bloggang.com mainmenu search

โรคหืดคืออะไร ?

โรคหืดเป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ การอักเสบดังกล่าว
ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวมและกล้ามเนื้อผนังหลอดลมหดตัว เป็นผลให้เกิด
หลอดลมตีบ ผู้ป่วยโรคหืดจึงมีอาการเหนื่อย,ไอ, แน่นหน้าอก และหายใจมีเสียงหวีด โดยอาการดังกล่าวมักรุนแรงมากที่สุดในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด

โรคหืดเกิดจากอะไร ?

ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของโรคหืด อย่างไรก็ตามการอักเสบของทางเดินหายใจในโรคหืดเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาอันซับซ้อนและนำไปสู่ภาวะทางเดินหายใจตอบสนองไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มากกว่าปกติในบุคคลที่มีพื้นฐานภาวะภูมิแพ้ สิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ได้แก่ ไรฝุ่น, ฝุ่นบ้าน, ควันบุหรี่, มลภาวะ, การติดเชื้อไวรัสบางชนิดในทางเดินหายใจ, ละอองเกสรพืชบางชนิด, ขนสัตว์, แมลงสาบ, เชื้อรา, ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน, สีผสมอาหาร, สารกันบูดในอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โรคหืดพบได้มากน้อยเพียงใด ?

ข้อมูลจากทั่วโลกบ่งชี้ว่าโรคหอบหืดพบได้บ่อยขึ้น ประเทศญี่ปุ่นมีความชุกของโรคหืดมากถึงร้อยละ 13 ของประชากร สิงคโปร์มีน้อยกว่าร้อยละ 10 ฟิลิปปินส์และฮ่องกงมีร้อยละ 12.4 ในประเทศไทยจากข้อมูลการสำรวจต่าง ๆ พบโรคหืดถึงร้อยละ 10-15 ของประชากร โรคหืดจึงก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ผู้ป่วยเด็กอาจต้องขาดเรียนบ่อย ๆ, ลดความสามารถในการออกกำลังกาย, เจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ ในผู้ใหญ่ทำให้ขาดงานบ่อย ๆ, คุณภาพชีวิตไม่ดีจากการจับหืดบ่อย ๆ นอกจากนี้ในรายที่รุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงทีอาจทำให้หัวใจวายหรือเสียชีวิตได้

โรคหืดรักษาอย่างไร ?

การรักษาโรคหืดมีเป้าหมายคือ ควบคุมอาการทั้งปวงและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินกิจวัตรได้เป็นปกติ ไม่ต้องมาห้องฉุกเฉินเพื่อรักษาการจับหืดฉับพลันรุนแรงบ่อย ๆ และป้องกันไม่ให้ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่สูบบุหรี่เด็ดขาด ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้หลอดลมอักเสบ (ดังที่กล่าวมาข้างต้น) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยแต่ละรายมักมีสิ่งกระตุ้นให้จับหืดหลายอยาง (ดังที่เรียกกันว่า แพ้สิ่งกระตุ้นหลายอย่าง) นอกจากนี้สิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็หลีกเลี่ยงได้ยากในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการใช้ยาเพื่อควบคุมและรักษาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

มียาอะไรที่ใช้รักษาโรคหืดได้บ้าง ?

เป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบันยารักษาโรคหืดมีประสิทธิภาพดีมาก ผู้ป่วยที่ใช้ยาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอสามารถควบคุมอาการทั้งปวงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่เป็นโรคหืดได้ ยารักษาโรคหืดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ประเภทที่หนึ่งคือ “ยาควบคุม (หรือป้องกัน) โรคหืด” ซึ่งควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบหืดโดยออกฤทธิ์ในการลดและควบคุมการอักเสบในหลอดลม ซึ่งมีผลลดความไวผิดปกติของทางเดินหายใจต่อสิ่งกระตุ้น ยาประเภทที่สอง คือ “ยาบรรเทา (หรือกอบกู้) อาการหอบเหนื่อย” ซึ่งมีคุณสมบัติในการขยายหลอดลมลดการตีบตัวของหลอดลมในระหว่างที่มีการจับหืดเฉลียบพลัน ยาทั้งสองกลุ่มนี้มีความสำคัญในการรักษาโรคหืด อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยใช้ยาประเภทควบคุมโรคหืดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอทุกวันแล้ว หลอดลมจะกลับสู่สภาพที่ไม่ไวผิดปกติต่อสิ่งกระตุ้นทางเดินหายใจ จะลดโอกาสเกิดหลอดลมตีบเฉียบพลันไปได้มาก จนทำให้ลดความจำเป็นในการใช้ยาขยายหลอดลมบรรเทาอาการไปได้มาก

รูปแบบของยารักษาโรคหืดได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก จากเดิมที่เป็นยารับประทานซึ่งมักจะมีผลข้างเคียง เช่น มือสั่น, ใจสั่น, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ปวดศีรษะ มาเป็นยาสูดพ่นเข้าไปยังหลอดลมโดยตรง จึงทำให้ยาเข้าถึงและออกฤทธิ์โดยตรงที่หลอดลม และปราศจากผลข้างเคียงรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย อย่างก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการอธิบายและฝึกวิธีการใช้ยาสูดพ่นอย่างถูกต้องจึงได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงในการรักษา
กล่าวโดยสรุป หลักการในการรักษาโรคหืดในสหัสวรรษปัจจุบันคือ การอธิบายถึงโรคหืดและวิธีการใช้ยาให้ผู้ป่วยได้เข้าใจอย่างถูกต้อง การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นทางเดินหายใจพร้อมไปกับการใช้ยาควบคุมป้องกันโรคหืดอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นปกติสุข
Create Date :04 มกราคม 2554 Last Update :4 มกราคม 2554 10:35:06 น. Counter : Pageviews. Comments :2