"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

52. เจริญมรณัสสติ



วันนี้ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563


ข้าพเจ้าขอเจริญมรณัสสติ เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต

ด้วยการ “ระลึกถึงเพื่อนผู้จากไป ก่อนวัยอันควร วศ.มข.๑๗”


(ขออนุญาตนำภาพกิจกรรม ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เพื่อนผู้จากไป
ณ วัดปทุมวนาราม กทม. เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ มาประกอบ)


***************

[๓๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ในโลกนี้

ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆรู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์

สัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดแล้ว จะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้น ไม่มีเลย

แม้อยู่ได้ถึงชรา ก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลาย มีอย่างนี้ เป็นธรรมดา

ผลไม้สุกงอมแล้ว ชื่อว่า ย่อมมีภัย เพราะจะต้องร่วงหล่นไป ในเวลาเช้า ฉันใด

สัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดแล้ว ชื่อว่า ย่อมมีภัย เพราะจะต้องตาย เป็นนิตย์ ฉันนั้น
 
ภาชนะดิน ที่นายช่างทำแล้ว ทุกชนิด มีความแตก เป็นที่สุด แม้ฉันใด

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น

ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด

ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ด้วยกันทั้งหมด

เมื่อสัตว์เหล่านั้น ถูกมฤตยูครอบงำแล้ว ต้องไปปรโลก

บิดาจะป้องกันบุตรไว้ ก็ไม่ได้

หรือพวกญาติ จะป้องกันพวกญาติไว้ ก็ไม่ได้


ข้อความบางส่วน จาก “สัลลสูตรที่ ๘”
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิตอวุตตก-สุตตนิบาต
พระไตรปิฎกฉบับหลวง

 
***************

๗. ฐานสูตร

ว่าด้วยฐานะที่ควรพิจารณาเนืองๆ

[๕๗] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้

ที่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ต้องพิจารณาเนืองๆ

ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง

คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

๔. เราจะต้องพลัดพราก จากของรักของชอบใจ ทั้งสิ้น

๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น


{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม: ๒๒ หน้า: ๙๙-๑๐๐}
 
***************

ชีวิตนี้ น้อยจริงๆนะ

ชีวิตนี้ สั้นจริงๆนะ

ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน จริงๆนะ

วันเวลาของชีวิตของพวกเรา ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆนะ

ขอพวกเรา จงใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

ด้วยการ “เพียรหมั่นเก็บเกี่ยวบุญ” และ “เพียรหมั่นเก็บเกี่ยวกุศล”

จากโลก จากสังคม จากบุคคลรอบๆข้าง และ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2563 6:35:50 น.
Counter : 608 Pageviews.  

51. มองให้เห็น “คุณค่าประโยชน์” ของปัญหา



ตั้งแต่เกิดมา จนถึงวันนี้

มีกี่ปัญหาแล้ว มีกี่เรื่องราวแล้ว และ มีกี่เหตุการณ์แล้ว

ที่ผ่านเข้ามา ในชีวิตของเรา

ทุกๆปัญหา ทุกๆเรื่องราว และ ทุกๆเหตุการณ์

เราสามารถ “ก้าวผ่านมันมาได้” มิใช่หรือ?

***************


ทุกๆปัญหา ไม่ว่าจะใหญ่ หรือ น้อยนิด

หากเราได้เพ่งพิศ และ ไตร่ตรอง โดยรอบคอบ

ด้วยความมีสติ และ ด้วยความมีสมาธิ

เรามักจะพบ “ทางออกของปัญหา”...อยู่เสมอ

***************


เมื่อมีปัญหาใดๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต

จงอย่าด่วนทุกข์ใจ จงอย่าด่วนกังวลใจ

จงเพ่งพิจารณาดูว่า

เราสามารถ จะทำสิ่งใด ได้บ้าง?

และ เราควรจะทำสิ่งใด?

แล้วจงลงมือทำ ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง

และ เมื่อเราได้ทำ “อย่างเต็มที่ และ อย่างเต็มกำลัง” แล้ว

ให้เราปล่อยวาง

จงอย่าทุกข์ใจ จงอย่ากังวลใจ ไปกับผล ที่จะเกิดขึ้น

เพราะเราได้ทำ “อย่างเต็มที่ และ อย่างเต็มกำลัง” แล้ว

“การทุกข์ใจ การกังวลใจ ไม่ได้ทำให้อะไร อะไร ดีขึ้นได้”

***************


ในความเป็นจริงแล้ว

หากเราเพ่งพิจารณาดูให้ดีๆ

เราจะพบว่า

“ปัญหา คือสิ่งที่มีค่า และ มีประโยชน์ ต่อชีวิต”

***************

“ทุกๆปัญหา มักมีสิ่งมีค่า แฝงอยู่เสมอ”

“ทุกๆวิกฤต มักมีโอกาสดีๆ รออยู่เสมอ”

“ทุกๆปัญหา มักก่อให้เกิด การพัฒนากาย การพัฒนาจิต และ การพัฒนาสติปัญญา”

ดังนั้น

“จงรู้จักเก็บเกี่ยวเอาประโยชน์ จาก ทุกๆปัญหา ทุกๆเรื่องราว และ ทุกๆเหตุการณ์ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”

***************

“การรู้จักเก็บเกี่ยวเอาประโยชน์ จาก ทุกๆปัญหา ทุกๆเรื่องราว และ ทุกๆเหตุการณ์ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”

จะทำให้ชีวิตของเรา

มีความสดใส มีสีสัน มีความสุข

ไม่มีความทุกข์ใจ ไม่มีความเครียด และ ไม่มีความวิตกกังวลใจ

***************


"เพราะเห็นทุกข์ จึ่งได้เห็นธรรม"
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2563 6:08:31 น.
Counter : 624 Pageviews.  

50. ขจัดกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน...ต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง


ในความเป็นจริงแล้ว

อารมณ์สุข (โลกียสุข) และ อารมณ์ทุกข์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน

อารมณ์สุข (โลกียสุข) และ อารมณ์ทุกข์ นี้ มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน และ มีความไม่แน่นอน ไม่อาจจะยึดถือเอาไว้ได้ เป็นธรรมดา (อนิจจัง)

อารมณ์สุข (โลกียสุข) และ อารมณ์ทุกข์ นี้ คือมูลเหตุของความทุกข์ โศก โรค โทษ และ ภัย ทั้งหลาย (ทุกขัง)

อารมณ์สุข (โลกียสุข) และ อารมณ์ทุกข์ นี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน และ ไม่ใช่ของของตน มันเป็นแค่เพียงอุปาทาน หรือ ความยึดมั่นถือมั่นไปตามอำนาจของกิเลส เท่านั้นเอง (อนัตตา)
 
***************
 
กิเลส (ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง) ตัณหา (ความอยาก ความใคร่ ความทะยานอยาก) และ อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่นไปตามอำนาจของกิเลส) คือมูลเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย
 
กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือสิ่งที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่
 
กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือสิ่งที่คอยบงการจิตใจของคนเรา และ คอยชักจูงจิตใจของคนเรา ให้คนเรากระทำอกุศลกรรมต่างๆ อันมีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก” ได้แก่ การได้ประสบกับ ความทุกข์ โศก โรค ภัย การไม่มีลาภ การไม่มียศ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การได้รับโทษ และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
 
***************
 

การทำความพ้นทุกข์ คือ การขจัด หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
 
วิธีการขจัด หรือ วิธีการชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ คือ การทำจิตใจ ให้ปล่อยวาง ให้ไม่หลงยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนของตน หรือ เป็นของของตน และ ให้ไม่หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน โดยการเพียรหมั่น “อบรมจิต (สมถภาวนา)” และ การเพียรหมั่น “อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)”
 
***************
 
การขจัด หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจของเรา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราต้องใช้ความเพียรพยายาม ค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร เพราะเหตุว่า

๑. กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน เป็นสิ่งที่มีอำนาจ เหนือจิตใจของคนเรา คือ

มันสามารถบงการจิตใจและชักจูงจิตใจของคนเรา ให้คนเรายินยอม กระทำอกุศลกรรมต่างๆ

มันสามารถบงการจิตใจและชักจูงจิตใจของคนเรา ให้คนเรายินยอม เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า 
เสี่ยงโรค เสี่ยงภัย เสี่ยงชีวิต และ เสี่ยงคุกตะราง

มันสามารถบงการจิตใจและชักจูงจิตใจของคนเรา ให้คนเรายินยอม ทำร้ายทำลาย ชีวิตของผู้อื่นและสัตว์อื่น

และ มันสามารถบงการจิตใจและชักจูงจิตใจของคนเรา ให้คนเรายินยอม แม้กระทั่ง ทำร้ายทำลาย ชีวิตของตนเอง

๒. กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน เป็นสิ่งที่ถูกสั่งสมพอกพูนเอาไว้ ภายในจิตใจของคนเรา ข้ามภพข้ามชาติมา ไม่รู้ว่า กี่ภพกี่ชาติ

***************

การเพียรหมั่น “อบรมจิต (สมถภาวนา) “ หมายถึง การเพียรหมั่นฝึกฝืนจิต กดข่มจิต ทำจิตให้ตั้งมั่น ให้เป็นสมาธิ ให้ไม่หวั่นไหว ให้ไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต (ทำให้กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต ระงับดับลง)

การเพียรหมั่น “อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” หมายถึง การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้นในจิต เพื่อทำให้เกิดการสิ้นความลังเลสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา) และ ทำให้เกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (ทำให้เกิด “ปัญญา” ละสักกายทิฏฐิได้ หรือ พ้นสักกายทิฏฐิ)

***************

การรู้เพียงบัญญัติภาษา

ไม่สามารถจะขจัด หรือ ชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจของเราได้

ถ้าหากเราต้องการจะขจัด หรือ ชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจให้ได้

เราต้อง “เพียรหมั่น” อบรมจิต (สมถภาวนา) และ เราต้อง “เพียรหมั่น” อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)

เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน จนสิ้นความลังเลสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา) และ จนเกิดการละหน่ายคลาย และ เกิดการปล่อยวางได้ (พ้นสักกายทิฏฐิ)
 
***************
 
การขจัด หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ

ต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง คือ

ต้อง “เพียรหมั่น” อบรมจิต (สมถภาวนา)

และ ต้อง “เพียรหมั่น” อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)

ให้ติดเป็นนิสัย

จึงจะเกิดมรรคผลจริง (พ้นสีลัพพตปรามาส)
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 14 พฤษภาคม 2563 7:41:11 น.
Counter : 1801 Pageviews.  

49. วิสาขบูชา...ปฏิบัติบูชา



นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (กราบ)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (กราบ)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (กราบ)

***************


ในวาระ วันวิสาขบูชานี้

ข้าพเจ้า "ขอน้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์" 

มายึดถือปฏิบัติบูชา

ตราบชีวิตจะหาไม่

กราบ...กราบ...กราบ


***************

ปรินิพพานสูตรที่

[๖๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่สาลวัน อันเป็นที่แวะพัก แห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เขตเมืองกุสินารา ระหว่างแห่งสาลพฤกษ์ทั้งคู่ ในสมัยจะเสด็จปรินิพพาน

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เอาเถิด บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไป เป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวง ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ดังนี้ นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต


{ที่มา: พระสุตตันตปิฎก เล่ม สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง}

“กิจทั้งปวง” หมายถึง ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

“ประโยชน์ตน” หมายถึง การทำตนให้พ้นทุกข์ หรือ การชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ ออกจากจิตใจให้หมดสิ้น

“ประโยชน์ท่าน” หมายถึง การเกื้อกูลโลก การเกื้อกูลสังคม และ การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่นและสัตว์อื่น เพื่อช่วยให้ผู้อื่นและสัตว์อื่น พ้นจากทุกข์

***************

กี่ปี…กี่เดือน…กี่วัน แล้ว

ที่พวกเรา…เดินอยู่บนเส้นทาง “สายโลกิยะ (ทางโลก)”

เหนื่อยไหม? ทุกข์ไหม? เบื่อไหม? มองเห็นจุดหมายปลายทางบ้างไหม?

การเดินไปบนเส้นทาง “สายโลกิยะ (ทางโลก)”

ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหนัก ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียด

ยิ่งเวียนวนอยู่ในวังวนของความสุข (โลกียสุข) และความทุกข์ อันไม่มีที่สิ้นสุด

ยิ่งมองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด

และ ยิ่งจมดิ่งลึกลงไปอยู่ในกองทุกข์

ลองปรับเปลี่ยน...มาเดินบนเส้นทาง “สายโลกุตระ (ทางธรรม)” ดีกว่าไหม?

การเดินไปบนเส้นทางสายโลกุตระ

ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งไม่ทุกข์ ยิ่งไม่เครียด ยิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งสุข ยิ่งสงบ และ มีจุดหมายปลายทางคือ “พระนิพพาน”
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 6 พฤษภาคม 2563 6:12:26 น.
Counter : 749 Pageviews.  

48. วิกฤติ Covid-19…ได้อะไร? เสียอะไร?

วิกฤติ Covid-19…ผู้เขียนได้อะไร? เสียอะไร?

สิ่งที่ได้ คือ

1. ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่น ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ มากยิ่งขึ้น เพราะ วิกฤติ Covid-19 คือบทพิสูจน์มรรคผลที่ได้รับ จากการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ ดังเช่น

   1.1 ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการเพียรหมั่น ชำระล้างหรือขัดเกลา ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ ออกจากจิตใจ

   1.2 ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการเพียรหมั่น ชำระล้างหรือขัดเกลา ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต ออกจากจิตใจ

   1.3 ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการเพียรหมั่น ชำระล้างหรือขัดเกลา ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ ความโกรธ ฯลฯ (สายโทสะ) ออกจากจิตใจ

   1.4 ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการเพียรหมั่น ชำระล้างหรือขัดเกลา ความหลงใหลติดใจ และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ในลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุข ออกจากจิตใจ

   1.5 ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการกินอาหารวันละ 1 มื้อ (เอกาสนโภชนัง)

   1.6 ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการทำให้ชีวิตติดบวก ทั้งทางโลกและทางธรรม

   1.7 ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ของการทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตน (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ)

   1.8 ได้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า “ความสุขสงบของจิตใจ” คือสิ่งที่มีค่ายิ่ง

   1.9 ได้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า “หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ คือ หนทางสู่ความพ้นทุกข์ อย่างแท้จริง”

   ฯลฯ

2. ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ ของการเพียร ดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง และ ดูแลสุขภาพจิตใจให้แข็งแกร่ง

3. ได้โอกาสเก็บเกี่ยวกุศล จากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ตามกำลัง ตามสมควร

4. ได้ใช้น้ำมันราคาถูก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย

5. ได้ลดเงินนำส่งประกันสังคม 3 เดือน

6. ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางไปทำงาน และได้กลับบ้านเร็วขึ้น (ยังคงทำงานตามปกติ)

7. ได้มีเวลาทบทวนชีวิต เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและสังคม

8. ได้เข้าใจโลก ได้เข้าใจสังคม ได้เข้าใจคน และ ได้เข้าใจสภาวะจิตใจของตน ณ ปัจจุบัน

9. ได้เห็นความมีน้ำใจและความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ในภาวะวิกฤติ โดยมีผู้คนจำนวนมาก ที่รู้จักเก็บเกี่ยวกุศล จากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

ฯลฯ

***************

สิ่งที่เสีย คือ

1. ไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านสวนที่บัวใหญ่

2. ไม่ได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง

3. ไม่ได้ไปวิ่งออกกำลังกาย ที่สวนน้ำบึงกุ่ม

4. ไม่ได้ลงวิ่งงานวิ่ง ที่ได้ตั้งใจเอาไว้

***************

การกินมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง) มีอานิสงส์ คือ

1. มีความเจ็บป่วยน้อย (อัปปาพาธัง)

2. มีความลำบากกายน้อย (อัปปาตังกัง)

3. มีความเบากายเบาใจ (ลหุฏฐานัง)

4. มีกำลัง (พลัง)

5. อยู่อย่างผาสุก (ผาสุวิหารัง)

(ผู้เขียนกินอาหารมื้อเดียวมาแล้ว 8 ปีกว่า)

***************


“การทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตน โดยการทำให้ชีวิตของตนติดบวก ทั้งทางโลกและทางธรรม คือสิ่งสำคัญยิ่ง”


จงน้อมนำเอา “หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์” มายึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติของชีวิต


เพราะ “หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์” คือ หนทางสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง


จง "คิดดี พูดดี และ ทำดี" ให้ติดเป็นนิสัย


เพราะ การคิดดี พูดดี และ ทำดี จนติดเป็นนิสัย จะนำพาแต่สิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต อย่างต่อเนื่อง


“ความเป็นไปของชีวิต ณ ปัจจุบัน คือ ผลของการกระทำในอดีต”
 

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2565 10:50:38 น.
Counter : 745 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.