bloggang.com mainmenu search




ภาวะซึมเศร้าคืออะไร
?

ภาวะซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่งซึ่งจะทำให้รู้สึกดังนี้

ไม่มีความสุข ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง หมดความกระตือรือร้น เบื่อหน่าย แยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว ท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า มองตนเองไร้ค่า เป็นภาระต่อคนอื่น ถ้ามีอาการมากจะมีความรู้สึกเบื่อชีวิต




ข้อแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ กับภาวะซึมเศร้าทั่วไป

ในผู้สูงอายุพบว่าจะมีอาการบางอย่างที่อาจแตกต่าง จากภาวะซึมเศร้าทั่วไป ดังต่อไปนี้

ผู้สูงอายุมักจะบอกว่าไม่มีอารมณ์เศร้า ไม่มีร้องไห้บ่อยๆ แต่มักจะมีเพียงอาการเบื่อหน่ายไม่ทำกิจกรรมอะไร ทำให้คนรอบข้างหรือแพทย์ไม่รู้ว่าผู้ป่วยซึมเศร้าอยู่ เพราะเห็นอารมณ์เศร้าไม่ชัด

ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการทางกายเป็นอาการเด่น และมักไปพบแพทย์บ่อยๆด้วยอาการทางกายหลายๆ อย่างเช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด หรือปวดเมื่อย  แต่เมื่อตรวจแล้วก็ไม่พบความผิดปกติอะไรที่ชัดเจน แพทย์ก็จะให้ยารักษาตามอาการไปซึ่งกินแล้วก็อาจดีขึ้นชั่วคราว แต่ผู้ป่วยก็ยังมีอาการเหล่านี้ซ้ำๆ ไม่หายเนื่องจากตัวโรคซึมเศร้ายังไม่ได้รับการรักษา

ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีอาการหลงลืมง่าย สมาธิไม่ดี ทำให้คนรอบข้างหรือแพทย์อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ทั้งที่ความจริงผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

การรักษาภาวะซึมเศร้า

การรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุประกอบไปด้วย การรักษาด้วยยาต้านเศร้า (Antidepressant) และการให้คำปรึกษา/จิตบำบัด ซึ่งการรักษาได้ผลดีไม่แตกต่าง จากภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยทั่วไป เพียงแต่การให้ยาต้านเศร้า อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวทำให้ต้องกินยาหลายอย่าง ทำให้มีโอกาสที่ยาอาจจะทำปฏิกิริยาต่อกัน และผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่ายกว่า



ป้องกันภาวะซึมเศร้าอย่างไร?

สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษา คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค สิ่งที่เป็นปัญหาและพบได้บ่อยๆ คือผู้สูงอายุหลายคนเกษียณแล้วก็อยู่บ้านเฉยๆ  ส่วนใหญ่ไม่มีกิจกรรมอะไรทำที่ชัดเจน ไม่ได้ออกนอกบ้านไปไหนบวกกับส่วนใหญ่ลูกๆ ก็แยกบ้านไปหมดแล้วทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ดังนั้นสิ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ก็คือ

การวางแผนก่อนเกษียณให้ดี โดยต้องคิดไว้ล่วงหน้าเลยว่าถ้าหยุดทำงานแล้วจะทำอะไร

ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทำเป็นประจำ เช่น ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ หรืออาจทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้มีอะไรทำและรู้สึกว่าตัวเองยังสามารถทำอะไรได้

ควรมีการเข้าสังคมบ้าง เช่น อาจไปร่วมชมรมผู้สูงอายุ หรือจับกลุ่มพบประสังสรรค์กับเพื่อนที่อายุใกล้ๆ กัน

ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อที่ว่าหากเจ็บป่วยอะไรจะได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก


การเผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้า สำหรับวัยสูงอายุเป็นเรื่องที่หนักใจของใครหลายคน ทั้งญาติ ผู้ใกล้ชิด และตัวผู้สูงอายุเอง ดังนั้น การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับภาวะซึมเศร้าก็จะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ 

Create Date :17 พฤศจิกายน 2560 Last Update :17 พฤศจิกายน 2560 11:37:30 น. Counter : 1746 Pageviews. Comments :1