"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

72. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 13



การปล่อยให้จิตใจ ไหลเลื่อนไปตาม “อารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา” ที่เกิดขึ้นมา ภายในจิตใจ

จะทำให้เกิด การสั่งสมพอกพูนของ “อุปาทาน” ในความทรงจำ

***************

การสั่งสมพอกพูนของ “อุปาทาน” ในความทรงจำ

จะทำให้เกิด ความหลงใหลติดใจ และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์สุขทั้งหลาย มากยิ่งขึ้น (โมหะ)

ทำให้เกิด ความโลภ อยากได้ อยากมี และ อยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต (โลภะ)

และ ทำให้เกิด ความทุกข์ใจ ความไม่ชอบใจไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ ความโกรธ และ ความพยาบาท เมื่อไม่ได้สมอยาก (โทสะ) ตามมา

***************

ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และ ความหลง (โมหะ) คือมูลเหตุที่ทำให้เกิด

1. ความเห็นผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ (มิจฉาทิฏฐิ)

2. ความดำริผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ คือ ความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท และ ความดำริในการเบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่น (มิจฉาสังกัปปะ)

3. การพูดผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ คือ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และ การพูดเพ้อเจ้อ (มิจฉาวาจา) 

4. กระทำทางกายที่ผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ คือ การฆ่าผู้อื่นและสัตว์อื่น การลักทรัพย์ และ ประพฤติผิดในกาม (มิจฉากัมมันตะ)

5. การประกอบอาชีพที่ผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ คือ อาชีพที่มีการโกง (กุหนา) อาชีพที่มีการหลอกลวง (ลปนา) อาชีพที่มีการตลบตะแลง (เนมิตตกตา) อาชีพที่มีการยอมมอบตนในทางที่ผิด (นิปเปสิกขา) อาชีพที่มีการเอาลาภแลกลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) ฯลฯ (มิจฉาอาชีวะ)

6. ความเพียรที่ผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ คือ ความเพียรเพื่อให้ได้มามากๆซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข หรือ สิ่งที่ตนหลงใหลติดใจ และ หลงยึดหมั่นถือมั่นเอาไว้ ฯลฯ (มิจฉาวายามะ)

7. ความมีสติที่ผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ คือ ความมีสติเพื่อให้ได้มาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข หรือ สิ่งที่ตนหลงใหลติดใจ และ หลงยึดหมั่นถือมั่นเอาไว้ ฯลฯ (มิจฉาสติ)

8. การทำสมาธิที่ผิดไปตาม อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ และ โมหะ คือ ทำสมาธิเพื่อให้ได้มาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อิทธิ ปาฏิหาริย์ ฯลฯ (มิจฉาสมาธิ)

***************

ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และ ความหลง (โมหะ) คือมูลเหตุของการกระทำที่ไม่ดี หรือ อกุศลกรรม ทั้งหลาย (อกุศลมูล)

การกระทำที่ไม่ดี หรือ อกุศลกรรม ทั้งหลาย มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก ได้แก่ การได้ประสบกับความทุกข์ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การได้รับโทษ การได้รับภัย และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
 
***************

การทำความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหลาย

ต้องทำหรือต้องปฏิบัติ ให้ถูกมรรคถูกทาง และ ค้องทำหรือต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามลำดับ จึงจะเกิดการบรรลุธรรมตามลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

การปฏิบัติที่ถูกมรรคถูกทาง คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 โดยใช้ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ขับเคลื่อน

การปฏิบัติที่ถูกต้องตามลำดับ คือ การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้สูงขึ้นเป็นลำดับ เพื่อทำให้เกิดเป็น อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่ยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง) โดยเริ่มต้นจาก การปฏิบัติศีลในเบื้องต้น คือ ศีล 5 ให้บริบูรณ์ก่อน แล้วใช้อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทาง ในการกำหนดตั้งศีลให้สูงขึ้นเป็นลำดับ

***************

ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้

ธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ

๑. ธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที

เหมือนมหาสมุทร ที่ต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที

ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่า อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑


...ข้อความส่วนหนึ่งจาก “อุโปสถสูตร”
{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๔-๒๖๕}

 
ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2563    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2563 8:19:15 น.
Counter : 646 Pageviews.  

71. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 12



การทำความดับแห่งกองทุกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงให้มุ่งทำ คือ การทำความดับแห่งตัณหา
 
วิธีการทำความดับแห่งตัณหา ที่ผู้เขียนยึดถือปฏิบัติอยู่ มีแนวทาง ดังนี้

1. ทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของอารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา
 
2. เมื่อมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (โผฏฐัพพะ) และ ธรรมารมณ์ มากระทบสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ แล้วทำให้เกิด อารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา ขึ้นมา ภายในจิตใจ ให้เพียรพยายาม ระงับดับตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น โดยให้เพียรพยายาม ทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ให้เป็นสมาธิ ให้สงบระงับ ให้ไม่ไหลเลื่อนปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามอารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อทำให้ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น ระงับดับลงไป (สมถะ)

3. ให้เพียรเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา) เพื่อให้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่เที่ยง ในความไม่ยั่งยืน ในความแปรปรวน ในความไม่แน่นอน และ ในความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ ของอารมณ์สุข ที่กำลังเกิดขึ้น (อนิจจัง)

4. ให้เพียรเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา) เพื่อให้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็นทุกข์ เป็นโทษ และ เป็นภัย ของการหลงใหลติดใจ และ การหลงยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์สุข ที่กำลังเกิดขึ้น (ทุกขัง)

5. ให้เพียรเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา) เพื่อให้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่ตัวไม่ใช่ตนของตน และ ไม่ใช่ของของตน ของอารมณ์สุข ที่กำลังเกิดขึ้น และ ให้เพียรเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่า จริงๆแล้ว อารมณ์สุข มันเป็นแค่เพียง สิ่งที่เกิดขึ้นจาก “อุปาทาน” ที่คนเรามีอยู่ในความทรงจำ แตกต่างกัน เท่านั้นเอง และ มันเป็นสิ่งที่ สามารถทำให้ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ สูญสิ้นไปจากจิตใจได้ (อนัตตา)

***************

การทำให้ตัณหา ระงับดับลงไป ต้องใช้พลังสมาธิ หรือ สมาธิพละ เพื่อทำให้จิตใจ สงบระงับ ไม่ให้เกิดการไหลเลื่อนปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามอารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น (สมถะ)

การทำให้เกิด การละหน่ายคลายในอารมณ์สุข และ การทำให้เกิด การปล่อยวางอารมณ์สุขได้ ต้องใช้พลังปัญญา หรือ ปัญญาพละ เพื่อทำให้เกิด “ปัญญา” ที่ละสักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิได้ (วิปัสสนา)

***************

การทำให้ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น ภายในจิตใจ ระงับดับลงไป

โดยไม่ให้เกิดการไหลเลื่อนปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามอารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น

เป็นเรื่องที่ ค่อนข้างทำได้ยาก 

โดยเฉพาะ ผู้ที่ไม่เคยเพียรหมั่นฝึกปฏิบัติสมถกรรมฐาน

ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเกิดการไหลเลื่อน ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามอารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น
 
***************

ไม่ว่าเรา จะสามารถทำให้ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น ระงับดับลงได้

หรือ ไม่สามารถจะทำให้ตัณหา ที่กำลังเกิดขึ้น ระงับดับลงได้

สิ่งที่สำคัญ ที่เราควรยึดถือปฏิบัติ คือ

1. เราควรเพียรพยายาม ทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของอารมณ์สุข ราคะ และ ตัณหา

2. เราควรเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของอารมณ์สุขทั้งหลาย (โลกียสุข) เพื่อทำให้เกิด “การละหน่ายคลายในอารมณ์สุขทั้งหลาย” และ เพื่อทำเกิด “การปล่อยวางอารมณ์สุขทั้งหลายได้” จึงจะทำให้เกิด “การดับสูญสิ้นไปของตัณหา”

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 18 ตุลาคม 2563    
Last Update : 18 ตุลาคม 2563 8:41:48 น.
Counter : 677 Pageviews.  

70. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 11



การทำความดับแห่งกองทุกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงให้มุ่งทำ คือ การทำความดับแห่งตัณหา
 
การทำความดับแห่งตัณหา คือ การทำให้เกิด วิราคะ” หรือ การทำให้เกิด ความปราศจากราคะ”
 
***************

ราคะและตัณหา มีลำดับของการเกิด ดังนี้
 
ลำดับที่ 1 มีอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (โผฏฐัพพะ) และ ธรรมารมณ์ มากระทบสัมผัสอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ (รูป)

ลำดับที่ 2 เกิดสุขเวทนา ตามอุปาทานที่มีอยู่ในความทรงจำ (เวทนา)

ลำดับที่ 3 เกิดความจำได้หมายรู้ ในสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นตามอุปาทาน ที่มีอยู่ในความทรงจำ (สัญญา)

ลำดับที่ 4 เกิดการปรุงแต่งไปตามสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นตามอุปาทาน ที่มีอยู่ในความทรงจำ (สังขาร)

ลำดับที่ 5 เกิดความรับรู้ได้ ในสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นตามอุปาทาน ที่มีอยู่ในความทรงจำ (วิญญาณ)

ลำดับที่ 6 เกิดการกระทบสัมผัสที่บริบูรณ์ ครบองค์ 3 (ผัสสะ)

ลำดับที่ 7 เกิดอารมณ์สุข หรือ สุขเวทนาที่รับรู้ได้ (เวทนา)

ลำดับที่ 8 เกิดความกำหนัด ความยินดี ความชอบใจ ในอารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นจาก อุปาทานขันธ์ 5 (ราคะ)

ลำดับที่ 9 เกิดความทะยานอยาก ไปตามอารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นจาก อุปาทานขันธ์ 5 (ตัณหา)
 

หมายเหตุ:

1. ลำดับที่ 1 – 5 คือ อุปาทานขันธ์ 5
 
2. ถ้าเราไม่เพียรพยายาม ระงับดับตัณหาที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิด การสั่งสมพอกพูนของอุปาทานในความทรงจำ

 
***************
 
การทำให้เกิด วิราคะ” หรือ การทำให้เกิด ความปราศจากราคะ” คือ

การทำให้เกิด การละหน่ายคลายในอุปาทานขันธ์ 5 หรือ การทำให้เกิด การละสักกายทิฏฐิได้

และ การทำให้เกิด การปล่อยวางอุปาทานขันธ์ 5 หรือ การทำให้เกิด การละอัตตานุทิฏฐิได้
 
***************

เวทนา ที่เกิดขึ้นตามอุปาทาน ที่มีอยู่ในความทรงจำ หลักๆแล้ว มีอยู่ 3 ประการ คือ

1. สุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกสุข

2. ทุกขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์

3. อทุกขมสุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข หรือ มิใช่สุขมิใช่ทุกข์
 
เวทนา ที่ทำให้เกิด ราคะและตัณหา คือ สุขเวทนา
 
เวทนาทั้ง 3 ประการ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ ดังข้อความใน “สักกายทิฏฐิปหานสูตร” และ “อัตตานุทิฏฐิปหานสูตร” ที่ได้กล่าวไปแล้ว ในตอนที่แล้ว
 
***************
 

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร

 

ธรรมารมณ์ [ทำ-มา-รม] น. ความคิดคำนึงในใจ เช่น เวลาเห็นรูปที่ชอบใจ แม้รูปนั้นผ่านพ้นไปแล้ว จิตใจก็ยังคำนึงนึกอยู่ ในความสุขใจอันเกิดจากการได้เห็นรูปนั้น, ในทางตรงกันข้ามก็เหมือนกัน จิตคำนึงนึกอยู่ ในความเศร้า ก็เรียกว่า ธรรมารมณ์.

 
***************
 
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน

 

ธรรมารมณ์ [ทํามา] น. อารมณ์ที่ใจรู้ อารมณ์ที่เกิดทางใจ. (ป. ธมฺมารมฺมณ).

 

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 04 ตุลาคม 2563    
Last Update : 4 ตุลาคม 2563 7:09:56 น.
Counter : 601 Pageviews.  

69. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 10



การทำความดับแห่งกองทุกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงให้มุ่งทำ คือ การทำความดับแห่งตัณหา
 
การทำความดับแห่งตัณหา คือ การทำให้เกิด “วิราคะ” หรือ การทำให้เกิด “ความปราศจากราคะ”
 
***************


ราคะ หมายถึง ความกำหนัด ความยินดี ความชอบใจ ที่เกิดขึ้นจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธรรมารมณ์ ประกอบด้วย

1. กามราคะ หมายถึง ความกำหนัดยินดี ที่เกิดขึ้นจาก รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส (กามคุณ 5)

2. รูปราคะ หมายถึง ความกำหนัดยินดี ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยรูปในจิต

3. อรูปราคะ หมายถึง กำหนัดยินดี ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูป
 
***************
 
สิ่งทำให้เกิดราคะ คือ อุปาทานขันธ์ 5
 
อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นไปตามอำนาจของกิเลส เช่น อย่างนี้สวย เห็นแล้วเป็นสุข ชอบ อยากได้, อย่างนี้อร่อย ได้กินแล้วเป็นสุข ชอบ อยากกิน ฯลฯ
 
ขันธ์ 5 หมายถึง กระบวนการเกิดของอารมณ์สุข (โลกียสุข) ตามอุปาทานที่มีอยู่ หรือ ตามความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ ประกอบด้วย

1. รูป หมายถึง สิ่งที่ถูกรับรู้ได้ด้วยอายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ) ประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธรรมารมณ์ (อายตนะภายนอก 6)

2. เวทนา หมายถึง ความรู้สึกสุข (เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดราคะ) ความรู้สึกทุกข์ และ ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข

3. สัญญา หมายถึง ความจำได้ ความหมายรู้ได้ 

4. สังขาร หมายถึง การปรุงแต่ง

5. วิญญาณ หมายถึง ความรับรู้
 
***************
 
การทำให้เกิด “ความปราศจากราคะ” หรือ การทำให้เกิด “วิราคะ” คือ การทำให้เกิด “การละหน่ายคลายในอุปาทานขันธ์ 5" หรือ การทำให้เกิด "การละสักกายทิฏฐิได้” และ การทำให้เกิด “การปล่อยวางอุปาทานขันธ์ 5" หรือ การทำให้เกิด "การละอัตตานุทิฏฐิได้”
 
การทำให้เกิด “การละหน่ายคลายในอุปาทานขันธ์ 5" หรือ การทำให้เกิด "การละสักกายทิฏฐิได้” คือ การเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา) ให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่เที่ยง ความไม่ยั่งยืน ความแปรปรวน ความไม่แน่นอน และ ความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ ของอุปาทานขันธ์ 5 (อนิจจัง)
และ การเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา) ให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็นทุกข์ เป็นโทษ และ เป็นภัย ของอุปาทานขันธ์ 5 (ทุกขัง)
 
การทำให้เกิด “การปล่อยวางอุปาทานขันธ์ 5" หรือ การทำให้เกิด "การละอัตตานุทิฏฐิได้” คือ การเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา) ให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน ของอุปาทานขันธ์ 5 (อนัตตา)
 
***************
 
๑๑. สักกายทิฏฐิปหานสูตร

ว่าด้วยการละสักกายทิฏฐิ

[๑๖๖] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อรู้เห็นอย่างไร จึงละสักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัว ของตน) ได้”
 
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ บุคคลเมื่อรู้เห็นจักขุ โดยความเป็นทุกข์ จึงละสักกายทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นรูป โดยความเป็นทุกข์ จึงละสักกายทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นจักขุวิญญาณ โดยความเป็นทุกข์ จึงละสักกายทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นจักขุสัมผัส โดยความเป็นทุกข์ จึงละสักกายทิฏฐิได้ ฯลฯ
 
เมื่อรู้เห็น แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นทุกข์ จึงละสักกายทิฏฐิได้

ภิกษุ บุคคลเมื่อรู้ เห็นอย่างนี้ จึงละสักกายทิฏฐิได้


สักกายทิฏฐิปหานสูตรที่ ๑๑ จบ
 
***************
 
๑๒. อัตตานุทิฏฐิปหานสูตร

ว่าด้วยการละอัตตานุทิฏฐิ

[๑๖๗] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อรู้เห็นอย่างไร จึงละอัตตานุทิฏฐิได้”
 
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ บุคคลเมื่อรู้เห็นจักขุ โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นรูป โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นจักขุวิญญาณ โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นจักขุสัมผัส โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นแม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้ ฯลฯ
 
เมื่อรู้เห็นชิวหา โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้ ฯลฯ
 
เมื่อรู้เห็นมโน โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้ เมื่อรู้เห็นธรรมารมณ์ ... มโนวิญญาณ ... มโนสัมผัส ... เมื่อรู้เห็นแม้ความเสวย อารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา จึงละอัตตานุทิฏฐิได้

ภิกษุ บุคคลเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จึงละอัตตานุทิฏฐิได้”


อัตตานุทิฏฐิปหานสูตรที่ ๑๒ จบ
 
{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๒๐๐ – ๒๐๑ }
 
***************
 
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
 
ราคะ (มค. ราค) น. ความกำหนัด, ความยินดี, ราคะเป็นกิเลสละเอียด ฝังอยู่ในจิตใจ ได้แก่ความรู้สึก ชอบใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ กิเลสชนิดนี้ ไม่เป็นบาปกรรมหรือเป็นความชั่วร้าย สำหรับสามัญชนทั่วไป แต่ถ้าไม่ควบคุมจิต ราคะจะกำเริบขึ้นเป็นโลภะ เป็นความตระหนี่ เป็นความริษยา ฯลฯ จนถึง ทำให้ตัดสินใจทำบาปกรรม เพราะลุอำนาจแก่ความอยากได้ และความกำหนัดในกาม บุคคลผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ที่ละราคะได้เด็ดขาด.
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 20 กันยายน 2563    
Last Update : 27 กันยายน 2563 4:27:02 น.
Counter : 736 Pageviews.  

68. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 9


 

จากกระบวนการเกิดแห่งกองทุกข์ หรือ ปฏิจจสมุปบาท

การทำความดับแห่งกองทุกข์ ต้องทำตรงจุดใด?


***************
 
ถ้าเราพิจารณาจาก “ทุกขสูตร
 
เราจะพบว่า พระพุทธองค์ทรงให้มุ่ง “ระงับดับตัณหา” เป็นหลัก ดังนี้
 
๑๐๖] “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง ความเกิดและความดับแห่งทุกข์
 
เธอทั้งหลาย จงฟัง


ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
 
คือ เพราะอาศัย จักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด

ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด

ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ

 
เพราะอาศัย ชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด

ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด

ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ
 


*** (ละในส่วนของ ฆานะ... โสตะ... และ กาย...)


เพราะอาศัย มโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด

ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด

ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล

            
ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร

คือ เพราะอาศัย จักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด

ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด

เพราะตัณหานั้นแล ดับไม่เหลือ ด้วยวิราคะ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติ (ความเกิด) จึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และ อุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ ด้วยประการฉะนี้

ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ


เพราะอาศัย ชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด

ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด

เพราะตัณหานั้นแล ดับไม่เหลือ ด้วยวิราคะ อุปาทานจึงดับ

เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ 
***(ละในส่วนของ เพราะภพดับ...จนถึง...และ อุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงดับ)

ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ”
 


*** (ละในส่วนของ ฆานะ... โสตะ... และ กาย...)
 

เพราะอาศัย มโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด

ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด

เพราะตัณหานั้นแล ดับไม่เหลือ ด้วยวิราคะ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ ด้วยประการฉะนี้
 

ภิกษุทั้งหลาย ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล


*** จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (๓. ทุกขสมุทยสูตร ว่าด้วยความเกิดแห่งทุกข์)

***************

***ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
 
วิราคะ(มค. วิราค) น. ความปราศจากราคะ, ความไม่พึงใจ, ความหน่าย, ความไม่ไยดี, นิพพาน.
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 13 กันยายน 2563    
Last Update : 13 กันยายน 2563 6:47:58 น.
Counter : 601 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.