In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

Urbanization

เมื่อก่อนนี้เคยเชื่อกันว่า ในอนาคตผู้คนจะเบื่อหน่ายชีวิตที่สับสนวุ่นวายในเมืองแล้วพากันไปอาศัยอยู่ในชนบทกันมากขึ้น

แต่ ถ้าดูจากแนวโน้มการเคลื่อนตัวของประชากรในเวลานี้แล้ว ดูเหมือนแนวโน้มนี้จะไม่ได้กำลังเกิดขึ้น ตรงกันข้ามกลับมีสัญญาณที่ชัดเจนว่า ในอนาคตประชากรโลกจะหันมาอาศัยอยู่ในเมืองกันมากขึ้นไปอีก

องค์การสหประชาชาติก็ทำนายว่า ในอีกยี่สิบปีข้างหน้าประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นจาก 50% ของทั้งหมดในปัจจุบัน ไปเป็น 60% ในขณะที่ เมื่อปี ค.ศ.1900 มีประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองแค่ 14% เท่านั้น

นอกจากนี้ ในอีก 15-20 ปีข้างหน้า เมืองใหญ่ในอินเดียและจีนจะมีประชากรมากกว่าในปัจจุบันถึงสองเท่าด้วย เพราะอัตราเร่งของการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองสูงมากเป็นพิเศษในประเทศที่ กำลังพัฒนา

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนอยากเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันก็ได้แก่ เหตุผลเรื่องการหารายได้ วิธีหาเลี้ยงชีพสมัยใหม่ ซึ่งนับวันจะเหมาะกับสังคมเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ หรือการที่โลกสมัยใหม่เป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนเร่งรีบมากกว่า เพราะต้องใช้เวลาไปกับการเสพข้อมูลใหม่ๆ ไม่ใช่น้อย ผู้คนจึงอยากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประหยัดเวลาเดินทางหรือทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเมืองสามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ดีกว่าชนบท

มูลเหตุที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้คือ ครอบครัวสมัยใหม่จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ คนสมัยใหม่นิยมอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สามีภรรยาแต่ละคู่ก็นิยมมีลูกน้อยลง เด็กเองพอโตขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะแยกครอบครัวเร็วกว่าสมัยก่อน คนที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวเพราะแต่งงานช้า ไม่แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วหย่า ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รวมคนชราสมัยใหม่ที่จะต้องอยู่กันลำพังโดยไม่มีลูกหลานดูแล

ครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงทำให้ความสามารถในการพึ่งตนเองของแต่ละครัวเรือน ลดลง การอาศัยอยู่ในชนบทจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากกว่า คนแก่เดินทางลำบาก ผู้หญิงคนเดียวดูแลบ้านที่มีบริเวณไม่ได้ เป็นต้น ครอบครัวขนาดเล็กจึงต้องอยู่อาศัยในที่อยู่ซึ่งมีความสะดวกสบายพร้อมสรรพ ซึ่งก็คือที่อาศัยในเมืองใหญ่นั่นเอง เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ๆ ที่อยู่ตามชานเมือง เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง เพราะดูแลรักษาลำบาก หาคนรับใช้ยาก ใช้เวลาเดินทางเข้าเมืองนาน จะไปไหนก็ไกล

อีกหน่อยเราจะเริ่มเห็นที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อสนองความ ต้อง การของคนที่อยู่ตามลำพังโดยเฉพาะ เช่น คนชรา คนพิการ มากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในต่างประเทศก็เริ่มมีโครงการที่อยู่อาศัยทำนองนี้มาระยะหนึ่งแล้ว อาหารสำเร็จรูปอย่างเช่น อาหารไมโครเวฟ ก็มีแนวโน้มจะขายดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะวิถีชีวิตที่รีบเร่งขึ้น และครอบครัวเล็กมักทำอาหารกินเองไม่สะดวก

ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ ในอนาคต แม้ว่าเมืองจะสับสนวุ่นวายมากขึ้น แต่คนก็ยังมีแนวโน้มที่จะนิยมเลือกอาศัยอยู่ในเมืองกันต่อไป

ในทางตรงกันข้าม คนที่เคยอาศัยอยู่ในชนบทก็นิยมเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะต้องการหารายได้ ซึ่งแต่เดิมคนชนบทยุคแรกที่หลั่งไหลเข้าเมืองจะยังสามารถกลับไปอยู่ชนบทได้ เมื่อตกงานหรือแก่ชรา แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า คนชนบทที่หันมาอาศัยอยู่ในเมืองนานๆ จะเริ่มไม่คุ้นเคยกับการหารายได้แบบชนบท เช่น ไม่คุ้นเคยกับการทำเกษตรอีกต่อไป พวกเขาอาจไม่มีที่ทำกินแล้วเพราะจากบ้านมานาน หรืออาจไม่เหลือญาติสนิทที่บ้านเกิดแล้ว เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ลูกหลานของคนเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นมาในเมือง ทำให้กลายเป็นคนเมือง ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบชนบทได้อีก

เหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ทำให้คนที่อยู่ในชนบทก็มีแนวโน้มที่จะย้ายเข้ามา อาศัยอยู่ในเมืองอย่างถาวรมากขึ้นเช่นกัน

ในเมื่อคนในไม่ออก คนนอกก็เข้ามามากขึ้น ประชากรเมืองจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกทีครับ

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20101229/368654/Urbanization.html




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2553    
Last Update : 29 ธันวาคม 2553 2:01:19 น.
Counter : 942 Pageviews.  

ความคาดหวังเฟ้อ

เวลาที่เงินในท้องตลาด ซึ่งอยู่ในกระเป๋าของคนมีมากเกินไป เงินนั้นก็จะถูกนำไปไล่ซื้อสินค้าทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นมา

ผล ก็คือ สินค้าที่ได้ก็เท่าเดิม ถึงแม้เราจะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์แบบนี้เราเรียกว่า "เงินเฟ้อ" ในภาษาไทย เรายังมีคำว่า "เฟ้อ" ใช้ในหลายๆ โอกาส เช่น "ท้องเฟ้อ" นี่เป็นอาการที่ท้องปูดออกมาเพราะข้างในมีลมเต็ม เป็นอาการที่ท้องโตขึ้นเพราะลมไม่ใช่เนื้อหนัง ไม่ช้าก็จะยุบลง

อาการ "เฟ้อ" มักไม่ใช่สิ่งที่ดี สิ่งที่เฟ้อนั้น ดูเหมือนจะโตขึ้นแต่ไม่มีเนื้อหา บางครั้งก็มีอันตราย การเฟ้ออย่างหนึ่งที่ผมเห็นในช่วงที่หุ้นบูมเป็นกระทิงในช่วงนี้ก็คือ "ความคาดหวังเฟ้อ" และคนที่มีความคาดหวังเฟ้อมาก เป็นพิเศษ ดูเหมือนจะเป็น Value Investor จำนวนไม่น้อย ที่ควรจะเป็นคนที่ระมัดระวังตัวมากกว่าคนอื่นและไม่เล็งผลเลิศ ในสถานการณ์ที่น่าจะเป็น "ปีทองของ VI" เช่นในปีนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่ VI จะไม่ "ฝันสุดขอบฟ้า"

ความคาดหวังที่เฟ้อมากที่สุดที่ผมเห็นก็คือ ฝันว่าจะสามารถทำผลตอบแทนการลงทุนต่อปีสูงมากกว่าที่น่าจะเป็นไปได้ นี่ก็เป็นความหวังหลังจากที่เขาสามารถสร้างผลตอบแทน บางคนเป็นร้อย หรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในเวลาแค่สองปีที่ผ่านมานี้

การลงทุนนั้นดูเหมือนจะ "ง่ายมาก" ซื้อตัวไหน ตัวนั้นก็มักจะวิ่งกันเป็นสิบ หรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น ดังนั้น การตั้งความหวังของ VI ในเรื่องของผลตอบแทนก็คือ อย่างน้อยก็ต้องได้ 15-20% ต่อปีในระยะยาว คนที่ทำผลตอบแทนได้ดีมากก็อาจจะตั้งไว้ที่ 20-25% บางคนก็อาจจะสูงถึง 30-40% ดูเหมือนว่าการมีเงินหลายร้อยหรือพันล้านบาทเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ในเรื่องนี้ผมอยากบอกว่า ผลตอบแทนระยะยาวทบต้นเป็นเวลาเช่น 30 ปี เป็นเรื่องยากที่จะทำได้สูงมาก จริงอยู่ในภาวะที่ตลาดหุ้นดีและเป็นช่วงทองของหุ้นแนว "VI" การทำผลตอบแทนที่ดีมากๆ ขนาดได้กำไรเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปีนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้โดยเฉพาะที่เรายังมีพอร์ตไม่ใหญ่มาก แต่การที่จะทำผลตอบแทนที่ดีมากต่อเนื่องในระยะยาวเป็นเรื่องที่ยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพอร์ตเราใหญ่ขึ้นและเรากล้าเสี่ยงน้อยลง

เหนือสิ่งอื่นใด ตลาดหุ้นไม่ได้ดีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่แล้ว ดัชนีตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นช้าๆ เฉลี่ยปีละประมาณ 7% โดยมีปันผลอีกประมาณ 3% รวมแล้วก็คือ 10% ต่อปี สถิติของเซียนหุ้น "ระดับโลก" ในระยะยาว เขามักจะได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดไม่เกิน 10% ต่อปี นี่คือฝีมือระดับ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ถ้าเป็นระดับรองลงมาอย่าง จอห์น เนฟฟ์ ก็อาจจะประมาณ 3-4% ต่อปี นั่นแปลว่า ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 15% ต่อปีในระยะยาวถึง 30 ปี สถิติของเราก็ไม่แพ้ จอห์น เนฟฟ์ และถ้าเราทำได้ 20% ต่อปี เราก็ดีเกือบเท่าบัฟเฟตต์ และถ้าได้ 25% ต่อปี โลกนี้ก็เป็นของเรา เฟ้อไหมครับ?

ความคาดหวังเฟ้ออีก เรื่องหนึ่งก็คือ การคาดหวังว่าบริษัทที่เราเลือกลงทุนเป็น "หุ้นโตเร็ว" จะเติบโตสูงมาก เช่น รายได้โตได้ปีละ 25-30% ในระยะยาว ขณะที่ผลกำไรที่ทำได้จะเติบโตตาม หรือโตมากกว่า เพราะบริษัทอาจจะมี Economy Of Scale ดีขึ้น ความคาดหวังนี้ มักจะมาจากการที่ได้เห็นการเติบโตของบริษัทในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาที่น่าประทับใจมาก ประกอบกับ Model หรือรูปแบบการประกอบการของบริษัทนั้นดู "โดดเด่น" กว่าคู่แข่งและไม่เห็นว่าใครจะเข้ามาแข่งขันได้อย่างน้อยในช่วงเวลานี้

ดังนั้น เขาจะเข้าซื้อหุ้นโดยหวังว่า หุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น อาจจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาไม่นาน พอเข้าซื้อแล้ว "มหัศจรรย์" ก็เกิดขึ้น หุ้นอาจจะขึ้นไปสองร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เขาคาดหวังไว้ถูกต้องหมด จริงๆ มากกว่าที่หวัง ความสำเร็จนี้ ทำให้เขาเชื่อว่า หุ้นที่โตเร็วขนาดปีละ 25-30% ในระยะยาวมีจริงและมีไม่น้อย การซื้อหุ้นเหล่านี้ในช่วงที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นมากคือหนทางแห่งความ สำเร็จ

แต่บริษัทที่โตระยะยาวเช่น 20-30 ปี ในอัตรา 25-30% ต่อปีนั้น มีจริงไหม? ผมเองไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งในเรื่องนี้ แต่จากการติดตามบริษัทที่เติบโตจริงๆ ไม่ใช่บริษัทที่โตชั่วคราว 2-3 ปี แล้วก็กลับมาที่เดิมนั้นพบว่า บริษัทที่สามารถเติบโตได้ถึงปีละ 10% ก็ค่อนข้างดีแล้ว การเติบโตปีละ 15% แบบทบต้นนั้น ต้องถือว่าเป็น Super Growth หรือเป็นบริษัทที่เติบโตสุดๆ ถ้ามองระดับอินเตอร์ก็คงจะเป็นระดับบริษัท Exxon ผู้ผลิตน้ำมันระดับต้นๆ ของโลก หรือถ้ามองในเมืองไทยก็น่าจะประมาณกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยที่โตเร็วต่อเนื่องมาก ว่า 30 ปี

ส่วนการโตปีละ 20% ผมคิดว่าน่าจะหาได้ยากมาก ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนมักเข้าใจผิด ถึงการเจริญเติบโตก็คือ เขามักจะมองระยะสั้นแล้วตีความไปว่าระยะยาว ก็คงเป็นอย่างนั้น ในช่วงที่บริษัทขยายตัวมากโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังร้อนแรงในปีนี้ จึงทำให้หลายคนมองว่าหุ้นบางตัวเป็น "หุ้นโตเร็ว" และโตได้ถึง 25-30% ต่อปี ซึ่งถ้าดูจากสถิติแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นการคาดหวังเฟ้อ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การเติบโตของธุรกิจ บางทีก็ทำให้เร็วกว่าปกติมากๆ ได้ ทางหนึ่งก็คือ ซื้อกิจการของคนอื่น แบบนี้บริษัทก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่อาจจะสูงจนทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัท ไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว อีกทางหนึ่งก็คือ การลงทุนขยายตัวในธุรกิจผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มักมีผลกำไรในระยะยาวต่ำหรือ เท่ากับผลตอบแทนของเงินลงทุนปกติ การทำแบบนี้ก็อาจจะทำให้บริษัทสามารถโตเร็วกว่าปกติได้ เพราะสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมากนั้น มีตลาดไม่จำกัดเพราะเป็นตลาดโลก ดังนั้น บริษัทจะโตเท่าไรก็ได้ แต่โตแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะต้องลงทุนสร้างโรงงาน กำไรที่เพิ่มขึ้นก็คือผลตอบแทนปกติของเงินทุนที่ลงไป ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของเงินก็ไม่มี

ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ ความเฟ้อของความคาดหวังที่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ระยะสั้นในระยะนี้ เศรษฐกิจกำลังเติบโตเร็ว และมาจากฐานที่ต่ำ ซึ่งเป็นผลจากปี 2008 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในสหรัฐ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดูดีมากและมีแนวโน้มที่จะดูดีต่อไป

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมา "ยืนยัน" ความเชื่อหรือความคาดหวังนั้นส่งผลให้ความคาดหวังในรอบต่อไป "เฟ้อ" เขาคิดว่า อนาคตจะเป็นแบบนั้นต่อไปอีกนาน แต่สถิติที่ผ่านมายาวนานบอกว่าสิ่งที่หวังไว้ "ไม่น่าเป็นไปได้" อาจจะมีคำถามตามมาว่า มีอะไรเสียหายถ้าจะ "ฝันให้ไกล" เพราะถ้าฝันให้ไกลแล้ว แม้ไปได้แค่ครึ่งทาง ก็ยังดีกว่าตั้งเป้าหมายไว้ต่ำๆ คำตอบของผม ก็คือ การฝันไกลเกินไปอาจจะทำให้เราพยายาม "เร่ง" ผลตอบแทนเกินตัว เช่น การใช้มาร์จิน การไม่กระจายความเสี่ยงเพียงพอ และนั่นคืออันตราย

การลงทุน ก็เหมือนการแข่งขันวิ่งมาราธอน การวิ่งเร็วมากๆ ไม่ใช่หนทางที่จะชนะ เพราะฉะนั้น อย่าตั้งความคาดหวังสูงเกิน และไม่ต้องดูว่าใครจะทำผลตอบแทนเท่าไร กำหนดเส้นทางของตนเองที่เหมาะสมที่สุดแล้วเดินตามทางนั้น ไม่ต้องรีบ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20101228/369319/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%AD.html




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2553    
Last Update : 29 ธันวาคม 2553 2:00:05 น.
Counter : 531 Pageviews.  

เมื่อเทคโนโลยีไล่ล่าคุณ

ก่อนจะนำเทคโนโลยี หรือเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ คุณจะต้องหาจุดสำคัญให้เจอก่อนว่า อะไรที่ทำให้สินค้าของคุณแตกต่าง...

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว ส่วนใหญ่ทั่วโลกจะมีสิ่งที่คล้ายๆ กันอยู่บางประการคือ มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เป็นผู้สืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น

หากเรามองเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมกันอย่างเต็มที่ และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากนั้น มากเกินครึ่ง เป็นผู้ประกอบการที่รับสืบทอดกิจการมาจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จากรุ่นก่อน สู่รุ่นใหม่ หลายๆ กิจการสืบทอดกันมาหลายสิบปี และบางกิจการสืบทอดกันมาเป็นร้อย หรือหลายร้อยปี

ในประเทศไทยเรา ก็มีผู้ประกอบการแบบนี้อยู่มากเหมือนกัน

อีกส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ ผู้ที่คิดค้น เริ่มต้นทำงานด้วยตนเอง

ทั้ง 2 แบบนี้ มีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันชัดเจน แต่ในที่สุดแล้ว หากกิจการไปได้ดี มีความเจริญเติบโตก้าวหน้า ไม่ว่าคุณเริ่มมาแบบไหน คุณจะพบสิ่งหนึ่งที่ตามมาไล่ล่าคุณ นั่นคือ เทคโนโลยี

เคยมีคนพูดว่า ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เป็นช่วงที่เกิดการพัฒนาอย่างสูงสุดของการพัฒนา แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เราได้เห็นกันแล้วว่า เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเดินหน้าไปไกลมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า การพัฒนาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากกว่าการเปลี่ยนแปลงในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาเสียอีก และความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็ยังจะเดินหน้าด้วยอัตราเร่งไปเรื่อยๆ

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเริ่มต้นกิจการมาแบบไหน หากคุณตามสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี ไม่ทัน คุณก็อาจจะตกขบวนการค้า และทำให้ธุรกิจที่คุณอุตส่าห์ตั้งต้นมา หรือได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษมาพังไปกับมือคุณ

สิ่งแรกในเรื่องของเทคโนโลยีที่เราคงต้องพูดถึงก่อน คือ เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากการใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงาน ซึ่งเกิดผลดีในแง่ของการลดต้นทุนด้านแรงงาน ลดความผิดพลาดจากความไม่เที่ยงตรงของคน และที่สำคัญคือ เร็ว จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น

หากคุณเป็นผู้ริเริ่มกิจการเอง การไล่ตามเทคโนโลยีในการผลิตอาจจะง่ายกว่า คุณสามารถดีไซน์โรงงานด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยได้ตั้งแต่แรก หรือหากไม่ทำแต่แรกก็สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในกรณีที่คุณเป็นผู้สืบทอดกิจการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตที่อาจจะเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมของคุณพ่อ คุณแม่ อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง คุณก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

ในกรณีของสินค้าที่เป็นสินค้าผลิตแบบอุตสาหกรรมจริงๆ คือ ผลิตจำนวนมาก การทำเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เข้ามาช่วย เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า และเห็นผลชัดกว่า มีข้อผิดพลาดน้อยกว่า เช่น โรงทอผ้าที่เข้ามาแทนที่การทอมือ การผลิตถ้วยชามด้วยระบบอุตสาหกรรมแทนการปั้นทีละใบ การผลิตขนมขบเคี้ยว ฯลฯ

แต่ในบางอุตสาหกรรมที่มีเทคนิค หรือเคล็ดลับพิเศษต่างๆ นั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้อาจจะไม่ง่ายนัก แต่ต้องอาศัยการคิด การดีไซน์|ที่เหมาะสมกับไลน์การผลิต และที่สำคัญคือ การคงคุณภาพ

สินค้าประเภทอาหาร เป็นหนึ่งในสินค้าที่ยากลำบากในการใช้เทคโนโลยี เช่น หากคุณทำโรงงานเต้าหู้ ที่ปกติใช้แรงงานคนทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนของการเลือกเมล็ดถั่ว การแช่ถั่ว การเอาเปลือกออก การต้ม และทำให้เกิดเป็นก้อนเต้าหู้

สิ่งเหล่านี้ ตามมาด้วยคุณภาพของเต้าหู้ที่ดี แต่ก็ตามมาด้วยปัญหาที่หากจะทำในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว อาจจะทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีเคล็ดลับที่ทำให้เต้าหู้ของคุณมีรสสัมผัสพิเศษกว่าที่คนอื่นขาย และจุดเด่นนี้ ทำให้คุณขายได้ราคาสูงกว่า หากคุณนำเทคโนโลยีเข้ามา เต้าหู้ที่เคยมีรสสัมผัสที่พิเศษอันเป็นมรดกตกทอดมาจากไอเดียของบรรพบุรุษของคุณก็อาจจะเสียหาย และกลายเป็นเหมือนเต้าหู้ร้านอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ดังนั้น ก่อนจะนำเทคโนโลยี หรือเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ คุณจะต้องหาจุดสำคัญให้เจอก่อนว่า อะไรที่ทำให้สินค้าของคุณแตกต่าง และอะไรที่ทำให้กระบวนการผลิตล่าช้าจนไม่อาจจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แล้วแก้ปัญหาไปทีละจุด

เช่น ถ้าเคล็ดลับของการทำเต้าหู้ที่สุดยอดนี้ คือการเลือกเมล็ดถั่วที่คุณภาพดีทุกเม็ด โดยใช้สายตาอันเชี่ยวชาญของคนเก่าแก่ หากคุณจะนำเครื่องจักรมาแทน ก็ต้องเจรจากับผู้พัฒนาเครื่องจักรว่า มันจะต้องมีสายตาเช่นเดียวกับที่คนเก่าแก่ของพ่อแม่ของคุณมี เช่น เครื่องจักรนี้อาจจะไม่ได้เป็นแค่เครื่องคัดขนาด ด้วยการเจาะช่องแล้วเลือกเมล็ดถั่วที่ใหญ่พอเท่านั้น แต่มันอาจจะต้องชั่งน้ำหนักเมล็ดถั่วได้ด้วย หากคุณได้วิเคราะห์แล้วว่า เมล็ดที่ดีต้องมีน้ำหนักเหมาะสม เพราะอาจจะมีบางเมล็ดที่ขนาดใหญ่ แต่ฝ่อด้านใน การชั่ง|น้ำหนักก็จะช่วยได้ นอกนั้นยังรายละเอียดอื่นๆ ที่คุณต้องพัฒนาด้วยการศึกษาให้แน่ใจก่อนว่า เครื่องจักรแบบไหนที่จะทดแทนความสามารถ และประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญของคนเก่าแก่ได้

นอกจากนี้ ยังอาจจะมีขั้นตอนการทำให้เต้าหู้แข็ง ที่ปกติผู้เชี่ยวชาญของคุณอาจจะใช้ก้อนหินหนักในการทับลงไปบนน้ำเต้าหู้ที่อยู่ในพิมพ์ และคุณจะสามารถให้นายช่างพัฒนาระบบกดแทนก้อนหินที่ต้องใช้แรงคนยกนี้ได้ในน้ำหนักการกดเท่าเดิมได้หรือไม่ และน้ำหนักการกดอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่อาจจะหมายถึงการกดที่ต้องมีการเปลี่ยนมุมเมื่อเต้าหู้หดตัว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ การออกแบบเครื่องจักรอย่างรอบคอบจะช่วยได้ และไม่ทำให้เต้าหู้สุดยอดรสสัมผัสของคุณกลายเป็นเต้าหู้ธรรมดาที่โรงงานไหนๆ ก็มี

แนวคิดแบบนี้ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม เมื่อเทคโนโลยีไล่ล่าคุณครับ

โดย...อานนท์
//www.posttoday.com/หุ้น-ทอง/SME-แฟรนไชส์/66696/เมื่อเทคโนโลยีไล่ล่าคุณ




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2553    
Last Update : 26 ธันวาคม 2553 16:57:26 น.
Counter : 479 Pageviews.  

เศรษฐกิจนอกระบบ

ทุกวันนี้ ถ้าถามผมว่าอยากเห็นรัฐบาลช่วยพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่าเอสเอ็มอีในรูปแบบใดมากที่สุดผมจะตอบว่าอยากเห็นรัฐบาลช่วยผลักดันเอสเอ็มอีให้เข้ามาอยู่ในระบบกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


มาตรการนี้อาจฟังดูแล้วเหมือนไม่น่าจะเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่ที่จริงแล้ว มันส่งผลต่อการพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างมากครับ


ทุกวันนี้ เอสเอ็มอียังเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบในสัดส่วนที่สูงมาก คำว่า นอกระบบ ก็อย่างเช่น การเสียภาษีที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง การใช้แรงงานนอกระบบ การพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ การขายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ การใช้ของปลอม รวมไปถึงการใช้ที่สาธารณะเป็นสถานประกอบการด้วย


บางคนอ้างว่า เอสเอ็มอีเป็นธุรกิจของคนตัวเล็ก ซึ่งทุกวันนี้ เสียเปรียบทุนขนาดใหญ่ในทุกๆ ด้าน ดังนั้น ถ้าจะปล่อยให้คนตัวเล็กทำอะไรไม่ถูกต้องบ้างก็หรี่ตาไปข้างหนึ่งเถอะ อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เขามีอะไรที่พอจะสู้กับคนตัวใหญ่ได้


แต่สิ่งที่เรามองข้ามไป คือ การทำอย่างนั้นจะส่งผลร้ายอย่างยิ่งกับคนที่เป็นเอสเอ็มอีด้วยกันเอง ในเมื่อทุกคนสามารถแข่งขันกันนอกระบบหรือในระบบก็ได้ คนที่ทำตามระบบทุกอย่างจะเสียเปรียบมากจนทำให้อยู่ไม่ได้ สุดท้ายแล้วทุกคนก็จำต้องลุกขึ้นมาสู้กันนอกระบบเพื่อความอยู่รอด กลไกตลาดที่จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาตามระบบจะกลายเป็นอัมพาต


ตัวอย่างเช่น การเสียภาษี เวลาที่แต่ละบริษัทเสียภาษีไม่เท่ากันมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ใครจะลักไก่ได้ มากแค่ไหน ภาษีก็จะกลายมาเป็นข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญขึ้นมา ทันที ภายใต้สภาวะแวดล้อมการแข่งขันในตลาดที่เหมือนกัน บริษัทที่หลบภาษีได้มากกว่าอาจมีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งได้มากถึง 20-30% หรือมากกว่านั้นอีก ในขณะที่บริษัทที่พยายามแข่งขันด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้วยการ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ หรือพยายามพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้มีจุดแตกต่างจากคู่แข่งนั้น อาจสร้างความได้เปรียบให้เหนือคู่แข่งได้เพียงแค่ 2-5% เท่านั้น


แล้วอย่างนี้จะดิ้นรนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ หรือพยายามพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นทำไม ในเมื่อจุดชี้เป็นชี้ตายของการแข่งขันมันอยู่ที่เรื่องนอกระบบ


อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่องซอฟต์แวร์ ผมฟันธงเลยว่า บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ของบ้านเราไม่มีวันเกิดได้ เพราะต่อให้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ยอดเยี่ยมกว่าของต่างประเทศมากแค่ไหน แต่ถ้าซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ขายไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ใช้ ก็เป็นไปไม่ได้เลย ที่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์จะอยู่ในประเทศนี้ได้


ในสหรัฐบริษัทด้านเทคโนโลยีล้วนกอบโกยเงินจนกลายเป็นบริษัทที่มั่งคั่ง ที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล แต่ทำไมบริษัทด้านเทคโนโลยีของบ้านเรากลับกลายเป็นพวกที่อยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ ขาดทุนแล้วขาดทุนอีก ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐตลอดเวลา บางคนบอกว่าเป็นเพราะสหรัฐ มีพวก Private Equity ที่คอยให้ทุนสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีอยู่ อันนั้นก็อาจจะถูกส่วนหนึ่ง แต่ลองคิดว่า บริษัทพวกนี้ขายของไม่ได้ เพราะทุกคนลักลอบใช้ซอฟต์แวร์ฟรีกันหมด ต่อให้มีคนให้เงินทุนมากแค่ไหน ก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี เพราะถ้าขายของไม่ได้ ธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร


บางคนชอบอ้างว่า เอสเอ็มอีประเทศไหนเขาก็เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ จากการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยลินซ์ ประเทศออสเตรีย พบว่า ประเทศไทยนั้นมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบต่อจีดีพีสูงมากเป็นอันดับที่เจ็ดของ โลก (ประมาณ 57% ของจีดีพี) นั่นย่อมเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าปัญหาเรื่องนี้ของเราถือว่าไม่ธรรมดา แล้ว บางครั้งผมก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความอดทนและ อะลุ้มอล่วยต่อคนที่ทำผิดมากกว่าประเทศอื่นรึเปล่า ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้


บางคนบอกว่า เรื่องอย่างนี้แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้หรอก มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึก แต่ถ้าถามว่า แล้วสหรัฐประสบความสำเร็จในการทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในระบบด้วยการปลูกฝัง จิตสำนึกหรือไม่ คำตอบก็คงไม่ใช่ เราเห็นแต่การบังคับใช้กฎหมายของเขาที่เด็ดขาด เราได้ยินข่าวเศรษฐีในประเทศที่พัฒนาแล้วถึงขั้นต้องติดคุก เพราะโกงภาษีอยู่บ่อยๆ หรือสรรพากรของสหรัฐก็มีอำนาจมากถึงขนาดเข้าไปอายัดเงินในบัญชีของคนที่ สงสัยว่าจะโกงภาษีได้เลย แล้วเราจะจริงจังและจริงใจกับการจับคนที่ทำผิดได้บ้างแล้วหรือยัง


ผมว่าเอสเอ็มอีบ้านเรามีศักยภาพในการพัฒนาตนเองสูงมากอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าสภาพแวดล้อมจะเอื้อให้เขาอยากพัฒนาตัวเองมากน้อยแค่ไหน

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20101215/367169/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A.html




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2553    
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 23:44:36 น.
Counter : 547 Pageviews.  

อาคารชุดใจกลางเมืองยังไม่ล้นตลาด

ผลสำรวจพบว่าขณะ นี้ยังไม่พบการล้นตลาดของโครงการอาคารชุดใจกลางเมือง เพราะยังมีผู้เข้าอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากถึงสองในสามของหน่วยที่สร้างเสร็จและ มีอัตราผลตอบแทนในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามการอำนวยสินเชื่อยังควรมีวินัยมากกว่าที่เป็นอยู่และควรมีหลัก ประกันสำหรับผู้บริโภค


ตามที่มีหลายฝ่ายให้ข้อสังเกตว่าอาคารชุดใจกลางเมือง อาจประสบภาวะล้นตลาดจนธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการป้องกันนั้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงได้สำรวจข้อมูลเพื่อความกระจ่ายในการนี้ โดยทำการสำรวจโครงการอาคารชุดใจกลางเมืองที่แล้วเสร็จมาเป็นเวลา 8-12 เดือนจำนวน 103 โครงการ ที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สำรวจไว้ต่อเปิดตัวโครงการ และทำการสำรวจซ้ำในทุกรอบ 6 เดือน


ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยว่า การสำรวจนี้ครอบคลุมห้องชุดจำนวน 40,027 หน่วย โดยพบว่าในจำนวนนี้ มีผู้เข้าอยู่แล้ว 31,584 หน่วย หรือ 79% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงว่าสินค้าเหล่านี้มีผู้ใช้สอยจริง และยิ่งกว่านั้นหากพิจารณาในรายละเอียดของการเข้าอยู่อาศัย ก็พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อห้องชุดถึง 73% มีเพียง 27% ที่เป็นผู้เช่า ดังนั้นโดยภาพรวมของห้องชุดที่สำรวจทั้งหมดพบว่ามีเจ้าของซื้ออยู่ถึง 58% ผู้เช่าอยู่ 21% และห้องชุดว่าง 21% จึงสรุปได้ว่า ห้องชุดที่สร้างขึ้นนั้นตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ผู้ซื้อเป็นผู้ใช้สอยที่แท้จริง การเก็งกำไรจึงยังมีไม่มากนัก


อัตราการเข้าอยู่อาศัย ณ 77% นี้ ถ้าเป็นห้องชุดที่สร้างเสร็จในช่วง 8-12 เดือน จะมีผู้เข้าอยู่อาศํย 76% แล้ว ซึ่งแสดงว่า มีผู้ย้ายเข้าอยู่อาศัยเร็วมาก ต่างจากในสมัยก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 ที่ผู้ซื้อห้องชุด ย้ายเข้าอยู่ช้า แสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน ผู้ซื้อเป็นผู้ใช้สอยที่แท้จริง ยิ่งกว่านั้น หากเป็นห้องชุดที่แล้วเสร็จตั้งแต่ 13-24 เดือน จะมีอัตราการย้ายเข้าอยู่ 77% และยิ่งเป็นในโครงการที่แล้วเสร็จ 25-36 เดือน จะมีผู้เข้าอยู่อาศัยถึง 84%


สำหรับอัตราค่าเช่า ตกเป็นเงินตารางเมตรละ 329 บาท ยิ่งในพื้นที่สำคัญยิ่งมีค่าเช่าสูง เช่น พื้นที่สีลม - สาธร พื้นที่พระราม 3 ริมแม่น้ำ พื้นที่สุขุมวิทช่วงซอย 1-71 และพื้นที่พหลโยธิน - พญาไท มีค่าเช่าต่อเดือนต่อตารางเมตร สูงถึง 596 บาท 577 บาท 571 บาท และ 519 บาทตามลำดับ


สำหรับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น หากคิดอัตราผลตอบแทนจากการให้เช่า ( Return on Investment) จากค่าเช่า โดยสมมติให้ค่าเช่าสุทธิต่อปีเท่ากับจำนวน 10 เดือนของค่าเช่าต่อเดือน (หักค่าใช้จ่ายและอัตราว่างไป 2 เดือน) จะพบว่า อัตราผลตอบแทนจากการให้เช่า สูงถึง 6.6% ต่อปีซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากพอสมควร และหากพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคา (Return of Investment) โดยพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาต่อปีโดยเทียบราคาที่เปิดขายกับราคาที่ แล้วเสร็จในปัจจุบัน จะพบว่า อัตราผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่า สูงถึง 5.0% โดยเฉลี่ย ดังนั้นอัตราผลตอบแทนทั้ง 2 ชุดจึงรวมกันเท่ากับ 11.5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เสียอีก จึงทำให้มีผู้ลงทุนซื้อห้องชุดใจกลางเมืองไว้เป็นจำนวนมาก


อย่างไรก็ตามการซื้อห้องชุดใจกลางเมืองนั้น เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะปัญหาการจราจรติดขัด การเดินทางจากห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้าจึงเป็นทางแก้ปัญหาหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ ของผู้อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร จะสังเกตได้ว่าห้องชุดที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าในระยะ 500 เมตร มีค่าเช่าต่อเดือนต่อตารางเมตรเฉลี่ย 416 บาท ในขณะที่ที่ตั้งอยู่ไกลออกไปในระยะ 501-1,000 เมตร ค่าเช่าลดลงเหลือ 347 บาท และที่เกินกว่า 1,000 เมตร ค่าเช่าจะลดลงเหลือเพียง 339 บาทเท่านั้น


ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ในขณะนี้ยังไม่มีปัญหาการล้นตลาด แต่ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของการสร้างอุปทานในตลาดเพิ่มเติม ซึ่งยังมีการสร้างต่อเนื่องจำนวนมาก ก็อาจเกิดภาวะล้นตลาดในอีก 2 ปีข้างหน้าได้ สำหรับการอำนวยสินเชื่อ สถาบันการเงินไม่ควรประมาทในการอำนวยสินเชื่อสูงถึง 90-110% เพราะอาจเกิดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในที่สุด


ยิ่งกว่านั้น ดร.โสภณ ยังเสนอแนะให้ใช้มาตรการการคุ้มครองเงินดาวน์คู่สัญญา (Escrow Account) ซึ่งอาจสร้างภาระการประกันในระดับหนึ่ง เป็นก็เป็นหลักประกันที่ดีแก่ผู้บริโภค หากโครงการเกิดปัญหา ผู้ซื้อก็จะได้เงินดาวน์คืน ไม่สูญเสีย ไม่ใช่ซื้อบ้านแต่ได้เพียงกระดาษสัญญา หรือซื้อบ้านแต่ได้แค่เสาบ้านเช่นในอดีต และการที่ตลาดได้รับความคุ้มครองก็จะยิ่งทำให้ผู้ซื้อบ้านเกิดความมั่นใจและ ซื้อบ้านมากขึ้น ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีการเติบโตอย่างมั่นคงในที่สุด



ผู้แถลง :

ดร . โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก . เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล - วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/sopon/20101222/368645/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94.html




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2553    
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 23:43:25 น.
Counter : 496 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.