bloggang.com mainmenu search
อาการเจ็บหน้าอกเป็นอาการที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แต่ก็อาจจะเป็นอาการของโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคหัวใจก็ได้คนทั่วไปมักจะคิดว่า อาการเจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเจ็บหน้าอกด้านซ้าย เกิดจากโรคหัวใจจึงเกิดความกังวลความกลัวว่าจะมีอันตรายถึงชีวิตจากหัวใจวายโดยทั่วไปอาการเจ็บหน้าอกพบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของคนทั่วๆไปอาการเจ็บหน้าอกเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นอาการเจ็บในหลอดอาหารปอดเยื่อหุ้มปอดหรือในกล้ามเนื้และพังผืดผนังหน้าอกนอกจากนี้ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงกระดูกหน้าอกกระดูกซี่โครงอ่อนด้านหน้าและข้อต่อของกระดูกอาการเจ็บในหลอดอาหารมักเกิดขึ้นระหว่างรับประทานอาหารบางทีเกิดระหว่างกลืนบางทีอาจเกิดจากหลังรับประทานอาหาร มักมีอาการจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่และใต้กระดูหน้าอกเกิดเนื่องจาก กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหารทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหารได้อาการเจ็บจากปอดและเยื่อหุ้มปอดมักจะมีอาการเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการหายใจเข้าลึกๆ ลักษณะการเจ็บจะมีอาการเจ็บแปล๊บๆขึ้นมาได้บางครั้งอาจมีอาการบวมและกดเจ็บบริเวณที่มีการอักเสบของกระดูกข้อต่อระหว่างกระดูกหน้าอกและกระดูกซี่โครงอ่อนอาการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนทำให้ผู้ที่เกิดอาการมักไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่ซึ่งในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงอาการเจ็บหน้าอก จากโรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด
เกิดจากเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดอาการตีบทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้กล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจนชั่วขณะ เกิดอาการเจ็บหน้าอกอาการจะทุเลาเมื่อพักและถ้าเส้นเลือดที่ตีบเกิดอุดตันอย่างเฉียบพลันจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วน ก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาลได้
อาการเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากการเสียสมดุลย์ ของการใช้ออกซิเจน ของกล้ามเนื้อหัวใจ ในคนปกติ หรือผู้ที่มี หลอดเลือดหัวใจตีบเล็กน้อย การไหลเวียนของเลือด เพียงพอที่จะส่งออกซิเจน ให้กล้ามเนื้อหัวใจ แม้ว่าจะทำงานอย่างหนักก็ตามในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นจะมีอาการเจ็บหน้าอกเมื่อมีการออกกำลัง เพราะกล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น แต่ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีจำกัดเนื่องจากหลอดเลือดตีบ อาการจะดีขึ้นเมื่อพักความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง อาการเจ็บหน้าอกมักจะเป็นไม่เกิน10นาทีเมื่อหลอดเลือดตีบมากขึ้นระยะเวลาที่ออกกำลังจะน้อยลง อาการเจ็บหน้าอกจะเกิดเร็วขึ้นตามลำดับ และถ้ามีอาการอุดตัน ของหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ กล้ามเนื้อหัวใจที่หลอดเลือดตันไปเลี้ยง จะตาย อาการเจ็บหน้าอก จะเป็นอยู่นาน และต่อเนื่องมากกว่า 15 นาทีขึ้นไป และอาการจะไม่ทุเลา แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ เลย

ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอาการเจ็บปวดเหมือนถูกกดดัน ผู้ป่วยมักจะบรรยายว่ามีอาการแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดถูกบีบ หรือรู้สึกแน่น กลางหน้าอกอาการเหล่านี้อาจร้าวไปยังหัวไหล่ แขน คอ ขากรรไกร หรือหลังก็เป็นได้บางคนอาจมีความรู้สึกเหมือนมีเชือดรัดหรือมัดรอบหน้าอก อาจมีอาการเหงื่อออกอย่างมาก ตัวเย็น วิงเวียน คลื่นไส้ และอ่อนแรง ระยะเวลาของการเจ็บหน้าอกและความรุนแรงของอาการเจ็บ ขึ้นอยู่กับสภาพหลอดหัวใจว่าตีบน้อยตีบมากหรืออุดตันโดยสิ้นเชิง และความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจถ้าออกกำลังหัวใจต้องทำงานหนัก ต้องการออกซิเจนมากขึ้นอาการเจ็บหน้าอกก็จะเป็นมากและนานกว่า ในขณะพักการทำงานของหัวใจลดลงความต้องการออกซิเจนก็จะลดลง อาการเจ็บหน้าอกจะลดลง

ใครบ้างที่มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด มักจะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่
1. เพศชาย มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด มากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า
2. อายุ ในเพศชายมักจะเริ่มตั้งแต่ อายุ 35 ปีขึ้นไป ในเพศหญิงจะเกิดช้ากว่า คือ มักจะเกิดในวัยหมดประจำเดือน อายุประมาณ 50-55 ปี
3. สูบบุหรี่
4. ไขมันในเลือดสูง
5. โรคความดันโลหิตสูง
6. โรคเบาหวาน
7. อ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
8. เครียดง่าย เครียดบ่อย
9. มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดของคนในครอบครัว
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ได้เร็วกว่าผู้อื่น และมักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด
การวินิจฉัยเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุด คือ อาการเจ็บหน้าอก ดัง ได้กล่าวแล้วข้างต้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หลายข้อ มีอาการเจ็บหน้าอก เหมือนถูกกดทับหรือเหมือนถูกบีบรัดเป็นมากเวลาออกกำลังทุเลาลงเวลาพัก อาการมักจะหายไปใน 10-15 นาทีในกรณีที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงมีเหงื่อออกมาก วิงเวียน คลื่นไส้ มือเท้าเย็น เขียว หรือมีอาการหมดสติ พักแล้วไม่ดีขึ้น มักเกิดจาก หลอดเลือดหัวใจอุดตันโดยสิ้นเชิงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายต้องรีบนำผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลทันที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตโดยกระทันหันได้

ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบเล็กน้อยอาจจะไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเลย หรือเจ็บเล็กน้ อย เมื่อเวลาออกกำลังกายหนักเท่านั้น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะช่วยวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบน้อย คลื่นไฟฟ้าหัวใจมักจะปกติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ต้องการออกซิเจนมากขึ้น เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่สามารถนำเลือด และออกซิเจน ให้กล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นจึงช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้นอกจากนี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ยังช่วยบอกความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และสมรรถภาพของหัวใจได้อีกด้วย

ปัจจุบันการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ทำโดยให้เดินบนสายพานและมีการบันทึกกร๊าฟของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และความดันโลหิตตลอดเวลาที่ออกกำลังกาย และในระยะพัก หลังออกกำลังกาย เพื่อเปรียบเทียบกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ในขณะที่ยังไม่ได้ออกกำลังกาย
การตรวจพิเศษอย่างอื่นที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเช่น การฉีดสารกัมมันตภาพรังสี และใช้เครื่องมือตรวจจับสารเหล่านี้ ซึ่งจะปรากฏที่กล้ามเนื้อหัวใจและนำภาพเหล่านี้มาเปรียบเทียบกันระหว่างในขณะพักกับในขณะออกกำลังกายในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบภาพที่ได้ขณะออกกำลังกายจะมีการขาดหายไปของสารกัมมันตภาพรังสีในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดไปเลี้ยง
การวินิจฉัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้น สำหรับวิธีการตรวจเพื่อยืนยันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบคือการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดหัวใจ โดยการใช้สายสวนหัวใจเข้าทางหลอดเลือดแดงเข้าสู่เส้นเลืหัวใจและมีการบันทึกภาพขณะฉีดสารทึบรังสีผ่านเข้าไปในเส้นเลือดหัวใจ นอกจากจะเห็นลักษณะการตีบของเส้นเลือดหัวใจแล้วยังช่วยในการวางแผนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในขั้นตอนต่อไปด้วย
การรักษาโรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือดเนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดตีบหรืออุดตัน โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ทางที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้นโดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นจะชะลอการเกิดโรคนี้ก่อนวัยอันควรจะเป็นหรืออาจจะไม่เป็นเลยก็ได้

ในผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดเป็นครั้งแรก คือมีอาการเจ็บหน้าอก เวลาออกกำลังกาย หรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยหาสาเหตุไม่ได้ ควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง พร้อมทั้งจะได้รับการรักษา และป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ยังดีอยู่ จะได้ทำงานเป็นปกติต่อไปได้

การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดประกอบไปด้วย
1.การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต โดยการลดปัจจัยเสี่ยง
การลดปัจจัยเสี่ยงเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งในการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้มีการตีบของเส้นเลือดหัวใจ และยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลงด้วย การลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ
-เลิกสูบบุหรี่ เด็ดขาด
-ลดน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน
-ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
-ควบคุมโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสำหรับผู้ที่เป็นแล้ว ในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคเหล่านี้ ควรมีการตรวจเช็คทุก 6 เดือน เพื่อที่จะได้ควบคุมโดยเร็วที่สุด

2.การรักษาด้วยการใช้ยา
ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดความรุนแรงของโรคมีหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆเช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันเป็นต้นเพราะฉะนั้น ยาที่ใช้รักษา จึงขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรคได้แก่
-.ยาเพื่อป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดกับผนังของหลอดเลือดแดงซึ่งมีผลทำให้เกิดการทำลายของผนังหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดตีบตันมากขึ้น และอุดตัน
-ยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก ลดการทำงานของหัวใจช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น
-ยาเพื่อใช้ละลายลิ่มเลือดที่อุดกั้นเส้นเลือดหัวใจที่ตีบอย่างเฉียบพลันเพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตาจะได้ประโยชน์มากถ้าให้ได้เร็วที่สุดหลังจากที่เส้นเลือดหัวใจมีการอุดตันอย่างเฉียบพลันถ้าเกิน6ชั่วโมงไปแล้วจะได้ประโยชน์น้อยหรืออาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย
-ยาอื่นๆ ที่ใช้รักษาภาวะแทรกซ้อนได้แก่ยาขับปัสสาวะยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นต้นยาพวกนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นเท่านั้น

3.การขยายเส้นเลือดหัวใจโดยบอลลูน
เป็นวิธีการขยายเส้นเลือดหัวใจโดยการให้สายสวนหัวใจผ่านทางเส้นเลือดแดงที่โคนขาเข้าไปจนถึงเส้นเลือดหัวใจที่ตีบและขยายเส้นเลือดโดยทำให้บอลลูนที่ปลายของสายสวนหัวใจพองขึ้น เพื่อที่จะดันเส้นเลือดที่ตีบให้ขยายออก จะได้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น

4.การรักษาโดยการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจใหม่
โดยการใช้เส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำที่ขามาต่อเส้นเลือดหัวใจเพื่อเพิ่มทางเดินของเลือด ที่จะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น
การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่เกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่มาพบแพทย์ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องการการรักษาต่อเนื่องตลอดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดตีบมากขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่จะตามมาซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้
Create Date :25 มีนาคม 2554 Last Update :25 มีนาคม 2554 14:15:15 น. Counter : Pageviews. Comments :2