"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

82.เร่งขจัด “อารมณ์ที่ไม่ดี” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ ตอนที่ 2



อารมณ์ที่ไม่ดี ทำให้คนเรา “แก่เกินวัย ไปก่อนอายุ
 
อารมณ์ที่ไม่ดี มีผลเสียต่อสุขภาพ มากกว่า “อาหารที่ไม่ดี” ค่อนข้างมาก
 
ดังนั้น เราจึงควร “เร่งขจัดอารมณ์ที่ไม่ดี” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ และ “เร่งเสริมสร้างอารมณ์ที่ดี” เข้ามาแทนที่
 
***************
 
จงอย่าทุกข์ใจและวิตกกังวลใจ ไปกับโลกและสังคม จนเกินควร
 
เพราะ โลกและสังคมของเรา ได้ถูกขับเคลื่อน ให้แปรเปลี่ยนไป ด้วยแรงแห่ง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ของแต่ละคน ที่อาศัยอยู่ในโลกและในสังคม มุ่งหน้าไปสู่ ความเสื่อม โทรมทรุด เดือดร้อน วุ่นวาย และเลวร้าย มากขึ้น เป็นธรรมดา
 
ถ้าเราต้องการ จะเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคม และเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เราต้องเริ่มต้น “เปลี่ยนแปลงตัวของเรา” ให้ได้ก่อน
 
ถ้าเราต้องการ จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เราต้องเริ่มต้น “ทำตน ให้พ้นทุกข์” ให้ได้ก่อน
 
ถ้าเราต้องการ จะช่วยให้ผู้อื่นเป็นสุข เราต้องเริ่มต้น “ทำตัวของเรา ให้เป็นสุข” ให้ได้ก่อน
 
ถ้าเราต้องการ จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ด้วยทรัพย์สินเงินทองของเรา เราต้องเริ่มต้น “ทำชีวิตของเรา ให้ติดบวกในทางโลก” ให้ได้ก่อน
 
***************
 
การให้ความช่วยเหลือ เกื้อกูลโลก เกื้อกูลสังคม เกื้อกูลผู้อื่น และเกื้อกูลสัตว์อื่น ต้องทำตามกำลัง ตามสมควร จึงจะไม่เกิดความเดือดร้อนกาย เดือดร้อนใจ ตามมา
 
“ไม่มีใคร ช่วยให้ใคร พ้นทุกข์ได้”
 
“ตนของตนเท่านั้น ที่จะช่วยให้ตน พ้นทุกข์ได้”
 
การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะมากเท่าใด ก็มีผลแค่เพียง “ช่วยให้เขาบรรเทาทุกข์ลง” เท่านั้นเอง ไม่อาจจะช่วยให้เขา พ้นจากทุกข์ไปได้
 
“กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรม”
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 19 กันยายน 2564    
Last Update : 19 กันยายน 2564 6:39:07 น.
Counter : 586 Pageviews.  

81.เร่งขจัด “อารมณ์ที่ไม่ดี” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ ตอนที่ 1



อารมณ์ที่ไม่ดี มักจะก่อให้เกิด “อกุศลกรรม” ตามมา คือ ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี การพูดจาที่ไม่ดี และการกระทำทางกายที่ไม่ดี
 
การกระทำที่ไม่ดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ (อกุศลกรรม) มีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก)” ได้แก่ การได้ประสบกับความทุกข์ การไม่มีลาภ การไม่มียศ การไม่ได้รับคำสรรเสริญ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การมีโรค การได้รับโทษ การได้รับภัย การมีมิตรน้อย การมีศัตรูมาก การได้ประสบกับเคราะห์ร้าย และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ “สิ่งที่ไม่ดี” ทั้งหลาย
 
อารมณ์ที่ไม่ดี และความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี มีผลเสียต่อร่างกาย มากกว่า “อาหารที่ไม่ดี”
 

อารมณ์ที่ดี มักจะก่อให้เกิด “กุศลกรรม” ตามมา คือ ความรู้สึกนึกคิดที่ดี การพูดจาที่ดี และการกระทำทางกายที่ดี
 
การกระทำที่ดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ (กุศลกรรม) มีผลเป็น “วิบากกรรมดี (กุศลวิบาก)” ได้แก่ การได้รับสุข (โลกียสุข) การได้รับลาภ การได้รับยศ การได้รับคำสรรเสริญ การได้ห่างไกลจากโรค การได้ห่างไกลจากภัย การมีมิตรมาก การมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูลมาก การได้ประสบกับความโชคดี การมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในชีวิต และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ “สิ่งที่ดีๆ” ทั้งหลาย
 
อารมณ์ที่ดี มีผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้แข็งแกร่ง
 

ดังนั้น เราจึงควร “เร่งขจัดอารมณ์ที่ไม่ดี” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ และ “เร่งเสริมสร้างอารมณ์ที่ดี” เข้ามาแทนที่
 
***************
 

เมื่อใดก็ตาม ที่มี “อารมณ์ทุกข์ อารมณ์เครียด อารมณ์วิตกกังวลใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์อึดอัดขัดเคืองใจ อารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียดชัง อารมณ์น้อยอกน้อยใจ และอารมณ์ที่ไม่ดีทั้งหลาย” เกิดขึ้นในจิตใจ
 
จงเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) เพื่อชำระล้าง หรือ เพื่อสลาย “อารมณ์ที่ไม่ดี” ออกไปจากจิตใจ
 
จงอย่าปล่อยให้มัน “ค้างคาอยู่ในจิตใจ” เพราะ มันจะเกิดการสั่งสมพอกพูนมากขึ้น จนเกิดผลเสียต่อ “ชีวิต จิตใจ และร่างกาย” มากมาย
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 12 กันยายน 2564    
Last Update : 12 กันยายน 2564 6:12:41 น.
Counter : 619 Pageviews.  

80.ครบรอบ 36 ปี...การปฏิบัติธรรม


 

เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2564


ครบรอบ 36 ปี ของการศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรม (จากอายุ 24 ปี ถึงอายุ 60 ปี)


ครบรอบ 36 ปี ของการกินอาหารมังสวิรัติ


และ ครบรอบ 10 ปี ของการกินอาหารมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง)
 

***************

 

การศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรม

 

ทำให้ได้เห็น “ความจริง” จนชัดแจ้งที่ใจว่า

 

“คนเราเกิดมา เพื่อมารับผลของกรรม ที่ตนได้เคยกระทำ สั่งสมเอาไว้ ในชาติก่อนๆ”

 

กรรมดี หรือ กุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก ได้แก่ การได้รับสุข (โลกียสุข) การได้รับลาภ การได้รับยศ การได้รับคำสรรเสริญ การได้ห่างไกลจากโรค การได้ห่างไกลจากภัย การมีมิตรมาก การมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูลมาก การได้ประสบกับความโชคดี การมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในชีวิต และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ “สิ่งที่ดีๆ” ทั้งหลาย

 

กรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก ได้แก่ การได้ประสบกับความทุกข์ การไม่มีลาภ การไม่มียศ การไม่ได้รับคำสรรเสริญ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การมีโรค การได้รับโทษ การได้รับภัย การมีมิตรน้อย การมีศัตรูมาก การได้ประสบกับเคราะห์ร้าย และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ “สิ่งที่ไม่ดี” ทั้งหลาย

 

“เมื่อคนเราเกิดมาแล้ว คนเราก็จะกระทำ “ทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดี” คละเคล้ากันไป ตามอำนาจของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นอกุศลกรรม

 

ทำให้ ต้องเวียนวนกลับมาเกิดอีก เพื่อมารับผลของกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ เป็นวังวน ไม่มีที่สิ้นสุด (เป็นวัฏสงสาร)”

 

***************

 

ผลของกรรมดี หรือ กุศลวิบาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรา เป็นสุข เรียกว่า “โลกียสุข (สุขในทางโลก)”

 

โลกียสุข เป็นสิ่งที่ มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน มีความไม่แน่นอน ไม่อาจจะกำหนดได้ ไม่อาจจะยึดถือเอาไว้ได้ ต้องแสวงหา จึงจะได้

 

โลกียสุข เป็นสิ่งที่ ไม่ควรไปหลงใหลติดใจ และไม่ควรไปหลงยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนของตน หรือเป็นของของตน เพราะ จะทำให้เกิดความทุกข์ตามมา อย่างแน่นอน

 

การหลงใหลติดใจในโลกียสุข จะทำให้เกิดความโลภ หรือเกิดความอยากได้มากๆ และเมื่อไม่ได้ตามใจที่อยากได้ ก็จะเกิดความโกรธ ตามมา

 

ความหลง ความโลภ และความโกรธ คือมูลเหตุที่ทำให้คนเรา ต้องกระทำอกุศลกรรมต่างๆ อันมีผลเป็นวิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก

 

ผลของกรรมดี เป็นสิ่งที่ลดลงได้ หมดสิ้นไปได้ มีความไม่เที่ยง มีความไม่แน่นอน ไม่อาจจะกำหนดได้ ไม่อาจจะยึดถือเอาไว้ได้ และเป็นสิ่งที่ ต้องหมั่นเพียรสร้างต้องหมั่นเพียรก่อ เข้ามาเติมเพิ่ม ถ้าไม่หมั่นเพียรสร้างไม่หมั่นเพียรก่อ ก็จะหมดสิ้นไป

 

 ผลของกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรา เป็นทุกข์ 

 

***************

 

ทุกๆความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี

 

ทุกๆการพูดจาที่ไม่ดี

 

ทุกๆการกระทำทางกายที่ไม่ดี

 

ล้วนมีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก”

 

***************

 

ทุกๆความรู้สึกนึกคิดที่ดี

 

ทุกๆการพูดจาที่ดี

 

ทุกๆการกระทำทางกายที่ดี

 

ล้วนมีผลเป็น “วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก”

 

***************

 

ทุกคนที่เกิดมาแล้ว

 

ไม่ว่าจะเกิดมา “เพื่อมารับผลของกรรมดี เป็นส่วนใหญ่”

 

หรือเกิดมา “เพื่อมารับผลของกรรมไม่ดี เป็นส่วนใหญ่”

 

ล้วนต้องประสบพบกับความทุกข์ เป็นธรรมดา

 

ความทุกข์ ที่คนเราต้องประสบพบเจอ เป็นธรรมดา ได้แก่ ความทุกข์อันเกิดจาก ความเจ็บความป่วย ความแก่ความชรา ความตาย ความพัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความทุกข์อันเกิดจากกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ความทุกข์อันเกิดจาก ความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความกลัว ความวิตกกังวล ฯลฯ

 

“โดยสรุปแล้ว การเวียนเกิดเวียนตาย เพื่อมารับผลของกรรม เป็นการเวียนวน อยู่วังวนของความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด”

 

***************

 

ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและจิตใจของคนเรา โดยส่วนใหญ่แล้ว มีมูลเหตุมาจาก “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน”

 

กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือสิ่งชักนำให้คนเรา “ทำอกุศลกรรม”

 

กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือสิ่งที่ทำให้คนเรา ต้องเวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในวังวนของความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “อวิชชา หรือ ความไม่รู้” (ตาม ปฏิจจสมุปบาท)

 

ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะพ้นทุกข์ หรือ ดับทุกข์

 

เราต้องชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่ ออกไปจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

 

หรือ เราต้องทำการ “ดับอวิชชา”

 

***************

 

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ คือการปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ 3”

 

โอวาทปาฏิโมกข์ 3 ประกอบด้วย

 

1. ไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง ไม่สร้างอกุศลวิบาก(วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

 

2. หมั่นทำกุศลทั้งหลาย ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง หมั่นสร้างกุศลวิบาก(วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

 

3. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง หมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล (มูลเหตุของอกุศล) ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น (ดับอวิชชา)

 

การปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ 3” คือ การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ 8” โดยใช้ "ศีล สมาธิ และปัญญา" ขับเคลื่อน

 

การใช้ “ศีล สมาธิ และปัญญา” ขับเคลื่อน “มรรคมีองค์ 8” ต้องใช้ อิทธิบาท 4 สัมมัปปธาน 4 สติปัฏฐาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 และ โพชฌงค์ 7 ร่วมด้วย

 

 

อิทธิบาท 4 สัมมัปปธาน 4 สติปัฏฐาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และ มรรคมีองค์ 8 คือ โพธิปักขิยธรรม 37

 

โพธิปักขิยธรรม คือธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ (ความดับอวิชชา)

 

***************

 

มรรคมีองค์ 8 คือทางเดินสู่ความพ้นทุกข์ หรือ ความดับแห่งกองทุกข์

 

การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ 8” ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งทำให้ “ความทุกข์” ลดลง โดยลำดับ

 

การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ 8” ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งได้รับ “ความสุขสงบ” มากขึ้น โดยลำดับ

 

ชาญ คำพิมูล

28/8/2564




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2564    
Last Update : 28 สิงหาคม 2564 7:26:52 น.
Counter : 625 Pageviews.  

79.ธรรมะ และสุขภาพ... อ.อารมณ์ดี ไม่มีปัญหา



#อ.อารมณ์ เป็น อ. ที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะ มีผลต่อสุขภาพกาย มีผลต่อสุขภาพจิต และมีผลต่อชีวิต มากที่สุด
 
#อารมณ์ที่ไม่ดีและความคิดลบ มีผลเสียต่อชีวิตและสุขภาพ มากมายจริงๆ
 
#อารมณ์ที่ไม่ดี คือสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคร้าย และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
 
#อารมณ์ที่ไม่ดี มักจะก่อให้เกิด การคิดที่ไม่ดี การพูดที่ไม่ดี และการกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม)
 
#การคิดที่ไม่ดี การพูดที่ไม่ดี และการกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี (อกุศลวิบาก)
 
#อารมณ์ที่ไม่ดี และความคิดลบ มีผลเสียต่อร่างกายของคนเรา มากกว่า การกินอาหารที่ไม่ดี
 

#ดร. โรเบิร์ต โอ ยัง (Robert Oldham Young) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “"pH Miracle” ได้กล่าวไว้ว่า

“สุขภาพร่างกาย ไม่เพียงส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น แต่ความคิดและความรู้สึกของคุณ อาจส่งผลต่อสุขภาพของร่างกายทั้งหมด”
 
Not only does the health of your body affect the emotions of your mind, but your thoughts and feelings can affect the health of your entire body.
 
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สภาพจิตใจของคุณ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในหลาย ๆ ด้าน สภาพจิตใจของคุณ หากเป็นไปในทางลบ มันสามารถสร้างกรดในการเผาผลาญ (metabolic acids) ได้มากกว่า อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นกรด ที่คุณรับประทานเข้าไป”

Bottom line, your mental state is ever so critical. In so many ways, your mental state, if it’s negative, can create more metabolic acids than the acidic foods and drinks that you’re ingesting.
 
“ในความเป็นจริง คุณสามารถสร้างกรดเมตาบอลิก จากความคิด หรือสภาพจิตใจ และอารมณ์ ได้มากกว่า การกินอาหารที่เป็นกรดสูง เช่น นมโ ปรตีนจากสัตว์ น้ำตาล และแอลกอฮอล์ ถึงสองหรือสามเท่า”

In fact, you can create two or three times more metabolic acids from your thoughts or your mental and emotional state than from ingesting highly acidic foods like dairy, animal protein, sugar and alcohol.
 
ข้อมูลจาก https://www.linkedin.com/pulse/can-positive-negative-thoughts-how-emoted-affect-your-robert-young-1c
(ROBERT O. YOUNG, CPT, MS, D.SC., PH.D. NATUROPATHIC PRACTITIONER)

 
#กรดในการเผาผลาญ (metabolic acids) ที่เกิดขึ้นในร่างกาย หากมีมากจนเกินกว่าที่ร่างกายจะขจัดออกไปได้ มันจะสะสมอยู่ในร่างกาย และส่งผลเสียต่อร่างกาย
 

#อารมณ์ของคนเรา มีผลต่อการผลิตฮอร์โมนในร่างกาย อย่างไร?
 
#อารมณ์ที่ไม่ดี จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนในกลุ่ม “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” คือ คอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมา ในปริมาณที่มาก ซึ่งจะมีผลเสียต่อร่างกาย (การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ในปริมาณที่เหมาะสม จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าหลั่งออกมา ในปริมาณที่มากเกินไป อันเนื่องมาจากความเครียด มันจะกลับกลายเป็นผลร้าย)
 
#อารมณ์ที่ดี จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนในกลุ่ม “ฮอร์โมนแห่งความสุข” คือ เอ็นโดรฟิน (Endorphin) โดพามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งมีผลดีต่อร่างกาย
 
#ดังนั้น เราจึงควรเร่ง ขจัดอารมณ์ที่ไม่ดี ออกไปจากชีวิตและจิตใจ และพยายาม เสริมสร้างอารมณ์ที่ดี เข้ามาแทนที่
 

#การขจัด “อารมณ์ที่ไม่ดีและความคิดลบ” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ก็ไม่ยาก จนเกินกว่าที่เราจะทำได้ หากเราเข้าใจหลักการทำ
 
#หลักสำคัญ เราควรน้อมนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ มาใช้ขจัด “อารมณ์ที่ไม่ดีและความคิดลบ” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ โดยการเพียรหมั่น “อบรมจิตและอบรมปัญญา” เพื่อชำระล้าง (สลาย) “อารมณ์ที่ไม่ดี และความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี” ออกไปจากชีวิตและจิตใจ
 
#อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี ที่เราควรเร่ง ขจัดออกไปจากชีวิตและจิตใจ เป็นลำดับต้นๆ คือ อารมณ์ทุกข์ อารมณ์เครียด อารมณ์วิตกกังวลใจ อารมณ์ไม่ชอบใจ อารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์หงุดหงิดขัดเคืองใจ อารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียดชัง ฯลฯ
 
#เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสาย
 
“การทำตนเป็นคนอารมณ์ดี สุขภาพจะดี ชีวีจะเป็นสุข”
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2564    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2564 8:48:25 น.
Counter : 701 Pageviews.  

78.ชีวิต...ผ่านพ้น 60 ปี





ชีวิตนี้ ล่วงผ่านพ้น 60 ปีแล้ว
 
24 ปีกว่าๆ บนเส้นทาง “สายโลกียะ (วิถีโลก)”
 
35 ปีกว่าๆ บนเส้นทาง “สายโลกุตระ (วิถีธรรม วิถีพุทธ)”
 
***************
 
มาถึงจุดนี้
 
ชีวิต...ค่อนข้างจะลงตัวแล้ว ทั้งทางโลกและทางธรรม
 
มีสิ่งหนึ่งที่เหลืออยู่
 
ที่ต้องเพียรทำให้ได้ ที่ต้องเพียรทำให้ถึง ที่ต้องเพียรทำให้บรรลุ คือ “ที่สุดแห่งทุกข์”
 
***************
 
กี่วัน กี่เดือน กี่ปีแล้ว
 
ที่พวกเรา เดินอยู่บนเส้นทาง “สายโลกียะ (วิถีโลก)”
 
เหนื่อยไหม? ทุกข์ไหม? เครียดไหม? ท้อใจไหม? มองเห็นจุดหมายปลายทางของชีวิตบ้างไหม?
 
ลองเปลี่ยน มาเดินบนเส้นทาง “สายโลกุตระ (วิถีธรรม วิถีพุทธ)” ดีกว่าไหม?
 
***************
 
การเดินไปบนเส้นทาง “สายโลกียะ (วิถีโลก)”
 
ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียด ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหนัก และยิ่งมองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด
 
การเดินไปบนเส้นทาง “สายโลกุตระ (วิถีธรรม วิถีพุทธ)”
 
ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย และยิ่งใกล้จุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด คือ “พระนิพพาน”
 
***************
 
ชีวิตนี้ น้อยนัก
 
ชีวิตนี้ สั้นนัก
 
ชีวิตนี้ ไม่แน่นอน

 
ขอจงอย่าประมาท ในการใช้ชีวิต
 
ขอจงอย่าประมาทว่า ตนยังหนุ่มอยู่ ตนยังสาวอยู่ ตนยังแข็งแรงดีอยู่
 
เพราะ ไม่มีใครรู้หรอกว่า วันเวลาของชีวิต เหลืออยู่เท่าใด? กีวัน กี่เดือน กี่ปี
 
จงใช้วันเวลาของชีวิต ที่มีเหลืออยู่ ไม่มากนักนี้
 
ให้มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆไป
 
***************
 
เมื่อเราได้โอกาส เกิดมาเป็นคนแล้ว
 
สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้ง คือ
 

  1. คนเราเกิดมาเพื่อไร?
  2. อะไร? คือมูลเหตุที่ทำให้คนเรา เกิดมาแตกต่างกัน
  3. อะไร? คือมูลเหตุที่ทำให้คนเรา ได้รับสุข
  4. อะไร? คือมูลเหตุที่ทำให้คนเรา ได้รับทุกข์
  5. อะไร? คือมูลเหตุที่ทำให้คนเรา ต้องเวียนเกิดเวียนตาย ไม่มีที่สิ้นสุด
  6. อะไร? คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ที่คนเรา ควรทำให้ได้ ควรไปให้ถึง หรือควรทำให้บรรลุ
  7. อะไร? คือสิ่งที่คนเรา "ควรเรียนรู้" และอะไร? คือสิ่งที่คนเรา "ควรทำ" เพื่อให้ได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง เพื่อให้ได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ
 
***************
 
เมื่อเราได้เข้าใจ ในสิ่งดังกล่าว จนชัดแจ้งแล้ว
 
จงเพียรเรียนรู้ ในสิ่งที่ควรเรียนรู้
 
จงเพียรหมั่นทำ ในสิ่งที่ควรทำ
 
เพื่อให้เราได้เข้าถึง ในสิ่งที่ควรเข้าถึง
 
เพื่อให้เราได้บรรลุ ในสิ่งที่ควรบรรลุ
 
และเพื่อให้เรา ไม่เสียโอกาส ที่ได้โอกาส เกิดมาเป็นคน
 
***************
 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
     
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ (กราบ)
 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
     
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ (กราบ)
 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
     
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ (กราบ)
 
ชาญ คำพิมูล

 




 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2564    
Last Update : 26 พฤษภาคม 2564 9:27:21 น.
Counter : 811 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.