"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

127. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 11



การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
คือ การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8
 
เพื่อปรับเปลี่ยน “การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม
 
ที่เป็นมิจฉา (อกุศล)
 
ให้เป็นสัมมา (กุศล)
 
ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
เพื่อดับกิเลส หรือ ขจัดกิเลส หรือ ชำระล้างกิเลส
 
ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
ต้องปฏิบัติให้สูงขึ้น โดยลำดับ
 
เพื่อให้เกิดเป็น “อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่ยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง)
 
จึงจะเกิดการเคลื่อนไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8
 
สู่ความดับทุกข์
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
จะทำให้เกิด “ความเห็นที่ถูก ที่ตรง ที่เป็นสัมมา (สัมมาทิฏฐิ)” ยิ่งๆขึ้น
 
จนพ้นอวิชชา
 
***************
 

ศีล คือสิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ที่เป็นมิจฉา (อกุศล) ให้เป็นสัมมา (กุศล)
 
การปฏิบัติศีล คือการตั้งใจไม่กระทำ หรือ ตั้งใจหยุดกระทำ หรือ ตั้งใจเลิกกระทำ “สิ่งที่ไม่ดี (อกุศล)” ที่เป็นการละเมิดศีล เพื่อไม่สร้าง “อกุศลวิบาก” มาเติมเพิ่มในชีวิต หรือ เป็นการตั้งใจ ไม่ปล่อยให้ “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ไหลเลื่อนไปตามอำนาจของกิเลส
 
ศีล เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ให้กลายเป็นปกติของตน โดยไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ (ให้พ้นสีลัพพตปรามาส) เพื่อปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ที่มีปกติเป็นมิจฉา (อกุศล) ให้มีปกติเป็นสัมมา (กุศล)
 
การปฏิบัติศีล ให้กลายเป็นปกติของตน โดยไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ (ให้พ้นสีลัพพตปรามาส) คือ การทำความดับ หรือ การขจัด หรือ การชำระล้าง “กิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล
 
การปฏิบัติศีล ให้กลายเป็นปกติของตน โดยไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ (ให้พ้นสีลัพพตปรามาส) ต้องใช้ "การปฏิบัติสมาธิ (สมถภาวนา หรือ การอบรมจิต)" และ "การเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา หรือ การอบรมปัญญา)" ร่วมกัน
 
การปฏิบัติศีลเพียงอย่างเดียว สามารถหยุดการกระทำ "สิ่งที่ไม่ดี (อกุศลกรรม)” ที่เป็นการละเมิดศีลได้ แต่จะไม่สามารถทำให้ศีล กลายเป็นปกติของตนได้ (ไม่พ้นสีลัพพตปรามาส)
 
***************
 

สมถภาวนา (การอบรมจิต) คือการทำจิตใจ ให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้ไม่กระเพื่อมไหว ให้มีสติ ให้มีสมาธิ ให้ไม่หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามอำนาจของกิเลส เพื่อทำให้กิเลส ระงับดับลงไป โดยไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ที่เป็นการละเมิดศีล
 
สมถภาวนา เป็นการทำความมีสติ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของกิเลส โดยไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อมีผัสสะมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ
 
สมถภาวนา เป็นการเพียรพยายามไม่ปล่อยให้กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ไหลเลื่อนไปตามอำนาจของกิเลส จนเกิดการละเมิดศีล
 
สมถภาวนา เป็นการระงับ “การกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม)” ที่เป็นการละเมิดศีล เพื่อไม่ให้เกิดอกุศลวิบาก มาเติมเพิ่มในชีวิต
 
การปฏิบัติสมถภาวนา (การอบรมจิต) เพียงอย่างเดียว จะไม่พ้นอวิชชา
 
***************
 

วิปัสสนาภาวนา (การอบรมปัญญา) คือการเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงใหลติดใจ ความหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นชอบใจ เป็นไม่ชอบใจ เป็นเฉยๆ เป็นอยากได้ เป็นอยากมี เป็นอยากเป็น เป็นตัวเป็นตนของตน เป็นของของตน ฯลฯ
 
การได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล จะทำให้เกิด “การละหน่ายคลาย” และ เกิด “การปล่อยวางได้” ชื่อว่า “พ้นสักกายทิฏฐิ” คือ ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นในกิเลส ว่าเป็นตัวเป็นตนของตน หรือ เป็นของของตน
 
การได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ของกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล จนพ้นสักกายทิฏฐิ ชื่อว่า “พ้นวิจิกิจฉา” หรือ “พ้นความลังเลสงสัย” ในกิเลสที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล (ทำให้เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)

เมื่อเกิด “การละหน่ายคลาย” จนเกิด “การปล่อยวางได้” จน “พ้นความลังเลสงสัย” แล้ว ก็จะทำให้ “ฤทธิ์แรงของกิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล ค่อยๆลดลง และ ดับสิ้นไป (กิเลสดับ) และในที่สุด จะทำให้ศีล กลายเป็นปกติของตน ชื่อว่า “พ้นสีลัพพตปรามาส” คือ ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ ไม่ต้องฝึกไม่ต้องฝืน อีกต่อไป

 
การเจริญวิปัสสนาภาวนา เป็นการทำความเห็น ให้ถูก ให้ตรง ให้เป็นสัมมา (สัมมาทิฏฐิ) จนพ้นความลังเลสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา) จนพ้นอวิชชา
 
การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา (การอบรมปัญญา) เพียงอย่างเดียว จะทำให้เกิด ความเนิ่นช้า
 
***************
 
[๓๒] ธรรม ๒ ประการนี้เป็นฝ่ายวิชชา
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมถะ (การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ)
๒. วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง)
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้จิตเจริญ
จิตที่เจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้ปัญญาเจริญ
ปัญญาที่เจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละอวิชชาได้
จิตที่เศร้าหมองเพราะราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น
ปัญญาที่เศร้าหมองเพราะอวิชชา ย่อมไม่เจริญ
เพราะสำรอกราคะ จึงมีเจโตวิมุตติ
เพราะสำรอกอวิชชา จึงมีปัญญาวิมุตติ
พาลวรรคที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า :๗๖ }


***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ร่วมกัน
 
ให้สูงขึ้น โดยลำดับ
 
เพื่อทำความดับ “กิเลส” ในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส)
 
จะทำให้เกิด “การบรรลุธรรม” โดยลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 03 กันยายน 2566    
Last Update : 1 มกราคม 2567 6:50:05 น.
Counter : 239 Pageviews.  

126. ครบรอบ 38 ปี ของการปฏิบัติธรรม



เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2566

ครบรอบ 38 ปี ของการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์
 
(จากอายุ 24 ปี ถึงปัจจุบันอายุ 62 ปี)

ครบรอบ 38 ปี ของการกินอาหารมังสวิรัติ

และ ครบรอบ 12 ปี ของการกินอาหารมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง) 
 
***************
  
วัตถุประสงค์หลักของการปฏิบัติธรรม คือ เพื่อทำความดับแห่งกองทุกข์

เพราะ “มีความทุกข์
จึงเพียรพยายามค้นหา “วิธีการดับทุกข์

เพราะเพียรพยายามค้นหา “วิธีการดับทุกข์
จึงได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์

เพราะได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์
จึงเพียรพยายาม "เดินไปตาม หนทางสู่ความดับทุกข์
 
เพราะเพียรพยายาม "เดินไปตาม หนทางสู่ความดับทุกข์
จึงได้พบกับ “ความสุขสงบ (วูปสโมสุข)


***************
 
การเดินไปตามเส้นทาง “สายโลกียะ (ทางโลก)
 
ยิ่งเดินไปข้างหน้า
 
ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหนัก
 
ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียด
 
ยิ่งมองไม่เห็น "จุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด"
 
***************
 
การเดินไปตามเส้นทาง “สายโลกุตระ (อริยมรรคมีองค์ 8)
 
ยิ่งเดินไปข้างหน้า
 
ยิ่งเบา ยิ่งสบาย
 
ยิ่งสุข ยิ่งสงบ
 
ยิ่งเข้าใกล้ "จุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด"
 
คือ "ความดับแห่งกองทุกข์" หรือ "พระนิพพาน"
 
***************
 
เตสํ วูปสโม สุโข ความสงบระงับแห่งสังขาร (การปรุงแต่ง) เหล่านั้น เป็นสุข
 
นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” 
 
***************
 
อายุ 62+ แล้ว
 
ยังคงเดินหน้า
 
ทำการงานอาชีพ
 
ควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรม
 
ต่อไป
 
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้
 
ก่อนลาจากโลกนี้ไป
 
ชาญ คำพิมูล
13/08/2566

 




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2566    
Last Update : 13 สิงหาคม 2566 6:04:23 น.
Counter : 210 Pageviews.  

125. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 10



กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม
 
กรรมดี หรือ การกระทำที่ดี (กุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมดี (กุศลวิบาก) คือ การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย” (ทำให้เป็นสุข)
 
กรรมไม่ดี หรือ การกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก) คือ การได้รับ และ การได้ประสบกับ “สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย” (ทำให้เป็นทุกข์)
 
***************
 
ถ้าชีวิตนี้ มี “ความทุกข์

และมักจะมี “สิ่งที่ไม่ดี” หมุนเวียนเข้ามาในชีวิต อยู่เนืองๆ

จง “แก้กรรม (ปรับเปลี่ยนการกระทำ)” ที่ไม่ดีที่เป็นอกุศล (มิจฉา)

ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

ให้เป็นกรรมที่ดีที่เป็นกุศล (สัมมา)

ด้วยการปฏิบัติตาม “อริยมรรคมีองค์ 8
 
***************
 
ถ้าต้องการ จะทำความ “พ้นทุกข์” หรือ “ดับทุกข์

จงเริ่มต้น เดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8

เพื่อปรับเปลี่ยน “การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม” ที่เป็นมิจฉา (อกุศล)

ให้เป็น สัมมา (กุศล)

ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

เพื่อ ดับกิเลส หรือ ขจัดกิเลส หรือ ชำระล้างกิเลส

ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
***************
 
ไม่มีใคร ช่วยให้ใคร พ้นทุกข์ (ดับทุกข์) ได้
ตนของตนเท่านั้น ที่จะช่วยให้ตน พ้นทุกข์ (ดับทุกข์) ได้

 
การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น

ไม่ว่าจะมากมายสักเท่าใด

ก็ไม่อาจจะช่วยให้ผู้อื่น พ้นทุกข์ได้

อย่างมากก็แค่เพียง ช่วยให้ผู้อื่น “คลายทุกข์ได้” เป็นครั้งคราว เท่านั้นเอง
 
การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ควรทำตามกำลัง ตามสมควร
 
การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ที่ไม่เหมาะสม หรือ ที่มากจนเกินควร
อาจส่งผลเสีย ทั้งต่อตัวผู้ให้ และ ต่อตัวผู้รับ

 
ถ้าเราต้องการจะช่วยให้ผู้อื่น พ้นจากกองทุกข์
เราควรทำตัวของเรา ให้พ้นจากกองทุกข์ ให้ได้ก่อน

 
***************
 
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย

อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา

บุคคล ไม่ควรพร่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ของผู้อื่น แม้มาก

รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวาย ในประโยชน์ของตน


(พุทฺธ) ขุ.ธ. ๒๕/๓๗.

พร่า[พฺร่า] หมายถึง ก. ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้ย่อยยับ เช่น พร่าชื่อเสียง พร่าทรัพย์สมบัติ พร่าประโยชน์ ว. กระจัดกระจายจนเห็นหรือได้ยินไม่ถนัดชัดเจน เช่น ตาพร่า รูปพร่า เสียงพร่า

***************

การทำประโยชน์ของตน หมายถึง การทำสิ่งที่มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิตของตน ที่จะส่งผลดีต่อชีวิตของตน ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป ได้แก่

1. การเรียนรู้ทุกข์ การเรียนรู้การเกิดแห่งทุกข์ การเรียนรู้การดับแห่งทุกข์ และ การเรียนรู้วิธีการดับทุกข์

2. การทำความดับทุกข์ โดยการเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8
 
***************
 
การทำ “ประโยชน์ของตน

ย่อมจะก่อให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” ตามมา อย่างแน่นอน เป็นธรรมดา

ดังนั้น เราจึงควร มุ่งเน้น “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก

แล้วจะเกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” ตามมา อย่างเหมาะสม

***************
อย่าพร่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ของผู้อื่น แม้มาก” หมายถึง

1. จงอย่าใช้วันเวลาของชีวิตของตน ไปกับ “เรื่องราวของโลก ของสังคม และของผู้อื่น” มากจนเกินควร จนทำให้เสียประโยชน์ของตน หรือ จนทำให้ไม่มีเวลาได้ทำประโยชน์ของตน

2. จงอย่าปล่อยให้ “ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง” เข้ามาครอบงำจิตใจของตน เพราะ "ประโยชน์ของผู้อื่น" แม้มาก
 
***************
 
เพราะเหตุว่า

โลกและสังคมของเรา

ได้ถูกขับเคลื่อน ให้แปรเปลี่ยนไป

ด้วยแรงแห่ง “กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน” ของแต่ละคน ที่อาศัยอยู่ในโลกและสังคม

มุ่งหน้าไปสู่ “ความเสื่อม โทรมทรุด ตกต่ำ เดือดร้อน วุ่นวาย และ เลวร้าย” มากขึ้น เป็นธรรมดา

ไม่มีใครผู้ใด ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนโลกและสังคม ให้ดีขึ้นได้ อย่างยั่งยืน และ ถาวร ตลอดไป

สิ่งที่สามารถจะทำได้ อย่างมากก็คือ ช่วยชลอการเปลี่ยนแปลง ให้ช้าลง เท่านั้นเอง

ดังนั้น

เราจึงควร “ทำประโยชน์ให้กับโลกและสังคม” ตามกำลัง ตามสมควร

เพื่อเก็บเกี่ยวบุญ (ชำระล้างกิเลส) และ เก็บเกี่ยวกุศล (สั่งสมวิบากกรรมดี)
 
***************
 
 “จงคิดดี พูดดี และ ทำดี ให้ติดเป็นนิสัย
เพื่อให้มีแต่สิ่งดีๆ หมุนเวียนเข้ามาในชีวิต อย่างต่อเนื่อง

 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 01 สิงหาคม 2566    
Last Update : 2 สิงหาคม 2566 7:06:51 น.
Counter : 240 Pageviews.  

124. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 9



ถ้าเราไม่เดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8

แล้วเราจะถึงจุดหมายปลายทาง คือ “ความดับทุกข์ (พ้นทุกข์)” ได้อย่างไร?

เพราะ “อริยมรรคมีองค์ 8

คือหนทางไปสู่ “ความดับทุกข์ (พ้นทุกข์)
 
***************
 
ผู้ที่ต้องการจะ “ทำความดับทุกข์

ต้องเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8

ด้วยการปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

เพื่อปรับเปลี่ยน “การงานอาชีพ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

ที่เป็น “มิจฉา (อกุศล)"

ให้เป็น “สัมมา (กุศล)
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ “ละกิเลส หรือ ดับกิเลส หรือ ชำระล้างกิเลส” ที่เป็นมูลเหตุของ “อกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” เป็นการทำให้จิตใจ ใสสะอาด ให้ปราศจากกิเลส ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
***************
 
การเดินไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8” ของแต่ละคน

จะมีจุดเริ่มต้น ที่แตกต่างกัน เพราะ
 
คนบางคน มีการละเมิด “ศีล 5” เป็นปกติของตน

คนบางคน มี “ศีล 5” เป็นปกติของตนแล้ว บางข้อ

คนบางคน มี “ศีล 5” เป็นปกติของตนแล้ว ทุกข้อ

คนบางคน มี “ศีล 8” เป็นปกติของตนแล้ว บางข้อ

คนบางคน มี “ศีล 8” เป็นปกติของตนแล้ว ทุกข้อ

คนบางคน มักโลภ มักโกรธ มักหลง

คนบางคน ไม่มีความโลภ เป็นปกติของตนแล้ว

คนบางคน ไม่มีความโกรธ เป็นปกติของตนแล้ว แต่อาจจะยังมี “ความไม่ชอบใจไม่พอใจ และ ความขัดเคืองใจ” อยู่

คนบางคน ไม่มี “ความหลงใหลติดใจ ในลาภ ในยศ และ ในสรรเสริญ” แล้ว แต่อาจจะยังมี “ความหลงใหลติดใจในกามคุณ 5” อยู่ เช่น รสชาติอาหาร เสียงเพลง ฯลฯ

คนบางคน มีการงานอาชีพ ที่ยังเป็นมิจฉาอยู่ (ยังไม่พ้นมิจฉาวณิชชา 5 และ ยังไม่พ้นมิจฉาอาชีวะ 5)

คนบางคน มีการงานอาชีพ ที่เป็นสัมมา (พ้นมิจฉาวณิชชา 5 และ พ้นมิจฉาอาชีวะ 5) แล้ว

ฯลฯ
 
***************
 
เมื่อจิตใจของเรา ใสสะอาด ปราศจากกิเลสแล้ว

ถ้าเราต้องการจะทำความดับทุกข์ เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน

เราต้องปล่อยวางจิตใจ

คือ ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกนึกคิด ไหลเลื่อนไปตาม “การปรุงแต่ง (สังขาร) ของจิตใจ

เพราะ จิตใจ เป็นสิ่งนำพาให้เกิด

และ จิตใจ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน
 
ถ้าจิตใจ เป็นตัวเป็นตนของเราจริงแท้

หรือ ถ้าจิตใจ เป็นของของเราจริงแท้

เราจะสามารถกำหนดได้ว่า

จิตใจของเรา จงเป็นสุขอยู่ทุกเมื่อเถิด

จิตใจของเรา จงอย่าเป็นทุกข์เลย

จิตใจของเรา จงอย่าปรุงฟุ้งซ่าน จงอย่าวิตกกังวลเลย

จิตใจของเรา จงนิ่งสงบเถิด จงอย่าร้อนรนเลย
ฯลฯ
 
***************
 
โดยปกติแล้ว

จิตใจของเรา มักจะมีการปรุงแต่ง (สังขาร) ไปต่างๆนานา

ตามเหตุตามปัจจัยจากภายนอกบ้าง

โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยจากภายนอกบ้าง

เราไม่สามารถจะกำหนดได้ และ ไม่สามารถจะควบคุมได้ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
 
***************
 
***การปฏิบัติธรรม ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องตามลำดับ

จะไม่ทำให้เกิด การบรรลุธรรมตามลำดับ

จะทำให้เกิด การเวียนวนอยู่ในวังวนของความสุข (โลกียสุข) และความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด

อาจทำให้กิเลส พอกพูนเพิ่มขึ้น

และ อาจทำให้เกิดความทุกข์และความเครียด เพิ่มขึ้น
 
***การปฏิบัติธรรม ที่ถูกมรรคถูกทาง และ ถูกต้องตามลำดับ

จะทำให้เกิด การบรรลุธรรมตามลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

จะทำให้กิเลส ลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป ตามลำดับ

จะทำให้ความทุกข์ ลดลง ตามลำดับ

และ จะทำให้ได้รับ ความสุขสงบ มากขึ้น ตามลำดับ
 
***************
 
ผู้เขียนเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดมาแล้ว “มีความทุกข์

เพราะ “มีความทุกข์” จึงเพียรพยายามค้นหา “วิธีการดับทุกข์ (พ้นทุกข์)

เพราะเพียรพยายามค้นหา “วิธีการดับทุกข์ (พ้นทุกข์)” จึงได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์ (พ้นทุกข์)

เพราะได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์ (พ้นทุกข์)” จึงเพียรพยายามเดินไปตาม “หนทางสู่ความดับทุกข์ (พ้นทุกข์)

***************
 
ผู้เขียน เขียนสรุปเอาไว้

เพื่อเป็นแง่คิดมุมมองหนึ่ง ของการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้าง

จงอย่าหลงเชื่อตามสิ่งใดๆ โดยง่าย
โดยไม่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองโดยรอบคอบ
และ โดยไม่ผ่านการพิสูจน์ให้เห็นจริงชัดแจ้งด้วยตนเอง


ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2566    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2566 9:19:00 น.
Counter : 424 Pageviews.  

123. บทสรุปของการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ ตอนที่ 8



อารมณ์โกรธ หรือ ความโกรธ

เป็นหนึ่งในกิเลสหลัก

ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมและความทุกข์ทั้งหลาย
 
***************
 
อารมณ์โกรธ หรือ ความโกรธ

เป็นสิ่งที่ “ต้องละ หรือ ต้องดับ” ให้ได้

เพื่อทำให้ “ความไม่โกรธ (ศีล)” เป็นปกติของตน
 
***************
 
อารมณ์โกรธ หรือ ความโกรธ (โกธะ) เป็นหนึ่งในกิเลสสาย “โทสะ

กิเลสในสาย “โทสะ” มีลำดับของการเกิดการสั่งสมพอกพูนขึ้น ดังนี้

1. อรติ หมายถึง ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ 

2. ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ ความเคืองใจ

3. โกธะ หมายถึง ความโกรธ ความคิดเดือดดาลแห่งจิต

4. โทสะ หมายถึง ความฉุนเฉียว ความโมโห ความคิดที่จะทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ

5. พยายาท หมายถึง ความปองร้าย ความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ
 
***************
 
การดับ หรือ การละ “ความโกรธ”

เพื่อทำให้ “ความไม่โกรธ (ศีล)” เป็นปกติของตน มีแนวทาง ดังนี้

1. เพียรหมั่นฝึกฝนอบรมจิต ให้เข้มแข็ง ให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่น ให้ไม่กระเพื่อมไหว ให้มีสมาธิ

เพื่อให้สามารถระงับจิต ไม่ให้จิตปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” ที่เกิดขึ้นในจิต

และ เพื่อให้มีสติ สามารถรับรู้ “การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป” ของ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ" ที่เกิดขึ้นในจิต

2. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ) ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์)” ของ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” ที่เกิดขึ้นในจิต ดังนี้

2.1 เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นสิ่งที่ “มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน และ มีความไม่แน่นอน” เป็นธรรมดา  เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่งร่วม (สังขาร) มันจะดับลงไปเอง ในเวลาไม่นานนัก (อนิจจัง)

2.2 เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และ ภัยทั้งหลาย” (ทุกขัง)

2.3 เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นสิ่งที่ “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ไม่ใช่ของของตน” เป็นสิ่งที่ “ไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้” และ เป็นสิ่งที่ “สามารถทำให้ลดลงได้ จางคลายลงได้ และ ดับสูญสิ้นไปจากจิตใจได้” (อนัตตา)
 
3. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา เพื่อให้เห็นความจริง จนชัดแจ้งว่า “จริงๆแล้ว เราไม่ควรไม่ชอบใจไม่พอใจ เราไม่ควรขัดเคืองใจ และ เราไม่ควรโกรธ” “จริงๆแล้ว เราควรให้อภัย” และ “จริงๆแล้ว เราควรละ ควรปล่อย ควรวาง” เพื่อสลาย “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” ที่มีอยู่ในจิตใจ ไม่ให้ค้างคาอยู่ในจิตใจ ดังตัวอย่าง การเพ่งพิจารณา ดังต่อไปนี้

3.1 ทำไม? เขาจึงพูด เขาจึงทำ อย่างนั้น จนทำให้เรา “ไม่ชอบใจไม่พอใจ ขัดเคืองใจ หรือ โกรธ
       
เป็นเพราะ...เขามีความจำเป็น ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เขามีความเข้าใจผิด คิดไปเอง ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เราเคยทำให้เขาไม่พอใจ ขัดเคืองใจ หรือ โกรธ ทั้งที่โดยตั้งใจ และ โดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่รู้ และ โดยไม่รู้ ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...พฤติกรรม หรือ การกระทำของเรา ไม่เหมาะสม จนทำให้เขา ไม่ชอบเรา ไม่พอใจเรา ขัดเคืองใจเรา โกรธเรา ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เขาอิจฉาริษยาเรา ใช่ไหม?
      
หรือ เป็นเพราะ...เขาเป็นคนที่มีนิสัยไม่ดี คือ เป็นคนมักโลภ มักโกรธ มีความเห็นแก่ตัว ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ชอบเบียดเบียนผู้อื่น เป็นคนไม่กรงใจผู้อื่น เป็นคนมักง่าย เป็นคนพูดจาไม่ดี ฯลฯ ในกรณีนี้ ถ้าเราจำเป็นต้องคบหา หรือ จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เราต้องระมัดระวังในการคบหาหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเรา และเราต้องทำใจให้ปล่อยวางให้ได้
ฯลฯ
   
        “ถ้าพฤติกรรม หรือ การกระทำของเรา ไม่เหมาะสมจริงๆ เราควรพิจารณาปรับปรุง หรือ ปรับเปลี่ยน ให้เหมาะสม


3.2 ทำไม? เราจึง “ไม่ชอบใจไม่พอใจเขา ขัดเคืองใจเขา หรือ โกรธเขา
       
เป็นเพราะ...เรากำลังอารมณ์ไม่ดีอยู่ ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...เราเข้าใจผิด คิดไปเอง ใช่ไหม?
       
เป็นเพราะ...จริงๆแล้ว เขาต้องการทำให้เราพอใจ แต่เราไม่พอใจ เพราะ มันไม่ถูกใจเรา ใช่ไหม?
       
หรือ เป็นเพราะ...จริงๆแล้ว เขาปรารถนาดีต่อเรา แต่เราไม่พอใจ เพราะ มันไม่ถูกใจเรา ใช่ไหม?
ฯลฯ
 
 3.3 เราควรละ ควรปล่อย ควรวาง ดีกว่าไหม? และ เราควรให้อภัยแก่เขา ดีกว่าไหม? เพราะ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และภัยทั้งหลาย

***************

บุคคลทั้งหลาย ล้วนต้องการให้ผู้อื่นรัก ไม่ได้ต้องการให้ผู้อื่นเกลียดชัง เป็นธรรมดา

ดังนั้น ถ้ามีผู้ใด มากระทำให้เรา ไม่ชอบใจไม่พอใจ ขัดเคืองใจ หรือ โกรธ
มันต้องมีสาเหตุของมัน อย่างแน่นอน

***************

ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ไม่ควรโกรธ ไม่ควรขัดเคืองใจ และ ไม่ควรไม่ชอบใจไม่พอใจ

ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ควรให้อภัย

ไม่ว่าจะอย่างไร? ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด? เราก็ควรละ ควรปล่อย ควรวาง

เพราะ “อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ” เป็นมูลเหตุของ “ความทุกข์ ความโศก โรค โทษ และภัยทั้งหลาย

***************
 
กมฺมุนา วตฺตตีโลโก (กัมมุนา วัตตติ โลโก) สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม

กรรมดี หรือ การทำดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ  มีผลเป็น “วิบากกรรมดี (กุศลวิบาก)

กรรมไม่ดี หรือ การทำไม่ดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ มีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก)

ผู้ที่กระทำ “กรรมไม่ดี” ย่อมได้รับผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี” อย่างแน่นอน

เราไม่ควรกระทำ “กรรมไม่ดี” เพื่อตอบโต้ คนที่กระทำ “กรรมไม่ดี” กับเรา

เพราะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด “กรรมไม่ดี” ย่อมมีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี” อย่างแน่นอน
 
***************
 
ถ้าไม่มีผู้ใด

มากระทำให้เรา “โกรธ ขัดเคืองใจ และ ไม่ชอบใจไม่พอใจ

เราคงไม่มีโอกาสได้ทำ “อภัยทาน
 
***************
 
หากเราพิจารณาดูให้ดีๆแล้ว

เราจะพบว่า

อารมณ์ไม่ชอบใจไม่พอใจ อารมณ์ขัดเคืองใจ และ อารมณ์โกรธ

มักจะเกิดจาก “ความเข้าใจผิด คิดไปเอง
 
***************
 
การเพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ดังกล่าวมาข้างต้น

เป็นการ "ทำให้เกิดปัญญาล้างอวิชชา (ทำให้พ้นวิจิกิจฉา)"

เพื่อทำให้เกิด "การละหน่ายคลายและการปล่อยวางได้ (ทำให้พ้นสักกายทิฏฐิ)"

และ เมื่อเกิดการปล่อยวางได้แล้ว

ก็จะทำให้ “ความไม่โกรธ (ศีล)” กลายเป็นปกติของตน (ทำให้พ้นสีลัพพตปรามาส)  
 
***************
 
การละ หรือ การดับ” ความโลภ และ ความหลง

ก็จะมีแนวทางหลักๆ ที่เหมือนกัน
 
***************
 
การไม่เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา

เพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ (โยนิโสมนสิการ)

จะทำให้กิเลส เกิดการสั่งสมพอกพูนขึ้น จนมีฤทธิ์มีแรงมากขึ้น
 
**************
 
เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งที่ใจ

หมายถึง เห็นความจริงตามความเป็นจริง

จนสิ้นความลังเลสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา)

จนใจยอมรับ ยอมปรับยอมเปลี่ยน ยอมปล่อยยอมวาง
 
***************
 
การปล่อยวางกิเลสได้

จะทำให้ฤทธิ์แรงของกิเลส

ค่อยๆลดลง จางคลายลง และ หมดสิ้นไป ในที่สุด

และทำให้กิเลส ดับสิ้นไปจากจิตใจ ในที่สุด (ละกิเลสได้)

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2566    
Last Update : 18 มิถุนายน 2566 18:21:57 น.
Counter : 293 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.