In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

คุณภาพการศึกษา

ทุกวันนี้ ภาครัฐมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาในบ้านเราเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การกำหนดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการศึกษาภาคบังคับไปจนถึงการให้เงินเรียนฟรี ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีเสียงท้วงติงตามมาอีกว่าอยากเห็นรัฐมีบทบาทในแง่การพัฒนา "คุณภาพการศึกษา" ด้วย นอกเหนือจากเรื่องของปริมาณอย่างเช่นที่ผ่านมา


คุณภาพการศึกษาถือเป็นปัญหาโลกแตกปัญหาหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากว่า ต้นตอของปัญหานี้ของบ้านเรามันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ บางคนบอกว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงินเดือนครูให้มากๆ บางคนบอกว่าจะต้องกำจัดโรงเรียนกวดวิชาให้หมดไป ต่างคนก็ต่างความคิด ผมเองก็ไม่ทราบคำตอบที่ชัดเจนของปัญหานี้เหมือนกัน แต่อยากจะนำเสนอมุมมองที่ค่อนข้างจะแหวกแนวของ มิลตัน ฟรีแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้สักหน่อย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักพัฒนาการศึกษาทุกท่านนะครับ


ก่อนอื่นเลย ฟรีแมน มองว่า การที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการวงการการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอยู่ (ซึ่งแตกต่างจากมุมมองในด้านอื่นๆ ของเขาที่มักสนับสนุนกลไกตลาดอย่างเต็มที่) เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่มี Neighborhood Effect สูงในทางเศรษฐศาสตร์ หมายความว่า เวลาที่คนหนึ่งคนได้รับการศึกษานั้น ไม่ใช่เฉพาะตัวเขาเองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่สังคมก็ได้ประโยชน์ด้วยจากการที่เขาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้น อาชญากรรมลดลง การพึ่งพารัฐในแง่สังคมสงเคราะห์ลดลง การตัดสินใจทางการเมืองดีขึ้น (ซึ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่น สังคมประชาธิปไตย) ภาคธุรกิจก็สรรหาแรงงานที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ผลพลอยได้เหล่านี้ สังคมเป็นผู้ได้รับ บุคคลจึงไม่ได้นำมาคิดเวลาตัดสินใจเลือกรับการศึกษา บุคคลจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกรับการศึกษาน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหากปล่อยให้การ ศึกษาเป็นเรื่องของกลไกตลาดล้วนๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีเหตุผลที่รัฐจะเข้ามาอุดหนุนและกระตุ้นให้บุคคลเลือกรับการศึกษาให้มากขึ้น


สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การอ่านออกเขียนได้ นั้น ฟรีแมนมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพลเมืองทุกคนในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เสรี ดังนั้นรัฐอาจจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทอย่างสูงเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนจะได้รับการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน ในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เอกชนจะสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร แล้วอยู่รอดในทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงมีหน้าที่สร้างโรงเรียนให้ทั่วถึงรวมไปถึงการให้เงินเรียนฟรีสำหรับ ครอบครัวที่ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้เองด้วย


แต่ฟรีแมนก็เตือนว่า การอุดหนุนใดๆ นั้นมีจุดอ่อนเสมอคือ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา จึงไม่ควรเอาความคิดนี้ไปใช้อย่างสุดโต่งอย่างในบางประเทศถึงกับมองว่าการ ศึกษาขั้นพื้นฐานควรเป็นของรัฐทั้งหมด เพราะข้อเสียของระบบราชการคือ เป็นระบบที่ให้รางวัลหน่วยที่ทำได้แย่ที่สุดโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น ยิ่งหน่วยงานบริหารงานได้แย่ที่สุดจนอยู่ไม่ได้เท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐให้อยู่รอดได้มากเท่านั้น ต่างกับภาคเอกชนที่ต้องแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดได้


ฟรีแมนจึงเสนอว่า แทนที่จะอุดหนุนการศึกษาด้วยการให้งบประมาณอุดหนุน "โรงเรียน" ของรัฐ รัฐควรหันมาอุดหนุนที่ "การศึกษา" โดยตรงแทน ด้วยวิธีแจก "คูปอง" เรียนหนังสือให้กับประชาชน แล้วให้ประชาชนตัดสินใจเองว่า จะเอาคูปองนี้ไปสมัครเรียนที่โรงเรียนไหน (รัฐหรือเอกชนก็ได้) วิธีนี้ยังอุดหนุนการศึกษาเหมือนเดิม แต่โรงเรียนทุกแห่งจะต้องพัฒนาตัวเองด้วย มิอาจนอนใจได้เหมือนเดิม เพราะประชาชนจะไม่เลือก วิธีนี้ก็จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาได้ บางคนแย้งว่า โรงเรียนไม่เหมือนกับสินค้าอย่างอื่น จะปล่อยให้มีการแข่งขันกันแบบเอกชนไม่ได้ แต่สิ่งที่เห็นอยู่ในความเป็นจริงก็คือทุกวันนี้สถาบันการศึกษาในสหรัฐ ที่ได้รับการยอมรับกันว่ามีคุณภาพล้วนแต่เป็นสถาบันของเอกชนเป็นส่วนใหญ่


ในส่วนของการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป เช่น อาชีวะหรือมหาวิทยาลัยนั้น ฟรีแมนมองว่ามีเหตุผลน้อยกว่าที่รัฐจะอุดหนุนอย่างเต็มตัว เพราะการศึกษาเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการหารายได้ในอนาคตของผู้เรียน ดังนั้นแทนที่รัฐ จะให้เงินอุดหนุนสถาบันการศึกษาเหล่านี้เพื่อให้ค่าเทอมถูกลงซึ่งกลายมาเป็น ภาระของผู้เสียภาษีทุกคน รัฐควรเป็นแค่ผู้ให้เงินกู้เพื่อการศึกษาเท่านั้น เพราะหลังเรียนจบ บุคคลจะหารายได้ได้มากขึ้น บุคคลย่อมมีความสามารถในการใช้คืนเงินกู้ได้ การอุดหนุนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐโดยตรงนั้น ส่งผลเสียในแง่ที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่าง สถาบันของรัฐและเอกชน น่าจะปล่อยให้ทั้งสองภาคส่วนได้แข่งขันภายใต้พื้นฐานเดียวกันจะพัฒนาคุณภาพ การศึกษาได้ดีกว่า แต่เหตุที่รัฐยังต้องเข้ามาปล่อยเงินกู้การศึกษาแทนสถาบันการเงินของเอกชนนั้นเป็นเพราะ สินเชื่อการศึกษาอาจให้ผลตอบแทนต่ำเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเมื่อเทียบกับสินเชื่อธุรกิจอื่นๆ ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันชัดเจน การปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ปล่อยกู้การศึกษาจึงอาจได้ผลน้อย

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20110420/386960/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2.html




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 10 พฤษภาคม 2554 9:50:24 น.
Counter : 477 Pageviews.  

ราคาหุ้นที่เหมาะสม

เวลาที่เราพิจารณา หรือวิเคราะห์ว่าราคาของหุ้นตัวหนึ่งเหมาะสมหรือไม่ มันแพงเกินไปหรือถูกเกินไป เราทำอย่างไร

เรารู้ได้อย่างไร Value Investor โดยเฉพาะ ที่ "เชี่ยวชาญ" เกี่ยวกับตัวเลขและการคำนวณ รวมถึงการวิเคราะห์อนาคตของกิจการ ก็จะบอกว่าเรา "รู้" เพราะว่าเราสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงหรือ Intrinsic Value ของกิจการได้ มูลค่าที่แท้จริงนั้น มีวิธีการหาได้หลายแบบ

ตัวที่ง่ายที่สุด ก็คือ การใช้ค่า PE ของหุ้น อาจจะเป็นค่า PE ในอดีตย้อนหลังไปหนึ่งปี หรืออาจจะเป็นค่า PE ที่มองไปในอนาคตหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าค่า E หรือกำไรต่อหุ้นของปีที่ผ่านมาของบริษัทเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น และบริษัทเป็นกิจการที่ "โตเร็ว" คาดว่ากำไรจะโตถึงปีละ 20% ต่อปีและจะโตไปอีกหลายปี หุ้นแบบนี้น่าจะสามารถมีค่า PE สูงถึงประมาณ 20 เท่า

ดังนั้น มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมควรที่จะเท่ากับ 1 คูณด้วย 20 หรือ 20 บาทต่อหุ้น หลังจากนั้น เราก็มาดูว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดเป็นเท่าไร ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาท เราก็บอกว่านี่คือหุ้นที่มีราคา "ถูก" ควรที่เราจะซื้อไว้ ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 20 บาทต่อหุ้น เราก็บอกว่าราคา "ยุติธรรม" และถ้าราคาหุ้นในขณะนั้นเท่ากับ 30 บาท เราก็บอกว่าหุ้นมีราคา "แพง" กว่าพื้นฐาน

ในหุ้นตัวเดียวกันนั้นเอง แต่วิเคราะห์โดย VI อีกคนหนึ่งอาจจะมองว่า บริษัทอาจจะโตขึ้น 20% ก็จริง แต่เป็นการโตแค่ปีเดียว เนื่องจากเป็นเรื่องของภาวะอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวยไม่ได้เป็นการเติบโตที่ ยั่งยืน หลังจากนั้นแล้ว การเติบโตก็เป็นปกติประมาณปีละ 10% ดังนั้น ค่า PE ของหุ้นจึงควรที่จะเป็น 10 เท่า ดังนั้น VI รายนี้ก็จะบอกว่า ถ้าหุ้นราคา 10 บาท ก็เป็นราคาที่ยุติธรรม ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 20 บาทก็ถือว่าแพงมาก และถ้าราคาเท่ากับ 30 บาทก็ถือว่าแพงสุดๆ ต้องรีบขายทิ้ง

VI อีกคนหนึ่งอาจมองว่าการใช้ PE ในอดีตสำหรับหุ้นตัวนี้ไม่เหมาะสม เพราะบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงใน "พื้นฐาน" อย่างสำคัญ กำไรที่เห็นยังไม่สะท้อน "พื้นฐานใหม่" ดังนั้น เขาจึงใช้ PE ในอนาคต นั่นก็คือ เขาจะคาดการณ์กำไรในอนาคตของบริษัท ซึ่งเขาคาดว่าจะทำได้ถึง 2 บาทต่อหุ้น และเขาคิดว่าบริษัทจะโตเร็วมากหลังจากนั้น คือ โตได้ถึง 20% ต่อปีไปอีกหลายปี

ดังนั้น ค่า PE ของหุ้นก็ควรจะเป็น 20 เท่า ซึ่งก็ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเท่ากับ 2 คูณด้วย 20 เท่ากับ 40 บาทต่อหุ้น ถ้าราคาหุ้นในปัจจุบันเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น หุ้นตัวนี้ก็ถูกสุดๆ เช่นเดียวกันที่ราคา 20 บาทก็ยังถูกมาก มี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยถึง 50% และแม้ว่าหุ้นจะราคา 30 บาทต่อหุ้น หุ้นก็ยังถูกอยู่ดีมีโอกาสกำไรได้อีก 33%

ถ้าจะถามว่าใครวิเคราะห์หรือ "ทาย" ถูก คำตอบ ก็คือ ในวันที่วิเคราะห์และตัดสินใจซื้อขายหุ้นนั้น ไม่มีใคร
รู้ คำตอบที่แท้จริงคงจะต้องรอเวลาอีกหลายปี และเมื่อถึงวันนั้น สถานการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอีก เราก็คงจะพอมองออกเมื่อถึงวันนั้นว่าบริษัทเป็นอย่างไร มีกำไรเติบโตแบบไหน และใครน่าจะเป็นคนที่ "ทาย" ถูก และ แน่นอน ราคาหุ้นหลังจากที่ผ่านไปอาจจะ 2-3 ปี หรือ 3-4 ปีจะเป็นเครื่องยืนยันว่าใครน่าจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง แต่ประเด็น ก็คือ คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไม่อยากรู้ว่าอีก 3 ปีราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร เขาอยากรู้ว่าราคาหุ้นตอนนี้ถูกหรือแพงและมันจะวิ่งขึ้นหรือลงไปหา "มูลค่าที่แท้จริง" และมูลค่าที่แท้จริงคือเท่าไร

และนี่จึงนำมาสู่ทฤษฎีว่าใครน่าจะวิเคราะห์ได้ถูกต้องที่สุด? VI คนที่หนึ่ง VI คนที่สองหรือคนที่สาม หรือนักเล่นหุ้นทั่วๆ ไปที่เน้นเก็งกำไรเป็นหลักที่บังเอิญเข้ามาเล่นหุ้นตัวเดียวกัน

คำตอบจากการศึกษาโดยการทดลองภายใต้สมมติฐานหนึ่ง เช่น สมมติว่าคนส่วนใหญ่ ที่เข้ามาลงทุนซื้อขายหุ้น เป็นคนที่มีเหตุผลพอสมควร และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ในระดับปกติ เป็นคนที่ซีเรียสในการตัดสินใจลงทุน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ของตัวเองเป็นเดิมพัน เป็นต้น

คำตอบที่ได้ ก็คือ ไม่ใช่ VI ที่ "อนุรักษนิยม" ไม่ใช่ VI ที่ "กล้าหาญชาญชัย" ไม่ใช่ VI "ระดับเทพ" และก็ไม่ใช่ "นักเก็งกำไรตัวยง" หรือ "นักเก็งกำไรสมัครเล่น" แต่เป็น "ค่าเฉลี่ย" ของนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นทุกคน และค่าเฉลี่ยที่ว่านี้ ก็คือ "ราคาหุ้นในตลาด" เพราะราคาหุ้นในตลาดนั้น เป็นตัวสะท้อน "ความเห็น" ของทุกคน และโดยนัยนี้ มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของหุ้น ก็คือ "ราคาหุ้นในตลาด"

ดังนั้น หุ้นในตลาดจึงไม่มีคำว่าถูกหรือแพงกว่าพื้นฐาน หุ้นในตลาดนั้น ตามทฤษฎีและภายใต้การทดลองที่มีข้อสมมติฐานที่มีเหตุผลนั้น มีราคาที่ยุติธรรมเหมาะสมตามพื้นฐานของมัน ไม่มี "เซียน" คนไหนคำนวณมูลค่าหุ้นได้แม่นยำเท่า "ตลาด" และนี่ก็คือ ทฤษฎีที่เรียกว่า "ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ" ซึ่ง "ทรงพลัง" มาก

ทำไม "ค่าเฉลี่ย" จึงแม่น หรือเก่งกว่า "เซียน" ในการคาดการณ์มูลค่าหุ้นหรืออีกหลายๆ เรื่อง คำตอบคงยาวมาก แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า ค่าเฉลี่ยนั้นเกิดจากการนำข้อมูล ความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์ และอื่นๆ ของแต่ละคนมารวมกัน เปรียบคล้ายๆ กับการต่อพ่วงคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องเข้าด้วยกันแล้วช่วยกันทำงาน

ผลที่ออกมาจึงเหนือกว่าคอมพิวเตอร์ตัวเดียว ที่แม้จะเก่งและมีพลังมาก แต่ก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ทั้งหมด นี่ฟังดูหลายคนอาจจะไม่ค่อยเชื่อว่าคนหลายคนที่ไม่ได้มานั่ง "สุมหัว" กัน แต่ต่างคนต่างทำจะสามารถนำข้อมูลมารวมกันได้ แต่นี่เป็นเรื่องจริง มีการทดลองแล้วพบว่ามันจริง ผมจำไม่ได้ชัดว่าเป็นเรื่องอะไร แต่จะเป็นแนวต่อไปนี้

สมมติว่าเราต้องการทำนาย น้ำหนักตัวของคนคนหนึ่ง วิธีการ ก็คือ เราหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหนัก อาจจะเป็นหมอหรือช่างตัดเสื้อก็ได้มาทำนายคนหนึ่ง นอกจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว เราก็ยังมีคนที่จะมาทำนายอีกเป็นหลายสิบคน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ก็คือ คนธรรมดาที่มีน้ำหนักตัวมากบ้างน้อยบ้าง และทำงานอาชีพที่หลากหลาย แต่ไม่มีใครเชี่ยวชาญในการคิดประมาณการน้ำหนักตัว พวกเขาแต่ละคนก็จะมีความคิด หรือความรู้บางอย่างเช่นเขาอาจจะรู้ว่าน้ำหนักของตัวเองเป็นเท่าไร และถ้านำมาเปรียบเทียบกับคนที่เขาเห็น น้ำหนักตัวของคนที่เขาเห็นจะเป็นเท่าไรอย่างนี้เป็นต้น

ประเด็นสำคัญ ก็คือ เขาจะต้องตั้งใจที่จะทายให้ถูกจริงๆ เพราะการทายถูกหรือใกล้เคียงจะมีรางวัลตอบแทนให้ ผลของการประมาณการน้ำหนักตัวที่กล่าวนี้ ปรากฏว่า คนที่ทายได้ใกล้เคียงที่สุดนั้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือเซียนเรื่องน้ำหนักตัวครับ แต่เป็นอย่างที่พูดแล้ว นั่นคือ น้ำหนักตัวของคนที่ถูกทายใกล้เคียงกับ "ค่าเฉลี่ย" ของการทายหรือประมาณการของทุกคน เซอร์ไพรส์ไหมครับ

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพนะครับ เพราะถ้าผมเชื่อก็คงไม่มาเป็น VI เลือกหุ้นลงทุนอยู่ทุกวันนี้ ว่าที่จริง ยังมีทฤษฎีอื่นๆ ที่เชื่อว่าพฤติกรรมของคนนั้นไม่ใช่ว่าจะมีเหตุผลเสมอไป ดังนั้น ราคาหุ้นในตลาดก็อาจจะเพี้ยนไปจากมูลค่าที่แท้จริงได้ และผมจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20110405/385260/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1.html




 

Create Date : 06 เมษายน 2554    
Last Update : 6 เมษายน 2554 6:00:47 น.
Counter : 529 Pageviews.  

'ทรู คอร์ปอเรชั่น' เกมของ 'เจ้าสัว'

เกมเพิ่มทุน 'เจ้าสัวซีพี' สุดล้ำลึก ถอน ATM 'ผู้ถือหุ้น' เคาะราคา 1.95 บาท รายย่อย'ตกกระไดพลอยโจน' จะ'ถอย'ก็ขาดทุน ไม่ใช้สิทธิก็ยิ่ง'ขาดทุน'

บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เพิ่งได้เงินกู้ก้อนใหญ่จากธนาคารไทยพาณิชย์มาหยกๆ แถมแต่งตั้ง SCB เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนโครงการ 3G อย่างเป็นทางการ แต่ไหง! กลายเป็นว่า เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เลือกที่จะกด ATM ถอนเงินนักลงทุนรายย่อยมา "เติมทุน" กลุ่มทรู

การเพิ่มทุนครั้งนี้ถือว่า "เหนือความคาดหมาย" ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ตั้งตัวกันแทบไม่ทัน บริษัทเพิ่งเพิ่มทุนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 10,000 ล้านหุ้น แต่ขายได้ 3,272 ล้านหุ้น ราคา 1.95 บาท และครั้งนี้เพิ่มทุนส่วนที่เหลืออีก 6,727 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม 1 ต่อ 0.865 หุ้นใหม่ ที่ราคาเดิม 1.95 บาท มีเป้าหมายการระดมทุน 13,100 ล้านบาท

หลังการเพิ่มทุน (ถ้าใช้สิทธิครบ 100%) จะทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่นมีหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 7,775 ล้านหุ้น เป็น 14,503 ล้านหุ้น หรือมีหุ้นเพิ่มจากปัจจุบันอีก 86% การเพิ่มทุนครั้งนี้ยังกำหนดระยะเวลาให้นักลงทุนตัดสินใจ "กระชั้นชิด" แจ้งตลาดหลักทรัพย์เช้าวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2554 กำหนดวัน XR (ไม่ได้รับสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน) วันที่ 7 เมษายน 2554 ผู้ถือหุ้นมีเวลาตัดสินใจ (วันทำการ) เพียง "สัปดาห์เดียว"

การเพิ่มทุนครั้งที่แล้วเมื่อต้นปี 2552 ผู้ถือหุ้นรายย่อยต่าง "สละสิทธิ์" ราคาเพิ่มทุน 1.95 บาท แต่ราคาตลาดขณะนั้นซื้อขาย 1.5-1.6 บาท ซีพีก็รับไว้เอง 2,770 ล้านหุ้น ที่ราคา 1.95 บาท (5,400 ล้านบาท) หรือคิดเป็นประมาณ 85% ของหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรก

แต่ด้วยความเก๋าเกมซีพีใช้วิธี "อัฐยายซื้อขนมยาย" หักกลบกับที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ต้องใช้สิทธิซื้อหุ้นใน BITCO คืนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำนวน 3,540 ล้านบาท ซีพีเลยควักกระเป๋าจ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุน TRUE จริงๆ เพียง 1,860 ล้านบาท "ทุนเพิ่ม..แต่เงินเข้าไม่เต็ม"

หลังเพิ่มทุนเมื่อปี 2552 ซีพีกลับถือหุ้น TRUE เพิ่มขึ้นจาก 35.62% เป็น 58.21% (เพราะรายย่อยไม่ใช้สิทธิ) หลังจากนั้นประมาณปีเศษหุ้น TRUE ก็วิ่งหูดับตับไหม้ขึ้นไป 7.80 บาท ท่ามกลางข้อกังขาว่า "บริษัทมีแต่หนี้หุ้นขึ้นได้ไง" เทียบพื้นฐานแล้วราคาแซง AIS กับ DTAC แบบสุดกู่ ยิ่งค้านสายตา "หุ้นยิ่งวิ่ง" ซีพีรวยหุ้น TRUE เพิ่ม 3 เท่าทั้งที่เจ้าสัวจ่ายเงินเพิ่มเข้าไปนิดเดียว

ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ซีพีก็รับเหมาหุ้น TRUE อีกก้อนจากเจ้าหนี้ KfW จำนวน 699.33 ล้านหุ้น สัดส่วน 8.99% ในราคาหุ้นละ 4.90 บาท (3,427 ล้านบาท) กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ TRUE เพิ่มขึ้นอีกจาก 58.21% เป็น 64.74% หรือ 5,034 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับ "สตอรี่ใหม่" ทรูอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อกิจการ "ฮัทชิสัน" ยิ่งทำให้ซีพีฟันกำไรหุ้น TRUE เพิ่มขึ้นอีกเป็น "ต่อที่สอง" สรุปว่า KfW "ขายหมู" ให้เจ้าสัว

ถ้าวัดกันที่ "มูลค่าความมั่งคั่ง" ณ สิ้นปี 2551 มาร์เก็ตแคปหุ้น TRUE เหลือแค่ 6,808 ล้านบาท ซีพีถือหุ้น TRUE เพียง 35.62% คิดเป็นส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 2,425 ล้านบาท "จิ๊บจ๊อยมาก" แต่ ณ สิ้นปี 2553 "หนังคนละม้วน" มาร์เก็ตแคปหุ้น TRUE พุ่งขึ้นเป็น 55,207 ล้านบาท แต่ซีพีถือหุ้น TRUE เพิ่มเป็น 64.74% คิดเป็นส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 35,740 ล้านบาท

เท่ากับว่า 2 ปี (2552-2553) เครือซีพีรวยหุ้น TRUE เพิ่มขึ้น 1,373% (จาก 2,425 ล้านบาท เป็น 35,740 ล้านบาท) เจ้าสัวซีพียังรักษาตำแหน่งนักลงทุนที่อยู่ "ยอดบนสุดของพีระมิด" เหนือเซียนหุ้นทั้งปวง นี่แหละ! ความเหนือชั้นสุดบรรยาย

ปีนี้นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2011 ทั้งหมด 1,000 อันดับ เจ้าสัวธนินท์ รวยอยู่ในอันดับที่ 152 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 6,500 ล้านดอลลาร์ "รวยที่สุดในประเทศไทย" แซงหน้า "เจ้าสัวเจริญ" เบียร์ช้าง (อันดับที่ 247) และเบียด "เฉลียว อยู่วิทยา" เจ้าสัวกระทิงแดง (อันดับที่ 208) หล่นไปเป็นอันดับสอง

ถ้าดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น TRUE ล่าสุดพบว่ามีนักลงทุนรายย่อยเข้าไปพัวพันกับหุ้นตัวนี้มากถึง 30,581 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 3,000 ราย และมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยที่ถูกลากไป "ติดหุ้น" เหนือ 7 บาท นักลงทุนต้นทุนแพงเหมือนตกกระไดพลอยโจนจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนก็ยิ่ง "ถลำลึก" จะถอยก็ "ขาดทุน" ถือไว้โดยไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนก็ยิ่ง "ขาดทุนหนัก"

ที่ล้ำลึกก็คือเพิ่มทุนหุ้น TRUE รอบนี้เจ้าสัวเสนอออปชั่น "ราคาต่ำ" จูงใจสุดๆ แถมขาย "อนาคต 3G" สดใสซาบซ่าส์ นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าเกมเพิ่มทุนของเจ้าสัวรอบนี้น่าจะ "ดึง" รายย่อยแห่ใช้สิทธิอย่างล้นหลาม

วิเคราะห์ตามรูปการณ์แผนเพิ่มทุนรอบนี้อย่างมากซีพีจะใช้สิทธิ "เท่าสิทธิ" (64.74% หรือ 4,355 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 8,490 ล้านบาท) ไม่เชื่อว่าจะ "เหมาหุ้น" เอาไว้เอง ถ้าการเพิ่มทุนสำเร็จ 100% เท่ากับนักลงทุนถูกเครือซีพีจับ "คอนเวอร์เจนซ์" ชนิดสมบูรณ์แบบ เก็งกำไรหุ้น TRUE ช่วย TRUE เพิ่มทุน เจ้าสัวก็แฮปปี้ เจ้าหนี้ก็แฮปปี้ ส่วนนักลงทุนต้องไป "ลุ้นหุ้น TRUE เอาเองในตลาด" เพราะหุ้นไม่มีปันผล

หุ้นพื้นฐานดีอนาคตไกลอย่าง CPF เครือซีพียังถือหุ้น 44.99% หุ้นมั่นคงธุรกิจเติบโตทุกปีอย่าง CPALL ซีพียังถือหุ้น 45.47% หุ้นหนี้สูงอนาคตไม่แน่นอนอย่าง TRUE มีหรือที่ซีพีจะคงสัดส่วนหุ้นไว้ 64.74% แล้วไปใช้สิทธิแทนรายย่อย ต้องลุ้นกันตัวโก่งว่าเจ้าสัวจะหอบเงิน 8,490 ล้านบาทไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน TRUE เพื่อรักษาสิทธิถือหุ้นเท่าเดิม (64.74%) หรือเปล่า!

เหตุการณ์วันนี้กับเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีก่อนอาจจะกลับตาลปัตรกันก็ได้ วันนั้น (ต้นปี 2552) หุ้น TRUE ราคา 1.5-1.6 บาท ขายหุ้นเพิ่มทุนราคา 1.95 บาท "รายย่อยเมิน" แต่เจ้าสัว "กว้านเข้าพอร์ต" คนเดียว (รวยเละ) วันนี้ราคาหุ้น TRUE อยู่เกือบ 6 บาท เจ้าสัวขนหุ้นมา "ลดล้างสต็อก" ถ้ารายย่อย "เฮโลซื้อ" เจ้าสัวอาจจะ "ถอย" ก็ได้นักลงทุนลงทุนเพื่อหวังกำไร แต่เจ้าสัวลงทุนด้วยเงินคนอื่นมาสร้างกำไรให้ตัวเอง เป้าหมายเดียวกันคือ "กำไร" แต่ "วิธีคิด-วิธีการ" นั้นแตกต่าง

อย่างไรก็ตาม "จุดอ่อน" สำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น มีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ "ภาระหนี้สูง" กับ "รายได้ที่เติบโตต่ำ" ณ สิ้นปี 2553 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมอยู่ในระดับที่สูงมากที่ 85.3% ในระหว่างปี 2554-2555 มีภาระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระปีละ 5,800-5,900 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 21,900 ล้านบาท ในปี 2556 และถึงกำหนดชำระ 17,300 ล้านบาท ในปี 2557 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ของทรูมูฟ

ขณะที่บริษัทมีจุดอ่อนเรื่อง "รายได้ที่เติบโตช้า" ช่วงปี 2550-2553 รายได้อยู่ที่ปีละ 60,000-65,000 ล้านบาท แทบไม่ขยับไปไหนทั้งๆ ที่บริษัทบอกว่าประสบความสำเร็จกับกลยุทธ์ "คอนเวอร์เจนซ์" แต่ต้องยอมรับว่าทรูก็มี "จุดดี" คือรายได้และอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างคงที่ (มั่นคง) ช่วยให้การคาดการณ์กระแสเงินสดในระยะปานกลางมีความแน่นอน ทริสเรทติ้งคาดว่า รายได้ของทรู คอร์ปอเรชั่น น่าจะเติบโตได้ปีละประมาณ 3-4% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ทรูมูฟยังมีความไม่ชัดเจนประเด็นข้อโต้แย้งด้านกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สถานะอันดับเครดิตองค์กรปัจจุบันของทรูที่ระดับ BBB แนวโน้ม Negative (ลบ) ทริสเรทติ้ง ระบุว่า บริษัทไม่สามารถที่จะเพิ่มภาระหนี้จำนวนมากได้อีกต่อไป หากการลงทุนดังกล่าวไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่ชัดเจนและเหมาะสมในอนาคต ได้

นี่คงเป็นเหตุผลกระมังที่ท่านเจ้าสัว "งัดไม้ตาย" ขายหุ้นเพิ่มทุนเป็น "ทางเลือกหลัก" เลือกที่จะกด ATM ถอนเงินนักลงทุนรายย่อยมา "เติมทุน" ให้กลุ่มทรู ตามสูตรลงทุนด้วยเงินคนอื่นสร้างกำไรให้ตัวเอง ถนนมีถึงพันสาย แต่ความสำเร็จมีเพียงเส้นทางเดียวคือทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า "พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นที่หุ้น TRUE"

๐ 'เจ้าสัวน้อย' รายได้ TRUE ปีนี้ 70,000 ล้านบาท

“ผมคิดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับ (ข่าวเพิ่มทุน) ในแง่บวกเร็วๆ นี้ ดีลนี้จะทำให้มาร์เก็ตแคปหุ้น TRUE เพิ่มขึ้นด้วย” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวอย่างมั่นใจ

ทายาทเจ้าสัวใหญ่ซีพี แสดงความเชื่อมั่นด้วยว่าการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จะ "ขายหมด" เนื่องจากผู้ถือหุ้นเดิมจะได้สิทธิซื้อหุ้นในราคา “ถูก” (1.95 บาท) ส่วนกลุ่มซีพีผู้ถือหุ้นใหญ่ 64.74% ส่วนตัวคงตอบแทนเขา (เจ้าสัวธนินท์) ไม่ได้ ที่ผ่านมากลุ่มซีพีให้การสนับสนุนบริษัทดีมาโดยตลอด เรื่องเพิ่มทุนตัวแทนผู้ถือหุ้นในบอร์ดก็ให้การสนับสนุน "ผมคงพูดได้แค่นี้"

แผนเร่งด่วนตอนนี้คือการเปิดบริการ 3G แบรนด์ True Move H ภายในไตรมาสสามปีนี้แต่จะเริ่มทำตลาดกับลูกค้าเดิมของฮัทช์ภายในเดือนเมษายน แต่จะไม่เลิกแบรนด์ฮัทช์ในทันทีจะทยอยย้ายฐานลูกค้า 1 ล้านรายเข้ามาสู่บริการใหม่

ส่วนแผนการขยายสถานียังคงเป็นตามเดิมคือภายในปีนี้ต้องเปิดให้ได้ 2,000 สถานี ปีหน้า 3,500 และปีถัดไป 4,500 สถานี วงเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ 15,000 ล้านบาท ตอนนี้ใช้ไปแค่ 6,700 ล้านบาท ในการซื้อกิจการฮัทช์แต่คาดว่าจะใช้ไม่หมดตามจำนวนเพราะจะเป็นการเพิ่มภาระ หนี้

นพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ชี้แจงว่า เหตุผลที่กำหนดราคาเพิ่มทุน 1.95 บาทต่ำกว่าราคาในกระดานมากเพราะมีโอกาสพบผู้ถือหุ้น TRUE ที่เป็นรายย่อยส่วนใหญ่เขาต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาเดิม เขาต้องการรักษาสัดส่วนหุ้นเดิมไว้และเชื่อมั่นว่าในธุรกิจใหม่ของเรามาก มีเพียงโบรกเกอร์บางแห่งที่ออกบทวิเคราะห์ว่าผู้ถือหุ้น "เหมือนถูกโดนบังคับ" ให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่าราคาตลาด

เหตุผลอีกข้อคือเรามีความจำเป็นต้อง "ใช้เงินลงทุนทันที" เพื่อวางโครงข่าย 3G ระบบ HSPA ที่เซ็นสัญญากับ กสท ถ้าจะเพิ่มทุนตามราคาตลาดตอนนี้ และมีส่วนลดให้ 15-20% มันต้องเริ่มกระบวนการใหม่หมดและกว่าจะได้เงินมาต้องใช้เวลา 4-5 เดือน "เวลาเราจำกัดด้วย" นี่จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ถามว่าเจ้าหนี้บีบให้เพิ่มทุนรึเปล่า! เขาตอบว่า เราตัดสินใจเองโดยไม่ต้องมีใคร (เจ้าหนี้) มาบังคับแน่นอน แม้จะไม่มีการเพิ่มทุนครั้งนี้บริษัทก็สามารถลงทุน 3G ได้อยู่แล้วธนาคาร (SCB) ก็สนับสนุนเรา

นพปฎล กล่าวว่า ผลกระทบจากการเพิ่มทุนครั้งนี้แน่นอนว่าราคาหุ้น TRUE จะเกิด Dilution Effect ประมาณ 30% แต่สิ่งที่จะได้กลับมาคือความแข็งแกร่งทางการเงิน ปัจจุบันทรูมีภาระเงินกู้ 67,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนดอกเบี้ย 6,000 ล้านบาท มีกำหนดต้องชำระคืนเงินต้นแต่ละปี 5,700 ล้านบาท มีหนี้สินต่อ EBITDA ที่ 3.3 เท่า

จุดประสงค์หลักของการเพิ่มทุนไม่ได้นำไปชำระหนี้ แต่ต้องการนำไปลงทุน 3G เป็น "อันดับแรก" แต่ถ้าได้รับเงินเพิ่มทุนเต็มจำนวน 13,000 ล้านบาท อาจนำเงินบางส่วนไป "ลดหนี้" โดยเฉพาะหนี้ในส่วนของทรูมูฟที่เป็นหุ้นกู้มูลค่า 690 ล้านดอลลาร์ มูลค่าตามสัญญา 27,000 ล้านบาท มีต้นทุนดอกเบี้ยแพงที่ 10% แต่ก็ยอมรับว่าค่อนข้างยากที่จะ "ปิดหนี้ก้อนนี้" เนื่องจากมีสภาพคล่องซื้อขายในต่างประเทศค่อนข้างสูง

ถามว่าหลังจากนี้บริษัทจะต้องมีการเพิ่มทุนอีกหรือไม่ มือการเงินกลุ่มทรู ตอบว่า "ไม่แน่" ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนได้ตามสภาวะตลาดทุน อนาคตบริษัทอาจจะลดทุนแล้วจ่ายคืนผู้ถือหุ้นเป็นเงินสดก็ได้

นพปฎล เปิดเผยว่า กลุ่มทรูกำลังมองหา “พันธมิตร” มาเสริมความแข็งแกร่งทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี แต่ตอนนี้คงไม่รีบเร่งหา Strategic Partner แล้ว ถ้าเพิ่มทุนให้พันธมิตรใหม่ผู้ถือหุ้นเดิมจะเสียเปรียบเพราะหุ้นถูกไดลูท สู้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้เลือกใช้สิทธิก่อนดีกว่า

“ถ้าเราจะเพิ่มทุนครั้งต่อไปเราจะทำเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นให้ บริษัทโตเร็วขึ้นเท่านั้น รับรองว่าภายใน 1 ปีจากนี้เรายังไม่มีการเพิ่มทุนอีก”

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการหลังควบรวมกิจการฮัทช์เข้ามาจะทำให้รายได้ใน ส่วนของทรูมูฟเพิ่มขึ้นทันที 4,000 ล้านบาท แม้ว่าฮัทช์จะขาดทุนทุกปี แต่ยังมี EBITDA เป็นบวก ช่วงแรกอาจทำให้ EBITDA Margin ส่วนของธุรกิจไร้สายลดลงไปบ้างจากปัจจุบัน 25% แต่ระยะยาวจะเริ่มดีขึ้นคาดว่าจะขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับ DTAC ที่ 40%

“รายได้รวมปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเลขตัวเดียวปลายๆ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท” มือการเงินกลุ่มทรู พยากรณ์

//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20110405/385029/%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B9-%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A7.html




 

Create Date : 06 เมษายน 2554    
Last Update : 6 เมษายน 2554 5:59:53 น.
Counter : 779 Pageviews.  

วันใหม่

เราต้องใช้ชีวิตบนคําพูด ว่า “When was the last time that you do thing for the first time” นานเท่าไรแล้วที่คุณไม่ได้ทําเรื่องอะไรใหม่เป็นครั้งแรก

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ผู้อ่านฟังคือคุณค่าของเวลา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สําคัญมากๆ แต่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ของประเทศละเลย

ถามว่าทําไมเวลาถึงสําคัญ ลองคิดในมุมนี้ครับถ้าคุณมีเงินสัก 10 ล้าน คุณสามารถซื้อเวลาสัก 1 ชั่วโมงได้ไหม ทุกคนคงมีคําตอบ นี่ทําให้เวลาเป็นทรัพยากรที่หายาก ถ้าเวลามีคุณค่าสูงทุกคนจึงควรที่จะบริหารเวลาให้เป็น

ขอยกตัวอย่างสัก 2 ตัวอย่าง

เรื่องแรกคือการประชุม การประชุมส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบที่เสียเวลา จากประสบการณ์ของผมการประชุมที่ถูกต้องน่าจะมีรูปแบบดังนี้

1. การประชุมคือการมารวมตัวกันเพื่อหาข้อสรุปที่นําไปทํางานได้ การประชุมที่มีประสิทธิภาพคือไม่ต้องมากคน ต้องมีผู้ตัดสินใจอยู่ในห้องประชุม ผู้ร่วมประชุมคือผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาให้ความเห็นในประเด็นของตนเอง การประชุมที่ไร้ประโยชน์คือการประชุมที่นําข้อมูลจากการประชุมไปเล่าต่อให้ ผู้ตัดสินใจฟัง แล้วค่อยมีการตัดสินใจ หัวใจของการประชุมต้องมี Next step ที่ชัดเจน ไม่ใช่เสียเวลาประชุมแล้วให้ประเด็นต่างๆ ลอยในอากาศ ทุกคนทําหน้างงๆ ไม่รู้ว่าจะทําอะไรต่อ
2. ก่อนการประชุมทุกคนต้องทําการบ้านมาก่อน อย่าเข้ามาประชุมแบบมือเปล่า
3. การให้ความเห็นในการประชุมต้องตรงประเด็น ชัดเจน อย่าเล่าเรื่องแบบตั้งต้นจากสนามหลวง
4. มีทักษะในการฟังความเห็นของผู้อื่น รู้จักจับประเด็น แล้วต่อเรื่องให้ถูก ตัวอย่างที่ไม่ดีในเรื่องนี้คือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่พูดกันคนละเรื่อง
5. บทบาทของประธานที่ประชุมมีความสําคัญมาก ต้องรู้จักบริหารเวลา และหาข้อสรุป เพื่อเดินหน้าต่อ เช่นเดียวกันถ้าอยากดูตัวอย่างที่ไม่ได้ความให้ดูตัวอย่างประธานสภาผู้แทน ราษฎร
6. การประชุมที่มีประสิทธิภาพต้องไม่เกินสองชั่วโมง ถ้ามากกว่านั้นเป็นการพายเรือในอ่าง ต้องเลิกประชุม แล้วต่างคนต่างไปหาข้อมูลใหม่ แล้วค่อยกลับมาประชุม
7. ข้อสุดท้ายเป็นข้อสําคัญมาก บริษัทจะเจริญรุ่งเรืองได้เกิดจากการทํางาน ไม่ใช่การประชุม

เรื่องที่สองคือการใช้เวลาแบบคิดแล้วทําเลย จะทําให้คุณบริหารเวลาได้ดีเยี่ยม จนถึงขนาดว่าคุณมีเวลาเหลือเฟือ

ผมเห็นผู้คนจํานวนหนึ่งที่คิดแล้วไม่ทําเลย ทําให้งานติดขัด และต้องทําอะไรซ้ําไปซ้ํามา ตัวอย่างเช่น ถ้าผมไปงานเลี้ยงแล้วเกิดไปพบคุณ A แล้วคุณ A บอกว่าอยากจะนัดหมายผมไปคุยเรื่องงานในอีกหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้า ผมบอกว่าถ้าอย่างนั้นนัดหมายกันเลยดีไหม คุณ A บอกว่าให้ผมไปนัดหมายอีกครั้งหนึ่งกับเลขาของเขา

เชื่อไหมครับกว่าผมจะนัดหมายคุณ A ได้มันจะเกินเวลาหนึ่งอาทิตย์

ถ้าวันนั้นที่ผมเจอคุณ A ในงานเลี้ยงต่างคนต่างควักสมุดนัดแล้วทําการนัดหมายเลยจะทําให้ผมไม่ต้องโทร ศัพท์ซ้ําแล้วซ้ําเล่าไปนัดหมายผ่านเลขาของคุณ A

ในชีวิตจริงผมใช้หลักการคิดแล้วทําเลย ทําให้ผมมีเวลามากกว่าคนอื่นมากต่อมาก

ลองไปใช้ดูซิครับ แล้วจะติดใจ

ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/prasert_blacksheep/20110329/384236/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.html




 

Create Date : 31 มีนาคม 2554    
Last Update : 31 มีนาคม 2554 1:17:44 น.
Counter : 431 Pageviews.  

คุณสมบัติเซียน

การที่จะเป็นนักลงทุนที่ยอดเยี่ยมได้นั้น เราควรจะต้องศึกษาดูว่านักลงทุนระดับโลกหรือนักลงทุนใน “ตำนาน” ส่วนใหญ่เขามีคุณสมบัติ

หรือแนวความคิดอย่างไร ต่อการลงทุน เพื่อที่ว่าเราจะได้เอาอย่างเขาบ้าง และต่อไปนี้ คือ คุณสมบัติหรือมุมมอง “ร่วม” ที่นักลงทุนเอกของโลกมี

ข้อแรกที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ก็คือ ทุกคนวิเคราะห์หรือมองตัวธุรกิจเป็นหลัก ไม่ได้ “วิเคราะห์หลักทรัพย์หรือหุ้น” ความแตกต่างของสองเรื่องนี้ ก็คือ เซียนนั้น จะวิเคราะห์ว่าธุรกิจมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร แข่งขันกันอย่างไร ทำกำไรอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงของธุรกิจอยู่ที่ไหน ในขณะที่การวิเคราะห์หุ้นหรือหลักทรัพย์นั้น อาจจะเน้นไปที่เรื่องของความเป็นไปได้ของเหตุการณ์บางอย่าง โอกาส ผลประกอบการระยะสั้น ถ้าจะพูดถึงความเสี่ยงก็อาจจะเน้นไปที่เรื่องของความผันผวนของกิจการหรือตัว หุ้นมากกว่า

ข้อสอง เซียนนั้นมักมีวิธีการหรือแนวทางการลงทุนของตนเองที่มั่นคงแน่นอน เรียกว่ามี “สไตล์” เป็นของตนเอง พวกเขาไม่เปลี่ยนไปมา กลยุทธ์หรือแนวทางการลงทุนของพวกเขานั้นมักจะเหมือนเดิมยาวนานเป็นทศวรรษ หรือบางคนก็ตลอดชีวิต ในบางช่วงบางตอนกลยุทธ์หรือแนวทางการลงทุนของเขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จนัก อาจจะเนื่องด้วยภาวะของตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อกลยุทธ์นั้น แต่พวกเขาก็มักไม่เปลี่ยนวิธีการเพื่อที่จะให้ “สอดคล้อง” กับสถานการณ์ พวกเขายึดมั่นกับสิ่งที่เขารู้และเข้าใจดีที่สุด เพราะเขาคิดว่า ในระยะยาวแล้ว นั่นคือวิธีการที่ให้ผลดีที่สุดกับการลงทุนของเขา ตัวอย่างก็เช่นในยุคที่หุ้นดอทคอมและหุ้นไฮเทครุ่งเรืองมากนั้น แนวทางและผลการลงทุนของบัฟเฟตต์ดูด้อยลงไปเมื่อเทียบกับเซียนที่เน้นแนวการ ลงทุนที่หวือหวา อย่างไรก็ตาม หลังจาก “ฟองสบู่” หุ้นไฮเทคแตก แนวทางของบัฟเฟตต์ก็กลับมาได้รับการยอมรับเช่นเดิม

ข้อสาม เซียนนั้นมักมีหลักการลงทุนที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย พวกเขาไม่มีสูตรหรือสมการหรือชื่อเรียกที่ต้องใช้แทนด้วยอักษรภาษากรีก ว่าที่จริงหลายคนอาจจะไม่ทำประมาณการกำไรหรือคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทใน อนาคตด้วยซ้ำ ความซับซ้อนของตัวเลขถ้าจะมีก็คงเป็นแค่การบวก ลบ คูณ หาร ถ้าจะสรุป ก็คือ หลักการลงทุนของเหล่าเซียนนั้น มักจะสามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ และการทำงานก็อาจจะใช้แค่เครื่องคิดเลขธรรมดาหรือไม่ก็ “คิดในใจ” ได้

ข้อสี่ การควบคุมอารมณ์ การมีวินัยในการลงทุน และความกล้าหาญหรือความกลัวในเวลาที่ถูกต้อง เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่เซียนหุ้นทุกคนมี เซียนหุ้นมักไม่ตื่นเต้นหรือกลัวเกินกว่าเหตุเวลาประสบกับสถานการณ์ที่ตลาด หุ้นหรือหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มร้อนแรงมาก หรือประสบกับภาวะวิกฤติที่ผู้คนต่างพยายาม “หนีตาย” จากเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงอย่างที่ถูก “สื่อ” ออกมาในโลกของการสื่อสารเช่นในปัจจุบัน พูดง่ายๆ เซียนนั้นมีจิตใจที่สงบและมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ความอดทนและอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากที่ทำให้เซียน ไม่ออกนอกแนว หรือกรอบความเชี่ยวชาญของตน

ข้อห้า เซียนนั้น มักเป็น Loner หรือเป็นคนที่ชอบอยู่สันโดษคนเดียวในแง่ของการลงทุน นี่ไม่ได้หมายความว่าเซียนจะไม่คุยกับนักลงทุนคนอื่นหรือไม่ปรึกษาว่าหุ้น ตัวไหนน่าลงทุน แต่เซียนมักเป็นคนที่มีความเป็นอิสระสูงในการคิดและตัดสินใจลงทุน พวกเขามีเหตุผลและความเชื่อของตนเองที่มักจะไม่ถูกชี้นำหรือชักจูงโดยคน อื่น ว่าที่จริงเซียนบางคนอย่าง จอห์น เนฟฟ์ นั้นชอบ “ทะเลาะ” ว่ากันว่า ในตอนที่เป็นเด็กนั้น เขาแทบจะ “ทะเลาะกับเสาไฟฟ้า” พอโตขึ้นก็ “ทะเลาะกับตลาดหุ้น” แต่สาเหตุที่ทำให้พวกเขาสามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตน เองนั้น เป็นเพราะพวกเขาได้ศึกษาและผ่านประสบการณ์มามาก

ข้อหก เซียนนั้นเรียนรู้ความผิดพลาดของตนเองอยู่เสมอ เช่นเดียวกัน พวกเขาเรียนรู้ความผิดพลาดจากคนอื่นด้วย ซึ่งทำให้เขา “เจ็บตัว” น้อยลง การเรียนรู้ความผิดพลาดจากคนอื่นนั้น แน่นอน ต้องศึกษาจากประวัติศาสตร์ ดังนั้น พวกเขาจึงมักเป็นนักอ่านตัวยง โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์หลายๆ แขนง เช่น ประวัติศาสตร์บุคคล เศรษฐกิจ ตลาดหุ้นและอื่นๆ

ข้อเจ็ด เซียนบางคนนั้น หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นคนที่กล้าอย่างบ้าบิ่น หรืออย่างน้อยก็ต้องกล้ากว่าปกติในการรับความเสี่ยง แต่ข้อเท็จจริง ก็คือ เซียนตัวจริงทั้งหลายนั้นมักจะกล้าเสี่ยงอย่างมีเหตุผลและไม่ว่าในกรณีใด จะไม่เสี่ยงเกินไปแม้ว่าโอกาสในการที่จะชนะจะสูงกว่ามาก พวกเขารู้ว่า ความผิดพลาดและโชคร้ายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น การเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ คือ สิ่งที่จะรับประกันว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ คำว่ากล้าเสี่ยงอย่างมีเหตุผลนั้น ถ้ามองในภาพกว้าง ก็คือ เขาจะเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ เช่น ต้องมีการกระจายการถือหุ้นในระดับหนึ่งไม่ใช่ลงทุนหุ้นเพียงตัวหรือสองตัว หรือตัวเดียวเกินกว่า 50% ของพอร์ต แต่พวกเขาก็จะไม่กระจายความเสี่ยงมากเกินไป เพราะการทำแบบนั้นถึงแม้จะดูว่าความเสี่ยงลดลงแต่ผลการลงทุนก็จะแย่ไปด้วย

ข้อแปด เซียนนั้น “ทำงานหนัก” เซียนทุกคนต่างก็ทำงานมากโดยเฉพาะในการอ่านและคิด และสิ่งที่อ่านและคิดของพวกเขานั้น สุดท้ายก็อาจจะเชื่อมโยงไปสู่การลงทุน เซียนที่เป็นนักบริหารกองทุนรวมนั้น แน่นอน พวกเขายุ่งมากกับงานการลงทุน เวลาว่างของพวกเขาน้อยมากและคนทั่วไปก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นเซียนที่ทำ งานหนักมาก อย่างไรก็ตาม เซียนที่บริหารเงินของตนเองอย่างบัฟเฟตต์นั้น หลายคนก็จะมองว่าเขาไม่ได้ทำงานหนักอะไรนักหนา เลิกงานห้าหกโมงเย็นก็กลับบ้านแล้ว ไม่มีการขนงานกลับไปทำที่บ้าน เวลาของเขานั้นมีเหลือเฟือตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่นั่นคือ สิ่งที่ปรากฏจากการมองภายนอก ข้อเท็จจริง ก็คือ เขาใช้เวลาอ่านมากมาย และคนที่อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้เท่าเขานั้นผมคิดว่ามีน้อย มาก ว่าที่จริง แม้แต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง เช่น เรื่องของสังคมและการใช้ชีวิต เขาก็มีความรอบรู้ไม่น้อยทีเดียว เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้แสดงออกมามากนัก

ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงบางส่วนของคุณสมบัติที่เซียนส่วนใหญ่หรือเกือบทุกคนมี และผมเชื่อว่าคนที่อยากจะเป็นเซียนหรืออยากจะประสบความสำเร็จในการลงทุนจำ เป็นต้องมี ดีกรีหรือระดับความเข้มข้นของแต่ละคุณสมบัติของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากันขึ้น อยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างรวมถึงจิตวิทยาหรือนิสัยส่วนตัวและสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายิ่งเราปรับตัวเข้าหานิสัยเซียนได้มากขึ้น เราก็น่าจะลงทุนได้ดีขึ้น

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/nives/20110329/384119/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99.html




 

Create Date : 30 มีนาคม 2554    
Last Update : 30 มีนาคม 2554 1:35:06 น.
Counter : 525 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.