"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

32. ถ้าต้องการจะพ้นทุกข์ ต้องปรับเปลี่ยน ที่จิตของตน



โลกและสังคมของเรา
ได้ถูกขับเคลื่อน ให้แปรเปลี่ยนไป
ด้วยแรงแห่ง “กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ของแต่ละคน” ที่อาศัยอยู่ในโลก และ ในสังคม
มุ่งหน้าไปสู่ ความเสื่อม โทรมทรุด เดือดร้อน วุ่นวาย และ เลวร้าย มากขึ้น เป็นธรรมดา
 
มีน้อยคนนัก ที่จะมุ่งมั่น ชำระล้าง “กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน" ออกจากจิตใจของตน
จนมีผล ฉุดรั้งโลก และ ฉุดรั้งสังคม เอาไว้ได้ 

***************

ความแปรเปลี่ยนไปของโลกและสังคม นี้
มีผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของคนเรา                                                 
ทำให้คนเรา เป็นทุกข์มากขึ้น เครียดมากขึ้น วิตกกังวลมากขึ้น
เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ มากขึ้น

***************

การปรับเปลี่ยนโลก และ การปรับเปลี่ยนสังคม ให้ดีขึ้น
หรือ การรักษาโลก และ การรักษาสังคม เอาไว้ ไม่ให้เสื่อมลง ไม่ให้ทรุดลง
เป็นเรื่องที่ยากมาก หรือ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

สิ่งที่เราพอจะทำได้ อย่างมาก คือ การชะลอการเปลี่ยนแปลง ให้ช้าลง
                                                                      

ดังนั้น
จงอย่าทุกข์ใจ และ จงอย่ากังวลใจ ไปกับโลกและสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา
เพราะเหตุว่า ไม่มีประโยชน์อันใด 
การทำตน “เป็นคนแบกโลก และ แบกสังคม” ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร

สิ่งที่เราควรทำ คือ
จงเพ่งพิจารณาดูว่า เราสามารถจะทำสิ่งใดได้บ้าง? เพื่อเกื้อกูลโลก และ เพื่อเกื้อกูลสังคม
แล้วจงลงมือทำ “ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง” ตามสมควร
และ จงเพ่งพิจารณาดูว่า เราควรจะปรับตัว และ ปรับใจ อย่างไร?
เพื่อทำให้เรา สามารถจะอยู่ในโลกและในสังคมได้ อย่างมีความสุข
 
***************


การกระทำของผู้อื่น คำพูดของผู้อื่น และ พฤติกรรมของผู้อื่น
อันเกิดจาก จิตใจของผู้อื่น
มีผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของเรา
บางสิ่ง ทำให้เราชอบใจ และ เป็นสุข
บางสิ่ง ทำให้เราไม่ชอบใจ และ เป็นทุกข์

***************

การปรับเปลี่ยน จิตใจของผู้อื่น
เพื่อทำให้ การกระทำของผู้อื่น คำพูดของผู้อื่น และ พฤติกรรมของผู้อื่น ถูกใจเรา และ ทำให้เราเป็นสุข นั้น
แสนยาก และ แสนลำบาก จริงๆ
หรือ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะเหตุว่า...
ไม่มีใครผู้ใด ที่จะสามารถล่วงรู้ได้เลยว่า...ในส่วนลึกของจิตใจของผู้อื่น... เป็นเช่นใด?
แม้แต่ใจของเรา เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ก็ใช่ว่า จะปรับเปลี่ยนได้ โดยง่าย
ป่วยการกล่าวไปใย กับใจของผู้อื่น

***************

การปรับเปลี่ยนจิตใจของตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ดังนั้น จึงไม่ควรคิด ไปปรับเปลี่ยน จิตใจของผู้อื่น
ให้เหนื่อยเปล่า ให้เสียเวลาเปล่า และ ให้ทุกข์ใจ ไปเปล่าๆ
ถ้าเราต้องการ จะทำให้ชีวิตของเรา เป็นสุข
เราต้องเพียรพยายาม มุ่งเน้น “ปรับเปลี่ยน ที่จิตของเรา” เป็นหลัก

“การปรับเปลี่ยนจิตใจของเรา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
แต่ก็ง่ายกว่า การปรับเปลี่ยน จิตใจของผู้อื่น”


***************


ผู้ที่ต้องการ จะปรับเปลี่ยนจิตใจของผู้อื่น ปรับเปลี่ยนโลก และ ปรับเปลี่ยนสังคม
ให้เป็นไปตาม ความต้องการของตน หรือ ให้ถูกใจตน
จะเป็นคนที่มี อารมณ์ทุกข์ อารมณ์เครียด และ อารมณ์วิตกกังวล เป็นที่หมาย

***************


ในความเป็นจริงนั้น
ความสุข และ ความทุกข์
ที่เกิดขึ้น ในจิตใจของคนเรา
โดยส่วนใหญ่แล้ว
เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ ไปตามอำนาจของกิเลส”

“กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่”
คือ มูลเหตุของการกระทำกรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม อันมีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก ได้แก่ การไม่ได้ลาภ การเสื่อมลาภ การไม่ได้ยศ การเสื่อมยศ การไม่ได้รับการสรรเสริญ การได้รับการนินทาว่าร้าย การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ ความทุกข์ ความโศก โรค ภัย และ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย

ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะพ้นทุกข์
เราต้องปรับเปลี่ยน ที่จิตใจของเรา
โดยการขัดเกลา หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจของเรา

***************

การปรับเปลี่ยน ที่จิตใจของเรา
โดยการขัดเกลา หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจของเรา
จะมีผลทำให้จิตของเรา มีความสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น มีความสุขสงบมากขึ้น
และ จะมีผลดีต่อชีวิตของเรา ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
“หมายมุ่งจิตตนไซร้     เปลี่ยนได้ง่ายดีฯะ” (ง่ายกว่า และ ดีกว่า)

ชาญ คำพิมูล


 




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:33:49 น.
Counter : 2743 Pageviews.  

31. สิ่งที่ควรเรียนรู้ และ สิ่งที่ควรทำ



ในโลกเรานี้
 
มีสิ่งที่น่าเรียนรู้ และ น่าทำ อยู่มากมาย หลายสิ่ง
 
แต่ชีวิตของคนเรา ไม่ได้ยืนยาว มากพอ
 
ที่จะสามารถเรียนรู้ และ สามารถทำ ในทุกๆสิ่ง ที่น่าเรียนรู้ และ น่าทำ
 
***************
 
ชีวิตนี้ น้อยนัก
 
ชีวิตนี้ สั้นนัก
 
ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน

 
สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับชีวิต
 
ที่คนเรา “ควรเรียนรู้ และ ควรทำ”
 
นอกเหนือจาก สิ่งที่ต้องเรียนรู้ และ ต้องทำ เพื่อการดำรงชีพของตน
 
คือ การเรียนรู้ทุกข์ การเรียนเหตุแห่งทุกข์ การเรียนรู้วิธีการดับทุกข์ และ การทำความดับทุกข์
 
เพราะ สิ่งเหล่านี้ มีผลต่อความเป็นไปของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
***************
 
“ทุกข์ อาศัย เหตุปัจจัย เกิดขึ้น”
 
“การดับทุกข์ คือ การดับเหตุ ดับปัจจัย ที่ทำให้เกิดทุกข์”

 
***************
 
การเกิดมาของคนเรา และ สัตว์โลกทั้งหลาย
 
เป็นการเกิดมา เพื่อมารับผลของกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ ในชาติก่อนๆ
 
กรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก ได้แก่ การไม่ได้ลาภ การเสื่อมลาภ การไม่ได้ยศ การเสื่อมยศ การไม่ได้รับการสรรเสริญ การได้รับการนินทาว่าร้าย การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ ความทุกข์ ความโศก โรค ภัย และ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
 
กรรมดี หรือ กุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก ได้แก่ การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ การได้ห่างไกลจากโรค การได้ห่างไกลจากภัย การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ ความสุข และ สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย
 
อกุศลมูล หรือ มูลเหตุที่ทำให้คนเรา ต้องทำกรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม คือ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง
 
***************
 
การดับทุกข์ คือ การดับเหตุ ดับปัจจัย ที่ทำให้เกิดทุกข์
 
โดยการปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ ๓” ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ คือ
 
๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก(วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
 
๒. การหมั่นทำกุศลทั้งหลาย ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การหมั่นสร้างกุศลวิบาก(วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
 
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล (มูลเหตุของอกุศล) ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
 
การปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ ๓” คือ การเดินตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” โดยใช้ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ขับเคลื่อน
 
***************
 
ชีวิตนี้ น้อยนัก
 
ชีวิตนี้ สั้นนัก
 
ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน
 
ขอพวกเรา
 
จงใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีอยู่ ไม่มากนัก
 
ให้มีคุณค่า ให้มีประโยชน์
 
ด้วยการเรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้ และ ด้วยการทำ ในสิ่งที่ควรทำ ดังกล่าวมาแล้ว
 
เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:33:28 น.
Counter : 2565 Pageviews.  

30. การขจัด "ความทุกข์" ออกจากจิตใจ ตอนที่ 2



การขจัด หรือ การชำระล้าง “ความหลงยึดมั่นถือ ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส” หรือ อุปาทาน อันเป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์” ออกจากจิตใจ

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราต้องเพียรหมั่น “อบรมจิต (สมถภาวนา)”

และ เราต้องเพียรหมั่น “อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)”

ด้วยการเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของ “ความหลงยึดมั่นถือ ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส” หรือ อุปาทาน

และ การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ ว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควร “เป็นทุกข์”

เพื่อทำให้เกิด “การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้”

หรือ เพื่อทำให้เกิด “ปัญญา (ในทางธรรม) ล้างอุปาทาน”

หรือ เพื่อทำให้เกิด “ปัญญา (ในทางธรรม) ล้างอวิชชา”

***************
 
แนวทางในการทำ การคิด และ การพิจารณา เพื่อขจัด หรือ เพื่อชำระล้าง “ความทุกข์” ออกจากจิตใจ มีดังนี้
 
๑. จงอย่ามัวทุกข์ใจ อยู่กับอดีต ที่มัน ผันผ่านไปแล้ว เพราะ เราแก้ไขอะไรไม่ได้ จงอย่าได้กังวลใจ ไปกับอนาคต ที่มัน ยังมาไม่ถึง เพราะ เราทำอะไรไม่ได้ จงทำวันนี้ ปัจจุบันนี้ ให้ดีที่สุด แล้วอนาคต จะถูกจัดสรร ให้ดีเอง
 
๒. เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นมา ในชีวิต จงอย่าทุกข์ใจ จงอย่ากังวลใจ จงเพ่งพิจารณาดูว่า “เราสามารถจะทำสิ่งใด ได้บ้าง?” แล้วจงลงมือทำ “ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง” และ เมื่อเราได้ทำ “อย่างเต็มที่ และ อย่างเต็มกำลัง” แล้ว ให้ปล่อยวาง จงอย่าทุกข์ใจ จงอย่ากังวลใจ ไปกับผล ที่จะเกิดขึ้น
 
๓. ปัญหาใดๆ ไม่ว่าจะใหญ่ หรือ น้อยนิด ถ้าเราได้เพ่งพิจารณา และ ไตร่ตรอง โดยรอบคอบ ด้วยความมีสติและมีสมาธิ เราจะพบ “ทางออกของปัญหา” เสมอ
 
๔. หลายๆปัญหา ที่เกิดขึ้นมาในชีวิต มักเกิดขึ้นมาจาก การคิดไปเอง และ การวิตกกังวลล่วงหน้าไปเอง
 
๕. ตั้งแต่เกิดมา จนถึงวันนี้ มีกี่ปัญหาแล้ว มีกี่เรื่องราวแล้ว และ มีกี่เหตุการณ์แล้ว ที่ผ่านเข้ามา ในชีวิต ทุกๆปัญหา ทุกๆเรื่องราว และ ทุกๆเหตุการณ์ เราสามารถ “ก้าวผ่านมันมาได้” มิใช่หรือ?
 
๖. “ปัญหา” จะกลับกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และ มีประโยชน์ ถ้าเรารู้จัก “เก็บเกี่ยวเอาประโยชน์” จากปัญหา

“คุณค่าประโยชน์ที่สำคัญของปัญหา คือ ช่วยทำให้เกิด การพัฒนากาย การพัฒนาจิต และ การพัฒนาสติปัญญา”

“ในทุกๆปัญหา มักมีสิ่งที่มีค่า แฝงอยู่เสมอ”

“ในทุกๆวิกฤต มักมีโอกาสดีๆ รออยู่เสมอ”
 
๗. จงอย่าทุกข์ใจ และ จงอย่ากังวลใจ ไปกับโลก และ สังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา

เพราะ ไม่มีประโยชน์อันใด 

การทำตน “เป็นคนแบกโลก และ แบกสังคม” ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร มากมายนัก

สิ่งที่เราควรทำ คือ

จงเพ่งพิจารณาดูว่า เราสามารถจะทำสิ่งใดได้บ้าง? เพื่อเกื้อกูลโลก และ เพื่อเกื้อกูลสังคม

แล้วจงลงมือทำ “ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง” ตามสมควร

และ จงเพ่งพิจารณาดูว่า เราควรจะปรับตัว และ ปรับใจ อย่างไร?

เพื่อทำให้เรา สามารถอยู่ในโลกและในสังคมได้ อย่างมีความสุข
 
๘. ถ้าหากจำเป็น ต้องทำการงานใดๆ ที่ยาก ที่เราไม่ชอบ หรือ ที่เราไม่ถนัด จงสร้างความยินดี (ฉันทะ) ในการทำการงานนั้น ให้เกิดขึ้น เป็นลำดับแรก แล้วก้าวเดินไป ตามหลัก “อิทธิบาท ๔”

การสร้างความยินดี (ฉันทะ) ในการทำการงาน คือ การเพ่งพิจารณาให้เห็นถึง “คุณค่าประโยชน์ของการงานนั้น” และ การเพ่งพิจารณาให้เห็นถึง “ผลเสียของการไม่ทำการงานนั้น”
 
๙. จงทำทุกๆอย่าง ตามสเต็ป ตามขั้นตอน ที่ควรจะเป็น จงอย่ารีบร้อน จงอย่าทุกข์ จงอย่าเครียด จงอย่าวิตกกังวล
 
๑๐. จงค่อยๆก้าวเดินไปข้างหน้า ตามกำลัง ตามสมควร ด้วยความมั่นคง ด้วยความมีสติ และ ด้วยความมีสมาธิ จงรู้พัก จงรู้เพียร
 
๑๑. ปัญหาใดๆ ถ้าเราคิดหาแนวทางแก้ไขไม่ได้ ให้หยุดพักไว้ก่อน หรือ ให้นอนพักก่อน จงอย่าทุกข์ใจ จงอย่าเครียด และ จงอย่าวิตกกังวลใจ เมื่อเราตื่นขึ้นมา เราจะพบทางออกที่ดี รอเราอยู่
 
๑๒. ปัญหาใดๆ ถ้าไม่สามารถจะทำสิ่งใดๆได้เลย ให้เพียงรับรู้ แล้วปล่อยวาง เพราะ ไม่มีประโยชน์อันใด ที่จะทุกข์ จะเครียด และ จะวิตกกังวลใจ
 
๑๓. จงปล่อยวางงานเอาไว้ ในที่ทำงาน จงอย่านำเอางาน กลับมาที่บ้าน จงทำงานให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง ในเวลางาน
 
๑๔. การกระทำใดๆ ต้องมีแผน ๒ รองรับเสมอ.. เมื่อทำวิธีที่ ๑ แล้ว ไม่ได้ผล ก็ให้เปลี่ยนไปใช้ วิธีที ๒
 
๑๕. จงทำ “วันนี้” ให้ดีกว่า “เมื่อวาน” ให้ได้ ในทุกๆวัน

จงลองคิดดูเถิดว่า ถ้าเราสามารถจะทำวันนี้ ให้ดีกว่าเมื่อวานได้ ในทุกๆวัน แล้ว
อีก ๕ ปี ข้างหน้า หรือ อีก ๑๐ ปี ข้างหน้า

ชีวิตของเรา จะดีขึ้น มากมายเท่าใด?

และ ความรู้ความสามารถของเรา จะเพิ่มพูน มากขึ้นเท่าใด?
 
๑๖. สิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่ามันยาก จริงๆแล้ว มันยาก ที่ก้าวแรก เท่านั้นเอง

จงเริ่มต้น ลงมือทำ อย่างจริงจัง

แล้วเราจะพบว่า มันไม่ยาก จนเกินความสามารถของเราเลย
 
๑๗. ความคิดเห็นที่แตกต่างของบุคคลอื่น อาจไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มันอาจเป็น “การมองที่ต่างมุม” ที่จะมาเติมเต็มให้กับเรา จนทำให้เรา สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และ ทำให้เรา สามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

จงให้ความเคารพ ในความคิดเห็นของผู้อื่น

จงนำเอาความคิดเห็นของผู้อื่น มาใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อการตัดสินใจ

จงอย่าด่วนสรุป จงอย่าด่วนตัดสิน

และ จงอย่ายึดมั่นถือมั่น ในความคิดเห็นของตน ว่าถูกต้อง แต่เพียงผู้เดียว
 
๑๘. ในโลกใบนี้ มีสิ่งที่น่าจะเรียนรู้ และ น่าจะทำ อยู่มากมาย หลายประการ แต่...ชีวิตของคนเรา มีอยู่จำกัด

ดังนั้น เราจึงควร เลือกที่จะเรียนรู้ และ เลือกที่จะทำ ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
๑๙. จงหยุดสร้างภาระ เข้ามาทับถมตน และ จงเริ่มต้น ทำชีวิต ให้ติดบวก
เพราะเหตุว่า “ชีวิตที่ติดลบ ย่อมมีความทุกข์ ความเครียด และ ความวิตกกังวล เป็นที่หมาย”

ฯลฯ ....
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 06 ตุลาคม 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:33:14 น.
Counter : 2451 Pageviews.  

29. การขจัด "ความทุกข์" ออกจากจิตใจ



การขจัด “ความทุกข์” ออกจากจิตใจของคนเรา

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ถึงแม้ว่า “ความทุกข์” จะเป็นสิ่งที่คนเรา ไม่ได้ปรารถนา

เพราะเหตุว่า

“ความทุกข์” ที่เกิดขึ้น ในจิตใจของคนเรา

โดยส่วนใหญ่แล้ว เกิดขึ้นจาก “ความหลงยึดมั่นถือมั่น ไปตามอำนาจของกิเลส หรือ อุปาทาน”

***************

อุปาทาน คือ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ดังเช่น

การได้ลาภ ชอบใจ เป็นสุข การไม่ได้ลาภ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์

การเสื่อมลาภ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์

การได้สรรเสริญ ชอบใจ เป็นสุข การไม่ได้สรรเสริญ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์

การได้รับการนินทา ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์

การได้ยศ ชอบใจ เป็นสุข การไม่ได้ยศ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์

การเสื่อมยศ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์

อาหารรสชาติอย่างนี้ อร่อย ชอบใจ ได้กินแล้ว เป็นสุข ไม่ได้กิน เป็นทุกข์

อาหารรสชาติอย่างนี้ ไม่อร่อย ไม่ชอบใจ ได้กินแล้ว เป็นทุกข์

เสียงอย่างนี้ ไพเราะ น่าฟัง ชอบใจ ได้ฟังแล้ว เป็นสุข ไม่ได้ฟัง เป็นทุกข์

เสียงอย่างนี้ ไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง ไม่ชอบใจ ได้ฟังแล้ว เป็นทุกข์

เขาทำอย่างนี้กับเรา เราชอบใจ เป็นสุข เขาไม่ทำอย่างนี้กับเรา เราไม่ชอบใจ เป็นทุกข์

เขาทำอย่างนี้กับเรา เราไม่ชอบใจ เป็นทุกข์ ฯลฯ

***************

การขจัด หรือ การชำระล้าง “อุปาทาน” ที่มีอยู่ในจิตใจของเรา

ไม่ว่าจะเป็น “อุปาทานที่ก่อให้เกิดสุข” หรือ “อุปาทานที่ก่อให้เกิดทุกข์”

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราต้องเพียรหมั่น “อบรมจิต” และ เราต้องเพียรหมั่น “อบรมปัญญา”

เพื่อทำให้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของความทุกข์ และ ความสุข

จนเกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้

หรือ จนเกิดปัญญา ล้าง “อุปาทาน”

หรือ จนเกิดปัญญา ล้าง “อวิชชา”

โดยอาจต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร

ขึ้นอยู่กับ "อุปาทาน" ที่แต่ละคน มีอยู่ มากน้อยแตกต่างกัน

***************

การขจัด “ความทุกข์” ออกจากจิตใจ มีแนวทาง ดังนี้

๑. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของ “ความทุกข์” หรือ “อารมณ์ทุกข์” ที่เกิดขึ้น ในจิตใจ ดังนี้

   ๑.๑ ความทุกข์ หรือ อารมณ์ทุกข์ เป็นสิ่งที่ มีความไม่เที่ยง และ มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา (อนิจจัง) ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่งร่วม (สังขาร) มันจะดับไปเอง ในเวลา ไม่นานนัก

   ๑.๒ ความทุกข์ หรือ อารมณ์ทุกข์ เป็นสิ่งที่ ไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ เพราะเหตุว่า มันมีโทษมาก มันเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย ด้วยโรคร้ายต่างๆ และ มันอาจทำให้คนเรา ฆ่าตัวตายได้ (ทุกขัง)

   ๑.๓ ความทุกข์ หรือ อารมณ์ทุกข์ เป็นสิ่งที่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน มันเป็นแค่เพียง สิ่งที่เกิดขึ้นจาก “อุปาทาน” ที่คนเรา มีอยู่แตกต่างกัน เท่านั้นเอง  เราสามารถจะทำให้มัน ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปได้ (อนัตตา)
 
๒. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควร “เป็นทุกข์” ดังนี้

เมื่อใดก็ตาม ที่มี “ความทุกข์” หรือ “อารมณ์ทุกข์” เกิดขึ้น ในจิตใจ

จงเพ่งพิจารณา ให้เห็น จนชัดแจ้งว่า

“ความทุกข์” หรือ “อารมณ์ทุกข์” ที่เกิดขึ้นนั้น

มันมีสาเหตุมาจากสิ่งใด? และ เราสามารถจะทำสิ่งใด ได้บ้าง?

แล้วจงลงมือทำ ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง ตามสมควร

และ เมื่อเราได้ลงมือทำ อย่างเต็มที่ และ อย่างเต็มกำลัง ตามสมควรแล้ว

ก็ให้ปล่อยวาง

จงอย่าทุกข์ใจ จงอย่ากังวลใจ ไปกับผล ที่มันจะเกิดขึ้น

เพราะ เราได้ทำอย่างเต็มที่ และ อย่างเต็มกำลัง ตามสมควรแล้ว

แต่ถ้าหากว่า เราไม่สามารถ จะทำสิ่งใดได้เลย ให้ปล่อยวางเสีย

เพราะ ไม่มีประโยชน์อันใด ทุกข์ใจไป เครียดไป และ วิตกกังวลไป ก็ไม่ได้ทำ ให้สิ่งใดๆ ดีขึ้นได้

***************

ตั้งแต่เราเกิดมา จนถึงบัดนี้

มีกี่เรื่องราวแล้ว มีกี่เหตุการณ์แล้ว และ มีกี่ปัญหาแล้ว

ที่ผ่านเข้ามา ในชีวิตของเรา

ทุกๆเรื่องราว ทุกๆเหตุการณ์ และ ทุกๆปัญหา

เราสามารถ “ก้าวผ่านมันมาได้” มิใช่หรือ?

***************

จงอย่ามัวทุกข์ใจ อยู่กับอดีต ที่มัน ผันผ่านไปแล้ว

จงอย่าได้กังวลใจ ไปกับอนาคต ที่มัน ยังมาไม่ถึง

จงทำวันนี้ ปัจจุบันนี้ ให้ดีที่สุด

แล้วอนาคต จะถูกจัดสรร ให้ดีเอง

***************

จงอย่าปล่อยให้ “ความทุกข์” ค้างคา อยู่ในจิตใจ

จงเพียรเพ่งพิจารณา ล้างออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 22 กันยายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:32:56 น.
Counter : 2360 Pageviews.  

28. ปล่อยวางสุข (โลกียสุข) ปล่อยวางทุกข์ เพื่อความพ้นทุกข์



อารมณ์สุข หรือ สุขเวทนา และ อารมณ์ทุกข์ หรือ ทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้น ภายในจิตใจของคนเรา

โดยส่วนใหญ่แล้ว

เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิต ไปตามอำนาจของกิเลส”

***************

การหลงใหลติดใจ และ การหลงยึดมั่นถือมั่น ใน “อารมณ์สุข และ อารมณ์ทุกข์”

ที่เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิต ไปตามอำนาจของกิเลส”

คือมูลเหตุของ ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัย ทั้งหลาย

***************

ถ้าต้องการจะทำความพ้นทุกข์

ต้องปล่อยวาง ทั้ง “อารมณ์สุข ละ อารมณ์ทุกข์”

ที่เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิต ไปตามอำนาจของกิเลส”

***************

การทำความปล่อยวาง “อารมณ์สุข และ อารมณ์ทุกข์”

ที่เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิต ไปตามอำนาจของกิเลส”

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราต้องเพียรหมั่น “อบรมจิต (สมถภาวนา)”

และ เราต้องเพียรหมั่น “อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)”

เพื่อทำให้เห็น ความจริงตามความเป็นจริง “จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ)”

ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)”

ของ “อารมณ์สุข และ อารมณ์ทุกข์” ที่เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิต ไปตามอำนาจของกิเลส”

จนเกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้

หรือ จนเกิด “ปัญญา” ล้างความหลงยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส (อุปาทาน)

หรือ จนเกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา

***************

การเพียรหมั่น “อบรมจิต (สมถภาวนา)”

และ การเพียรหมั่น “อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)”

เพื่อทำให้เห็น ความจริงตามความเป็นจริง “จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ)”

ในความเป็น "อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)"

ของ “อารมณ์สุข และ อารมณ์ทุกข์”

ที่เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิต ไปตามอำนาจของกิเลส”

คือ การพิจารณา “เวทนาในเวทนา” อันเป็น ๑ ใน สติปัฏฐาน ๔

***************

การพิจารณา “เวทนาในเวทนา”

เป็นการทำความมีสติ เพื่อไม่ให้เผลอสติ หลงไปปรุงแต่ง (สังขาร) ตามอำนาจของกิเลส                  

โดยการเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง "จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ)"

ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)

ของ "อารมณ์สุขเวทนา และ อารมณ์ทุกขเวทนา"

ที่เกิดขึ้นจาก “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิต ไปตามอำนาจของกิเลส”

จนเกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้

***************

การอบรมจิต หรือ สมถภาวนา หมายถึง การฝึกฝืนจิต การกดข่มจิต เพื่อไม่ปล่อยให้จิต ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของ กิเลส เป็นการพยายาม ระงับ ดับกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้น ภายในจิต

การอบรมปัญญา หรือ วิปัสสนาภาวนา หมายถึง การเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ หรือ เพื่อทำให้เกิด “ปัญญา (ในทางธรรม)” ล้างอวิชชา

โยนิโสมนสิการ หมายถึง การทำในใจให้แยบคาย
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 15 กันยายน 2562    
Last Update : 15 มีนาคม 2565 7:12:00 น.
Counter : 2268 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.