"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 
123. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 8



อารมณ์โกรธ หรือ ความโกรธ

เป็นหนึ่งในกิเลสหลัก

ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
***************
 
อารมณ์โกรธ หรือ ความโกรธ

เป็นสิ่งที่ “ต้องละ หรือ ต้องดับ” ให้ได้

เพื่อทำให้ “ความไม่โกรธ (ศีล)” เป็นปกติของตน
 
***************
 
อารมณ์โกรธ หรือ ความโกรธ (โกธะ) เป็นหนึ่งในกิเลสสาย “โทสะ

กิเลสในสาย “โทสะ” มีลำดับของการเกิดการสั่งสมพอกพูนขึ้น ดังนี้

1. อรติ หมายถึง ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ 

2. ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ ความเคืองใจ

3. โกธะ หมายถึง ความโกรธ ความคิดเดือดดาลแห่งจิต

4. โทสะ หมายถึง ความฉุนเฉียว ความโมโห ความคิดที่จะทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ

5. พยายาท หมายถึง ความปองร้าย ความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ
 
***************
 
การดับ หรือ การละ “ความโกรธ”

เพื่อทำให้ “ความไม่โกรธ (ศีล)” เป็นปกติของตน มีแนวทาง ดังนี้

1. เพียรหมั่นฝึกฝนอบรมจิต ให้เข้มแข็ง ให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่น ให้ไม่กระเพื่อมไหว ให้มีสมาธิ

เพื่อให้สามารถระงับจิต ไม่ให้จิตปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” ที่เกิดขึ้นในจิต

และ เพื่อให้มีสติ สามารถรับรู้ “การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป” ของ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ" ที่เกิดขึ้นในจิต

2. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” ที่เกิดขึ้นในจิต ดังนี้

2.1 เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นสิ่งที่ “มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน และ มีความไม่แน่นอน” เป็นธรรมดา  เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่งร่วม (สังขาร) มันจะดับลงไปเอง ในเวลาไม่นานนัก (อนิจจัง)

2.2 เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัยทั้งหลาย” (ทุกขัง)

2.3 เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นสิ่งที่ “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน” เป็นสิ่งที่ “ไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้” และ เป็นสิ่งที่ “สามารถทำให้ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้” (อนัตตา)
 
3. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “จริงๆแล้ว เราไม่ควรไม่ชอบใจไม่พอใจ เราไม่ควรขัดเคืองใจ และ เราไม่ควรโกรธ” “จริงๆแล้ว เราควรให้อภัย” และ “จริงๆแล้ว เราควรละ ควรปล่อย ควรวาง” เพื่อสลาย “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” ที่มีอยู่ในจิตใจ ไม่ให้ค้างคาอยู่ในจิตใจ ดังตัวอย่าง การเพ่งพิจารณา ดังต่อไปนี้

3.1 ทำไม? เขาจึงพูด เขาจึงทำ อย่างนั้น จนทำให้เรา “ไม่ชอบใจไม่พอใจ ขัดเคืองใจ หรือ โกรธ
       
เป็นเพราะ...เขามีความจำเป็น ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เขามีความเข้าใจผิด คิดไปเอง ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เราเคยทำให้เขาไม่พอใจ ขัดเคืองใจ หรือ โกรธ ทั้งที่โดยตั้งใจ และ โดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่รู้ และ โดยไม่รู้ ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...พฤติกรรม หรือ การกระทำของเรา ไม่เหมาะสม จนทำให้เขา ไม่ชอบเรา ไม่พอใจเรา ขัดเคืองใจเรา โกรธเรา ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เขาอิจฉาริษยาเรา ใช่ไหม?
      
หรือ เป็นเพราะ...เขาเป็นคนที่มีนิสัยไม่ดี คือ เป็นคนมักโลภ มักโกรธ มีความเห็นแก่ตัว ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ชอบเบียดเบียนผู้อื่น เป็นคนไม่กรงใจผู้อื่น เป็นคนมักง่าย เป็นคนพูดจาไม่ดี ฯลฯ ในกรณีนี้ ถ้าเราจำเป็นต้องคบหา หรือ จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เราต้องระมัดระวังในการคบหาหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเรา และเราต้องทำใจให้ปล่อยวางให้ได้
ฯลฯ
   
        “ถ้าพฤติกรรม หรือ การกระทำของเรา ไม่เหมาะสมจริงๆ เราควรพิจารณาปรับปรุง หรือ ปรับเปลี่ยน ให้เหมาะสม


3.2 ทำไม? เราจึง “ไม่ชอบใจไม่พอใจเขา ขัดเคืองใจเขา หรือ โกรธเขา
       
เป็นเพราะ...เรากำลังอารมณ์ไม่ดีอยู่ ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เราเข้าใจผิด คิดไปเอง ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...จริงๆแล้ว เขาต้องการทำให้เราพอใจ แต่เราไม่พอใจ เพราะ มันไม่ถูกใจเรา ใช่ไหม?
       
หรือ เป็นเพราะ...จริงๆแล้ว เขาปรารถนาดีต่อเรา แต่เราไม่พอใจ เพราะ มันไม่ถูกใจเรา ใช่ไหม?
ฯลฯ
 
 3.3 เราควรละ ควรปล่อย ควรวาง ดีกว่าไหม? และ เราควรให้อภัยแก่เขา ดีกว่าไหม? เพราะ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และภัยทั้งหลาย

***************

บุคคลทั้งหลาย ล้วนต้องการให้ผู้อื่นรัก ไม่ได้ต้องการให้ผู้อื่นเกลียดชัง เป็นธรรมดา

ดังนั้น ถ้ามีผู้ใด มากระทำให้เรา ไม่ชอบใจไม่พอใจ ขัดเคืองใจ หรือ โกรธ
มันต้องมีสาเหตุของมัน อย่างแน่นอน

***************

ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ไม่ควรโกรธ ไม่ควรขัดเคืองใจ และ ไม่ควรไม่ชอบใจไม่พอใจ

ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ควรให้อภัย

ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ควรละ ควรปล่อย ควรวาง

เพราะ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และภัยทั้งหลาย

***************
 
กมฺมุนา วตฺตตีโลโก (กัมมุนา วัตตติ โลโก) สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม

กรรมดี หรือ การทำดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ  มีผลเป็น “วิบากกรรมดี (กุศลวิบาก)

กรรมไม่ดี หรือ การทำไม่ดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ มีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก)

ผู้ที่กระทำ “กรรมไม่ดี” ย่อมได้รับผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี” อย่างแน่นอน

เราไม่ควรกระทำ “กรรมไม่ดี” เพื่อตอบโต้ คนที่กระทำ “กรรมไม่ดี” กับเรา

เพราะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด “กรรมไม่ดี” ย่อมมีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี” อย่างแน่นอน
 
***************
 
ถ้าไม่มีผู้ใด

มากระทำให้เรา “โกรธ ขัดเคืองใจ และ ไม่ชอบใจไม่พอใจ

เราคงไม่มีโอกาสได้ทำ “อภัยทาน
 
***************
 
หากเราพิจารณาดูให้ดีๆแล้ว

เราจะพบว่า

อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ

มักจะเกิดจาก “ความเข้าใจผิด คิดไปเอง
 
***************
 
การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ดังกล่าวมาข้างต้น

เป็นการ "ทำให้เกิดปัญญาล้างอวิชชา (ทำให้พ้นวิจิกิจฉา)"

เพื่อทำให้เกิด "การละหน่ายคลายและการปล่อยวางได้ (ทำให้พ้นสักกายทิฏฐิ)"

และ เมื่อเกิดการปล่อยวางได้แล้ว

ก็จะทำให้ “ความไม่โกรธ (ศีล)” กลายเป็นปกติของตน (ทำให้พ้นสีลัพพตปรามาส)  
 
***************
 
การละ หรือ การดับ” ความโลภ และ ความหลง

ก็จะมีแนวทางหลักๆ ที่เหมือนกัน
 
***************
 
การไม่เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา

เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ)

จะทำให้กิเลส เกิดการสั่งสมพอกพูนขึ้น จนมีฤทธิ์มีแรงมากขึ้น
 
**************
 
เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ

หมายถึง เห็นความจริงตามความเป็นจริง

จนสิ้นความลังเลสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา)

จนใจยอมรับ ยอมปรับยอมเปลี่ยน ยอมปล่อยยอมวาง
 
***************
 
การปล่อยวางกิเลสได้

จะทำให้ฤทธิ์แรงของกิเลส

ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ หมดสิ้นไป ในที่สุด

และทำให้กิเลส ดับสิ้นไปจากจิตใจ ในที่สุด (ละกิเลสได้)

ชาญ คำพิมูล

 


Create Date : 18 มิถุนายน 2566
Last Update : 18 มิถุนายน 2566 18:21:57 น. 0 comments
Counter : 290 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.