"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

132. ปรับเปลี่ยนกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นกุศล) ตอนที่ 3



การปฏิบัติศีล ให้เป็นปกติ

ต้องใช้ “การปฏิบัติสมาธิ (สมถภาวนา)” และ “การปฏิบัติปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน
 
***************
 
การปฏิบัติสมาธิ (สมถภาวนา) หมายถึง การอบรมจิต

การอบรมจิต หมายถึง การทำจิตใจ ให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้ไม่กระเพื่อมไหว ให้มีสติ ให้มีสมาธิ ให้ไม่หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “อำนาจของกิเลส” เพื่อไม่ให้เกิด “การละเมิดศีล” เมื่อมี “ผัสสะ” มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ
 
การปฏิบัติสมาธิ หรือ สมถภาวนา เป็นการทำให้กิเลส ระงับดับลงไป เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ที่เป็นการละเมิดศีล

การปฏิบัติสมาธิ หรือ สมถภาวนา เป็นการทำความมีสติ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของกิเลส โดยไม่หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “อำนาจของกิเลส” เมื่อมี “ผัสสะ” มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ

การปฏิบัติสมาธิ หรือ สมถภาวนา เป็นการเพียรพยายาม ไม่ปล่อยให้ “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ไหลเลื่อนไปตาม “อำนาจของกิเลส” จนทำให้เกิด “การละเมิดศีล

การปฏิบัติสมาธิ หรือ สมถภาวนา เป็นการระงับ “การกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม)” ที่เป็นการละเมิดศีล เพื่อไม่ให้เกิด “อกุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิต
 
***************
 
การปฏิบัติปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) หมายถึง การอบรมปัญญา
 
การอบรมปัญญา หมายถึง การเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) จนพ้นสักกายทิฏฐิ จนพ้นวิจิกิจฉา จนพ้นสีลัพพตปรามาส โดยมีแนวทางในการเพ่งพิจารณา ดังนี้
 

  1. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรละเมิดศีล ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด โดยเพ่งพิจารณา ให้เห็นถึง ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ ภัย และ กรรมวิบาก (ผลของกรรม) ที่จะเกิดขึ้นตามมา จากการละเมิดศีล
 
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น หรือ การทำร้ายทำลายผู้อื่นสัตว์อื่น เราควรหมั่นเจริญ “เมตตาจิต”
 
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ความหลงใหลและความหลงยึดมั่นถือมั่นในรูปร่างกายของตน หรือ ความหลงใหลในรูปร่างกายของผู้อื่น เราควรหมั่นเจริญ “อสุภะ” เราควรหมั่นเจริญ “ปฏิกูลมนสิการ” และ เราควรหมั่นเจริญ “ธาตุมนสิการ”
 
  1. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงใหลติดใจ ความหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นชอบใจ เป็นไม่ชอบใจ เป็นเกลียด เป็นชัง เป็นความอยาก เป็นความใคร่อยาก เป็นความอยากได้ เป็นความอยากมี เป็นความอยากเป็น เป็นตัวเป็นตนของตน เป็นของของตน ฯลฯ
 
การได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา” ของกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล จะทำให้เกิด “การละหน่ายคลาย” และ เกิด “การปล่อยวางได้” ชื่อว่า “พ้นสักกายทิฏฐิ” คือ ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นในกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ว่าเป็นตัวเป็นตนของตน หรือ เป็นของของตน
 
การได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล จนพ้นสักกายทิฏฐิ ชื่อว่า “พ้นวิจิกิจฉา” หรือ “พ้นความลังเลสงสัย” ในกิเลสที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล (ทำให้เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)
 
เมื่อเกิด “การละหน่ายคลาย” จนเกิด “การปล่อยวางได้” จน “พ้นความลังเลสงสัย” แล้ว ก็จะทำให้ “ฤทธิ์แรงของกิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ค่อยๆลดลง และ ดับสิ้นไป (กิเลสดับ) และในที่สุด จะทำให้ศีล กลายเป็นปกติของตน ชื่อว่า “พ้นสีลัพพตปรามาส” คือ ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ ไม่ต้องฝึกไม่ต้องฝืน อีกต่อไป
 
การเจริญวิปัสสนาภาวนา เป็นการทำความเห็น ให้ถูก ให้ตรง ให้เป็นสัมมา (สัมมาทิฏฐิ) จนพ้นความลังเลสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา) จนพ้นอวิชชา
 
***************
 
“กิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของ “การละเมิดศีล” ในแต่ละข้อ ของแต่ละคน อาจมีความแตกต่างกันไป
 
ตัวอย่างเช่น 

การละเมิดศีลข้อที่ 1 ด้วยการฆ่าสัตว์

อาจมีมูลเหตุมาจาก ความโลภ ความโกรธ ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความเกลียด ความกลัว ความหลงเข้าใจผิด ความหลงใหลติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์ ที่มีมาก จนต้องลงมือฆ่าด้วยตนเอง เพื่อให้ได้กินแบบสดๆ ฯลฯ
 
ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 13 มกราคม 2567    
Last Update : 13 มกราคม 2567 7:24:07 น.
Counter : 173 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

131. ปี พ.ศ. ที่ 63 ของชีวิต



วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ

ประเดี๋ยวคืน ประเดี๋ยววัน

ประเดี๋ยวเดือน ประเดี๋ยวปี

ขึ้นปีใหม่ปีนี้ ชีวิตล่วงเข้าสู่ ปี พ.ศ. ที่ 63 ของชีวิต แล้ว


(เหลือเวลาอีก 4 เดือนกว่าๆ จะครบ 63 ปีบริบูรณ์)

***************

เพราะชีวิตของคนเรา “น้อยนัก สั้นนัก และ ไม่แน่นอน

ดังนั้น เราจึงควร “ใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

ด้วยการ “เรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้

ด้วยการ “ทำ ในสิ่งที่ควรทำ

***************

สิ่งที่ควรเรียนรู้ คือ

1. เรียนรู้ “ทุกข์

2. เรียนรู้ “ความเกิดแห่งกองทุกข์ (สมุทัย, เรียนรู้ ปฏิจจสมุปบาท สายเกิด หรือ สมุทยวาร)

3. เรียนรู้ “ความดับแห่งกองทุกข์ (นิโรธ, เรียนรู้ ปฏิจจสมุปบาท สายดับ หรือ นิโรธวาร)

4. เรียนรู้ “หนทางสู่ความดับทุกข์ (มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)

สิ่งที่ควรทำ คือ ทำความดับแห่งกองทุกข์
 
การทำความดับแห่งกองทุกข์ คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8


***************

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ปีนี้

ขอทุกท่าน จงน้อมนำเอา “หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์” มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

เพื่อนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต

เพื่อให้มีภพภูมิที่ดี เป็นที่หมาย เมื่อต้องตายจากโลกนี้ไป

เพื่อให้ได้รับ ในสิ่งที่ควรได้รับ คือ ความสุขสงบของจิตใจ (วูปสโมสุข)

เพื่อให้ได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

เพื่อให้ได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง คือ ความดับแห่งกองทุกข์ หรือ พระนิพพาน

ชาญ คำพิมูล
1 มกราคม 2567

 




 

Create Date : 01 มกราคม 2567    
Last Update : 1 มกราคม 2567 8:29:33 น.
Counter : 135 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

130.ปรับเปลี่ยนกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นกุศล) ตอนที่ 2



การปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม 
 
ที่มีปกติเป็นมิจฉา หรือ ที่มีปกติเป็นอกุศล
 
ให้มีปกติเป็นสัมมา หรือ ให้มีปกติเป็นกุศล
 
ต้องใช้การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ (สมถภาวนา) และ ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน
 
เพื่อชำระล้างกิเลส หรือ เพื่อขจัดกิเลส หรือ เพื่อดับกิเลส
 
ที่เป็นมูลเหตุของ “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ที่เป็นมิจฉา หรือ ที่เป็นอกุศล ทั้งหลาย
 
***************
 

ศีล คือสิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา
 
เพื่อใช้ปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” 
 
ที่มีปกติเป็นมิจฉา หรือ ที่มีปกติเป็นอกุศล
 
ให้มีปกติเป็นสัมมา หรือ ให้มีปกติเป็นกุศล
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
ต้องปฏิบัติให้สูงขึ้นโดยลำดับ
 
เพื่อให้เกิดเป็น “อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่ยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง)
 
โดยนำเอา“สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา และ สัมมาสังกัปปะ
 
มาเป็นแนวทางในการกำหนดตั้งศีล ให้สูงขึ้นโดยลำดับ
 
***************
 
อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) หมายถึง มีศีลที่สูงยิ่งขึ้น โดยลำดับ
 
อธิจิต (จิตที่ยิ่ง) หมายถึง มีจิตที่สงบ เป็นสัมมาสมาธิ ยิ่งขึ้น โดยลำดับ
 
อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง) หมายถึง มีความเห็น ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ยิ่งขึ้น โดยลำดับ จนพ้นวิจิกิจฉา จนพ้นอวิชชา
 
***************
 
ในเบื้องต้น พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ “ศีล 5” ขึ้นมา
 
เพื่อให้ใช้ยึดถือปฏิบัติ “ให้เป็นปกติ” ให้ได้ เป็นเบื้องต้น
 
***************
 
ให้เป็นปกติ” หมายถึง ให้เป็นปกติวิสัย ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ ไม่ต้องฝึกไม่ต้องฝืน คือ ให้พ้นสักกายทิฏฐิ ให้พ้นวิจิกิจฉา และ ให้พ้นสีลัพพตปรามาส
 
***************
 
ในศีล 5 ประกอบไปด้วย
 
สัมมากัมมันตะ ทั้ง 3 ข้อ คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ และ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
 
และ สัมมาวาจา 1 ข้อ คือ งดเว้นจากการพูดเท็จ
 
***************
 
เพราะ
 
คนบางคน มีการละเมิดศีล 5 เป็นปกติของตน
 
คนบางคน อาจมีศีล 5 บางข้อ เป็นปกติของตนอยู่แล้ว
 
และ คนบางคน อาจมีศีล 5 ทั้ง 5 ข้อ เป็นปกติของตนอยู่แล้ว
 
ดังนั้น การเริ่มต้นปฏิบัติศีลของแต่ละคน จะแตกต่างกันไป
 
***************
 
เมื่อเรามีศีล 5 เป็นปกติของเราแล้ว
 
ให้นำเอา “สัมมาวาจา” ในส่วนที่เหลือ คือ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ และ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
 
และ “สัมมาสังกัปปะ” ทั้ง 3 ข้อ คือ ทำความดำริในการออกจากกาม ทำความดำริในความไม่พยาบาท และ ทำความดำริในการไม่เบียดเบียน
 
มากำหนดตั้งให้เป็นศีล ที่สูงขึ้นโดยลำดับ
 
เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ “ให้เป็นปกติ
 
***************
 
การนำเอา "สัมมาสังกัปปะ" มากำหนดตั้งให้เป็นศีล มีแนวทางดังนี้
 

  1. กำหนดตั้งศีลขึ้นมา เพื่อละ อารมณ์พยาบาท อารมณ์โทสะ อารมณ์โกรธ (โกธะ) อารมณ์ขัดใจเคืองใจ (ปฏิฆะ) และ อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ (อรติ) ตามลำดับ
 
  1. กำหนดตั้งศีลขึ้นมา เพื่อละอารมณ์โลภ อารมณ์อยากได้วัตถุกาม อยากได้ลาภ อยากได้ยศ อยากได้สรรเสริญ หรือ อารมณ์อยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่มากมายจนเกินความจำเป็นของชีวิต จนทำให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น เกิดการเบียดเบียนโลก เกิดการเบียดเบียนสังคม
 
  1. กำหนดตั้งศีลขึ้นมา เพื่อละ อารมณ์อยาก ใคร่ หลงใหลติดใจ และ หลงยึดมั่นถือมั่น ในกามเมถุน อารมณ์อยาก ใคร่ หลงใหลติดใจ และ หลงยึดมั่นถือมั่น ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (กามคุณ 5) ลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุขทั้งหลาย
 
***************
 
เมื่อเรากำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมาแล้ว
 
ให้เราปฏิบัติศีล “ให้เป็นปกติ
 
โดยใช้ การปฏิบัติ  “สมาธิ (สมถภาวนา) และ ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2566    
Last Update : 1 มกราคม 2567 6:12:38 น.
Counter : 165 Pageviews.  

129. ปรับเปลี่ยนกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นกุศล) ตอนที่ 1



กมฺมุนา วตฺตตีโลโก (กัมมุนา วัตตติ โลโก) สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม
 
กรรมดี หรือ การกระทำดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ (กุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก
 
วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก หมายถึง การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย” (ทำให้ชีวิตเป็นสุข)
 


กรรมไม่ดี หรือ การกระทำไม่ดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ (อกุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก
 
วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก หมายถึง การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย” (ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์)


***************
 
ถ้าเราต้องการจะทำความดับทุกข์

เราต้องปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

ที่มีปกติเป็นมิจฉา หรือ ที่มีปกติเป็นอกุศล

ให้มีปกติเป็นสัมมา หรือ ให้มีปกติเป็นกุศล

ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้นโดยลำดับ

เพื่อชำระล้างกิเลส หรือ เพื่อขจัดกิเลส หรือ เพื่อดับกิเลส

ในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส)

ที่เป็นมูลเหตุของ “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ที่เป็นมิจฉา หรือ ที่เป็นอกุศล ทั้งหลาย
 
***************
 
การปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

ที่มีปกติเป็นมิจฉา หรือ ที่มีปกติเป็นอกุศล

ให้มีปกติเป็นสัมมา หรือ ให้มีปกติเป็นกุศล

เป็นการทำตน ให้พ้นจาก “มิจฉากัมมันตะ มิจฉาวาจา และ มิจฉาสังกัปปะ

หรือ เป็นการทำ “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นสัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา และ สัมมาสังกัปปะ)
 
***************
 
มิจฉากัมมันตะ หมายถึง การกระทำสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลด้วยกาย มี 3 ประการ ประกอบด้วย

1. การฆ่าสัตว์

2. การลักทรัพย์

3. การประพฤติผิดในกาม
 
***************
 
มิจฉาวาจา หมายถึง การกระทำสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลด้วยวาจา มี 4 ประการ ประกอบด้วย

1. การพูดเท็จ

2. การพูดส่อเสียด

3. การพูดคำหยาบ

4. การพูดเพ้อเจ้อ

การพูดส่อเสียด หมายถึง การพูดยุยงหรือการพูดยุแหย่ ให้เขาแตกแยกกัน ยุให้แตกกัน คือฟังคำของข้างนี้ แล้วเก็บเอาไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายข้างนี้ ฟังคำของข้างโน้น แล้วเก็บเอามาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายข้างโน้น

การพูดเพ้อเจ้อ หมายถึง การพูดมากและไร้สาระ การพูดด้วยวาจาไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีเวลาจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่สมควรแก่เวลา เป็นคำพูดที่โปรยประโยชน์ทิ้งเสีย

***************
 
มิจฉาสังกัปปะ หมายถึง การกระทำสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลด้วยใจ มี 3 ประการ ประกอบด้วย

1. ความดำริในกาม

2. ความดำริในความพยาบาท

3. ความดำริในการเบียดเบียน
 
***************
 
การทำกายกรรมให้เป็นสัมมา (สัมมากัมมันตะ) มี 3 ประการ ประกอบด้วย

1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

2. งดเว้นจากการลักทรัพย์

3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

***************

การทำวจีกรรมให้เป็นสัมมา (สัมมาวาจา) มี 4 ประการ ประกอบด้วย

1. งดเว้นจากการพูดเท็จ

2. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

3. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ

4. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
 
***************

การทำมโนกรรมให้เป็นสัมมา (สัมมาสังกัปปะ) มี 3 ประการ ประกอบด้วย

1. ทำความดำริในการออกจากกาม

2. ทำความดำริในความไม่พยาบาท

3. ทำความดำริในการไม่เบียดเบียน
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2566    
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2566 7:02:28 น.
Counter : 239 Pageviews.  

128. ปรับเปลี่ยนการงานอาชีพ ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นกุศล)



กมฺมุนา วตฺตตีโลโก (กัมมุนา วัตตติ โลโก) สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม
 
กรรมดี หรือ การกระทำดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ (กุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก
 
วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก หมายถึง การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย” (ทำให้ชีวิตเป็นสุข)
 


กรรมไม่ดี หรือ การกระทำไม่ดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ (อกุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก
 
วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก หมายถึง การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย” (ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์)


***************
 
การงานอาชีพที่เป็นมิจฉา (มิจฉาอาชีวะ) หมายถึง การงานอาชีพ ที่เป็นอกุศล หรือ ที่มีส่วนของอกุศล มีผลเป็น “อกุศลวิบาก
 
การประกอบการงานอาชีพที่เป็นมิจฉา (มิจฉาอาชีวะ) จะก่อให้เกิด “อกุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิต
 
การงานอาชีพที่เป็นสัมมา (สัมมาอาชีวะ) หมายถึง การงานอาชีพ ที่เป็นกุศล หรือ ที่มีส่วนของกุศล และ ไม่มีส่วนของอกุศลปะปนอยู่ มีผลเป็น “กุศลวิบาก
 
การประกอบการงานอาชีพที่เป็นสัมมา (สัมมาอาชีวะ) จะก่อให้เกิด “กุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิต
 
***************
 
การปรับเปลี่ยน “การงานอาชีพ
 
ให้ถูก ให้ตรง ให้ชอบ ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นกุศล)
 
เป็นสิ่งที่ มีความสำคัญอย่างยิ่ง
 
เพราะ การงานอาชีพ
 
เป็นสิ่งที่ทุกคน ต้องทำอยู่เป็นประจำ เพื่อเลี้ยงชีพตนและครอบครัว
 
บางคน 5 วัน/สัปดาห์
 
บางคน 6 วัน/สัปดาห์
 
บางคน ทุกวัน
 
***************

ถ้า “การงานอาชีพ
 
ยังเป็น “มิจฉาอาชีวะ” อยู่
 
จะก่อให้เกิด “อกุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิต อย่างต่อเนื่อง
 
ทำให้ชีวิต ต้องประสบกับ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย
 
และ มักจะมีสิ่งที่ไม่ดี หมุนเวียนเข้ามาในชีวิต อย่างต่อเนื่อง
 
***************
 
การประกอบการงานอาชีพ
 
ที่ยังเป็น “มิจฉาอาชีวะ” อยู่
 
อาจจะได้ทรัพย์สินเงินทอง มากมาย
 
แต่ชีวิต มักจะไม่มีความผาสุก
 
และ มักจะสูญเสีย “ทรัพย์เงินทองที่หามาได้” โดยง่าย
 
ไม่อาจจะเก็บรักษาเอาไว้ได้ ยาวนาน
 
***************
 
มูลเหตุหลัก
 
ที่ทำให้คนเรา
 
ต้องประกอบ “การงานอาชีพ
 
ที่ยังเป็น “มิจฉาอาชีวะ” อยู่
 
คือ “ความโลภ” และ “ความหลง
 
***************
 
ถ้าเราต้องการจะทำให้ชีวิตของเรา
 
พ้นจากความทุกข์
 
และ มีความผาสุก ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป
 
ในเบื้องต้น
 
เราต้องพิจารณา ปรับเปลี่ยน “การงานอาชีพ” ของเรา
 
ให้พ้นจาก “มิจฉาวณิชา 5” และ ให้พ้นจาก “มิจฉาอาชีวะ 5” ให้ได้ก่อน
 
มิจฉาวณิชา 5 ประกอบด้วย
       1. สัตถวณิชชา ค้าอาวุธ
       2. สัตตวณิชชา ค้ามนุษย์
       3. มังสวณิชชา ค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร
       4. มัชชวณิชชา ค้าของเมา
       5. วิสวณิชชา ค้ายาพิษ
จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

มิจฉาอาชีวะ 5 ประกอบด้วย

  1. การโกง (กุหนา)
  2. การล่อลวง (ลปนา)
  3. การตลบตะแลง (เนมิตตกตา)
  4. การยอมมอบตนในทางผิด (นิปเปสิกตา)
  5. การเอาลาภต่อลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา)
(สรุปจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
 
***************
 
เมื่อเราสามารถปรับเปลี่ยน “การงานอาชีพ” ของเรา
 
ให้พ้นจาก “มิจฉาวณิชา 5” และ ให้พ้นจาก “มิจฉาอาชีวะ 5” ได้แล้ว
 
ในลำดับต่อไป
 
เราต้องทำการงานอาชีพของเรา ให้มีส่วนของกุศล
 
คือ ให้มีส่วนในการ “เกื้อกูลผู้อื่นสัตว์อื่น เกื้อกูลโลก และ เกื้อกูลสังคม
 
เพื่อทำให้ “การงานอาชีพ” ของเรา เป็นสัมมายิ่งๆขึ้น
 
ซึ่งจะก่อให้เกิด “กุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิต อย่างต่อเนื่อง
 
***************
 
การงานอาชีพ หลายๆการงานอาชีพ
 
เป็นการงานอาชีพ ที่เป็นสัมมา (กุศล) โดยลักษณะของการงานอาชีพ อยู่แล้ว
 
เช่น ครูบาอาจารย์ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ
 
ผู้ที่ทำการงานอาชีพเหล่านี้
 
ด้วยใจ ด้วยความยินดี และ ทำอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง
 
จะได้ทั้ง "เงิน"  และ “กุศลวิบาก” ด้วย
 
แต่ถ้าทำอย่างจำใจทำ หรือ ทำด้วยความไม่ยินดี
 
หรือ ทำเพราะหวังสิ่งตอบแทนอื่น เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ ฯลฯ
 
หรือ ทำอย่างไม่เต็มที่ ไม่เต็มกำลัง
 
จะได้เฉพาะเงิน หรือ จะได้เฉพาะสิ่งตอบแทนอื่น
 
จะไม่ได้ “กุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิต
 
และ อาจจะได้ “อกุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิตด้วย
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2566    
Last Update : 7 ตุลาคม 2566 8:06:56 น.
Counter : 234 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.