"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 
16. จงเพียรหมั่น ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต


"จงเพียรหมั่น ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต เพื่อความผาสุกของชีวิต"

เพราะเหตุว่า

ชีวิตของคนเราและสัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ ในอดีต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติก่อนๆ

“กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม”

กรรมดี (กุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมดี (กุศลวิบาก) ได้แก่ การได้ประสบกับความสุข การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ การได้ห่างไกลจากความทุกข์ การได้ห่างไกลจากโทษ การได้ห่างไกลจากภัย การได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้อื่น และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย

กรรมไม่ดี (อกุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก) ได้แก่ การได้ประสบกับ ความทุกข์ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การได้รับโทษ การได้รับภัย และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ ดีทั้งหลาย

ดังนั้น เพื่อความผาสุกของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป เราจึงต้อง “แก้กรรม” โดยการไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ และ เพียรหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

และ เพราะเหตุว่า

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ และ บงการจิตใจของคนเราอยู่ คือมูลเหตุสำตัญ ที่ทำให้คนเรา ต้องทำกรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม (อกุศลมูล)

ดังนั้น เพื่อความพ้นทุกข์ เราจึงต้อง ชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจอยู่ ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น เพื่อทำให้จิตใจ สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส

***************

ภารกิจที่สำคัญสำหรับชีวิต ๓ ประการ หรือ โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ประกอบด้วย

๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก(วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๒. การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การเพียรหมั่นสร้างกุศลวิบาก(วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การเพียรหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล (มูลเหตุของอกุศล) ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

***************

ถ้าเราต้องการจะทำให้ชีวิตของเรา มีความผาสุก ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

และ ถ้าเราต้องการจะทำให้ตัวเรา “พ้นทุกข์”

เราต้องเพียรหมั่น ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต ทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว

***************

จริงๆแล้ว การปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต ทั้ง ๓ ประการ เป็นการปฏิบัติไปตามแนวทาง หรือ เป็นการเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” อันเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ นั่นเอง คือ

เป็นการปรับเปลี่ยน การคิด การพูด การกระทำ และ การประกอบอาชีพ ที่ยังไม่เป็นสัมมา (ที่ยังเป็นอกุศลกรรม) ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นกุศลกรรม)

และ เป็นการสร้างความเห็นที่ถูก ที่ตรง ที่ไม่หลงเห็นผิดไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน (สร้างสัมมาทิฏฐิ) หรือ เป็นการสร้างปัญญาในทางธรรม ด้วยการชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจอยู่ ออกจากจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ (สร้างปัญญา ล้างอวิชชา)

การปรับเปลี่ยน การคิด การพูด การกระทำ และ การประกอบอาชีพ ให้เป็นสัมมา และ การสร้างสัมมาทิฏฐิ หรือ การสร้างปัญญาในทางธรรม ต้องอาศัย ความเพียรที่เป็นสัมมา สติที่เป็นสัมมา และ สมาธิที่เป็นสัมมา

***************

การชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ออกจากจิตใจ

เพื่อทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์

เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำหรับชีวิต

เพราะเหตุว่า กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือมูลเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย

***************

การชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ออกจากจิตใจ

เพื่อทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราต้องใช้ความเพียรพยายามค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร

โดยต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ ต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ให้ติดเป็นนิสัย

เพื่อทำให้กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป (ทำให้เกิดการละหน่ายคลาย และ ปล่อยวางได้)

***************

การอบรมจิต (สมถภาวนา) หมายถึง การฝึกฝืนจิต การกดข่มจิต การพยายามไม่ปล่อยให้จิต ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต เป็นการพยายามระงับดับกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต โดยการทำจิต ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้เป็นสมาธิ

การอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) หมายถึง การเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งถึง ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) ของ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้นในจิต เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (เป็นการทำให้เกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา)

ชาญ คำพิมูล




Create Date : 21 เมษายน 2562
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:28:40 น. 0 comments
Counter : 2437 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.