In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
ค่าของเงิน

เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางการ “เป็นห่วง” จนต้องออกมากล่าวว่า ค่าเงินบาทเป็นเรื่องที่จะต้องดูแลให้ “เหมาะสม”

ครั้งนี้ผมจึงขอเขียนถึง เรื่องค่าของเงินว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นการเขียนในเชิงทฤษฎีมากกว่าการให้คำตอบว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับใด ท่านที่ต้องการคำตอบในเรื่องนี้ คำตอบสั้นๆ คือเงินบาทน่าจะแข็งค่าจนกว่าไทยจะขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง


เงินนั้นโดยตัวของมันเองไม่ได้มีค่า เพราะเป็นเพียงกระดาษซึ่งพิมพ์ขึ้นมาด้วยคำนิยามว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” หมายความว่าผมรับก๋วยเตี๋ยวมาหนึ่งชามจากร้านขายก๋วยเตี๋ยว ผมมีหนี้เป็นก๋วยเตี๋ยว 1 ชามซึ่งผมชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามกฎหมายโดยใช้ธนบัตร (สมมติว่า) มูลค่า 30 บาท ถามว่าผมจะใช้อย่างอื่นชำระหนี้ได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าได้แต่คงจะลำบากกว่าใช้ธนบัตร เพราะผมต้องทราบว่าเจ้าของร้านต้องการอะไร สมมติว่าต้องการปากกาหนึ่งด้ามผมก็จะต้องไปหาปากกามาให้ ซึ่งหากร้านปากกาไม่ต้องการบทวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งเป็นสิ่งหลักที่ผมผลิตได้) ก็จะทำให้การบริโภคก๋วยเตี๋ยวของผมยากลำบากขึ้น ดังนั้นเงินจึงมีประโยชน์ เพราะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (medium of exchange)


นอกจากนั้นเงินมีประโยชน์ในฐานะเป็นหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) เช่น เราพูดได้ว่าจีดีพีของไทยมูลค่า 10 ล้านล้านบาท หากไม่มีหน่วยวัดก็จะต้องร่ายยาวว่าจีดีพีไทยมีการผลิตรถยนต์ออกมาใหม่ 1.5 ล้านคัน ข้าว 20 ล้านตัน ฯลฯ และยังไม่สามารถทราบได้ว่าข้าว 20 ล้านตันมี “มูลค่า” เท่าไหร่ แต่จะต้องเปรียบเทียบว่ารถยนต์หนึ่งคันสามารถแลกเปลี่ยนข้าวได้ 20 ตัน เป็นต้น ทำให้ต้องหาหน่วยวัดทางบัญชีอยู่ดี เช่น เปรียบเทียบทุกสินค้ากับข้าว เป็นต้น จะเห็นได้ว่าราคาสินค้าและบริการนั้นแท้จริงแล้วสามารถคำนวณเป็นราคาเมื่อ เปรียบเทียบกัน (relative price) ได้ แต่การใช้เงินเป็นหน่วยวัดทางบัญชีเพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก


ประโยชน์ข้อที่ 3 ของเงินคือสามารถเก็บรักษาได้โดยง่าย (store of value) เพราะธนบัตรกระดาษนั้นเก็บรักษาให้คงสภาพได้สะดวกสบายกว่า ก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวสาร ในปัจจุบันเทคโนโลยีและระบบการเงินได้พัฒนาไปอีกระดับหนึ่งคือ “เงิน” เป็นเพียงหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์ของธนาคารที่มีบัญชีฝากเอาไว้


เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเห็นว่าเงินไม่ได้มี “ค่า” อะไรเลย เพราะเป็นเพียงกลไกที่กำเนิดขึ้นและวิวัฒนาการให้เกิดความสะดวกในการทำธุรก รรมต่างๆ สมมติระบบเศรษฐกิจมีการผลิตก๋วยเตี๋ยว 10 ชามและพิมพ์เงินออกมาหมุนเวียน 300 บาท ราคาก๋วยเตี๋ยวก็จะเท่ากับ 30 บาทต่อชามนั่นเอง หากพิมพ์เงินออกมา 600 บาทแต่ยังผลิตก๋วยเตี๋ยว 10 ชามเท่าเดิม ราคาก๋วยเตี๋ยวก็จะปรับขึ้นเป็นชามละ 60 บาท แต่ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ไม่เปลี่ยนเพราะยังผลิตก๋วยเตี๋ยว 10 ชามเท่าเดิม ในกรณีของไทยนั้นปัจจุบันมีการพิมพ์ธนบัตรประมาณ 1 ล้านล้านบาทและจีดีพีของไทยมูลค่า 10 ล้านล้านบาท ดังนั้นหากจีดีพีไทยขยายตัว (มีการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น) ปีละ 5% และธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ธนบัตรเพิ่มปีละ 8% ก็จะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 3% หรือเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% ต่อปีนั่นเอง


ทำไมจึงต้องให้มีเงินเฟ้อ 3%? ทำไมไม่ทำให้เท่ากับ 0%? คำตอบคือเป็นการสร้างความยืดหยุ่นให้กับกลไกตลาดในกรณีที่สินค้าบางประเภท ราคาสูงขึ้นอย่างมาก เช่นปีนี้ราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้น 20% หากราคาเฉลี่ยโดยรวมต้องไม่เพิ่มขึ้นเลยก็จะต้องมีสินค้าที่จะต้องลดราคาลง ซึ่งอาจทำให้รู้สึกว่าเงินตึงสภาพคล่องฝืดเคืองได้ อย่างไรก็ดีหาก ธปท.เพิ่มปริมาณเงินปีละ 15% แต่จีดีพีขยายตัว 3% ก็จะเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 12% ต่อปี ทำให้ค่าของเงินเสื่อมถอยลง คงไม่มีใครอยากเก็บเงินเพราะเสื่อมค่าเดือนละ 1% เป็นต้น ผู้ที่จะได้เปรียบคือรัฐบาลที่จะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เช่นสมมติว่าภาษีเงินได้บุคคลเท่ากับ 10% สำหรับคนที่เงินเดือน 20,000-30,000 บาท และเพิ่มเป็น 15% สำหรับคนที่เงินเดือน 30,000-40,000 บาท หากต้องเผชิญกับเงินเฟ้อ 12% ต่อปี 2 ปีและเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ คนที่มีเงินเดือน 25,000 บาทจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 15%


ประเด็นสำคัญที่อยากเน้นอย่างยิ่งคือ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งเป็นที่มาที่ไปของ “ค่าของเงิน” นั้นไม่ได้กล่าวถึงการตรึงราคาของกระทรวงพาณิชย์หรือการต้องนำเงินตราต่าง ประเทศมาหนุนหลังเงินบาทแต่อย่างใด ในกรณีของการตรึงราคาสินค้านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการบิดเบือนราคา (distorting relative price) นั่นเอง เพราะเมื่อราคาสินค้าปรับขึ้นตามสภาวการณ์ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนได้เพราะผู้ประกอบการอยากจะปรับเปลี่ยนการผลิตไป ผลิตสินค้าที่ไม่ถูกควบคุมราคามากกว่า ทั้งนี้หากปัญหาเกิดขึ้นเพราะผู้ผลิต “ฮั้ว” กันผูกขาด ก็จะเป็นการผูกขาดสินค้าในทุกราคาต้องจัดการกับการผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จไม่ ใช่การขอความร่วมมือตรึงราคาเป็นครั้งคราวกันไป


สำหรับเรื่องของค่าเงินนั้นสามารถทำความเข้าใจได้อีกระดับว่า ทุกประเทศจะต้องมีนโยบายการเงินของตน โดยธนาคารกลางจะกำหนดปริมาณเงินและการขยายตัวของปริมาณเงินของตนให้เหมาะสม เช่นหากประเทศ ข. กำหนดให้ปริมาณเงินขยายตัวปีละ 10% ในขณะที่จีดีพีขยายตัว 5% ก็จะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5% ต่อปี ในขณะที่ไทยมีอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปีแปลว่าโดยเฉลี่ยเงินบาทจะแข็งค่าเทียบกับเงินของประเทศ ข. เฉลี่ยปีละ 2% เป็นต้น ดังนั้นการที่กฎหมายไทยกำหนดให้เงินบาทต้องมีเงินตราต่างประเทศหรือทองคำ หนุนหลังอยู่นั้นจึงไม่มีความหมายอะไรในเชิงเศรษฐศาสตร์ สมัยที่ประเทศไทยยังไม่พัฒนาและ ธปท.ถูกแทรกแซงทำให้อาจเข้าใจได้ว่าไม่มีอิสระและขาดความน่าเชื่อถือ ก็เหมาะสมที่จะต้องไป “ขอยืม” ความน่าเชื่อถือของเงินสกุลหลัก (เช่น ดอลลาร์) มาหนุนหลังเงินบาท แต่คำว่าหนุนหลังดังกล่าวนั้นยังต้องตีความอีกว่ามากน้อยเพียงใด เช่น เรามีเงินบาทหมุนเวียนอยู่ 1 ล้านล้านบาท หากมีทุนสำรองระหว่างประเทศหนุนหลังอยู่ 50,000 ล้านดอลลาร์ ก็แปลว่าอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะเป็น 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ (ปัจจุบันไทยมีทุนสำรองอยู่ 150,000 ล้านดอลลาร์ หากแบ่งเพื่อขาดดุลการค้า 80,000 ล้านดอลลาร์และสำรองหนี้ระยะสั้นอีก 20,000 ล้านดอลลาร์ ก็จะมีเงินเหลือหนุนหลังพอดี เป็นต้น) แต่ดังที่กล่าวข้างต้น ค่าของเงินบาทนั้นเป็นผลมาจากการมีวินัยทางการเงินของ ธปท.มากกว่าเงินดอลลาร์ที่ไทยตุนไว้ เพราะในปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐกดดอกเบี้ยไว้ที่ 0 แปลว่าสหรัฐเกือบพิมพ์ดอลลาร์แจกอยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่น


ดังนั้นจึงไม่แปลกอย่างใดที่เงินบาทแข่งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อ เปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ เพราะเงินบาทมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นขณะที่เงินดอลลาร์จะมีความน่าเชื่อ ถือลดลงไปเรื่อยๆ หากเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ดังที่เห็นใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาครับ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
คอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเศรษฐกิจ คอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์จานร้อน"
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/supavut/20100830/350150/%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99.html


Create Date : 30 สิงหาคม 2553
Last Update : 30 สิงหาคม 2553 22:46:06 น. 0 comments
Counter : 515 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.