"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

12. จงเริ่มต้น ทำชีวิตให้ติดบวก ตั้งแต่บัดนี้


 

จงเริ่มต้น ทำชีวิตให้ติดบวก ทั้งทางโลก และ ทางธรรม ตั้งแต่บัดนี้

เพราะเหตุว่า

ผู้ที่มีชีวิตติดลบ ในทางโลก

จะเป็นผู้ที่มี ความทุกข์ ความเครียด และความวิตกกังวลใจ เป็นที่หมาย

และ ผู้ที่มีชีวิตติดลบ ในทางธรรม

จะเป็นผู้ที่มี ความทุกข์ เป็นที่หมาย และ มีอบาย เป็นที่ตั้ง

ดังนั้น จงเริ่มต้น ทำชีวิตของตน ให้ติดบวก ทั้งทางโลกและทางธรรม ตั้งแต่บัดนี้

เพื่อความผาสุกของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

***************

ชีวิตที่ติดลบ ในทางโลกหมายถึงชีวิตที่มีภาระหนี้สิน มากกว่า เงินเก็บสำรอง หรือ ชีวิตที่มีภาระหนี้สิน มากกว่า ทรัพย์สินที่ตนมี

ชีวิตที่ติดลบ ในทางธรรมหมายถึง ชีวิตที่มีอกุศลวิบาก (วิบากกรรมไม่ดี) มากกว่า กุศลวิบาก (วิบากกรรมดี)

***************

แนวทางในการทำให้ชีวิต ติดบวกในทางโลก คือ

๑. หยุดสร้างภาระ ที่เกินตัว หรือ ที่เกินกำลังของตน เข้ามาทับถมตน

๒. พยายามปลดเปลื้องภาระหนี้สิน ที่มีอยู่

๓. เริ่มต้น เก็บเงินสำรอง เพื่อทำให้ยอดเงินเก็บ สูงกว่า ภาระหนี้สิน

๔. จัดสรรรายได้ ที่ได้รับมา ให้เหมาะสม คือ

ส่วนหนึ่ง...ใช้เลี้ยงชีพตน

ส่วนหนึ่ง...เก็บสำรองเอาไว้ ตามสมควร

ส่วนหนึ่ง...ใช้แสวงหาความสุข ให้แก่ตน

และ อีกส่วนหนึ่ง ใช้สร้างกุศล เพื่อสั่งสม วิบากกรรมดี(กุศลวิบาก)

***************

แนวทางในการทำให้ชีวิต ติดบวกในทางธรรม คือ

๑. ไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง ไม่ทำอกุศลวิบาก (วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่ม ให้กับชีวิต

๒. หมั่นทำกุศลทั้งหลาย ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง หมั่นทำกุศลวิบาก (วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่ม ให้กับชีวิต

๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง หมั่นชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันเป็นมูลเหตุของอกุศลกรรม ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

***************

กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม

กรรมดี (กุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมดี(กุศลวิบาก) อันได้แก่ การได้ประสบกับ ความสุข การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ การได้ห่างไกลจากความทุกข์ การได้ห่างไกลจากโทษ การได้ห่างไกลจากภัย การได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้อื่น และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย

กรรมไม่ดี (อกุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี(อกุศลวิบาก) อันได้แก่ การได้ประสบกับ ความทุกข์ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การได้รับโทษ การได้รับภัย และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย

***************

จงคิดดี พูดดี และ กระทำดี ให้ติดเป็นนิสัย

เพื่อสั่งสมวิบากกรรมดี อย่างต่อเนื่อง

เพื่อทำให้ชีวิต ติดบวก ในทางธรรม

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:27:27 น.
Counter : 1032 Pageviews.  

11. โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ... หัวใจพระพุทธศาสนา



 

 

โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ... หัวใจพระพุทธศาสนา

โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ประกอบด้วย

๑. ไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง ไม่สร้างอกุศลวิบาก(วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๒. หมั่นทำกุศลทั้งหลาย ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง หมั่นสร้างกุศลวิบาก(วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง หมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล (มูลเหตุของอกุศล) ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

 

***************

 

ผู้ที่ต้องการ “ทำความพ้นทุกข์ (ดับทุกข์)”

ต้องปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ ทั้ง ๓ ข้อ

โดยใช้ “มรรคมีองค์ ๘” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ

และใช้ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา)” ขับเคลื่อน

 

***************

 

อกุศลมูล[อะกุสนละมูน] หมายถึง น. รากเหง้าแห่งความชั่ว มี ๓ อย่าง คือ โลภะโทสะ โมหะ (พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน)

 

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:27:08 น.
Counter : 837 Pageviews.  

10. การปฏิบัติไตรสิกขา เพื่อให้เกิด การเคลื่อนที่ไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘


 
หลักไตรสิกขา ประกอบด้วย
 
๑. ศีล หมายถึง สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ

การกำหนดตั้งศีล จะกำหนดตั้งให้สูงขึ้นโดยลำดับ เพื่อทำให้เกิด "การเคลื่อนที่ไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘"
 
๒. สมาธิ หมายถึง การทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้ไม่กระเพื่อมไหว ให้ไม่เกิดการปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะทำให้เกิด การละเมิดศีล
 
๓. ปัญญา หมายถึง การทำความรู้แจ้งเห็นจริงที่ใจ ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะทำให้เกิด การละเมิดศีล เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ 
(ไม่เกิดการหลงใหล หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันจะทำให้เกิด การละเมิดศีล และ ไม่เกิดการหลงยึดมั่นถือมั่น ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะทำให้เกิด การละเมิดศีล)
 
 
การกำหนดตั้งศีล ต้องกำหนดตั้งให้สูงขึ้นโดยลำดับ โดยนำเอากิเลสในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด มากำหนดตั้งให้เป็นศีลตามลำดับ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด ออกจากจิตใจ ตามลำดับ เรียกว่า “อธิศีล”
 
การปฏิบัติสมาธิ จะทำให้เกิดสมาธิจิต ที่สูงขึ้นโดยลำดับ ตามศีล เรียกว่า “อธิจิต”
 
การปฏิบัติปัญญา จะทำให้เกิดปัญญา ที่สูงขึ้นโดยลำดับ ตามศีล เรียกว่า “อธิปัญญา”
 
ส่งผลให้เกิด การเคลื่อนไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ โดยลำดับ
 
การปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญา (ไตรสิกขา) จะต้องปฏิบัติ ให้สอดร้อยเกี่ยวเนื่องกันไป
 
จึงจะเกิดมรรคผล โดยลำดับ คือ
 
๑. เกิดการลดลง จางคลายลง ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน โดยลำดับ
 
๒. เกิดจิตที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิ (สัมมาสมาธิ) มากขึ้น โดยลำดับ
 
๓. เกิดปัญญาในทางธรรม (สัมมาทิฏฐิ) มากขึ้น โดยลำดับ
 
 
หลักการปฏิบัติ ศีล สมาธิ และปัญญา ให้สอดร้อยเกี่ยวเนื่องกันไป คือ
 
๑. กำหนดตั้งศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ
 
ในลำดับแรก ให้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา โดยใช้ ศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ
 
และ เมื่อเรามี ศีล ๕ เป็นปกติของตนแล้ว
ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีลของตน เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ หรือ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ ออกจากจิตใจ
 
กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ หมายถึง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะก่อให้เกิด การละเมิดศีล ๕ หรือ ที่จะก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น ได้แก่
 
ความโลภ ความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น ที่มีมากมาย เกินความจำเป็นของชีวิต ไม่มีที่สิ้นสุด จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
ความโกรธ ความโทสะ ความผูกโกรธ ความพยาบาท ความอาฆาตแค้น
 
ความหลงใหลติดใจในอบายมุขทั้งหลาย
 
ความหลงใหลติดใจในกามเมถุน ที่มีมากมาย จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
ความหลงใหลติดใจ ในรูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส ที่มีมากมาย จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
ความหลงใหลติดใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ ที่มีมากมาย จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
๒. ทำจิตใจให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ” ไม่ปล่อยให้จิตใจ กระเพื่อมไหว ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้น เพื่อระงับ ไม่ให้เกิดการละเมิดศีล (เพียรระงับ ดับกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เกิดขึ้น)
 
๓. เพียรเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งถึง ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้เกิด ”ปัญญา” ในทางธรรม จนเกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (ทำศีล ให้เป็นปกติ ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)
 
 
แนวทางการปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้สอดร้อยเกี่ยวเนื่องกันไป คือ
 
๑. ทำความมีสติ (ระลึกรู้ตัว ทั่วพร้อม อยู่เสมอ) เพียรตามดู ตามรู้ และ ตามเห็น สภาวะจิต (เพื่อระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการละเมิด ในสิ่งที่เราได้กำหนดตั้งเอาไว้ ให้เป็น “ศีล”)
 
๒. เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น แล้วทำให้เกิด กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ขึ้นในจิตใจ ให้มีสติรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน และ ให้เพียรพยาม ทำจิตใจ ให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ” ไม่ปล่อยให้จิตใจ กระเพื่อมไหว ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้น เพื่อระงับ ไม่ให้เกิดการละเมิดศีล (เป็นการทำจิตใจ ให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ”)
 
๓. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งถึง ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) ของ กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เกิดขึ้น จนเกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ เป็นการทำให้ศีล กลายเป็นสิ่งปกติ (ปกติวิสัย) ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ (ทำความรู้แจ้งเห็นจริงที่ใจ จนเกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา)
 
๔. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ตามดู ตามรู้ และ ตามเห็น ความลดลง ความจางคลายลง และ ความดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ภายในจิตใจ เพื่อให้มองเห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย
 
 
การปฏิบัติไตรสิกขา ที่ถูกที่ตรง จะทำให้เกิด
 
๑. ความเห็นที่ถูกที่ตรง (สัมมาทิฐิ) ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๒. ความคิดที่ถูกที่ตรง (สัมมาสังกัปปะ) ไม่หลงคิดปรุงแต่งไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๓. การพูดที่ถูกที่ตรง (สัมมาวาจา) ไม่หลงพูดไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๔. การกระทำที่ถูกที่ตรง (สัมมากัมมันตะ) ไม่หลงกระทำไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๕. การประกอบอาชีพที่ถูกที่ตรง (สัมมาอาชีวะ) ไม่หลงประกอบอาชีพ ที่เป็นไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๖. ความเพียรที่ถูกที่ตรง (สัมมาวายามะ) ไม่หลงเพียรกระทำ ในสิ่งที่เป็นไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๗. ความมีสติที่ถูกที่ตรง (สัมมาสติ) ไม่เผลอสติ หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๘. ความมีสมาธิที่ถูกที่ตรง (สัมมาสมาธิ) สงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อมไหวไปตาม อำนาจของกิเลส
 
ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2562    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2563 3:45:13 น.
Counter : 935 Pageviews.  

9. เริ่มต้น ก้าวเดินไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ สู่ความพ้นทุกข์

 

 
ถ้าเราต้องการ จะทำ “ความพ้นทุกข์”
เราต้องเริ่มต้น ก้าวเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘”
ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา”
เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
 
การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
 
เราต้องเพียรหมั่น “อบรมจิต” ฝึกฝืนจิต กดข่มจิต 
เพื่อทำให้จิตตั้งมั่น เป็น “สมาธิ” ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อมไหว ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้น ในจิตใจ 
เป็นการทำความระงับ ดับกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้น
 
และ เราต้องเพียรหมั่น “อบรมปัญญา” เพื่อสั่งสม “ปัญญา” ในทางธรรม ด้วยการเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้น ในจิตใจ จนทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ เพื่อสลายความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี ในจิตใจ หรือ เพื่อทำให้เกิด “ปัญญา” ล้าง “อวิชชา”
 
ในช่วงต้นๆ ของการปฏิบัติธรรม
โดยส่วนใหญ่แล้ว
เรามักจะตามระงับ ดับกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ไม่ทัน
ดังนั้น เราจึงควรใช้วิธีการ เพียรหมั่น “อบรมปัญญา” หรือ เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ย้อนหลัง
เพื่อสลายความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี ในจิตใจ และ เพื่อสั่งสม “ปัญญา” ในทางธรรม
 
การเพียรหมั่น “อบรมปัญญา” หรือ การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ย้อนหลัง อยู่เป็นประจำ
จะทำให้เรา มีพลังสติ มีพลังสมาธิ และ มีพลังปํญญา (ทางธรรม) มากขึ้น โดยลำดับ
จนทำให้เรา สามารถตามระงับ ดับกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ได้ทัน
และ ทำให้ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในจิตใจของเรา ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป เป็นที่สุด
 
การเพียรหมั่น “อบรมปัญญา” หรือ การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ย้อนหลัง นี้
เราต้องทำให้ติด เป็นนิสัย หรือ ต้องทำให้เป็น ปกติวิสัย
จึงจะเกิด “มรรคผล” จริง ดังเช่น
 
เมื่อใดก็ตาม ที่มีอารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ หรือ มีอารมณ์ขัดเคืองใจ เกิดขึ้น ในจิตใจ
ไม่ว่า เราจะตามระงับ ดับได้ทัน หรือ เราจะตามระงับ ดับไม่ทัน
ให้เราเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรไม่ชอบใจไม่พอใจ หรือ เราไม่ควรขัดเคืองใจ
และ ให้เราเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา ให้ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา) ของอารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ หรือ อารมณ์ขัดเคืองใจ
เพื่อสลายความรู้สึกที่ ไม่ชอบใจไม่พอใจ หรือ ขัดเคืองใจ ในจิตใจ และ เพื่อสั่งสม “ปัญญา” ในทางธรรม
 
ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:26:29 น.
Counter : 704 Pageviews.  

8. มรรคมีองค์ ๘ ทางเดินสู่ความพ้นทุกข์ (ดับทุกข์)

 

 
 
ผู้ที่ต้องการ "พ้นทุกข์" หรือ "ดับทุกข์"
 
ต้องทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้ง ว่า
 
ทางเดินไปสู่ความพ้นทุกข์ หรือ ความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) คือ อะไร?
 
"ทางเดินไปสู่ความพ้นทุกข์ หรือ ความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘"

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ ดังนี้

[๑๓๕] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร


คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่


๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)


สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ


สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน
นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ


สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
นี้เรียกว่า สัมมาวาจา


สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ 

 

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยสัมมาอาชีวะ
นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ


สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภ ความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว
นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ


สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
นี้เรียกว่า สัมมาสติ


สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และ สุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ


นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ }

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2562    
Last Update : 1 มีนาคม 2563 4:48:50 น.
Counter : 1274 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.