"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

17. จงเพียรหมั่นอบรมจิต และ อบรมปัญญา ให้ติดเป็นนิสัย



"จงเพียรหมั่นอบรมจิต และ อบรมปัญญา ให้ติดเป็นนิสัย"

     ภารกิจที่สำคัญที่สุด สำหรับชีวิต คือ
     การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน
     ซึ่งเป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
     เพื่อทำให้จิตใจ สะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส ผ่องแผ้ว

***************

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ต้องชำระล้างออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น ได้แก่


     1. ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ที่มากมายเกินความจำเป็นของชีวิต (ความโลภ)
     2. ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาท ความอาฆาตแค้น (ความโกรธ)
     3. ความหลงยึดมั่นถือมั่น ในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในทุกข์ ในจิต ในเจตสิกทั้งหลาย (ความหลง)

***************

วิธีการชำระล้าง (ขัดเกลา) กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น คือ
การเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา)
และ การเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)

***************

การอบรมจิต และ การอบรมปัญญา
ต้องทำให้ติดเป็นนิสัย
จึงจะเกิดผลเป็น การลดลง การจางคลายลง และ การดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน โดยลำดับ

***************

การอบรมจิต และ การอบรมปัญญา ให้ติดเป็นนิสัย มีวิธีการ ดังนี้

1. เมื่อใดก็ตาม ที่มีความโลภ ความโกรธ และ ความหลง เกิดขึ้นในจิต
    จงเพียรพยายาม ทำจิตให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ”
    จงพยายามอย่าปล่อยให้จิต ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต
    เพื่อทำความระงับ ดับความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต
    เป็นการทำความมีสติ เพื่อรับรู้การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป โดยไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ตาม

2. จงเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งถึง ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) ของความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต หรือ ที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในจิต เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ ดังนี้
     1.1 ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง...เป็นสิ่งที่ ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ได้ เพราะเหตุว่า มันมีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา (อนิจจัง) ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่ง (สังขาร) ร่วม มันจะดับลงไปเอง ในเวลา ไม่นานนัก
     1.2 ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง...เป็นสิ่งที่ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ เพราะเหตุว่า มันเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ โทษ และ ภัยทั้งหลาย
     1.3 ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง...เป็นสิ่งที่ สามารถทำให้ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้ (อนัตตา) เพราะเหตุว่า มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน มันเป็นแค่เพียงอุปาทาน ที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย เท่านั้นเอง

3. จงเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งว่า “จริงๆแล้ว เราไม่ควรโลภ เราไม่ควรโกรธ และ เราไม่ควรหลง” เพื่อล้างความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ออกจากจิตใจ (จงอย่าปล่อยให้ค้างคาไว้ ในจิตใจ)

4. จงเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ตามดู ตามรู้ และ ตามเห็น ความลดลง ความจางคลายลง และ ความดับสิ้นไป ของความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ภายในจิต เพื่อให้เห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย หรือ เพื่อให้เห็น “ความชนะ ในความแพ้” เพื่อทำให้เกิด “พลัง” ในการปฏิบัติต่อไป

***************

ผลดีของการอบรมจิต และ การอบรมปัญญา อย่างต่อเนื่อง จนติดเป็นนิสัย ยาวนานกว่า 20 ปี มีดังนี้


     1. เกิดสัมมาทิฏฐิ หรือ ปัญญาในทางธรรม มากขึ้น โดยลำดับ
     2. ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป
     3. กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป โดยลำดับ
     4. ได้รับความสุขสงบ มากขึ้น โดยลำดับ
     5. มีสิ่งดีๆ หมุนเวียนเข้ามาในชีวิต อย่างต่อเนื่อง

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:28:59 น.
Counter : 2543 Pageviews.  

16. จงเพียรหมั่น ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต


"จงเพียรหมั่น ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต เพื่อความผาสุกของชีวิต"

เพราะเหตุว่า

ชีวิตของคนเราและสัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ ในอดีต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติก่อนๆ

“กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม”

กรรมดี (กุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมดี (กุศลวิบาก) ได้แก่ การได้ประสบกับความสุข การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ การได้ห่างไกลจากความทุกข์ การได้ห่างไกลจากโทษ การได้ห่างไกลจากภัย การได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้อื่น และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย

กรรมไม่ดี (อกุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก) ได้แก่ การได้ประสบกับ ความทุกข์ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การได้รับโทษ การได้รับภัย และ การได้รับ หรือ การได้ประสบกับ สิ่งที่ไม่ ดีทั้งหลาย

ดังนั้น เพื่อความผาสุกของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป เราจึงต้อง “แก้กรรม” โดยการไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ และ เพียรหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

และ เพราะเหตุว่า

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ และ บงการจิตใจของคนเราอยู่ คือมูลเหตุสำตัญ ที่ทำให้คนเรา ต้องทำกรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม (อกุศลมูล)

ดังนั้น เพื่อความพ้นทุกข์ เราจึงต้อง ชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจอยู่ ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น เพื่อทำให้จิตใจ สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส

***************

ภารกิจที่สำคัญสำหรับชีวิต ๓ ประการ หรือ โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ประกอบด้วย

๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก(วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๒. การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การเพียรหมั่นสร้างกุศลวิบาก(วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การเพียรหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล (มูลเหตุของอกุศล) ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

***************

ถ้าเราต้องการจะทำให้ชีวิตของเรา มีความผาสุก ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

และ ถ้าเราต้องการจะทำให้ตัวเรา “พ้นทุกข์”

เราต้องเพียรหมั่น ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต ทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว

***************

จริงๆแล้ว การปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต ทั้ง ๓ ประการ เป็นการปฏิบัติไปตามแนวทาง หรือ เป็นการเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” อันเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ นั่นเอง คือ

เป็นการปรับเปลี่ยน การคิด การพูด การกระทำ และ การประกอบอาชีพ ที่ยังไม่เป็นสัมมา (ที่ยังเป็นอกุศลกรรม) ให้เป็นสัมมา (ให้เป็นกุศลกรรม)

และ เป็นการสร้างความเห็นที่ถูก ที่ตรง ที่ไม่หลงเห็นผิดไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน (สร้างสัมมาทิฏฐิ) หรือ เป็นการสร้างปัญญาในทางธรรม ด้วยการชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจอยู่ ออกจากจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ (สร้างปัญญา ล้างอวิชชา)

การปรับเปลี่ยน การคิด การพูด การกระทำ และ การประกอบอาชีพ ให้เป็นสัมมา และ การสร้างสัมมาทิฏฐิ หรือ การสร้างปัญญาในทางธรรม ต้องอาศัย ความเพียรที่เป็นสัมมา สติที่เป็นสัมมา และ สมาธิที่เป็นสัมมา

***************

การชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ออกจากจิตใจ

เพื่อทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์

เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำหรับชีวิต

เพราะเหตุว่า กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือมูลเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย

***************

การชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ออกจากจิตใจ

เพื่อทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราต้องใช้ความเพียรพยายามค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร

โดยต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ ต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ให้ติดเป็นนิสัย

เพื่อทำให้กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป (ทำให้เกิดการละหน่ายคลาย และ ปล่อยวางได้)

***************

การอบรมจิต (สมถภาวนา) หมายถึง การฝึกฝืนจิต การกดข่มจิต การพยายามไม่ปล่อยให้จิต ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต เป็นการพยายามระงับดับกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่กำลังเกิดขึ้นในจิต โดยการทำจิต ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้เป็นสมาธิ

การอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) หมายถึง การเพียรหมั่น เพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งถึง ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) ของ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้นในจิต เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (เป็นการทำให้เกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา)

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 21 เมษายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:28:40 น.
Counter : 2439 Pageviews.  

15. จงใช้วันเวลาของชีวิต ให้มีคุณค่าต่อชีวิต



“จงใช้วันเวลาของชีวิต ให้มีคุณค่าต่อชีวิต”

“การเกิดมา และ การตายจากไป เป็นธรรมดาของชีวิต ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสาร”

“บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ไม่ตาย ไม่มี”

“การตายจากโลกนี้ไป เป็นแค่เพียง การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ตามกรรมตามวิบาก ตามเวลาอันควร เท่านั้นเอง”

***************

การได้เกิดมาเป็นคน (มนุษย์) เป็นสิ่งที่ "ประเสริฐยิ่ง"

เพราะเหตุว่า

๑. สามารถปรับเปลี่ยนกรรมของตนเองได้ หรือ แก้กรรมของตนเองได้ หรือ ลิขิตกรรมของตนเองได้

๒. สามารถทำความพ้นทุกข์ (ดับทุกข์) ได้

เมื่อได้เกิดมาเป็นคนแล้ว

จงอย่าปล่อยให้วันเวลาของชีวิต ผ่านพ้นไป โดยไร้ค่า

จงใช้วันเวลาของชีวิต ให้มีคุณค่าต่อชีวิต

ด้วยการเพียรหมั่น ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของชีวิต (โอวาทปาฏิโมกข์ ๓)

เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป

***************

การได้เกิดมาเป็นคน แล้วตายจากโลกนี้ไป โดยไม่ได้ปฏิบัติ

ภารกิจที่สำคัญของชีวิต ๓ ประการ คือ

๑. ละบาปอกุศลทั้งปวง

๒. ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

๓. พัฒนาจิต ขัดเกลาจิต ขัดเกลากิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิต เพื่อทำให้จิต สะอาดบริสุทธิ์

เป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

เพราะเหตุว่า สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่จะนำพาชีวิต

ไปสู่ความผาสุก

ไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น

ไปสู่ความพ้นทุกข์

และ ไปสู่ความสุขสงบ หรือ พระนิพพาน

***************

ผู้ที่เกิดมาแล้ว

ปล่อยให้ชีวิต ไหลเลื่อนไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน

ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ครอบงำจิต และ บงการจิต

ไม่เพียรหมั่นทำความพ้นทุกข์

ไม่เพียรหมั่นทำจิต ให้สุขสงบ

ไม่เพียรหมั่นละบาปอกุศลทั้งปวง

ไม่เพียรหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

และ ไม่เพียรหมั่นพัฒนาจิต ขัดเกลาจิต ขัดเกลากิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิต เพื่อทำให้จิต สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

ชื่อว่า “ผู้เสียโอกาส ที่ได้โอกาส เกิดมาเป็นคน”

***************

ผู้ที่เกิดมาแล้ว

มีความเพียรหมั่นทำความพ้นทุกข์

มีความเพียรหมั่นทำจิต ให้สุขสงบ

มีความเพียรหมั่นละบาปอกุศลทั้งปวง

มีความเพียรหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

และ มีความเพียรหมั่นพัฒนาจิต ขัดเกลาจิต ขัดเกลากิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิต เพื่อทำให้จิต สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

ชื่อว่า “ผู้ไม่เสียโอกาส ที่ได้โอกาส เกิดมาเป็นคน”

หรือ ชื่อว่า “ผู้สร้างหลักประกันให้กับชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป”

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 07 เมษายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:28:22 น.
Counter : 2582 Pageviews.  

14. จงอย่าทุกข์ใจ ไปกับโลกและสังคม จนเกินควร




โลกและสังคมของเรา
ได้ถูกขับเคลื่อน ให้แปรเปลี่ยนไป
ด้วยแรงแห่ง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ของแต่ละคน ที่อาศัยอยู่ในโลก และ ในสังคม
มุ่งหน้าไปสู่ ความเสื่อม โทรมทรุด เดือดร้อน วุ่นวาย และ เลวร้าย มากขึ้น เป็นธรรมดา

 
มีน้อยคนนัก ที่จะมุ่งมั่น ชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจาก จิตใจ ของตน
จนมีผล ฉุดรั้งโลก และ ฉุดรั้งสังคม เอาไว้ได้
 

ดังนั้น จงอย่าทุกข์ใจ จงอย่ากังวลใจ ไปกับโลกและสังคม จนเกินควร
จงเพ่งพิจารณาดูว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน
เราสามารถจะช่วยเหลือโลก และ ช่วยเหลือสังคม อย่างไรได้บ้าง?
แล้วจงลงมือทำ ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง ตามสมควร
เพื่อเก็บเกี่ยวบุญ และ เก็บเกี่ยวกุศล จากโลกและสังคม
 

การปรับเปลี่ยนโลก และ ปรับเปลี่ยนสังคม เป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก
ไม่มีใคร ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนโลกและสังคม ให้ดีขึ้นได้ อย่างยั่งยืนถาวร
สิ่งที่สามารถจะทำได้ คือ ชลอการเปลี่ยนแปลง ให้ช้าลง
 

ภารกิจที่สำคัญ ที่พวกเราควรกระทำ คือ
การเพียรหมั่นศึกษาธรรม และ การเพียรหมั่นประพฤติธรรม
หรือ การเพียรหมั่นปรับเปลี่ยนจิตใจของตน
เพื่อความพ้นทุกข์
เพื่อความสุขสงบ
และ เพื่อให้พวกเรา สามารถจะอยู่ในโลกและสังคมได้ อย่างมีความสุข
โดยไม่ต้องทุกข์ใจ และ ไม่ต้องเร่าร้อนใจ ไปกับโลกและสังคม
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 05 เมษายน 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:28:04 น.
Counter : 2306 Pageviews.  

13. บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ไม่ตาย ไม่มี



 

 
“บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ไม่ตาย ไม่มี”
 
การตายของคนเรา คือ การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ตามกรรม ตามวิบาก ตามเวลาอันควร เท่านั้นเอง
 
การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิของคนเรา ขึ้นอยู่กับ ปริมาณของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ ก่อนตาย
 
การเกิดมาและการตายจากไปของคนเรา โดยทั่วๆไปแล้ว มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ
 
๑. มาดี ไปดี
 
๒. มาดี ไปไม่ดี
 
๓. มาไม่ดี ไปดี
 
๔. มาไม่ดี ไปไม่ดี
 
มาดี หมายถึง เกิดมาเพื่อ มารับวิบากกรรมดี (กุศลวิบาก) เป็นส่วนใหญ่
 
มาไม่ดี หมายถึง เกิดมาเพื่อ มารับวิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก) เป็นส่วนใหญ่
 
ไปดี หมายถึง เมื่อเกิดมาแล้ว มีการละอกุศลกรรม หมั่นทำกุศลกรรม และ หมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ทำให้มีภพภูมิที่สูง เป็นที่หมาย เมื่อตายจาก (ตายจากไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้น เพื่อรับวิบากกรรมดี)
 
ไปไม่ดี หมายถึง เมื่อเกิดมาแล้ว มีการทำอกุศลกรรมอยู่เนืองนิจ ไม่หมั่นทำกุศลกรรม และ ไม่หมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ทำให้มีภพภูมิที่ต่ำ (อบายภูมิ) เป็นที่หมาย เมื่อตายจาก (ตายไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำลง เพื่อรับวิบากกรรมไม่ดี)
 
***************
 
สิ่งที่พวกเราควรกระทำ ในขณะที่พวกเรา ยังคงมีลมหายใจอยู่นี้ คือ... 
 
การเพียรหมั่นทำภารกิจที่สำคัญของชีวิต ๓ ประการ (โอวาทปาฏิโมกข์ ๓) ได้แก่ 
 
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การเพียรหมั่นปรับเปลี่ยน “กรรมไม่ดี” ให้เป็น “กรรมดี” หรือ การไม่ทำอกุศลวิบาก (วิบากกรรมไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต หรือ การเพียรหมั่นแก้กรรม
 
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การเพียรหมั่น “ทำกรรมดี” คิดดี พูดดี และ กระทำดี ให้ติดเป็นนิสัย หรือ การเพียรหมั่นทำกุศลวิบาก (วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต หรือ การเพียรหมั่นเก็บเกี่ยวกุศล
 
๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ การเพียรหมั่น “ทำความพ้นทุกข์” หรือ การเพียรหมั่น ชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น หรือ การเพียรหมั่นเก็บเกี่ยวบุญ
 
***************
 
ชีวิตนี้ น้อยนัก
 
ชีวิตนี้ สั้นนัก
 
ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน
 
ขอพวกเรา...จงอย่าประมาท ในการดำเนินชีวิต
 
ขอพวกเรา...จงอย่าประมาทว่า ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ และ ตนยังแข็งแรงดีอยู่
 
และ ขอพวกเรา...จงใช้วันเวลาของชีวิต ให้มีคุณค่า และ ให้มีประโยชน์ ด้วยการ,,,
 
เพียรหมั่นปรับเปลี่ยนกรรม หรือ แก้กรรม 
 
เพียรหมั่น เก็บเกี่ยวกุศล (คิดดี พูดดี และ กระทำดี ให้ติดเป็นนิสัย)
 
และ เพียรหมั่นเก็บเกี่ยวบุญ (ขัดเกลาจิต หรือ ชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิต)
 
เพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป
 
และ เพื่อทำให้ “การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิของพวกเรา” เป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้น
 
ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 02 มีนาคม 2562    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:27:47 น.
Counter : 958 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.