"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

102. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 12



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
เพื่อปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ” ให้เป็นสัมมา
 
ต้องใช้ “สติที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาสติ” ร่วมด้วย
 
***************
 
[๑๖๙] สัมมาสติเปนไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆอยู่ กําจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆอยู่ ฯลฯ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆอยู่ ฯลฯ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆอยู่ กําจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก นี้เรียกว่า สัมมาสติ
 

จาก พระอภิธรรมปิฎกเล่ม ๒ วิภังคปกรณ์ - หน้าที่ 99 พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่มที่ 35
 
***************
 
สติที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาสติ” เป็นสติที่เกิดจาก “การเจริญสติปัฏฐาน 4
 
สติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย
 
1. พิจารณากายในกาย (กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
2. พิจารณาเวทนาในเวทนา (เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
3. พิจารณาจิตในจิต (จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
4. พิจารณาธรรมในธรรม (ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
***************
 

*** สติปัฏฐาน 4 โดยสรุป ***
 
การพิจารณากายในกาย (กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
เป็นการทำความมีสติ โดยการเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก (อานาปานะ) เอาจิตไปจดจ่ออยู่กับอาการท่าทางของร่างกาย (อิริยาบถ) ทำจิตให้ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ (สัมปชัญญะ)
 
แล้วเพ่งพิจารณาให้เห็นถึงความจริงของกาย ทั้งภายในและภายนอก เพ่งพิจารณาให้เห็นถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกาย เพ่งพิจาณาให้เห็นจนชัดแจ้งว่า กายนี้ เป็นสิ่งสกปรกน่ารังเกียจ (ปฏิกูล) เพ่งพิจารณาให้เห็นจนชัดแจ้งว่า กายนี้ เป็นเพียงธาตุซึ่งประกอบขึ้นจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และ ธาตุลม และ เพ่งพิจารณาให้เห็นจนชัดแจ้งว่า สุดท้ายแล้ว กายนื้ ก็ต้องกลายไปเป็นซากศพ (นวสีวถิกา)
 
แล้วเพียรพยายามกำจัด “ความโลภ ความอยากได้ ความกำหนัด ความใคร่อยาก (อภิชฌา) และ ความทุกข์ใจ (โทมนัส)” ที่เกิดขึ้นจาก “การหลงใหล และ การหลงยึดมั่นถือมั่นในกายของตนและในกายของผู้อื่น
 
การพิจารณากายในกาย ดังกล่าว
 
จะทำให้เกิด การละหน่ายคลายและเกิดการปล่อยวาง “การหลงใหล และ การหลงยึดมั่นถือมั่นในกาย
 
และ จะทำให้เรามีสติ ไม่เผลอสติ ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “ความโลภ ความอยากได้ ความกำหนัด ความใคร่อยาก (อภิชฌา) และ ความทุกข์ใจ (โทมนัส)” ที่เกิดจาก “การหลงใหล และ การหลงยึดมั่นถือมั่นในกาย
 
***************
 
การพิจารณาเวทนาในเวทนา (เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
เป็นการทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ (สัมปชัญญะ) เพื่อรับรู้การเกิดขึ้นของ “สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา (ไม่ทุกข์ไม่สุข)
 
แล้วเพียรพยายามกำจัด “ความโลภ ความอยากได้ ความกำหนัด ความใคร่อยาก (อภิชฌา) และ ความทุกข์ใจ (โทมนัส)” ที่เกิดขึ้นจากเวทนา โดยการเพียรพยายาม ไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามเวทนาที่เกิดขึ้น (สักแต่ว่ารู้) และ เพียรเพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของเวทนา
 
การพิจารณาเวทนาในเวทนา ดังกล่าว
 
จะทำให้เกิด การละหน่ายคลายและเกิดการปล่อยวาง “การหลงใหล และ การหลงยึดมั่นถือมั่นในเวทนา
 
และ จะทำให้เรามีสติ ไม่เผลอสติ ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “ความโลภ ความอยากได้ ความกำหนัด ความใคร่อยาก (อภิชฌา)  และ ความทุกข์ใจ (โทมนัส)” ที่เกิดขึ้นจากเวทนา
 
***************
 
การพิจารณาจิตในจิต (จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
เป็นการทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ (สัมปชัญญะ) เพื่อรับรู้สภาวะจิต คือ เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเรามีราคะ หรือเมื่อจิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราปราศจากราคะ เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเรามีโทสะ หรือเมื่อจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราปราศจากโทสะ เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเรามีโมหะ หรือเมื่อจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราปราศจากโมหะ เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราหดหู่ หรือเมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตของเราฟุ้งซ่าน เมื่อจิตเป็นมหัคคตะ (ถึงความเป็นใหญ่) ก็รู้ชัดว่า จิตของเราเป็นมหัคคตะ หรือเมื่อจิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราไม่เป็นมหัคคตะ เมื่อจิตเป็นสอุตตระ (ยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า) ก็รู้ชัดว่า จิตของเราเป็นสอุตตระ หรือเมื่อจิตเป็นอนุตตระ (ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า) ก็รู้ชัดว่า จิตของเราเป็นอนุตตระ เมื่อจิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตของเราตั้งมั่น หรือเมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตของเราไม่ตั้งมั่น เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตของเราหลุดพ้น หรือเมื่อจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตของเรายังไม่หลุดพ้น
 
แล้วเพียรพยายามกำจัด “ความโลภ ความอยากได้ ความกำหนัด ความใคร่อยาก (อภิชฌา) และ ความทุกข์ใจ (โทมนัส)” ที่เกิดขึ้น โดยเพียรพยายาม ไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามสภาวะจิตที่เกิดขึ้น (สักแต่ว่ารู้) และ เพียรเพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของสภาวะจิตที่เกิดขึ้น

การพิจารณาจิตในจิต ดังกล่าว

จะทำให้เรามีสติ ไม่เผลอสติ ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “ความโลภ ความอยากได้ ความกำหนัด ความใคร่อยาก (อภิชฌา) และ ความทุกข์ใจ (โทมนัส)” ที่เกิดขึ้นจากสภาวะจิต

 
***************
 
การพิจารณาธรรมในธรรม (ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน)
 
เป็นการทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ (สัมปชัญญะ) เพื่อพิจารณาเนืองๆ ในธรรม 5 หมวด คือ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 (อายตนะภายในและภายนอก) โพชฌงค์ 7 และ อริยสัจ 4 
 
แล้วเพียรพยายามกำจัด “ความโลภ ความอยากได้ ความกำหนัด ความใคร่อยาก (อภิชฌา) และ ความทุกข์ใจ (โทมนัส)” ทั้งหลาย
 
***************
 
สติที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาสติ” เป็นหนึ่งในอินทรีย์ 5 ชื่อว่า “สตินทรีย์”
 
กำลังของ “สติที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาสติ” เป็นหนึ่งในพละ 5 ชื่อว่า “สติพละ”
 
สติที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาสติ” เป็นสิ่งที่จะต้อง “ทำให้โตขึ้น และ ทำให้มีกำลังมากขึ้น” เพื่อช่วยให้การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” บรรลุมรรคผลเร็วขึ้น
 
การหมั่นเจริญสติปัฏฐาน 4 จะทำให้ “สติที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาสติ” โตขึ้น และ มีกำลังมากขึ้น
 
***************
 
สามารถศึกษาสติปัฏฐาน 4 เพิ่มเติมได้ที่ “พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร - หน้าที่ 101”
 
และ สามารถดาวน์โหลดพระไตรปิฎกแปลไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ 12 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ได้ที่ https://www.thepathofpurity.com/app/download/8288188586/TriMCU_12.pdf?t=1609600157
 
***************
 
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
อภิชฌา [อะ-พิด-ชา] (มค. อภิชฺฌา) น. ความโลภ, ความอยากได้, ตัณหา.
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2565    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2565 7:51:34 น.
Counter : 399 Pageviews.  

101. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 11



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
เพื่อปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ” ให้เป็นสัมมา
 
ต้องใช้ “ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นที่ตั้ง
 
***************
 
ความเพียรที่เป็นสัมมา มีอยู่ 4 ประการ ชื่อว่า สัมมัปปธาน 4
 
สัมมัปปธาน 4 ประกอบด้วย
 

  1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งอกุศลบาปธรรม ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
 
  1. ปหานปธาน คือ เพียรละอกุศลบาปธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว
 
  1. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี
 
  1. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง
 
***************
 
[๑๖๘] สัมมาวายามะเป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ ทําฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียรประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อป้องกันอกุศลบาปธรรม ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิด ฯลฯ เพื่อละอกุศลบาปธรรม ที่เกิดแล้ว ฯลฯ เพื่อสร้างกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทําฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียรประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความดํารงอยู่ ความไม่สาบสูญ ความภิยโยยิ่ง ความไพบูลย์ ความเจริญ ความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
 

...จาก พระอภิธรรมปิฎกเล่ม ๒ วิภังคปกรณ์ - หน้าที่ 99 พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่มที่ 35
 
***************
อกุศลบาปธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ชั่ว สิ่งที่เลวทราม ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ไม่เป็นสัมมา หรือ ที่เป็นมิจฉา
 
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ไม่เป็นสัมมา หรือ ที่เป็นมิจฉา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก กิเลส ตัณหา และอุปาทาน
 
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ไม่เป็นสัมมา หรือ ที่เป็นมิจฉา เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิด “วิบากกรรมที่ไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก”
 
***************
 
กุศลธรรม หมายถึง สิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เป็นสัมมา ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ดี ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา เช่น การทำวัตถุทาน การทำอภัยทาน การช่วยเหลือเกื้อกูลโลก การช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นและสัตว์อื่น การเจริญจิตเมตตา ฯลฯ
 
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ดี ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา จะทำให้เกิด “วิบากกรรมที่ดี หรือ กุศลวิบาก”
 
***************
 
สัมมัปปธาน 4 คือ ความเพียรปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 ดังนี้
 
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การเพียรระวังยับยั้งอกุศลบาปธรรม ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น (ข้อ 1) และ การเพียรละอกุศลบาปธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว (ข้อ 2)
 
การเพียรระวังยับยั้งและการเพียรละอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ และ ทางการประกอบการงานอาชีพ คือ การนำเอา “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ” ที่ยังไม่เป็นสัมมา หรือ ที่ยังก่อให้เกิดอกุศลบาปธรรมอยู่ มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ แล้วใช้ “การเพียรอบรมจิต (สมถะ)” เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการละเมิดศีล (ยับยั้งไม่ให้เกิดอกุศลบาปธรรม) และ ใช้ “การเพียรอบรมปัญญา (วิปัสสนา)” เพื่อชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล หรือ ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลบาปธรรม ออกไปจากจิตใจ เพื่อทำให้ศีลเป็นปกติ (ละอกุศลบาปธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว)
 
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การเพียรทำกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี (ข้อ 3) และ การเพียรรักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง (ข้อ 4)
 
การเพียรทำกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี คือ การเพียรทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ และ ทางการประกอบการงานอาชีพ
 
การเพียรรักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง คือ การเพียรทำกุศลธรรม ให้เป็นปกติวิสัย หรือ ให้มีปกติ เป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี มีจิตเมตา ฯลฯ
 
การเพียรทำกุศลธรรม ให้เป็นปกติวิสัย คือ การเพียรทำกุศลธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ออกจากจิตใจ
 
ตัวอย่างเช่น
 
การทำวัตถุทาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ชำระล้าง ความโลภ ความหลงห่วงหวง ความหลงใหลติดใจ ความหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นของของตน ออกจากจิตใจ” (เป็นบุญกิริยาวัตถุ)
 
การทำอภัยทาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ชำระล้าง ความโกรธ ความขัดเคืองใจ ความไม่ชอบใจไม่พอใจ ความหลงยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนของตน ความหลงยึดมั่นเป็นของของตน ออกจากจิตใจ” (เป็นบุญกิริยาวัตถุ)
 
3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ คือ การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ
 
การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อ “ละอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย” (ทำศีลให้เป็นปกติ)
 
และ การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อ “รักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง” (ทำให้การทำกุศลธรรม เป็นปกติวิสัย)
 
จะทำให้ “จิตใจสะอาดบริสุทธิ์
 
***************
 
การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อละอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย

และ การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อทำให้ การทำกุศลธรรม เป็นปกติวิสัย

ต้องใช้กำลังความเพียร ค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร

ดังนั้น เราจึงต้องมองให้เห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย

เพราะ การมองเห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย

จะช่วยเสริมสร้างความเพียร ให้โตขึ้น และ ให้มีกำลังมากขึ้น
 
***************
 
ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นหนึ่งในอินทรีย์ 5 ชื่อว่า “วิริยินทรีย์”

กำลังของ “ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นหนึ่งในพละ 5 ชื่อว่า “วิริยะพละ”
 
ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นสิ่งที่จะต้อง “ทำให้โตขึ้น และ ทำให้มีกำลังมากขึ้น” เพื่อช่วยให้การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” บรรลุมรรคผลเร็วขึ้น


การมองเห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย
จะช่วยเสริมสร้าง “ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” ให้โตขึ้น และ ให้มีกำลังมากขึ้น
 
***************
 
“การชำระล้าง (ขจัด) กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ออกจากจิตใจ

คือ การต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่”
 
“การต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่นั้น

มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราอาจต้องแพ้แล้ว แพ้อีก ไม่รู้ว่า จะกี่ครั้ง

ดังนั้น ในทุกๆครั้งที่เราแพ้

เราต้องมองให้เห็น “ความชนะในความแพ้

เพราะ ถ้าเรามองไม่เห็น “ความชนะในความแพ้

เราจะหมดกำลังในการต่อสู้”
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2565    
Last Update : 7 มกราคม 2567 3:36:28 น.
Counter : 386 Pageviews.  

100. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 10



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
สามารถปฏิบัติได้ 2 แนวทาง คือ
 
1. ปฏิบัติศีลให้สูงขึ้นโดยลำดับ (อธิศีล) โดยใช้ศีลที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้แล้ว คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และ ศีลพระปาฏิโมกข์
 
2. กำหนดตั้งศีลให้สูงขึ้นโดยลำดับ (อธิศีล) โดยใช้อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง เรียกว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา
 
***************
 
แนวทางที่ 1 เป็นแนวทางที่หลายๆคน อาจจะมองว่า เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ ค่อนข้างยาก
 
เพราะ มีศีลที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ ค่อนข้างมาก

แต่ถ้าหากเราเข้าใจ “หลักการปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา” แล้ว

เราจะพบว่า จริงๆแล้ว มันไม่ได้ยากจนเกินไปนัก

เพราะ เมื่อเราสามารถปฏิบัติศีลข้อหนึ่งข้อใด ให้เป็นปกติของเราได้แล้ว
 
เราก็ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือศีลข้อนั้นอีก เพราะศีลข้อนั้น ได้เป็นปกติของเราแล้ว


และ อาจจะมีศีลอยู่หลายข้อ ที่เป็นปกติของเราอยู่แล้ว เช่น การไม่ลักทรัพย์ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่เสพสุราและสิ่งเสพติด ฯลฯ
 
***************
 
แนวทางที่ 2 เป็นแนวทางที่ผู้เขียน ใช้ยึดถือปฏิบัติอยู่

โดยผู้เขียนได้นำเอา “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ” ของผู้เขียน ที่ยังไม่เป็นสัมมา ซึ่งจะก่อให้เกิดวิบากกรรมที่ไม่ดี (อกุศลวิบาก) อันเป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย” มากำหนดตั้งให้เป็นศีล ที่สูงขึ้นโดยลำดับ

ผู้เขียนคิดว่า แนวทางที่ 2 นี้ เป็นแนวทางที่เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติที่เป็นฆราวาส

***************

๔. วัชชีปุตตสูตร

ว่าด้วยภิกษุวัชชีบุตร

[๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี

ครั้งนั้น ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ ทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถศึกษาในสิกขาบทนี้ได้”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ ก็เธอจักสามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา หรือ”

ภิกษุวัชชีบุตรนั้น กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาได้”

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา

เมื่อใด เธอศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เมื่อนั้นเธอผู้ศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาอยู่ ก็จักละราคะ โทสะ และโมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ และโมหะได้ เธอจักไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล จักไม่ประพฤติสิ่งที่เลวทรามอีก

ครั้นต่อมา ภิกษุนั้นศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เมื่อเธอผู้ศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาอยู่ ก็ละราคะ โทสะ และโมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เธอจึงไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล ไม่ประพฤติสิ่งที่เลวทรามอีก

วัชชีปุตตสูตรที่ ๔ จบ
 
เชิงอรรถ : ๑ วัชชีบุตร หมายถึงเป็นบุตรของวัชชีราชสกุล (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๕/๒๓๙)

เชิงอรรถ : ๒ สมัยที่พระวัชชีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคนั้น สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้มีเพียง ๑๕๐ ข้อ (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๕/๒๔๐)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า :๓๑๐-๓๑๑ }
 
หมายเหตุ:

1. สิกขาบท น. ข้อศีล, ข้อวินัย. (ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร)

2. ภายหลังสิกขาบทได้เพิ่มเป็น 227 ข้อ
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2565    
Last Update : 5 มิถุนายน 2565 17:00:25 น.
Counter : 516 Pageviews.  

99. ชีวิต ล่วงพ้นผ่าน 61 ปี



วันเวลาของชีวิต

ล่วงพ้นผ่านไป ไวจริงๆ

เผลอแป๊บเดียว

ล่วงพ้นผ่านไปแล้ว 61 ปี

***************

เพราะชีวิตของคนเรา น้อยนัก สั้นนัก และ ไม่แน่นอน

ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาท ในการใช้ชีวิต

“เราไม่ควรประมาทว่า เรายังหนุ่มอยู่ เรายังสาวอยู่ เรายังแข็งแรงดีอยู่”

เราควรใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

ด้วยการหมั่นเรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้

ด้วยการหมั่นทำ ในสิ่งที่ควรทำ

เพื่อให้เราได้รับ ในสิ่งที่ควรได้รับ

เพื่อให้เราได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ

และ เพื่อให้เราได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง

***************

สิ่งที่ควรเรียนรู้ หมายถึง เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้ความเกิดแห่งกองทุกข์ เรียนรู้ความดับแห่งกองทุกข์ และ เรียนรู้วิธีการดับทุกข์

สิ่งที่ควรทำ หมายถึง ทำความดับทุกข์ ด้วยการปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เดินมุ่งหน้าไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8” สู่ความดับทุกข์

สิ่งที่ควรได้รับ หมายถึง ความสุขสงบของจิตใจ (วูปสโมสุข) ซึ่งมีที่สุดคือ ความสุขในพระนิพพาน

สิ่งที่ควรบรรลุ หมายถึง บรรลุพระโสดาบัน บรรลุพระสกิทาคามี บรรลุพระอนาคามี และ บรรลุพระอรหันต์

สิ่งที่ควรเข้าถึง หมายถึง เข้าถึงความดับทุกข์ หรือ เข้าถึงพระนิพพาน
 
***************
 
จากวันที่เกิดมา จนถึงวันนี้

มีเรื่องราวและมีเหตุการณ์มากมาย ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ทำให้ชีวิต มีทั้งความสุขและความทุกข์ คละเคล้ากันไป

มีหลายสิ่ง หลายอย่าง ที่ได้เรียนรู้

มีหลายสิ่ง หลายอย่าง ที่ได้ทำ

โดยสรุปแล้ว

สิ่งที่มีคุณค่า ที่เราควรเรียนรู้ คือ เราควรเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

และ สิ่งที่มีคุณค่า ที่เราควรทำ คือ เราควรทำตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

เพื่อให้เราได้รับ “ความสุขที่แท้จริง” อันเกิดจาก “การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์” คือ “ความสุขสงบของจิตใจ (วูปสโมสุข)
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2565    
Last Update : 28 พฤษภาคม 2565 5:28:46 น.
Counter : 408 Pageviews.  

98. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 9



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” เพื่อทำความดับทุกข์
 
โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
 
จะทำให้เกิด “การบรรลุธรรม” ตามลำดับ
 
คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
***************
 
การบรรลุธรรมตามลำดับ
 
คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
จะใช้ “สังโยชน์ 10” เป็นเกณฑ์
 
สังโยชน์ หมายถึง น. เครื่องพัวพัน, เครื่องผูกรัด, หมายเอากิเลสที่ผูกคนไว้กับวัฏสงสาร มี ๑๐ อย่าง มีสักกายทิฐิ เป็นต้น พระอริยบุคคลเมื่อละสังโยชน์เป็นลําดับจนหมด ก็เป็นพระอรหันต์


...ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
 
สังโยชน์ 10 ประกอบด้วย

1. สักกายทิฏฐิ หมายถึง การยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนของตน หรือ เป็นของของตน

2. วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ

3. สีลัพพตปรามาส หมายถึง การถือศีลแบบลูบๆคลำๆ การถือศีลตามหลักศาสนาหรือตามประเพณีนิยม เป็นการถือศีลหรือการปฏิบัติศีล ที่ไม่ก่อให้เกิด “การลดลง การจางคลายลง การเบาบางลง หรือ การดับสิ้นไป” ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน หรือ เป็นการถือศีลหรือการปฏิบัติศีล ที่ไม่ก่อให้เกิด “การลดลง การจางคลายลง การเบาบางลง หรือ การดับสิ้นไป” ของความทุกข์ (ไม่ก่อให้เกิดมรรคผล ที่จะทำให้ดับทุกข์ได้)

4. กามราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจในกาม (รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส)

5. ปฏิฆะ หมายถึง ความเคืองใจ ความขัดใจ

6. รูปราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจในความสุขอันเกิดจากรูปฌาน หรือ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตโดยอาศัยรูปในจิต

7. อรูปราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจในความสุขอันเกิดจากอรูปฌาน หรือ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตโดยไม่อาศัยรูป

8. มานะ หมายถึง ความถือตัวยกตนข่มท่าน

9. อุทธัจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่านของจิต

10. อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้จริง “จนชัดแจ้งที่ใจ” ใน “ความทุกข์ ความเกิดแห่งกองทุกข์ ความดับแห่งกองทุกข์ และ วิธีการทำความดับแห่งกองทุกข์” 
 
“จนชัดแจ้งที่ใจ หมายถึง จนใจยอมรับ จนใจยอมปรับยอมเปลี่ยน และ จนใจยอมปล่อยยอมวาง”
 
สังโยชน์ ข้อที่ 1 ถึง ข้อที่ 5 เรียกว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ หรือ โอรัมภาคิยสังโยชน์

สังโยชน์ ข้อที่ 6 ถึง ข้อที่ 10 เรียกว่า สังโยชน์เบื้องบน หรือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์
 
***************
 
๘. สังโยชน์สูตร
ว่าด้วยผู้สิ้นสังโยชน์
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว
๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก
๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม
๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า บุคคลเป็นสมณะผู้ ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป จะปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
สังโยชน์สูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๓๔-๑๓๕}
 
***************
 
บุคคลผู้บรรลุธรรม มี 4 จำพวก คือ
 
1. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว หมายถึง พระโสดาบัน

พระโสดาบัน หมายถึง ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 3 ประการแล้ว คือ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา และ พ้นสีลัพพตปรามาส

พระโสดาบัน เป็นผู้พ้นจากภัยเวร 5 ประการแล้ว คือ เป็นผู้ที่มีราคะโทสะและโมหะ อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดภัยเวร 5 ประการแล้ว

2. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก หมายถึง พระสกิทาคามี

พระสกิทาคามี หมายถึง ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 3 ประการแล้ว คือ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา และ พ้นสีลัพพตปรามาส และ เป็นผู้ที่สามารถทำให้ราคะโทสะและโมหะเบาบางลงแล้ว (ยังคงเหลือ กามราคะและปฏิฆะ)

3. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม หมายถึง พระอนาคามี

พระอนาคามี หมายถึง ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 5 ประการแล้ว คือ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา พ้นสีลัพพตปรามาส พ้นกามราคะ และ พ้นปฏิฆะ

พระอนาคามี เป็นโอปปาติกะ มีการผุดเกิดขึ้นของสุข (สุขที่ไม่อาศัยรูป) และ รูปในจิต (นามรูป) โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส (เป็นส่วนของธรรมารมณ์) ทำให้เกิดการปรุงแต่ง (สังขาร) เป็นอารมณ์สุข เป็นมานะ เป็นอุทธัจจะ (ยังมีอวิชชาครอบงำจิตอยู่)
 
4. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ หมายถึง พระอรหันต์

พระอรหันต์ หมายถึง  ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 10 ประการแล้ว เป็นผู้ที่ทำให้แจ้งทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ (ไม่มีกิเลสที่หมักหมมนอนเนื่องอยู่ในจิต) คือ หมดสิ้นกิเลสโดยบริบูรณ์แล้ว
 
เจโตวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นอันเกิดจากการปฏิบัติ “สมถะ” คือ ละราคะได้แล้ว

ปัญญาวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นอันเกิดจากการปฏิบัติ “วิปัสสนา” คือ ละอวิชชาได้แล้ว
 
***************
 
[๓๒] ธรรม ๒ ประการนี้เป็นฝ่ายวิชชา
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมถะ (การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ)
๒. วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง)
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้จิตเจริญ
จิตที่เจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้ปัญญาเจริญ
ปัญญาที่เจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละอวิชชาได้
จิตที่เศร้าหมองเพราะราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น
ปัญญาที่เศร้าหมองเพราะอวิชชา ย่อมไม่เจริญ
เพราะสำรอกราคะ จึงมีเจโตวิมุตติ
เพราะสำรอกอวิชชา จึงมีปัญญาวิมุตติ
พาลวรรคที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า :๗๖ }
 
****************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” เพื่อทำความดับทุกข์

โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ

จะทำให้เกิด “การลดลง การจางคลายลง การเบาบางลง และ การดับหมดสิ้นไป” ของความทุกข์

และ จะทำให้เกิด "ความสุขสงบของจิตใจ (วูปสโมสุข) เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ จนถึงที่สุดของความสุขสงบของจิตใจ คือ ความสุขในพระนิพพาน"
 
ชาญ คำพิมูล
15 พฤษภาคม 2565 วันวิสาขบูชา

 




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2565    
Last Update : 15 พฤษภาคม 2565 8:05:18 น.
Counter : 387 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.