"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

117. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 3



การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ต้องปฏิบัติ ให้ถูกมรรคถูกทาง

และ ต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องโดยลำดับ

จึงจะเกิด “การบรรลุธรรม” โดยลำดับ

คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันต์

***************

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง

และ ไม่ถูกต้องโดยลำดับ

จะไม่ทำให้เกิด “การบรรลุธรรม” โดยลำดับ

จะเกิดการเวียนวน อยู่ในวังวนของความสุข (โลกียสุข) และความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นวัฏสงสาร

และ อาจทำให้เกิด “ความทุกข์และความเครียด” ตามมา
 
***************
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ที่ถูกมรรคถูกทาง และ ถูกต้องโดยลำดับ

คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ ๘” สู่ความดับทุกข์

***************
 
การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ ๘” สู่ความดับทุกข์

คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา

เพื่อปรับเปลี่ยน การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

ที่เป็นอกุศล (มิจฉา) ให้เป็นกุศล (สัมมา)

โดยการชำระล้าง หรือ การขจัด หรือ การดับ “กิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลาย (ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์)
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา)

ต้องปฏิบัติให้สูงขึ้นโดยลำดับ

ให้เกิดเป็น “อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่ยิ่ง) อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง)

จึงจะเกิด “การเคลื่อนไปตามทางอริยมรรคมีองค์ 8 สู่ความดับทุกข์
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา)

ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องโดยลำดับ

ให้สูงขึ้นโดยลำดับ

เพื่อชำระล้าง หรือ เพื่อขจัด หรือ เพื่อดับ “กิเลส” ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) โดยลำดับ

จึงจะเกิดการบรรลุธรรมโดยลำดับ คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันต์
 
***************

“ในธรรมวินัยนี้

มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ

ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้

ธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ

๑. ธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที

เหมือนมหาสมุทร ที่ต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที

ภิกษุทั้งหลาย

การที่ธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑”


...ข้อความส่วนหนึ่งจาก อุโปสถสูตร”
{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๔-๒๖๕}

 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 26 มีนาคม 2566    
Last Update : 26 มีนาคม 2566 8:00:24 น.
Counter : 435 Pageviews.  

116. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 2



การปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ 3” ทั้ง 3 ข้อ

คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ ๘” สู่ความดับทุกข์
 
***************
 
การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ ๘” สู่ความดับทุกข์

คือ การปรับเปลี่ยน การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

ที่เป็นอกุศล (มิจฉา) ให้เป็นกุศล (สัมมา)

โดยการชำระล้าง หรือ การขจัด หรือ การดับ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลาย
 
***************
 
การปรับเปลี่ยน การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

ที่เป็นอกุศล (มิจฉา) ให้เป็นกุศล (สัมมา)

โดยการชำระล้าง หรือ การขจัด หรือ การดับ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลาย

คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา)
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา)

ต้องปฏิบัติให้สูงขึ้นโดยลำดับ

ให้เกิดเป็น “อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่ยิ่ง) อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง)

จึงจะเกิด “การเคลื่อนไปตามทางอริยมรรคมีองค์ 8 สู่ความดับทุกข์
 
***************
 

ศีล คือสิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อปรับเปลี่ยน การงานอาชีพ การกระทำทางกาย (กายกรรม) การพูด (วจีกรรม) และ การคิด (มโนกรรม) ที่เป็นอกุศล (มิจฉา) ให้เป็นกุศล (สัมมา)
 
ศีล คือสิ่งที่ต้องทำให้เป็นปกติของตน หรือ ต้องทำให้เป็นปกติวิสัยของตน (ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ)
 
ผู้ที่มีศีล ที่เป็นปกติของตนแล้ว

คือ ผู้ที่มีปกติ “ไม่ทำอกุศลกรรม” ที่เป็นการละเมิดศีลของตนแล้ว

ตัวอย่างเช่น เป็นผู้มีปกติ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ
 
การทำศีลให้เป็นปกติของตน คือ การชำระล้าง หรือ การขจัด หรือ การดับ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล
 
***************
 
การทำศีลให้เป็นปกติของตน ต้องใช้ “การหมั่นอบรมจิต (การเจริญสมถะ)” และ "การหมั่นอบรมปัญญา (การเจริญวิปัสสนา)" ร่วมกัน
 
การหมั่นอบรมจิต (การเจริญสมถะ) และ การหมั่นอบรมปัญญา (การเจริญวิปัสสนา) ต้องใช้ ความเพียรที่เป็นสัมมา (สัมมาวายามะ) และ สติที่เป็นสัมมา (สัมมาสติ) ร่วมด้วย
 
การอบรมจิต (สมถะ) คือ การเพียรทำความมีสติ เพื่อทำจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้ไม่หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “อำนาจของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล
 
การอบรมจิต เป็นการทำให้ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต ระงับดับลง เพื่อไม่ให้เกิด “การละเมิดศีล” (ยังไม่ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจ)
 
การอบรมปัญญา (วิปัสสนา) คือ การเพียรทำความมีสติ เพื่อเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรละเมิดศีล และ เพื่อเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ “สิ่งที่หลงยึดมั่นถือมั่น” และของ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่คอยชักนำจิตใจ ให้ละเมิดศีล เป็นการทำให้เกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา หรือ ทำให้เกิด การ ”พ้นวิจิกิจฉา
 
การอบรมปัญญา (วิปัสสนา) ดังกล่าว เป็นการทำให้เกิด “การละหน่ายคลาย” และ ทำให้เกิด “การปล่อยวางได้” คือ “ทำให้ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นไปตามอำนาจของกิเลส (ทำให้อุปาทานดับ)” ส่งผลให้ “ตัณหาและกิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจ (พ้นสักกายทิฏฐิ)
 
เมื่อกิเลสที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจของตนแล้ว ก็จะทำให้ “ศีล” เป็นปกติของตน (พ้นสีลัพพัตตปรามาส)
 
***************
 
การหมั่นอบรมจิต (การเจริญสมถะ)

และ การหมั่นอบรมปัญญา (การเจริญวิปัสสนา)

จะทำให้เกิด “สมาธิ” ที่ถูก ที่ตรง ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา (สัมมาสมาธิ) ยิ่งขึ้น

และ จะทำให้เกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา หรือ ทำให้เกิด “ความเห็น” ที่ถูก ที่ตรง ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา (สัมมาทิฏฐิ) ยิ่งขึ้น
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 19 มีนาคม 2566    
Last Update : 24 มีนาคม 2566 4:13:09 น.
Counter : 313 Pageviews.  

115. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 1



บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ คือ "โอวาทปาฏิโมกข์ 3"
 
โอวาทปาฏิโมกข์ 3 เป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในวันมาฆบูชา
 
***************
 
โอวาทปาฏิโมกข์ 3 ประกอบด้วย
 
1.การไม่ทำบาปทั้งปวง (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง) 
 
2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม (กุสะลัสสูปะสัมปะทา)
 
3.การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง)
 
***************
 

เพราะ ...
 
สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม (กมฺมุนา วตฺตตีโลโก)
 
การทำบาป หรือ การทำความชั่ว เป็น อกุศลกรรม หรือ กรรมไม่ดี

อกุศลกรรม หรือ กรรมไม่ดี มีผลเป็น อกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมไม่ดี

อกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมไม่ดี คือ การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย” (ทำให้เป็นทุกข์)

การทำความดี เป็น กุศลกรรม หรือ กรรมดี

กุศลกรรม หรือ กรรมดี มีผลเป็น กุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี

กุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี คือ การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย” (ทำให้เป็นสุข)

กิเลส ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ คือสิ่งชักนำจิตใจของคนเรา ให้คนเรา “ทำกรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม” โดยมี “ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ฯลฯ” เป็นเหยื่อล่อ
 
กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง เป็นมูลเหตุของอกุศล หรือ เป็นอกุศลมูล
 
กิเลส ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ คือสิ่งชักนำจิตใจของคนเรา ให้คนเรา “ทำกรรมดี” โดยมุ่งหวังผลตอบแทน คือ “ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ฯลฯ
 
ผลที่เกิดจากการทำความดี หรือ วิบากกรรมดี เป็นเพียงเครื่องอาศัย ไม่ใช่สิ่งที่ควร “ไปหลงใหลติดใจ” หรือ “ไปหลงยึดมั่นถือมั่น”
 
การหลงใหลติดใจ และ การหลงยึดมั่นถือมั่น ในผลของการทำความดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ฯลฯ จะทำให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง และ ความทุกข์ ตามมา
 
การทำความดี (กุศลกรรม) โดยมุ่งหวังผลตอบแทน จะทำให้เกิด “การเวียนวน อยู่ในวังวนของความสุข (โลกียสุข) และความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นวัฏสงสาร
 
***************
 

ดังนั้น …
 
ถ้าเราต้องการจะทำความดับทุกข์
 
เราต้องปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
 
 
1. ต้องไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง ต้องไม่สร้างอกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมที่ไม่ดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
 
2. ต้องทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง ต้องหมั่นสร้างกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
 
3. ต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หมายถึง ต้องเพียรหมั่น ชำระล้าง หรือ ขจัด หรือ ดับ “กิเลส” คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ซึ่งเป็นอกุศลมูล หรือ เป็นมูลเหตุของอกุศล ที่มีอยู่ภายในจิตใจ ให้หมดสิ้น เพื่อทำจิตใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์
 
***************
 
การทำความดี หรือ กรรมดี ควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ระงับดับกิเลส” และเพื่อ “ให้มีเครื่องอาศัย” ตามสมควร
 
ลำดับสุดท้ายของการทำความดับทุกข์

เราต้องปล่อยวาง “จิตใจ

คือ เราต้องวางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญคุณโทษ วางโลภโกรธหลง วางลาภยศนินทาสรรเสริญ ทั้งหมดทั้งสิ้น

เพื่อเข้าสู่ “พระนิพพาน

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 12 มีนาคม 2566    
Last Update : 12 มีนาคม 2566 7:11:49 น.
Counter : 468 Pageviews.  

114. อย่าเชื่อสิ่งใดๆ โดยง่าย



ผู้เขียนเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง

ที่เกิดมาแล้ว มีความทุกข์

เพราะมีความทุกข์ จึงปรารถนา ที่จะทำความดับทุกข์

เพราะปรารถนา ที่จะทำความดับทุกข์ จึงพยายามค้นหา “วิธีการดับทุกข์

เพราะพยายามค้นหา “วิธีการดับทุกข์” จึงได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์ (อริยมรรคมีองค์ 8)

เพราะได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์” จึงเพียรพยายาม “เดินไปตาม หนทางสู่ความดับทุกข์

เพราะ “เดินไปตาม หนทางสู่ความดับทุกข์” จึงได้พบกับ “ความสุขสงบ (วูปสโมสุข)

เพราะได้พบกับ “ความสุขสงบ (วูปสโมสุข)” จึงปรารถนา ที่จะปล่อยวาง “ความสุขในทางโลก (โลกียสุข)

เพื่อทำความดับทุกข์
 
***************
 
การเดินไปตาม “หนทางสู่ความดับทุกข์ (อริยมรรคมีองค์ 8)

ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งทำให้ความทุกข์ ลดน้อยลง โดยลำดับ

ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย

ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งใกล้จุดหมายปลายทาง คือ “ความดับทุกข์

***************
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ต้องปฏิบัติให้ถูกมรรคถูกทาง

และ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยลำดับ

จึงจะเกิดการบรรลุธรรม โดยลำดับ

คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
***************
 
การปฏิบัติธรรม ที่ถูกมรรคถูกทาง และ ถูกต้องโดยลำดับ คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8” ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้นโดยลำดับ ให้เป็น “อธิศีล (ศีลอันยิ่ง) อธิจิต (จิตอันเป็นสมาธิยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาอันยิ่ง)
 
ถ้าเราไม่เดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8
แล้วเราจะถึงจุดหมายปลายทาง คือความดับทุกข์ ได้อย่างไร?
เพราะ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ หนทางสู่ความดับทุกข์

 
ไม่มีใคร ช่วยให้ใคร พ้นทุกข์ (ดับทุกข์) ได้
ตนของตนเท่านั้น ที่จะช่วยให้ตน พ้นทุกข์ (ดับทุกข์) ได้

 
ถ้าต้องการจะทำความดับทุกข์

จงเริ่มต้น “เดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8

ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้นโดยลำดับ
 
***************
 
สิ่งต่างๆที่ผู้เขียน นำเอามาเขียนเป็น “บทธรรม

เป็นสิ่งที่ผู้เขียน กลั่นกรองเอามาจาก

ประสบการณ์การศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ของผู้เขียนเอง
 
การนำเสนอบทธรรมต่างๆ

มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ “ให้เป็นแง่คิดมุมมองหนึ่ง” ของการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
ในบทธรรมต่างๆ อาจมีเนื้อหาสาระบางเรื่อง บางตอน หรือ บางส่วน

ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านผู้อ่าน ได้เคยรับรู้มาก่อน

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการ ให้ท่านผู้อ่าน หลงเชื่อตาม

จงอย่าหลงเชื่อตาม สิ่งใดๆ โดยง่าย

โดยไม่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรอง โดยรอบคอบ

และ โดยไม่ผ่านการพิสูจน์ให้เห็นจริง ด้วยตนเอง

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ ในกาลามสูตร ดังนี้

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆกันมา (มา อนุสฺสเวน)

2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆกันมา (มา ปรมฺปราย)

3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)

4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)

5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)

6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)

7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรอง ตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)

8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎี ที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)

9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะ น่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)

10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละ หรือถือปฏิบัติ ตามนั้น


ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ผู้แต่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
 
***************
 
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ ดีแล้ว (สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม)

เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อคำของผู้อื่น (สันทิฏฐิโก)

เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล (อะกาลิโก)

เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด (เอหิปัสสิโก)

เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เพื่อยึดถือปฏิบัติ (โอปะนะยิโก)

เป็นสิ่งที่ผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ)
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 21 มกราคม 2566    
Last Update : 23 มกราคม 2566 5:09:17 น.
Counter : 406 Pageviews.  

113. ปี พ.ศ. ที่ 62 ของชีวิต



วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ

ประเดี๋ยวคืน ประเดี๋ยววัน

ประเดี๋ยวเดือน ประเดี๋ยวปี

วันขึ้นปีใหม่ปีนี้ ชีวิตล่วงเข้าสู่ ปี พ.ศ. ที่ 62 แล้ว

(เหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 เดือน จะครบ 62 ปีบริบูรณ์)
 
***************
 
เพราะชีวิตของคนเรานี้ “น้อยนัก สั้นนัก และ ไม่แน่นอน

ดังนั้น เราจึงควร “ใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

ด้วยการ “เรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้

และ ด้วยการ “ทำ ในสิ่งที่ควรทำ
 
***************
 
สิ่งที่ควรเรียนรู้ คือ

1. เรียนรู้ “ทุกข์

2. เรียนรู้ “ความเกิดแห่งกองทุกข์ (สมุทัย, เรียนรู้ ปฏิจจสมุปบาท สายเกิด หรือ สมุทยวาร)”

3. เรียนรู้ “ความดับแห่งกองทุกข์ (นิโรธ, เรียนรู้ ปฏิจจสมุปบาท สายดับ หรือ นิโรธวาร)”

4. เรียนรู้ “หนทางสู่ความดับทุกข์ (มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)”
 
สิ่งที่ควรทำ คือ ทำความดับแห่งกองทุกข์
 
********************
 
อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ทางเดินไปสู่ “ความดับแห่งกองทุกข์

การทำความดับแห่งกองทุกข์ คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8

การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8” คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ต้องปฏิบัติให้เกิดเป็น “อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา” โดยใช้ “สมถะ (การอบรมจิต)” และ “วิปัสสนา (การอบรมปัญญา)” ร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดความก้าวหน้า ไปตามทาง "อริยมรรคมีองค์ 8" สู่ "ความดับแห่งกองทุกข์"
 
***************
 

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ปีนี้

ขอทุกท่าน จงน้อมนำเอา “หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์” มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

เพื่อนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต

เพื่อให้มีภพภูมิที่ดี เป็นที่หมาย เมื่อต้องตายจากโลกนี้ไป

เพื่อให้ได้รับ ในสิ่งที่ควรได้รับ คือ ความสุขสงบของจิตใจ (วูปสโมสุข)

เพื่อให้ได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

เพื่อให้ได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง คือ ความดับแห่งกองทุกข์ หรือ พระนิพพาน
 
ชาญ คำพิมูล
1 มกราคม 2566

 




 

Create Date : 01 มกราคม 2566    
Last Update : 1 มกราคม 2566 9:02:58 น.
Counter : 345 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.