In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

Sam Walton, Founder of Walmart

Sam Walton ผู้ก่อตั้ง "วอลมาร์ท" เครือข่ายซูเปอร์สโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ ตระกูลของเขาทุกคนถูกปลูกฝัง

ให้เป็นคนที่เห็นคุณค่าของเงินทุกดอลลาร์ และกลายเป็นบุคลิกที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต แม้กระทั่งวันที่เขากลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกแล้ว เขาก็ยังเลือกที่จะซื้อเครื่องบินส่วนตัวมือสอง เพราะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ามากกว่า

พ่อของแซม เป็นคนทำงานหนัก เขาเป็นทั้งเกษตรกร นายหน้าขายที่ดินและประกันภัย และทำให้แซมสนใจเรื่องการทำธุรกิจตั้งแต่วัยเรียน เขาหารายได้พิเศษแทบทุกทาง รวมทั้งการส่งหนังสือพิมพ์ ถึงขั้นมีลูกน้องสี่ห้าคน และทำรายได้ให้เขาอย่างงามตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน

เรื่องหนึ่งที่แซมรู้สึกทึ่งในตัวบิดาของเขาเสมอ คือ พ่อของแซมเป็นนักเจรจาต่อรองตัวยง เขาจะต่อรองจนกว่าจะแน่ใจจริงๆ ว่าตัวเองได้ราคาที่ดีที่สุดแล้วเสมอ หาไม่แล้วเขาจะไม่ยอมหยุดเจรจาเลย แซมบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขายอมรับว่าเขาเก่งสู้พ่อไม่ได้เลย เขารู้สึกว่า แม้เขาจะเป็นคนที่เห็นคุณค่าของเงิน แต่ก็ยังไม่ใช่นักเจรจาที่เก่ง น้องชายของเขาเป็นคนที่ได้ส่วนนี้จากพ่อของเขาไปมากกว่า

เดิมทีเดียว แซมไม่ได้สนใจธุรกิจค้าปลีกเลย เขาอยากเป็นตัวแทนขายประกันมากกว่า เพราะเห็นเพื่อนร่วมรุ่นที่ประสบความสำเร็จแบบนั้น และทำให้เขาอยากเรียนต่อด้านการเงิน ที่ Wharton แต่เพราะไม่มีเงินเรียน เขาจึงต้องไปหางานทำแทน จนได้งานที่ห้าง JC Penney เลยทำให้เขาค้นพบว่า ตัวเองสนใจธุรกิจนี้แบบไม่ตั้งใจ หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็พบรักกับ Helen ลูกสาวของนักกฎหมายฐานะดีคนหนึ่ง และได้แต่งงานกันด้วย

แซมและเฮเลนเลือกไปตั้งรกรากใหม่ด้วยกันที่เมือง St.Louis ที่นั่นเขาได้พบกับ Tom Bates รูมเมทเก่า และเป็นลูกเจ้าของห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น เขากำลังอยากเข้าสู่ธุรกิจนี้เองบ้างอยู่พอดี จึงได้ชักชวนแซมให้ร่วมหุ้นกับเขาโดยลงทุนคนละสองหมื่นดอลลาร์ เพื่อซื้อกิจการของห้างสาขาหนึ่งในเมือง St.Louis มาทำ ซึ่งก็เป็นธุรกิจที่แซมสนใจอยู่แล้ว แต่เวลานั้นแซมกับภรรยามีเงินเก็บแค่ห้าพันเท่านั้น ทั้งคู่จึงยืมเงินส่วนที่เหลือจากพ่อตามาร่วมหุ้น และเริ่มทำธุรกิจร้านค้าปลีกครั้งแรกในชีวิต

ด้วยความไฟแรง แต่อ่อนประสบการณ์ ทั้งสามได้ค้นพบภายหลังว่า ห้างสาขาที่ซื้อมาเป็นธุรกิจที่ป่วย ซึ่งเจ้าของเดิมหาทางจะ Exit ร้านแห่งนี้ต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึง 5% ของยอดขายรวม ซึ่งไม่มีร้านค้าปลีกไหนในยุคนั้นต้องจ่ายสูงขนาดนั้น แถมยังมีข้อตกลงสุดโหดที่จะต้องขายสินค้าของเจ้าของแฟรนไชส์อย่างน้อย 80% ของยอดขายรวม มิฉะนั้น จะไม่ได้เงิน Rebates ตอนปลายปี

แซมต้องพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกไปหาสินค้าจากภูมิภาคอื่นมาขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของเดิมไม่เคยทำ เพื่อให้มีสินค้าในร้านที่หลากหลายและดันยอดขายต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องผลักดันสินค้าของเจ้าของแฟรนไชส์เดิมไปด้วย เพื่อให้ได้ยอดตอนปลายปี ซึ่งนั่นทำให้เขาเริ่มใช้กลยุทธ์ สั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ให้ได้วอลุ่มใหญ่ เพื่อให้ได้ราคาพิเศษที่จะมาจัดโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดลูกค้าจากห้างอื่นให้มาซื้อ เขาพบว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลมาก เพราะแม้มาร์จินจะต่ำกว่าร้านอื่นสองเท่า แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าในราคาต่ำกว่า ก่อให้เกิดยอดขายที่สูงกว่าหลายเท่า สุดท้ายแล้ว กำไรที่ได้เมื่อคิดเป็นตัวเงินจะมากกว่า ภายในเวลาเพียงแค่สองปีครึ่ง เขาก็สามารถหาเงินมาคืนให้กับพ่อตาได้ครบจำนวน

หลังจากนั้น แซมก็ตั้งใจที่จะพัฒนาร้านให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ แบบไม่มีวันสิ้นสุด เขากู้เงินจากธนาคารเป็นครั้งแรกในชีวิต เพื่อซื้อเครื่องทำไอศกรีม และป๊อปคอร์น มาตั้งหน้าร้าน เพื่อดึงดูดลูกค้า ครั้งหนึ่งเมื่อเขาทราบว่า เครือข่ายร้านค้าปลีกรายใหญ่เจ้าหนึ่งที่ขายสินค้าใกล้เคียงกับร้านของเขาจะมาเช่าตึกในละแวกนั้นที่ผู้เช่าคนเดิมกำลังจะหมดสัญญาลง เขารีบเข้าไปพบเจ้าของตึกแล้วขอให้เขาเป็นผู้เช่าต่อแทน แซมได้เปิดร้านเสื้อผ้าอีกแห่งหนึ่งขึ้นที่นั่น ซึ่งแม้ว่ากำไรจะไม่ดีนัก เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่มันก็เป็นร้านที่ช่วยสกัดไม่ให้มีร้านค้าปลีกแบบเดียวกันกับร้านเดิมของเขามาเปิดแข่งในละแวกเดียวกันได้

ร้านค้าปลีกของแซมมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 105,000 ดอลลาร์ ในปีแรก กลายเป็น 250,000 ดอลลาร์ ในปีที่ห้า ทุกอย่างกำลังจะไปได้ดี แต่ก็ต้องมาสะดุดลงอีก เพราะตอนที่ทำสัญญาเช่ากันนั้น เขาไม่ได้ขอให้ใส่ Option ที่จะขอเช่าร้านต่อไปอีกห้าปีไว้ในสัญญาด้วย เมื่อจบปีที่ห้า เจ้าของตึกเห็นกิจการของแซมไปได้ดี จึงยืนกรานที่จะไม่ต่อสัญญาท่าเดียว เพราะอยากเก็บเอาไว้ทำเอง ในที่สุด แซมจำเป็นต้องย้ายไปตั้งรกรากที่เมืองใหม่ เพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจค้าปลีกใหม่ตั้งแต่ต้นอีกครั้ง นับว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในชีวิตของเขาเลยทีเดียว

เส้นทางชีวิตของ Sam Walton ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก เอาไว้จะมาเล่าต่อให้ฟังในครั้งต่อไปครับ


นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20120418/447133/Sam-Walton,-Founder-of-Walmart.html




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2555 19:39:18 น.
Counter : 1382 Pageviews.  

การก้าวขึ้นสู่การพัฒนาในระดับต่อไปของเศรษฐกิจไทย

หนึ่งในคำถามสำคัญ ที่หลายคนมีเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ก็คือ “เราจะก้าวขึ้นสู่การพัฒนาในระดับต่อไป

และหลุดออกจากสิ่งเรียกว่า กับดักประเทศรายได้ระดับกลาง หรือ Middle Income Trap ขึ้นเป็นประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว ได้อย่างไร” 

การตอบคำถามเรื่องนี้ ต้องเริ่มจากการตีโจทย์ให้แตกว่า กรอบที่ทุกคนจะเดินไปด้วยกัน เพื่อนำพาประเทศไปข้างหน้านั้น ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ผู้นำของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา คือ ภาคเอกชน ที่อาศัยความสามารถของตนเองในการแข่งขัน ฝ่าฟันปัญหาต่างๆ จนกระทั่งสามารถก้าวกันมาได้ถึงจุดนี้

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะกรอบการพัฒนาที่ทุกคนชอบพูดถึงกันในปัจจุบัน ต้องบอกว่า “ยังไม่ใช่” เนื่องจากกรอบดังกล่าว ยังคงเน้นภาครัฐเป็นสำคัญ ในการที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Next Level ที่ต้องรอนโยบายของภาครัฐมาชี้ทางสว่าง ว่า ประเทศจะเดินไปอย่างไร รัฐจะลงทุนอย่างไร ทุกคนควรลงทุนอย่างไร ซึ่งตอนนี้ คงหมดยุคแล้ว ที่รัฐบาลจะเป็นผู้วางกรอบ แล้วบอกให้เอกชนเดินตามนั้น เพราะโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรากลับไปดูข้อมูลจะพบว่า ภาครัฐไทยมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP เท่านั้น ถ้ายังวนเวียนกับแนวทางนี้ ที่ยังจะรอภาครัฐให้เป็นผู้นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกันอยู่ เราก็ไม่มีทางที่จะเดินกันไปได้ เพราะคนเข็นเศรษฐกิจที่จะฝากความหวังกัน มีขนาดเล็กเกินไป ที่จะพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ


ทางออกมีทางเดียว

เราต้อง Unleash ภาคเอกชน ให้บริษัทเอกชนเป็นหัวหอกในการพัฒนา และให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของการสร้างความชัดเจนของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ช่วยเปิดทาง ปูทางให้ภาคเอกชนเดิน โดยไม่สร้างให้เกิดอุปสรรค ข้อขัดข้องในด้านต่างๆ 

พูดง่ายๆ คือ กลับไปสู่ Model ที่ทำให้เราสำเร็จอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่เราจะหลงทาง มาเชื่อกันว่า รัฐบาลคือหัวใจที่จะพลิกเศรษฐกิจให้ไปสู่การพัฒนาในระดับต่อไป

สิ่งที่ต้องทำในแนวทางใหม่นี้ ประกอบด้วย

1. การจัดให้มีการหารือสนทนาระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เอกชนบอกว่า เอกชนต้องการอะไร อยากเดินไปทางไหน รัฐบาลจะช่วยได้อย่างไร ซึ่งแผนพัฒนาประเทศนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องครบถ้วน สมบูรณ์ มีทุกประเด็น แต่เราสามารถเลือกหารือกันทีละอุตสาหกรรม ทำกันไปทีละด้าน ตั้งแต่ อาหาร รถยนต์ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล เป็นต้น (ตรงนี้ ต้องไม่กังวลใจ ว่าเราจะต้องมีแผนให้ครบทุกด้าน แล้วค่อยเดิน เพราะไม่งั้น เราจะมัวแต่ทำแผนกันให้ครบ เราจะไม่สามารถเดินกันไปได้ ในขณะที่คู่แข่งของเราวิ่งไปข้างหน้า)

ในส่วนนี้ บทบาทสำคัญของรัฐ คือ เป็นผู้สร้างเวทีให้เอกชนในแต่ละ Sector เป็นผู้จัดทำและเสนอแผน (โดยรัฐเป็นผู้เอื้อให้เกิดการตกผลึกในเรื่องดังกล่าว) ว่า เอกชนต้องการให้รัฐสนับสนุนอะไร แก้กฎเกณฑ์ข้อไหน อยากให้รัฐบาลไปเปิดตลาด เปิดประตูการค้า ลดกำแพงการกีดกันด้านการค้า การลงทุนในประเทศไหนบ้าง

ความจริงในประเด็นนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ได้มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนเป็นประจำ เช่น เวลาที่มี ครม. สัญจร ไปภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ เป็นต้น แต่เราควรที่จะยกระดับการหารือดังกล่าวให้เป็นระบบ ในระดับประเทศ และ Unleash พลังของเอกชนและภาครัฐ ในการวางแผนเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

ทั้งนี้ ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า Private Sector Solution นั้น เป็นเรื่องที่มีพลังอย่างยิ่ง

ใน 2 เรื่องที่เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศ คือ (1) การพัฒนานวัตกรรมใหม่ และ (2) การพัฒนาคนเพื่อภาคเอกชน ซึ่งหลายคนคิดว่า เรายังไม่มีคำตอบที่ดีในส่วนของภาครัฐที่จะส่งเสริมให้ประเทศมีนวัตกรรมมากขึ้น หรือมีบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ แต่ภาคเอกชนไทยเริ่มมีคำตอบให้กับตนเองแล้ว

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทไทย อย่างเช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้ริเริ่มการให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าที่เป็น High Value Added ซึ่งก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่น่าพอใจในเรื่องดังกล่าว หรือ 7-11 ที่ได้สร้างโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ขึ้นมา เพื่อพัฒนาบุคลากรให้กับธุรกิจของตนเอง เนื่องจากบุคลากรที่ภาครัฐผลิตมานั้น ไม่ได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมาก ที่มีการริเริ่มดีๆ เหล่านี้

คำถามสำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรที่จะขยายผล นำความคิดเหล่านี้จากภาคเอกชน ไปปรับปรุงประเทศในภาพรวม ซึ่งตรงนี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องให้เอกชนเป็นตัวนำ ใช้ Private Sector Solution เป็นทางออก โดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน และเอื้อให้เกิดขึ้น ให้เขาทำได้ดียิ่งขึ้น ง่ายขึ้น 

2. ทำให้เกิดขึ้น ความท้าทายของทุกรัฐบาลอยู่ที่ “การทำ หรือ Execution” โดยมากแล้ว ทุกรัฐบาลจะทำได้ดีพอสมควร ในเรื่องการให้วิสัยทัศน์ การขายฝัน การเขียนแผน แต่มักจะมีปัญหากัน ในเรื่อง “การทำให้เกิดขึ้นจริง”

พูดง่ายๆ แผนที่เขียนไว้ มักจะไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง หรือถ้านำไปสู่การปฏิบัติจริง ก็เป็นเพียงส่วนน้อย

ตรงนี้ บางประเทศ เช่น อังกฤษ มาเลเซีย รัฐบาลจะมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมา เรียกว่า Delivery Unit ที่จะเป็นคนจัดการให้สิ่งที่วาดฝันไว้ เป็นจริง ในเวลาที่กำหนดไว้

รัฐบาลไทยก็ควรที่จะมีการจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเช่นกัน เพื่อช่วยกำหนดความสำคัญก่อนหลังของโครงการต่างๆ และเป็นมือไม้ ให้กับนายกรัฐมนตรีในการที่จะขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ไปข้างหน้า ตามที่ได้ประกาศไว้ ไม่เช่นนั้น มีโอกาสอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลจะประกาศแผนออกไปจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุด ไม่เป็นผล เพราะตกม้าตายในส่วนของการทำ

ซึ่งในจุดนี้ หน้าที่ของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศคือ การที่จะ Deliver การเปลี่ยนแปลงในส่วนต่างๆ ที่จะช่วยเอื้อให้เอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ดีขึ้น ตามแผนที่ภาคเอกชนและภาครัฐได้ตกผลึกร่วมกัน พร้อมกับระวังหลังไม่ให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจเสียไป

ซึ่งถ้าประเทศไทยทำได้เช่นนี้ การก้าวไปสู่การพัฒนาในระดับต่อไป และการออกจาก Middle Income Trap ก็จะเป็นไปได้ ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ  


หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติม หรือเสนอแนะได้ที่ “Blog ดร. กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ


กอบศักดิ์ ภูตระกูล
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "อนาคตเศรษฐกิจไทย"ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/kobsak/20120403/445082/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html




 

Create Date : 03 เมษายน 2555    
Last Update : 3 เมษายน 2555 19:22:17 น.
Counter : 580 Pageviews.  

ไม่มีคำว่าสาย

เรื่องการลงทุนในหุ้น นักวิชาการจำนวนมากมักบอกว่า เป็นเรื่อง "เสี่ยง" กว่าการลงทุนในพันธบัตร เงินฝากธนาคาร หุ้นกู้

เพราะที่กล่าวมาทั้งหมด เงินต้นยัง "อยู่ครบ" พร้อมกับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน และหุ้นยังถูกมองว่ามีความเสี่ยงกว่าที่ดิน หรือทองคำในสายตาของคนทั่วไป ในแง่ที่ว่าทั้งสองอย่าง "จับต้องได้และไม่สึกหรอ" และรักษาคุณค่าได้เสมอ ราคาทองคำและที่ดินมีแต่จะ "เพิ่มขึ้น" แม้ช่วงหลังราคาทองคำอาจ "ปรับตัวลงบ้าง" ในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว "ไม่เสี่ยง"  ผิดกับหุ้นที่ราคาขึ้นลงทุกวัน หุ้นบางตัว ราคาตกลงไปมากในเวลาสั้นๆ จนแทบจะหมดค่า และหุ้นสำหรับบางคนเหมือนกับ "กระดาษ" ที่ราคาขึ้นลงได้รวดเร็ว บางครั้งขึ้นไปหลายเท่าได้ในเวลาอันสั้น แต่บางครั้งตกลงมาได้มากมาย แทบจะไม่มีค่าเหมือน "กระดาษ" ดังนั้น หุ้นจึงเป็นอะไรที่ "เสี่ยงมาก"

นี่เป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงในบางมิติ คือ โดยอิงอยู่กับการลงทุน "ระยะสั้น" และเป็นการมองทรัพย์สินหรือหุ้นเป็น "รายตัว" แต่ถ้ามองการลงทุนเป็น "ระยะยาว" และลงทุนในทรัพย์สิน หรือหุ้นเป็นแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" หรือกระจายการลงทุนโดยการถือทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นกลุ่ม ความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง เหตุผลสำคัญ คือ ในระยะยาว มิติสำคัญ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกตัวหนึ่ง คือ "อัตราเงินเฟ้อ" เพราะจะทำให้เงินมีค่าลดลง แม้เม็ดเงินยังอยู่ครบ ตัวอย่างเช่น อีก 20 ปีข้างหน้าเงินเฟ้อเท่ากับปีละ 3% แต่เงินลงทุนของเราได้ผลตอบแทนปีละ 2%  เมื่อครบ 20 ปี เงินลงทุนโตขึ้นจาก 100 บาท  เป็น  149 บาท  แต่วันนั้นสินค้าจะขึ้นราคาจาก 100 บาท  เป็น 181 บาท  ทำให้เรา "ขาดทุน" 32 บาท หรือซื้อของได้น้อยลง 18% และนี่คือความเสี่ยงของการถือทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่ แต่ไม่เติบโต หรือเติบโตช้ากว่าเงินเฟ้อในระยะยาว

มิติการลงทุนแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" ช่วยให้การลงทุน "ผันผวน" น้อยลงมากทั้งระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น อาจมองได้ไม่ชัด แต่การลงทุนในหุ้น ถ้าเราลงทุนหุ้นเพียงตัวเดียว ความเสี่ยงจะสูงมาก เพราะหุ้นตัวนั้นอาจประสบปัญหารุนแรงได้  กิจการอาจจะเจ๊งไป และทำให้ราคาหุ้นกลายเป็นศูนย์ แต่ถ้าถือหุ้นหลายๆ ตัว โอกาสที่ทุกกิจการจะล้มละลายมีน้อยมาก ราคาหุ้นก็จะคละเคล้ากันไป บางตัวดี บางตัวอาจไม่ค่อยดี แต่โดยรวมราคาหุ้นจะเปลี่ยนไม่มาก ในระยะสั้น  แม้เราถือหุ้นในพอร์ตหลายๆ ตัว หรือถือกองทุนรวมที่มีหุ้นจำนวนมาก มูลค่าหุ้นอาจลดลงได้เพราะปัจจัยร้อยแปด แต่ระยะยาว มูลค่าหุ้นโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย และถ้าเราถือหุ้นได้ถึง 20 ปี  โอกาสที่มูลค่าหุ้นจะลดลงน้อยมาก ตรงกันข้าม โอกาสหุ้นจะขึ้นไปสูงมีมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 10% ต่อปี เงิน  100 บาทกลายเป็น 673 บาทในเวลา 20 ปี  เทียบกับการฝากเงินที่เราจะได้ 149 บาทแล้ว  ต้องบอกว่าการลงทุนในหุ้น ดีกว่ามากถ้ามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี หรือลงทุนระยะยาว

ข้อสรุปขั้นนี้ คือ ถ้ามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี การลงทุนในหุ้น โดยลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอ หรือถือกองทุนรวม จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยที่มีความเสี่ยง "ต่ำที่สุด" และนี่ทำให้เราควรถือหุ้นเป็นสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับทรัพย์สินอย่างอื่น  มากเท่าไรขึ้นอยู่กับความมั่งคั่ง และความรู้เกี่ยวกับการลงทุนของแต่ละคน แต่ใจผมคิดว่าอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 50%  ของทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ และคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเป็นอย่างดีจะมีหุ้นเกิน 90%  ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ประเด็นสำคัญต่อมา คือ คนมักจะคิดว่าตนเองแก่แล้วหรือมีอายุมากแล้ว การลงทุนหุ้นอาจเป็นเรื่อง "สายเกินไป" แล้ว เขาไม่มีเวลา 10 หรือ 20 ปี ที่จะทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่ "ไม่เสี่ยง" เขาขอฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรดีกว่า นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ "ผิดพลาด" เรามาดูกันว่าเพราะอะไร

เรื่องที่ทำให้คนคิดผิดน่าจะอยู่ที่ประเด็น "อายุเกษียณ" หรือเวลาเลิกทำงานที่กำหนดไว้ที่ 60 ปี นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแก่แล้วตั้งแต่อายุใกล้เกษียณที่ 50 ปีขึ้นไป ความเป็นจริง คือ อายุของคนกำลังยืนขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสุขภาพดีขึ้น และผมคิดว่า  คนรุ่นนี้จำนวนมากจะมีอายุถึง 80 ปีขึ้นไปก่อนตาย ความสามารถลงทุนในหุ้น น่าจะทำได้จนถึงอายุ 80 ปี  และนี่ทำให้ผมคิดว่า การวางแผนเกี่ยวกับการลงทุน ควรกำหนดว่า เราจะลงทุนจนถึงอายุ 80 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้น คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เกษียณในวันนี้หรือแม้คนที่กำลังเกษียณ จึงมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ซึ่งทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

คำแนะนำของผมสำหรับคนที่คิดว่าตนเอง"แก่" เกิน ที่จะเริ่มลงทุน คือ การลงทุน โดยเฉพาะแนว  Value Investment ไม่ได้ยาก หรือใช้พลังอะไรมากมายนัก แต่ใช้ความสุขุมรอบคอบและใจเย็นยึดมั่นศรัทธาในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง ซึ่งคนมีอายุไม่ได้เสียเปรียบคนหนุ่มสาวเลย คนแก่ทำได้ แต่จริงๆ แล้ว บางทีคุณอาจไม่ได้แก่อย่างที่คุณคิด และถ้าสามารถลงทุนได้อีกถึง 20 ปี คุณก็เริ่ม "อาชีพใหม่" ได้ แม้คุณจะอายุ 60 ปีแล้ว และถ้าคุณทำได้ดี โอกาสที่คุณจะเป็น "เซียน" และมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมหาศาลก็ยังมีอยู่

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง แอนน์ ไชเบอร์ ซึ่งผมเคยเขียนถึงนานมาแล้วว่า เธอน่าจะเป็น "ไอดอล" ของนักลงทุน "คนแก่" ทั่วโลก เพราะเธอเริ่มลงทุนเมื่ออายุ 50 ปี โดยเธอเป็นเพียงเสมียน และมีเงินเดือนน้อยมากไม่ต้องพูดถึงความรู้ในการเลือกหุ้น เธอเริ่มจากเงิน 5,000 ดอลลาร์ โดยลงทุนซื้อหุ้นที่เป็น "ซูเปอร์สต็อก" ที่ผลิตและขายสินค้าที่เธอรู้จักดี เช่น โคคา-โคลา บริษัทยา เช่น เชอริงพลาวก์ เธอซื้อแล้วก็เก็บ ติดตามดูกิจการของบริษัทไปเรื่อยๆ เมื่อได้เงินปันผลมา ก็ลงทุนเพิ่มในหุ้นทบต้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายในวันที่เธอตาย ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเธอบริจาคให้กับโรงพยาบาลหมด เพราะเธอไม่เคยแต่งงานและไม่มีญาติพี่น้อง สิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จระดับนั้น ก็คือ เวลาในการลงทุนอีก 51 ปี เพราะเธอตายตอนอายุ 101 ปี และผลตอบแทนที่เธอทำได้คือเฉลี่ยปีละประมาณ 17-18%   ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนที่ดีมากๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ Value Investor มีโอกาสทำได้

คนมักจะถามว่า แก่แล้วจะหาเงินมากๆ ไปทำอะไรได้ แล้ว "ไม่มีโอกาสใช้" หรือคนที่มีเงินเก็บ "พอดีๆ" อาจกลัวว่าจะขาดทุนจากหุ้น แล้วเงินจะไม่เหลือพอใช้จนตาย คำตอบของผม คือ เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร อาจคำนวณว่าเราจะตายเมื่ออายุ 80 ปี แต่เราอาจจะอยู่จนถึง 100 ปีก็ได้ และเมื่อถึงเวลา เรายังจะมีเงินพอใช้หรือไม่ การไม่ลงทุนในหุ้น จึงอาจเป็นเรื่องเสี่ยงพอๆ หรือมากกว่าการลงทุนในหุ้นก็ได้ ข้อสรุปสุดท้ายของผม คือ มีโอกาสสูงที่คุณควรลงทุนในหุ้นแม้ว่าคุณจะอายุมากแล้ว ไม่มีคำว่าสายเกินไป


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120403/445060/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html




 

Create Date : 03 เมษายน 2555    
Last Update : 3 เมษายน 2555 19:20:55 น.
Counter : 587 Pageviews.  

Megatrend โลก

แนวโน้มใหญ่ หรือ Megatrend ของโลก จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวที่ต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป

และน่าจะเป็นอย่างนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี และต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผมเห็น

Megatrend แรกที่ดำเนินมายาวนาน น่าจะหลายสิบปี และจะดำเนินต่อไปอีกนานมาก ก็คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 2 ด้าน นั่นก็คือ เทคโนโลยีด้าน IT และการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ กับเทคโนโลยีด้านชีวภาพ หรือ Biotech นี่คือเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ารวดเร็ว จนเราตามแทบไม่ทัน


ด้านของ IT เราส่วนใหญ่อาจจะได้ยินได้เห็น และได้ใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ อาจจะมีคนไม่มากที่ได้สัมผัสกับมันโดยตรง   อย่างไรก็ตาม  ผลกระทบก็อาจจะมีมากพอๆ  กับเรื่องของ IT เพราะหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์  ตัวอย่างเช่น  เทคโนโลยีเกี่ยวกับยาและการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนทำให้การรักษาโรคที่ร้ายแรงในอดีต  สามารถทำได้ดีขึ้นมากในปัจจุบันและต่อไปในอนาคตอันใกล้

Megatrend ที่สอง ก็คือ เรื่องของ Wealth หรือความมั่งคั่งของคนในโลก  นี่เป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องยาวนาน  ในอดีตนั้น  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญกว่า  แต่ในปัจจุบันความมั่งคั่งมักเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะที่มีประชากรมากหรือมีทรัพยากรมาก  ความมั่งคั่งที่มากขึ้นเรื่อยๆ  ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับเงินซึ่งรวมถึงระบบธนาคารและการบริหารเงินและกองทุนรวมเติบโตต่อเนื่องระยะยาว  และแน่นอน  ส่งผลต่อราคาหุ้นโดยเฉพาะในประเทศที่มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Megatrend ที่สาม คือ เรื่องของโครงสร้างอายุของประชากรในโลกที่เริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  อายุเฉลี่ยของประชากรโลกน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เพราะเด็กเกิดใหม่มีอัตราลดลงในขณะที่คนก็มีอายุยืนขึ้น  โดยที่ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น  ผลกระทบ ก็คือ  ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและคนสูงอายุน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

Megatrend ที่สี่ คือ เรื่องที่ผมอยากเรียกว่าเป็น  “การเพิ่มขึ้นของอิทธิพลของเอเชีย” นี่คือ แนวโน้มใหญ่ที่ประเทศในเอเชียมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของโลก  ประกอบกับการที่มีประชากรจำนวนมาก  ทำให้เอเชียมีบทบาทและความสำคัญสูงขึ้นอย่างมากในทุกด้าน  ทั้งทางด้าน  เศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง และวัฒนธรรม  ผลต่อประเทศไทย ก็คือ  เราจะมีการค้าและการลงทุนมากขึ้นเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่จะมีมากขึ้น เนื่องจากไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่อยู่ในศูนย์กลางของเอเชีย

Megatrend ที่ห้า ก็คือ เรื่อง "ภาวะโลกร้อน" นี่คือ แนวโน้มที่เพิ่งเกิดมาไม่นาน  หรือน่าจะพูดว่าเราเพิ่งตระหนักมาไม่นานนัก แต่ผลกระทบอาจจะรุนแรงขนาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของโลกได้ในระยะยาว ในระยะสั้น ผลกระทบอาจจะเป็นเรื่องของท้องถิ่นบางแห่ง ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ซึ่งรวมถึงภาวะแห้งแล้ง พายุ หรือน้ำท่วม ที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าปกติ  และนี่ทำให้เกิดความเสี่ยงโดยเฉพาะในด้านของทรัพย์สินและการดำเนินธุรกิจ เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ชัดเจนว่าจะเกิดที่จุดไหนและเมื่อใด

Megatrend สุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ เรื่อง Globalization หรือโลกาภิวัตน์ ซึ่งบางคนใช้คำว่า "โลกแบน" ความหมาย ก็คือ พรมแดนทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น จะมีความหมายน้อยลงเรื่อยๆ คนในแต่ละประเทศจะมีความคิด ค่านิยม และความเป็นอยู่คล้ายๆ  กันขึ้นอยู่กับฐานะและความมั่งคั่งมากกว่าเรื่องของวัฒนธรรมประจำชาติ  นอกจากนั้น  แต่ละประเทศจะไม่สามารถทำอะไรตามใจตนเองได้ทั้งหมดแต่จะต้องทำในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกด้วย  เช่นเดียวกัน  การแข่งขันทางธุรกิจก็จะต้องเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ  และต้องรวมไปถึงธุรกิจจากต่างประเทศทั่วโลก  ผลกระทบ ก็คือ  บริษัทที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงจะสามารถขยายตัวได้มากขึ้นมาก   ในขณะที่บริษัทระดับรองหรืออ่อนแอจะอยู่ได้ยากขึ้น

สรุปก็คือ ผมคิดว่าอุตสาหกรรมที่เป็น Megatrend และจะโตเร็วและโตไปอีกนาน ก็คือ อุตสาหกรรมไฮเทคที่เกี่ยวกับ  IT และการสื่อสารในระบบเคลื่อนที่  และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแพทย์และการให้บริการทางการแพทย์   ในอุตสาหกรรมอื่นนั้น  ผมคิดว่าธุรกิจการเงินและการบริหารเงิน  และการลงทุนในหุ้น  น่าจะมีอนาคตสดใส  เช่นเดียวกับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประเทศในทวีปเอเชียที่ประชากรมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น   ซึ่งการบริโภคนี้รวมถึงการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามประเทศที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ   ผลกระทบจากการเปิดเสรีประเทศมากขึ้น จากผลของโลกาภิวัตน์ จะทำให้กิจการที่เป็นผู้นำที่โดดเด่น  โดดเด่นขึ้น  ในขณะที่บริษัทระดับรองลำบากขึ้น  และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้น  จะทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจสูงขึ้น จากภัยธรรมชาติในระยะสั้น
ผลกระทบของ Megatrend โลกนั้น  แน่นอน  รวมถึงประเทศไทย  เพราะเราอยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์ด้วย   ดังนั้น  เราต้องนำ Trend ต่าง ๆ  เหล่านั้นเข้ามาพิจารณา   ในเรื่องของการลงทุน  สิ่งที่สำคัญ ก็คือ  เราต้องการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในกระแสและหลีกเลี่ยงหุ้นที่สวนกระแส   แต่การลงทุนกับหุ้นที่อยู่ใน  Megatrend นั้นยังไม่เพียงพอ  เหตุผล ก็คือ   กิจการที่อยู่ในกระแสนั้น  บ่อยครั้งมีมากยิ่งกว่ากิจการที่ไม่อยู่ในกระแส  การแข่งขันกันจึงรุนแรงและอาจทำให้บริษัทขาดทุนหรือล้มหายตายจากได้ง่ายๆ  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ กิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี  IT ที่เราเห็น  “คนตาย” มากกว่า “คนอยู่”   หุ้นหรือกิจการที่เราต้องการจริงๆ  ก็คือ   เราต้องการบริษัทที่เป็น  “ผู้ชนะ”  ในอุตสาหกรรมที่อยู่ใน Megatrend  และในราคาที่สมเหตุผล

ประเด็นสำคัญที่ตามมา ก็คือ  อะไร คือ  “ราคาที่สมเหตุผล”  นี่เป็นเรื่องยากหรืออาจจะยากยิ่งกว่าการกำหนดว่าบริษัทอยู่ใน Megatrend และเป็น  “ผู้ชนะ”  หรือไม่?  เหตุผล ก็คือ  หุ้นที่อิงกับกระแสแนวโน้มใหญ่นั้น   มักจะเติบโตไปได้ต่อเนื่องยาวนานตราบที่เขายังมีความสามารถสูงอยู่  อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ  บริษัทที่  “กำลังชนะ” นั้น   Profit Margin หรือกำไรต่อยอดขายมักจะมาทีหลัง  ในขณะที่ช่วงแรกๆ  ของการเติบโต  ผลกำไรจะไม่สูงมาก เนื่องจากบริษัทจะเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายมากกว่าที่จะทำกำไร  ดังนั้น  ในช่วงที่บริษัทยังโตเร็ว  ผลกำไรอาจจะไม่สูงมาก  นี่ทำให้ค่า PE  อาจจะดูสูงและทำให้ราคาหุ้นดูไม่สมเหตุผลโดยเฉพาะในสายตาของ  Value Investor ที่เน้นหุ้นถูกเป็นหลัก   วิธีที่ดีกว่า ก็คือ  การดู  “ศักยภาพ”  ว่า  บริษัทน่าจะสามารถเติบโตมียอดขายถึงระดับไหนและมันน่าจะมีกำไรเท่าไรเมื่อถึงจุดนั้น  โดยกำไรนั้นจะต้องคำนวณจาก  Profit Margin ที่เหมาะสม  ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถคำนวณหากำไรและราคาหุ้นที่เหมาะสมในอนาคตได้  จากนั้นจึงมาดูว่าราคาในปัจจุบันนั้นเหมาะสมหรือไม่


//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120327/443748/Megatrend-%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.html





 

Create Date : 28 มีนาคม 2555    
Last Update : 28 มีนาคม 2555 3:41:54 น.
Counter : 593 Pageviews.  

Jeff Bezos

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง อเมซอนดอทคอม ร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นบุตรของ Jackie หญิงอเมริกันฐานะปานกลางคนหนึ่ง

กับสามีคนที่สองของเธอ Mike Bezos ชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบา ทั้งสองพบกันที่สาขาของธนาคารท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ที่ทั้งสองเป็นพนักงานอยู่

Jeff ฉายแววฉลาดและชอบเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เขาขอบเล่นพวกสิ่งประดิษฐ์โครงงานทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เล็ก และฝันอยากเป็นนักฟิสิกส์ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับอวกาศเมื่อโตขึ้น Jeff เรียนระดับอุดมศึกษาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยพรินสตัน และเป็นนักกิจกรรมตัวยงที่นั่นด้วย

เมื่อเรียนจบ แทนที่ Jeff จะเลือกทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงขนาดใหญ่เหมือนเพื่อนร่วมรุ่น เขาเลือกทำงานกับบริษัทขนาดเล็กที่พัฒนาโปรแกรมด้านการเงิน และนั่นทำให้เขาก้าวหน้าในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีโอกาสได้รับผิดชอบงานสำคัญๆ ตั้งแต่เป็นพนักงานปีแรก เขากลายเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการของบริษัทหลังจากทำงานได้แค่ปีเดียว

ไม่นาน Jeff ก็ย้ายไปทำงานกับธนาคารแห่งหนึ่งในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการเช่นกัน ด้วยความที่เป็นคนขยันและเอาใจใส่งานอย่างมาก ภายในเวลาแค่สิบเดือน เขาก็กลายเป็นรองผู้อำนวยการที่หนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคาร หลังจากนั้น สองปี เขาก็ย้ายไปทำงานกับ Hedge Fund แห่งหนึ่งและเขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอีกตามเคย

ในช่วงนี้เองที่ Jeff ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต ซึ่ง แม้ว่าจะยังมีขนาดเล็กมาก แต่มันกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอัตรา 2,300 ต่อปี เขาตื่นเต้นกับโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่จะขายสินค้าผ่านเครือข่ายนี้เป็นอย่างมาก และคิดว่า นี่คือ โอกาสครั้งใหญ่ในช่วงชีวิตของเขาที่จะต้องรีบคว้าไว้ เพื่อสานฝันที่จะเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง

Jeff ลังเลอยู่นานก่อนที่จะลาออกจากงานประจำที่ทำรายได้สูงมากให้กับเขา เพื่อไปลองทำธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้ว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ Jeff เล่าว่า ความคิดสุดท้ายที่ทำให้เขาตัดสินใจได้ คือ การถามตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งเขาอายุ 80 ปีแล้วนึกย้อนกลับไปในอดีต เขาจะเสียใจว่าวันนี้เขาได้ทิ้งงานประจำเงินเดือนสูงนี้ไปหรือเสียใจที่พลาดโอกาสที่จะได้เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ลองทำธุรกิจบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนี้ แม้ว่าสุดท้ายจะไม่สำเร็จ มากกว่ากัน นั่นทำให้เขาฟังธงได้ทันทีว่า จริงๆ แล้ว เขาต้องการทำอะไรในชีวิตมากกว่ากัน

ในวัย 30 ปี Jeff จึงย้ายไปตั้งรกรากที่เมือง Seattle เพื่อเริ่มต้นบริษัท อเมซอนดอทคอม ในช่วงปีแรก เขาต้องคลุกอยู่กับโปรแกรมเมอร์อีกสองคนในห้องแคบๆ เพื่อพัฒนาระบบไอที และต้องใช้เงินออมทั้งหมดของเขาไปกับการจ่ายเงินเดือนและลงทุนซื้ออุปกรณ์ไอที โดยเป็นหุ้นสามัญ 10,000 ดอลลาร์ และอีก 44,000 ดอลลาร์ ในรูปของเงินที่ตัวเขาเองให้บริษัทกู้ ในปีถัดมา เงินส่วนตัวก็หมดลง ทำให้ต้องขายหุ้นส่วนหนึ่งให้พ่อของเขา เพื่อแลกกับเงินสด 100,000 ดอลลาร์ เพื่อมาเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะยังมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ แต่รายได้ของบริษัทก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี บริษัทต้องวางแผนย้ายคลังสินค้าอยู่ตลอดเวลา เพราะคลังสินค้าเต็ม

หลังจากปีแรก Jeff ก็แทบจะไม่ได้จับงานพัฒนาระบบไอทีของบริษัทอีกเลย เพราะต้องยุ่งกับงานส่วนอื่นของธุรกิจมากกว่า ที่สำคัญที่สุด ก็คือ งานหาทุน ซึ่งแม้ว่า Jeff จะอยู่ในสหรัฐ แต่ในช่วงเวลานั้น การขอเงินจาก Business Angels หรือ Venture Capitalists ก็ยังไม่ได้ง่ายดายเหมือนสมัยนี้ Jeff ต้องเจอคำถามมากมายจากคนที่มองไม่ออกว่า ลูกค้าจะไปซื้อหนังสือทางอินเทอร์เน็ตทำไม ในเมื่อร้านหนังสือเป็นสถานที่ที่น่าไปเดินอย่างมาก บางคนก็มองว่า ถ้าร้านหนังสือขนาดใหญ่หันมาแข่งกับ Jeff เมื่อไร บริษัทเล็กๆ อย่าง อเมซอนดอทคอม ก็คงถูกบดขยี้อย่างง่ายดาย

Jeff เริ่มต้นจากการเป็นคนที่นำเสนอแผนธุรกิจแบบฟังไม่รู้เรื่อง เพราะพูดแต่เรื่องเทคนิคมากเกินไป กลายเป็นการนำเสนอที่เน้นเรื่องโมเดลทางธุรกิจมากขึ้น เขาพยายามชี้ให้นักลงทุนเห็นข้อได้เปรียบสำคัญของร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต ได้แก่ การมี Cash Cycle ที่ดีกว่า การใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเพราะไม่ต้องมีหน้าร้าน และการเป็นธุรกิจที่มีการประหยัดต่อขนาดที่ดีกว่า เพราะเมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะกลายเป็นกำไร ในขณะที่ต้นทุนส่วนใหญ่จะคงที่ เขาเรียนรู้ที่จะเป็นนักธุรกิจมากขึ้น

จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ Jeff ประสบความสำเร็จ คือ การที่ Jeff เน้นที่จะสร้างยอดขายให้เติบโตให้เร็วที่สุดก่อน เพื่อให้ข้อได้เปรียบคู่แข่ง แทนที่จะรีบมองกำไรตั้งแต่ปีแรกๆ ซึ่งแต่เดิมเขาถูกวิจารณ์ว่าทำธุรกิจผิดวิธี แต่สุดท้ายแล้ว Jeff ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทุกวันนี้ Amazon มีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่เกินกว่าที่ใครสร้าง อเมซอน ที่สองได้อีกแล้ว (เพราะจะแข่งต้นทุนไม่ได้ตั้งแต่วันแรก) และทุกวันนี้ อเมซอน ก็ยังเป็นบริษัทที่เติบโตสูงมากทุกปี ทั้งที่มีขนาดใหญ่มากแล้ว


นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"

//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20120321/442730/Jeff-Bezos.html




 

Create Date : 22 มีนาคม 2555    
Last Update : 22 มีนาคม 2555 11:29:53 น.
Counter : 595 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.