"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

27. การปล่อยวางความสุข (โลกียสุข) ไม่ใช่เรื่องง่าย



การปล่อยวาง "ความสุข อันเป็นโลกียสุข" หรือ ความสุขในทางโลก

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เพราะเหตุว่า

๑. ความสุข อันเป็นโลกียสุข เป็นสิ่งที่คนเราคุ้นเคย

๒. ความสุข อันเป็นโลกียสุข เป็นสิ่งที่มีอิทธิพล ต่อจิตใจของคนเรามากมาย

หลายๆคน ต้องยอมเหน็ดเหนื่อบเมื่อยล้า เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข”

หลายๆคน ต้องยอมทำผิดศีลธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข”

หลายๆคน ต้องยอมเสี่ยงโรค เสี่ยงภัย เสี่ยงคุกตะราง เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข”

หลายๆคน ต้องยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข”

๓. ความสุข อันเป็นโลกียสุข เป็นสิ่งที่คนเรา มุ่งมาดปรารถนา มุ่งได้ใฝ่หา และ เป็นเป้าหมายในชีวิต

๔. หลายๆคนเชื่อว่า ชีวิตนี้ จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าปราศจากความสุข (โลกียสุข)

๕. หลายๆคน ไม่มั่นใจว่า "เมื่อเราปล่อยวาง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข” ได้แล้ว ชีวิตของเรา จะดำเนินต่อไปได้ อย่างมีความสุขยิ่งกว่า" จริงหรือไม่?

๖. คนส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่า จริงๆแล้ว ยังมีความสุข ที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่า “ความสุข อันเป็นโลกียสุข” มากมาย คือ ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข หรือ ความสุขในทางธรรม

***************

จากประสบการณ์ การปฏิบัติธรรมของผู้เขียน

ผู้เขียนพบว่า ถ้าเราต้องการจะปล่อยวาง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข” ให้ได้ เพื่อความพ้นทุกข์

เราต้องทำให้ตัวเรา ได้สัมผัส หรือ ได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” ในระดับหนึ่งก่อน

โดยการปฏิบัติธรรม ให้เป็นไปโดยลำดับ

***************

สิ่งที่เรา ควรทำการปล่อยวาง ให้ได้ก่อน เป็นลำดับต้นๆ

เพื่อทำให้ตัวเรา ได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” ในระดับหนึ่ง

คือ ความทุกข์ ความเครียด ความวิตกกังวลใจ

ความขุ่นข้องหมองใจ ความอึดอัดขัดเคืองใจ

ความไม่ชอบ ความไม่พอใจ

ความโกรธ ความเกลียดชัง

***************

เมื่อเราปล่อยวาง สิ่งดังกล่าว ได้แล้ว

เราจะได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” ในระดับหนึ่ง


และ เมื่อเราได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” ในระดับหนึ่ง แล้ว

เราจะรู้ว่า “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่า “ความสุข อันเป็นโลกียสุข” มากมาย

เราจะเริ่มมองเห็น ความจริงตามความเป็นจริงของ “ความสุข อันเป็นโลกียสุข”

และ เราจะเริ่มมีฉันทะ หรือ มีความปรารถนา ที่จะปล่อยวาง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข” 

***************

การพยายามจะปล่อยวาง “ความสุข อันเป็นโลกียสุข” ทั้งหมด

ในขณะที่เรา ยังคงมี ความทุกข์ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ อยู่

จะทำให้เกิด “ความทุกข์ และ ความเครียด” เพิ่มมากยิ่งขึ้น

และ จะไม่ทำให้เกิด “ความก้าวหน้าในธรรม” โดยลำดับ

***************

“ความสุข อันเป็นโลกียสุข” ที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดเอาไว้ เป็นเบื้องต้น

เพื่อให้พวกเรา "ทำความปล่อยวาง"

และ เพื่อให้พวกเรา ทำให้ "ความหลงใหลติดใจ และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น" ลดลง จางคลายลง

คือ “ความสุข อันเป็นโลกียสุข” ที่มีโทษมีภัยมาก ได้แก่

๑. ความสุขอันเกิดจาก การเสพสุรา และ สิ่งเสพติดทั้งหลาย

ความสุขอันเกิดจาก การเสพสุรา และ สิ่งเสพติดทั้งหลาย เป็นสิ่งที่เรา "ต้องทำความปล่อยวางให้ได้" เป็นเบื้องต้น

๒. ความสุขอันเกิดจาก อบายมุขทั้งหลาย

ความสุขอันเกิดจาก อบายมุขทั้งหลาย เป็นสิ่งที่เรา "ต้องทำความปล่อยวางให้ได้" เป็นเบื้องต้น


๓. ความสุขอันเกิดจาก กามเมถุน

ความสุขอันเกิดจาก กามเมถุน เป็นสิ่งที่เรา ต้องทำให้ "ความหลงใหลติดใจ และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น" ลดลง จางคลายลง จนไม่ละเมิดศีล ข้อ ๓ เป็นเบื้องต้น


***************

ความสุขที่เกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส ที่มีโทษมีภัยน้อย หรือ กามคุณ ๕

ไม่ใช่สิ่งที่เรา จะต้องทำความปล่อยวางให้ได้ ในลำดับต้นๆ

เพราะ ยังคงมีประโยชน์ (คุณ) ในการหล่อเลี้ยงดวงจิต ในช่วงต้นๆ ของการปฏิบัติธรรม

***************

การปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์

ต้องปฏิบัติให้ถูกมรรคถูกทาง

และ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามลำดับ

โดยมีผัสสะเป็นปัจจัย

จึงจะเกิด “ความก้าวหน้าในธรรม” โดยลำดับ

และ จึงจะเกิด “การบรรลุธรรม” โดยลำดับ

โดยไม่ก่อให้เกิด ความทุกข์ และ ความเครียด จากการปฏิบัติธรรม
 
ชาญ คำพิมูล 

 




 

Create Date : 06 กันยายน 2562    
Last Update : 15 มีนาคม 2565 7:12:52 น.
Counter : 2606 Pageviews.  

26. ๓๔ ปี ของการปฏิบัติธรรม


 

เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒


ครบรอบ ๓๔ ปี ของการปฏิบัติธรรม


ครบรอบ ๓๔ ปี ของการกินอาหารมังสวิรัติ


และ ครบรอบ ๘ ปี ของการกินอาหารมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง)


***************


สิ่งที่ทำให้ผู้เขียน ต้องเริ่มต้น ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม อย่างจริงจัง คือ


ในช่วงอายุ ประมาณ ๑๗ – ๒๔ ปี


ผู้เขียนมีความสับสนในชีวิต


มีความไม่เข้าใจในชีวิต


มีความทุกข์ มีความเครียด และ มีความวิตกกังวลใจ มากมาย


ภายในจิตใจของผู้เขียน มีคำถาม เกิดขึ้นมากมาย ดังเช่น


“คนเรา เกิดมาเพื่ออะไร?”


“ทำไม? คนบางคน เกิดมาแล้ว จึงมีความทุกข์ มากกว่า ความสุข”


“ทำไม? คนบางคน เกิดมาแล้ว จึงมีความสุข มากกว่า ความทุกข์”


“ทำไม? คนบางคน ได้เกิดมา ในครอบครัว ที่มีฐานะดี”


“ทำไม? คนบางคน ได้เกิดมา ในครอบครัว ที่มีฐานะยากจน”


“ทำไม? คนเรา จึงไม่มีความสุข โดยถ่ายเดียว”


“ทำไม? ความสุข ที่เราได้รับ จึงไม่อยู่กับเรา ตลอดไป”


“ความสุข ที่เป็นความสุขนิรันดร์ มีไหม?”


“ทำอย่างไร? ชีวิตจึงจะมีความสุข ไม่ทุกข์ ไม่เครียด และ ไม่วิตกกังวล”


“อะไร? คือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต”


“อะไร? คือภารกิจที่สำคัญของชีวิต ฯลฯ

 

***************


จากการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม อย่างจริงจัง

ทำให้ผู้เขียน ได้เข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิต อย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้น ดังเช่น


๑. คนเราเกิดมา เพื่อมารับผลของกรรม หรือ วิบากกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ ในชาติก่อนๆ


เหตุที่คนเราเกิดมา แตกต่างกัน และ ได้รับสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน


เป็นเพราะ ในชาติก่อนๆ คนเรา กระทำกรรมสั่งสมเอาไว้ แตกต่างกัน


กรรมดี มีผลเป็น วิบากกรรมดี (กุศลวิบาก)

กรรมไม่ดี มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก)


๒. ความสุขและความทุกข์ ที่เกิดขึ้นมา ภายในจิตใจของคนเรา โดยส่วนใหญ่แล้ว เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส


การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ เกิดขึ้นจาก การหลงยึดมั่นถือมั่น ไปตามอำนาจของกิเลส หรือ อุปาทาน (อุปาทานขันธ์ ๕)


อุปาทาน หรือ การหลงยึดมั่นถือมั่น ไปตามอำนาจของกิเลส ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ จิต เจตสิก คือ มูลเหตุของความสุขและความทุกข์ ที่เกิดขึ้น ภายในจิตใจของคนเรา


อุปาทาน เป็นสิ่งที่คนเรา มีอยู่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น


คนบางคน ได้เห็นรูปนี้แล้ว ชอบ มีความสุข (สุขเวทนา)


คนบางคน ได้เห็นรูปนี้แล้ว ไม่ชอบ มีความทุกข์ (ทุกขเวทนา)


คนบางคน ได้เห็นรูปนี้แล้ว เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข (อทุกขมสุขเวทนา)


คนบางคน ได้กินปลาร้าแล้ว อร่อย ชอบ มีความสุข (สุขเวทนา)


คนบางคน ได้กินปลาร้าแล้ว ไม่อร่อย ไม่ชอบ มีความทุกข์ (ทุกขเวทนา)


คนบางคน ได้กินปลาร้าแล้ว เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา) ฯลฯ

 

๓. ความสุข ที่เกิดขึ้นจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส หรือ โลกียสุข แท้จริงแล้ว คือ บ่อเกิดของความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย ทั้งหลาย


“ความสุข (โลกียสุข) และ ความทุกข์ เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้”


๔. ความสุขและความทุกข์ ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส เป็นสิ่งที่คนเรา สามารถทำให้ดับสิ้นไปจากจิตใจได้ หรือ สามารถทำความปล่อยวางได้


๕. หากเราต้องการจะพ้นทุกข์ เราต้องทำความปล่อยวาง ทั้งความสุขและความทุกข์ ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส หรือ ต้องทำให้ ทั้งความสุขและความทุกข์ ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส ดับสูญสิ้นไป จากจิตใจของเรา ให้เป็นอนัตตา (ล้างอุปาทาน)


๖. การทำความปล่อยวาง ความสุขและความทุกข์ ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ เราต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เพื่อทำให้เห็น “จนชัดแจ้งที่ใจ” ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของความสุขและความทุกข์ ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส หรือ ต้องทำให้เกิดปัญญาในทางธรรม เพื่อล้างอวิชชา (ล้างอุปาทาน)


“การรู้เพียงนิรุตติภาษา หรือ การรู้ด้วยปัญญาในทางโลก ไม่สามารถจะทำให้เกิด การปล่อยวางได้”


๗. เมื่อเราปล่อยวาง “ความทุกข์ ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส” ได้แล้ว เราจะได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” ในระดับหนึ่ง


๘. เมื่อเราได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” ในระดับหนึ่งแล้ว เราจะรู้ว่า “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” คือความสุขที่แท้จริง ที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่า “โลกียสุข” มากมาย เราจะเริ่มมองเห็น ความจริงตามความเป็นจริงของ “โลกียสุข” และ เราจะเริ่มมีความปรารถนา อยากจะปล่อยวาง “โลกียสุข หรือ ความสุข ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส”


๙. ยิ่งเราปล่อยวาง “โลกียสุข” ได้มากเท่าใด เรายิ่งได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” มากขึ้นเท่านั้น


๑๐. ที่สุดของความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข คือ พระนิพพาน


๑๑. ทางเดินสู่ความพ้นทุกข์ คือ มรรคมีองค์ ๘


๑๒. การเดินไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ ต้องใช้ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ขับเคลื่อน


๑๓. หลักธรรมที่ต้องใช้ประกอบกัน เพื่อทำให้คนเราพ้นทุกข์ คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘


๑๔. การก้าวเดินไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ หรือ การก้าวเดินไป ในทางธรรม ยิ่งก้าวเดินไปข้างหน้า ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย และ มีจุดหมายปลายทาง คือ พระนิพพาน


๑๕. การก้าวเดินไปในทางโลก ยิ่งก้าวเดินไปข้างหน้า ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียด ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหนัก และ มองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด


“การก้าวเดินไปในทางโลก เป็นการเวียนวน อยู่ในวังวนของ “ความสุข (โลกียสุข)” และ “ความทุกข์” อันไม่มีที่สิ้นสุด”


๑๖. การปฏิบัติธรรม เพื่อให้ได้มรรคผลจริง ต้องปฏิบัติให้ถูกมรรคถูกทาง ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามลำดับ ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย และ ต้องมองให้เห็นมรรคผลแม้มีประมาณน้อย


๑๗. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ หรือ ภารกิจที่สำคัญของชีวิต คือ ๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ, ๒. การทำกุศลทั้งหลาย ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ และ ๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ด้วยการชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ออกจากจิตใจ 


๑๘. เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต คือ ความพ้นทุกข์


๑๙. ความสุขที่แท้จริงของชีวิต อยู่ที่ใจ ไม่ต้องไปแสวงหา จากที่อื่นใด ให้ทำที่ใจ ของตน


๒๐. ความสุขที่แท้จริงของชีวิต ไม่อาจซื้อหาเอามาได้ ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่ายาจกหรือเศรษฐี ก็มีสิทธิได้ครอบครอง เสมอกัน

ฯลฯ


***************


การปฏิบัติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้ผู้เขียนหลุดพ้นจาก “ความทุกข์ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ” ที่ผู้เขียนเคยมี

 

การปฏิบัติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้ผู้เขียนได้รับ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” มากขึ้น โดยลำดับ

 

ธรรมของพระพุทธองค์ คือ หนทางสู่ความพ้นทุกข์ อย่างแท้จริง

 

ธรรมของพระพุทธองค์ คือ คำตอบของชีวิต


***************


การปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่มีความยากลำบาก ในช่วงต้นๆ เท่านั้นเอง


ถ้าเราปฏิบัติธรรม “อย่างถูกมรรคถูกทาง” และ “อย่างถูกต้องตามลำดับ” โดยมีความเพียรเป็นที่ตั้ง แล้ว


เราจะได้รับมรรคผล เป็น “ความสุขสงบ (วูปสโมสุข)” ในเวลาไม่นานมากนัก


และ เมื่อเราได้รับมรรคผล เป็น “ความสุขสงบ (วูปสโมสุข)” แล้ว


เราก็จะมี “ฉันทะ” มากขึ้น มี “พลังศรัทธา” มากขึ้น มี “พลังความเพียร” มากขึ้น มี “พลังสติ” มากขึ้น มี “พลังสมาธิ” มากขึ้น และ มี “พลังปัญญา” มากขึ้น


ทำให้การปฏิบัติธรรม ง่ายขึ้น และ มีความก้าวหน้า เร็วขึ้น


***************


กี่ปี กี่เดือน กี่วัน แล้ว


ที่พวกเรา เดินอยู่บนเส้นทาง “สายโลกิยะ”


เหนื่อยไหม? ทุกข์ไหม? เบื่อไหม?


ลองเปลี่ยน มาเดินบนเส้นทาง “สายโลกุตระ” ดีกว่าไหม?

 

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2562    
Last Update : 28 กรกฎาคม 2563 4:21:25 น.
Counter : 1931 Pageviews.  

25. ปล่อยวาง สุข (โลกียสุข) จึงได้ สุข (วูปสโมสุข)




โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก ทั้งหลาย

เป็นสิ่งที่คนเรา ควรทำความปล่อยวางให้ได้

เพราะเหตุว่า

มันเป็นบ่อเกิดของ ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ ภัย และ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย

และ มันทำให้คนเรา ต้องเวียนวน อยู่ในวังวนของ ความสุข (โลกียสุข) และ ความทุกข์ เป็นวัฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุด

***************

การทำความปล่อยวาง “โลกียสุข” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย

เพราะเหตุว่า

“โลกียสุข” เป็น “เหยื่อล่อของกิเลส” ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของคนเรา มากมาย

บุคคลทั้งหลาย ล้วนมุ่งมาดปรารถนา มุ่งแสวงหา “โลกียสุข”

โดยยอมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ยอมมอบตนในทางผิด ยอมทำผิดศีลธรรม ยอมทำอกุศลกรรมต่างๆ ยอมเสี่ยงโรค ยอมเสี่ยงภัย ยอมเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง และ ยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อให้ได้มา ซึ่ง “โลกียสุข”

***************

ถ้าหากเราต้องการ จะทำความปล่อยวาง “โลกียสุข” ให้ได้

เราต้องเพียรหมั่น “อบรมจิต” และ เราต้องเพียรหมั่น “อบรมปัญญา”

เพื่อทำให้เราได้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ “โลกียสุข”

และ เมื่อเราได้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ “โลกียสุข” แล้ว

จิตใจของเรา ก็จะปล่อยวาง “โลกียสุข”

***************

เมื่อจิตใจของเรา ปล่อยวาง “โลกียสุข” แล้ว

จิตใจของเรา ก็จะมี “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข”


“ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” คือ “ความสุขในทางธรรม” ที่มีความยิ่งใหญ่ เหนือกว่า “โลกียสุข” มากมาย มีความเที่ยง มีความยั่งยืน ไม่แปรปรวน ได้แล้วได้เลย

“เตสัง วูปสโม สุโข ความระงับดับเสีย ซึ่งสังขาร (การปรุงแต่งทางจิตใจ) ทั้งหลาย นั้นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง”


ที่สุดของ “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” คือ พระนิพพาน

“นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง (บรมสุข)”


“ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข” เป็นความสุข ที่ไม่อาจซื้อหาเอามาได้ ด้วยทรัพย์สินเงินทอง

ไม่ว่ายาจก หรือ เศรษฐี ก็มีสิทธิได้ครอบครอง เสมอกัน

ผู้ใดต้องการจะครอบครอง “ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข”

ต้องทำความปล่อยวาง “โลกียสุข” ให้ได้

***************

“โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก คือความสุขลวง ที่คนเรา ควรทำความปล่อยวาง ให้ได้”

“วูปสโมสุข หรือ ความสุขในทางธรรม คือความสุขที่แท้จริง ที่คนเรา ควรมุ่งมาดปรารถนา”


กี่ปี กี่เดือน กี่วัน...แล้ว

ที่พวกเรา มุ่งแสวงหา “โลกียสุข”

เหนื่อยไหม? เบื่อไหม? ท้อไหม? ทุกข์ไหม?

มองเห็นจุดหมายปลายทาง บ้างไหม?

เรามาทำความปล่อยวาง “โลกียสุข”

เพื่อให้เราได้รับ “วูปสโมสุข” ดีกว่าไหม?

ชาญ คำพิมูล

 
 




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:31:34 น.
Counter : 1614 Pageviews.  

24. ไม่ปล่อยวางสุข (โลกียสุข) ไม่มีทางพ้นทุกข์



ความสุข หรือ สุขเวทนา ที่เกิดขึ้น  ในจิตใจของคนเรา

โดยส่วนใหญ่แล้ว เป็น “โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก”

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" หมายถึง ความสุขอันเกิดจาก สิ่งเสพติดทั้งหลาย อบายมุขทั้งหลาย กามเมถุน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ

***************

“ความสุขของโลก เหมือนเหยื่อ ที่เบ็ดเกี่ยวไว้ พอปลากินเหยื่อ ก็ติดเบ็ด คราวนี้ ก็สุดแล้วแต่พรานเบ็ด จะฉุดกระชากลากไป มัสยาที่ติดเบ็ด กับ ปุถุชนผู้ติดในโลกียสุข จะต่างอะไรกัน”
(จากหนังสือ “ผู้สละโลก”)

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ “ความสุขลวง” เป็นเหยื่อล่อของกิเลส ที่ล่อให้คนเรา หลงใหลและติดใจ จนต้องยอมมอบตนในทางผิด จนต้องยอมทำผิดศีลธรรม จนต้องยอมทำอกุศลกรรมต่างๆ จนต้องยอมเสี่ยงโรค จนต้องยอมเสี่ยงภัย จนต้องยอมเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง จนต้องยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อให้ได้เสพ “โลกียสุข”

***************

กิเลสจะใช้ “โลกียสุข” เป็นเหยื่อล่อ เพื่อล่อให้คนเรา ทำทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดี คละเคล้ากันไป

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็น “กรรมไม่ดี” มากกว่า “กรรมดี”

ทำให้ชีวิตของคนเรา ต้องเวียนวน อยู่ในวังวนของ “ความสุข (โลกียสุข)” และ “ความทุกข์” ไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็น “ความทุกข์” มากกว่า “ความสุข”

***************

“โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก” และ “ความทุกข์” คือสิ่งที่เกิดมา “คู่กัน”

ไม่มีใครผู้ใด จะแยกออกจากกันได้

หากต้องการจะพ้นทุกข์

หรือ ต้องการจะหลุดพ้นออกจาก วังวนของ “ความสุข (โลกียสุข)” และ “ความทุกข์” อันไม่มีที่สิ้นสุด

ต้องปล่อยวาง “โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก” โดยถ่ายเดียว

ดังคำตรัสของพระพุทธองค์ ที่ว่า         

 “ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่า สุข ทุกข์ ติดกันอยู่นั้น หายาก ยิ่งนัก

มีแต่เราตถาคต ผู้ประกอบด้วยทศพลญาณนี้ เท่านั้น

บุคคลทั้งหลาย ที่ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น

ทำความเข้าใจว่า สุข ก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ ก็มีอยู่ต่างหาก

ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้

เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์

เมื่อผู้ใด อยากพ้นทุกข์ ก็ให้วางสุขเสีย ก็เป็นอันละทุกข์ วางทุกข์ด้วย เหมือนกัน

ใครเล่า จะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ ออกจากกันได้

แม้แต่เราตถาคต ก็ไม่มีอำนาจวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้

ถ้าหากเราตถาคต พรากสุข แลทุกข์ ออกจากกันได้

เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพาน ทำไม

เราจะถือเอาแต่สุข อย่างเดียว

เสวยแต่ความสุข อยู่ในโลก เท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบาย พออยู่แล้ว

นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุข โดยส่วนเดียว ไม่มีทาง ที่จะพึงได้

เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้

เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการ ดังนี้

ดูกรอานนท์ อันสุขในโลกีย์นั้น

ถ้าตรวจตรองให้แน่นอนแล้ว ก็เป็นกองแห่งทุกข์ นั้นเอง

เขาหากเกิดมา เป็นมิตร ติดกันอยู่ ไม่มีผู้ใด จักพรากออกจากกันได้

เราตถาคต กลัวทุกข์เป็นอย่างยิ่ง

หาทางชนะทุกข์ มิได้

จึงปรารถนา เข้าพระนิพพาน เพราะเหตุกลัวทุกข์นั้น อย่างเดียว

พระพุทธเจ้า ตรัสเทศนาแก่ข้าอานนท์ ดังนี้แลฯ”


*** เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร ฉบับพระยาธรรมิกราช “ความสุขในโลก”

***************

“บางคราว พระศาสดา ทรงตรัสเปรียบโลกียสุข เหมือนน้ำผึ้ง ซึ่งฉาบไล้ อยู่ที่ปลายศัสตรา อันแหลมคม
ผู้ลิ้มเลียโดยไม่ระวัง ย่อมถูกคมศัสตรา บาดปาก บาดลิ้น อย่างแน่นอน
มันเป็นภาวะ ที่น่าหวาดเสียว น่าสะพรึงกลัว มิใช่หรือ”
(จากหนังสือ “ผู้สละโลก”)

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ "ความสุขที่เจืออยู่ในความทุกข์” เป็นบ่อเกิดของ ความทุกข์ ความโศก โรค ภัย และ สิ่งที่ไม่มีทั้งหลาย

***************

“โลกียสุข เปรียบเหมือน การกินอ้อย จากโคน ไปหาปลาย คือ ยิ่งกิน ยิ่งจืด”

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ "ความสุขอันมีประมาณน้อย" ที่มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน มีความไม่แน่นอน มีความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ เป็นธรรมดา ต้องดิ้นรนแสวงหา ตลอดเวลา

***************

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ "สิ่งที่ต้องทำความปล่อยวางให้ได้"

การทำความปล่อยวาง “โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก” มีวิธีการ ดังนี้

๑. เพียรทำความมีสติ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น ของ "อารณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข"

เมื่อใดก็ตาม ที่มี “อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" เกิดขึ้น ในจิตใจของเรา 

จงเพียรพยายาม ทำความระงับ ดับอารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นนั้น

โดยพยายาม ทำจิตใจ ให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ”

และพยายามไม่ปล่อยให้จิตใจ ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นนั้น

(ทำความมีสติ เพื่อรับรู้การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของอารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นนั้น โดยไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ตาม)

๒. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ยั่งยืน ความแปรปรวน ความไม่แน่นอน ความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ (อนิจจัง) ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ที่กำลังเกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว

"อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้น ในจิตใจของเรา

ล้วนมีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา

ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่งร่วม (สังขาร) มันจะดับลงไปเอง ในเวลา ไม่นานนัก

๓. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความเป็นทุกข์ ความเป็นโทษ และ ความเป็นภัย (ทุกขัง) ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ที่กำลังเกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว และ เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง คุณค่าประโยชน์ ของการปล่อยวาง อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข

๔. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ซึ่งไม่อาจจะกำหนดได้ และ ไม่อาจจะควบคุมได้ เพ่งพิจารณาให้เห็นว่า อารมณ์สุข อันเป็นโลกียสุข เป็นแค่เพียง “อุปาทาน” เท่านั้นเอง ไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ และ เพ่งพิจารณาให้เห็นว่า อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข เป็นสิ่งที่คนเรา สามารถทำให้ ลดลงได้ จืดจางลงได้ และ ดับสิ้นไปได้ (อนัตตา)

๕. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง “ความจริงตามความเป็นจริง” จนเห็นชัดแจ้งว่า “จริงๆแล้ว เราไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข” และ “จริงๆแล้ว เราควรปล่อยวาง อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข”

๖. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความลดลง ความจางคลายลง และ ความดับสิ้นไป ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ทั้งหลาย ในจิตใจของเรา

***************

เมื่อได้เพ่งพิจารณา จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุขแล้ว

ก็จะเกิด การปล่อยวาง “อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข” ได้ ตามมา (เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)

และเมื่อเกิดการปล่อยวาง “อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข” ได้แล้ว

ก็จะได้รับ “วูปสโมสุข หรือ ความสุขในทางธรรม”

***************

“เตสัง วูปสโม สุโข ความระงับดับเสีย ซึ่งสังขาร (การปรุงแต่งทางจิตใจ) ทั้งหลาย นั้นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง”

“วูปสโมสุข เปรียบเหมือน การกินอ้อย จากปลาย ไปหาโคน คือ ยิ่งกิน ยิ่งหวาน”

"วูปสโมสุข หรือ ความสุขในทางธรรม" คือความสุขสงบ ที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่า โลกียสุข มีความเที่ยง มีความยั่งยืน มีความไม่แปรปรวน ได้แล้วได้เลย ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอีก

ที่สุดของ "ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข" คือ "พระนิพพาน"

“นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง (บรมสุข)”

***************

การแสวงหา “โลกียสุข” ยิ่งแสวงหา ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหนัก ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียด และ ไม่มีจุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด

การแสวงหา “วูปสโมสุข” ยิ่งแสวงหา ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย และ มีจุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด คือ "พระนิพพาน"
 
"ปล่อยวาง สุข (โลกียสุข) จึงได้ สุข (วูปสโมสุข)"

"ไม่ปล่อยวาง สุข (โลกียสุข) ไม่มีทาง พ้นทุกข์"

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:31:14 น.
Counter : 2328 Pageviews.  

23. อย่าพร่า “ประโยชน์ของตน” เพราะ “ประโยชน์ของผู้อื่น” แม้มาก



การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” เป็นสิ่งที่ดี ที่เราควรทำ

เพราะ มีผลเป็น “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก”

แต่เราต้องระมัดระวัง อย่าให้เสีย “ประโยชน์ของตน”

ดังข้อความ ในพระสุตตันตปิฎก ที่ว่า

อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย
 อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา

 บุคคล ไม่ควรพร่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ของผู้อื่น แม้มาก
 รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวาย ในประโยชน์ของตน”


(พุทฺธ) ขุ.ธ. ๒๕/๓๗.

พร่า[พฺร่า] หมายถึง ก. ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้ย่อยยับ เช่น พร่าชื่อเสียง พร่าทรัพย์สมบัติ พร่าประโยชน์ ว. กระจัดกระจายจนเห็นหรือได้ยินไม่ถนัดชัดเจน เช่น ตาพร่า รูปพร่า เสียงพร่า

***************

การทำ “ประโยชน์ของตน” หมายถึง การปฏิบัติตาม โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ประการ ได้แก่

๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมที่ไม่ดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๒. การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การเพียรหมั่นสร้างกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การเพียรหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล หรือ มูลเหตุของอกุศล ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” หมายถึง การกระทำ เพื่อเกื้อกูลโลก เพื่อเกื้อกูลสังคม เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น และ เพื่อเกื้อกูลสัตว์อื่น อันมีผลเป็น  “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก”

***************

เพราะเหตุว่า

ชีวิตของคนเรา ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป ขึ้นอยู่กับ ผลของการทำ “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก

และ เพราะเหตุว่า

โดยปกติแล้ว การทำ “ประโยชน์ของตน” ย่อมก่อให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” ตามมา เป็นธรรมดา

ดังนั้น เราจึงควรมุ่งเน้น การทำ “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก

เพื่อทำให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” โดยไม่ทำให้เสีย “ประโยชน์ของตน”

***************

การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” แล้วทำให้เสีย “ประโยชน์ของตน” หมายถึง

๑. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน พอกพูนเพิ่มขึ้น ในจิตใจของตน คือ

เกิดความโลภ เกิดความอยากได้ เกิดความอยากมี และ เกิดความอยากเป็น เพิ่มมากขึ้น

หรือ เกิดอารมณ์ไม่พอใจ เกิดอารมณ์ขัดเคืองใจ เกิดอารมณ์โกรธ เกิดอารมณ์โทสะ เกิดอารมณ์พยาบาทอาฆาตแค้น

หรือ เกิดความหลงใหลติดใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุข เพิ่มมากขึ้น

๒. การมุ่งทำประโยชน์ของผู้อื่น จนไม่มีเวลา ทำประโยน์ของตน

๓. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ตน เป็นทุกข์ เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ

๔. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ผู้อื่น หรือ สัตว์อื่น เป็นทุกข์ เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ (เกิดอกุศลวิบาก มาเติมเพิ่มในชีวิต)

***************

การทำ “ประโยชน์ของตน” และ การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น”

มีผลต่อ “การเกิดมาและการตายจากไปของคนเรา”

การตายจากไปของคนเรา คือ การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ตามกรรม ตามวิบาก ตามเวลาอันควร หรือ ตามผลของการทำ “ประโยชน์ของตน” และ “ประโยชน์ของผู้อื่น”

***************

การเกิดมาและการตายจากไปของคนเรา

โดยทั่วๆไปแล้ว มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ

๑. มาดี ไปดี

๒. มาดี ไปไม่ดี

๓. มาไม่ดี ไปดี

๔. มาไม่ดี ไปไม่ดี

“มาดี” หมายถึง เกิดมาเพื่อ มารับวิบากกรรมดี (กุศลวิบาก) เป็นส่วนใหญ่

“มาไม่ดี” หมายถึง เกิดมาเพื่อ มารับวิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก) เป็นส่วนใหญ่

“ไปดี” หมายถึง เมื่อเกิดมาแล้ว มีการละอกุศลกรรม หมั่นทำกุศลกรรม และ หมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ทำให้ “มีภพภูมิที่สูงขึ้น เป็นที่หมาย เมื่อตายจากไป” (ได้ไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้น เพื่อรับวิบากกรรมดี)


“ไปไม่ดี” หมายถึง เมื่อเกิดมาแล้ว มีการทำอกุศลกรรมอยู่เนืองนิจ ไม่หมั่นทำกุศลกรรม และ ไม่หมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ทำให้ “มีภพภูมิที่ต่ำลง (อบายภูมิ) เป็นที่หมาย เมื่อตายจากไป” (ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำลง เพื่อรับวิบากกรรมไม่ดี)

***************

ชีวิตนี้ น้อยนัก

ชีวิตนี้ สั้นนัก

ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน


ขอพวกเรา จงอย่ามัววุ่นวายอยู่กับ เรื่องราวของโลก ของสังคม และ ของผู้อื่น จนเกินควร จนไม่มีเวลา ทำ “ประโยชน์ของตน”

ขอพวกเรา จงอย่าให้ เรื่องราวของโลก ของสังคม และ ของผู้อื่น มาทำให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเกลียดชัง ฯลฯ พอกพูนเพิ่มขึ้น ในจิตใจ

ขอพวกเรา จงอย่าให้ เรื่องราวของโลก ของสังคม และ ของผู้อื่น มาทำให้เรา เป็นทุกข์ เครียด และ วิตกกังวลใจ

และ ขอพวกเรา จงเพียรหมั่นทำ “ประโยชน์ของตน” และ “ประโยชน์ของผู้อื่น” ให้บริบูรณ์

เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

และ เพื่อความพ้นทุกข์ หรือ เพื่อความดับทุกข์ อันเป็นที่สุดของชีวิต

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2562    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2564 15:09:24 น.
Counter : 42807 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.