"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

122. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 7



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

มีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อ

ทำความดับกิเลส หรือ ละกิเลส หรือ ชำระล้างกิเลส”

ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย

***************
 
กิเลส มีอยู่หลายประการ

แต่โดยสรุปแล้ว

มีอยู่ 5 ประการ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ และ ทิฏฐิ

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ ดังนี้

“ดูก่อนอานนท์

บุคคลที่ปรารถนาซึ่งสวรรค์ และพระนิพพาน

ก็จงรีบพากเพียรกระทำให้ได้ ให้ถึง แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่

เพราะมีอยู่ที่จิตใจของเราทุกอย่าง

จะเป็นการลำบากมากอยู่ ก็แต่พระนิพพาน

ผู้ที่ปรารถนาความสุขในพระนิพพาน

จงทำตัวให้เหมือนดั่งแผ่นดิน หรือเหมือนดังคนที่ตายแล้ว

คือให้ปล่อยวางความสุขและความทุกข์เสีย

ข้อสำคัญก็คือ ให้ดับกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเสีย

กิเลส ๑,๕๐๐ นั้น

เมื่อย่นลงให้สั้นแล้ว ก็เหลืออยู่ ๕ เท่านั้น คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑

โลภะนั้น คือความทะเยอทะยาน มุ่งหวังอยากได้กิเลสกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑, อยากได้วัตถุกาม คือสมบัติข้าวของ ซึ่งมีวิญญาณ แลหาวิญญาณมิได้ ๑ เหล่านี้ ชื่อว่า โลภะ

โทสะนั้น ได้แก่ ความเคืองแค้น ประทุษร้าย เบียดเบียนท่านผู้อื่น ชื่อว่า โทสะ

โมหะนั้น คือความหลง มีหลงรัก หลงชัง หลงลาภ หลงยศ เป็นต้น ชื่อว่า โมหะ

มานะนั้น คือความถือตัว ถือตน ดูถูก ดูหมิ่น ท่านผู้อื่น ชื่อว่า มานะ

ทิฏฐินั้น คือความถือมั่น ในลัทธิอันผิด เห็นเป็นอุจเฉททิฏฐิ แลสัสสตทิฏฐิไป ปล่อยวางความเห็นผิดไม่ได้ ชื่อว่า ทิฏฐิ

ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ ได้แล้ว

ก็ชื่อว่า ดับกิเลสได้สิ้น ทั้ง ๑,๕๐๐

ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ ไม่ได้ ก็ชื่อว่าดับกิเลส ไม่ได้เลย”
 

...เนื้อความส่วนหนึ่งจาก คิริมานนทสูตร
 
***************

การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ของผู้เขียน

ผู้เขียนจะมุ่งเน้นไปที่ “การดับกิเลส” คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง เป็นหลัก
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2566    
Last Update : 3 มิถุนายน 2566 9:47:40 น.
Counter : 366 Pageviews.  

121. ชีวิตล่วงผ่านพ้น 62 ปี





วันเวลาของชีวิต

ล่วงผ่านพ้นไป ไวจริงๆ

ประเดี๋ยววัน

ประเดี๋ยวเดือน

ประเดี๋ยวปี

ถึงวันนี้

ชีวิตล่วงผ่านพ้นไปแล้ว 62 ปี กับอีก 4 วัน
 
***************

ชีวิตคนเรานี้ ไม่ได้ยืนยาวมากนัก

จากข้อมูลประมาณอายุขัยโดยเฉลี่ย ปี 2566 ของ BOI

ผู้ชาย = 74.92 ปี

ผู้หญิง = 81.05 ปี

ถ้าผู้เขียนมีอายุขัย เท่ากับค่าเฉลี่ย คือ 74.92 ปี

ผู้เขียนจะมีวันเวลาเหลืออยู่อีก ไม่ถึง 13 ปี

วันเวลา 13 ปี ไม่ได้ยาวนานเลย
 
***************
 
ชีวิตนี้ น้อยนัก

ชีวิตนี้ สั้นนัก

ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน
 
วันเวลา ผ่านไป 1 วัน ชีวิตเราสั้น ลงไป 1 วัน

วันเวลา ผ่านไป 1 เดือน ชีวิตเราสั้น ลงไป 1 เดือน

วันเวลา ผ่านไป 1 ปี ชีวิตเราสั้น ลงไป 1 ปี

วันเวลาของชีวิตนี้ เหลืออยู่เท่าใด?

ไม่มีใคร จะหยั่งรู้ได้

จงอย่าประมาท ในการใช้ชีวิต

จงอย่าประมาทว่า ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่

เพราะชีวิตนี้ มีความไม่แน่นอน

จงใช้วันเวลาของชีวิต

ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

***************

จงเพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวบุญ” และ “เก็บเกี่ยวกุศล

จากบุคคลรอบๆข้าง และ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

เพราะ “บุญและกุศล

จะช่วยนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต

จะช่วยทำให้ชีวิต มีความผาสุก

จะช่วยให้ชีวิต ห่างไกลจาก ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย

จะช่วยนำพาชีวิต ไปสู่ภพภูมิที่ดี ที่สูง

และ จะเป็นพลวปัจจัยที่ดี ที่มีคุณค่า สำหรับชีวิต ในชาติต่อๆไป

***************
 
จงเพียรพยายาม “ละบาปอกุศล” ทั้งปวง

ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

เพราะ “บาปอกุศล

จะนำพาสิ่งที่ไม่ดี มาสู่ชีวิต

จะทำให้ชีวิต ต้องประสบกับ ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย

และ จะนำพาชีวิต ไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี ที่ต่ำ
 
***************
 
เพราะเราไม่รู้ว่า

ชีวิตของเรา จะจบสิ้นลง เมื่อใด?

ดังนั้น เราจึงควร “เร่งขจัดความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี ที่เป็นบาปอกุศล

ออกจากชีวิตและจิตใจ ให้หมดสิ้น
 
 “โกรธใคร เกลียดใคร ไม่ชอบใจใคร ไม่พอใจใคร

เพียรล้างออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

เพราะ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ

จะนำพาชีวิต ไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี ที่ต่ำ

 
ชาญ คำพิมูล
27/05/2566

 




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2566 16:52:13 น.
Counter : 270 Pageviews.  

120. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 6



การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8" สู่ความดับทุกข์
 
***************
 
การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8" สู่ความดับทุกข์

คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

เพื่อทำความดับกิเลส หรือ ละกิเลส หรือ ชำระล้างกิเลส

ที่เป็นมูลเหตุของ มิจฉาอาชีวะ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาวาจา และ มิจฉาสังกัปปะ หรือ อกุศลกรรมทั้งหลาย
 
ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการกระทำที่ไม่ดี ที่เป็นมิจฉา ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ (อกุศลกรรม)

ให้เป็นการกระทำที่ดี ที่เป็นสัมมา ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ (กุศลกรรม)
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

ต้องปฏิบัติให้สูงขึ้นโดยลำดับ

เพื่อทำความดับกิเลสในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) โดยลำดับ
 
***************
 

ศีล คือสิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อทำความดับกิเลส หรือ ละกิเลส หรือ ชำระล้างกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการกระทำ ที่เป็นมิจฉา หรือ ที่เป็นอกุศล

ศีล เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ให้เป็นปกติของตน หรือ ให้เป็นปกติวิสัยของตน โดยไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ ไม่ต้องฝึกไม่ต้องฝืน
 
***************

การปฏิบัติศีล ให้เป็นปกติของตน

ต้องใช้ "การอบรมจิต (สมถภาวนา)" และ "การอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)" ร่วมกัน
 
การอบรมจิต (สมถภาวนา) หมายถึง การหมั่นฝึกฝนอบรมจิต ให้เข้มแข็ง ให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่น ให้ไม่กระเพื่อมไหว (ให้มีสมาธิ) เพื่อให้สามารถระงับจิต ไม่ให้จิตปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน และ เพื่อให้มีสติ สามารถรับรู้ “การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป” ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน
 
การอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) หมายถึง การหมั่นเพ่งพิจารณาให้เห็นจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน เพื่อทำให้เกิด “การละหน่ายคลายและปล่อยวางได้
 
***************

การอบรมจิต หรือ สมถภาวนา

เป็นการทำให้ “กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน” ที่กำลังเกิดขึ้น ระงับดับลง
 
***************
 
การอบรมปัญญา หรือ วิปัสสนาภาวนา เป็นการทำให้เกิด “ปัญญา” ล้าง "อวิชชา"

หรือ เป็นการทำให้เกิด “ความเห็นที่ถูก ที่ตรง ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา (สัมมาทิฏฐิ)

หรือ เป็นการทำให้พ้นวิจิกิจฉา (พ้นความลังเลสงสัย) จนเกิดการละหน่ายคลายและปล่อยวางได้ (พ้นสักกายทิฏฐิ)
 
เมื่อเกิดการละหน่ายคลายและปล่อยวางได้แล้ว

ก็จะทำให้ “ศีล” กลายเป็นปกติของตน ชื่อว่า พ้นสีลพตรปรามาส
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

จะเริ่มต้นด้วยการ “ปฏิบัติศีล 5” ให้เป็นปกติของตน ให้ได้ก่อน
 
เมื่อมีศีล 5 เป็นปกติของตนแล้ว

ให้ปฏิบัติศีล 8 ศีล 10 และ ศีลพระปาฏิโมกข์ ตามลำดับ

เพื่อดับกิเลสในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) ตามลำดับ

***************
 
สำหรับผู้ที่มี “ศีล 5” เป็นปกติของตนอยู่แล้ว

ให้ปฏิบัติศีล 8 ศีล 10 และ ศีลพระปาฏิโมกข์ ตามลำดับ

***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น ตามลำดับ

อาจใช้วิธีการ “กำหนดตั้งศีล” ให้สูงขึ้น ตามลำดับ

โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง

โดยมุ่งหมายไปที่ “การดับกิเลส” ในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) ตามลำดับ

ชื่อว่า “อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
 
***************
๔. วัชชีปุตตสูตร

ว่าด้วยภิกษุวัชชีบุตร

[๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี

ครั้งนั้น ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ ทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถศึกษาในสิกขาบทนี้ได้”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ ก็เธอจักสามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา หรือ”

ภิกษุวัชชีบุตรนั้น กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาได้”

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา

เมื่อใด เธอศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เมื่อนั้นเธอผู้ศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาอยู่ ก็จักละราคะ โทสะ และโมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ และโมหะได้ เธอจักไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล จักไม่ประพฤติสิ่งที่เลวทรามอีก

ครั้นต่อมา ภิกษุนั้นศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เมื่อเธอผู้ศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาอยู่ ก็ละราคะ โทสะ และโมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เธอจึงไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล ไม่ประพฤติสิ่งที่เลวทรามอีก

วัชชีปุตตสูตรที่ ๔ จบ
 

เชิงอรรถ : ๑ วัชชีบุตร หมายถึงเป็นบุตรของวัชชีราชสกุล (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๕/๒๓๙)

เชิงอรรถ : ๒ สมัยที่พระวัชชีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคนั้น สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้มีเพียง ๑๕๐ ข้อ (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๕/๒๔๐)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า :๓๑๐-๓๑๑ }
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 21 พฤษภาคม 2566 6:42:57 น.
Counter : 309 Pageviews.  

119. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 5



กิเลส ตัณหา และอุปาทาน
เป็นสิ่งที่ มีฤทธิ์มีแรงมาก

 
มันสามารถทำให้คนเราทำความไม่ดี (อกุศลกรรม) ทั้งหลาย” ได้

ทั้งๆที่รู้ว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

ทั้งๆที่รู้ว่า มันมีผลเป็น “วิบากกรรมที่ไม่ดี (อกุศลวิบาก)

ที่จะทำให้ชีวิต ต้องประสบกับ “ความทุกข์ และสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย” ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป

และ ทั้งๆที่ จริงๆแล้ว “ไม่อยากจะทำ
 

มันสามารถทำให้คนเรา ทำในสิ่งที่ “เป็นโทษเป็นภัยต่อตนเอง” ได้

ทั้งๆที่รู้ว่า ถ้าทำแล้ว มันจะก่อโทษก่อภัยต่อตนเอง
 

มันสามารถยับยั้ง ไม่ให้คนเรา ทำในสิ่งที่ “มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต” ได้

ทั้งๆที่รู้ว่า ถ้าทำแล้ว มันจะก่อให้เกิด “คุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต” มากมาย
 

มันสามารถทำให้คนเรา ทำร้ายทำลายชีวิตของผู้อื่นและสัตว์อื่นได้

มันสามารถทำให้คนเรา ฆ่าคนที่ตนเองรักได้

และ มันสามารถทำให้คนเรา ฆ่าตนเองได้
 
***************
 
การต่อสู้เพื่อเอาชนะ กิเลส ตัณหา และอุปาทาน

หรือ การทำความดับกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

เพื่อทำความดับทุกข์

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ต้องใช้ "กำลังความเพียร (วิริยะพละ) ที่เป็นสัมมา (สัมมาวายามะ)"

ต้องใช้ "กำลังสติ (สติพละ) ที่เป็นสัมมา (สัมมาสติ)"

ต้องใช้ "กำลังสมาธิ (สมาธิพละ) ที่เป็นสัมมา (สัมมาสมาธิ)"

ต้องใช้ "กำลังปัญญา (ปัญญาพละ) ที่เป็นสัมมา (สัมมาทิฏฐิ)"

ค่อนข้างมาก

และ ต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร

ดังนั้น จึงต้องมองให้เห็น “การลดลง การจางคลายลง ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

หรือ ต้องมองให้เห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย

เพื่อทำให้เกิด “กำลังศรัทธา (ศรัทธาพละ)

ช่วยให้สามารถเดินหน้า “ทำความดับกิเลส ตัณหา และอุปาทาน เพื่อทำความดับทุกข์” ต่อไปได้
 
***************
 
ถ้ามองไม่เห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย

จะทำให้ “หมดแรงกำลัง

และ จะไม่สามารถเดินหน้า “ทำความดับกิเลส ตัณหา และอุปาทาน เพื่อทำความดับทุกข์” ต่อไปได้
 
***************
 
จงอย่าปล่อยให้ชีวิตและจิตใจ

ไหลเลื่อนไปตาม “อำนาจของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

เพราะ

การปล่อยให้ชีวิตและจิตใจ

ไหลเลื่อนไปตาม “อำนาจของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

จะทำให้ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน

สั่งสมพอกพูนขึ้น และมีฤทธิ์มีแรงมากขึ้น

จนไม่สามารถจะควบคุมได้ หรือ ควบคุมได้ยาก
 
***************

 
จงเพียรหมั่น “อบรมจิต (เจริญสมถะ) และ อบรมปัญา (เจริญวิปัสสนา)

เพื่อทำให้ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน


ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสูญสิ้นไปจากชีวิตและจิตใจ
 
***************
 
การต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

ต้องมองให้เห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย

หรือ ต้องมองให้เห็น “ความก้าวหน้า” แม้มีประมาณน้อย

หรือ ต้องให้เห็น “ความชนะในความแพ้

คือ ต้องมองให้เห็น “ความลดลง ความจางคลายลง” ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

และ ต้องมองให้เห็น “ความสุขสงบ คุณค่าประโยชน์ และ สิ่งที่ดีๆ” ที่เกิดจากการลดลง การจางคลายลง ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

จึงจะทำให้เกิด “กำลังศรัทธา (ศรัทธาพละ)

ช่วยให้สามารถเดินหน้า “ทำความดับกิเลส ตัณหา และอุปาทาน เพื่อทำความดับทุกข์” ต่อไปได้
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 14 พฤษภาคม 2566 5:42:31 น.
Counter : 370 Pageviews.  

118. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 4



การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ ๘” สู่ความดับทุกข์

***************
 
การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ ๘” สู่ความดับทุกข์

คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา

เพื่อปรับเปลี่ยน การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

ที่เป็นอกุศล (มิจฉา) ให้เป็นกุศล (สัมมา)

โดยการชำระล้าง หรือ การขจัด หรือ การดับ “กิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลาย (ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์)
 
***************
 
ศีล คือสิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อปรับเปลี่ยน การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ที่เป็นอกุศล (มิจฉา) ให้เป็นกุศล (สัมมา)

ศีล เป็นสิ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติของตน หรือ ให้เป็นปกติวิสัยของตน (ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ)
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา
 
ต้องใช้ “การเจริญสมถะ (การอบรมจิต) และ “การเจริญวิปัสสนา (การอบรมปัญญา)” ร่วมกัน
 
เพื่อทำให้ “ศีล” เป็นปกติ (ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ)
 
***************
 
การเจริญสมถะ (การอบรมจิต) คือ การเพียรทำความมีสติ เพื่อทำจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้ไม่หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “อำนาจของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล (มูลเหตุของอกุศลกรรม)
 
การเจริญสมถะ (การอบรมจิต) เป็นการทำให้ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต ระงับดับลง (ยังไม่ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจ) เพื่อไม่ให้เกิด “การละเมิดศีล
 
***************
 
การเจริญวิปัสสนา (การอบรมปัญญา) คือ การเพียรทำความมีสติ เพื่อเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรละเมิดศีล และ เพื่อเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ “สิ่งที่หลงยึดมั่นถือมั่น” และของ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ที่คอยชักนำจิตใจ ให้ละเมิดศีล เป็นการทำให้เกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา หรือ ทำให้เกิด การ ”พ้นวิจิกิจฉา
 
การอบรมปัญญา (วิปัสสนา) ดังกล่าว เป็นการทำให้เกิด “การละหน่ายคลาย” และ ทำให้เกิด “การปล่อยวางได้” คือ “ทำให้ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นไปตามอำนาจของกิเลส (ทำให้อุปาทานดับ)” ส่งผลให้ “ตัณหาและกิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจ (พ้นสักกายทิฏฐิ)
 
เมื่อกิเลสที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจแล้ว ก็จะทำให้ “ศีล” เป็นปกติ (พ้นสีลัพพัตตปรามาส)
 
***************
 
การเจริญสมถะ และ การเจริญวิปัสสนา ต้องอาศัย “ผัสสะ” เป็นปัจจัย จึงจะสามารถทำให้ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ลดลง จางคลายลง และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจ ได้จริง


ถ้าไม่มีผัสสะเป็นปัจจัย จะทำให้เกิด “การนอนเนื่องของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน (กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ยังไม่ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจจริง)” และ จะทำให้เกิด “การหลงผิดคิดไปว่า ตนเองได้บรรลุธรรมแล้ว”
 
ผัสสะ คือความประจวบกันของสามสิ่ง คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และ วิญญาณ (ความรับรู้)


***************
ผัสสะ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ผัสสะ เปรียบเสมือน แบบฝึกหัด หรือ แบบทดสอบ

ถ้าไม่มีผัสสะ เราจะไม่รู้ว่า เราสามารถดับกิเลสได้แล้ว จริงหรือไม่?


***************
 
ถ้าไม่มีผู้ใด หรือ สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา "โกรธ"

เราจะไม่สามารถ ทำความดับ “ความโกรธ” ที่มีอยู่ในจิตใจของเราได้จริง

เพราะ เราจะไม่มี “ความโกรธ” มาเป็นปัจจัย ในการเจริญสมถะ (อบรมจิต) และเจริญวิปัสสนา (อบรมปัญญา)

และเราจะไม่รู้ว่า เราสามารถดับ “ความโกรธ” ได้แล้ว จริงหรือไม่?
 
***************

 ถ้าไม่มีผู้ใด หรือ สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา "เกิดความอยากได้ อยากมี และ อยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต (ความโลภ)"

เราจะไม่สามารถ ทำความดับ “ความโลภ” ที่มีอยู่ภายในจิตใจของเราได้จริง

เพราะ เราจะไม่มี “ความโลภ” มาเป็นปัจจัย ในการเจริญสมถะ (อบรมจิต) และเจริญวิปัสสนา (อบรมปัญญา)

และเราจะไม่รู้ว่า เราสามารถดับ “ความโลภ” ได้แล้ว จริงหรือไม่?

***************

ถ้าไม่มีผู้ใด หรือ สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา "รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นชอบใจ เป็นไม่ชอบใจ เป็นรัก เป็นเกลียดชัง เป็นกลัว เป็นกังวล เป็นห่วง เป็นหวง ฯลฯ (ความหลงใหล และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น)"

เราจะไม่สามารถ ทำความดับ “ความหลงใหล และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น” ที่มีอยู่ในจิตใจของเราได้จริง

เพราะ เราจะไม่มี “ความหลงใหล และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น” ทั้งหลาย มาเป็นปัจจัย ในการเจริญสมถะ (อบรมจิต) และเจริญวิปัสสนา (อบรมปัญญา)

และเราจะไม่รู้ว่า เราสามารถดับ “ความหลงใหล และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น” ได้แล้ว จริงหรือไม่?
 
***************

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ต้องมี “ผัสสะ” เป็นปัจจัย

จึงจะทำให้เกิด การบรรลุธรรมจริง

ดังนั้น

เราจึงไม่ควรหลีกหนี “ผัสสะ

และ เราควรใช้ ผัสสะ ที่เกิดขึ้นมาในชีวิต

เพื่อทำให้เกิด “ความปราศจากราคะ หรือ วิราคะ (ดับราคะ)”

อันจะนำพาชีวิตไปสู่  “ความดับแห่งกองทุกข์

***************

จงรู้จักเก็บเกี่ยวเอาประโยชน์จากผัสสะ

จงเพียรหมั่น เก็บเกี่ยวบุญ (ชำระล้างกิเลสออกจากจิต) และ เก็บเกี่ยวกุศล (สร้างวิบากกรรมดี) จากบุคคลรอบๆข้าง และ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ถ้าไม่มีผู้ใด มากระทำให้เราโกรธ เราคงไม่มีโอกาส ได้ทำอภัยทาน

***************

ผัสสะ น. การกระทบ การถูกต้อง เช่น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ การที่ตา หู จมูก ลิ้น และกาย กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่รับรู้ได้ทางกาย เช่น ความสุขทางผัสสะ. (ป.).
 

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน

***************
 
บุญ” นั้น มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า “ปุญฺญ
บุญ แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด


ความหมายจาก “ก้าวไปในบุญ” สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 22 เมษายน 2566    
Last Update : 22 เมษายน 2566 6:59:16 น.
Counter : 301 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.