In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

วางแผนเงินออม รับมือสถาบันประกันเงินฝาก

หลายท่านคงเคยได้ยินว่า “สถาบันประกันเงินฝาก” ได้ถูกจัดตั้งขึ้นแล้วในบ้านเรา คำถามที่ตามมาคือ ท่านผู้มีเงินออมควรจะเตรียมตัววางแผนการเงินกันอย่างไร

“สถาบันประกันเงินฝาก” เป็นแนวคิดของภาครัฐในการนำระบบประกันเงินฝากแบบจำกัดวงเงินมาใช้แทนการคุ้มครองจากภาครัฐ โดยผลดีคือจะช่วยเสริมความมั่นคงในระบบสถาบันการเงินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อจะรัดกุม ทั้งนี้หากมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก แล้วภาระการประกันเงินฝากก็จะเป็นหน้าที่ของสถาบันประกันเงินฝากเพียงตามจำนวนวงเงินที่กำหนดไว้
สถาบันประกันเงินฝากจะไม่ค้ำประกันเงินฝากของสถาบันการเงินเต็มทั้งจำนวนเหมือนในปัจจุบัน แต่การคุ้มครองจะคุ้มครองต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงินแต่ละแห่งตามจำนวนที่ฝากไว้ แต่ไม่เกินจำนวนดังนี้

ในบ้านเรามีเงินฝากของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มียอดเงินฝากตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2550 ถึงประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่จำนวนบัญชีเงินฝาก ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ฝากเงินที่มียอดเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.75 ของบัญชีเงินฝากรวมเลยทีเดียว (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2549 ที่ผ่านมา) ทั้งนี้การตั้งวงเงินคุ้มครองสูงสุดไว้ที่ 1 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมผู้ฝากรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ในระบบนั่นเอง

การกำหนดวงเงินค้ำประกันเงินฝากของสถาบันประกันเงินฝาก จะช่วยให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และยังทำให้ผู้ฝากเงินใส่ใจศึกษาข้อมูลผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่จะใช้บริการมากขึ้นด้วย

การเปลี่ยนแปลงเรื่องการค้ำประกันเงินฝากที่เกิดขึ้น อาจทำให้ผู้มีเงินออมต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริหารเงินออม ความหลากหลายของกองทุนรวมจึงน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุน ในการเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนพิจารณากระจายการลงทุนไปยังช่องทางต่างๆ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงในระดับที่แต่ละท่านรับได้

ในต่างประเทศที่มีการใช้ระบบนี้ผ่านสถาบันประกันเงินฝากกันมานานแล้ว ประชาชนมีการบริหารเงินออมเงินลงทุนของตนในรูปแบบที่หลากหลายขึ้นมากกว่าการฝากเงิน ตัวอย่างหนึ่งเช่น ในสหรัฐ พบว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา การลงทุนในกองทุนรวมได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นมาก

ตัวอย่างเช่น จากสถิติในช่วงไตรมาสแรกของปี 2008 รูปแบบการลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้ยามเกษียณอายุของคนอเมริกัน หรือที่เรียกว่า Individual Retirement Account (IRA) มีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ลงทุนในกองทุนรวมกว่า 47% คิดเป็นเงินกว่า 2.1 หมื่นเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นจาก 22% เมื่อปี 1990) 8% ลงทุนในเงินฝาก (ลดลงจาก 42% เมื่อปี 1990) 7% เป็นการทำประกันชีวิต และ 38% ลงทุนในหลักทรัพย์โดยตรง

โดยเป็นการลงทุนในกองทุนตราสารทุน 61% กองทุนตราสารหนี้ 11% กองทุนตลาดเงิน 13% และการลงทุนแบบผสม 15% (แหล่งข้อมูล Investment Company Institute, U.S.A.)
ปัจจุบันมีช่องทางการลงทุนที่หลากหลายที่สามารถทำให้เม็ดเงินงอกเงยได้มากกว่าการออม โดยฝากเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียว ปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้จึงอาจจะลองเตรียมลู่ทางใหม่ๆ ไว้มากขึ้น สำหรับท่านที่ชอบวางแผนรับการเปลี่ยนแปลงค่ะ

รายงานโดย :บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต
//www.posttoday.com/stockmarket.php?id=26384




 

Create Date : 06 มกราคม 2552    
Last Update : 6 มกราคม 2552 14:21:13 น.
Counter : 697 Pageviews.  

ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน..บทเรียนจากออสซี่-กีวีบอนด์

ช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ฟีเวอร์ขึ้นในธุรกิจกองทุนรวมของไทย เมื่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างพาเหรดติดปีกพานักลงทุนไทยไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ไม่ว่าจะเป็น “กิมจิบอนด์” ที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเงินลงทุนที่มากที่สุดประมาณ 90% ส่วนที่เหลือก็จะเป็น “ออสซี่บอนด์” ที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเทศออสเตรเลีย รวมทั้ง “กีวีบอนด์” ที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถือเป็น 3 ประเทศหลักที่เป็นเป้าหมายของเงินลงทุนทั่วโลกจากอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงในขณะนั้น


ทั้งนี้ได้แปลงมาเป็นจุดขายที่สำคัญ ในเรื่องของผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทยเอง

โดยเฉพาะการไปลงทุนใน “ออสซี่บอนด์” และ “กีวีบอนด์” ที่มีอัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 5-6%

แต่ไม่มีการปิด “ความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk)” เอาไว้ จึงเป็นผลตอบแทนที่ยังไม่ได้รวมเอา “กำไร/ขาดทุน” จากอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ ในขณะที่ “กิมจิบอนด์” ส่วนใหญ่ที่ บลจ.ออกขายจะมีการปิดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ทั้งหมด

เมื่อสถานการณ์ในตลาดเงินตลาดทุนของโลกเปลี่ยนแปลงไป มีความต้องการเม็ดเงินลงทุนกลับสหรัฐเพื่อไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “เกาหลีใต้” “ออสเตรเลีย” “นิวซีแลนด์” จึงเป็น 3 ประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลออกไปมากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน จนส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของทั้ง 3 ประเทศ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอย่าง “รวดเร็ว” และ “รุนแรง”

โดยค่าเงินออสเตรเลียอ่อนค่าลงตั้งแต่สิ้นปี 2550-4 ธ.ค.2551 26.68% ค่าเงินนิวซีแลนด์อ่อนค่าลง 30.63% และค่าเงินเกาหลีใต้อ่อนค่าลง 36.71%

กองทุนตราสารหนี้ที่ไปลงทุนในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ จะมีการปิดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลงสักเท่าไรนัก แต่ถ้าจะมีความเสี่ยงก็คงจะเป็นความเสี่ยงจากนโยบายของภาครัฐมากกว่า ในกรณีที่มีการควบคุมเงินทุนไหลออกนอกประเทศเช่นที่ประเทศไทยได้เคยนำมาใช้แล้วในอดีต

ส่วนผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนกลับปรากฏอยู่ที่กองทุนตราสารหนี้ที่ไปลงทุนใน “ออสซี่บอนด์” และ “กีวีบอนด์” ซึ่งมีการเปิดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ โดยผลตอบแทนของกองทุนที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ของทั้ง 2 ประเทศ (ณ สิ้นเดือนพ.ย.2551) ย้อนหลัง 3 เดือน มีผลตอบแทนติดลบตั้งแต่ 15.56-21.30% ย้อนหลัง 6 เดือน ให้ผลตอบแทนติดลบ 18.67-24.52%

กองทุนเหล่านี้จะเริ่มทยอยครบกำหนดอายุตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค. 2552 แล้วแต่กองทุน ที่จะต้องลุ้นให้ค่าเงินออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับมาแข็งค่าขึ้นให้ได้มากที่สุด ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของกองทุนนี้

ในส่วนของกองทุนที่อายุโครงการครบกำหนดก่อน ก็จะมีเวลาลุ้นน้อยลงไปตามลำดับ ซึ่งอนาคตผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจจะเปลี่ยนมาเป็นผลกำไรในช่วงที่เหลืออยู่ก็ได้ ตราบเท่าที่ยังไม่สิ้นสุดอายุโครงการทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

แม้จะมีการมองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังปี 2552 ไปน่าจะมีแนวโน้มที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลก แต่คำถามคือ ปัจจัยพื้นฐานของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยังคงเหมือนเดิม ที่จะส่งผลให้ค่าเงินของตัวเองแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐได้มากขนาดไหนในปัจจุบัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยของทั้ง 2 ประเทศก็ไม่ได้สูงเหมือนในอดีตอีกแล้วเช่นนี้

“สำหรับนักลงทุนไทยน่าจะได้บทเรียนจากการไปลงทุนในตราสารหนี้โดยไม่ปิดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้เป็นอย่างดี เพราะผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่คุ้มเสีย

ด้วยผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ได้ในระดับ 7-8% กับความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เคลื่อนไหวผันผวนไม่ต่างจากหุ้นเช่นนี้ ช่วงเวลาที่เหลืออยู่นักลงทุนที่ลงทุนก็คงต้องติดตามลุ้นกันต่อไป”

ส่วนของ บลจ.ที่นำเสนอขายโปรดักท์ในลักษณะนี้เอง ก็คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้เช่นเดียวกัน แม้ บลจ.จะอ้างว่าได้เปิดเผยข้อมูลและความเสี่ยงทั้งหมดที่มีอยู่ให้ลูกค้ารับรู้หมดแล้วก็ตาม การตัดสินใจลงทุนหรือไม่เป็นเรื่องของผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตาม การที่ บลจ.เสนอขายโปรดักท์ในลักษณะนี้ให้กับลูกค้าในวันนั้นย่อมต้องมีความมั่นใจ หรือมีมุมมองต่อการลงทุนของตัวเองด้วยในระดับหนึ่ง หากไม่มั่นใจย่อมจะไม่นำมาเสนอขาย

ณ วันนั้น บลจ.มีมุมมองในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างไรเพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจจนนำมาสู่การตัดสินใจในการลงทุน บลจ.จึงได้เปิดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตัว บลจ.คงต้องย้อนกลับมามองดูตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน

จากข้อมูลที่ได้รับในการเลือกไม่ปิดความเสี่ยงเหตุผลหนึ่งก็คือ มีต้นทุนสูงซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับเหลือน้อยมาก การเปิดความเสี่ยงไว้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนมากกว่าเพราะเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ น่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่ไปลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนมากกว่า

“ความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นกับเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยในตอนนี้ เป็นผลที่เกิดจากการตัดสินใจของนักลงทุนเพียงฝ่ายเดียว หรือเกิดจากมุมมองที่ผิดพลาดหรือเป็นความประมาทของ บลจ.ในการนำเสนอโปรดักท์ให้กับนักลงทุนด้วยหรือไม่

เพราะบทเรียนที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน ทั้ง บลจ. ทั้งนักลงทุน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้เกิดการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมกองทุนรวมต่อไป”

บทเรียนหนึ่งที่นักลงทุนไทยน่าจะได้ประจักษ์ คือผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากการไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ตราสารหนี้” ซึ่งต่อไปนักลงทุนคงต้องตามไปดูแบบเจาะลึกว่ากองทุนที่จะไปลงทุนนั้น มีการปิดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้หรือไม่ ปิดความเสี่ยงในสกุลเงินอะไร ถ้

าจะไม่เสี่ยงเลยก็ต้องปิดความเสี่ยงทั้งหมดใน “สกุลเงินบาท” ทั้ง 100% แต่ถ้าปิดความเสี่ยง 100% ในสกุลเงินอื่น ผู้ลงทุนก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอยู่นั่นเอง

ดังนั้น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรจะสนใจเมื่อจะต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนใช่ว่าจะไม่เสี่ยง หากไม่ได้ปิดในสกุลเงินบาททั้งหมด

ตรงนี้นักลงทุนคงต้องสนใจมากขึ้นหากจะไปลงทุนในต่างประเทศในอนาคต




 

Create Date : 03 มกราคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2552 15:20:21 น.
Counter : 586 Pageviews.  

พร้อมหรือยัง... "ออม"..ก่อนซื้อบ้าน

"บ้าน" เป็นทรัพย์ชิ้นใหญ่ บางคนเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อให้ได้บ้านสักหลัง แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า.. จำเป็นแค่ไหนสำหรับการออมก่อนซื้อบ้าน!

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : โดยทั่วไปเวลาจะซื้ออะไรเรามักออมก่อนแล้วค่อยซื้อ ยกเว้น..บ้านที่ยอมกู้เงินเพื่อซื้อ เพราะหากรอออมให้ได้เงินครบก่อนซื้อคงยาก เพราะราคาบ้านอาจเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็อดซื้อจนได้!

สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนการซื้อบ้าน จึงขึ้นอยู่ว่าคุณพร้อมแค่ไหนเมื่อคิดจะซื้อบ้าน ในมุมผู้เขียนขอแนะนำว่า สิ่งที่จะช่วยคุณได้ คือการออมให้มากที่สุด เพราะกำแพงขวางกั้นการออมไม่ใช่เรื่องรายได้น้อย แต่เป็นวินัยการใช้เงินต่างหาก

เริ่มต้นจำกัดเงินจำนวนหนึ่งแม้ไม่มาก เก็บโดยฝากไว้กับธนาคารให้ผลตอบแทนมากที่สุด เพราะไม่มีการเงินรูปแบบใด ช่วยให้คุณนอนหลับสบายได้ในยามค่ำคืน เท่ากับการออมเงินไว้เผื่อใช้กรณีฉุกเฉิน หรือในยามที่คุณเดือดร้อน

นอกจาก เตรียมความพร้อม สำรวจเงินในกระเป๋าตนเองแล้ว การซื้อบ้าน หรือที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน มีแพ็คเกจที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งต่างคิดนวัตกรรมออกมาให้เลือกมากมาย และการเลือกอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะการเลือกอัตราดอกเบี้ยประเภทไหน รูปแบบใดต่างมีข้อดี-ข้อเสีย ทั้งนั้น

การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ในบ้านเราไทยมีอยู่ 3 ประเภท คือ

(1) สินเชื่อมาตรฐาน ชนิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ... สินเชื่อชนิดนี้ อัตราดอกเบี้ยไม่คงที่ตลอดสัญญาการกู้ ซึ่งวางไว้สูงสุด 30 ปี

ข้อดี คือ หากอัตราดอกเบี้ยลดลง ยอดการชำระคืนเงินกู้ก็จะลดตาม, สามารถชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดได้ ส่วนจะเสียค่าปรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแบงก์, สามารถปรับสินเชื่อให้เหมาะสมกับสภาวะดอกเบี้ยขาลงในตลาด

ข้อเสีย คือ หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ยอดการชำระคืนเงินกู้ของคุณ ก็จะสูงตามจึงไม่เหมาะสำหรับช่วงที่แนวโน้มดอกเบี้ยสูง

(2) สินเชื่อ ชนิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ อัตราดอกเบี้ยจะคงที่ในช่วงเวลาตามข้อตกลงในเงื่อนไข หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัญญา

ข้อดี คือ หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ยอดการชำระคืนเงินกู้ของคุณจะไม่สูงขึ้นตามไปด้วย เหมาะกับสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด

ข้อเสีย คือ กรณีที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลง ยอดการชำระคืนเงินกู้ของคุณ จะไม่ต่ำลงตามไปด้วย ไม่มีความยืดหยุ่นมากนัก

(3) สินเชื่อ ชนิดแบบผสม สินเชื่อชนิดนี้ โดยมากจะเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรกเพื่อดึงดูดลูกค้า หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะเปลี่ยนเป็นดอกเบี้ยลอยตัวไปตลอดสัญญา หลายสถาบันการเงินนำมาใช้

ตลาดสินเชื่อชนิดแบบผสมนี้ เป็นการ Co-Promotion กับเจ้าของโครงการ มีความแตกต่างกันไป เช่น แพ็คเกจอยู่ฟรี หรือผ่อนทั้งต้นทั้งดอก 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ย 1.99 %ในปีแรก (ปกติ 2%) หลังจากนั้นเป็นดอกเบี้ยลอยตัว MLR (-)+ โดยส่วนผู้ประกอบการจะเป็นคนรับส่วนต่างดอกเบี้ยแทน

ข้อดี คือ โดยมากจะเป็นข้อเสนอที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดในช่วงแรก หากการชำระคืนเงินกู้อยู่ในช่วงที่ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรก จะสามารถลดเงินต้นลงได้อย่างรวดเร็ว

ข้อเสียคือ ยอดการชำระคืนเงินกู้จะเพิ่มขึ้นหลังจากใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว




 

Create Date : 02 มกราคม 2552    
Last Update : 2 มกราคม 2552 13:08:17 น.
Counter : 483 Pageviews.  

เก่งหรือเฮง

บทความฉบับที่แล้วกล่าวถึงหนังสือ Fooled by Ramdomness เขียนโดยนาซิม นิโคลัส ทาเล็บ (Nassim Nicholas Taleb) ในเรื่องของความบังเอิญในการทำกำไรจากการลงทุน

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : มีนักลงทุนจำนวนมากประสบความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดหุ้นมาเป็นเวลานานหลายปี จนคิดว่ามาจาก "ฝีมือ" ของตนเอง แต่ความจริงแล้วเขาเหล่านั้นอาจเพียงแค่ "โชคดี" ก็ได้


ในหนังสือดังกล่าวได้เขียนเอาไว้ถึงอุปนิสัยของนักลงทุนที่รวยด้วยโชคแต่ต้องหมดตัวในเวลาต่อมาไว้ดังนี้

(1) ตั้งเป้าว่าความเชื่อของตนมีความถูกต้องมากเกินไป พวกเขาไม่เคยมองถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการซื้อขายโดยการอิงจากตัวแปรทางเศรษฐกิจที่เคยใช้ได้ผลในอดีตอาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญเท่านั้น ที่แย่กว่านั้นการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจอาจเป็นการปกปิดความบังเอิญที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้

ในช่วงต้นยุค 1980 เงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินจริง นักค้าเงินซึ่งใช้สัญชาตญาณทางเศรษฐกิจเพื่อทำการซื้อขายเงินสกุลต่างประเทศแต่จบเห่ไปตามๆ กัน แต่ต่อมาคนที่ทำแบบเดียวกันกลับรวยขึ้น นี่เป็นเรื่องของความบังเอิญ เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ใครที่พยายามช้อนซื้อหุ้นระยะสั้นของญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ก็เจอโชคร้ายแบบเดียวกัน ต่อมามีไม่กี่คนเท่านั้นที่เอาตัวรอดจนสามารถหักกลบลบหนี้ของตนได้หลังจากที่ต้องเจอกับสภาพตลาดพังในช่วงทศวรรษ 1990 อีกครั้ง

ในช่วงที่เขียนหนังสือเล่มนี้ มีกลุ่มนักค้าหุ้นที่เรียกกันว่า "มหภาค" กำลังร่วงเหมือนแมลงวันอยู่ และมีนักลงทุนระดับตำนาน (ที่จริงต้องเรียกว่าโชคดีมากกว่า) อย่างจูเลียน โรเบิร์ตสันต้องพับฐานไปในปี 2000 หลังจากที่เป็นดาวดวงเด่นมานาน สิ่งที่เห็นได้ชัดไม่มีอะไรขาดความแม่นยำไปกว่าการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจเพื่อซื้อขายหุ้นหรือพันธบัตรอีกแล้ว

(2) มีแนวโน้มที่จะพยายามเปลี่ยนเรื่อง เมื่อนักเล่นหุ้นเริ่มขาดทุน พวกเขาจะกลายเป็นนักลงทุน "ระยะยาว" จากนั้นก็มีการเปลี่ยนสภาพกลับไปกลับมาระหว่างนักเล่นหุ้นกับนักลงทุนเพื่อทำให้สอดคล้องกับชะตาที่พลิกผันของตนเอง การลงทุนในระยะยาวไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เราต้องไม่นำไปสับสนปนเปกับการซื้อขายในระยะสั้น ผู้คนจำนวนมากกลายเป็นนักลงทุนระยะยาวหลังจากที่เขาเริ่มขาดทุน พวกเขาพยายามผัดผ่อนการตัดสินใจขายหุ้นทิ้งออกไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิเสธความจริง

(3) ไม่มีแผนงานล่วงหน้าว่าจะทำอะไรเมื่อเกิดขาดทุนขึ้นมา พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว คนจำนวนมากซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นหลังจากที่ตลาดตกลงอย่างหนัก แต่ไม่ใช่การซื้อที่สอดคล้องกับแผนงานที่วางเอาไว้ล่วงหน้า

(4) ขาดการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว ส่วนมากเนื่องมาจากขาดการทบทวนสภาพเพื่อ "หยุดยั้งภาวะขาดทุน" นักเล่นหุ้นไม่ชอบขายในตอนที่ "เคยมีราคาดีกว่านี้" พวกเขาไม่เคยมองว่าบางทีวิธีการในการจำแนกมูลค่าของพวกเขาอาจจะผิดก็ได้ แต่พยายามมองว่าการที่ตลาดตกสอดคล้องกับวิธีการวัดมูลค่าของพวกเขาแล้ว พวกเขาอาจคิดถูกก็เป็นได้ แต่ทว่าพวกเขาไม่ได้เตรียมเงินส่วนหนึ่งเอาไว้รับมือกับความเป็นไปได้ที่วิธีการของพวกเขาอาจมีข้อบกพร่อง

(5) ปฏิเสธความจริง เมื่อมีการขาดทุนเกิดขึ้น พวกเขาไม่สามารถยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ราคาหุ้นที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอสูญเสียความเป็นจริงไปแล้วถูกแทนที่ด้วย "มูลค่า" ที่เป็นนามธรรม นี่เป็นรูปแบบปฏิเสธความจริงปกติทั่วไป พวกเขาบอกตัวเองว่า "นี่เป็นผลมาจากการจ่ายชำระหนี้ปกติ หรือยอดขายลดลงชั่วคราวเท่านั้นเอง" พวกเขาปฏิเสธข่าวสารที่มาจากข้อเท็จจริงอยู่ตลอดเวลา

ทำไมนักเล่นหุ้นที่ทำผิดพลาดจึงกลายมาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ สาเหตุมาจากหลักการง่ายๆ ของความบังเอิญนั่นเอง เรามองว่าพวกเขาเก่ง แต่ทว่าใครๆ ก็สามารถทำเงินจากตลาดการเงินอันเป็นผลมาจากความบังเอิญล้วนๆ ได้




 

Create Date : 01 มกราคม 2552    
Last Update : 1 มกราคม 2552 22:56:47 น.
Counter : 555 Pageviews.  

ฝึกเงินให้ทำงาน

เมื่อวันอาทิตย์ผมชวนครอบครัววิ่งออกกำลังกายตอนเช้าได้สำเร็จ โดยใช้กุศโลบายว่าจะวิ่งไปถึงร้านเซเว่นฯ ที่ปากซอย เด็กๆ จึงมีกำลังใจยอมออกไปวิ่งด้วยกัน ปรากฏว่าคนที่ซื้อของมากกว่าเพื่อนคือตัวผมเอง ในหมู่ของที่ซื้อนั้นมีวีซีดีหนังการ์ตูนอยู่แผ่นหนึ่ง คือ ไอน์ส

ในเช้าวันคริสต์มาสเด็กน้อยทั้งหลายพากันชื่นชมยินดีที่ได้รับของขวัญจากซานตาคลอส เป็นกล่องของขวัญวิเศษที่จะเนรมิตของขวัญตามจิตอธิษฐานของเจ้าของ.. แต่ปรากฏว่าของขวัญขาดไปชิ้นหนึ่งสำหรับแอนนี่น้องน้อยคนเล็ก เด็กๆ สันนิษฐานว่า ของขวัญกล่องนั้นคงหล่นจากรถลากเลื่อนของซานตาคลอส ในระหว่างที่ท่านเดินทางมอบของขวัญให้เด็กๆ ไปทั่วโลก เพื่อนๆ แสนสงสารน้องเล็กจึงชวนกันออกเดินทางผจญภัยร่วมกันในภารกิจค้นหากล่องของขวัญใบนั้นกันอย่างเอาจริงเอาจัง
การจะได้ชื่นชมยินดีในของขวัญนั้นต้องประกอบด้วยงานในส่วนของผู้ให้และงานในส่วนของผู้รับ แม้ผู้ให้ได้ยื่นส่งของมาแล้ว ผู้รับก็ต้องมีความยินดีที่จะออกแรงยื่นมือออกไปรับด้วย ถ้าหากเด็กๆ เหล่านั้นไม่เห็นความสำคัญกับกล่องของขวัญที่หายไป หรือ ท้อถอยไม่พยายามค้นหา ก็คงได้แต่เศร้าสร้อย อดชื่นชมยินดีกับของขวัญนั้นไป แต่เด็กๆ เป็นตัวอย่างของผู้รับที่ดีที่มีความพยายามในการรับของขวัญ พวกเขามีความพยายาม ร่วมแรงร่วมใจกันออกเดินทางค้นหา จนพบของขวัญวิเศษและได้รับความชื่นชมยินดีอย่างมากมายในที่สุด

สิทธิการลงทุนใน LTF และ RMF แล้วได้ลดหย่อนภาษีสูงสุดถึงอย่างละ 7 แสนบาท เป็นของขวัญที่เราได้รับจากกรมสรรพากรในปีนี้เป็นพิเศษ แต่ไม่มีใครเอาเงินมายัดใส่กระเป๋าของเราหรอกนะครับ เราต้องยื่นมือออกไปรับครับ เราต้องลงมือใช้สิทธิลงทุน จึงจะได้รับประโยชน์จากภาษีที่ลดลงนั้น

ผมอยากชวนท่านที่กับลังเลในการที่ใช้สิทธิใน RMF และ LTF ให้ลองคิดพิจารณาดูอีกสักครั้ง โดยขออนุญาตยกข้ออ้างสำคัญ 3 อันในการไม่ใช้สิทธิดังต่อไปนี้ครับ

ข้ออ้างที่ทำให้คนคิดจะสละสิทธิ์การลงทุนใน RMF และ LTF
ข้ออ้าง#1 ไม่ลงทุนใน LTF เพราะกลัวขาดทุน เพราะปีนี้ขาดทุนมามากแล้ว มากเสียยิ่งกว่าภาษีที่ประหยัดได้

ข้อหักล้าง : จริงอยู่ที่ LTF ทั่วไปนั้นผันผวนเพราะเป็นกองทุนหุ้น จึงมีลักษณะที่ผันผวนตามไปด้วย และไม่มีใครรู้แน่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนในแต่ละปีของการลงทุน แต่นักลงทุนก็มีทางเลือกนะครับ ในหมู่กองทุน LTF ทั้งหลาย ก็มีบางกองทุนที่ลงทุนหุ้นน้อยหน่อย และบางกองทุนก็มีนโยบายป้องกันเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือการลงทุนสมัยใหม่ด้วย ทั้งยังมีอยู่กองทุนหนึ่งคือ 1SMART-LTF ของบลจ.วรรณ ที่มีผลตอบแทนเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยมีผลตอบแทนประมาณ 5% สำหรับระยะเวลาย้อนหลัง 1 ปี ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นกองทุนที่มีนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการประหยัดภาษี แต่ไม่ต้องการความเสี่ยงความผันผวนแบบหุ้น

ข้ออ้าง#2 ไม่ลงทุนใน RMF เพราะว่าเงินถูกล็อกนานเกินไป

ข้อหักล้าง : บ่อยครั้งที่คนเรามองเห็นแต่ปัญหาเฉพาะหน้าแต่มองไม่เห็นความจำเป็นในระยะยาว ความจริงของชีวิตคือวันหนึ่งเราต้องเกษียณแน่ๆ และมีโอกาสมากเหลือเงินที่เราจะมีอายุหลังเกษียณสักประมาณ 20 ปี ผมคิดว่าการเจียดรายได้ 15% ของทุกปีในระหว่างที่มีงานทำ ไว้ใช้ใน 20 ปีที่ไม่ได้ทำงานนั้นถือว่าไม่มากเกินไปอย่างแน่นอน เชื่อผมเถอะ ถ้าท่านใช้สิทธิใน RMF อย่างเต็มที่ เมื่อเวลามาถึง ท่านในวัยเกษียณจะสามารถมองย้อนกลับมาขอบคุณตัวเองที่ได้กัดฟันออมไว้ใน วัยหนุ่มอย่างเหมาะสม

ข้ออ้าง#3 ไม่ลงทุนให้เต็มสิทธิเพราะปัญหาสภาพคล่อง

ข้อหักล้าง : ข้อนี้เป็นเรื่องที่ต้องออกแรงกันสักหน่อยแล้วละครับ ผมขอยกตัวอย่างตัวเลขหน่อยก็แล้วกัน สมมติท่านมีสิทธิลงทุน 1 แสนบาท ที่จะทำให้ท่านประหยัดภาษีได้ 30% ท่านต้องคิดนะครับว่า หากท่านไม่ใช้สิทธิ ท่านมิได้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 1 แสนบาท นะครับ ท่านจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพียง 7 หมื่นบาทเท่านั้น เพราะถึงเดือน มี.ค. ท่านจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น 3 หมื่นบาท ออกไปอยู่ดีครับ... ในยามนี้การลงทุนทั่วไปเป็นเรื่องยาก เศรษฐกิจโลกตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำเตี้ยติดดิน ขนาดพันธบัตรอายุ 10 ปี ยังให้ผลตอบแทนเพียงประมาณ 2.5% เท่านั้น การที่เราประหยัดภาษีได้เป็นอัตรา 10-37% ของเงินลงทุนนั้นจึงเป็นเหมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย หากท่านทิ้งผ่านเลยไป ก็จะน่าเสียดายเป็นอย่างที่สุด ในความเห็นของผมหากจำเป็นจริงๆ แม้จะต้องหยิบยืมมาลงทุนก็ยังคุ้มค่า แต่ต้องคำนวณให้พอเหมาะพอสมกับกำลังที่จะจ่ายคืน แล้วพยายามรีบคืนเงินในสองสามเดือนแรกของปีใหม่นะครับ แล้วปีหน้าก็พยายามทยอยลงทุนไปเรื่อยๆ ตามกระแสรายได้ ก็จะขจัดปัญหาสภาพคล่องในระยะยาวได้ครับ

คริสต์มาสเป็นเทศกาลแห่งการให้ ผมจึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านให้ของขวัญกับตัวเองด้วยการลงทุนใช้สิทธิใน LTF และ RMF ให้เต็มสิทธิของท่าน โดยท่านควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงตลอดจนนโยบายการลงทุนของกองทุนเหล่านั้นให้ดี แล้วเมื่อเดือนมี.ค. มาถึงท่านก็จะได้ยิ้มดีใจที่มีภาระภาษีที่น้อยลง และ 5 ปีผ่านไปท่านก็จะมีเงินก้อนของ LTF พร้อมดอกผลมาให้ใช้ซื้อของชิ้นใหญ่ๆ ที่เคยอยากได้ และในเวลาเกษียณ RMF ก็จะทำให้ท่านได้ชื่นชมกับช่วงเวลาแห่งเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ เพราะมีเงินเติมกระเป๋าด้วยครับ

ส่วนท่านที่สนใจดูกองทุนต่างๆ พร้อมผลการดำเนินงานสามารถดูได้ที่เว็บไซต์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน //www.aimc.or.th และหากท่านต้องการสอบถามเกี่ยวกับกอง LTF ที่มีผลตอบแทนเป็นบวกในปีนี้ก็โทร.ถามได้ที่บลจ.วรรณ 02-659-8888 กด 1 ฝ่ายการตลาด และหากท่านคิดว่าบทความนี้อาจเป็นของขวัญที่มีค่าให้กับผู้ที่ท่านรักสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้จาก //www.one-asset.com ครับ

สุขสันต์วันคริสต์มาสและสวัสดีปีใหม่ครับ

รายงานโดย : ดร.สมจินต์ ศรไพศาล : POST TODAY




 

Create Date : 25 ธันวาคม 2551    
Last Update : 25 ธันวาคม 2551 18:38:25 น.
Counter : 538 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.