"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

112. พระนิพพาน คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ตอนที่ 6



ผู้ที่ต้องการ “พระนิพพาน
 
ต้องทำความปล่อยวาง ไม่ให้หลงไปยึดมั่นถือมั่น ใน “รูปร่างกายตัวตน จิต เจตสิก

ด้วยการหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ)

ในความ “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน และ ไม่ใช่ของของตน


***************
 
“ดูกรอานนท์

เมื่อท่านไปถึงสำนักพระคิริมานนท์แล้ว

ท่านจงบอก สัญญา ๒ ประการ คือ รูปสัญญา๑ นามสัญญา๑ 

คือว่ารูป ร่างกายตัวตน ทั้งสิ้นก็ดี

คือนาม ได้แก่ จิต เจตสิก ทั้งหลายก็ดี

ก็ให้ปลงธุระเสีย

อย่าถือว่า รูปร่างกาย จิต เจตสิก เป็นตัวตน

และ อย่าเข้าใจว่า เป็นของของตน

ทุกสิ่งทุกอย่าง ความจริง เป็นของภายนอกสิ้นทั้งนั้น

ดูกรอานนท์

ถ้าหากว่า รูปร่างกาย เป็นตัวตนเราแท้

เมื่อล่วงสู่ ความแก่เฒ่าชรา ตาฝ้า หูหนวก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง ฟันโยกคลอน เจ็บปวด เหล่านั้น

เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์ว่า อย่าเป็นอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างนี้

นี่เราบังคับไม่ได้ตามประสงค์

เขาจะเจ็บ จะไข้ จะแก่ จะตาย

เขาก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา

เราหมดอำนาจ ที่จะบังคับบัญชาได้

เมื่อตาย เราจะพาเอาไป สักสิ่งสักอัน ก็ไม่ได้

ถ้าเป็นตัวตนของเราแล้ว เราก็คงจะพาเอาไปได้ ตามความปรารถนา

ดูกรอานนท์

ถึงจิต เจตสิก ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน

หากว่า จิต เจตสิก เป็นเรา หรือ เป็นของของเรา

เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์ว่า จิตของเรา จงเป็นอย่างนี้ จงเป็นอย่างนั้น จงสุขสำราญทุกเมื่อ อย่าทุกข์อย่าร้อนเลย ดังนี้

ก็จะพึงได้ ตามปรารถนา

นี่หาเป็น เช่นนั้นไม่

เขาจะคิดอะไร เขาก็คิดไป เขาจะอยู่จะไป ก็ตามเรื่องของเขา

เพราะเหตุ ร่างกาย จิตใจ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน

ให้ปลงธุระเสีย

อย่าเข้าใจถือเอาว่า เป็นตัวตน และ ของของตน เถิด.

ดูกรอานนท์

ท่านจงไปบอก ซึ่งสัญญาทั้ง ๒ ประการ

คือ รูปและนามนี้ โดยเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน และ ไม่ใช่ของของตน ให้พระคิริมานนท์แจ้ง ทุกประการ

เมื่อพระคิริมานนท์แจ้งแล้ว

การอาพาธ ความเจ็บปวด และ ทุกขเวทนา ก็จะหาย จากร่างกายของพระคิริมานนท์หมดสิ้น

จะหายอาพาธโดยรวดเร็วด้วย”


...เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร
 
***************
 
“ดูกรอานนท์

มรณสัญญา พิจารณาความตายก็ดี

อัฏฐิกสัญญา พิจารณากองกระดูกก็ดี

ปฏิกูลสัญญา พิจารณาร่างกายนี้ 

โดยเป็นของพึงน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน

เต็มไปด้วยหมู่หนอน แลจุลอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอันมาก

ตามลำไส้น้อยไส้ใหญ่ ตามเส้นเอ็นทั่วไปในร่างกาย

แลเต็มไปด้วย เครื่องเน่าของเหม็น มีอยู่ในร่างกายนี้

ทุกสิ่งทุกอย่าง ในร่างกายนี้ นับว่า เป็นของเปล่า ไม่มีอะไร เป็นของเรา สักสิ่งสักอัน

เกิดมาสำคัญว่า เป็นสุข ความจริง ก็สุขไปอย่างนั้นเอง

ถ้าจะให้ถูกแท้ ต้องกล่าวว่า เกิดมาเพื่อทุกข์ เกิดมาเจ็บ เกิดมาไข้ เกิดมาเป็นพยาธิเจ็บปวด เกิดมาแก่ เกิดมาตาย เกิดมาพลัดพรากจากกัน เกิดมาหาความสุขมิได้

ความสุขนั้น ถ้าพิจารณาดูให้ละเอียดแล้ว มีน้อยเหลือประมาณ ไม่พอแก่ความทุกข์ 

นอนหลับนั้นแล นับว่าเป็นความสุข

แต่เมื่อมาพิจารณาดูให้ละเอียดแล้ว ซ้ำเป็นทุกข์ไปเสียอีก

ถ้าผู้ใดพิจารณาเห็น ตามดังเราตถาคตแสดงมานี้

เป็นนิมิตอันหนึ่ง 

ครั้นจดจำได้แน่นอนในตนแล้ว

ก็เป็นเหตุ ให้ได้มรรคผลนิพพาน ในปัจจุบันนี้ โดยไม่ต้องสงสัย”


...เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร
 
***************
 
***ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร

เจตสิก [เจ-ตะ-สิก, เจด-ตะ-สิก] (มค. เจตสิก สก. ไจตสิก) น. อาการของจิต เกิดดับพร้อมกับจิต มีที่อาศัยและอารมณ์ที่รับรู้อย่างเดียวกับจิต มี ๕๒ ประการ. ว. เป็นไปในจิต เช่น สุขหรือทุกข์ที่เกิดในจิต.

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2565    
Last Update : 24 ธันวาคม 2565 18:24:27 น.
Counter : 364 Pageviews.  

111. พระนิพพาน คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ตอนที่ 5



ผู้ที่ต้องการ “พระนิพพาน”
 
ต้องปล่อยวาง “ความสุขในทางโลก”
 
โดยถ่ายเดียว

 
***************
 
ความสุขในทางโลก เป็นความสุข ที่เจืออยู่ด้วยความทุกข์
 
ความสุขในพระนิพพาน เป็นความสุข ที่ไม่มีความทุกข์เจือ
 
เพราะปล่อยวางสุข (โลกียสุข) ได้ จึงพ้นทุกข์จริง (ดับทุกข์ได้)
 
***************
 
การปล่อยวาง “ความสุขในทางโลก
 
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
 
เพราะ ความสุขในทางโลก
 
เป็นความสุขที่คนเรา คุ้นเคย
 
มีความหลงใหลติดใจ
 
มีความหลงยึดมั่นถือมั่น
 
และ มีความมุ่งมาดปรารถนา
 
ไปตามอำนาจของ “กิเลส ราคะ และ ตัณหา
 
***************
 
การปล่อยวาง “ความสุขในทางโลก” คือ “การเอาชนะ หรือ การดับ กิเลส ราคะ และตัณหา
 
ด้วยการเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นถึง “ความจริงตามความเป็นจริง” ของความสุขในทางโลก
 
จนเกิด "การละหน่ายคลาย" และเกิด "การปล่อยวางได้"
 
***************
 
การเพ่งพิจารณา เพื่อปล่อยวางความสุขในทางโลก (โลกียสุข) มีแนวทาง ดังนี้
 
1. เพ่งพิจารณา ให้เห็นถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ความยั่งยืน ความแปรปรวน ความไม่แน่นอน และ ความไม่อาจจะยึดถือเอาไว้ได้ ของความสุขในทางโลก (อนิจจัง)
 
2. เพ่งพิจารณา ให้เห็นถึง ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย อันเกิดจาก ความหลงใหลติดใจ และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ในความสุขในทางโลก (ทุกขัง)
 
3. เพ่งพิจารณา ให้เห็นถึง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน ของความสุขในทางโลก (อนัตตา)
 
ความสุขในทางโลก เป็นสิ่งที่ “ไม่อาจจะยึดถือเอาไว้ได้ และ ไม่อาจจะกำหนดได้
 
ความหลงใหลติดใจ และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ในความสุขในทางโลก เป็นสิ่งที่ สามารถทำให้ “ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้
 
***************
 
เมื่อเราเริ่มปล่อยวางความสุขในทางโลกได้แล้ว
 
เราจะเริ่มได้รับ “ความสุขสงบ” ชื่อว่า “วูปสโมสุข
 
เตสัง วูปสโม สุโข ความระงับดับเสีย ซึ่งสังขาร (การปรุงแต่งของจิต) ทั้งหลาย นั้นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง
 
วูปสโมสุข เป็นความสุข ที่ไม่มีทุกข์เจือ
 
มีความเที่ยง มีความยั่งยืน
 
มีความแน่นอน มีความไม่แปรปรวน
 
ได้แล้วได้เลย ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอีก

ที่สุดของวูปสโมสุข คือ "พระนิพพาน"

นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง (บรมสุข)
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 04 ธันวาคม 2565    
Last Update : 4 ธันวาคม 2565 8:34:40 น.
Counter : 343 Pageviews.  

110. พระนิพพาน คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ตอนที่ 4



ผู้ที่ต้องการ “ทำความดับแห่งกองทุกข์
 
เพื่อเข้าสู่ “พระนิพพาน
 
ต้องปล่อยวาง “ความสุข (โลกียสุข)” โดยถ่ายเดียว
 
เพราะ “ความสุข (โลกียสุข) และความทุกข์
 
เป็นของที่มีอยู่คู่กัน เนื่องกันอยู่ ติดกันอยู่
 
ไม่มีใคร ที่จะสามารถ แยกออกจากกันได้
 
***************
 
ถ้าเราไม่ปล่อยวาง “ความสุขในทางโลก
 
เราจะไม่มีทาง “พ้นจากความทุกข์
 
เพราะความสุขในทางโลก
 
เป็นความสุข ที่เจืออยู่ด้วยความทุกข์
 
***************
 
ดูกรอานนท์
 
ผู้ที่จะนำตนไป ให้เป็นสุขในพระนิพพาน 
 
ต้องวางเสีย ซึ่งความสุขในโลกีย์ 
 
ถ้าวางไม่ได้ ก็ไม่ได้ความสุขในพระนิพพานเลย
 
ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ ก็ไม่พ้นทุกข์ 
 
ด้วยความสุขในโลกีย์ เป็นความสุข ที่เจืออยู่ด้วยทุกข์
 
ครั้นเมื่อถือเอาสุข ก็คือ ถือเอาทุกข์ นั่นเอง
 
ครั้นไม่วางสุข ก็คือ ไม่วางทุกข์ นั้นเอง
 
จะเข้าใจว่า เราจะถือเอาแต่สุข ทุกข์ไม่ต้องการ ดังนี้ ไม่ได้เลย
 
เพราะสุขทุกข์ เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน
 
ถ้าไม่วางสุขเสีย ก็เป็นอัน ไม่พ้นทุกข์
 
ดูกรอานนท์
 
บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่า สุขทุกข์ ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก
 
มีแต่เราตถาคต ผู้ประกอบด้วยทศพลญาณนี้ เท่านั้น
 
บุคคลทั้งหลาย
 
ที่ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น
 
ทำความเข้าใจว่า สุขก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก
 
ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราก็ไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้ 
 
เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ ติดกันอยู่ 
 
เขาจึงไม่พ้นทุกข์
 
เมื่อผู้ใดอยากพ้นทุกข์ ก็ให้วางสุขเสีย ก็เป็นอันละทุกข์วางทุกข์ด้วย เหมือนกัน 
 
ใครเล่า จะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ ออกจากกันได้ 
 
แม้เราตถาคต ก็ไม่มีวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้
 
ถ้าหากเราตถาคต พรากสุขแลทุกข์ ออกจากกันได้
 
เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพาน ทำไม
 
เราจะถือเอาแต่สุขอย่างเดียว เสวยแต่ความสุขอยู่ในโลกเท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบายพออยู่แล้ว
 
นี่ไม่เป็นเช่นนั้น
 
เราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทางที่จะพึงได้ 
 
เราจึงวางสุขเสีย
 
ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้
 
เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการ ดังนี้
 
ดูกรอานนท์ 
 
อันสุขใดในโลกีย์นั้น
 
ถ้าตรวจตรองให้แน่นอนแล้ว ก็เป็นกองแห่งทุกข์ นั้นเอง
 
เขาหากเกิดมาเป็นมิตรติดกันอยู่
 
ไม่มีผู้ใดจักพรากออกจากกันได้
 
เราตถาคตกลัวทุกข์เป็นอย่างยิ่ง
 
หาทางชนะทุกข์มิได้ 
 
จึงปรารถนาเข้าพระนิพพาน เพราะเหตุกลัวทุกข์นั้นอย่างเดียว
 
พระพุทธเจ้า ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล.”
 

...เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร
 
***************
 
ถ้าเราไม่ปล่อยวางความสุขในทางโลก
 
ชีวิตของเรา จะเวียนวน
 
อยู่ในวังวนของความสุข (โลกียสุข) และความทุกข์
 
ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นวัฏสงสาร

 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2565    
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2565 7:37:32 น.
Counter : 491 Pageviews.  

109. พระนิพพาน คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ตอนที่ 3



ผู้ที่ต้องการพระนิพพาน

ต้องทำจิตใจของตน

ให้เหมือนดังแผ่นดิน
 
***************
 
จิตใจที่เหมือนดังแผ่นดิน

หมายถึง จิตใจที่สงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว

ไม่มีการกระเพื่อมไหว

และ ไม่มี "การปรุงแต่ง (สังขาร)" ไปตามอำนาจของกิเลส

เมื่อมี “ผัสสะ” เกิดขึ้นจาก “การกระทบสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ
 
***************
 
ผัสสะ หมายถึง การกระทบ สัมผัส ถูกต้อง ที่ทำให้เกิดความรู้สึก
 
ผัสสะ เป็นความประจวบกันของสามสิ่ง คือ อายตนะภายใน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก(รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และวิญญาณ
 
***************
 
“ถ้าปรารถนาจะถึงพระนิพพานแล้ว

ต้องทำจิตทำใจของตน ให้เหมือนดังแผ่นดิน เสียก่อน

ไม่ใช่ เป็นของทำได้ด้วยง่าย

ต้องพากเพียร ลำบาก ยากยิ่งนัก จึงจักได้

จะเข้าใจว่า ปรารถนาเอาด้วยปาก ก็คงจะได้

อย่างนี้ เป็นคนหลง ใช้ไม่ได้ 

ต้องทำตัวทำใจ ให้เป็นเหมือนแผ่นดิน ให้จงได้

ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนและสัตว์ทั้งหลาย จะทำร้าย ทำดี

กล่าวร้าย กล่าวดี ประการใด มหาปฐพีนั้น ก็มิได้รู้โกรธ รู้เคือง”


...เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร
 
***************
 
การทำจิตใจ ให้เหมือนดังแผ่นดิน

คือ การดับกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่

หรือ การขัดเกลา (ชำระล้าง) กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกไปจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
 
***************
 
วิธีการทำจิตใจ ให้เหมือนดังแผ่นดิน

คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา

โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
 
**************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา”

เพื่อทำจิตใจ ให้เหมือนดังแผ่นดิน

หรือ เพื่อทำความดับแห่งกองทุกข์

หรือ เพื่อพระนิพพาน

ต้องมี "ผัสสะ" เป็นปัจจัย

จึงจะทำให้เกิด “มรรคผล” อย่างแท้จริง
 
***************

ผัสสะ เปรียบเสมือน “ข้อสอบ” หรือ “บททดสอบ
 
“ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย เราจะไม่สามารถ ทำความดับของกิเลสได้ อย่างแท้จริง”
 
“ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย จะเกิดการนอนเนื่องของกิเลส”

“ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย เราจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า เราสามารถทำจิตใจของเรา ให้เหมือนดังแผ่นดิน ได้หรือยัง?”
 
***************
 
“ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใด มากระทำให้เรา โกรธ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ
เราคงไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความโกรธ ออกจากจิตใจของเรา (ดับความโกรธ)”

 “ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใด มากระทำให้เรา โลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น
เราคงไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความโลภ ออกจากจิตใจของเรา (ดับความโลภ)”

“ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใด มากระทำให้เรา หลงใหลติดใจ หรือ หลงยึดมั่นถือมั่น
เราคงไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความหลง ออกจากจิตใจของเรา (ดับความหลง)”

"จงรู้จักเก็บเกี่ยวเอาประโยชน์ จากผัสสะ"

***************

“[๑๑๙] ราหุล เธอจงเจริญภาวนา ให้เสมอด้วยแผ่นดินเถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา ให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว
จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้
คนทั้งหลาย ทิ้งของสะอาดบ้าง  ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง
มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง
ลงบนแผ่นดิน
แผ่นดินจะอึดอัดระอา หรือรังเกียจของนั้น ก็หาไม่ แม้ฉันใด
เธอก็ฉันนั้น เหมือนกัน
จงเจริญภาวนา ให้เสมอด้วยแผ่นดิน
เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา ให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว
จักครอบงำจิตของเธอ ไม่ได้
 

...เนื้อความจาก มหาวาหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๑๒๙
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2565    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2565 7:00:05 น.
Counter : 428 Pageviews.  

108. พระนิพพาน คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ตอนที่ 2



พระนิพพาน หมายถึง "ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์

กิเลสที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่” คือ "มูลเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย (กองทุกข์)

การทำความดับสนิทแห่งกิเลสได้” ชื่อว่า “ทำความดับสนิทแห่งกองทุกข์ได้

ผู้ที่สามารถ "ทำความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์” ได้  ชื่อว่า “ผู้ได้พระนิพพาน” หรือ “ผู้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน
 
**************
 

***พระนิพพาน ตั้งอยู่ในที่สุดของโลก
 
“นิพฺนานํ นครํ นาม อันชื่อว่าเมืองพระนิพพาน ย่อมตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลก โลกมีที่สุดเพียงใด พระนิพพานก็ตั้งอยู่ที่สุดเพียงนั้น”
 
“พระนิพพานนั้น

หากมีอยู่ในที่สุดของโลก เป็นของจริง ไม่ต้องสงสัย

ให้ท่านทั้งหลาย ศึกษาให้เห็นโลก รู้โลกเสีย ให้ชัดเจน

ก็จักเห็นพระนิพพาน

พระนิพพาน ก็ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลก นั้นเอง”


...เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร
 
***************
 
ผู้ที่เข้าใจโลกแล้ว ไม่หลงโลกแล้ว ไม่ติดโลกแล้ว ปล่อยวางเรื่องราวในทางโลกได้แล้ว วางจิตวางใจได้แล้ว

คือ วางโลภ วางโกรธ วางหลง วางสุข วางทุกข์ วางลาภ วางยศ วางสรรเสริญ วางนินทา ได้แล้ว

ชื่อว่า “ผู้ถึงที่สุดของโลกแล้ว” สามารถจะออกจากโลกได้แล้ว
 
***************
 

***ศีล สมาธิ ปัญญา คือทางไปสู่พระนิพพาน
 
ผู้ที่ต้องการพระนิพพาน ต้องปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา

เพราะหนทางไปสู่พระนิพพาน คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา

คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8

สู่ความดับแห่งกองทุกข์ หรือ พระนิพพาน
 
***************
 
ผู้ที่ต้องการพระนิพพาน

ต้องปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา

ให้สูงขึ้นเป็นลำดับ

โดยใช้ศีลที่พระพุทธองค์ ทรงบัญญัติเอาไว้แล้ว

คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และ ศีลพระปาฏิโมกข์

หรือ จะใช้วิธีการ “กำหนดตั้งศีลให้สูงขึ้นเป็นลำดับ

โดยใช้ "อริยมรรคมีองค์ 8" เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง ก็ได้

ชื่อว่า เป็นการปฏิบัติ “อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

***************

การปฏิบัติ “อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

จะทำให้เกิด

อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่มีสมาธิยิ่ง) อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง)

***************
 
ดูกรอานนท์
บุคคลทั้งหลาย ถึงที่สุดโลก ออกจากโลกได้แล้ว
จึงชื่อว่า ถึงพระนิพพาน และรู้ตนว่า เป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว และอยู่สุขสำราญบานใจทุกเมื่อ
หาความเร่าร้อน โศกเศร้าเสียใจมิได้
ถ้าผู้ใด ยังไม่ถึงที่สุดโลก ยังออกจากโลกไม่ได้ ตราบใด
ก็ชื่อว่า ยังไม่ถึงพระนิพพาน
จะต้องทนทุกข์น้อยใหญ่ทั้งหลาย เกิดๆ ตายๆ กลับไปกลับมา หาที่สุดมิได้ อยู่ตราบนั้น
บุคคลทั้งหลาย เป็นผู้ต้องการพระนิพพาน
แต่หารู้ไม่ว่า พระนิพพานนั้น เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน
ชั้นแต่ทาง "ศีล สมาธิ ปัญญา" อันเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ก็ไม่เข้าใจ
เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจแล้ว
จะไปสู่พระนิพพานนั้น เป็นการลำบากยิ่งนัก
เปรียบเหมือนคน ๒ คน
ผู้หนึ่งตาบอด ผู้หนึ่งตาดี
จะว่ายข้ามน้ำมหานที อันกว้างใหญ่
ในคนทั้ง ๒ นั้น
ผู้ใดจักถึงฝั่งข้างโน้นก่อน
คนผู้ตาดี ต้องถึงก่อน
ส่วนคนผู้ตาบอดนั้น
จะว่ายข้ามไปถึงฝั่งฟากโน้นได้ แสนยากแสนลำบาก
บางทีจะตายเสีย ในท่ามกลางแม่น้ำ
เพราะไม่รู้ ไม่เห็นว่า ฝั่งอยู่ที่ไหน
ข้ออุปมานี้ ฉันใด
คนไม่รู้ ไม่เห็น พระนิพพานอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร
ทางจะไปก็ไม่เข้าใจ เป็นแต่อยากได้ อยากถึง อยากไปพระนิพพาน
เมื่อเป็นเช่นนี้
การได้การถึงของผู้นั้น ก็ต้องเป็นของลำบากยากแค้นอยู่ เป็นของธรรมดา
บางทีจะตายเสียเปล่า
จะไม่ได้เงื่อนเค้าของพระนิพพานเลย
ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า
พระนิพพานอยู่ที่สุดของโลก 
"ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางไปพระนิพพาน" 
ถ้ารู้อย่างนี้
ยังมีทาง ที่จะถึงพระนิพพานได้บ้าง
แม้เมื่อรู้แล้ว อย่างนั้น
ก็จำต้องพากเพียรพยายาม เต็มที่ จึงจะถึง
เหมือนคนตาดี ว่ายข้ามน้ำ
ก็ต้องพยายามจนสุดกำลัง จึงจะข้ามพ้นได้
มีอุปไมยเหมือนกันฉันนั้น”


...เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2565    
Last Update : 29 ตุลาคม 2565 8:17:54 น.
Counter : 539 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.