"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

42. โสดาบัน...ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ



หลักธรรมที่ชื่อว่า แว่นธรรม
 
[๑๕๘] อานนท์ ข้อที่บุคคลเกิดเป็นมนุษย์แล้วดับชีพนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อผู้นั้นๆ ดับชีพแล้ว พวกเธอเข้ามาหาตถาคต ถามเรื่องนั้น นั่นเป็นการรบกวนตถาคต

ฉะนั้น เราจะแสดงหลักธรรม ที่ชื่อว่า แว่นธรรม เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อประสงค์ ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ ในวันข้างหน้า’
 
[๑๕๙] หลักธรรมที่ชื่อว่า แว่นธรรม เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อประสงค์ ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำ เร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า‘ คือ อะไร
 
คือ พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
 
๑. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้ เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”
 
๒. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้า มาในตน อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน”
 
๓. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
 
๔. ประกอบด้วย ศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
 
อานนท์ นี้แล คือหลักธรรมที่ชื่อว่า แว่นธรรม เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อประสงค์ ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
 

จาก พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม พระไตรปิฏก ฉบับมหาจุฬา

***************

ผู้ที่ปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา โดยใช้ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ และ วิริยสัมโพชฌงค์ ขับเคลื่อน จนพ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา และ พ้นสีลัพพตปรามาส (พ้นสังโยชน์ ๓) ชื่อว่า ผู้ทำศีลให้บริบูรณ์ได้แล้ว

ผู้ที่ทำศีลให้บริบูรณ์ได้แล้ว ชื่อว่า พระโสดาบัน

ศีลที่บริบูรณ์ หมายถึง ศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ

***************

ผู้ที่ทำศีลให้บริบูรณ์ได้แล้ว จะได้รับมรรคผลเป็น

๑. ความอิ่มใจ ความดื่มด่ำใจ (ปีติสัมโพชฌงค์)

๒. ความสงบกายและสงบใจ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์)

๓. ความมีจิตใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีจิตแน่วในอารมณ์ (สมาธิสัมโพชฌงค์)

๔. ความมีจิตใจที่เป็นกลาง วางเฉย สุขสงบ (อุเบกขาสัมโพชฌงค์)
 
***************

ผู้ที่ทำศีลให้บริบูรณ์ได้แล้ว

จะเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า

มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม

และ มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์

***************

พระสงฆ์ หมายถึง พระอริยสงฆ์ หรือ ความเป็นอริยสงฆ์ ที่มีในตน

พระอริยสงฆ์ หมายถึง อริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล  คือ

อริยบุคคลคู่ที่ ๑ พระโสดาปัตติมรรค และ พระโสดาปัตติผล

อริยบุคคลคู่ที่ ๒ พระสกิทาคามีมรรค และ พระสกิทาคามีผล

อริยบุคคลคู่ที่ ๓ พระอนาคามีมรรค และ พระอนาคามีผล

อริยบุคคลคู่ที่ ๔ พระอรหัตตมรรค และ พระอรหัตตผล
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2563    
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2563 7:54:06 น.
Counter : 1828 Pageviews.  

41. โสดาบัน...การทำศีลให้บริบูรณ์ ตอนที่ ๕



การทำศีลให้บริบูรณ์

ควรใช้ทั้ง “สมถภาวนา” และ “วิปัสสนาภาวนา” ร่วมกัน

ดังคำตรัสของพระพุทธองค์ ที่ว่า

[๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ พึงเป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันตรัสรู้เป็นเบื้องหน้าเถิด ดังนี้

ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรม เครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.


...จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (๖. อากังเขยยสูตร ว่าด้วยข้อที่พึงหวังได้ ๑๗ อย่าง)
 
***************

สมถภาวนา หมายถึง การทำความมีสติ อบรมจิต กดข่มจิต ทำให้จิตตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้เป็นสมาธิ เพื่อระงับจิต ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน (ทำให้กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ระงับดับลง)
 
วิปัสสนาภาวนา หมายถึง การเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (ทำให้เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)

***************

การปฏิบัติ “สมถภาวนา” ทำให้ “ละราคะ” ได้

การปฏิบัติ “วิปัสสนาภาวนา” ทำให้ “ละอวิชชา” ได้

ดังคำตรัสของพระพุทธองค์ ที่ว่า
 
[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา

ธรรม ๒ อย่าง เป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

สมถะ ที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ... ย่อมอบรมจิต

จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ... ย่อมละราคะได้

วิปัสสนา ที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ... ย่อมอบรมปัญญา

ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ... ย่อมละอวิชชาได้ ฯ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมอง ด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น
หรือ ปัญญาที่เศร้าหมอง ด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญ ด้วยประการ ฉะนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่า เจโตวิมุติ

เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่า ปัญญาวิมุติ ฯ


จบพาลวรรคที่ ๓
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร


***************

การปฏิบัติ “สมถภาวนา” เพียงอย่างเดียว

ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้ (ละอวิชชาไม่ได้)

ดังที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติ ในช่วงแรกของการออกบวช
 
การปฏิบัติ “วิปัสสนาภาวนา” เพียงอย่างเดียว

ทำให้พ้นทุกข์ได้ (ละอวิชชาได้)

แต่ต้องใช้ระยะเวลา ค่อนข้างยาวนาน
 
การปฏิบัติที่เป็น “มัชฌิมา” คือ

การปฏิบัติ “สมถภาวนา” และ “วิปัสสนาภาวนา” ร่วมกัน
 
***************
 
การทำศีลให้บริบูรณ์ ในส่วนของ สมถภาวนา หรือ การระงับจิต เพื่อทำให้กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ระงับดับลง คือ


๑. ทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล

๒. เมื่อใดก็ตาม ที่มี อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล เกิดขึ้น ภายในจิตใจ จงเพียรพยายาม ทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้เป็นสมาธิ เพื่อระงับจิต ไม่ให้จิตปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล 

***************

การทำศีลให้บริบูรณ์ ในส่วนของ วิปัสสนาภาวนา หรือ การอบรมปัญญา เพื่อทำให้เกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ คือ

“การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล”

***************

การทำให้กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ระงับดับลง

ต้องใช้ “กำลังสติ (สติพละ)” และ “กำลังสมาธิ (สมาธิพละ)” ร่วมกัน เป็นหลัก
 
ผู้ที่ไม่เพียรหมั่น ฝึกสติ และ ฝึกสมาธิ

โดยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ (อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ และ สัมปชัญญบรรพ)

จะทำได้ยาก

***************

ถ้าไม่สามารถทำให้กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ระงับดับลงได้ คือ เกิดการปรุงแต่งร่วมไปแล้ว หรือ เกิดการละเมิดศีลแล้ว

ให้เพียรหมั่นเพ่งพิจารณาย้อนหลัง

โดยการเพ่งพิจารณา ให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล ที่เกิดขึ้นไปแล้ว เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (ไม่ปล่อยให้ค้างคาไว้ ในจิตใจ)

การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณาย้อนหลัง

จะช่วยเสริมสร้าง “กำลังปัญญา (ปัญญาพละ)”

ทำให้การระงับดับ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ทำได้ดีขึ้น เป็นลำดับ

***************

ถ้าต้องการให้การปฏิบัติ มีความก้าวหน้าเร็วขึ้น

ต้องเสริมสร้าง “กำลังสติ (สติพละ)” และ “กำลังสมาธิ (สมาธิพละ)” ให้แข็งแกร่งขึ้น

โดยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ในส่วนของ อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ และ สัมปชัญญบรรพ

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2563    
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2563 5:49:03 น.
Counter : 1509 Pageviews.  

40. โสดาบัน...การทำศีลให้บริบูรณ์ ตอนที่ ๔



หลักธรรม ที่ใช้ขับเคลื่อน “ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา)” ไปตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” สู่ความพ้นทุกข์ คือ โพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ ๗ ประกอบด้วย

๑. สติสัมโพชฌงค์

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๓. วิริยสัมโพชฌงค์

๔. ปีติสัมโพชฌงค์

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์

***************

การทำศีลให้บริบูรณ์ โดยใช้ “โพชฌงค์ ๗” ขับเคลื่อน มีวิธีการ ดังนี้

๑. กำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้บริบูรณ์ หรือ เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ

๒. มีสติ (สติสัมโพชฌงค์) ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล

๓. เมื่อใดก็ตาม ที่มี อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล เกิดขึ้น ภายในจิตใจ จงเพียรพยายาม (วิริยสัมโพชฌงค์) ทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้เป็นสมาธิ เพื่อระงับจิต ไม่ให้ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล

๔. มีสติ (สติสัมโพชฌงค์) เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล ดังนี้

๔.๑ เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ยั่งยืน ความแปรปรวน ความไม่แน่นอน ความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ (อนิจจัง) ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล

(ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่ง (สังขาร) ร่วม มันจะดับลงไปเอง ในเวลาไม่นานนัก)
๔.๒ เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรละเมิดศีล เพราะ การละเมิดศีล คือ มูลเหตุของความทุกข์ โทษ และ ภัย (ทุกขัง)

๔.๓ เพียร (วิริยสัมโพชฌงค์) เพ่งพิจารณา (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือ วิปัสสนา) เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งว่า อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล นี้ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน (ไม่อาจจะกำหนดได้) มันเป็นแค่เพียงอุปาทาน ที่คนเรามีอยู่แตกต่างกัน เท่านั้นเอง และ มันเป็นสิ่งที่ สามารถจะทำให้ ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้ (อนัตตา)

๕. เมื่อเราได้เห็น จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล แล้ว ก็จะเกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ หรือ เกิดปัญญา ล้างอวิชชา ทำให้ “ศีล” ที่เราได้กำหนดตั้งเอาไว้ “บริบูรณ์” หรือ เป็นปกติ

๖. เมื่อศีลบริบูรณ์หรือเป็นปกติแล้ว ก็จะเกิด “ปิติ” ขึ้นในจิตใจ (ปีติสัมโพชฌงค์) เกิดความสงบกายและสงบใจ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) เกิดจิตใจที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) และ เกิดจิตใจที่เป็นกลาง วางเฉย เพราะมีปัญญารู้เห็นความจริงตามความเป็นจริง (อุเบกขาสัมโพชฌงค์)

***************

ปิติ (บาลี: Pīti) หมายถึง ความอิ่มใจ ความดื่มด่ำ

ปิติ เป็นหนึ่งใน วิปัสสนูกิเลส ๑๐

ปิติ เป็นสิ่งที่ มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา ไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้

ปิติ เป็นสิ่งที่ ไม่ควรหลงใหลติดใจ และ ไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้

การหลงใหลติดใจ และ การหลงไปยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์ปิติ จะทำให้เกิดความทุกข์ตามมา

และ จะทำให้เกิดความเนิ่นช้า

ปัสสัทธิ คือ ความสงบกายสงบใจ, ความสงบใจและอารมณ์,ความสงบเย็น, ความผ่อนคลายกายใจ
(ข้อ ๕ ในโพชฌงค์ ๗)[ความหมายตาม พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)]

***************

[๒๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีล ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอความไม่เดือดร้อน จงเกิดขึ้น แก่เราเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ ความไม่เดือดร้อน เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอความปราโมทย์ จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ ความปราโมทย์ เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อนนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความปราโมทย์ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอปีติ จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปีติ เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความปราโมทย์นี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอกายของเราจงสงบเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ สงบนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเสวยสุขเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว เสวยสุขนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีสุข ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอจิตของเรา จงตั้งมั่นเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ จิตของบุคคลผู้มีสุข ตั้งมั่น นี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงรู้ จงเห็น ตามเป็นจริงเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว รู้เห็นตามเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง เบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงคลายกำหนัดเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ บุคคลผู้เบื่อหน่าย คลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตคลายกำหนัดแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงทำให้แจ้ง ซึ่งวิมุตติญาณทัสนะเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ บุคคลคลายกำหนัดแล้ว ทำให้แจ้ง ซึ่งวิมุตติญาณทัสนะนี้ เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิราคะ มีวิมุตติญาณทัสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสนะเป็นอานิสงส์

นิพพิทา มีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์

ยถาภูตญาณทัสนะ มีนิพพิทาเป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์

สมาธิ มียถาภูตญาณทัสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสนะเป็นอานิสงส์

สุข มีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์

ปัสสัทธิ มีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์

ปีติ มีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์

ความปราโมทย์ มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์

ความไม่เดือดร้อน มีความปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์

ศีลที่เป็นกุศล มีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์

ด้วยประการดังนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลไปสู่ธรรมทั้งหลาย

ธรรมทั้งหลาย ย่อมยังธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์ เพื่อการถึงฝั่ง (คือนิพพาน) จากสถานอันมิใช่ฝั่ง (คือสังสารวัฏ) ด้วยประการฉะนี้แล ฯ


จบสูตรที่ ๒ อุปนิสาสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2563    
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2563 6:24:53 น.
Counter : 1504 Pageviews.  

39. โสดาบัน...การทำศีลให้บริบูรณ์ ตอนที่ ๓



ผู้เขียนขอย้ำว่า...

สิ่งสำคัญ สำหรับ “การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม” หรือ “การปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์” คือ


๑. ต้องปฏิบัติให้ถูกมรรคถูกทาง

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกมรรคถูกทาง คือ การเดินตามทาง “มรรคมีองค์ ๘” โดยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา)” เพื่อชำระล้าง “กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน” ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น


๒. ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ เพื่อทำให้เกิด “อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา”

การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ คือ การกำหนดตั้งศีล ให้สูงขึ้น โดยลำดับ โดยนำเอากิเลสในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด มากำหนดตั้งให้เป็นศีล โดยลำดับ แล้วทำการอบรมจิต (สมถภาวนา) และ อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เพื่อทำให้ศีลบริบูรณ์ 

การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ จะทำให้เกิด การขัดเกลากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ โดยลำดับ คือ หยาบ กลาง และ ละเอียด
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ จะทำให้เกิด การบรรลุธรรม โดยลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ จะทำให้เกิด “การเคลื่อนไปตามทางมรรคมีองค์ ๘ โดยลำดับ สู่ความพ้นทุกข์”

ลำดับของการกำหนดตั้งศีล คือ

ลำดับที่ ๑ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อทำศีลให้บริบูรณ์

ลำดับที่ ๒ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อทำศีลให้บริบูรณ์

ลำดับที่ ๓ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อทำศีลให้บริบูรณ์
 
๓. ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย

การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม หรือ การปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์ "ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย" จึงจะทำให้เกิด การขัดเกลาจิตใจ หรือ จึงจะทำให้เกิด การขัดเกลา หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ได้จริง

ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย จะทำให้เกิด การนอนเนื่องของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน (ไม่ทำให้เกิดมรรคผลจริง) และ จะทำให้เกิด การหลงคิดไปว่า ตนเองบรรลุธรรมแล้ว

“ผัสสะ เปรียบเสมือน แบบฝึกหัด หรือ แบบทดสอบ”

“ถ้าไม่มีผัสสะ เราจะไม่รู้ว่า เราสามารถเอาชนะกิเลสได้แล้ว จริงหรือไม่?”

“ถ้าไม่มีผู้ใด สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เราโกรธ (โทสะ) เราคงไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาอารมณ์โกรธ ออกจากจิตใจ”

“ถ้าไม่มีผู้ใด สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา อยากได้ อยากมี หรือ อยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต เราคงไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความโลภ (โลภะ) ออกจากจิตใจ”

“ถ้าไม่มีผู้ใด สิ่งใด หรือ เหตุการณ์ใด มากระทำให้เรา หลงใหลติดใจ หรือ หลงยึดมั่นถือมั่น เราคงไม่มีโอกาส ได้ขัดเกลาความหลง (โมหะ) ออกจากจิตใจ”

๔. ต้องมีความเพียร เป็นที่ตั้ง

การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม หรือ การปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์ "ต้องมีความเพียร เป็นที่ตั้ง" จึงจะทำให้เกิด “การบรรลุมรรคผล”

เพราะ การขัดเกลา หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย

๕. ต้องมองให้เห็น มรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย

การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม หรือ การปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์ "ต้องมองให้เห็น มรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย" หรือ "ต้องมองให้เห็น ความชนะในความแพ้” จึงจะเกิดพลัง หรือ จึงจะเกิดแรงผลักดัน (ฉันทะ) ให้ปฏิบัติธรรมต่อไป จนบรรลุมรรคผล

เพราะ การขัดเกลา หรือ การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

“กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือสิ่งที่มีฤทธิ์มีแรงมาก”

“กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน คือสิ่งที่ถูกสั่งสมพอกพูนเอาไว้ ภายในจิตใจ ข้ามภพข้ามชาติมา ไม่รู้ว่า กี่ภพกี่ชาติ”

การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจของเรา

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราต้องใช้ความเพียรพยายาม ค่อนข้างสูง

และ เราต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร

ถ้าเรามองไม่เห็น “มรรคผล (ความก้าวหน้า)” แม้มีประมาณน้อย

หรือ ถ้าเรามองไม่เห็น “ความชนะในความแพ้”

เราจะทุกข์ เราจะเครียด เราจะท้อแท้ และ เราจะหมดพลัง ในการปฏิบัติธรรม (หมดฉันทะ)
 

 ***************

สิ่งที่เราต้องเพียรทำ คือ

เราต้องเพียร ทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้น ในจิต

เราต้องเพียรหมั่น อบรมจิต (สมถภาวนา)

และ เราต้องเพียรหมั่น อบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)

ให้ติดเป็นนิสัย

เพื่อทำให้ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป

หรือ เพื่อทำให้ "ศีลบริบูรณ์"
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 19 มกราคม 2563    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2563 2:57:28 น.
Counter : 1925 Pageviews.  

38. โสดาบัน...การทำศีลให้บริบูรณ์ ตอนที่ ๒



เมื่อเราได้กำหนดตั้งศีลขึ้นมา เพื่อใชยึดถือปฏิบัติแล้ว

เราต้องปฏิบัติ “สมาธิ (สมถภาวนา)” และ “ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมด้วย

จึงจะทำให้ศีลบริบูรณ์

หรือ จึงจะทำให้ศีลเป็นปกติ (ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)

***************

การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา เพื่อทำให้ศีลบริบูรณ์ มีวิธีการดังนี้

๑. เพียรทำความมีสติ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล

๒. เมื่อใดก็ตาม ที่มี อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล เกิดขึ้น ภายในจิตใจ จงเพียรพยายาม ทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้เป็นสมาธิ เพื่อระงับจิต ไม่ให้ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล


๓. เพียรเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล ดังนี้

   ๓.๑ เพียรเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ยั่งยืน ความแปรปรวน ความไม่แน่นอน ความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ (อนิจจัง) ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล

(ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่ง (สังขาร) ร่วม มันจะดับลงไปเอง ในเวลาไม่นานนัก)
 
   ๓.๒ เพียรเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งว่า จริงๆแล้ว เราไม่ควรละเมิดศีล เพราะ การละเมิดศีล คือ มูลเหตุของความทุกข์ โทษ และ ภัย (ทุกขัง)

   ๓.๓ เพียรเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นจนชัดแจ้งว่า อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล นี้ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน (ไม่อาจจะกำหนดได้) มันเป็นแค่เพียงอุปาทาน ที่คนเรามีอยู่แตกต่างกัน เท่านั้นเอง และ มันเป็นสิ่งที่ สามารถจะทำให้ ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้ (อนัตตา)

***************

การได้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล ชื่อว่า พ้นสักกายทิฏฐิแล้ว หรือ ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว

เมื่อได้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล แล้ว

ก็จะเกิดการหมดสิ้นความลังเลสงสัย ในอารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล ชื่อว่า พ้นวิจิกิจฉาแล้ว หรือ ละวิจิกิจฉาได้แล้ว

เมื่อได้เห็นจนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของ อารมณ์อยาก อารมณ์ใคร่ อารมณ์ชอบใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อันเป็นเหตุที่จะทำให้เราละเมิดศีล จนหมดสิ้นความลังเลสงสัยแล้ว

ก็จะเกิดการละหน่ายคลาย และ เกิดการปล่อยวางได้ ชื่อว่า พ้นสีลัพพตปรามาสแล้ว หรือ ละสีลัพพตปรามาสได้แล้ว

การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา จนเกิดการละสังโยชน์ ๓ (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส) ได้แล้ว ชื่อว่า ได้ทำศีลให้บริบูรณ์แล้ว หรือ ได้ทำศีลให้เป็นปกติแล้ว
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 11 มกราคม 2563    
Last Update : 11 มกราคม 2563 6:51:51 น.
Counter : 2032 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.