"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

107. พระนิพพาน คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ตอนที่ 1



เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ที่คนเราควรทำให้ได้ ควรไปให้ถึง คือ "ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ หรือ พระนิพพาน"
 
เพราะ "พระนิพพาน" เป็นสุขอย่างยิ่ง
 
นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง (บรมสุข)”
 
***************
 
ถ้าเราอยากจะได้ “พระนิพพาน
 
หรือ อยากจะไปให้ถึง ซึ่ง “พระนิพพาน
 
เราต้องทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้งเสียก่อนว่า
 
พระนิพพาน” คืออย่างไร?
 
อยู่ ณ ที่ใด?
 
และ เราจะไปถึงได้อย่างไร?
 
 
***************
 
ดูกรอานนท์
 
บุคคลทั้งหลาย ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ควรศึกษาให้รู้แจ้ง  
 
ครั้นรู้แจ้งแล้ว จะถึงก็ตาม ไม่ถึงก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์แก่ใจ
 
ถ้าไม่รู้ แต่อยากได้ ย่อมเป็นทุกข์มากนัก
 
เปรียบเหมือนบุคคล อยากได้วัตถุสิ่งหนึ่ง
 
แต่หาก ไม่รู้จักวัตถุสิ่งนั้น
 
ถึงวัตถุสิ่งนั้น จะมีอยู่จำเพาะหน้า
 
ก็ไม่อาจถือเอาได้
 
เพราะไม่รู้ ถึงจะมีอยู่ ก็มีเปล่าๆ ส่วนตัว ก็ไม่หายความอยากได้ จึงเป็นทุกข์ยิ่งนัก
 
ผู้ปรารถนาพระนิพพาน แต่ไม่รู้จักพระนิพพาน ก็เป็นทุกข์เช่นนั้น
 
จะถือเสียว่า ไม่รู้ก็ช่างเถอะ เราปรารถนาเอา คงจะได้
 
คิดอย่างนี้ก็ผิดไป ใช้ไม่ได้
 
แม้แต่ผู้รู้แล้ว ตั้งหน้าบากบั่นขวนขวาย จะให้ได้ ให้ถึง ก็ยังเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง
 
บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่เห็นพระนิพพาน และจะถึงพระนิพพาน จะมีมาแต่ที่ไหน
 
อย่าว่าแต่พระนิพพานเลย
 
แม้จะกระทำการสิ่งใดก็ดี เป็นต้นว่า ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างวาดเขียน ต่างๆ เป็นต้น
 
ต้องรู้ด้วยใจ หรือเห็นด้วยตาเสียก่อน
 
จึงจะทำสิ่งนั้น ให้สำเร็จได้
 
ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ก็ต้องศึกษา ให้รู้จักพระนิพพานไว้ก่อน จึงจะได้
 
จะมาตั้งหน้า ปรารถนาเอา โดยความไม่รู้นั้น จะมีทางได้ มาแต่ที่ไหน



ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ควรจะศึกษาให้รู้ ให้แจ้ง ครองแห่งพระนิพพานไว้ ให้ชัดเจน
 
แล้วไม่ควรประมาท แม้ปรารถนาจะไปก็ไป แม้ไม่ปรารถนาจะไป ก็อย่าไป
 
ครั้นเห็นดีแล้ว จิตประสงค์แล้ว
 
ก็ให้ปฏิบัติ ในครองแห่งพระนิพพาน ด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็อาจจะสำเร็จ ไม่สำเร็จ ก็จะเป็นอุปนิสัยต่อไป
 
ผู้ที่ไม่รู้ แม้ปรารถนาจะไป หรือไม่ไป อยู่ใกล้ที่นั้นบ่อยๆ ก็ไม่อาจถึง
 
เพราะเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ที่นั้น ที่นี้ ก็เลยผิดไปตามจิตที่คิด หลงไป หลงมา อยู่ในวัฏฏสงสาร ไม่มีวันที่จะถึงพระนิพพานได้”
 

***เนื้อความจาก “คิริมานนทสูตร”
 
***************
 
ขอกราบขอบพระคุณ “มูลนิธิธรรมสันติ” ที่ได้จัดทำและนำเสนอสื่อธรรมะดีๆ
 
ขอกราบนมัสการขอบพระคุณ ท่านผู้ให้เสียงบรรยาย ท่านชาตวโร ท่านถิรจิตโต และอีกท่านหนึ่ง ผู้เขียนต้องขออภัย ที่ไม่รู้จักชื่อของท่าน
 
ผู้เขียนได้รับประโยชน์ จากสื่อเสียงบรรยายธรรมเรื่อง “คิริมานนทสูตร” มากมายจริงๆ
 
ผู้เขียนขออนุญาต นำเอาสื่อธรรมะดีๆนี้ มาเผยแพร่ต่อ
 
ท่านผู้ใดสนใจ สามารถดาวน์โหลดได้ ตามลิ้งค์ต่อไปนี้
 
คิริมานนทสูตร ตอนที่ 1 https://www.mediafire.com/file/up45xnn14pc6kw3
คิริมานนทสูตร ตอนที่ 2 https://www.mediafire.com/file/c8ftz74tdt6z1af
คิริมานนทสูตร ตอนที่ 3 https://www.mediafire.com/file/1kuesge1gskaw9k
คิริมานนทสูตร ตอนที่ 4 https://www.mediafire.com/file/vccu61dl76c4hm0
คิริมานนทสูตร ตอนที่ 5 https://www.mediafire.com/file/s0ta1xreof356rq
 
***************
 
ขอขอบพระคุณ เว็บไซต์ https://www.scdc5.forensic.police.go.th/forum/index.php?topic=2270.0
 
ที่ได้นำเสนอเนื้อหาของ “คิริมานนทสูตร
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2565    
Last Update : 23 ตุลาคม 2565 4:35:21 น.
Counter : 392 Pageviews.  

106. รู้จุดพอ จึงมีโอกาส ได้สุขจริง



เพราะพบว่า

ความสุข เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ อยู่ที่ใจ

และพบว่า

ความสุขที่แท้จริง คือความสุข ที่ไม่ต้องอิงสิ่งใด

จึงไม่มุ่งแสวงหาความสุขอื่นใด จากที่อื่นใด

แต่มุ่งสร้างที่ใจ ให้เกิดขึ้นที่ใจ

***************

ความสุขที่แท้จริง คือความสุข ที่มีความเที่ยง มีความยั่งยืน มีความแน่นอน มีความไม่แปรปรวน และ สามารถถือครองเอาไว้ได้ (ได้แล้วได้เลย)

ความสุขที่แท้จริง คือ ความสุขสงบของจิตใจ (วูปสโมสุข)

ความสุขสงบของจิตใจ เป็นความสุข ที่ไม่อาจจะซื้อหาเอามาได้ ด้วยทรัพย์สินเงินทอง

ถ้าอยากจะได้ ต้องสร้างที่ใจ ให้เกิดขึ้นที่ใจ

ด้วยการหมั่นชำระล้าง “ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง” ออกไปจากจิตใจ

***************

คนโดยส่วนใหญ่ มักจะคิดว่า

ชีวิตของตน จะมีความสุขได้

ต้องมีทรัพย์สินเงินทอง มากมาย

จึงทำให้เกิด “ความโลภ

ยอมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

และ ยอมทำผิดศีลธรรม

เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ที่มากมาย

***************

คนบางคน

ยอมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

ดิ้นรนแสวงหา “ทรัพย์สินเงินทอง

มาเก็บมากองเอาไว้ มากมาย

จนลืมความสุขของชีวิต

จนไม่มีเวลา สรรสร้างความสุข ให้กับชีวิต

และ ไม่มีเวลา ใช้เงินใช้ทอง ที่หามาได้ เพื่อความสุขของชีวิต

เพราะ เขาหวังไว้ว่า

สักวันหนึ่ง เมื่อเขามีทรัพย์สินเงินทอง มากมายแล้ว

เขาจะได้ใช้ชีวิต อย่างมีความสุข

แต่อนิจจา

เมื่อเขามีทรัพย์สินเงินทองมากมายแล้ว

เขากลับมีเวลาเหลืออยู่ ไม่มากนัก

เพื่อใช้ทรัพย์สินเงินทอง ที่หามาได้

สุดท้ายแล้ว

ร่างกายของเขา ก็ทรุดโทรม แก่เฒ่า เรี่ยวแรงเหลือน้อย

จนไม่อาจจะเสวยความสุข จากทรัพย์สินเงินทอง ที่เขาหามาได้

สุดท้ายแล้ว เขาก็ต้องตาย จากโลกนี้ไป

โดยไม่ได้ใช้ทรัพย์สินเงินทอง ที่เขาหามาได้ อย่างคุ้มค่า

และ ต้องทิ้งมันเอาไว้ ในโลกนี้

***************

จริงๆแล้ว

ความสุขที่เกิดจาก “ทรัพย์สินเงินทอง

มันเป็นความสุข ที่มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน มีความไม่แน่นอน และ ไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้

***************

จริงๆแล้ว

ชีวิตของคนเรา

ไม่ได้ต้องการสิ่งใด มากมายเลย

สิ่งที่จำเป็นหลักๆ ที่ขาดไม่ได้

คือ “อาหาร” สำหรับหล่อเลี้ยงชีวิต

สิ่งอื่นๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตจริงๆ

ก็มีแค่เพียง

ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และ ยารักษาโรค

ตามเหมาะ ตามสมควร ตามความจำเป็น เท่านั้นเอง

***************

ดังนั้น เราจึงควรขยันหมั่นเพียร “ประกอบสัมมาอาชีพ” ตามกำลัง ตามสมควร

เพื่อให้ได้มีปัจจัยที่พอเพียง สำหรับการดำเนินชีวิต อย่างมีความสุข

และ ถ้ามีมากพอ ก็ควรช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เกื้อกูลสังคม และ เกื้อกูลโลก

เพื่อสั่งสม “วิบากกรรมที่ดี หรือ กุศลวิบาก

ซึ่งจะเป็น "พลวปัจจัย" ที่จะทำให้ชีวิต ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป มีความสุข และ ได้ประสบกับ สิ่งที่ดีๆ ทั้งหลาย

***************

เพราะ “ความโลภ” นี่แหละ

ที่ทำให้คนเรา “ไม่รู้จักจุดพอ

และ ทำให้คนเรา ไม่มีโอกาส ที่จะได้สัมผัสกับ “ความสุขที่แท้จริง

***************

ผู้ที่ “รู้จักจุดพอ” เท่านั้น

ที่จะมีโอกาส ได้สัมผัสกับ “ความสุขที่แท้จริง

***************

พลว [พะละวะ] ว. มีกําลัง แข็งแรง มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส เช่น พลวเหตุ คือ เหตุแข็งแรง เหตุที่มีกําลังกล้า. (ป.).

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 18 กันยายน 2565    
Last Update : 26 กันยายน 2565 7:49:28 น.
Counter : 365 Pageviews.  

105. ครบรอบ 37 ปี ของการปฏิบัติธรรม ตอนที่ 3



“ในโลกของเรานี้
 
มีสิ่งที่น่าเรียนรู้และน่าทำ อยู่มากมายหลายสิ่ง
 
แต่ชีวิตของคนเรา ไม่ได้ยืนยาวมากพอ
 
ที่จะสามารถเรียนรู้และสามารถทำ
 
ในทุกๆสิ่ง ที่น่าเรียนรู้และน่าทำ เหล่านั้น”
 
***************
 
เพราะชีวิตของคนเรา น้อยนัก สั้นนัก และ ไม่แน่นอน
 
ดังนั้น เราจึงควร “ใช้วันเวลาของชีวิต” ที่มีอยู่ ไม่มากนักนี้

ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป

ด้วยการเรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้

และ ด้วยการทำ ในสิ่งที่ควรทำ
 
***************
 
สิ่งที่ควรเรียนรู้ คือ เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้การเกิดแห่งทุกข์ เรียนรู้การดับแห่งทุกข์ และ เรียนรู้วิธีการดับทุกข์
 
สิ่งที่ควรทำ คือ ทำความดับทุกข์
 
***************
 
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย
 อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา

 บุคคล ไม่ควรพร่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ของผู้อื่น แม้มาก
 
รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวาย ในประโยชน์ของตน”


(พุทฺธ) ขุ.ธ. ๒๕/๓๗.

พร่า[พฺร่า] หมายถึง ก. ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้ย่อยยับ เช่น พร่าชื่อเสียง พร่าทรัพย์สมบัติ พร่าประโยชน์ ว. กระจัดกระจายจนเห็นหรือได้ยินไม่ถนัดชัดเจน เช่น ตาพร่า รูปพร่า เสียงพร่า


***************
 
การทำประโยชน์ของตน หมายถึง การทำในสิ่งที่มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิตของตน ที่จะส่งผลดีต่อชีวิตของตน ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป
 
การทำในสิ่งที่มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิตของตน ที่จะส่งผลดีต่อชีวิตของตน ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป หมายถึง
 
1. การเรียนรู้ทุกข์ การเรียนรู้การเกิดแห่งทุกข์ การเรียนรู้การดับแห่งทุกข์ และ การเรียนรู้วิธีการดับทุกข์
 
2. การทำความดับทุกข์
 
***************
 
การทำความดับทุกข์ หมายถึง การปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์ 3 หรือ การเดินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ 8
 
การปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์ 3 ประกอบด้วย
 
1. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมที่ไม่ดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

2. การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การเพียรหมั่นสร้างกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การเพียรหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล หรือ มูลเหตุของอกุศล ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
 
***************
 
การทำ “ประโยชน์ของตน” ตามที่กล่าวมานี้
 
ย่อมจะก่อให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” ตามมา อย่างแน่นอน เป็นธรรมดา
 
ดังนั้น เราจึงควร มุ่งเน้น “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก
 
แล้วจะเกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” ตามมา อย่างเหมาะสม


***************
 
“อย่าพร่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ของผู้อื่น แม้มาก” หมายถึง
 
1. อย่าใช้ “วันเวลาของชีวิตของตน” ไปกับเรื่องราวของผู้อื่น มากจนเกินควร จนทำให้เสียประโยชน์ของตน หรือ จนทำให้ไม่มีเวลาได้ทำประโยชน์ของตน
 
2. อย่าปล่อยให้ “ความโกรธ ความโลภ และ ความหลง“ เข้ามาครอบงำจิตใจของตน เพราะ "ประโยชน์ของผู้อื่น" แม้มาก
 
***************
 
การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ว่าจะมากมายสักเท่าใด
ก็ไม่สามารถจะช่วยทำให้ผู้อื่น พ้นทุกข์ได้
อย่างมากก็แค่เพียง ช่วยให้ผู้อื่น บรรเทาทุกข์ลง เท่านั้นเอง

 
ไม่มีใคร ช่วยทำให้ใคร พ้นทุกข์ได้
 
ตนของตนเท่านั้น ที่จะทำให้ตน พ้นทุกข์ได้
 
กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม


การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ควรทำตามกำลัง ตามสมควร และ ตามความเหมาะสม
 
การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ที่มากจนเกินควร อาจส่งผลเสีย ทั้งต่อตัวผู้ให้ และ ตัวผู้รับ
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2565    
Last Update : 27 สิงหาคม 2565 8:48:42 น.
Counter : 361 Pageviews.  

104. ครบรอบ 37 ปี ของการปฏิบัติธรรม ตอนที่ 2



จากประสบการณ์ การศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรมของผู้เขียน
 
ผู้เขียนพบว่า “การปฏิบัติธรรมที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องโดยลำดับ
 
จะไม่ทำให้เกิด “การบรรลุธรรมโดยลำดับ
 
และ อาจทำให้เกิด “ความทุกข์และความเครียด” ตามมา
 
***************
 
การปฏิบัติธรรมเพื่อทำความดับทุกข์ ต้องรู้ จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติของตน
 
เราต้องรู้ว่า ขณะนี้ เราอยู่ ณ จุดใด?
 
เราควรจะเริ่มต้นปฏิบัติ อย่างไร?
 
และ เราควรจะทำอย่างไร? เพื่อทำให้เกิดความก้าวหน้า ไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ "ความดับทุกข์"
 
***************
 
จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติของแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันไป
 
ขึ้นอยู่กับ “บารมีในทางธรรม” ของแต่ละคน ที่ได้สั่งสมเอาไว้ ในชาติก่อนๆ
 
คนบางคนเกิดมา อาจมีความโลภน้อย มีความโกรธน้อย มีความหลงใหลในกามน้อย
 
คนบางคนเกิดมา อาจมีความโลภมาก มีความโกรธน้อย มีความหลงใหลในกามน้อย
 
คนบางคนเกิดมา อาจมีความโลภมาก มีความโกรธมาก มีความหลงใหลในกามน้อย
 
คนบางคนเกิดมา อาจมีความโลภมาก มีความโกรธมาก มีความหลงใหลในกามมาก
 
คนบางคนเกิดมา อาจมีการละเมิดศีล 5 เป็นปกติของตน
 
คนบางคนเกิดมา อาจมีศีล 5 เป็นปกติของตนอยู่แล้ว
 
คนบางคนเกิดมา อาจมีศีล 5 และ ศีล 8 เป็นปกติของตนอยู่แล้ว ฯลฯ
 
***************
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ที่ถูกมรรคถูกทาง และ ถูกต้องโดยลำดับ

จะทำให้ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ลดลงโดยลำดับ

ทำให้ “ความทุกข์” ลดลงโดยลำดับ

และ ทำให้ได้รับ “ความสุขที่แท้จริง” คือ “วูปสโมสุข” มากขึ้นโดยลำดับ
 
***************
 
ความสุขที่แท้จริง คือความสุข ที่ไม่ต้องอิงสิ่งใด
 
ความสุขที่ไม่ต้องอิงสิ่งใด คือความสุขอันเกิดจาก “ความสงบของจิตใจ” ชื่อว่า “วูปสโมสุข
 
วูปสโมสุข คือความสุขสงบ อันเกิดจาก “การชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ออกจากจิตใจ
 
วูปสโมสุข คือความสุข ที่มีความเที่ยง มีความยั่งยืน มีความไม่แปรปรวน ได้แล้วได้เลย
 
วูปสโมสุข คือความสุข ที่คนเรา ควรมุ่งได้ หมายครอง
 
ผู้ที่เริ่มได้รับ “วูปสโมสุข” แล้ว จะมีความมุ่งมาดปรารถนา ที่จะทำความละหน่ายคลายและปล่อยวาง “โลกียสุข
 
เตสัง วูปสโม สุโข ความระงับดับเสีย ซึ่งสังขาร (การปรุงแต่งทางจิตใจ) ทั้งหลาย นั้นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง”

ที่สุดของ “วูปสโมสุข” คือ “พระนิพพาน

นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง (บรมสุข)”


***************
 
ความสุขโดยทั่วไป ที่บุคคลส่วนใหญ่ มุ่งมาดปรารถนา หวังได้ และหมายครอง ชื่อว่า “โลกียสุข
 
โลกียสุข คือความสุข ที่มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน มีความไม่แน่นอน ไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ ถ้าใครอยากจะได้ ต้องลงทุนลงแรง ต้องมุ่งแสวงหา อยู่ตลอดเวลา
 
โลกียสุข คือความสุข อันเกิดจาก “อุปาทานขันธ์ 5
 
อุปาทานขันธ์ 5 คือ ความยึดมั่นถือมั่น “เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นไม่ทุกข์ไม่สุข” ไปตามอำนาจของกิเลส (อวิชชา) เมื่อตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง จมูกสัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสถูกต้อง และ ใจสัมผัสธรรมารมณ์
 
โลกียสุข คือ ความสุขลวง
 
โลกียสุข คือ เหยื่อล่อของกิเลส
 
โลกียสุข คือความสุขอันมีประมาณน้อย ที่เจืออยู่ในความทุกข์
 
โลกียสุขกับความทุกข์ เป็นของคู่กัน ไม่อาจแยกออกจากกันได้
 
โลกียสุข คือความสุข ที่คนเรา ควรทำความละหน่ายคลาย และปล่อยวาง
 
ปล่อยวางสุข (โลกียสุข) จึงได้สุข (วูปสโมสุข)
 
ปล่อยวางสุข (โลกียสุข) จึงพ้นทุกข์ (ดับทุกข์ได้)
 
***************
 
“ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่า สุขทุกข์ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก

มีแต่เราตถาคต ผู้ประกอบด้วยทศพลญาณนี้ เท่านั้น

บุคคลทั้งหลาย ที่ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น

ทำความเข้าใจว่า สุข ก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ ก็มีอยู่ต่างหาก

ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้

เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์

เมื่อผู้ใด อยากพ้นทุกข์ ก็ให้วางสุขเสีย ก็เป็นอันละทุกข์ วางทุกข์ด้วย เหมือนกัน

ใครเล่า จะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ ออกจากกันได้

แม้แต่เราตถาคต ก็ไม่มีอำนาจวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้

ถ้าหากเราตถาคต พรากสุข แลทุกข์ ออกจากกันได้

เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพาน ทำไม

เราจะถือเอาแต่สุข อย่างเดียว

เสวยแต่ความสุข อยู่ในโลก เท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบาย พออยู่แล้ว

นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุข โดยส่วนเดียว ไม่มีทาง ที่จะพึงได้

เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้

เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการ ดังนี้

ดูกรอานนท์ อันสุขในโลกีย์นั้น

ถ้าตรวจตรองให้แน่นอนแล้ว ก็เป็นกองแห่งทุกข์ นั้นเอง

เขาหากเกิดมา เป็นมิตร ติดกันอยู่ ไม่มีผู้ใด จักพรากออกจากกันได้

เราตถาคต กลัวทุกข์เป็นอย่างยิ่ง

หาทางชนะทุกข์ มิได้

จึงปรารถนา เข้าพระนิพพาน เพราะเหตุกลัวทุกข์นั้น อย่างเดียว

พระพุทธเจ้า ตรัสเทศนาแก่ข้าอานนท์ ดังนี้แลฯ”


*** เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร ฉบับพระยาธรรมิกราช “ความสุขในโลก”
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 20 สิงหาคม 2565    
Last Update : 20 สิงหาคม 2565 6:19:38 น.
Counter : 366 Pageviews.  

103. ครบรอบ 37 ปี ของการปฏิบัติธรรม



เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2565

ครบรอบ 37 ปี ของการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม (จากอายุ 24 ปี ถึงอายุ 61 ปี)

ครบรอบ 37 ปี ของการกินอาหารมังสวิรัติ

และ ครบรอบ 11 ปี ของการกินอาหารมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง)
 
จุดมุ่งหมายหลัก ของการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม คือ เพื่อทำความดับทุกข์
 
***************
 
#เพราะมีทุกข์ จึงพยายามค้นหา “วิธีการดับทุกข์
 
#เพราะค้นหา “วิธีการดับทุกข์” จึงได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์
 
#เพราะได้พบกับ “หนทางสู่ความดับทุกข์” จึงได้เริ่มต้น “เดินไปตามหนทางสู่ความดับทุกข์
 
#เพราะ“เดินไปตามหนทางสู่ความดับทุกข์” จึงได้พบกับ “ความสุขสงบ (วูปสโมสุข)
 
***************
 
ถ้าเราต้องการจะทำความดับทุกข์

เราต้องทำความเข้าใจ ในสิ่งต่อไปนี้ ให้ชัดแจ้ง คือ

1. เราต้องทำความเข้าใจ ใน “ความทุกข์ (ทุกขอริยสัจ)” ให้ชัดแจ้ง

2. เราต้องทำความเข้าใจ ใน “ความเกิดแห่งทุกข์ (ทุกขสมุทยอริยสัจ)” ให้ชัดแจ้ง

3. เราต้องทำความเข้าใจ ใน “ความดับแห่งทุกข์ (ทุกขนิโรธอริยสัจ)” ให้ชัดแจ้ง

4. เราต้องทำความเข้าใจ ใน “หนทางสู่ความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ)” ให้ชัดแจ้ง

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่า “อริยสัจ 4
 
***************
 
เมื่อเราได้เข้าใจ “อริยสัจ 4” จนชัดแจ้งแล้ว

ในลำดับต่อไป เราต้องทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้งว่า

เราจะเดินไปตาม “หนทางสู่ความดับทุกข์” ได้อย่างไร?

จึงจะไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ “ความดับทุกข์
 
***************
 
และ เมื่อเราได้เข้าใจ วิธีการเดินไปตาม “หนทางสู่ความดับทุกข์”แล้ว

เราก็ต้องเพียรพยายาม เดินไปตาม “หนทางสู่ความดับทุกข์

เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ “ความดับทุกข์

เราจึงจะไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ “ความดับทุกข์
 
***************
 
หนทางสู่ความดับทุกข์” คือ “อริยมรรคมีองค์ 8
 
วิธีการก้าวเดินไปตาม “หนทางสู่ความดับทุกข์

คือ การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ต้องปฏิบัติให้สูงขึ้น โดยลำดับ

เพื่อทำให้เกิดเป็น “อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา

จึงจะทำให้เกิด การเคลื่อนที่ไปตามทาง “อริมรรคมีองค์ 8” สู่ “ความดับทุกข์
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ

คือ การกำหนดตั้งศีล ให้สูงขึ้นโดยลำดับ

โดยใช้ “อริมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการกำหนดตั้ง

แล้วใช้ “สมาธิ และ ปัญญา” ร่วมกัน เพื่อทำให้ศีลเป็นปกติ
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” ให้สูงขึ้น โดยลำดับ

เป็นการขัดเกลากิเลสในระดับหยาบ (วีติกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฎฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) ออกไปจากจิตใจ โดยลำดับ
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

ต้องมี “ผัสสะ” เป็นปัจจัย

จึงจะทำให้เกิดมรรคผลจริง
 
***************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา

ต้องมองให้เห็น "มรรคผล" แม้มีประมาณน้อย

หรือ ต้องมองให้เห็น "ความชนะในความแพ้"

จึงจะทำให้เกิด “กำลังศรัทธา (ศรัทธาพละ)” และ “กำลังความเพียร (วิริยะพละ)”  ในการปฏิบัติ
 
***************
 
การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์

ที่ถูกมรรคถูกทาง และ ถูกต้องโดยลำดับ

จะทำให้ “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน” ลดลงโดยลำดับ

ทำให้ “ความทุกข์” ลดลงโดยลำดับ

และ ทำให้ได้รับ “ความสุขสงบ (วูปสโมสุข)” มากขึ้นโดยลำดับ
 
***************
 
การก้าวเดินไปตาม หนทางสู่ความดับทุกข์
ยิ่งก้าวเดินไปข้างหน้า ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย
และ ยิ่งมองเห็นจุดหมายปลายทาง คือ ความดับทุกข์

 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2565    
Last Update : 6 สิงหาคม 2565 8:53:57 น.
Counter : 590 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.