bloggang.com mainmenu search
"คุณต้องฉีดสีตรวจไต" บางท่านอาจเคยได้รับการตรวจแบบนี้ หรือเคยได้ยินจากญาติ คนรู้จักเล่าให้ฟัง แต่สีของคุณหมอทำไมถึงไม่มีสีละครับ เห็นเป็นเพียงน้ำใสๆ แล้วทำไมเรียกสี เห็นเรียกกันติดปากมานานแล้ว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน จึงขอใช้คำว่า "สารทึบแสง" แทน แสงในที่นี้คืออะไร ก็คือแสงเอกซเรย์ สารทึบแสงก็คือน้ำยาที่แสงเอกซเรย์ ไม่สามารถผ่านทะลุไปได้ ถ้าเราใส่สารนี้เข้าในกระแสเลือด โดยการฉีดเข้าเส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดแดง สารทึบแสงนี้จะผ่านเส้นเลือดฝอยไปทั่วร่างกาย รวมถึงอวัยวะสำคัญ คือ สมอง ตับ ไต แล้วถูกขับถ่ายออกมากับปัสสาวะ เมื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ในขณะที่สารนี้อยู่ที่อวัยวะต่างๆ เช่น ไต จะเห็นภาพไต ท่อไต ทางเดินปัสสาวะต่างๆ ได้ชัดขึ้นมาก

เรามารถใช้สารทึบแสงนี้ตรวจอวัยวะต่างๆ ได้แก่
1. ระบบเส้นเลือดดำ และเส้นเลือดแดง
2. ระบบหมุนเวียนโลหิตของหัวใจ
3. สมอง และเส้นเลือดในสมอง
4. ตับ และระบบโลหิตของตับ
5. ไต และทางเดินปัสสาวะต่างๆ
6. อวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ หรือโพรง เช่น ท่อน้ำลาย ท่อน้ำตา มดลูกและท่อรังไข่ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากสารทึบแสง อาจมีบ้างแต่เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เช่น อาจมีผื่นขึ้นตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งมักจะหายไปได้เอง ผู้ที่แพ้สารทึบแสงที่มีอาการรุนแรง เช่น ช้อค อาจพบได้ 1 ใน 50,000 ราย
ปัจจุบันมีสารทึบแสง ชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง คือ สารทึบแสงที่ไม่แตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า ซึ่งได้ใช้กับผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่น 300,000 ราย พบว่ามีความปลอดภัยมากกว่าชนิดอื่นที่แตกตัวเป็นไอออน ถึง 6-10 เท่า แต่ก็มีราคาแพงกว่าประมาณ 3 เท่า
สารทึบแสงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ เพื่อการตรวจวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง อาจมีผลแทรกซ้อนบ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ถ้ารู้จักระวังในการใช้
Create Date :21 มีนาคม 2554 Last Update :21 มีนาคม 2554 11:25:17 น. Counter : Pageviews. Comments :1