In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
แรงจูงใจของเจ้าของ

การวิเคราะห์หุ้นเพื่อการลงทุนแบบ VI สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การวิเคราะห์ถึงแรงจูงใจของเจ้าของ หรือผู้บริหารเกี่ยวกับหุ้นที่เรากำลังดูอยู่

เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการแบ่งสรรกำไรระหว่างเจ้าของผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายย่อย พูดง่ายๆ เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับจากกิจการและตัวหุ้น

บางคนอาจคิดว่าเรื่องนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารบริษัทอยู่แล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เจ้าของ หรือผู้บริหารเป็นคนที่คุมอำนาจในการตัดสินใจ และ "คุมเกม" ที่จะทำให้ผลประโยชน์นั้น ตกอยู่กับตนเองมากที่สุด ถ้าผลประโยชน์สูงที่สุดของเขาตรงกับผลประโยชน์ของนักลงทุน นั่นคือสิ่งที่ดี แต่ถ้าผลประโยชน์ของเขาคือผลเสียของรายย่อย การเข้าไปเล่นหุ้นแบบนี้ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้น ลองดูตัวอย่างที่ผมเคยพบ

เรื่องแรก บริษัทเป็นกิจการขนาดเล็ก มีผลการดำเนินงานดี มีทรัพย์สินมากเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นของบริษัท มีเงินสดค่อนข้างมาก ขณะที่ไม่มีหนี้จากการกู้ยืม ปีแล้วปีเล่า บริษัทจ่ายปันผลค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ ทั้งๆ ที่กิจการบริษัทไม่ได้ขยายงานอะไรนัก และไม่ใช่กิจการที่ต้องลงทุนมาก

ผู้ถือหุ้นรายย่อยต่างอยากให้บริษัทจ่ายปันผลมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าผู้บริหารไม่ใคร่สนใจจะทำ ตรงกันข้าม ผู้บริหารกลับเสนอให้บริษัทออก ESOP หรือหุ้นราคาต่ำเสนอให้กับผู้บริหารและพนักงาน ดูเหมือนว่าจะมีความพยายาม "โอน" ความมั่งคั่งจากผู้ถือหุ้นสู่ผู้บริหารที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ

ผมลองวิเคราะห์ดูพบว่า บริษัทนี้มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นคนที่ร่ำรวยมาก มีกิจการอื่นใหญ่โตอยู่นอกตลาดหุ้น มีพนักงานมากมายที่เป็นคนเก่าแก่ที่เขาต้องดูแล และรักษาเอาไว้โดยการให้ผลตอบแทนที่ดี ส่วนเจ้าของรายนี้ ความมั่งคั่งเขาที่มีอยู่ในบริษัทจดทะเบียนที่กล่าวถึงนี้ คิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก

ดังนั้น เขาจึงไม่สนใจว่า ต้องได้รับผลประโยชน์มากมายจากบริษัท อีกด้านหนึ่ง เขาส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการและ/หรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน คนเหล่านี้บางคนยังทำงานบริษัทส่วนตัวของเขาอยู่ ผมจึงสงสัยว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อาจไม่ได้ต้องการเงินปันผลมากนัก แต่อาจต้องการใช้บริษัทนี้เป็นแหล่งให้ผลประโยชน์แก่ลูกน้องของเขาผ่านเงินเดือน เบี้ยประชุม หรือแม้แต่ ESOP มากกว่า

เรื่องที่สอง เช่นเดิม บริษัทเป็นกิจการดีมาก กำไรสูงมาตลอด มีเงินสดเหลือล้น และการลงทุนเพิ่มไม่ได้มีมากนัก แต่จ่ายปันผลน้อยมาก สืบดูแล้วพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเป็นสถาบันที่ "ไม่มีเจ้าของ" การบริหารงานและการตัดสินใจต่างๆ อยู่ในมือผู้บริหาร ซึ่งแรงจูงใจที่จะจ่ายปันผลมาก ดูเหมือนจะไม่มี ต่อมามีการ Take Over โดยบุคคล ซึ่งรวมถึงผู้บริหารด้วย หลังจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็นกิจการที่ "มีเจ้าของ" บริษัทประกาศจ่ายปันผล "มโหฬาร" แรงจูงใจเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

กรณีที่สาม บริษัทนี้เป็นกิจการเก่าแก่ กิจการของบริษัท หรือที่จริงน่าจะเรียกว่ากลุ่มบริษัท หลายอย่างอาจเรียกว่าอยู่ในอุตสาหกรรม "ตะวันตกดิน" บริษัทขยายงานไปในอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองเช่นกันทั้งในและต่างประเทศ ถ้ามองจากทรัพย์สิน และผลการดำเนินงานรวมถึงปันผลที่ค่อนข้าง "สม่ำเสมอในแง่ของเม็ดเงิน" ผมคิดว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นที่ "ถูกมาก" ตัวหนึ่ง

นักลงทุนไม่เคยได้รับ "รางวัล" จากการที่บริษัทมีกำไรดี หรือดีมากในบางปี ดูเหมือนผู้ถือหุ้นรายย่อยกำลังถือหุ้นที่คล้ายๆ กับหุ้นกู้ที่ได้ดอกเบี้ยพอสมควร จากการสังเกตของผม ผู้ถือหุ้นที่มักจะถือมานานพอใจ ด้านบริษัทไม่เคยให้ข่าวกับสื่อมวลชน ดูเหมือนบริษัทไม่สนใจราคาหุ้นเป็นอย่างไร ว่าที่จริงบริษัทอาจไม่ต้องการให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นด้วยซ้ำ เพราะราคาที่สูงขึ้น อาจทำให้เกิดความคาดหวังสูงขึ้นกับนักลงทุน

ผมสรุปจึงว่า แรงจูงใจของเจ้า ของกรณีนี้ไม่ใช่อยู่ที่ปันผลที่มากขึ้น หรือราคาหุ้นที่สูงขึ้น แต่เป็นอะไรที่ผมไม่รู้ นักลงทุนที่เจอสถานการณ์แบบนี้ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร

กรณีที่สี่ เป็นกิจการของนักธุรกิจที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เป็น "ขาใหญ่" ในตลาดบอกว่า "เขี้ยว" จัด นั่นก็คือ เข้าไปเล่นด้วยลำบาก เพราะจะถูก "กิน" ชื่อเสียงของเจ้าของดูเหมือนจะไม่ดีเลยในสายตาของนักเล่นหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะวิธี และกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจที่มักถูกวิจารณ์จากสื่อว่าไม่เป็นธรรมกับคู่ค้าที่อ่อนแอกว่ามากทำให้ชื่อเสียงโดยทั่วไปไม่ดีนัก

เหตุผลหลักน่าจะอยู่ที่ราคาหุ้นของบริษัท ที่มักขึ้นไปได้ไม่เท่าไรแล้วก็ลง และในกระบวนการมักทำให้นักเล่นหุ้นขาดทุน กิจการในกลุ่มของเจ้าของรายนี้ มักจ่ายปันผลค่อนข้างดีเมื่อมีกำไร

นอกจากนั้น บริษัทในกลุ่มมักประชาสัมพันธ์ทั้งด้านกิจการ และผลการดำเนินงานอย่างทั่วถึง และกว้างขวาง ดูเหมือนผู้บริหารอยากให้หุ้นมีราคาสูงขึ้น สะท้อนผลการดำเนินงานเต็มที่ ข้อสรุปของผมคือ อดีตจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ขณะนี้ดูเหมือนแรงจูงใจของเจ้า จะเน้นผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเต็มที่ เขาคงคิดแล้วว่า นี่คือวิธีสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองได้สูงสุดแทนที่จะไป "กิน" ด้วยวิธีอื่น

กรณีสุดท้าย ก็คือ กรณีที่เจ้าของกิจการบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพต่ำ พยายามตักตวงผลประโยชน์จากสถานะของการเป็นหุ้นที่ซื้อขายในตลาด เจ้าของหุ้นเหล่านี้ มักจะ "ไซฟ่อน" หรือใช้เงินของบริษัทเพื่อตัวเองเป็นปกติอยู่แล้ว ผ่านกระบวนการหลายๆ อย่าง เช่น การซื้อทรัพย์สินเป็นต้น

ในบางช่วงที่โอกาสอำนวย เช่น ช่วงธุรกิจ "ขาขึ้น" หรือตลาดหุ้นกำลังร้อนแรง เขาจะ "สร้างสถานการณ์" ซึ่งรวมถึงการสร้างตัวเลขผลงานให้ดูดี หรือประกาศขยายงาน หรือทำกิจการใหม่ที่น่าตื่นเต้น เพื่อกระตุ้นราคาหุ้นให้ขึ้นไปสูง ซึ่งเขาจะสามารถขายทำกำไร ขณะที่นักเล่นหุ้นต้องขาดทุน เมื่อราคาหุ้นตกลงมาหลังจากเรื่องดีๆ ที่ปล่อยออกมาหมดไป และบริษัทกลับมาอยู่ในสถานะที่ "ไร้คุณภาพ" อีกครั้งหนึ่ง

และทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างบางเรื่องของการวิเคราะห์แรงจูงใจของเจ้าของและผู้บริหาร หน้าที่ของ VI คือ ดูว่าพวกเขามีแรงจูงใจที่เอื้ออำนวย หรือขัดแย้งกับผลประโยชน์ของรายย่อยอย่างเราหรือไม่ ถ้าตรงกันก็เป็นผลบวก แต่ถ้าขัดแย้งกับผลประโยชน์ของเรามาก ก็ต้องระวัง บางทีอาจต้องหลีกเลี่ยงเลย

โลกในมุมมองของ Value Investor: ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


Create Date : 20 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2552 0:45:24 น. 0 comments
Counter : 576 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.