bloggang.com mainmenu search

ปัจจุบันเลนส์สัมผัส หรือคอนแท็คเลนส์นิยมใช้กันมาก เพราะมีให้เลือกหลายแบบ การดูแลสะดวกสบายขึ้น จนบางครั้งละเลยไปจนเกิดผลเสียกับตา และอาจจะถึงกับตาบอดได้
ก่อนจะกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ตาบอดจากคอนแท็คเลนส์ เรามารู้จักชนิดของเลนส์ก่อน ซึ่งจะแบ่งง่าย ๆ เป็น
1. ชนิดนิ่ม ( Soft Contact lens )
2. ชนิดแข็ง ( Rigid Contact lens )
3. ชนิดออกซิเจนเลนส์ (Rigid O2 permeable lens ) คือ ชนิดแข็งที่ออกซิเจนผ่านเลนส์ดีขึ้น

ใส่นอนได้ - ใส่ถอดทุกคืน อย่างไหนดีกว่ากัน ?
ปกติกระจกตาดำ (Cornea) จะได้รับออกซิเจนจากอากาศขณะตาลืมอยู่ และได้จากเยื่อบุตาใต้เปลือกตาขณะหลับตา ปริมาณออกซิเจนขณะหลับตาจะลดลงประมาณ 3 เท่าของขณะลืมตา
เลนส์ใส่นอนได้ สามารถใส่อยู่ในตาได้หลายชั่วโมง โดยที่กระจกตาจะไม่ขาดออกซิเจน สำหรับชนิดที่ต้องถอดทุกคืน ปกติไม่ควรจะใส่นานกว่าวันละ 8 - 12 ชั่วโมง
ส่วนคอนแท็คเลนส์ชนิดเปลี่ยนบ่อย (Disposable contact lens) คือ ชนิดที่ใส่ได้หลายชั่วโมง แต่อายุเลนส์จะสั้นอาจจะเป็น 1 - 2 สัปดาห์ ก็ต้องเปลี่ยนทิ้ง หรือเปลี่ยนทิ้งทุกเดือน แต่ละอย่างจึงมีข้อดีข้อเสียต่างกัน

คอนแท็คเลนส์ทำให้ตาบอดได้อย่างไร ?
1. ตาบอดจากกระจกตาดำอักเสบติดเชื้อ ปกติเชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปในกระจกตาดำไม่ได้ ถ้าไม่มีแผลถลอกของกระจกตาดำ
กระจกตาดำจะถลอกจากการใส่เลนส์นานเกินไป ทำให้กระจกตาดำขาดออกซิเจนมีเซลล์ตายเกิดเป็นแผลถลอก เมื่อใส่เลนส์นาน ๆ ไม่ได้ถอดล้างทำความสะอาด เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามผิวเลนส์จะไปติดที่แผลถลอก ทำให้กระจกตาดำอักเสบติดเชื้อ อาจจะรุนแรงจนตาบอดได้

2. ตาบอดจากยาที่ใช้หยอดตา ปกติในชุดน้ำยาของคอนแท็คเลนส์จะมียาหยอดหล่อลื่น (Lens Lubricant) ใช้กรณีตาแห้ง ใช้ได้ตลอดเพราะว่าปลอดภัย
ถ้าใช้ยาหยอดตาแก้อักเสบควรจะงดใส่คอนแท็คเลนส์
สำหรับยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมสเตอร์รอยด์ สเตอร์รอยด์จะทำให้ความดันตาขึ้นสูง ถ้าใช้ยาติดต่อกันนาน ความดันตาที่สูงอยู่เป็นเวลานานจะทำให้ตาบอดได้ ดังนั้น กรณีที่ต้องใช้ยาแก้อักเสบบางชนิดติดต่อกันนาน จะต้องตรวจตาและวัดความดันตาเป็นระยะ

เมื่อมีอาการผิดปกติ เวลาใส่คอนแท็คเลนส์จะทำอย่างไร ?
เศษผงเข้าตาขณะใส่เลนส์ให้ถอดเลนส์ทันที ล้างตา ถ้าไม่หายระคายเคือง อาจจะเกิดจากแผลถลอกของกระจกตาดำซึ่งจะพบในเลนส์ชนิดแข็งได้บ่อยกว่า ควรจะพบจักษุแพทย์ และงดใช้เลนส์จนกว่าแผลจะหาย

การป้องกัน
หลีกเลี่ยงภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองมาก และใช้แว่นกันแดดในกรณีที่ใช้เลนส์ชนิดแข็ง ขณะอยู่นอกบ้าน

ตาแห้ง
เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด ของการใช้คอนแท็คเลนส์ชนิดนิ่ม พบบ่อยในเลนส์เก่า โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาน้ำตาน้อยอยู่เดิม เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ บางชนิด หรือหญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำจะทำให้ตาแห้งได้

การแก้ไข
ใช้น้ำยาหล่อลื่น หรือ เปลี่ยนชนิดของน้ำยาทำความสะอาดเลนส์ ไม่ก็
เปลี่ยนไปใช้เลนส์ชนิดเปลี่ยนบ่อย หรือ เปลี่ยนเป็นเลนส์ที่มีส่วนประกอบของน้ำที่ต่างไปจากเลนส์คู่เดิม อาจจะเปลี่ยนจากเลนส์นิ่มเป็นชนิดออกซิเจนผ่านได้ดีก็ได้ และลดเวลาใส่คอนแท็คเลนส์

อาการแพ้
สิ่งสกปรกที่เกาะผิวเลนส์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เยื่อบุตาอักเสบแพ้ พบบ่อยในกรณีฆ่าเชื้อเลนส์ด้วยวิธีอบ หรือต้มเลนส์

อาการ
เลนส์เลื่อนบ่อย รู้สักคันเคืองตา มองไม่ชัด เนื่องจากสิ่งสกปรกเกาะผิวเลนส์

การแก้ไข
เปลี่ยนน้ำยาล้างเลนส์เป็นระบบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือล้างด้วยยาเม็ดล้างคราบโปรตีน อาจจะเปลี่ยนเลนส์จากชนิดนิ่มเป็นชนิดออกซิเจนผ่านได้
Create Date :03 มีนาคม 2554 Last Update :3 มีนาคม 2554 14:21:58 น. Counter : Pageviews. Comments :1