"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

47. การปฏิบัติธรรม...เพื่อบรรลุพระโสดาบัน



การปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุพระโสดาบัน มีลำดับวิธีการดังนี้

ลำดับที่ ๑ ต้องทำตนให้พ้นจาก “ภัยเวร ๕ ประการ” ให้ได้ เป็นลำดับแรกก่อน โดยการปฏิบัติศีล ๕ ให้บริบูรณ์ หรือ ให้เป็นปกติของตน (ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)

ลำดับที่ ๒ เมื่อมีศีล ๕ เป็นปกติของตนแล้ว ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ทำให้ตนเป็นทุกข์ เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ หรือ ที่ก่อให้เกิดโทษภัยแก่ตน แก่ผู้อื่น และ แก่สัตว์อื่น มากำหนดตั้งให้เป็นศีล (อธิศีล) เพื่อยึดถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ หรือ เพื่อยึดถือปฏิบัติให้เป็นปกติของตน ได้แก่

๑. ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ
๒. ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต
๓. ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา
ฯลฯ...กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่ทำให้เกิด กายทุจริต วจีทุจริต และ มโนทุจริต ทั้งหลาย (กิเลสหยาบ หรือ วีติกกมกิเลส)

ตัวอย่างเช่น

๑. ไม่ทุกข์ใจ ไม่เครียด และ ไม่วิตกกังวลใจ
๒. ไม่อยากได้ ไม่อยากมี และ ไม่อยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต
๓. ไม่โกรธ ไม่เกลียดชัง ไม่พยาบาทอาฆาตแค้น ไม่อิจฉาริษยา
ฯลฯ

ลำดับที่ ๓ เมื่อได้กำหนดตั้งศีลเอาไว้แล้ว ให้เรายึดถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ โดยใช้หลักธรรมโพชฌงค์ ๗ ขับเคลื่อน ดังนี้

๑. ทำความมีสติ (สติสัมโพชฌงค์) ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของ ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ, หรือ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ (สิ่งที่เรากำหนดตั้งเอาไว้ ให้เป็นศีล)

๒. เมื่อใดก็ตาม ที่มี ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ, หรือ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ เกิดขึ้น ภายในจิตใจ จงเพียรพยายาม (วิริยสัมโพชฌงค์) ทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้เป็นสมาธิ เพื่อระงับจิต ไม่ให้ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ, หรือ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ

๓. ทำความมีสติ (สติสัมโพชฌงค์) เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ, หรือ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ ดังนี้

     ๓.๑ เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ยั่งยืน ความแปรปรวน ความไม่แน่นอน ความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ (อนิจจัง) ของ ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ, หรือ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ

(ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่ง (สังขาร) ร่วม มันจะดับลงไปเอง ในเวลาไม่นานนัก)

     ๓.๒ เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรทุกข์ใจ ไม่ควรเครียด และ ไม่ควรวิตกกังวลใจ, หรือ เราไม่ควรอยากได้ ไม่ควรอยากมี และ ไม่ควรอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ เราไม่ควรโกรธ ไม่ควรเกลียดชัง ไม่ควรพยาบาทอาฆาตแค้น ไม่ควรอิจฉาริษยา ฯลฯ เพราะ มันคือ มูลเหตุของความทุกข์ โทษ และ ภัย ทั้งหลาย (ทุกขัง)

     ๓.๓ เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งว่า ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ, หรือ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ นี้ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน (ไม่อาจจะกำหนดได้) มันเป็นแค่เพียงอุปาทาน ที่คนเรามีอยู่แตกต่างกัน เท่านั้นเอง และ มันเป็นสิ่งที่ สามารถจะทำให้ ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้ (อนัตตา)

๔. เมื่อเราได้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ, หรือ ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต, หรือ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความพยาบาทอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ แล้ว ก็จะเกิดการสิ้นความลังเลสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา) และ เกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (เกิดปัญญา ละสักกายทิฏฐิได้ หรือ พ้นสักกายทิฏฐิ) ทำให้ “ศีล” ที่เราได้กำหนดตั้งเอาไว้ “บริบูรณ์” หรือ เป็นปกติของตน (ได้มรรคผล พ้นสีลัพพตปรามาส)

๕. เมื่อศีลบริบูรณ์แล้ว หรือ เป็นปกติของตนแล้ว ก็จะเกิด “ปิติ” ขึ้นในจิตใจ (ปีติสัมโพชฌงค์) เกิดความสงบกายและสงบใจ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) เกิดความมีจิตใจที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) และ เกิดความมีจิตใจที่เป็นกลาง วางเฉย เพราะมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่หลงยึดมั่นถือมั่น ไปตามอำนาจของกิเลส (อุเบกขาสัมโพชฌงค์)

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 26 เมษายน 2563    
Last Update : 26 เมษายน 2563 5:51:33 น.
Counter : 738 Pageviews.  

46. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายและภูมิคุ้มกันจิตใจ ให้แข็งแกร่ง



เพราะการระบาดของ Covid-19

ปีนี้ จึงต้องงดลงวิ่งงานวิ่ง และงดซ้อมวิ่งที่สวนน้ำบึงกุ่ม
 
ในช่วงนี้ จะมุ่งเน้นการซ้อมวิ่งภายในบ้าน วันละ ๓๐-๖๐ นาที เป็นหลัก

เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแกร่ง

***************

ในสภาวะที่โลกและสังคม มีแนวโน้มที่จะมีปัญหา ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านศีลธรรม ด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นลบและเป็นเท็จ ด้านความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ภูมิคุ้มกันร่างกาย และ ภูมิคุ้มกันจิตใจ คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่พวกเราต้องเสริมสร้างให้แข็งแกร่ง ด้วยการทำให้ร่างกายแข็งแรง และ ทำให้จิตใจแข็งแกร่ง
 
การทำให้ร่างกายแข็งแรง คือ การปฏิบัติตามหลัก ๕อ.+๑

การทำให้จิตใจแข็งแกร่ง คือ การเพียรหมั่น ชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ออกจากจิตใจ

***************

หลัก ๕อ.+๑ ประกอบด้วย

๑. อ.อารมณ์ดี ไม่มีปัญหา
๒. อ.อาหารดี มีคุณค่า
๓. อ.ออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม อย่างพอเหมาะ และ อย่างสม่ำเสมอ
๔. อ.เอนกาย (นอนหลับ) ให้เพียงพอ
๕. อ.อุจจาระ ให้เป็นปกติวิสัย ทุกวัน

+ ๑ อ.อิทธิบาท ๔ ขับเคลื่อน ๕อ.
 
***************

การทำให้จิตใจแข็งแกร่ง ด้วยการเพียรหมั่น ชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ออกจากจิตใจ คือ

๑. การเพ่งพิจารณา เพื่อปล่อยวาง ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ

๒. การเพ่งพิจารณา เพื่อปล่อยวาง ความอยากได้ ความอยากมี และ ความอยากเป็น ในสิ่งที่มากมายเกินความจำเป็นของชีวิต

๓. การเพ่งพิจารณา เพื่อปล่อยวาง ความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ โกรธ พยาบาทอาฆาตแค้น เกลียดชัง อิจฉาริษยา

๔. การเพ่งพิจารณา เพื่อปล่อยวาง ความหลงใหลติดใจ ในความสุขอันเกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ

***************

โลกและสังคมของเรา

ได้ถูกขับเคลื่อน ให้แปรเปลี่ยนไป

ด้วยแรงแห่ง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ของแต่ละคน ที่อาศัยอยู่ในโลก และ ในสังคม

มุ่งหน้าไปสู่ ความเสื่อม โทรมทรุด เดือดร้อน วุ่นวาย และ เลวร้าย มากขึ้น เป็นธรรมดา
 
มีน้อยคนนัก ที่จะมุ่งมั่น ชำระล้างกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจาก จิตใจ ของตน

จนมีผล ฉุดรั้งโลก และ ฉุดรั้งสังคม เอาไว้ได้
 
ดังนั้น จงอย่าทุกข์ใจ จงอย่ากังวลใจ ไปกับโลกและสังคม จนเกินควร

จงเพ่งพิจารณาดูว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน

เราสามารถจะช่วยเหลือโลก และ ช่วยเหลือสังคม อย่างไรได้บ้าง?

แล้วจงลงมือทำ ให้เต็มที่ และ ให้เต็มกำลัง ตามสมควร

เพื่อเก็บเกี่ยวบุญ และ เก็บเกี่ยวกุศล จากโลกและสังคม
 
และ จงเพ่งพิจารณาดูว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน

เราจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร? ให้มีความสุข ไม่ทุกข์ ไม่เครียด ไม่เดือดร้อนกาย และ ไม่เดือดร้อนใจ
 
การปรับเปลี่ยนโลก และ ปรับเปลี่ยนสังคม เป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก

ไม่มีใคร ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนโลกและสังคม ให้ดีขึ้นได้ อย่างยั่งยืนถาวร

สิ่งที่คนเราสามารถจะทำได้ อย่างมากคือ การชะลอการเปลี่ยนแปลง ให้ช้าลง เท่านั้นเอง

***************

ชีวิตนี้ น้อยนัก

ชีวิตนี้ สั้นนัก

ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน


ขอพวกเรา จงทำความเข้าใจให้ชัดแจ้งว่า

“คนเราเกิดมา เพื่อเรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้โลก เรียนรู้สังคม เรียนรู้คน เรียนรู้จิตตน เพื่อขัดเกลาจิตตน สู่ความพ้นทุกข์”

ขอพวกเรา จงดำเนินชีวิตด้วยความมีสติ โดยยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ เป็นหลัก

เพราะหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ คือสิ่งที่จะนำพาชีวิตของพวกเรา ไปสู่ความพ้นทุกข์

“ภารกิจที่สำคัญของชีวิต คือ การทำตนให้พ้นทุกข์”

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 29 มีนาคม 2563    
Last Update : 29 มีนาคม 2563 6:52:32 น.
Counter : 806 Pageviews.  

45. การทำความปล่อยวาง สิ่งที่เราหลงยึดมั่นถือมั่นเอาไว้



การทำความปล่อยวาง สิ่งที่เราหลงยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ คือ การนำเอา “สิ่งที่เราหลงยึดมั่นถือมั่นเอาไว้” มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” แล้วทำการเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนาภาวนา) จนเห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของสิ่งที่เราหลงยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ เพื่อทำให้เกิดการสิ้นความลังเลสงสัย หรือ เพื่อทำให้เกิดการพ้นวิจิกิจฉา

การเพ่งพิจารณาดังกล่าว ต้องใช้สติ (สติสัมโพชฌงค์ หรือ สัมมาสติ) และ ความเพียรพยายาม (วิริยสัมโพชฌงค์ หรือ สัมมาวิริยะ) ร่วมด้วย

***************

เมื่อได้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของสิ่งที่เราหลงยึดมั่นถือมั่นเอาไว้แล้ว

ก็จะเกิดการละหน่ายคลาย และ เกิดการปล่อยวางได้

ทำให้เกิดการพ้นสักกายทิฏฐิ (ทำให้เกิดปัญญา ละสักกายทิฏฐิได้ หรือ ทำให้เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)

***************

เมื่อเกิดการละหน่ายคลายและเกิดการปล่อยวางได้แล้ว

ก็จะเกิดการได้รับมรรคผลเป็น ความอิ่มใจ ความดื่มด่ำใจ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความสงบกายและสงบใจ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความมีจิตใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แน่วแน่ในอารมณ์ (สมาธิสัมโพชฌงค์) และ ความมีจิตใจที่เป็นกลาง วางเฉย สุขสงบ (อุเบกขาสัมโพชฌงค์)

ทำให้เกิดการพ้นสีลัพพตปรามาส (ทำให้เกิดมรรคผลจากการปฏิบัติศีล)

***************

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

เป็นการใช้หลักธรรมโพชฌงค์ ๗ เพื่อทำให้ศีลบริบูรณ์ โดยทำให้เกิดปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) แล้วทำให้เกิดสมาธิ (สัมมาสมาธิ) ตามมา

หรือ เป็นการใช้หลักธรรมโพชฌงค์ ๗ เพื่อขับเคลื่อน ศีล สมาธิ และ ปัญญา ไปตามทางมรรคมีองค์ ๘ สู่ความพ้นทุกข์ (ดับทุกข์)

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 22 มีนาคม 2563    
Last Update : 22 มีนาคม 2563 7:11:21 น.
Counter : 961 Pageviews.  

44. โสดาบัน...ผู้ระงับภัยเวร ๕ ประการได้แล้ว



การปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์ (ดับทุกข์) หรือ การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม (โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันต์) คือ การเดินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘

การเดินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ให้สูงขึ้นโดยลำดับ เพื่อให้เกิดเป็น อธิศีล (ศีลอันยิ่ง) อธิจิต (สมาธิอันยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาอันยิ่ง)

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้สูงขึ้นโดยลำดับ คือ การนำเอา “กิเลส” ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” โดยลำดับ แล้วเพียรทำ “ศีล” ที่กำหนดตั้งเอาไว้ ให้บริบูรณ์ โดยใช้ “สมาธิ (สมถภาวนา)” และ “ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน

***************


ในเบื้องต้น พระพุทธองค์ได้ทรงนำเอา “ภัยเวร ๕ ประการ” มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” เพื่อให้ผู้ที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ (ดับทุกข์) หรือ ผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุธรรม ได้ยึดถือปฏิบัติ ให้บริบูรณ์ เป็นเบื้องต้น เรียกว่า ศีล ๕

ศีล ๕ ประกอบด้วย

๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. งดเว้นจากการประพฤติในกาม
๔. งดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. งดเว้นจาก การดื่มสุรา เมรัย และ การเสพของมึนเมาทั้งหลาย (มัชชะ)

***************

ศีล ๕ ข้อที่ ๑ – ๔ เป็นสัมมากัมมันตะและสัมมาวาจาอันเป็นเบื้องต้น และ เป็นกุศลกรรมบถ (การละอกุศลกรรม)

ศีล ๕ ข้อที่ ๕ ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นกุศลกรรมบถ อาจเป็นเพราะ การดื่มสุรา เมรัย และ การเสพของมึนเมาทั้งหลาย เป็นการกระทำต่อตน มีโทษและมีภัยต่อตนโดยตรง

อกุศลกรรม หรือ กรรมไม่ดี หมายถึง การกระทำทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ที่ไม่ดี ที่เป็นการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นและสัตว์อื่น ที่เป็นการทำร้ายทำลายชีวิตผู้อื่นและสัตว์อื่น ที่เป็นการทำให้ผู้อื่นและสัตว์อื่นเป็นทุกข์ เดือดร้อนกายและเดือดร้อนใจ มีผลเป็น อกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมไม่ดี

กุศลกรรม หรือ กรรมดี หมายถึง การกระทำทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ที่ดี ที่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่นและสัตว์อื่น ที่ทำให้ผู้อื่นและสัตว์อื่น พ้นจากทุกข์ ได้รับสุข สบายกาย และ สบายใจ มีผลเป็น กุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี

กุศลกรรมบถ หมายถึง ธรรมที่ชี้ทางไปสู่ความดี หรือ ทางเดินไปสู่ความดี มี ๑๐ ประการ คือ

๑. การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. การงดเว้นจากการลักทรัพย์ 
๓. การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. การงดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๖. การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๗. การงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘.
การไม่โลภ การไม่อยากได้ การไม่อยากมี และ การไม่อยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต (อนภิชฌา)
๙. การไม่พยาบาทปองร้าย (อัพยาบาท)
๑๐. การเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) 

***************

ผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุพระโสดาบัน ต้องทำตนให้พ้นจาก “ภัยเวร ๕ ประการ” ให้ได้ เป็นเบื้องต้นก่อน โดยการปฏิบัติศีล ๕ ให้บริบูรณ์หรือให้เป็นปกติของตน

เมื่อปฏิบัติศีล ๕ ได้บริบูรณ์หรือได้เป็นปกติของตนแล้ว ให้นำเอากิเลสในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” เพื่อยึดถือปฏิบัติให้บริบูรณ์หรือให้เป็นปกติของตน เป็นลำดับต่อไป

***************

. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร สูตรที่ ๑

[๑๐๒๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า
“คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการได้แล้ว ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกาเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
 
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวร ที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์แล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
๒. บุคคลผู้ลักทรัพย์ ฯลฯ
๓. บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ
๔. บุคคลผู้พูดเท็จ ฯลฯ
๕. บุคคลผู้เสพของมึนเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เพราะการเสพของมึนเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวร ที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้
 
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วย ศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ สมาธิ
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้
 
อริยสาวกนั้น เห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มนสิการโดยแยบคายด้วยดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท
คือ เมื่อเหตุ (มีอวิชชาเป็นต้น) นี้มี ผล (มีสังขารเป็นต้น) นี้จึงมี เพราะสหชาตปัจจัยนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
ฯลฯ
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
 
เพราะอวิชชาดับไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ
ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
อริยสาวกนั้น เห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างนี้แล
 
เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยายากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
 
ปฐมภยเวรูปสันตสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔๓-๕๔๕ }

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 08 มีนาคม 2563    
Last Update : 22 มีนาคม 2563 7:17:54 น.
Counter : 1340 Pageviews.  

43. โสดาบัน...ผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘



โสดาบัน หมายถึง ผู้เข้าถึงกระแสคืออริยมรรค (องฺ.ทสก.อ. ๓/๖๓-๖๔/๓๕๓)

ที่มา โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๒

***************

โสดาบัน หมายถึง ผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕๓๐)


ที่มา โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๒

***************

ทางเดินไปสู่ความพ้นทุกข์ หรือ ความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) คือ "อริยมรรคมีองค์ ๘"

การปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์ (ดับทุกข์) หรือ การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม (โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันต์) คือ การเดินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘

***************

การเดินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ให้สูงขึ้นโดยลำดับ เพื่อให้เกิดเป็น อธิศีล (ศีลอันยิ่ง) อธิจิต (สมาธิอันยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาอันยิ่ง)

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ให้สูงขึ้นโดยลำดับ จะทำให้เกิด “การเคลื่อนไปตามทางมรรคมีองค์ ๘ สู่ความพ้นทุกข์ (ดับทุกข์)”

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ให้สูงขึ้นโดยลำดับ จะทำให้เกิด “การบรรลุธรรมโดยลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์”

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้สูงขึ้นโดยลำดับ คือ การนำเอา “กิเลส” ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” โดยลำดับ แล้วเพียรทำ “ศีล” ที่กำหนดตั้งเอาไว้ ให้บริบูรณ์ โดยใช้ “สมาธิ (สมถภาวนา)” และ “ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้สูงขึ้นโดยลำดับ คือ การขัดเกลา หรือ การชำระล้าง “กิเลส” ในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด ออกจากจิตใจ โดยลำดับ  

การขัดเกลา หรือ การชำระล้าง “กิเลส” ในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด ออกจากจิตใจ โดยลำดับ จะทำให้เกิด ความเห็นที่ชอบที่ถูกที่ตรง  (สัมมาทิฏฐิ) ความดำริที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาสังกัปปะ) การพูดที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาวาจา) การกระทำทางกายที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมากัมมันตะ) การงานอาชีพที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาอาชีวะ) ความเพียรที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาวายามะ) และ ความมีสติที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาสติ) มากยิ่งขึ้น โดยลำดับ

ความเห็นที่ชอบที่ถูกที่ตรง  (สัมมาทิฏฐิ) ความดำริที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาสังกัปปะ) การพูดที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาวาจา) การกระทำทางกายที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมากัมมันตะ) การงานอาชีพที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาอาชีวะ) ความเพียรที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาวายามะ) และ ความมีสติที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาสติ) ที่มากยิ่งขึ้น โดยลำดับ จะทำให้เกิด ความมีจิตตั้งมั่นที่ชอบที่ถูกที่ตรง (สัมมาสมาธิ) มากยิ่งขึ้น โดยลำดับ

***************

อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ เป็นเบื้องต้น มีดังนี้

[๑๓๕] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน
นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
นี้เรียกว่า สัมมาวาจา

สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ 
 
สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยสัมมาอาชีวะ
นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภ ความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว
นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ

สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
นี้เรียกว่า สัมมาสติ

สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และ สุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ }

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 01 มีนาคม 2563    
Last Update : 1 มีนาคม 2563 5:09:25 น.
Counter : 1556 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.