Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ ... นำมาฝาก




ย้ำอีกครั้ง!ยาแก้อักเสบ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ

https://med.mahidol.ac.th/th/infographics/18



ยาปฏิชีวนะ  ไม่ใช่  ยาแก้อักเสบ
https://www.hsri.or.th/people/media/infographic/detail/5914

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง

ยาแก้อักเสบ หรือ ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง เช่น แอสไพริน  ไอบูโพรเฟน  ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ลักษณะการอักเสบ
- การอักเสบมี 2 แบบ คือ 1.อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  2.อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่การอักเสบเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคภูมิแพ้  คออักเสบจากเชื้อไวรัส  ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แดดหรือสารเคมี กล้ามเนื้ออักเสบจากการยกของหนัก

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
แพ้ยา : หากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้นผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต
เกิดเชื้อดื้อยา : การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด
เกิดโรคแทรกซ้อน : ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ อันตรายถึงชีวิต

ข้อมูลจาก..โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา ปี พ.ศ. 2555
https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4203?locale-attribute=th





“ยาปฏิชีวนะ”
หลายคน รู้จัก  แต่ไม่ รู้จริง
https://www.hsri.or.th/people/media/infographic/detail/5912

ยาปฏิชีวนะที่ใช้กันบ่อย : อะม็อกซีซิลลิน  เพนนิซิลลิน  
เตตราซัยคลิน  นอร์ฟล็อกซาซิน

รู้แล้วบอกต่อ
- ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ
- ยาปฏิชีวนะ เป็น ยาอันตราย
- 3 โรคหายได้ ไม่ต้องใช้ ยาปฏิชีวนะ

3 โรค หายได้ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
1. หวัด-เจ็บคอ : กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไวรัส มีอาการ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม เสียงแหบ เจ็บคอ คันคอ มีไข้ เป็นนาน 7-10 วัน โดยวันที่ 3-4 จะมีอาการมากที่สุด แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง รักษาโดยการดื่มน้ำอุ่น กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ พักผ่อนให้มาก ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ

2. ท้องเสีย : กว่าร้อยละ 99 เกิดจากไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย รักษาโดยดื่มน้ำเกลือแร่ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ
3. แผลเลือดออก : เช่น มีดบาด แผลถลอก แผลเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ป่วยที่มีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงดี รักษาโดยล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ

ข้อมูลจาก..โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา ปี พ.ศ. 2555
https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4203?locale-attribute=th

รุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ อันตรายถึงชีวิต

............................

แถม ...
  ยาฆ่าเชื้อ กับ ยาแก้อักเสบ เหมือนกันหรือไม่?

https://knowdocth.blogspot.com/p/blog-page.html



สวัสดีครับ คิดว่ายังคงมีคนในบ้านเราอีกจำนวนมากที่เดียวที่สับสนระหว่างคำว่า ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) และ ยาแก้อักเสบ ผมไม่ทราบว่าต้นกำเนิดของความเข้าใจผิดนี้มันมาจากไหน แต่ที่แน่ๆมันยังคงสร้างปัญหาและความหนักใจให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์พอสมควรในประเด็นของการสื่อสารไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ป่วย-บุคคลากรทางการแพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์-ญาติผู้ป่วย และผู้ป่วยกับญาติผู้ป่วยด้วยกันเอง มีหน่วยงานหลายหน่วยงาน คลินิคหลายแห่ง และโรงพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้มารับบริการ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่

จึงอยากแบ่งปันความเข้าใจที่ถูกต้องกันครับ โดยที่จะอ้างอิงจากรูปภาพประกอบข้างบนนี้นะครับ
1. ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาปฏิชีวนะ ภาษาอังกฤษคือ antibiotics หลักๆคือมันเอาไว้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อครับ และเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบจนเป็นหนอง ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ กรวยไตอักเสบ เป็นต้น โดยทียาฆ่าเชื้อนี้ ไม่ได้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเลยแม้แต่นิดเดียวนะครับ

2. ยาแก้อักเสบ ภาษาอังกฤษคือ anti-inflammatory drug (รากศัพท์ inflammation = การอักเสบ)ยากลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็นกลุ่มสเตียรอยด์และไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เรารู้จักกันย่อๆว่า เอ็นเสดส์ (NSAIDs: non-steroid anti-inflammatory drugs) ตัวอย่างยาพวกนี้ได้แก่ 
Ibuprofen (ชื่อการค้า Brufen , Profen)
Diclofenac (ชื่อการค้า Voltaren) 
Mefenamic acid (ชื่อการค้า Ponstan) ที่สาวๆมักคุ้นเคยกันดีเวลาปวดประจำเดือน
หรือดั้งเดิมที่สุดที่อยู่กับสังคมไทยคือ ทัมจัยแอสไพริน (aspirin)

ยาแก้อักเสบเหล่านี้ออกฤทธิ์แก้การอักเสบของเนื้อเยื่อ ทำให้บรรเทาอาการปวด ที่ใช้กันบ่อยๆคือรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีผลข้างเคียงสำคัญคือมันกัดกระเพาะครับ ใครที่เป็นโรคกระเพาะหรือทานอาหารไม่ตรงเวลาจะเกิดปัญหาได้ ยากลุ่มนี้ฆ่าเชื้อไม่ได้ และยากลุ่ม NSAIDs นี้เอง คนไทยแพ้ยากลุ่มนี้ตัวใดตัวหนึ่งค่อนข้างเยอะเสียด้วย รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มีครับ 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการสื่อสารแล้วเข้าใจกันผิด?

1. ผลระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ เมื่อผู้ป่วยบอกคุณหมอว่าแพ้ยา คุณหมอจะถามทันทีว่าแพ้ยาอะไร ซึ่งถ้าผู้ป่วยนำบัตรแพ้ยามาด้วยจะช่วยให้คุณหมอเบาใจเยอะครับ เพราะชื่อยาที่แพ้นั่นแหละช่วยคุณหมอได้ดีที่สุดแล้ว แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้ป่วยเองไม่ทราบ และบอกไปกว้างๆว่า "แพ้ยาแก้อักเสบ".... ตรงนี้เกิดความสับสนแล้วเห็นไหมครับ? คุณหมอต้องมาทำความเข้าใจกับผู้ป่วยว่าตกลงไอ้ที่บอกว่าแพ้ยาแก้อักเสบ มันคือแพ้ยาฆ่าเชื้อหรือแก้อักเสบกันแน่ ถ้าคุณหมอรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก อาจจะไม่ได้ถามละเอียดแล้วผลเสียจะตกอยู่ที่ผู้ป่วยเองครับ

2. เกิดทัศนคติและความเข้าใจผิดๆว่า ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบมันคืออันเดียวกัน ซึ่งปัญหานี้เกิดมานานแล้ว และยังคงมีความเข้าใจผิดกันอยู่อีกหลายท้องถิ่น สุดท้ายแล้วผู้ป่วยบางรายที่ไม่อยากมาพบคุณหมอที่โรงพยาบาลก็จะใช้ยารักษาเองแบบผิดๆ เพราะสลับกันระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ

3. เจ้าหน้าที่เภสัชกรต้องทำงานเหนื่อยมากขึ้น เมื่อคุณหมอสั่งยาแล้วผู้ป่วยจะต้องมารอเภสัชกรจ่ายยาให้ แต่ในสถานบริการหลายแห่งที่มีปริมาณผู้ป่วยมาก ก็ต้องหาผู้ช่วยเภสัชกรมาช่วยจัดยาและอธิบายผู้ป่วยว่ายาใช้ยังไง หลายครั้งที่ผู้ป่วยยังเข้าใจผิดระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบก็ไปโต้แย้งกับเภสัชกร ถ้าปริมาณผู้ป่วยไม่เยอะ เภสัชกรอาจจะมีเวลาอธิบายแก้ความเข้าใจผิดให้ แต่ถ้าปริมาณคนไข้เยอะเภสัชกรอาจจะจำเป็นต้อง เออ ออตามผู้ป่วยไปว่า "เอาล่ะๆ แก้อักเสบก็แก้อักเสบจ้ะป้า" ทั้งๆที่มันคือยาฆ่าเชื้อ แล้วสุดท้ายก็ เออ เออ กันต่อไปว่ามันคือยาตัวเดียวกัน สุดท้ายก็เข้าใจผิดกันรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ


สิ่งที่อยากให้นำกลับไปด้วย
(Take home messages)

1. ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบคนละตัวกัน
2. อ่านบทความนี้ซ้ำอีกรอบนึง เพื่อทำความเข้าใจอีกครั้งนึง
3. หลังจากวันนี้เวลาไปโรงพยาบาลหรือคลินิค ก็ตามช่วยกันแก้ไขสิ่งที่ผิดกันมานานนะครับ
4. ไม่แน่ใจ ปรึกษาแพทย์ดีที่สุด


..............................






เรียกให้ถูก “ยาปฏิชีวนะ” ไม่ใช่ “ยาแก้อักเสบ”

ยาปฏิชีวนะ คือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์แก้ปวด หรือลดการอักเสบ ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส เช่น ยาเพนนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน
ยาแก้อักเสบ คือ ยาลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน

ส่วนใหญ่การอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แดดหรือสารเคมี หรือการอักเสบของกล้ามเนื้อจากการยกของหนัก

เรียกชื่อยาผิด ก็ใช้ยารักษาโรคผิดไปด้วย ทำให้เปลืองทั้งเงินและรักษาโรคไม่หาย แถมเพิ่มโรคแทรกซ้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
#องค์การเภสัชกรรม #GPO





Create Date : 12 มิถุนายน 2560
Last Update : 22 มกราคม 2562 16:02:28 น. 1 comments
Counter : 14054 Pageviews.  

 
บทความจากเวบ หมอชาวบ้าน เขียนไว้เมื่อ ๒๖ ปีที่แล้ว ^_^

ยาแก้อักเสบ / ยาปฏิชีวนะ
โพสโดย Anonymous เมื่อ 1 มิถุนายน 2530 00:00

“เด็กเป็นแผลพุพองเป็นหนองขึ้นหลายแห่งอย่างนี้ หมอจะให้ยาปฏิชีวนะไปกินด้วย” หมอบอกกับแม่เด็ก
“แล้วคุณหมอไม่ให้ยาแก้อักเสบด้วยหรือคะ?” แม่เด็กถาม

คุณหมอฟังแล้วก็ตอบอย่างตัดบทว่า “ยาปฏิชีวนะก็คือ ยาแก้อักเสบอย่างเดียวกันนั่นแหละ”
ความจริงแล้วทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน และในปัจจุบันก็มียาอยู่ทั้ง 2 ชนิดที่มีสรรพคุณและการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อที่ทำให้เกิดหนองฝีต่างๆ) ตัวอย่างเช่น เพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน เตตราซัยคลีน คลอแรมเฟนิคอล ซัลฟา คาน่ามัยซิน สเตรปโตมัยซิน เป็นต้น ยาเหล่านี้จะใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ กุ้งยิง ปอดอักเสบ ไข้หวัดชนิดน้ำมูกเหลืองเขียว เป็นต้น

ที่สำคัญคือ ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัส ดังนั้นคนที่เป็นไข้หวัด น้ำมูกใส หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส คางทูม ไข้เลือดออก ตับอักเสบจากไวรัส (โรคดีซ่าน) เริม งูสวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ การรักษาเพียงแต่ให้ยาบรรเทาตามอาการ ปล่อยให้ร่างกายขจัดเชื้อโรคเองตามธรรมชาติ

ยาแก้อักเสบ (Anti-inflamatory drugs) หมายถึง ยาที่ใช้ลดการอักเสบต่างๆซึ่งจะแสดงอาการปวด บวม แดง ร้อน และบางครั้งอาจเป็นไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย ส่วนมากมีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น แผลอักเสบเป็นหนอง ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือปอดอักเสบ เป็นต้น

ส่วนน้อยเกิดขึ้นโดยไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อ แต่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อภาวะบางอย่าง เช่น โรคปวดข้อจากความเสื่อม เช่น ปวดข้อเข่าในคนสูงอายุหรือคนอ้วน โรคเอสแอลอี (SLE) ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อต่างๆของตัวเอง ทำให้มีไข้และปวดตามข้อต่างๆนานเป็นแรมเดือน โรคไตเนโฟรติก (Nephrotic Syndrome) ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อไตของตัวเอง ทำให้มีอาการบวมทั้งตัว เป็นต้น

ยาแก้อักเสบที่หมอชาวบ้านกล่าวขวัญถึงบ่อยก็คือ ยากลุ่มสเตอรอยด์ (Steroid) เช่น เพรดนิโซโลน เดกซาเมทาโซน เป็นต้น ซึ่งใช้ลดการอักเสบได้สารพัด แต่ก็มีโทษมหันต์ ควรใช้โดยแพทย์เท่านั้น ห้ามใช้กันเอง แต่ยาตัวนี้จะมีผสมอยู่ในยาชุดแทบทุกชนิด อันตรายของยาชุดก็อยู่ที่ยาตัวนี้นี่เอง
ยาแก้อักเสบอีกชนิดนี้เรียกว่า ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (Non-steroid Anti-inflamatory drug) ย่อว่า NSAID (อ่านว่า เอ็น-เซด) ได้แก่ ยาที่ใช้รักษาอาการปวดข้อทั้งหลายแหล่รวมทั้งแอสไพริน ซึ่งใช้แก้ปวดลดไข้ ก็จัดว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบเช่นเดียวกับยาในกลุ่มนี้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบเป็นยาคนละชนิดกัน
แต่เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ คนไข้ที่มีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะเข้าไปอาการอักเสบจะทุเลาลงได้ จึงดูประหนึ่งว่า ยาปฏิชีวนะใช้แก้อักเสบได้ กล่าวคือ แก้ที่ต้นตอของโรคโดยตรง ไม่ใช่แก้ที่อาการอักเสบโดยตรง (แต่ถ้าเป็นการอักเสบที่ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น คางทูม หรือโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถลดการอักเสบในคนไข้เหล่านี้ได้)

เวลาไปหาหมอด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อหมอจ่ายยาปฏิชีวนะให้แทนที่จะบอกว่าเป็น “ยาปฏิชีวนะ” ซึ่งฟังแล้วยุ่งยากหรือเป็นวิชาการเกินไป ก็จะบอกว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งฟังเป็นชาวบ้านๆดี

ยาปฏิชีวนะก็เลยกลายเป็นยาแก้อักเสบในภาษาชาวบ้าน
แต่ในภาษาแพทย์แล้ว เป็นคนละเรื่องกัน

https://www.doctor.or.th/article/detail/4213


โดย: หมอหมู วันที่: 12 มิถุนายน 2560 เวลา:16:00:51 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]