"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

BlogGang Popular Award#20


 
สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

141. ครบรอบ 39 ปี ของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์



เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2567

ครบรอบ 39 ปี ของการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
(จากอายุ 24 ปี ถึงปัจจุบันอายุ 63 ปี)

ครบรอบ 39 ปี ของการกินอาหารมังสวิรัติ

และ ครบรอบ 13 ปี ของการกินอาหารมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง) 
 
***************


การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
ต้องปฏิบัติ ให้ถูกมรรคถูกทาง
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ที่ถูกมรรคถูกทาง
คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8
 
***************
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
ต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามลำดับ
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ที่ถูกต้องตามลำดับ
 
คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้นตามลำดับ
 
เพื่อชำระล้าง หรือ เพื่อละ หรือ เพื่อดับ "กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน" ในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด ตามลำดับ
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ที่ถูกต้องตามลำดับ
จะทำให้เกิด “การบรรลุธรรมตามลำดับ” คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
***************
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ต้องมี “ผัสสะ” เป็นปัจจัย
 
จึงจะทำให้เกิด “ความก้าวหน้าในธรรม” จริง
 
หรือ จึงจะทำให้เกิด “มรรคผล” จริง
 
ผัสสะ หมายถึง การกระทบ สัมผัส ถูกต้อง ที่ทำให้เกิดความรู้สึก
 
ผัสสะ 
เป็นความประจวบกันของสามสิ่ง คือ อายตนะภายใน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก(รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และวิญญาณ
 
ผัสสะ ทำให้เกิด อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ
 
ผัสสะ ทำให้เกิด ความหลงใหลติดใจ ความหลงยึดมั่นถือมั่น
 
ผัสสะ ทำให้เกิด ความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น ที่มากมายเกินความจำเป็นของชีวิต
 
ผัสสะ ทำให้เกิด ความขัดเคืองใจ ความโกรธ โทสะ ความพยาบาทอาฆาตแค้น
 
ผัสสะ เปรียบเสมือน “ข้อสอบ” หรือ เปรียบเสมือน “บททดสอบ”
 
“ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย เราจะไม่สามารถ ทำความดับของกิเลสได้ อย่างแท้จริง”
 
“ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย จะเกิดการนอนเนื่องของกิเลส”
 
“ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย เราจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า เราสามารถทำความดับของกิเลส ได้จริง หรือยัง?”
 
***************
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ต้องมองให้เห็น “มรรคผล” หรือ ต้องมองให้เห็น “ความก้าวหน้า” แม้มีประมาณน้อย
 
จึงจะทำให้เกิด “กำลัง” หรือ จึงจะทำให้เกิด “พลัง (พละ)” ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติธรรม ไปสู่ความดับทุกข์
 
***************
 
ชีวิตนี้ น้อยนัก ชีวิตนี้ สั้นนัก ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน
 
ขอจงอย่าประมาท ในการดำเนินชีวิต
 
จงอย่าประมาทว่า ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่
 
จงใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีอยู่ไม่มากนักนี้
 
ให้มีคุณค่าต่อชีวิต
 
ด้วยการเรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้
 
ด้วยการทำ ในสิ่งที่ควรทำ
 
สิ่งที่ควรเรียนรู้ คือ เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ เรียนรู้ความดับทุกข์ และ เรียนรู้วิธีการดับทุกข์
 
สิ่งที่ควรทำ คือ ทำความดับทุกข์
 
***************
 
ชีวิต ดำเนินมาถึงจุดนี้แล้ว
 
ผู้เขียน ไม่มีความกังวลใจใดๆ
 
ถ้าหากผู้เขียน จะต้องตายจากโลกนี้ไป
 
เพราะ การตาย คือ การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ตามกรรม ตามวิบาก ตามระยะเวลาอันควร เท่านั้นเอง
 
การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิของคนเรา
 
จะขึ้นอยู่กับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่ครอบงำจิตใจอยู่ ก่อนตาย  

***************
 
การเดินไปตามเส้นทาง “สายโลกียะ (ทางโลก)
 
ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหนัก ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียด ยิ่งมองไม่เห็น "จุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด"
 
การเดินไปตามเส้นทาง “สายโลกุตระ (อริยมรรคมีองค์ 8)
 
ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเข้าใกล้ "จุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด" คือ "ความดับแห่งกองทุกข์" หรือ "พระนิพพาน"
 
***************
 
เตสํ วูปสโม สุโข ความสงบระงับแห่งสังขาร (การปรุงแต่ง) เหล่านั้น เป็นสุข
 
นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” 
 
ชาญ คำพิมูล
24/08/2567

 




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2567    
Last Update : 24 สิงหาคม 2567 6:08:13 น.
Counter : 221 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

140. ชีวิต ล่วงผ่านพ้น 63 ปี...เจริญมรณานุสติ





วันเวลาของชีวิต

ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ

ประเดี๋ยววัน ประเดี๋ยวเดือน ประเดี๋ยวปี

ถึงวันนี้ ชีวิตล่วงผ่านพ้นไปแล้ว 63 ปี กับอีก 3 วัน
 
***************

ชีวิตคนเรานี้ ไม่ได้ยืนยาวมากนัก
 
มีไม่กี่คน ที่จะมีชีวิตยืนยาว ถึง 100 ปี หรือ เกินกว่า 100 ปี
 
แม้จะมีชีวิตยืนยาว ถึง 100 ปี ก็ใช่ว่า จะยาวนานมากเลย
 
***************

อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายไทย คือ 74.9 ปี (ข้อมูลปี พ.ศ. 2566)
 
ถ้าผู้เขียนมีอายุขัย = อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายไทย

ผู้เขียนจะมีวันเวลาของชีวิต เหลืออยู่อีก ประมาณ 12 ปี

วันเวลา 12 ปีนี้ ไม่ได้ยาวนานมากเลย

***************

นับถึงวันนี้ ผู้เขียนศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมมาแล้ว มากกว่า 38 ปี
 
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพียงประการเดียว คือ “เพื่อทำความดับทุกข์
 
ผู้เขียน ไม่ได้มีความกังวลใจใดๆ ถ้าหากผู้เขียน จะต้องตายจากโลกนี้ไป ในวันนี้ หรือ วันพรุ่งนี้
 
เพราะ “การตาย” คือ การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ตามกรรมตามวิบาก ตามเวลาอันควร เท่านั้นเอง
 
การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิของคนเรา” จะขึ้นอยู่กับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่มีอยู่ภายในจิตใจ หรือ ที่ครอบงำจิตใจอยู่ ก่อนตาย
 
ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่า “การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์” จะช่วยนำพาชีวิตของผู้เขียน ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี อย่างแน่นอน
 
***************

“บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ไม่ตาย ไม่มี”
 
“ชีวิตนี้ น้อยนัก ชีวิตนี้ สั้นนัก ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน”
 
วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป 1 วัน ชีวิตนี้ สั้นลงไป 1 วัน


วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป 1 เดือน ชีวิตนี้ สั้นลงไป 1 เดือน
 
วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป 1 ปี ชีวิตนี้ สั้นลงไป 1 ปี
 
“ชีวิตนี้ เหลืออยู่เท่าใด? ไม่มีใคร ที่จะหยั่งรู้ได้”

จงอย่าประมาท ในการใช้ชีวิต

จงอย่าประมาทว่า ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่

เพราะชีวิตนี้ มีความไม่แน่นอน เป็นธรรมดา

จงใช้วันเวลาของชีวิต

ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
ด้วยการเพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวบุญ” และ “เก็บเกี่ยวกุศล

จากบุคคลรอบๆข้าง และ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

เพราะ “บุญและกุศล

จะช่วยนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต

จะช่วยทำให้ชีวิต มีความผาสุก

จะช่วยให้ชีวิต ห่างไกลจาก “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย

จะช่วยนำพาชีวิต ไปสู่ “ภพภูมิที่ดีขึ้น ที่สูงขึ้น

และ จะเป็น “พลวปัจจัยที่ดี” ที่มีคุณค่าประโยชน์ สำหรับชีวิต ในชาติต่อๆไป
 
***************

เพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวบุญ” หมายถึง เพียรหมั่นชำระล้าง หรือ เพียรหมั่นละ หรือ เพียรหมั่นดับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่ครอบงำจิตใจอยู่ (ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว)
 
เพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวกุศล” หมายถึง เพียรหมั่นทำความดี ทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่มีคุณค่าประโยชน์ ต่อผู้อื่นสัตว์อื่น ต่อโลก และ ต่อสังคม
 
หมั่นเจริญมรณานุสติ เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต
 
***************
 
บุญ” นั้น มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า “ปุญฺญ”
บุญ แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด


...จาก “ก้าวไปในบุญ” สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชาญ คำพิมูล
เจริญมรณสติ เนื่องในวาระครบรอบวันเกิด ปีที่ 63
วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

 




 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2567    
Last Update : 26 พฤษภาคม 2567 6:37:12 น.
Counter : 300 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

139. ทางเดินไปสู่ “ความดับทุกข์” คือ “อริยมรรคมีองค์ 8” ตอนที่ 5



บุคคลผู้บรรลุธรรม” ในโลกนี้ มีอยู่ 4 จำพวก คือ
 
1. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว
 
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว หมายถึง พระโสดาบัน
 
พระโสดาบัน คือผู้มีสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไปแล้ว (ละสังโยชน์ ๓ ประการได้แล้ว หรือ พ้นสังโยชน์ ๓ ประการแล้ว) เป็นผู้ที่ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

พระโสดาบัน คือผู้ที่ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” เพื่อชำระล้าง หรือ เพื่อละ หรือ เพื่อดับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ที่เป็นมูลเหตุของ “การงานอาชีพ กายกรรม และ วจีกรรม” ที่เป็นมิจฉา หรือ ที่เป็นอกุศล จนพ้นสังโยชน์ 3 ประการแล้ว (ละสังโยชน์ 3 ประการได้แล้ว) คือ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา และ พ้นสีลัพพตปรามาส ทำให้ “การงานอาชีพ กายกรรม และ วจีกรรม” ของตน มีปกติเป็นสัมมา หรือ มีปกติเป็นกุศล
 
กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่มีอยู่ภายในจิตใจ หรือ ที่ครอบงำจิตใจอยู่ คือมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
ศีล คือสิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อปรับเปลี่ยน “การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ที่มีปกติเป็นมิจฉา (อกุศล) ให้มีปกติเป็นสัมมา (กุศล) ด้วยการเพียรหมั่นชำระล้าง หรือ เพียรหมั่นละ หรือ เพียรหมั่นทำความดับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
การกำหนดตั้งศีล จะใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง
 
การปฏิบัติสมาธิ (สมถภาวนา) หมายถึง การอบรมจิต

การอบรมจิต หมายถึง การทำจิตใจ ให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้มีสติ ให้มีสมาธิ เพื่อรับรู้ “การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับลงไป” ของ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” เมื่อมี “ผัสสะ” มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ และ เพียรพยามไม่ปล่อยให้จิต “ปรุงแต่ง (สังขาร)” ไปตามอำนาจของ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต เพื่อไม่ให้เกิด “การละเมิดศีล” เป็นการทำให้ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ระงับดับลงไป
 
การปฏิบัติปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) หมายถึง การอบรมปัญญา
 
การอบรมปัญญา หมายถึง การเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา” ของ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” จนพ้นสักกายทิฏฐิ จนพ้นวิจิกิจฉา จนพ้นสีลัพพตปรามาส
 
พ้นสักกายทิฏฐิ หมายถึง สามารถปล่อยวาง “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” ได้แล้ว ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนของตนหรือเป็นของของตนแล้ว
 
พ้นวิจิกิจฉา หมายถึง หมดสิ้นความลังเลสังสัย ใน “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” เพราะมีความเห็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา” ของ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล
 
พ้นสีลัพพตปรามาส หมายถึง สามารถทำให้ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” ลดลง จางคลาย และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้ ทำให้ “ศีล” กลายเป็นปกติของตนได้
 
พระโสดาบัน คือผู้ที่ละ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ได้แล้ว
 
กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) คือมูลเหตุของ “การงานอาชีพ กายกรรม และ วจีกรรม ที่เป็นมิจฉา หรือ ที่เป็นอกุศล” ได้แก่

  1. ความโลภ คือความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น ความอยากครอบครอง วัตถุกาม ทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ฯลฯ ที่มีมาก จนก่อให้เกิด การเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น การเบียดเบียนโลก และ การเบียดเบียนสังคม ด้วย “การงานอาชีพ กายกรรม และ วจีกรรม” ที่เป็นมิจฉา หรือ ที่เป็นอกุศล
  2. อารมณ์โกรธ อารมณ์โทสะ อารมณ์พยาบาทอาฆาตแค้น หมายมุ่งทำร้ายหรือทำลายผู้อื่นสัตว์อื่น ด้วยกายกรรมและวจีกรรม
  3. ความหลงใหลใคร่อยากในกาม ที่มีมาก จนก่อให้เกิด การประพฤติผิดในกาม และ การเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น
 
พระโสดาบัน คือผู้ที่ไม่มีทางตกต่ำแล้ว เพราะ “การงานอาชีพ กายกรรม และ วจีกรรม” ของพระโสดาบัน มีปกติเป็นสัมมา หรือ มีปกติเป็นกุศล

2. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก
 
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก หมายถึง พระสกิทาคามี หรือ พระสกทาคามี

พระสกิทาคามี คือผู้ที่ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนละสังโยชน์ 3 ประการได้แล้ว และ สามารถทำให้ “ราคะโทสะและโมหะ” เบาบางลงแล้ว
 
สามารถทำให้ “ราคะโทสะและโมหะ” เบาบางลงแล้ว หมายถึง
  1. สามารถทำให้ “กามราคะ” ลดลง เบาบางลง โดยลำดับ ดังนี้
       
        จากที่ยังมี “การมุ่งแสวงหากาม (กามปริเยสนา)” อยู่ เป็น ไม่มี “การมุ่งแสวงหากาม (กามปริเยสนา)” แล้ว แต่ยังมี “ความเร่าร้อนเพราะกาม (กามปริฬาหะ)” อยู่

       จากที่ยังมี “ความเร่าร้อนเพราะกาม (กามปริฬาหะ)” อยู่ เป็น ไม่มี “ความเร่าร้อนเพราะกาม (กามปริฬาหะ)” แล้ว แต่ยังมี “ความพอใจยินดีในกาม (กามฉันทะ)” อยู่

       จากที่ยังมี “ความพอใจยินดีในกาม (กามฉันทะ)” อยู่ เป็น ไม่มี “ความพอใจยินดีในกาม (กามฉันทะ)” แล้ว แต่ยังมี “ความดำริในกาม (กามสังกัปปะ)” อยู่
 
  1. สามารถทำให้ “ปฏิฆะ (ความขัดเคืองใจ)” ลดลง เบาบางลง เป็น “อรติ (ความรู้สึกไม่ชอบใจ)
 
กามราคะ” และ “ปฏิฆะ” เป็น “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ในระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) ที่ก่อให้เกิด ความทุกข์ ความโศก โรค โทษและภัยแก่ตน
 
กามราคะ หมายถึง ความหลงใหลใคร่อยากในกาม ความกำหนัดในกาม (กามเมถุน กามคุณ 5)
 
ปฏิฆะ หมายถึง ความขัดเคืองใจ
 
***************
 
“กามสัญญา (ความหมายรู้กาม) เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามธาตุ
กามสังกัปปะ (ความดำริในกาม) เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามสัญญา
กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามสังกัปปะ
กามปริฬาหะ (ความเร่าร้อนเพราะกาม) เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามฉันทะ
กามปริเยสนา (การแสวงหากาม) เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามปริฬาหะ
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อแสวงหากามปริเยสนา ย่อมปฏิบัติผิด ๓ ทาง
คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ”
 

...เนื้อความบางส่วน จาก “สนิทานสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นต้นเหตุ
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม: ๑๖ หน้า: ๑๘๒}

 
***************
 
บทธรรมนี้ เป็นบทธรรมที่ผู้เขียน เขียนขึ้นจาก “ประสบการณ์การศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรมของผู้เขียนเอง

วัตถุประสงค์หลักของการนำเสนอบทธรรมนี้ คือ เพื่อ “ให้เป็นแง่คิดมุมมองหนึ่ง” ของการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
ในบทธรรมนี้ อาจมีเนื้อหาสาระบางส่วน ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านผู้อ่าน ได้เคยรับรู้มาก่อน

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการ ให้ท่านผู้อ่าน หลงเชื่อตาม

จงอย่าหลงเชื่อตาม สิ่งใดๆ โดยง่าย

โดยไม่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

และ โดยไม่ผ่านการพิสูจน์ให้เห็นจริงชัดแจ้ง ด้วยตนเอง
 
ชาญ คำพิมูล
22/05/2567 วันวิสาขบูชา

 




 

Create Date : 22 พฤษภาคม 2567    
Last Update : 22 พฤษภาคม 2567 5:55:37 น.
Counter : 169 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

138. ทางเดินไปสู่ “ความดับทุกข์” คือ “อริยมรรคมีองค์ 8” ตอนที่ 4



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” เพื่อทำความดับทุกข์
 
โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
 
จะทำให้เกิด “การบรรลุธรรม” ตามลำดับ
 
คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
***************
 
การบรรลุธรรม” ตามลำดับ
 
จะใช้ “สังโยชน์ 10” เป็นเกณฑ์
 
ดังที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสเอาไว้ ใน “สังโยชน์สูตร” ดังนี้
 
๘. สังโยชน์สูตร

ว่าด้วย ผู้สิ้นสังโยชน์

[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
 
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว

๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก

๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม

๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ

บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร คือ
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล

บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร คือ
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล

บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร คือ
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป จะปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างนี้แล

บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร คือ
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

สังโยชน์สูตรที่ ๘ จบ


{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๓๔-๑๓๕}
 
***************
 
สังโยชน์ หมายถึง น. เครื่องพัวพัน, เครื่องผูกรัด, หมายเอากิเลสที่ผูกคนไว้กับวัฏสงสาร มี ๑๐ อย่าง มีสักกายทิฐิ เป็นต้น พระอริยบุคคลเมื่อละสังโยชน์เป็นลําดับจนหมด ก็เป็นพระอรหันต์


...ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
 
***************
 
สังโยชน์ 10 ประกอบด้วย

1. สักกายทิฏฐิ หมายถึง การยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนของตน หรือ เป็นของของตน

2. วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ

3. สีลัพพตปรามาส หมายถึง การถือศีลแบบลูบๆคลำๆ การถือศีลตามหลักศาสนาหรือตามประเพณีนิยม เป็นการถือศีลหรือการปฏิบัติศีล ที่ไม่ก่อให้เกิด "มรรคผล" คือ ไม่ทำให้ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” ลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป จนทำให้ศีล กลายเป็นปกติของตน (ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ)
 
4. กามราคะ หมายถึง ความกำหนัดในกาม ความหลงใหลติดใจในกาม ความใคร่อยากในกาม (กามเมถุน กามคุณ 5)

5. ปฏิฆะ หมายถึง ความเคืองใจ ความขัดใจ

6. รูปราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจใคร่อยากในความสุข ที่เกิดจากรูปฌาน หรือ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิต โดยอาศัยรูปในจิต (นามรูป)

7. อรูปราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจใคร่อยากในความสุข ที่เกิดจากอรูปฌาน หรือ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิต โดยไม่อาศัยรูป

8. มานะ หมายถึง ความถือตัวยกตนข่มท่าน

9. อุทธัจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่านของจิต

10. อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้จริงจนชัดแจ้งที่ใจ ใน “ความทุกข์ ความเกิดแห่งกองทุกข์ ความดับแห่งกองทุกข์ และ วิธีการทำความดับแห่งกองทุกข์” จึงทำให้เกิด “การปรุงแต่ง (สังขาร)” ไปตามอำนาจของกิเลส จนทำให้เกิด “การยึดมั่นถือมั่นไปตามอำนาจของกิเลส (อุปาทาน)

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2567    
Last Update : 12 พฤษภาคม 2567 4:47:15 น.
Counter : 174 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

137. ทางเดินไปสู่ “ความดับทุกข์” คือ “อริยมรรคมีองค์ 8” ตอนที่ 3



เมื่อเราเข้าใจ จนชัดแจ้งแล้วว่า
 
วิธีการ “ก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8” คืออย่างไร?
 
ในลำดับต่อไป
 
เราต้องเริ่มต้น “ก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8
 
เพื่อก้าวไปสู่ “จุดหมายปลายทาง” คือ “ความดับทุกข์
 
***************
 
การเริ่มต้น “ก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8” สู่ “ความดับทุกข์
 
เราต้องรู้ว่า ณ ตอนนี้ เรายืนอยู่ ณ จุดใด?
 
เราจึงจะสามารถ เริ่มต้น ก้าวเดินต่อไปได้ อย่างถูกต้อง ถูกตรง
 
หรือ เราจึงจะสามารถ เริ่มต้น ปฏิบัติได้ อย่างถูกต้อง ถูกตรง ตามฐานการปฏิบัติ (กรรมฐาน) ของตน
 
และ เราต้องรู้ว่า อะไร? คือสิ่งบ่งบอกถึง “ความก้าวหน้า” ของ “การก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8
 
***************
 
จุดเริ่มต้นของ “การก้าวเดินไปตามทาง อริมรรคมีองค์ 8” ของแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันไป
 
ขึ้นอยู่กับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ที่มีอยู่ภายในจิตใจ หรือ ที่ครอบงำจิตใจอยู่
 
หรือ ขึ้นอยู่กับ “บารมีในทางธรรม” ของแต่ละคน ที่ปฏิบัติสั่งสมเอาไว้ ในชาติก่อนๆ
 
***************
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ประกอบสัมมาอาชีพ” เพื่อเลี้ยงชีพของตนอยู่แล้ว (พ้นมิจฉาวาณิชา 5 และ พ้นมิจฉาอาชีวะ 5)
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” อยู่แล้ว
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ไม่ลักทรัพย์ผู้อื่น” อยู่แล้ว
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ไม่ประพฤติผิดในกาม” อยู่แล้ว
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ไม่พูดเท็จ” อยู่แล้ว
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ไม่พูดส่อเสียด” อยู่แล้ว
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ไม่พูดคำหยาบ” อยู่แล้ว
 
คนบางคน อาจมีปกติ “ไม่พูดเพ้อเจ้อ” อยู่แล้ว
 
***************
 
การก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8” คือ
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้นตามลำดับ
 
เพื่อชำระล้าง หรือ เพื่อละ หรือ เพื่อดับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน
 
ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส)
 
ที่เป็นมูลเหตุของ "อกุศลกรรมและความทุกข์" ทั้งหลาย
 
***************
 
ถ้า “การงานอาชีพ กายกรรม และ วจีกรรม” ของเรา
 
มีปกติ เป็นสัมมาในเบื้องต้นอยู่แล้ว คือ
 

  1. มีปกติ ประกอบอาชีพ ที่พ้นมิจฉาวาณิชา 5 และ พ้นมิจฉาอาชีวะ 5
 
  1. มีปกติ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในกาม
 
  1. มีปกติ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่คำพูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
 
ในลำดับต่อไป
 
เราต้องทำ “การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ของเรา
 
ให้เป็นสัมมา (กุศล) ยิ่งขึ้น
 
ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น ตามลำดับ
 
เพื่อชำระล้าง หรือ เพื่อละ หรือ เพื่อดับ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน
 
ที่เป็นมูลเหตุของ “ความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท และ ความดำริในการเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น
 
***************
 
การก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8
 
ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น ตามลำดับ
 
จะทำให้ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน
 
ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส

ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป ตามลำดับ
 
และ จะทำให้เกิด “การบรรลุธรรม” ตามลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์ 
 
***************
 
การลดลง การจางคลายลง และ การดับสิ้นไป ของ “กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน” ตามลำดับ
 
จนเกิด “การบรรลุธรรม” ตามลำดับ
 
คือสิ่งบ่งบอกถึง “ความก้าวหน้า” ของ “การก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8
 
***************
 
การก้าวเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8
 
หรือ “การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
ต้องก้าวเดินไป ตามลำดับ หรือ ต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามลำดับ
 
จึงจะเกิด “การบรรลุธรรม” ตามลำดับ
 
***************
 
“ในธรรมวินัยนี้

มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ

ที่ภิกษุทั้งหลาย พบเห็นแล้ว ต่างพากันยินดี ในธรรมวินัยนี้

ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ

๑. ธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มี การบรรลุอรหัตตผล โดยทันที

เหมือนมหาสมุทร ที่ต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที

ภิกษุทั้งหลาย

การที่ธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มี การบรรลุอรหัตตผล โดยทันที นี้เป็นธรรม ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑”


...ข้อความส่วนหนึ่งจาก “อุโปสถสูตร”
{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๔-๒๖๕}


ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 21 เมษายน 2567    
Last Update : 24 เมษายน 2567 11:47:38 น.
Counter : 332 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.