bloggang.com mainmenu search

การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก
โรคมะเร็ง เป็นเหตุของการเสียชีวิต หนึ่งในสามอันดับแรกของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยเมื่อเอ่ยถึงโรคมะเร็ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงความตาย แต่ในความเป็นจริง ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่สามารถจะหายขาดจากโรคร้ายนี้ได้โดยสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งก็คือการตรวจพบ โรคนี้ในระยะแรก ซึ่งทำให้แพทย์มีโอกาสสูงขึ้นที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้แต่แพทย์ก็ไม่สามารถที่จะตรวจพบมะเร็งทุกชนิดในระยะเริ่มแรกได้ทั้งหมด ในบทความนี้จะได้กล่าวถึงมะเร็งบางชนิดที่สามารถตรวจพบได้ในระยะแรก ทั้งโดยตัวของผู้ป่วยเองโดยแพทย์หรือโดยการตรวจด้วยวิธีพิเศษอื่นๆ และสามารถทำให้อัตราการหายจากโรคสูงขึ้น

มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยจะพบมากในช่วงอายุ40 ถึง 70ปี ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้นคือ ผู้ที่มีญาติ(พี่ น้อง มารดา) เป็นมะเร็งเต้านม, เคยเป็นมะเร็งทางมดลูก,รังไข่, หรือลำไส้ใหญ่, ผู้ที่มีความผิดปกติของยีนบางชนิด(BRCA1,BRCA2)และผู้ที่มีอายุสูงขึ้นจะมีอัตราเสี่ยวสูงขึ้น การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกและยังไม่มีการแพร่กระจายทำให้โอกาสในการหายขาดจากโรคสูงมาก (80-90%) มะเร็งเต้านมเป็นโรคทีผู้หญิงทุกคนสามารถจะตรวจได้ด้วยตัวเองการตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง, การตรวจร่างกายโดยแพทย์ปีละครั้งและการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์ ที่เรียกว่า MAMMOGRAPHY โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ตรวจทุกปีและอายุมากกว่า 50 ปี ตรวจ 2 ปีต่อครั้งและในกรณีที่แพทย์สงสัย หรือมีความผิดปกติอาจทำให้ตรวจบ่อยกว่านี้ได้ การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าทำให้อัตราการหายขาดจากโรคะเร็งนี้สูงขึ้น

มะเร็งปากมดลูก
เป็นมะเร็งที่พบในเพศหญิงอีกเช่นเคย และพบในอัตราที่สูง 90% ของมะเร็งที่ตรวจพบในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ทั้งโดยวิธีฉายแสง(รังสีรักษา)หรือการผ่าตัด การตรวจที่ได้ผลเป็นที่แน่นอนและยอมรับไปทั่วโลกเป็นการตรวจที่สะดวก รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่แพง คือ การตรวจด้วยวิธี PAPSMEAR ซึ่งสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ตรวจไปพร้อมการตรวจภายใน โดยนำเซลล์จากปากมดลูกไปย้อมสีพิเศษและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้ามีมะเร็งปากมดลูกจะพบเซลล์มะเร็งซึ่งบางครั้งสามารถวินิจฉัยได้โดยที่ไม่เห็นเนื้องอกด้วยตาเปล่า สตรีทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือเคยมี(ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม) ควรจะต้องได้รับการตรวจทุกปีใน 3 ปีแรก ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ อาจจะห่างออกไปได้ เช่น ทุก 2-3 ปี สำหรับหญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ถ้าอายุเกิน 20-25 ปี ควรจะได้รับการตรวจเช่นกัน

มะเร็งทางลำไส้ใหญ่
พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยพบในเพศชายได้สูงกว่าเล็กน้อยและพบบ่อยมากขึ้นเมื่ออายุเกิน 50 ปี(แต่ก็อาจจะพบในคนหนุ่มสาวได้)ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ อาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไรหรือมีโลหิตจาง(จากการเสียเลือดไปทางลำไส้ใหญ่)หรือมีอาการเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด, ท้องผูกหรือท้องเสียผิดปกติ, อุจจาระก้อนเล็กลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักจะมีโรคลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง แล้วทำให้โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ลดลง ผู้ที่มีพี่,น้อง, บิดา, มารดา เป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่สูงขึ้นการตรวจทางทวารหนัก (RECTAL EXAMINATION) และการตรวจหาเลือดในอุจจาระ(STOOL OCCULT BLOOD) ทุกปีในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วย การส่องกล้อง (COLONOSCOPE) หรือตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยรังสีเอกซเรย์และสวนแป้ง (BARIUM ENEMA) จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีมากขึ้น

มะเร็งของต่อมลูกหมาก
เป็นมะเร็งที่พบในเพศชายเท่านั้น และพบในคนสูงอายุ คือ มากกว่า 70ปี ขึ้นไป ซึ่งมักจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุมากอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากจะคล้ายกับอาการของต่อมลูกหมากโต โดยอาจจะมีอาการ ปัสสาวะลำบาก ไม่คล่อง ไม่มีแรงหรือปัสสาวะไม่ออกเลย ถ้ามีการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูกก็อาจจะมีอาการปวดตามสะโพก หลังหรือต้นขาหรือมาด้วยอาการของกระดูกหัก
การตรวจต่อมลูกหมาโดยนิ้วมือ โดยผ่านทางทวารหนัก (DIGITALRECTAL EXAMINATION) ทุกปี ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจเลือด PSA (PROSTATIC SPECIFIC ANTIGEN) จะช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็งทางต่อมลูกหมากได้มากขึ้น

มะเร็งของตับ
มะเร็งของตับ เป็นมะเร็งที่พบได้ทั้ง 2 เพศ โดยพบในผู้ชายมากกว่าและพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับตับแข็ง (ทั้งจากการดื่มสุรา และจากสาเหตุอื่นๆ)การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง, และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก
มะเร็งของตับ เป็นโรคที่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 1ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษา ถ้าสามารถตรวจพบในระยะแรกและสามารถผ่าตัดออกได้หมด จะมีโอกาสรักษาหายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ จะเป็นระยะที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
การหลีกเลี่ยงแอกอฮอล์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ในคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะช่วยลดอัตราเสี่ยงลงได้(ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน)สำหรับผู้ที่อัตราเสี่ยงอยู่แล้ว (มีตับแข็งหรือมีโรคตับอักเสบบีหรือซี) ควรให้มีการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดดูสาร AFP(ALFA FETOPROTEIN) ทุก 6 เดือนและตรวจตับด้วยอัลตราซาวน์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อผลเลือดผิดปกติ หรือทุก 1-2ปี จะช่วยให้พบโรคในระยะแรกได้
ในอนาคต คงจะมีวิธีการตรวจใหม่ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกแต่ในระหว่างนี้ คงจะต้องระมัดระวังตัวเองโดยการลดปัจจัยเสี่ยงลง

ข้อมูลสุขภาพโดย รพ.รามคำแหง
สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999

Create Date :17 เมษายน 2556 Last Update :17 เมษายน 2556 14:03:00 น. Counter : 1470 Pageviews. Comments :1