"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

22. จงเพียรหมั่นทำ “ประโยชน์ตน” และ “ประโยชน์ท่าน” ให้บริบูรณ์



เมื่อเราได้มีโอกาส เกิดมาเป็นคนแล้ว

สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้ง คือ
๑. คนเราเกิดมา เพื่ออะไร?
๒. อะไร? คือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ที่คนเรา ควรทำให้ถึง
๓. อะไร? คือภารกิจที่สำคัญของชีวิต ที่คนเรา ควรเพียรหมั่นทำ เพื่อทำให้บรรลุ เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต

***************

ผู้เขียนได้เพียรพยายาม ค้นหาคำตอบ จนได้รับคำตอบ ที่ชัดแจ้ง คือ

๑. คนเราเกิดมา เพื่อมารับผลของกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ ในชาติก่อนๆ


กรรมดี หรือ กุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก ได้แก่ การได้ประสบกับความสุข การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ การได้ห่างไกลจากความทุกข์ การได้ห่างไกลจากโทษ การได้ห่างไกลจากภัย การได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้อื่น และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย

กรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก ได้แก่ การได้ประสบกับความทุกข์ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การได้รับโทษ การได้รับภัย และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย

และเมื่อคนเรา ได้เกิดมาแล้ว
คนเราก็จะทำ ทั้ง “กรรมดี” และ “กรรมไม่ดี” คละเคล้ากันไป
ทำให้คนเรา ต้องเวียนวน กลับมาเกิดอีก เพื่อมารับผลของกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ เป็นวัฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุด

“การกระทำกรรมของคนเรา โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน”

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือสิ่งชักนำจิตใจของคนเรา ให้กระทำ ทั้ง “กรรมดี” และ “กรรมไม่ดี” คละเคล้ากันไป
โดยมีลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุข เป็นเหยื่อล่อ
ทำให้คนเรา ต้องเวียนวน อยู่ในวังวนของ “ความสุข (โลกียสุข)” และ “ความทุกข์” ไม่มีที่สิ้นสุด

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน มักจะชักนำจิตใจของคนเรา ให้กระทำ “กรรมไม่ดี” มากกว่า “กรรมดี”
ทำให้คนเรา มีความทุกข์ มากกว่า มีความสุข (โลกียสุข)

ถ้าหากเราต้องการ จะหลุดพ้นออกจาก  วังวนของ “ความสุข (โลกียสุข)” และ “ความทุกข์” อันไม่มีที่สิ้นสุด
เราต้องเพียรหมั่น ชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

๒. เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ที่คนเรา ควรทำให้ถึง คือ การพ้นทุกข์ หรือ การดับทุกข์

บุคคลทั้งหลาย ที่ได้เกิดมาแล้ว
ล้วนต้องการ “ความสุข” ไม่ได้ต้องการ “ความทุกข์” เป็นธรรมดา
ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต จึงคือ การพ้นทุกข์ หรือ การดับทุกข์

๓. ภารกิจที่สำคัญของชีวิต ที่คนเรา ควรเพียรหมั่นทำ เพื่อทำให้บรรลุ เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต คือ

๓.๑ การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมที่ไม่ดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๓.๒ การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การเพียรหมั่นสร้างกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๓.๓ การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การเพียรหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล หรือ มูลเหตุของอกุศล ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

***************

ก่อนที่พระพุทธองค์ จะทรงดับขันธปรินิพพาน
พระพุทธองค์ ได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า
“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไป เป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวง อันเป็นประโยชน์ของตน และ ประโยชน์ของผู้อื่น ให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิดฯ”

การทำประโยชน์ของตน หรือ การทำประโยชน์ตน หมายถึง การปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต ทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว เพื่อความผาสุกของชีวิต เพื่อความพ้นทุกข์ หรือ เพื่อความดับทุกข์

การทำประโยชน์ของผู้อื่น หรือ การทำประโยชน์ท่าน  หมายถึง การกระทำ เพื่อเกื้อกูลโลก เพื่อเกื้อกูลสังคม เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น และ เพื่อเกื้อกูลสัตว์อื่น อันมีผลเป็น  “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก”

***************

เมื่อเราได้มีโอกาส เกิดมาเป็นคนแล้ว
ขอพวกเรา จงเพียรหมั่นทำ “ประโยชน์ตน” และ “ประโยชน์ท่าน” ให้บริบูรณ์
เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
และ เพื่อความพ้นทุกข์ หรือ เพื่อความดับทุกข์

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:30:32 น.
Counter : 4591 Pageviews.  

21. การปฏิบัติ “ศีล” ให้เป็นปกติ




วัตถุประสงค์หลัก ของการปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา คือ เพื่อขัดเกลา หรือ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ
ดังนั้น มรรคผลของการปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา จึงคือ การลดลง การจางคลายลง และ การดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ภายในจิตใจ

***************

เมื่อเราได้กำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติแล้ว
เราต้องยึดถือปฏิบัติ  โดยใช้ “สมาธิ (สมถภาวนา)” และ “ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน
เพื่อทำให้เกิด “มรรคผลจริง” คือ การลดลง การจางคลายลง และ การดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุ ที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล”

***************

การปฏิบัติศีล “สมาธิ (สมถภาวนา)” และ “ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน
จะทำให้เกิด “ความรู้แจ้งเห็นจริงที่ใจ” ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุ ที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล”

***************

การเกิด “ความรู้แจ้งเห็นจริงที่ใจ” ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุ ที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล”
จะทำให้เกิดมรรคผล ดังนี้  คือ

๑. เกิดการลดลง เกิดการจางคลายลง และ เกิดการดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุ ที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล” (พ้นสีลัพพตปรามาส)

๒. เกิดการหมดสิ้น “ความลังเลสงสัย” ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุ ที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล”  (พ้นวิจิกิจฉา)

๓. เกิดการหมดสิ้น “ความหลงยึดมั่นถือมั่น” ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุ ที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล” (เกิดการปล่อยวางได้ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นอัตตานุทิฏฐิ หรือ พ้นอวิชชา)

***************

เมื่อเกิดการ “ปล่อยวาง” กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุ ที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล” ได้แล้ว
“ศีล” ของเรา ก็จะกลายไปเป็น “ปกติวิสัย” ของเรา (ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)

***************


ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อเราได้กำหนดตั้ง “การไม่โกรธ” เป็น “ศีล” ของเราแล้ว
เราต้องยึดถือปฏิบัติ โดยใช้ “สมาธิ (สมถภาวนา)” และ “ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน
เพื่อทำให้ “การไม่โกรธ” เป็น “ปกติวิสัย” ของเรา ดังนี้

๑. เมื่อใดก็ตาม ที่มี “อารมณ์โกรธ” เกิดขึ้น ในจิตใจของเรา 
จงเพียรพยายาม ทำความระงับ ดับอารมณ์โกรธ ที่กำลังเกิดขึ้น
โดยพยายาม ทำจิตใจ ให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ”
และพยายาม ไม่ปล่อยให้จิตใจ ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อารมณ์โกรธ ที่กำลังเกิดขึ้น
(ทำความมีสติ เพื่อรับรู้การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของอารมณ์โกรธ โดยไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ตาม)

๒. จงเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งถึง “ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของอารมณ์โกรธ ที่กำลังเกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ดังนี้
   ๒.๑ อารมณ์โกรธ มีความไม่เที่ยง และ มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา (อนิจจัง) ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่งร่วม (สังขาร) มันจะดับลงไปเอง ในเวลา ไม่นานนัก
   ๒.๒ อารมณ์โกรธ คือบ่อเกิดของความทุกข์ โทษ และ ภัย ทั้งหลาย (ทุกขัง) ดังนั้น เราจึงไม่ควร “หลงไปยึดมั่นถือมั่น” เอาไว้ (ควรปล่อยวาง)
   ๒.๓ อารมณ์โกรธ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน มันเป็นแค่เพียงอุปาทาน ที่เราสามารถทำให้มัน ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปได้ (อนัตตา) ดังนั้น เราจึงไม่ควร “หลงไปยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนของตน”
 
๓. จงเพ่งพิจารณา ให้เห็น “ความจริงตามความเป็นจริง” จนเห็นชัดแจ้งว่า “จริงๆแล้ว เราไม่ควรโกรธ” “จริงๆแล้ว เราควรให้อภัย” และ “จริงๆแล้ว เราควรปล่อยวาง” เพื่อชำระล้าง หรือ “เพื่อสลาย” อารมณ์โกรธ ในจิตใจ ดังนี้

   ๓.๑ ทำไม? เขาจึงพูด เขาจึงทำ เช่นนั้น จนทำให้เรา “โกรธ”
        เป็นเพราะ...เขามีความจำเป็น ใช่ไหม?
        เป็นเพราะ...เขามีความเข้าใจผิด คิดไปเอง ใช่ไหม?
        เป็นเพราะ...เราเคยทำให้เขาไม่พอใจ ขัดเคืองใจ หรือ โกรธ ทั้งที่โดยตั้งใจ และ โดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่รู้ และ โดยไม่รู้ ใช่ไหม?
        เป็นเพราะ...พฤติกรรม หรือ การกระทำของเรา ไม่เหมาะสม จนทำให้เขา หมั่นไส้เรา ไม่ชอบเรา ไม่พอใจเรา ขัดเคืองเรา โกรธเรา ใช่ไหม?
        หรือ เป็นเพราะ...เขาอิจฉา ริษยาเรา ใช่ไหม?
   
        “ถ้าพฤติกรรม หรือ การกระทำของเรา ไม่เหมาะสมจริง ให้เราพิจารณา ปรับปรุง หรือ ปรับเปลี่ยน  ให้เหมาะสม”

   ๓.๒ ทำไม? เราจึงโกรธเขา
        เป็นเพราะ...เรากำลังอารมณ์ไม่ดีอยู่ ใช่ไหม?
        เป็นเพราะ...เราเข้าใจผิด คิดไปเอง ใช่ไหม?
        เป็นเพราะ...จริงๆแล้ว เขาต้องการทำให้เราพอใจ แต่เราไม่พอใจ เพราะ มันไม่ถูกใจเรา ใช่ไหม?
        หรือ เป็นเพราะ...จริงๆแล้ว เขาปรารถนาดีต่อเรา แต่เราไม่พอใจ เพราะ มันไม่ถูกใจเรา ใช่ไหม?
 
   ๓.๓ จงถามตนเองว่า...เราจะอภัยให้เขา ได้ไหม? เราควรจะอภัยให้เขา ดีกว่าไหม? เราควรจะปล่อยวาง ดีกว่าไหม?

***************

ในความเป็นจริงแล้ว
บุคคลทั้งหลาย ล้วนต้องการให้ผู้อื่นรัก ไม่ได้ต้องการให้ผู้อื่นเกลียดชัง เป็นธรรมดา
ดังนั้น ถ้ามีผู้ใด มากระทำให้เราโกรธ ขัดเคืองใจ หรือ ไม่พอใจ
มันต้องมีเหตุผล อันสมควร อย่างแน่นอน

***************

ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ไม่ควรโกรธ
ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ควรให้อภัย
ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ควรปล่อยวาง
เพราะ “อารมณ์โกรธ” คือ บ่อเกิดของความทุกข์ โทษ และ ภัย ทั้งหลาย
 
***************

สิ่งที่มีความสำคัญ สำหรับ การทำให้ “การไม่โกรธ” กลายเป็นปกติของเรา (ทำ “ศีล” ให้เป็นปกติ) คือ

๑. ต้องมีผัสสะ เป็นปัจจัย

     “ถ้าไม่มีผู้ใด มากระทำให้เรา “โกรธ” เราคงไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาจิต”
     “ถ้าไม่มีผู้ใด มากระทำให้เรา “โกรธ” เราคงไม่มีโอกาส ได้ทำ...อภัยทาน”
     “ถ้าไม่มีผู้ใด มากระทำให้เรา “โกรธ” เราคงไม่รู้ว่า เราสอบผ่านหรือไม่?”

๒. ต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ ต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ให้ติดเป็นนิสัย เพื่อทำความปล่อยวาง “อารมณ์โกรธ”

     เมื่อใดก็ตาม ที่มี “อารมณ์โกรธ” เกิดขึ้นมา ภายในจิตใจของเรา
     ไม่ว่าเรา จะสามารถระงับดับได้ทัน หรือ ไม่สามารถจะระงับดับได้ทัน
     ขอให้เรา จงเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา หรือ วิปัสสนา ล้างออกจากจิตใจของเรา (อย่าปล่อยให้มัน ค้างคาอยู่ในจิตใจ)
     ถ้าเราไม่เพียรหมั่น เพ่งพิจารณา หรือ วิปัสสนา ล้างออกจากจิตใจของเรา 
     มันจะสั่งสมพอกพูนเพิ่มขึ้น จนกลายไปเป็น อารมณ์โทสะ อารมณ์พยาบาท อาฆาตแค้น จองเวร

๓. ต้องมองให้เห็นมรรคผล แม้มีประมาณน้อย หรือ ต้องมองให้เห็น ความชนะในความแพ้ คือ ต้องมองให้เห็น การลดลง การจางคลายลง ของ “อารมณ์โกรธ” ในจิตใจ โดยลำดับ เพื่อทำให้เรา “มีพลัง” ในการต่อสู้ เพื่อเอาชนะ “อารมณ์โกรธ”

     การขัดเกลา หรือ การชำระล้าง อารมณ์โกรธ ออกจากจิตใจของเรา
     ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
     เราต้องใช้ความเพียรพยายาม ค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร
     ถ้าหากเรา มองไม่เห็นมรรคผล แม้มีประมาณน้อย หรือ มองไม่เห็น ความชนะในความแพ้
     เราจะไม่มีพลัง ในการต่อสู้ เพื่อเอาชนะ “อารมณ์โกรธ”

***************

เมื่อเราได้เพ่งพิจารณา จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ "อารมณ์โกรธ" แล้ว
ก็จะเกิด การปล่อยวาง "อารมณ์โกรธ" ได้ ตามมา (เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)
และ จะทำให้ “การไม่โกรธ” กลายไปเป็น “ปกติวิสัย” ของเรา (ทำให้ “ศีล” กลายเป็นปกติ)

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:30:12 น.
Counter : 1626 Pageviews.  

20. การกำหนดตั้งศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ


การกำหนดตั้งศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ

การปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้เกิดเป็น “อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา” เพื่อทำให้เกิด การเคลื่อนที่ไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” สู่ความพ้นทุกข์

“ศีล” คือ สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็น “ปกติ” หรือ ให้เป็น “นิสัย” (ปกติวิสัย)

“ศีล” คือ สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา
เพื่อขัดเกลา หรือ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นมูลเหตุของความทุกข์ ที่เราต้องชำระล้างออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง

“ศีล” ที่พระพุทธองค์ ทรงกำหนดตั้งขึ้นมา เป็นเบื้องต้น เพื่อให้พวกเรา ได้ยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ คือ ศีล ๕

***************

การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ในเบื้องต้น คือ การปฎิบัติศีล ๕ ให้เป็นปกติ โดยใช้ สมาธิ และ ปัญญา ร่วมกัน

ศีล ๕ ประกอบด้วย

๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. งดเว้นจากการประพฤติในกาม
๔. งดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. งดเว้นจาก การดื่มสุราเมรัย และ การเสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย

มูลเหตุสำคัญ ที่ทำให้คนเรา ประพฤติผิดศีล ๕ คือ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง

ตัวอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์ (รวมถึงคนด้วย) อาจเกิดจาก

๑. ความโกรธ ที่มีอยู่มากมาย ภายในจิตใจ จนกลายเป็น ความพยาบาท ความอาฆาทแค้น จนต้องฆ่าผู้อื่น และ สัตว์อื่น

๒. ความโลภ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ที่มีอยู่มากมาย ภายในจิตใจ จนต้องฆ่าผู้อื่น และ สัตว์อื่น

๓. ความหลง ที่มีอยู่มากมาย ภายในจิตใจ จนต้องฆ่าผู้อื่น และ สัตว์อื่น

การปฏิบัติศีล ๕ คือ การปฏิบัติ เพื่อขัดเกลา หรือ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่มีอยู่ภายในจิตใจ ให้ลดลง ให้จางคลายลง โดยใช้ สมาธิ และ ปัญญา ร่วมกัน

***************

เมื่อเรามีศีล ๕ เป็นปกติแล้ว

เราต้องกำหนดตั้ง “ศีล” ให้สูงขึ้น ให้เป็น “อธิศีล”

เพื่อขัดเกลา หรือ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่มีอยู่ในจิตใจ ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

การกำหนดตั้ง “ศีล” ให้สูงขึ้น ให้เป็น “อธิศีล” คือ การนำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ ในระดับกลาง และ ในระดับละเอียด มากำหนดตั้ง ให้เป็น “ศีล” ตามลำดับ ดังนี้

๑. กิเลสในระดับหยาบ ได้แก่ ความทุกข์ ความเครียด ความวิตกกังวลใจ, ความโลภ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ที่มีมากมาย จนเกินความจำเป็นของชีวิต, ความโกรธ ความขัดเคืองใจ ความไม่พอใจ, ความหลงติดใจในโลกียสุข ที่ทำให้เกิดโทษและเกิดภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น และ แก่สัตว์อื่น, ความหลงเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย ฯลฯ

๒. กิเลสในระดับกลาง ได้แก่ อารมณ์ชอบใจ และ อารมณ์ไม่ชอบใจ ที่เกิดจาก กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส

๓. กิเลสในระดับละเอียด ได้แก่ รูปราคะ คือ ความกำหนัดยินดี ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยรูปในจิต, อรูปราคะ คือ ความกำหนัดยินดี ที่เกิดขึ้น โดยไม่อาศัยรูป, มานะ คือ ความถือตัวถือตนเป็นใหญ่, อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน และ อวิชชา คือ ความหลงยึดมั่นถือมั่นในจิต และ เจตสิก

***************

ถ้าไม่มีการกำหนดตั้ง “ศีล” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ

ก็จะไม่เกิด การบรรลุธรรม โดยลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี  พระอนาคามี และ พระอรหันต์

ถ้าไม่มีการกำหนดตั้ง “ศีล” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ

ก็จะไม่เกิด การเคลื่อนที่ไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” สู่ความพ้นทุกข์

***************

เมื่อเรากำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติแล้ว

เราต้องปฏิบัติ “สมาธิ” และ “ปัญญา” ร่วมกัน

เพื่อขัดเกลา หรือ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล” ออกจากจิตใจ

เมื่อเราสามารถชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ทำให้เรา “ละเมิดศีล” ออกจากจิตใจ ได้แล้ว

“ศีล” ก็จะกลายเป็นปกติวิสัยของเรา (ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)

***************

ศีล (สก. ศีล มค. สีล) น. ความเคย, นิสัย, ความประพฤติองค์แห่งจรรยา, ข้อบัญญัติสำหรับความประพฤติ, บัญญัติทางพระพุทธศาสนา, ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นปรกติ หมายถึง ความประพฤติกายและวาจาให้สุภาพเรียบร้อยเพื่อรักษาสันติสุขแห่งประชุมชน, ศีลในพระพุทธศาสนา

อธิ (มค. อธิ) คำใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น แปลว่า พ้น, เหนือ, ทับ, ยิ่ง, เจริญ, เช่น อธิราช = พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าราชาอื่นๆ

*** ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:29:52 น.
Counter : 1821 Pageviews.  

19. วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ...2




ห้าสิบแปดผ่านพ้น       ขวบปี

ธรรมมั่นมุ่งก่อดี           แน่วแท้

ทุ่มใจทุ่มกายพลี          เพียรก่อ บุญเฮย

หมายมุ่งพ้นทุกข์แล้     สู่ห้วงนิพพานฯะ


***************


ชีวิตนี้...ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ

เผลอแป๊บเดียว ผ่านพ้นไปแล้ว ๕๘ ปี

ชีวิตนี้ น้อยนัก

ชีวิตนี้ สั้นนัก

ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน

ชีวิตนี้ เหลืออยู่เท่าใด?

ไม่มีใคร ที่จะหยั่งรู้ได้

ขอพวกเรา จงอย่าประมาท ในการใช้ชีวิต

ขอพวกเรา จงอย่าประมาทว่า “ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่”

ขอพวกเรา จงใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่นี้ ให้มีคุณค่า ให้มีประโยชน์ ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป


***************


สิ่งที่พวกเรา ควรเร่งทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้ง คือ

๑. คนเราเกิดมา เพื่ออะไร?

๒. อะไร? คือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ที่เราควรทำให้ถึง

๓. อะไร? คือภารกิจที่สำคัญของชีวิต ที่เราควรเพียรหมั่นทำ เพื่อทำให้เรา ก้าวไปถึง เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต


***************


และ เมื่อพวกเรา

ได้ทำความเข้าใจ ในสิ่งดังกล่าว จนชัดแจ้งแล้ว

ขอพวกเรา จงเพียรหมั่นทำ ภารกิจที่สำคัญของชีวิต ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง

เพื่อก้าวไปสู่ เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต


***************


ถึงแม้ว่า พวกเรา จะไม่สามารถก้าวไปถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตได้ ในชาตินี้

สิ่งที่พวกเรา ได้กระทำเอาไว้ ในชาตินี้

จะเป็นพลวปัจจัย ทำให้พวกเรา ได้ก้าวต่อไป ในชาติต่อๆไป ในภพภูมิที่สูงขึ้น โดยมีความผาสุกในชีวิต มากขึ้น


ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:29:35 น.
Counter : 1981 Pageviews.  

18. การปฏิบัติธรรม ให้เกิดมรรคผลจริง



การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง เป็นอย่างไร?

๑. ต้องปฏิบัติให้ถูกมรรคถูกทาง

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกมรรคถูกทาง คือ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยใช้ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ขับเคลื่อน เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

ศีล คือ สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย

สมาธิ คือ การอบรมจิต หรือ การเจริญสมถภาวนา เพื่อทำให้ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน สงบระงับดับลง (สัมมาสมาธิ)

ปัญญา คือ การอบรมปัญญา หรือ การเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อทำให้เกิด ปัญญาในทางธรรม (สัมมาทิฏฐิ)

เมื่อกำหนดตั้งศีลขึ้นมาแล้ว ต้องใช้ สมาธิ (การอบรมจิต) และ ปัญญา (การอบรมปัญญา) ขัดเกลา (ชำระล้าง) กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุของ การละเมิดศีล ออกจากจิตใจ

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา จะก่อให้เกิด การลดลง การจางคลายลง และ การดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน และ จะก่อให้เกิด “สัมมาทิฏฐิ” มากขึ้น (เกิดปัญญาล้างอวิชชา หรือ เกิดปัญญาล้างมิจฉาทิฏฐิ)

เมื่อ “ทิฏฐิ” มีความเป็น “สัมมา” มากขึ้น “สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ และ สมาธิ” ก็จะมีความเป็น “สัมมา” มากขึ้น


๒. ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ ลดลง โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้ได้รับความสุขสงบ มากขึ้น โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้เกิด การบรรลุธรรม ตามลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องกำหนดตั้งศีล ให้ถูกต้องตามลำดับ ดังนี้

ลำดับที่ ๑ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย (ชำระล้างออกจากจิตใจ)

ลำดับที่ ๒ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย (ชำระล้างออกจากจิตใจ)

ลำดับที่ ๓ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย (ชำระล้างออกจากจิตใจ)

"การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา ต้องปฏิบัติให้เป็น อธิศีล (กำหนดตั้งศีล ให้สูงยิ่งขึ้น ตามระดับของกิเลส) เพื่อทำให้เกิด อธิจิต (เกิดจิตที่เป็นสมาธิยิ่งขึ้น) และ ทำให้เกิด อธิปัญญา (เกิดปัญญายิ่งขึ้น)"

การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา ที่สูงขึ้นโดยลำดับ จะทำให้เกิด การเคลื่อนที่ไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ สู่ความพ้นทุกข์”


๓. ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงจะเกิดการขัดเกลาจิตใจ ได้จริง หรือ จึงจะเกิดการขัดเกลา (ชำระล้าง) กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ได้จริง

ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย จะเกิดการนอนเนื่องของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน (ไม่ทำให้เกิดมรรคผลจริง) และ จะเกิดการหลงคิดไปว่า ตนเองบรรลุธรรมแล้ว

“ผัสสะ เปรียบเสมือน แบบฝึกหัด หรือ แบบทดสอบ”

“ถ้าไม่มีผัสสะ เราจะไม่รู้ว่า เราสามารถเอาชนะกิเลสได้แล้ว จริงหรือไม่?”


๔. ต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ ต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ให้ติดเป็นนิสัย

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ ต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ให้ติดเป็นนิสัย

จึงจะเกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวาง  กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ได้ (เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)


๕. ต้องมองให้เห็นมรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องมองให้เห็นมรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย หรือ ต้องมองให้เห็น ความชนะในความแพ้ จึงจะเกิดพลัง หรือ แรงผลักดัน (ฉันทะ) ในการปฏิบัติต่อ

เพราะเหตุว่า

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน เป็นสิ่งที่มีฤทธิ์มีแรงมาก และ เป็นสิ่งที่ถูกสั่งสมพอกพูนเอาไว้ ภายในจิตใจ ข้ามภพข้ามชาติมา ไม่รู้ว่า กี่ภพกี่ชาติ

ดังนั้น การชำระล้าง ออกจากจิตใจ จึงต้องใช้ความเพียรพยายาม ค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร

ถ้ามองไม่เห็นมรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย หรือ มองไม่เห็น ความชนะในความแพ้

ก็จะเกิดความทุกข์ ความเครียด และ ความท้อแท้ (หมดฉันทะ)

***************

การปฏิบัติธรรม ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องตามลำดับ จะไม่ทำให้เกิด การบรรลุธรรม ตามลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้เกิด ความทุกข์ และ ความเครียด มากขึ้น

การปฏิบัติธรรม ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้เกิด การเวียนวน อยู่ในวังนวนของความสุข (โลกียสุข) และ ความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด

***************

หากการปฏิบัติธรรม

ไม่เกิดความก้าวหน้าในธรรม

จงพิจารณาปรับเปลี่ยน การปฏิบัติธรรม

ให้ถูกมรรคถูกทาง และ ให้ถูกต้องตามลำดับ

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2562    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2563 3:30:40 น.
Counter : 2121 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.