bloggang.com mainmenu search

น้ำย่อยในกระเพาะกัดกระเพาะไม่ได้นะครับ เพราะในกระเพาะมีชั้นเมือกเคลือบไว้ ทำหน้าที่ปกป้องอยู่แล้ว จริงๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะนั้น มาจากเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori หรือ H. Pylori) ต่างหากซึ่งเจ้าแบคทีเรียนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมายตั้งแต่แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง มะเร็งในกระเพาะ มะเร็งในหลอดอาหาร รวมไปถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดอีกด้วย

โดยส่วนใหญ่เชื้อแบคทีเรียนี้จะอาศัยอยู่ที่บริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และทำให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น

จากการประเมินพบว่าประชากรทั่วโลกมีเชื้อแบคทีเรียตัวนี้อยู่ในร่างกายถึง 50% บางประเทศอาจมีมากถึง 60% ด้วยซ้ำ โดย 15% ของคนที่มีเชื้อจะมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารร่วมด้วย แต่บางคนก็อาจมีอาการนิดหน่อย ไม่เป็นไรมาก และถ้าพูดถึงคนที่มีแผลในกระเพาะอาหารมีถึง 90% ที่ติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะนั่นเอง แต่จะบอกว่าแบคทีเรียตัวนี้ไม่ได้มีอยู่ในอาหารไหนมากเป็นพิเศษ ฉะนั้นทานได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

ปัจจุบันเราสามารถตรวจหาเชื้อแบคทีเรียนี้ในกระเพาะอาหารได้หลายวิธีเช่น กินยาแล้วตรวจจากลมหายใจ หรือเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ หรือถ้าใครมีแผนจะตรวจร่างกายด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารอยู่แล้ว ก็ตรวจได้เลย เพราะตอนส่องกล้อง หมอจะเข้าไปเก็บตัวอย่างเยื่อบุกระเพาะมาตรวจด้วย ก็จะทำให้ผลตรวจละเอียดขึ้นไปอีก

ซึ่งหลายคนเมื่อเป็นโรคกระเพาะแล้วมักจะเป็นอยู่เรื่อยๆ ไม่หายสักที บางคนบอกกินอาหารตรงเวลาแล้ว อาการก็ดีขึ้นเดี๋ยวเดียว อีกสักพักก็กลับมากำเริบอีก นั่นก็เพราะร่างกายเรายังมีเชื้อแบคทีเรียตัวนี้อยู่ก็เลยไม่หายซักที
 
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การกำจัดเชื้อออกไปให้หมดด้วยการทานยาฆ่าเชื้อตามที่หมอสั่ง (ยกเว้นบางรายที่ดื้อยา) ซึ่งถ้ากำจัดเชื้อออกไปหมดแล้วไม่ค่อยมีใครกลับไปเป็นซ้ำอีก นอกจากจะไม่ต้องไปหาหมอรักษาโรคกระเพาะบ่อยๆ แล้วยังลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

ยกเว้นว่าช่วงที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารอยู่ ถ้ากินข้าวไม่เป็นเวลา กินอาหารไม่สะอาด กินรสเผ็ดจัด ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือกินยาที่กัดกระเพาะ น้ำย่อยก็อาจไปทำร้ายแผลเดิม อาการก็อาจกลับมากำเริบได้เช่นกัน
Create Date :11 พฤษภาคม 2563 Last Update :11 พฤษภาคม 2563 11:59:35 น. Counter : 713 Pageviews. Comments :1