"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

77. จงอย่าหลงยึดมั่นถือมั่น ในร่างกายของตน



ร่างกายของเรานี้

ไม่ว่าเราจะดูแลอย่างไร? ดีแค่ไหน?

สุดท้ายแล้ว

ก็ต้องแก่ ต้องเฒ่า ต้องตาย และ ต้องนำเอาไปเผา

***************

ไม่มีผู้ใด ที่จะสามารถหยุดยั้ง “ความหนุ่มความสาว” เอาไว้ได้ยาวนาน

ไม่ช้าไม่นาน ผิวกายของเรา ก็ต้องเหี่ยวต้องย่น

ไม่ช้าไม่นาน เส้นผมของเรา ก็ต้องหงอกต้องขาว

ไม่ช้าไม่นาน ร่างกายของเรา ก็ต้องแก่ต้องเฒ่า

ไม่ช้าไม่นาน ตัวของเรา ก็ต้องตาย จากโลกนี้ไป

***************

และ ไม่มีสิ่งใด ที่จะสามารถหยุดยั้ง “ไม่ให้เราต้องแก่และไม่ให้เราต้องตาย” ได้

ไม่ว่าวิทยาการทางการแพทย์ จะเจริญก้าวหน้าไป มากมายแค่ไหน

ก็ไม่สามารถจะช่วยหยุดยั้ง “ไม่ให้เราต้องแก่และไม่ให้เราต้องตาย” ได้

อย่างมาก ที่สามารถจะช่วยได้ คือ ช่วยให้ชะลอวัยได้บ้าง และ ช่วยยืดอายุขัยได้บ้าง แต่ไม่มากนัก

***************

ไม่ว่าจะแก่ช้า หรือ แก่เร็ว ก็ต้องแก่

ไม่ว่าจะตายช้า หรือ ตายเร็ว ก็ต้องตาย

เพราะ ไม่มีผู้ใด ที่จะสามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้

และ ไม่มีผู้ใด ที่จะสามารถล่วงพ้นความตายไปได้

***************

๗. ฐานสูตร

ว่าด้วยฐานะที่ควรพิจารณาเนืองๆ

[๕๗] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้

ที่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ต้องพิจารณาเนืองๆ

ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง

คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

๔. เราจะต้องพลัดพราก จากของรักของชอบใจ ทั้งสิ้น

๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น


{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม: ๒๒ หน้า: ๙๙-๑๐๐}

***************

ในความเป็นจริงแล้ว

ร่างกายของเรา เป็นแค่พียง ที่อาศัยชั่วคราวของชีวิตและจิตใจของเรา เท่านั้นเอง

ดังนั้น เราจึงไม่ควร “ไปหลงใหลและไปหลงยึดมั่นถือมั่น” ในร่างกายของเรา

***************

จงอย่าทุกข์ใจ และ จงอย่าวิตกกังวลใจ

เมื่อร่างกายของเรา ต้องแก่ต้องเฒ่า

เพราะความแก่ความเฒ่า คือธรรมดาของร่างกาย

***************

จงอย่าทุกข์ใจ และ จงอย่าวิตกกังวลใจ

ไปกับความตาย ที่จะมาถึงเรา ในอีกไม่ช้าไม่นาน

เพราะความตาย คือธรรมดาของชีวิต

และ “การตายของคนเรา” เป็นแค่เพียง การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ตามกรรมตามวิบาก ตามวาระอันควร เท่านั้นเอง

***************


เพราะ

ร่างกายของเรา คือสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตและจิตใจของเรา ในขณะที่เรา ยังมีลมหายใจอยู่

และ ร่างกายของเรา เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะดูแลรักษา ให้คงสภาพอยู่ดังเดิมได้

ดังนั้น เราจึงควร “หมั่นดูแลรักษาร่างกายของเรา” ตามสมควร

เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ในชาตินี้

***************


เพราะ

จิตใจของเรา คือสิ่งที่จะนำพาชีวิตของเรา ไปสู่ภพภูมิใหม่ เมื่อเราต้องตายจากโลกนี้ไป

และ จิตใจของเรา เป็นสิ่งที่สามารถจะพัฒนา ให้เจริญขึ้นได้ ให้สูงขึ้นได้ และ ให้สะอาดบริสุทธิ์มากขึ้นได้

ดังนั้น เราจึงควร “มุ่งเน้นพัฒนาจิตใจของเรา” ให้เจริญขึ้น ให้สูงขึ้น และ ให้สะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น

เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

เพราะ จิตใจที่ได้รับการพัฒนา ให้เจริญขึ้น ให้สูงขึ้น และ ให้สะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น

จะนำพาความสุขสงบ มาสู่ชีวิตของเรา

และ จะนำพาชีวิตของเรา ไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น

***************


เพราะ

ความสุขและความทุกข์ เกิดขึ้นที่จิตใจของเรา

และ การทำความดับแห่งกองทุกข์ ต้องทำที่จิตใจของเรา

ดังนั้น เราจึงควร “มุ่งเน้นพัฒนาจิตใจของเรา” เป็นหลัก

“พิศเพ่งพัฒน์จิตแจ้ง นั่นแท้พึงทำ”

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2564    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2564 16:02:20 น.
Counter : 665 Pageviews.  

76. ปี พ.ศ. ที่ 60 ของชีวิต



วันนี้ เป็นวันเริ่มต้น ปี พ.ศ. ที่ 60 ของชีวิต

ถือว่าเป็นวันที่ดี

ที่เหมาะแก่การทบทวนชีวิต

และ วางแนวทางการดำเนินชีวิต

เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต

***************

ชีวิตที่ผ่านมา 1 ปี เป็นอย่างไร?

เราได้เรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้ มากน้อยแค่ไหน?

เราได้ทำ ในสิ่งที่ควรทำ มากน้อยเท่าใด?

เรามีความก้าวหน้า ในทางโลก และ ทางธรรม บ้างไหม?

เราประมาท ในการใช้ชีวิต มากไปไหม?

เราปล่อยให้ชีวิต ไหลเลื่อนไปตามอำนาจของกิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน มากเกินไปไหม?

***************

ในปีใหม่นี้ เราจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร?

เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า ในทางโลก และ ทางธรรม ยิ่งๆขึ้นไป

เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

และ เพื่อให้ได้ก้าวเข้าไปใกล้ “เป้าหมายสูงสุดของชีวิต” มากที่สุด

ก่อนที่ชีวิต จะดับสูญสิ้นไป จากโลกนี้

********************

เราต้องหมั่นเตือนตนเองอยู่เนืองๆ ว่า

“ชีวิตนี้ น้อยนัก ชีวิตนี้ สั้นนัก ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน”

“บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ไม่ตาย ไม่มี”

“ไม่มีใคร ที่จะสามารถล่วงรู้ได้ว่า วันเวลาของชีวิตของตน เหลืออยู่ มากน้อยเท่าใด? กี่วัน? กี่เดือน? กี่ปี?

“ไม่มีใคร ที่จะสามารถล่วงรู้ได้ว่า ตนเองจะต้องตายเมื่อใด? อย่างไร? และ ที่ไหน?”

“วันพรุ่งนี้ จะมีให้เรา ได้ก้าวต่อไป หรือไม่?”

ในขณะที่เรา ยังคงมีลมหายใจอยู่นี้ ขอให้เรา ...

จงอย่าประมาท ในการใช้ชีวิต

จงอย่าประมาทว่า ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่

จงอย่าปล่อยให้ชีวิต ไหลเลื่อนไปตามอำนาจของกิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน

จงอย่าปล่อยให้วันเวลาของชีวิต ผ่านพ้นไป โดยเปล่าดาย

จงเพียรหมั่นเรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้

จงเพียรหมั่นทำ ในสิ่งที่ควรทำ

เพื่อให้ได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ

เพื่อให้ได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง

ก่อนที่ชีวิต จะดับสูญสิ้นไป จากโลกนี้

ชาญ คำพิมูล

1 มกราคม 2564
 




 

Create Date : 01 มกราคม 2564    
Last Update : 1 มกราคม 2564 7:36:48 น.
Counter : 725 Pageviews.  

75. ทำสิ่งๆดี เพื่อนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต



“กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม”
 
กรรมดี (กุศลกรรม) หรือ การกระทำดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ มีผลเป็น กุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี ได้แก่ การได้สุข (โลกียสุข) การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ การได้ห่างไกลจากโรค การได้ห่างไกลจากภัย การมีมิตรมาก และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย
 
กรรมไม่ดี (อกุศลกรรม) หรือ การกระทำไม่ดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ มีผลเป็น อกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมไม่ดี ได้แก่ การได้ประสบกับความทุกข์ การไม่มีลาภ การไม่มียศ การไม่ได้รับคำสรรเสริญ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การมีโรค การได้รับโทษ การได้รับภัย การมีมิตรน้อย และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
 
ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรหมั่นทำแต่สิ่งดีๆ เพื่อนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต
 
***************
 
สิ่งดีๆ อันเป็นมงคลสำหรับชีวิต ที่เราควรทำ ในวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ และควรยึดมั่นหมั่นทำต่อๆไป คือ โอวาทปาฏิโมกข์ 3 ได้แก่
 
1. ไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ โดยเริ่มต้นด้วยการ ไม่ละเมิดศีล 5 เป็นเบื้องต้น
 
2. ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ โดยเริ่มต้นด้วยการคิดดี พูดดี และ ทำดี ต่อบุคคลรอบๆข้าง เป็นเบื้องต้น
 
3. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้ปราศจาก กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน โดยเริ่มต้นด้วยการพิจารณาชำระล้าง สิ่งที่ไม่ดี ที่ค้างคาอยู่ในจิตใจ ออกจากจิตใจ เป็นเบื้องต้น ตัวอย่างเช่น โกรธใคร เกลียดใคร แค้นเคืองใคร ไม่พอใจใคร ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ ให้พิจารณาล้างออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น ฯลฯ
 
***************
 
ในวารดิถี วันขึ้นปีใหม่นี้
 
ขอทุกๆท่าน จงอย่าประมาท ในการใช้ชีวิต
 
เพราะชีวิตนี้ มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นธรรมดา
 
และ ขอทุกๆท่าน จงทำแต่สิ่งดีๆ
 
เพื่อนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต
 
และ เพื่อนำพาชีวิต ไปสู่ภพภูมิที่ดี เมื่อต้องจากโลกนี้ไป (ไปดี)
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 31 ธันวาคม 2563    
Last Update : 31 ธันวาคม 2563 15:35:15 น.
Counter : 849 Pageviews.  

74. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 15



วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ
 
ประเดี๋ยวคืน ประเดี๋ยววัน
 
ประเดี๋ยวเดือน ประเดี๋ยวปี
 
เผลอแป๊บเดียว จะสิ้นปีอีกแล้ว
 
***************
 
เพราะชีวิตคนเรานี้ น้อยนัก
 
เพราะชีวิตคนเรานี้ สั้นนัก
 
เพราะชีวิตคนเรานี้ ไม่แน่นอน
 
เพราะฉะนั้น เราจึงควรใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ไม่มากนักนี้
 
ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
***************
 
สิ่งที่มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป คือ
 
1. การเรียนรู้ทุกข์ การเรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ การเรียนรู้ความดับแห่งทุกข์ และ การเรียนรู้วิธีการดับทุกข์
 
2. การเพียรทำความดับแห่งกองทุกข์ ด้วยการละบาปอกุศลทั้งปวง การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม และ การทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้ปราศจาก กิเลส ราคะ ตัณหา และอุปาทาน
 
***************
 
การเพียรทำในสิ่งดังกล่าวมานี้
 
จะมีผลเป็น คุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
ถึงแม้ว่า จะไม่สามารถบรรลุได้ ในชาตินี้ ก็จะเป็นพลวปัจจัย สำหรับชาติต่อๆไป
 
***************
 

ขอท่านทั้งหลาย จงหมั่นเตือนตนอยู่เนืองๆ ว่า
 
วันเวลาของชีวิต ผ่านพ้นไป 1 วัน ชีวิตสั้นลงไป 1 วัน
 
วันเวลาของชีวิต ผ่านพ้นไป 1 เดือน ชีวิตสั้นลงไป 1 เดือน
 
วันเวลาของชีวิต ผ่านพ้นไป 1 ปี ชีวิตสั้นลงไป 1 ปี
 
และ ชีวิตคนเรานี้ มีความไม่แน่นอน เป็นธรรมดา
 
ไม่มีใคร ที่จะล่วงรู้ได้ว่า วันเวลาของชีวิตของตน เหลืออยู่เท่าใด
 
ขอท่านทั้งหลาย จงอย่าประมาทในการใช้ชีวิต
 
ขอท่านทั้งหลาย จงอย่าประมาทว่า ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่
 
ขอท่านทั้งหลาย จงใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ไม่มากนักนี้
 
ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต
 
ด้วยการเพียรทำ ในสิ่งที่ควรทำ
 
เพื่อให้ได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
และ เพื่อให้ได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง คือ ความดับแห่งกองทุกข์

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2563    
Last Update : 27 ธันวาคม 2563 14:44:06 น.
Counter : 673 Pageviews.  

73. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 14



การทำความดับแห่งกองทุกข์ หรือ การปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์

ต้องมี “ผัสสะ” เป็นปัจจัย

จึงจะทำให้เกิด การบรรลุธรรมจริง

หรือ จึงจะทำให้เกิด การดับจริงของราคะ (วิราคะ) และตัณหา

***************

ผัสสะ คือความประจวบกันของสามสิ่ง คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และ วิญญาณ (ความรับรู้)

***************

ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกาม

เพราะผัสสะดับ กามจึงดับ

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกาม ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
 
ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
 
ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งสัญญา

เพราะผัสสะดับ สัญญาจึงดับ

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสัญญา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
 
ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

เพราะผัสสะดับ กรรมจึงดับ

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรมได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
 

...ข้อความบางส่วน จาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๓ - ๕๗๗ }
 
***************

อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือ ด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ
       เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
       เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
       เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
       เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
       เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
       เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
       เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
       เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
       เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
       เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้

.
..ข้อความบางส่วน จาก ปฏิจจสมุปปาทสูตร
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒}


***************

การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม

ต้องมี “ผัสสะ” เป็นปัจจัย

จึงจะทำให้เกิด การขัดเกลาจิตใจได้จริง

หรือ จึงจะทำให้เกิด การขัดเกลา (ชำระล้าง) กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจได้จริง

หรือ จึงจะทำให้เกิดการดับจริงของ กิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน

***************

ถ้าไม่มี “ผัสสะ” เป็นปัจจัย

จะทำให้เกิด การนอนเนื่องของกิเลส ราคะ ตัณหา และ อุปาทาน

และ จะทำให้เกิด การหลงผิดคิดไปว่า ตนเองได้บรรลุธรรมแล้ว

ดังนั้น จึงไม่ควร หลีกหนีผัสสะ หรือ หลบลี้หนีห่างจากผัสสะ

***************

“ผัสสะ คือสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ในการปฏิบัติ เพื่อทำความดับแห่งกองทุกข์”

“ผัสสะ เปรียบเสมือน แบบฝึกหัด หรือ แบบทดสอบ”

“ถ้าไม่มีผัสสะ เราจะไม่รู้ว่า เราสามารถเอาชนะกิเลสได้แล้ว จริงหรือไม่?”
 
“ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใด มากระทำให้เราโกรธ เราจะไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความโกรธ ออกจากจิตใจของเรา (ดับความโกรธ)”

 “ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใด มากระทำให้เราโลภ (อยากได้ อยากมี และ อยากเป็น) เราจะไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความโลภ ออกจากจิตใจของเรา (ดับความโลภ)”

“ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใด มากระทำให้เราหลงใหลติดใจ หรือหลงยึดมั่นถือมั่น เราจะไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความหลง ออกจากจิตใจของเรา (ดับความหลง)”

จงใช้ “ผัสสะ” ที่เกิดขึ้นมาในชีวิต เพื่อทำให้เกิดความปราศจากราคะ หรือ วิราคะ (ดับราคะ) อันจะนำพาชีวิตไปสู่ ความดับแห่งกองทุกข์

***************


ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน

ผัสสะ น. การกระทบ การถูกต้อง เช่น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ การที่ตา หู จมูก ลิ้น และกาย กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่รับรู้ได้ทางกาย เช่น ความสุขทางผัสสะ. (ป.).

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2563    
Last Update : 6 ธันวาคม 2563 9:45:15 น.
Counter : 641 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.