"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

37. โสดาบัน...การทำศีลให้บริบูรณ์ ตอนที่ ๑



ในเบื้องต้น

เราต้องกำหนดตั้งศีลขึ้นมาก่อน

เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ ให้บริบูรณ์

หรือ เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ

***************

“ศีล” คือ สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติให้เป็น “ปกติ” หรือ เพื่อยึดถือปฏิบัติให้เป็น “นิสัย” (ปกติวิสัย)

“ศีล” คือ สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา “เพื่อขัดเกลา” หรือ “เพื่อชำระล้าง” กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

***************

การกำหนดตั้งศีล ที่สูงกว่าศีล ๕ (อธิศีล)

ต้องนำเอากิเลสในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด
 
มากำหนดตั้งให้เป็นศีล เพื่อทำให้ศีล สูงขึ้นโดยลำดับ (อธิศีล)
 
การปฏิบัติศีล ที่สูงขึ้นโดยลำดับ

จะทำให้เกิด “การเคลื่อนที่ไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ สู่ความพ้นทุกข์”

***************

สิ่งที่ผู้ปรารถนา จะบรรลุพระโสดาบัน

ต้องนำมากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล

เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ ให้บริบูรณ์ คือ


๑. ศีล ๕ ที่ยังไม่บริบูรณ์ หรือ ศีล ๕ ที่ยังไม่เป็นปกติของตน

๒. กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ ที่เป็นเหตุให้เกิด มิจฉากัมมันตะ มิจฉาวาจา และ มิจฉาอาชีวะ ได้แก่

   
 ๒.๑ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ที่มากมายเกินความจำเป็นของชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด มิจฉากัมมันตะ มิจฉาวาจา และ มิจฉาอาชีวะ (โลภะ)

     ๒.๒ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความพยาบาท ความอาฆาตแค้น (โทสะ)

     ๒.๓ ความหลงใหลติดใจในกามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส ที่มีมากมาย จนเป็นเหตุให้เกิด มิจฉากัมมันตะ มิจฉาวาจา และ มิจฉาอาชีวะ (โมหะ)

     ๒.๔ ความทุกข์ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ (โมหะ)

     ๒.๕ ความหลงใหล และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ใน ลาภ ยศ และ สรรเสริญ (โมหะ)
     
     ๒.๖ ความหลงใหล ความห่วงหวง และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ใน ทรัพย์สมบัติทางโลก (โมหะ)

     ฯลฯ
 

***************

ศีล (สก. ศีล มค. สีล) น. ความเคย, นิสัย, ความประพฤติองค์แห่งจรรยา, ข้อบัญญัติสำหรับความประพฤติ, บัญญัติทางพระพุทธศาสนา, ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นปรกติ หมายถึง ความประพฤติกายและวาจาให้สุภาพเรียบร้อยเพื่อรักษาสันติสุขแห่งประชุมชน, ศีลในพระพุทธศาสนา

อธิ (มค. อธิ) คำใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น แปลว่า พ้น, เหนือ, ทับ, ยิ่ง, เจริญ, เช่น อธิราช = พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าราชาอื่นๆ


*** ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร 

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 05 มกราคม 2563    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2563 2:45:04 น.
Counter : 2277 Pageviews.  

36. โสดาบัน...สิ่งที่ควรทำให้ได้ ในชาตินี้


 

สิ่งที่คนเรา “ควรทำให้ได้ ในชาตินี้” คือ “พระโสดาบัน”


เพราะ


พระโสดาบัน คือ ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา


แล้วทำอย่างไร? จึงจะบรรลุพระโสดาบัน


***************

[๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ พึงเป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันตรัสรู้เป็นเบื้องหน้าเถิด ดังนี้

ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรม เครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

...จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (๖. อากังเขยยสูตร ว่าด้วยข้อที่พึงหวังได้ ๑๗ อย่าง)
 

“พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล” หมายถึง ต้องเป็นผู้เพียรกระทำศีล ให้บริบูรณ์ หรือ ต้องเป็นผู้เพียรกระทำศีล ให้เป็นปกติ (ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)
 

“หมั่นประกอบธรรม เครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง” หมายถึง ต้องเพียรหมั่น “ทำจิตให้ตั้งมั่นให้เป็นสมาธิ” หรือ ต้องเพียรหมั่น “เจริญสมถภาวนา” ร่วมด้วย เพื่อระงับจิตของตน (หมั่นอบรมจิต ร่วมด้วย)

“ประกอบด้วย วิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร” หมายถึง ต้องเจริญ “วิปัสสนาภาวนา” ร่วมด้วย เพื่อทำให้เกิดปัญญา ละสังโยชน์ ๓ ได้ (อบรมปัญญา ร่วมด้วย)
 

สุญญาคาร หมายถึง เรือนว่าง (ทำจิตใจให้ว่างจากกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน)
 

ผู้ที่ต้องการจะบรรลุพระโสดาบัน ต้อง “ปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้เกิดการละสังโยชน์ ๓ ได้ หรือ ให้เกิดการพ้นสังโยชน์ ๓”
 

สังโยชน์ ๓ หมายถึง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส
 

****************
 

สังโยชน์ (บาลี: samyojana) หมายถึง กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือ กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี ๑๐ ประการ แบ่งเป็น ๒ หมวด ดังนี้
 

หมวด ๑ โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ


๑. สักกายทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นว่า “กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน” เป็นตัวเป็นตนของตน
 

๒. วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัย ใน “กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน”


๓. สีลัพพตปรามาส หมายถึง การยึดถือปฏิบัติศีลแบบลูบคลำ หรือ การยึดถือปฏิบัติศีลที่ไม่เกิดมรรคผล


๔. กามราคะ หมายถึง ความกำหนัดยินดี ในกามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส


๕. ปฏิฆะ หมายถึง ความขัดใจ ความคับแค้นใจ ความกระทบกระทั่งแห่งจิตใจ


หมวด ๒ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง
 

๖. รูปราคะ หมายถึง ความกำหนัดยินดี ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยรูปในจิต


๗. อรูปราคะ หมายถึง ความกำหนัดยินดี ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูป


๘. มานะ หมายถึง ความถือตัวถือตนเป็นใหญ่


๙. อุทธัจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน


๑๐. อวิชชา หมายถึง ความหลงยึดมั่นถือมั่นในจิต และ เจตสิก


***************


การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา”


ต้องปฏิบัติ ให้สอดร้อยเกี่ยวเนื่องกันไป (ไม่แยกปฏิบัติ)


จึงจะเกิดมรรคผลเป็น “การละสังโยชน์ ” ได้


หรือ จึงจะเกิดมรรคผลเป็น “ศีลอันบริบูรณ์”


***************


ผู้ที่บรรลุพระโสดาบันแล้ว ชื่อว่า “ผู้สร้างหลักประกันให้กับชีวิต ในชาติต่อๆไป แล้ว”


เพราะ


พระโสดาบัน คือ ผู้ปิดประตูอบายแล้ว


ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 01 มกราคม 2563    
Last Update : 1 มกราคม 2563 8:16:18 น.
Counter : 2337 Pageviews.  

35. จงเพียรหมั่นเก็บเกี่ยวบุญ และ เก็บเกี่ยวกุศล



“กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม”

“ชีวิตนี้ น้อยนัก ชีวิตนี้ สั้นนัก ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน”

“บุคคลที่เกิดมาแล้ว ไม่ตาย ไม่มี”

“การตายของคนเรา คือการเปลี่ยนภพภูมิเปลี่ยนภูมิ ตามกรรมตามวิบาก ตามระยะเวลาอันควร เท่านั้นเอง”

***************

ถ้าหากเรา ต้องการจะทำให้ “การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิของเรา” เป็นไปในทิศทาง ที่สูงขึ้น หรือ เจริญขึ้น

เราต้องเพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวบุญ” และ เราต้องเพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวกุศล”

จากบุคคลรอบๆข้าง และ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

***************


การเพียรหมั่นเก็บเกี่ยวบุญ หมายถึง การเพียรหมั่น ชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และ ความหลง (โมหะ) ออกจากจิตใจ ดังนี้

1. เมื่อมีผู้ใด สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา เกิดความอยากได้ อยากมี หรือ อยากเป็น ในสิ่งที่มากมาย เกินความจำเป็นของชีวิต (โลภะ) จงเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา ล้าง “ความอยากได้ อยากมี หรือ อยากเป็น” นั้น ออกไปจากจิตใจ ให้หมดสิ้น จงอย่าปล่อยให้มัน ค้างคาอยู่ในจิตใจ

2. เมื่อมีผู้ใด สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ อึดอัดขัดเคืองใจ หรือ โกรธ (โทสะ) จงเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา ชำระล้าง “ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ ความอึดอัดขัดเคืองใจ หรือ ความโกรธ “ นั้น ออกไปจากจิตใจ ให้หมดสิ้น จงอย่าปล่อยให้มัน ค้างคาอยู่ในจิตใจ

3. เมื่อมีผู้ใด สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา หลงใหลติดใจ หรือ หลงยึดมั่นถือมั่น เป็นความชอบใจ เป็นความไม่ชอบใจ เป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นความเครียด เป็นความวิตกกังวลใจ เป็นตัวเป็นตนของตน (โมหะ) จงเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา ล้าง “ความหลงใหลติดใจ หรือ ความหลงยึดมั่นถือมั่น” นั้น ออกไปจากจิตใจ ให้หมดสิ้น จงอย่าปล่อยให้มัน ค้างคาอยู่ในจิตใจ

*****************

การเพียรหมั่นเก็บเกี่ยวกุศล หมายถึง การเพียรหมั่น "กระทำความดี (กุศลกรรม)" ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ เพื่อสั่งสม “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก” ดังนี้

1. จงเพียรหมั่น เจริญจิตเมตตา อันประกอบด้วยปัญญา

2. จงให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ตามกำลัง ตามสมควร โดยไม่ทำให้ตนและคนอื่น ต้องเดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ 
   
     หมายเหตุ :

  • การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองก็ได้ เราอาจใช้กำลังกาย หรือ กำลังสติปัญญา ก็ได้
  • การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ที่มากจนเกินไป อาจเป็นการทำร้ายผู้ที่เราให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ในการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น สัตว์อื่น เราต้องทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้งว่า
          “สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม”
          “ไม่มีใคร ที่จะช่วยให้ใคร พ้นทุกข์ได้”
          “ตนของตนเท่านั้น ที่จะช่วยให้ตน พ้นทุกข์ได้”
          “การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะมากเท่าใด ก็มีผลแค่เพียง “ช่วยให้เขาบรรเทาทุกข์ลง” เท่านั้นเอง ไม่อาจจะช่วยให้เขา พ้นจากทุกข์ไปได้”


3. จงเพียรหมั่น ทำวัตถุทาน ตามกำลัง ตามสมควร โดยไม่ทำให้ตนและคนอื่น ต้องเดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ

4. จงเพียรหมั่น ทำอภัยทาน หรือ ทำอโหสิกรรม

5. จงเพียรพยายาม ปรับเปลี่ยน การคิดที่ไม่ดี การพูดที่ไม่ดี และ การกระทำที่ไม่ดี (พฤติกรรมที่ไม่ดี) ให้เป็น การคิดที่ดี การพูดที่ดี และ การกระทำที่ดี (พฤติกรรมที่ดี) เพราะ การคิดที่ไม่ดี การพูดที่ไม่ดี และ การกระทำที่ไม่ดี (พฤติกรรมที่ไม่ดี) จะนำพาสิ่งที่ไม่ดี เข้ามาในชีวิต

6. จงคิดดี พูดดี และ กระทำดี ให้ติดเป็นนิสัย เพราะ การคิดดี พูดดี และ กระทำดี จนติดเป็นนิสัย จะทำให้มีแต่สิ่งดีๆ หมุนเวียนเข้ามาในชีวิต อย่างต่อเนื่อง

***************

ชีวิตนี้ น้อยนัก

ชีวิตนี้ สั้นนัก

ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน

ขอพวกเรา จงเพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวบุญ” และ จงเพียรหมั่น “เก็บเกี่ยวกุศล” จากบุคคลรอบๆข้าง และ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ “การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ” ของเรา

***************

บุญ (บาลี: ปุญฺญ; สันสกฤต: ปุณฺย) หมายถึง เครื่องชำระสันดาน, เครื่องชำระสิ่งเศร้าหมองในจิตใจ, เครื่องชำระจิตใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์

สิ่งเศร้าหมองในจิตใจ หมายถึง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง

การชำระจิตใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ หมายถึง การชำระล้าง หรือ การขัดเกลา กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2562    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2564 15:23:59 น.
Counter : 2578 Pageviews.  

34. จงใช้วันเวลาของชีวิต ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต



คนส่วนใหญ่ ใช้วันเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เพื่อประกอบอาชีพ เลี้ยงชีพตน โดยไม่มีผลเป็น “คุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต” ในชาติต่อๆไป

คนส่วนใหญ่ ใช้วันเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เพื่อแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุข ซึ่งมีความไม่เที่ยง และ มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา และ ไม่มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ในชาติต่อๆไป

คนส่วนใหญ่ ใช้วันเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เพื่อสั่งสมทรัพย์สินเงินทอง และ ทรัพย์สมบัติในทางโลกทั้งหลาย ซึ่งไม่อาจจะนำพา ข้ามภพข้ามชาติ ไปกับตนได้ และ ไม่มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ในชาติต่อๆไป

“มีน้อยคนนัก ที่จะใช้วันเวลาของชีวิต อย่างมีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป”

***************

บุคคลผู้ใช้วันเวลาของชีวิต อย่างมีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต คือ บุคคลผู้ใช้วันเวลาของชีวิต เพื่อกระทำในสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ


๑. ใช้วันเวลาของชีวิต เพื่อประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อเลี้ยงชีพตน โดยมีผลเป็น  คุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

๒. ใช้วันเวลาของชีวิต เพื่อสั่งสมวิบากกรรมดี และ สั่งสมอริยทรัพย์ ซึ่งสามารถจะนำพา ข้ามภพข้ามชาติ ไปกับตนได้ และ มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

๓. ใช้วันเวลาของชีวิต เพื่อเรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ และ เรียนรู้วิธีการดับทุกข์ ซึ่งมีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

๔. ใช้วันเวลาของชีวิต เพื่อทำความดับทุกข์ ซึ่งมีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

***************

สัมมาอาชีพ หมายถึง อาชีพที่มีส่วนของบุญและกุศล ไม่ส่วนของบาปและอกุศล

สัมมาอาชีพ เป็นอาชีพที่พ้นจาก "มิจฉาวณิชา ๕" และ พ้นจาก "มิจฉาอาชีวะ ๕"


มิจฉาวณิชา ๕ หมายถึง การค้าขายที่ผิด หรือ การค้าขายที่ไม่ชอบธรรม ๕ ประการ คือ 

๑. การค้าขายเครื่องประหารมนุษย์และสัตว์ 

๒. การค้าขายมนุษย์ไปเป็นทาส 

๓. การค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร 

๔. การค้าขายน้ำเมา 

๕. การค้าขายยาพิษ 
 

มิจฉาอาชีวะ ๕ หมายถึง การเลี้ยงชีพที่มิชอบ หรือ การแสวงหาปัจจัยมาบริโภคที่มิชอบ ๕ ประการ คือ

๑. การโกง (กุหนา)

๒. การล่อลวง (ลปนา) 

๓. การตลบตะแลง (เนมิตติกา)

๔. การยอมมอบตนในทางผิด (นิปเปสิกตา) 

๕. การเอาลาภต่อลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคึสนตา)
 
***************


อริยทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์อันประเสริฐ ที่สามารถนำข้ามภพข้ามชาติ ไปกับเราได้ มี ๗ ประการ คือ

๑. ศรัทธา คือ ความเป็นผู้มีความเชื่อ มีความศรัทธา ในธรรม อันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์

๒. ศีล คือ ความเป็นผู้มีศีล เป็นปกติของตน

๓. หิริ คือ ความเป็นผู้มีความละอายแก่ใจ ในการกระทำสิ่งที่ไม่ดี หรือ อกุศลกรรม

๔. โอตตัปปะ คือ ความเป็นผู้มีความเกรงกลัว ต่อผลของการกระทำสิ่งที่ไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก

๕. พาหุสัจจะ คือ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมากในธรรม อันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์

๖. จาคะ คือ ความเป็นผู้มีการให้ การสละ การแบ่งปัน เป็นปกติของตน

๗. ปัญญา คือ ความเป็นผู้มีปัญญาในทางธรรม ที่จะนำพาตนไปสู่ความพ้นทุกข์
 
ปัญญาในทางธรรม เป็นปัญญาที่เกิดจาก “การเจริญวิปัสสนาภาวนา”
 
***************


การทำความดับทุกข์ หมายถึง การปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ ๓” หรือ การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘”

โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ประกอบด้วย

๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก(วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
 
๒. การหมั่นทำกุศลทั้งหลาย ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การหมั่นสร้างกุศลวิบาก(วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
 
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล (มูลเหตุของอกุศล) ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
 
การปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ ๓” คือ การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” โดยใช้ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ขับเคลื่อน

***************

ชีวิตนี้ น้อยนัก

ชีวิตนี้ สั้นนัก

ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน


ขอพวกเรา จงอย่าประมาท ในการใช้ชีวิต

ขอพวกเรา จงอย่าประมาทว่า “ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่”

ขอพวกเรา จงใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

ขอพวกเรา จงอย่าปล่อยให้วันเวลาของชีวิต ล่วงผ่านพ้นไป โดยเปล่าดาย

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2562    
Last Update : 1 ธันวาคม 2562 7:35:50 น.
Counter : 2654 Pageviews.  

33. ทำความเข้าใจ ความเกิดแห่งทุกข์ และ ความดับแห่งทุกข์ ให้ชัดแจ้ง


 

[๑๐๖] “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง ความเกิดและความดับแห่งทุกข์
เธอทั้งหลาย จงฟัง

ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
 
คือ เพราะอาศัย จักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด
ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด
ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ
 
เพราะอาศัย ชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด
ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด
ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ
 

*** (ละในส่วนของ ฆานะ... โสตะ... และ กาย...)
 
เพราะอาศัย มโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด
ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด
ความเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล
            

ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร

คือ เพราะอาศัย จักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด
ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด
เพราะตัณหานั้นแล ดับไม่เหลือ ด้วยวิราคะ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติ (ความเกิด) จึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และ อุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ ด้วยประการฉะนี้
ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ

เพราะอาศัย ชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด
ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด
เพราะตัณหานั้นแล ดับไม่เหลือ ด้วยวิราคะ อุปาทานจึงดับ
เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ
***(ละในส่วนของ เพราะภพดับ...จนถึง...และ อุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงดับ)
ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล ฯลฯ”
 

*** (ละในส่วนของ ฆานะ... โสตะ... และ กาย...)
 
เพราะอาศัย มโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด
ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด
เพราะตัณหานั้นแล ดับไม่เหลือ ด้วยวิราคะ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ ด้วยประการฉะนี้
 
ภิกษุทั้งหลาย ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้แล

*** จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (๓. ทุกขสมุทยสูตร ว่าด้วยความเกิดแห่งทุกข์)

***************

ความทุกข์ เกิดขึ้นจาก ความหลงใหลติดใจ และ ความหลงยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์สุขเวทนา อันเกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และ ธรรมารมณ์ (อวิชชา) จนเกิด ความกำหนัด ความยินดี (ราคะ)

การทำความดับทุกข์ คือ การทำให้เกิด “วิราคะ” หรือ การทำให้เกิด “ความปราศจากราคะ”

วิราคะ หมายถึง ความคลายกำหนัด ความหน่าย ความไม่ยินดี ความไม่ไยดี ความไม่พึงใจ ในอารมณ์สุขเวทนา อันเป็น “เคหสิตเวทนา”

อารมณ์สุขเวทนา อันเป็น เคหสิตเวทนา หมายถึง อารมณ์สุขเวทนา อันเกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และ ธรรมารมณ์

การดับของ “อารมณ์สุขเวทนา อันเป็น เคหสิตเวทนา” จะทำให้เกิด “อุเบกขาเวทนา อันเป็น เนกขัมมสิตเวทนา”

***************

เพราะเกิดวิราคะ ตัณหาจึงดับ

เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงดับ

***************


การทำความดับทุกข์ หมายถึง การเพียรหมั่น “อบรมจิต (สมถภาวนา)” และ การเพียรหมั่น “อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” เพื่อทำให้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของสิ่งที่เราหลงใหลติดใจ และ หลงยึดมั่นถือมั่น จนเกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้

(เป็นการทำให้เกิด “ปัญญา” ล้าง “อวิชชา” หรือ เป็นการทำให้เกิด “วิราคะ”)

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2562    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2562 10:25:12 น.
Counter : 2611 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.