"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

97. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 8



การกำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมา เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ

มีวัตถุประสงค์หลัก คือ

เพื่อชำระล้าง "กิเลส ตัณหา และอุปาทาน" ออกไปจากจิตใจ

หรือ เพื่อทำให้ "กิเลส ตัณหา และอุปาทาน" ลดลง จางคลายลง เบาบางลง และ ดับสิ้นไป
 
***************
 
การกำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมา เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ

ต้องกำหนดตั้งให้สูงขึ้น ตามลำดับของกิเลส

คือ หยาบ (วีติกกมกิเลส) กลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และ ละเอียด (อนุสัยกิเลส)
 
***************
 
การกำหนดตั้ง “ศีล” ที่ไม่ถูกต้องตามลำดับ เช่น

การนำเอา “การหลงใหลติดใจในรสชาติของอาหาร” มากำหนดตั้งเป็น “ศีล” ในลำดับต้นๆ

หรือ การนำเอา “อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านของจิต)” มากำหนดตั้งเป็น “ศีล” ในลำดับต้นๆ

จะทำให้เกิด ความทุกข์ ความเครียด และ จะไม่ทำให้เกิด “การบรรลุธรรมตามลำดับ

ดังนั้น เราจึงควร “กำหนดตั้งศีล ให้สูงขึ้นตามลำดับของกิเลส

เพื่อทำให้เกิด “การบรรลุธรรมตามลำดับ
 
***************
 
เมื่อเรามีศีล 5 เป็นปกติของเราแล้ว

ในลำดับต่อไป เราต้องกำหนดตั้งศีลของเรา ให้สูงขึ้นตามลำดับ เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติให้เป็นปกติ

โดยใช้อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง ดังนี้
 
1. นำเอาสัมมาวาจา ในส่วนที่เหลือ คือ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบคาย และ ไม่พูดเพ้อเจ้อ มากำหนดตั้งให้เป็นศีล

2. กำหนดตั้งศีลให้สอดคล้องกับ “สัมมาสังกัปปะ” และ “สัมมาอาชีวะ” ดังนี้ 

          2.1 กำหนดตั้งศีลเพื่อละพยาบาท หรือ เพื่อให้สอดคล้องกับความดําริในการไม่พยาบาท ดังเช่น
               ไม่พยาบาทอาฆาตแค้นผู้อื่นและสัตว์อื่น
               ไม่โมโหโทโสคิดปองร้ายผู้อื่นและสัตว์อื่น
               ไม่โกรธไม่เกลียดชังผู้อื่นและสัตว์
               ไม่แค้นเคือง ไม่หงุดหงิด
               ไม่ไม่พอใจ ไม่ไม่ชอบใจ   
         
          2.2 กำหนดตั้งศีลเพื่อละการเบียดเบียน หรือ เพื่อให้สอดคล้องกับความดําริในการไม่เบียดเบียน คือ ไม่กระทำในสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่น และ ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่น เพราะเหตุแห่งความโลภ ดังเช่น
               ไม่เบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
               ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยการโกง และ ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการโกง (กุหนา)
               ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยการล่อลวง และ ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการล่อลวง (ลปนา)
               ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยการตลบตะแลง และ ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการตลบตะแลง (เนมิตตกตา)
               ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการยอมมอบตนในทางผิด (นิปเปสิกตา)
               ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการเอาลาภต่อลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา)
               ไม่ประกอบอาชีพ ที่เป็นการเบียดเบียนและทำร้ายทำลายชีวิตผู้อื่นและสัตว์อื่น คือ ไม่ค้าอาวุธ ไม่ค้ามนุษย์ ไม่ค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร ไม่ค้าของเมา และ ไม่ค้ายาพิษ

          2.3 กำหนดตั้งศีลเพื่อละกาม หรือ เพื่อให้สอดคล้องกับความดําริในการออกจากกาม ดังเช่น
                ไม่หลงใหลติดใจ ในความสุขอันเกิดจากการเสพกามเมถุน
                ไม่หลงใหลติดใจ ในความสุขอันเกิดจากรูป
                ไม่หลงใหลติดใจ ในความสุขอันเกิดจากเสียง
                ไม่หลงใหลติดใจ ในความสุขอันเกิดจากกลิ่น
                ไม่หลงใหลติดใจ ในความสุขอันเกิดจากรส
                ไม่หลงใหลติดใจ ในความสุขอันเกิดจากการสัมผัสทางกาย
 
***************
 
และ เมื่อเราได้กำหนดตั้งศีลของเรา ให้สูงขึ้นโดยลำดับแล้ว

เราต้องทำศีลของเรา ให้เป็นปกติ

โดยใช้ “สมาธิ และ ปัญญา” ร่วมกัน (ทำเช่นเดียวกันกับ การทำศีล 5 ให้เป็นปกติ)
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ในลักษณะดังกล่าว

จะทำให้เกิด “อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่เป็นสมาธิยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง)

และ จะทำให้เกิด “การเคลื่อนไปตามทางอริยมรรคมีองค์ 8” คือ

ทำให้ “ความดำริ การกระทำทางกาย การพูดจา และ การประกอบอาชีพ” ของเรา เป็นสัมมายิ่งขึ้น (อธิศีล)

ทำให้จิตใจของเรา มี “สมาธิที่เป็นสัมมา” ยิ่งขึ้น (อธิจิต)

และ ทำให้เรา “มีความเห็นที่ถูก ที่ตรง ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา (สัมมาทิฏฐิ)” ยิ่งขึ้น (อธิปัญญา)
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2565    
Last Update : 8 พฤษภาคม 2565 5:38:17 น.
Counter : 370 Pageviews.  

96. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 7



เมื่อเราได้กำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมา “เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ” แล้ว
เราต้องทำ “ศีล” ที่เรากำหนดตั้งเอาไว้ ให้เป็นปกติของเรา
โดยใช้ “สมาธิ” และ “ปัญญา” ร่วมกัน ดังนี้
 
1. เราต้องหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) ด้วยการหมั่นทำจิต ให้สงบ ให้ระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็นสมาธิ เพื่อไม่ปล่อยให้จิต “ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของ อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ จนเกิดการละเมิดศีล” 

2. เราต้องหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ด้วยการหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในสิ่งต่างๆ ดังนี้ 

          2.1 เราต้องหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรละเมิดศีล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ 

          2.2 เราต้องหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่เที่ยง ในความไม่ยั่งยืน ในความไม่อาจจะตั้งอยู่ได้ยาวนาน (อนิจจัง) ของ “อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่” ที่เกิดขึ้นในจิตใจ 

ธรรมดาของอารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ
เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว
ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่ง (สังขาร) ร่วม
มันจะดับลงไปเอง ในเวลาไม่นานนัก

 
          2.3 เราต้องหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็นทุกข์ เป็นโทษ และเป็นภัย (ทุกขัง) ของการปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของ  “อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่” จนทำให้เกิด “การละเมิดศีล” 

          2.4 เราต้องหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน (อนัตตา) ของ “อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่” ที่เกิดขึ้นในจิตใจ 

อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ
คือสิ่งที่ สามารถจะทำให้ลดลงได้ จางคลายลงได้ และดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้ (อนัตตา)

 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ตามที่ได้กล่าวมา
จะทำให้เกิด การหมดสิ้นความลังเลสังสัย ใน "สิ่งที่เรา ได้กำหนดตั้งเอาไว้ ให้เป็นศีล"
และ หมดสิ้นความลังเลสงสัย ใน “อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เป็นมูลเหตุของ การละเมิดศีล
นี้ชื่อว่า “พ้นวิจิกิจฉา
 
***************
 
เมื่อเราปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนทำให้เกิด “การหมดสิ้นความลังเลสงสัย” หรือ “พ้นวิจิกิจฉา” ได้แล้ว
ก็จะทำให้เกิด “การละหน่ายคลาย” จนทำให้เกิด การปล่อยวาง “การกระทำที่เป็นการละเมิดศีล” ได้
และ ทำให้เกิด การปล่อยวาง “อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล” ได้
คือ ไม่หลงยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งดังกล่าว ว่า “เป็นตัวเป็นตนของตน หรือ เป็นของของตน
นี้ชื่อว่า “พ้นสักกายทิฏฐิ
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
จนทำให้เกิด “การพ้นวิจิกิจฉา” และ “การพ้นสักกายทิฏฐิ
จะทำให้ “ศีล” กลายเป็นปกติของเรา (ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)
นี้ชื่อว่า “พ้นสีลัพพตปรามาส
 
***************
 
ผู้ที่ปฏิบัติศีล 5 จนเป็นปกติของตนได้
ชื่อว่า “ผู้พ้นจากภัยเวร 5 ประการ
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
จนทำให้ “ศีล 5” กลายเป็นปกติของเราได้
จะทำให้ “ความทุกข์” ของเรา ดับลงไปได้ ในระดับหนึ่ง
ทำให้จิตใจของเรา มีความสุขสงบ เป็น “สมาธิ” ขึ้น (สัมมาสมาธิ)  
และ ทำให้เกิด “ปัญญา” ในทางธรรม มีความเห็นที่ถูกที่ตรงขึ้น (สัมมาทิฏฐิ)
ส่งผลให้เรา มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน “พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์” คือ
1. มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”
2. มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
3. มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
 
ผู้ที่ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
จนทำให้เกิด “มรรคผล” ตามที่กล่าวมา
ชื่อว่า “ผู้มีศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ"


และนี้ชื่อว่า “ผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ
 
***************
 
ผู้ที่ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
จนทำให้เกิด “มรรคผล” ตามที่กล่าวมา
ชื่อว่า “ผู้กำลังเดินไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8” หรือ “ผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ 8
 
***************
 
ผู้ที่ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
จนได้ “บรรลุมรรคผล” ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น
ชื่อว่า “ผู้บรรลุพระโสดาบัน
 
***************

อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล หมายถึง โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค และ อรหัตผล
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 24 เมษายน 2565    
Last Update : 24 เมษายน 2565 5:58:52 น.
Counter : 334 Pageviews.  

95. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 6



ผู้ที่ต้องการจะทำความดับทุกข์

ต้องปฏิบัติศีล 5 ให้เป็นปกติของตน ให้ได้ก่อน เป็นเบื้องต้น

เพื่อทำตน ให้พ้นจากภัยเวร 5 ประการ ให้ได้ เป็นลำดับแรก
 
 
***************
 

การทำศีลให้เป็นปกติ คือ การขจัด “สิ่งที่ชักนำจิตใจของคนเรา ให้คนเรา กระทำกรรมที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ที่เป็นการละเมิดศีล" ออกไปจากจิตใจ
 
สิ่งที่ชักนำจิตใจของคนเรา ให้คนเรา กระทำกรรมที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ที่เป็นการละเมิดศีล (มูลเหตุของการละเมิดศีล) คือ กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง
 
ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ชื่อว่า อกุศลมูล หรือ มูลเหตุของอกุศลกรรม
 

ดังนั้น การทำศีลให้เป็นปกติ จึงคือ การขจัด "ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง” ซึ่งเป็นมูลเหตุของ “การกระทำกรรมที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ที่เป็นการละเมิดศีล” ออกไปจากจิตใจ
 
***************
 
สิ่งที่ชักนำจิตใจของคนเรา ให้คนเรา “ละเมิดศีล” (มูลเหตุของการละเมิดศีล) ในแต่ละข้อ ของแต่ละคน อาจมีความแตกต่างกัน
 
ตัวอย่างเช่น การละเมิดศีลข้อที่ 1 ด้วยการฆ่าสัตว์ อาจมีมูลเหตุมาจาก ความโลภ ความโกรธ ความพยาบาท ความอาฆาตแค้น ความเกลียด ความกลัว ความหลงเข้าใจผิด ความหลงใหลติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์ ที่มีมาก จนต้องลงมือฆ่าด้วยตนเอง เพื่อให้ได้กินแบบสดๆ ฯลฯ
 
***************

การทำศีลให้เป็นปกติ ต้องใช้ “สมาธิ” และ “ปัญญา” ร่วมกัน ดังนี้
 

1. ต้องหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) ด้วยการหมั่นทำจิตใจ ให้สงบ ให้ระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็นสมาธิ เพื่อไม่ให้จิตใจ “ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของ อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ จนเกิดการละเมิดศีล 

2. ต้องหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ด้วยการหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ดังนี้ 

          2.1 หมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรละเมิดศีล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ 

          2.2 หมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่เที่ยง ในความไม่ยั่งยืน ในความไม่อาจจะตั้งอยู่ได้ยาวนาน (อนิจจัง) ของ อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ 

ธรรมดาของอารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ
เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว
ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่ง (สังขาร) ร่วม
มันจะดับลงไปเอง ในเวลาไม่นานนัก

 

          2.3 หมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็นทุกข์ เป็นโทษ และเป็นภัย (ทุกขัง) ของการปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของ  อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ จนเกิดการละเมิดศีล 

          2.4 หมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน (อนัตตา) ของ อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ 

อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ
คือสิ่งที่ สามารถจะทำให้ลดลงได้ จางคลายลงได้ และดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้ (อนัตตา)

 
***************
 
การใช้ “สมาธิ” และ “ปัญญา” ร่วมกันดังกล่าว
จะทำให้ “อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล” ค่อยๆลดลง จางคลายลง และดับสิ้นไป
และจะทำให้ “ศีล” กลายเป็นปกติของเรา (ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)
 
***************
 
การละเมิดศีล 5
จะก่อให้เกิด "ภัยเวร" กับชีวิตของคนเรามาก ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป
ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะทำความดับทุกข์
เราต้องทำศีล 5 ให้เป็นปกติของเรา ให้ได้ เป็นลำดับแรก
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 10 เมษายน 2565    
Last Update : 10 เมษายน 2565 14:02:15 น.
Counter : 378 Pageviews.  

94. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 5



ศีล หมายถึง สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย หรือ ให้เป็นนิสัย
 
***************
 
ในเบื้องต้น พระพุทธองค์ได้ทรงนำเอา “สิ่งที่จะก่อให้เกิดภัยเวรกับชีวิตของคนเรา ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป” คือ “การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ และ การดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท”  (ภัยเวร 5 ประการ) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อให้พวกเรา ได้ใช้ยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย หรือ ให้เป็นนิสัย เรียกว่า เบญจศีล หรือ ศีล 5
 
***************
 
เบญจศีล หรือ ศีล 5 ประกอบด้วย

 

  1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
  2. งดเว้นจากการลักทรัพย์
  3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  4. งดเว้นจากการพูดเท็จ
  5. งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท 
 
***************
 
ในศีล 5 จะประกอบไปด้วย

สัมมากัมมันตะ ทั้ง 3 ข้อ คือ 1. ความงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ 2. ความงดเว้นจากการลักทรัพย์ และ 3. ความงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

และ สัมมาวาจา 1 ข้อ คือ ความงดเว้นจากการพูดเท็จ
 
***************
 
[๑๗๔] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่า ผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย ภัยเวร ๕ ประการ เป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ไม่ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่า ผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย ฯ

ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่า ผู้มีศีลด้วย ย่อมเข้าถึงสุคติด้วย ภัยเวร ๕ ประการ เป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ ฯลฯ การดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่า ผู้มีศีลด้วย ย่อมเข้าถึงสุคติด้วย ฯ


...ข้อความบางส่วนจาก เวรสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต - หน้าที่ 183
 
***************
 
ถ้าต้องการจะทำความดับทุกข์

ในเบื้องต้น ต้องปฏิบัติศีล 5 ให้เป็นปกติของตน ให้ได้ก่อน

เพื่อทำตน ให้พ้นจากภัยเวร 5 ประการ ให้ได้ เป็นลำดับแรก
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 03 เมษายน 2565    
Last Update : 3 เมษายน 2565 7:18:58 น.
Counter : 351 Pageviews.  

93. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 4



การปรับเปลี่ยน “การกระทำ กรรมที่ไม่ดี (อกุศลกรรม)” ที่ติดเป็นนิสัย หรือ ที่เป็นปกติวิสัย ให้เป็น “การไม่กระทำ กรรมที่ไม่ดี (อกุศลกรรม)” จนติดเป็นนิสัย หรือ จนเป็นปกติวิสัย
 
และ “การหมั่นกระทำ กรรมที่ดี (กุศลกรรม) ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน” จนติดเป็นนิสัย หรือ จนเป็นปกติวิสัย
 
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
 
เพราะ
 

  1. กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ มันจะคอยชักนำจิตใจของคนเรา ให้คนเรา “กระทำกรรมที่ไม่ดี (อกุศลกรรม)
  2. กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ มันจะคอยยับยั้ง ไม่ให้คนเรา “กระทำกรรมที่ดี (กุศลกรรม) ที่ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน
  3. กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ มันจะคอยชักนำจิตใจของคนเรา ให้คนเรา “กระทำกรรมที่ดี (กุศลกรรม) โดยมุ่งหวังสิ่งตอบแทน เพื่อมาตอบสนองกิเลส ตัณหา และอุปาทาน
 
ดังนั้น จึงต้องใช้ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” มาขับเคลื่อน “การปรับเปลี่ยน
 
***************
 

ศีล หมายถึง สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย หรือ ให้เป็นนิสัย โดยใช้อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง
 

สมาธิ หมายถึง การทำจิตใจให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว เพื่อไม่ให้จิตใจ “ปรุงแต่ง (สังขาร)” ไปตาม “อำนาจของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่คอยชักนำจิตใจ ให้ละเมิดศีล” (การอบรมจิต หรือ สมถภาวนา)
 

ปัญญา หมายถึง การเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็นทุกข์ เป็นโทษ และ เป็นภัย ของการละเมิดศีล และ เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นเชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ในความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) และ ในความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน (อนัตตา) ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่คอยชักนำจิตใจอยู่ จนทำให้เกิด “การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้” (อบรมปัญญา หรือ วิปัสสนาภาวนา)
 
***************
 
การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา ต้องปฏิบัติ “ให้สอดร้อย และ เกี่ยวเนื่องกันไป
 
และ ต้องปฏิบัติ ให้เกิดเป็น “อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่เป็นสมาธิยิ่ง) และ อธิปัญา (ปัญญาที่ยิ่ง)
 
จึงจะทำให้เกิด “การเคลื่อนที่ไปตามทาง อริยมรรคมีองค์ 8
 
ซึ่งจะมีผลดังนี้
 
  1. จะทำให้เกิด “ความเห็น (ทิฎฐิ)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
  2. จะทำให้เกิด “ความนึกคิด (สังกัปปะ)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
  3. จะทำให้เกิด “การพูดจา (วาจา)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
  4. จะทำให้เกิด “การกระทำทางกาย (กัมมันตะ)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
  5. จะทำให้เกิด “การประกอบการงานอาชีพ (อาชีวะ)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
  6. จะทำให้เกิด “ความเพียร (วายามะ)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
  7. จะทำให้เกิด “ความระลึกรู้ตัว (สติ)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
  8. จะทำให้เกิด “ความสงบตั้งมั่นของจิตใจ (สมาธิ)” ที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา ยิ่งขึ้น
 
***************
 
อธิ (มค. อธิ) คำใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น แปลว่า พ้น, เหนือ, ทับ, ยิ่ง, เจริญ, เช่น อธิราช = พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าราชาอื่นๆ
 

พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 20 มีนาคม 2565    
Last Update : 20 มีนาคม 2565 7:38:47 น.
Counter : 365 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.