุนายน 2553
Last Update : 3 มิถุนายน 2553 1:30:49 น. 2 comments
Counter : 589 Pageviews.

 
น่าชื่นชมคุณ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ที่ออกมาเขียนขยายความเรื่องความเท่าเทียมกันประชาชนจะได้ตาสว่างไม่ไปเป็นเครื่องมือให้นักเรียกร้องต่างๆอีกและได้เห็นความจริงที่นักเรียกร้องปกปิดไว้ ในอดีตผมเคยศรัธธาในกลุ่มNGOและนักเรียกร้องเหล่านี้แต่กาลเวลาผ่านไปผมถึงเห็นผลประโยชน์แอบแฝงในการเรียกร้อง ปัจจุบันผมกับแอนตี๊การเรียกร้องทุกประเภทที่ใช้การชุมนุมกดดันแม้บางครั้งจะเห็นคล้อยตาม เพราะผมไม่เชื่อว่าพวกเขากระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจครับ


โดย: ไม้แดง IP: 125.27.123.171 วันที่: 3 มิถุนายน 2553 เวลา:9:45:25 น.  

 


โดย: นายแมมมอส วันที่: 3 มิถุนายน 2553 เวลา:16:22:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.