"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

67. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 8



การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
ต้องใช้ ความเพียรที่เป็นสัมมา (สัมมาวายามะ) และ สติที่เป็นสัมมา (สัมมาสติ) ร่วมด้วย
 
***************
 
ความเพียรที่เป็นสัมมา (สัมมาวายามะ)
 
หมายถึง ความเพียรเพื่อละกิเลส ราคะ โทสะ และ โมหะ
 
***************
 
ความเพียรเพื่อละกิเลส ราคะ โทสะ และ โมหะ
 
คือ สัมมัปปธาน 4
 
***************
 
 [๖๗๓-๖๘๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การงานที่พึงทำด้วยกำลังทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้

แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล แล้วเจริญสัมมัปปธาน ๔ ประการ ทำสัมมัปปธาน ๔ ประการให้มาก

ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล แล้วเจริญสัมมัปปธาน ๔ ประการ ทำสัมมัปปธาน ๔ ประการให้มาก อย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น

๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว

๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น

๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล แล้วเจริญสัมมัปปธาน ๔ ประการ ทำสัมมัปปธาน ๔ ประการให้มาก อย่างนี้แล”
 

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๓๖๓ พลกรณียาทิสูตร}

***************
 
สติที่เป็นสัมมา (สัมมาสติ)
 
หมายถึง ความระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อละกิเลส ราคะ โทสะ และ โมหะ
 
***************
 
ความระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อละกิเลส ราคะ โทสะ และ โมหะ
 
คือ สติปัฏฐาน 4
 
***************
 
๕. พาหิยสูตร
ว่าด้วยพระพาหิยะ

[๓๘๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระพาหิยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ เถิด”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอจงทำเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลาย ให้หมดจดก่อน อะไร เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และ ความเห็นที่ตรง พาหิยะ เมื่อใด ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และ ความเห็นจักตรง เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล แล้วพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง

คือ ในธรรมวินัยนี้ เธอ

๑. จงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

๒. จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ

๓. จงพิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ

๔. จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี สัมปชัญญะ มีสติ กาจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

พาหิยะ เมื่อใด เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล แล้วจักเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืน หรือ วันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย”

ลำดับนั้น ท่านพระพาหิยะ ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณ แล้วจากไป

ต่อมา ท่านพระพาหิยะ ก็หลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ อีกต่อไป”

อนึ่ง ท่านพระพาหิยะ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

พาหิยสูตรที่ ๕ จบ


{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม: ๑๙ หน้า: ๒๓๖-๒๓๗ }

***************

***ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
 
อภิชฌา [อะ-พิด-ชา] (มค. อภิชฺฌา) น. ความโลภ, ความอยากได้, ตัณหา.

โทมนัส [โทม-มะ-นัด] (มค. โทมนสฺส) น. ความเศร้าใจ, ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ.

ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 06 กันยายน 2563    
Last Update : 6 กันยายน 2563 8:14:55 น.
Counter : 593 Pageviews.  

66. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 7



การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา

เพื่อทำให้เกิด การเคลื่อนไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8” สู่ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล

สามารถปฏิบัติได้ 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 ปฏิบัติศีลให้สูงขึ้นโดยลำดับ (ให้เป็นอธิศีล) โดยใช้ศีลที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และ ศีลพระปาฏิโมกข์

แนวทางที่ 2 ปฏิบัติศีลให้สูงขึ้นโดยลำดับ (ให้เป็นอธิศีล) โดยใช้อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง เรียกว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา

***************

แนวทางที่ 1 เป็นแนวทางที่หลายๆคน อาจมองว่า เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ค่อนข้างยาก เพราะ มีศีลที่ต้องยึดถือปฏิบัติค่อนข้างมาก

แต่ถ้าหากเข้าใจ หลักการปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา แล้ว

จะพบว่า จริงๆแล้ว ไม่ได้ยากจนเกินไปนัก

เพราะ เมื่อเราสามารถปฏิบัติศีลข้อหนึ่งข้อใดได้ จนเป็นปกติของเราแล้ว เราก็ไม่ต้องยึดต้องถือศีลข้อนั้น อีกต่อไป

หรือ ศีลบางข้อ อาจเป็นปกติของเราอยู่แล้ว เช่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เสพสุราและสิ่งเสพติด ฯลฯ
 
แนวทางที่ 2 เป็นแนวทางที่ผู้เขียนยึดถือปฏิบัติอยู่

ผู้เขียนคิดว่า แนวทางที่ 2 เป็นแนวทางที่เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติที่เป็นฆราวาส

***************

เป้าประสงค์หลักของการปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญา คือ

เพื่อละกิเลส คือ ราคะ โทสะ และ โมหะ


***************

. วัชชีปุตตสูตร

ว่าด้วยภิกษุวัชชีบุตร

[๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี

ครั้งนั้น ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ ทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถศึกษาในสิกขาบทนี้ได้”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ ก็เธอจักสามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา หรือ”

ภิกษุวัชชีบุตรนั้น กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาได้”

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา

เมื่อใด เธอศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เมื่อนั้น เธอผู้ศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาอยู่ ก็จักละราคะ โทสะ และโมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ และโมหะได้ เธอจักไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล จักไม่ประพฤติสิ่งที่เลวทรามอีก

ครั้นต่อมา ภิกษุนั้นศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เมื่อเธอผู้ศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาอยู่ ก็ละราคะ โทสะ และโมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เธอจึงไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล ไม่ประพฤติสิ่งที่เลวทรามอีก

วัชชีปุตตสูตรที่ ๔ จบ
 
เชิงอรรถ : วัชชีบุตร หมายถึงเป็นบุตรของวัชชีราชสกุล (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๕/๒๓๙)

เชิงอรรถ : สมัยที่พระวัชชีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคนั้น สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้มีเพียง ๑๕๐ ข้อ (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๕/๒๔๐)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า :๓๑๐-๓๑๑ }
 
หมายเหตุ:

1. สิกขาบท น. ข้อศีล, ข้อวินัย. (ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร)

2. ภายหลังสิกขาบทได้เพิ่มเป็น 227 ข้อ
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2563    
Last Update : 30 สิงหาคม 2563 13:43:17 น.
Counter : 722 Pageviews.  

65. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 6



การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8

โดยใช้ ศีล สมาธิ (สมถะ) และ ปัญญา (วิปัสสนา) ร่วมกัน

ต้องปฏิบัติให้เกิดเป็น อธิศีล (ศีลที่ยิ่ง) อธิจิต (จิตที่ยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาที่ยิ่ง)

จึงจะเกิดการเคลื่อนไปตามทาง “อริยมรรคมีองค์ 8” สู่ความดับทุกข์

***************

การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา เพื่อทำให้เกิดเป็น อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา

คือการปฏิบัติ ที่มีการกำหนดตั้งศีลให้สูงขึ้นโดยลำดับ โดยใช้อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง แล้วใช้สมาธิและปัญญาร่วมกัน เพื่อทำให้ศีลเป็นปกติสูงขึ้นโดยลำดับ (อธิศีล)

การปฏิบัติดังกล่าว จะทำให้เกิดจิตที่ยิ่ง หรือ จิตที่มีสมาธิยิ่งขึ้น (อธิจิต) และ จะทำให้เกิดปัญญาในทางธรรม มากยิ่งขึ้น (อธิปัญญา)
 
***************


ในเบื้องต้น

พระพุทธองค์ได้ทรงนำเอาบางส่วนของ “อริยมรรคมีองค์ 8” มาบัญญัติไว้ในศีล 5 เพื่อให้ยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ คือ

1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ (ไม่ฆ่าสัตว์)

2. เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ (ไม่ลักทรัพย์)

3. เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (ไม่ประพฤติผิดในกาม)

4. เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ (ไม่พูดเท็จ)
 
***************
 
เมื่อมีศีล 5 เป็นปกติของตนแล้ว

ให้กำหนดตั้งศีลให้สูงขึ้นโดยลำดับ เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติให้เป็นปกติ

โดยใช้อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง ดังนี้

1. ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นมิจฉาอาชีวะ

2. ไม่พูดส่อเสียด (เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด)

3. ไม่พูดคำหยาบ (เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ)

4. ไม่พูดเพ้อเจ้อ (เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ)

5. ไม่โลภ (ดำริในการไม่เบียดเบียน)

6. ไม่โกรธ (ดำริในการไม่พยาบาท)

7. ไม่หลงใหลติดใจ และ ไม่หลงไปยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์สุขที่เกิดจาก อุปาทานขันธ์ 5 (ดำริในการออกจากกาม)
 
***************
 
มิจฉาอาชีวะ คือ

1. การโกง (กุหนา)

2. การล่อลวง (ลปนา)

3. การตลบตะแลง (เนมิตฺติกตา)

4. การยอมมอบตนในทางผิด (นิปฺเปสิกตา)

5. การเอาลาภต่อลาภ (ลาเภนลาภํนิชิคีสนตา)

*************** 

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน

คือ การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ

นี้มิจฉาอาชีวะ ฯ


{ที่มา: พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๑๔ มหาจัตตารีสกสูตร ที่ ๗ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ }

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2563    
Last Update : 23 สิงหาคม 2563 6:10:30 น.
Counter : 709 Pageviews.  

64. ความเกิดแห่งกองทุกข์ และ ความดับแห่งกองทุกข์ ตอนที่ 5



การทำความดับแห่งกองทุกข์

คือ การทำให้แจ้งในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ (ทุกขสมุทัย) ในความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธ) และ ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)

***************

ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์ หรือ ทางเดินไปสู่ความดับแห่งกองทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)

คือ อริยมรรคมีองค์ 8


***************

การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8
 
คือ การปฏิบัติเพื่อทำความดับแห่งกองทุกข์

***************
การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8

จะใช้ ศีล สมาธิ (สมถะ) และ ปัญญา (วิปัสสนา) ร่วมกัน

***************
การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 โดยใช้ ศีล สมาธิ (สมถะ) และ ปัญญา (วิปัสสนา) ร่วมกัน

คือ การปฏิบัติที่มีการกำหนดตั้ง “ศีล” ขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติให้เป็นปกติ โดยใช้ ”อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง แล้วใช้ “สมาธิ (สมถะ)” และ “ปัญญา (วิปัสสนา)” ร่วมกัน เพื่อทำให้ศีลเป็นปกติ (ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ)

***************

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร มัคคสัจจนิทเทส
 
[๑๓๕] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)

๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)

๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)

๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)

๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)

๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)

๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)

๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
 
สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร

คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
 
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร

คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน

นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
 
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร

คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
 
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร

คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
 
สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร

คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย สัมมาอาชีวะ

นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
 
สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภ ความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
 
สัมมาสติ เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

นี้เรียกว่า สัมมาสติ
 
สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ
 
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ }
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2563    
Last Update : 22 สิงหาคม 2563 5:56:00 น.
Counter : 700 Pageviews.  

63. 35 ปี ของการปฏิบัติธรรม


 

เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2563


ครบรอบ 35 ปี ของการปฏิบัติธรรม


ครบรอบ 35 ปี ของการกินอาหารมังสวิรัติ


และ ครบรอบ 9 ปี ของการกินอาหารมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง)
 

หมายเหตุ: เริ่มต้นปฏิบัติธรรม เมื่ออายุ 24 ปี ปัจจุบัน อายุ 59 ปี


***************

ผลของการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง คือ


1. ทำให้ความทุกข์ ลดลงโดยลำดับ


2. ทำให้ได้รับความสุขสงบ มากขึ้นโดยลำดับ


3. ทำให้มีสิ่งดีๆ หมุนเวียนเข้ามาในชีวิต อย่างต่อเนื่อง


***************


อานิสงส์ของการกินมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง) คือ


   1. มีความเจ็บป่วยน้อย (อัปปาพาธัง)


   2. มีความลำบากกายน้อย (อัปปาตังกัง)


   3. มีความเบากายเบาใจ (ลหุฏฐานัง)


   4. มีกำลัง (พลัง)


   5. อยู่อย่างผาสุก (ผาสุวิหารัง)


***************


๕. ภัททาลิสูตร


คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว


[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.


ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย.


ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า.


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลาย จงมาฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด


ด้วยว่า เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ.


{พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)


ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 08 สิงหาคม 2563    
Last Update : 8 สิงหาคม 2563 6:24:34 น.
Counter : 639 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.