"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

57. อ.อารมณ์ดี ไม่มีปัญหา



อ.อารมณ์ดี ไม่มีปัญหา

เป็น อ. ที่มีความสำคัญมากที่สุด

และ เป็น อ. ที่ทำ ยากที่สุด
 
***************
 
วิธีการทำตน ให้เป็นคน "อารมณ์ดี ไม่มีปัญหา” คือ

1. ขจัด “อารมณ์ที่ไม่ดี” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ

2. ทำชีวิตให้ติดบวก ในทางโลก

3. ทำชีวิตให้ติดบวก ในทางธรรม
 
***************
 
อารมณ์ที่ไม่ดี ที่ต้องขจัดออกไปจากชีวิตและจิตใจ คือ

อารมณ์ทุกข์ อารมณ์เครียด อารมณ์วิตกกังวลใจ

อารมณ์ไม่ชอบใจ อารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์อึดอัดขัดเคืองใจ

อารมณ์โกรธ อารมณ์ฉุนเฉียวโมโหร้าย อารมณ์พยาบาทอาฆาตแค้น

อารมณ์เกลียดชัง อารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจ อารมณ์อิจฉาริษยา

อารมณ์น้อยใจ อารมณ์ท้อแท้ใจ

อารมณ์โลภ อยากได้ อยากมี และ อยากเป็น ในสิ่งที่มากมายเกินความจำเป็นของชีวิต

ฯลฯ
 
***************
 
การขจัด “อารมณ์ที่ไม่ดี” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ คือ การเพ่งพิจารณา เพื่อ “ปล่อยวางอารมณ์ที่ไม่ดี”

การเพ่งพิจารณา เพื่อ “ปล่อยวางอารมณ์ที่ไม่ดี” มีวิธีการ ดังนี้

1. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ที่ไม่ดีทั้งหลาย” เป็นสิ่งที่ มีความไม่เที่ยง และ มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา (อนิจจัง) ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่งร่วม (สังขาร) มันจะดับลงไปเอง ในเวลา ไม่นานนัก

2. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ที่ไม่ดีทั้งหลาย” เป็นสิ่งที่ ก่อโทษและก่อภัย และ มันเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายและโรคต่างๆ มากมาย (ทุกขัง)

3. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ที่ไม่ดีทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ และ เป็นสิ่งที่ สามารถทำให้ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากชีวิตและจิตใจได้ (อนัตตา)

4. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งว่า จริงๆแล้ว...

เราไม่ควรทุกข์ เราไม่ควรเครียด เราไม่ควรวิตกกังวลใจ

เราไม่ควรไม่ชอบใจ เราไม่ควรไม่พอใจ เราไม่ควรอึดอัดขัดเคืองใจ

เราไม่ควรโกรธ เราไม่ควรฉุนเฉียวโมโหร้าย  เราไม่ควรพยาบาทอาฆาตแค้น

เราไม่ควรเกลียดชัง เราไม่ควรหงุดหงิดรำคาญใจ เราไม่ควรอิจฉาริษยา

เราไม่ควรน้อยใจ เราไม่ควรท้อแท้ใจ

เราไม่ควรโลภ เราไม่ควรอยากได้ เราไม่ควรอยากมี และ เราไม่ควรอยากเป็น ในสิ่งที่มากมายเกินความจำเป็นของชีวิต

ฯลฯ

***************

ผู้ที่มีชีวิต “ติดลบในทางโลก” มักจะเป็นผู้ที่มี “อารมณ์ทุกข์ อารมณ์เครียด และ อารมณ์วิตกกังวลใจ” เป็นธรรมดา

ดังนั้น จึงควรทำให้ชีวิต ติดบวกในทางโลก

การทำให้ชีวิต ติดบวกในทางโลก มีวิธีการ ดังนี้

1. หยุดสร้างภาระ ที่เกินตัว หรือ ที่เกินกำลังของตน เข้ามาทับถมตน

2. พยายามปลดเปลื้องภาระหนี้สิน ที่มีอยู่

3. เริ่มต้น เก็บเงินสำรอง เพื่อทำให้ยอดเงินเก็บ สูงกว่า ภาระหนี้สิน

4. จัดสรรรายได้ที่ได้รับมา ให้เหมาะสม คือ

ส่วนหนึ่ง...ใช้เลี้ยงชีพตน

ส่วนหนึ่ง...เก็บสำรองเอาไว้ ตามสมควร

ส่วนหนึ่ง...ใช้แสวงหาความสุข ให้แก่ตน

และ อีกส่วนหนึ่ง ใช้สร้างกุศล เพื่อสั่งสม “วิบากกรรมดี(กุศลวิบาก)”
 
***************

ชีวิตที่ติดบวกในทางธรรม หมายถึง ชีวิตที่มี “วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก” มากกว่า “วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก”

ชีวิตที่ติดลบในทางธรรม หมายถึง ชีวิตที่มี “วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก” น้อยกว่า “วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก”

วิบากกรรมดี หรือ ผลของการกระทำดี คือ การได้ประสบกับความสุข การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ การได้ห่างไกลจาก “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย” การได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้อื่น และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย

วิบากกรรมไม่ดี หรือ ผลของการกระทำไม่ดี คือ การได้ประสบกับ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย” การไม่มีลาภ การเสื่อมลาภ การไม่มียศ การเสื่อมยศ การไม่ได้รับคำสรรเสริญ การได้รับคำนินทาว่าร้าย และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
 
***************
 
ผู้ที่มีชีวิต “ติดลบในทางธรรม” มักจะเป็นผู้ที่ “มีปกติอารมณ์ไม่ดี”

เพราะเหตุว่า ผู้ที่มีชีวิต “ติดลบในทางธรรม” มักจะได้รับสิ่งที่ไม่ดี หรือ มักจะได้ประสบกับสิ่งที่ไม่ดี อันเป็นผลมาจาก “กรรมไม่ดี” ที่เขาได้เคยกระทำ สั่งสมเอาไว้ ในอดีต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติก่อนๆ

ดังนั้น จึงควรทำให้ชีวิต ติดบวกในทางธรรม

การทำให้ชีวิต ติดบวกในทางธรรม มีวิธีการดังนี้

1. ไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หรือ ไม่กระทำอกุศลวิบาก (วิบากกรรมไม่ดี) มาเติมเพิ่ม ให้กับชีวิต

2. เพียรหมั่นทำกุศลกรรมทั้งหลาย ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หรือ เพียรหมั่นทำกุศลวิบาก (วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่ม ให้กับชีวิต (คิดดี พูดดี และ ทำดี ให้ติดเป็นนิสัย)

ชาญ คำพิมูล


 




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2563    
Last Update : 21 มิถุนายน 2563 7:29:34 น.
Counter : 567 Pageviews.  

56. ทางเดินของชีวิต



"ทางเดินของชีวิต"

เป็นบทกลอนที่เขียนบรรยาย “ชีวิตของผู้เขียน” จากอดีต สู่ปัจจุบัน

ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเมื่อเดือน พฤษภาคม 2556


***************

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ “มีความทุกข์ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ มาก" (ม.ศ.5 – เรียนจบมหาวิทยาลัย)
 
ผู้เขียนได้พยายาม “ค้นหาทางออกจากทุกข์” แต่ก็ไม่พบ
 
***************
 

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่ "เริ่มมองเห็นทางออกจากทุกข์" (เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ)
 
ผู้เขียนต้องขอขอบคุณ เพื่อน “บัวธรรม” (ประภาส บุตรประเสริฐ)
 
ที่ได้ชักนำให้ผู้เขียน เข้าหาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์
 
ผู้เขียนได้เริ่มต้นศึกษาธรรม “เพื่อหาทางออกจากทุกข์” อย่างจริงจัง
 
เมื่อเดือน สิงหาคม 2528
 
***************
 

ช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่ “พบทางออกจากทุกข์”
 
ผู้เขียนได้พบ “ทางออกจากทุกข์ที่แท้จริง”
 
จากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์
 
จึงได้ยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง
 
จนสามารถก้าวพ้นออกมาจาก “ความทุกข์ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ” ที่เคยมี
 
***************
 
ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆคน
 
ที่มีความทุกข์ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ ในชีวิต
 
ผู้เขียนขอยืนยันว่า
 
“หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ คือ ทางออกจากทุกข์ที่แท้จริง”
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2563    
Last Update : 13 มิถุนายน 2563 7:18:20 น.
Counter : 606 Pageviews.  

55. อิทธิบาท 4 กับการดูแลสุขภาพ ตอนที่ 2



หลักการดูแลสุขภาพให้ดี
 
ที่ผู้เขียนได้ยึดถือปฏิบัติอยู่ จนเป็นปกติ
 
คือ หลัก 5อ. + 1
 
***************
 

หลัก 5อ. + 1 ประกอบด้วย
 
1. อ.อารมณ์ดี ไม่มีปัญหา
 
2. อ.อาหารดี มีคุณค่า
 
3. อ.ออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม อย่างพอเหมาะ และ อย่างสม่ำเสมอ ให้ติดเป็นนิสัย
 
4. อ.เอนกาย (นอนหลับ) ให้เพียงพอ
 
5. อ.อุจจาระ ให้เป็นปกติวิสัย ทุกวัน
 
+ 1 อ.อิทธิบาท 4 ช่วยขับเคลื่อน 5อ.
 
***************
 
การดูแลสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก
 
แต่ค่อนข้างยาก ที่จะทำให้ได้ เป็นปกติวิสัย

 
ดังนั้น จึงต้องใช้หลักธรรม “อิทธิบาท 4” ของพระพุทธองค์ มาช่วยขับเคลื่อน ดังนี้
 
1. ต้องสร้าง “ฉันทะ (ความยินดี)” ในการดูแลสุขภาพ ขึ้นมาก่อน เป็นลำดับแรก (ตามที่ได้อธิบายไว้ ในตอนที่ 1)
 
การสร้างฉันทะ (ความยินดี)
 
หรือ การสร้างแรงผลักดัน
 
หรือ การสร้างแรงกระตุ้น
 
หรือ การสร้างแรงจูงใจ
 
เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากๆ
 
2. ต้องเพียรทำ (วิริยะ) อย่างต่อเนื่อง และ อย่างสม่ำเสมอ ให้ติดเป็นนิสัย จึงจะเกิดมรรคผลจริง
 
3. ต้องเอาใจใส่ ต้องเอาใจฝักใฝ่ ศึกษาหาความรู้เรื่องสุขภาพ และ หาวิธีการดูแลสุขภาพ ที่เหมาะสมกับตน (จิตตะ)
 
4. ต้องพิจารณาไตร่ตรอง ประเมินผลการปฏิบัติ และ ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติ ให้ดียิ่งขึ้นและให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อทำให้เกิดผลดีต่อร่างกาย (วิมังสา)

***************
 
เมื่อเราได้เพียรทำ อย่างถูกต้อง อย่างเหมาะสม อย่างต่อเนื่อง และ อย่างสม่ำเสมอ จนติดเป็นนิสัยแล้ว
 
ก็จะปรากฏผลดีต่อร่างกาย อย่างชัดเจน
 
และ จะส่งผลให้เกิด “ฉันทะ” ที่จะทำต่อไป อย่างต่อเนื่อง เรื่อยๆ (เกิดฉันทะมากขึ้น และ เกิดการหมุนวนรอบของอิทธิบาท 4 ที่แรงขึ้น)
 
***************
 
การสร้างฉันทะ (ความยินดี) ขึ้นมาก่อน
 
เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากๆ
 
เพราะ เมื่อมีฉันทะ (ความยินดี) แล้ว
 
ก็จะมีวิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความเอาใจฝักใฝ่) และ วิมังสา (ความพิจารณาไตร่ตรอง) ตามมา
 
***************
 
“ไม่มีใครดูแลสุขภาพแทนเราได้”
 
“ไม่มีใครเจ็บป่วยแทนเราได้”
 
“ถ้าเราไม่ดูแลสุขภาพของเราให้ดี แล้วเราจะเอาสุขภาพที่ดี มาจากไหน?”
 
“จงอย่ามัววุ่นวายอยู่กับ เรื่องราวของโลก ของสังคม และ ของผู้อื่น จนเกินควร จนลืมดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตน”

 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2563    
Last Update : 8 มิถุนายน 2563 7:28:11 น.
Counter : 1038 Pageviews.  

54. อิทธิบาท 4 กับการดูแลสุขภาพ ตอนที่ 1



#เหลือเวลาอีกไม่ถึงปี ก็จะครบ 60 ปี แล้ว
#ต้องเน้นดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
#ด้วยการเสริมเมนูเพื่อสุขภาพ “น้ำผักผลไม้ปั่น” เข้าไปในมื้ออาหาร สัปดาห์ละ 5-6 วัน
#ทำมาแล้วเกือบ 2 ปี ขอบอกว่า “ดีจริงๆนะ”
#การดูแลสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก แต่ค่อนข้างยาก ที่จะทำให้ได้
 
***************
 

วิธีสร้างฉันทะในการดูแลสุขภาพ
 
1. เพ่งพิจารณาให้เห็น "คุณค่าประโยชน์" ของการดูแลสุขภาพ
 
2. เพ่งพิจารณาให้เห็น "โทษ" ของการไม่ดูแลสุขภาพ
 
3. เมื่อมีญาติพี่น้อง หรือ เพื่อนฝูง หรือ บุคคลรอบๆข้าง เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ให้หาโอกาสไปเยี่ยมเยือน เพื่อให้กำลังใจ และ เพื่อให้ได้รับรู้ถึงปัญหา ที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย เช่น ความทุกข์ของผู้ป่วย ความทุกข์ของบุคคลรอบๆข้าง ค่าใช้จ่ายในการรักษา ฯลฯ
 
4. ให้ลองนึกดูว่า ถ้าวันหนึ่ง เราต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ชีวิตของเรา จะเป็นอย่างไร? ใครจะดูแลเรา? เรามีเงินมากพอ ที่จะรักษาไหม?
 
***************
 
เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้ว
 
เคยไปเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย รักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา ประมาณ 6 เดือนแล้ว

จากการพูดคุยกับเพื่อน เพื่อนได้บอกประมาณว่า “มันทุกข์ทรมานมาก อยากจะตายแล้ว มันเจ็บปวดมาก ฉีดมอร์ฟีนก็ไม่หายปวด นอนไม่หลับมาหลายคืนแล้ว เมียบอกว่า เมื่อไหร่จะตายซะที”
 

(รู้สึกเห็นใจ คนที่ต้องคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด อยู่เหมือนกัน)
 
หลังจากนั้น ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อนก็เสียชีวิต
 
“การเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย มันทุกข์ทรมานจริงๆ”
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 31 พฤษภาคม 2563 5:59:01 น.
Counter : 752 Pageviews.  

53. ๕๙ ปี ผ่านพ้นไป



 

วันเวลาผ่านพ้นไป ๑ วัน ชีวิตสั้นลงไป ๑ วัน
 

วันเวลาผ่านพ้นไป ๑ เดือน ชีวิตสั้นลงไป ๑ เดือน
 

วันเวลาผ่านพ้นไป ๑ ปี ชีวิตสั้นลงไป ๑ ปี
 

***************

วันเวลาของชีวิตนี้ เหลืออยู่เท่าใด?


ไม่มีใคร ที่จะหยั่งรู้ได้


ถ้าอายุขัยของผู้เขียน = ๗๐ ปี ผู้เขียนจะมีวันเวลาของชีวิต เหลืออยู่ ไม่ถึง ๑๑ ปี


ถ้าอายุขัยของผู้เขียน = ๘๐ ปี ผู้เขียนจะมีวันเวลาของชีวิต เหลืออยู่ ไม่ถึง ๒๑ ปี


ถ้าอายุขัยของผู้เขียน = ๙๐ ปี ผู้เขียนจะมีวันเวลาของชีวิต เหลืออยู่ ไม่ถึง ๓๑ ปี


***************


วันเวลาของชีวิต ๑๑ ปี ๒๑ ปี หรือ ๓๑ ปี


มันไม่ได้ยาวนานเลยนะ


เพราะเหตุว่า วันเวลาของชีวิต มันล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ


ประเดี๋ยววัน ประเดี๋ยวเดือน ประเดี๋ยวปี


ดังนั้น จึงไม่ควรประมาท ในการใช้ชีวิต


และ ไม่ควรประมาทว่า “ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่”


จงเพียรหมั่นศึกษาธรรม และ ประพฤติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธองค์


เพื่อให้ได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง


และ เพื่อให้ได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ


***************


ชีวิตนี้ น้อยนัก


ชีวิตนี้ สั้นนัก


ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน


ขอพวกเรา จงทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้งว่า


“คนเราเกิดมา เพื่อไร?”


“อะไร? คือเป้าหมาย ที่คนเราควรทำให้ได้ หรือ ควรทำให้ถึง”


“อะไร? คือสิ่งที่คนเรา สามารถจะนำพาข้ามภพข้ามชาติ ไปกับตนได้”


แล้วจงลงมือทำในสิ่งที่ควรทำ และ ลงมือสะสมในสิ่งที่ควรสะสม


เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป


***************


ขอพวกเรา จงอย่าปล่อยให้ชีวิต ไหลเลื่อนไปตาม “อำนาจของกิเลส” คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง


เพราะ การปล่อยให้ชีวิต ไหลเลื่อนไปตาม “อำนาจของกิเลส”


จะทำให้ชีวิตของเรา เวียนวนอยู่ใน “วังวนของความสุข (โลกียสุข) และ ความทุกข์” ไม่มีที่สิ้นสุด


และ จะทำให้ชีวิตของเรา จมดิ่งลงไปใน “กองทุกข์”


***************


ผู้เขียน “ขอใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ไม่มากนักนี้ เพียรทำที่สุดแห่งทุกข์”


...จากการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม มากกว่า ๓๐ ปี


ขอยืนยันว่า


การเดินไปในทางธรรม (โลกุตระ)


ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งมองเห็นจุดหมายปลายทาง คือ ความพ้นทุกข์หรือพระนิพพาน ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2563 18:47:55 น.
Counter : 746 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.