bloggang.com mainmenu search
ยื้อชีวิต...ช็อกไฟฟ้าหัวใจ กว่า 100 ครั้ง
ก่อนส่งตัวไปเปลี่ยนหัวใจรอดหวุดหวิด

*****อาการโคม่าระหว่างรอบายพาส และหัวใจเต้นผิดปกติอย่างหนัก ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องระดมฝ่าวิกฤติจนเป็นผลสำเร็จ แถมโชคช่วยให้ได้รับหัวใจดวงใหม่มาเปลี่ยนหลังเกิดเหตุภายในไม่กี่ชั่วโมงจนรอดตายกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยไม่ต้องพึ่งหัวใจดวงเก่าอีกต่อไป
*****รายละเอียดของกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ อดีตผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งเคยผ่านความทุกข์ทรมานจากอาการหลอดเลือดหัวใจตีบส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกายทำให้หัวใจมีขนาดโตขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้เหนื่อยง่ายแม้จะออกแรงเดินไปไหนในระยะใกล้ๆ หรือแม้จะนั่งอยู่เฉยๆ และในที่สุดได้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจติดขัด มาเป็นระยะเวลานานแม้จะทานยาเพื่อควบคุมอาการมาอย่างต่อเนื่องแต่อาการได้เริ่มรุนแรงขึ้นจึงตัดสินใจไปเข้ารับการรักษาที่ศูนย์หัวใจของโรงพยาบาล
*****อดีตผู้ป่วยรายนี้เผยต่อไปอีกว่า หลังจากตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดและพบต้นตอแล้ว แพทย์ได้แนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดบายพาสโดยด่วน แต่ด้วยความรุนแรงของโรคทำให้หัวใจเต้นผิดปกติอย่างหนักระหว่างรอการผ่าตัด และทีมแพทย์ได้ตัดสินใจใช้วิธีช็อกไฟฟ้าหัวใจกว่า 100 ครั้ง เพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ แต่ในที่สุดคณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่าทางรอดเหลืออยู่ที่การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอีกวิธีเดียว ซึ่งตนเองมิได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้แต่ก็เหมือนมีปาฏิหาริย์ที่มาช่วยให้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจนมีชีวิตรอดมาถึงปัจจุบัน
*****สำหรับอายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจของโรงพยาบาล ได้อธิบายถึงลักษณะอาการของโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ โดยสาเหตุอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ขาดการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารรสเค็มเกินไป เป็นต้น
*****ทั้งนี้ กรณีของอดีตผู้ป่วยมีปัญหาของหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง แล้วก็มีหัวใจโตขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม อีกทั้งเป็นผู้ป่วยวิกฤต ดังนั้นการผ่าตัดบายพาสจะสามารถแก้ไขได้ แต่ในระหว่างที่รอการผ่าตัดอยู่นั้น ผู้ป่วยก็เกิดหัวใจเต้นไม่ปกติติดต่อกันหลายครั้ง แม้แต่ให้ยาแก้หัวใจเต้นไม่ปกติหลายขนานก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการช็อกไฟฟ้าหัวใจเป็น 100 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 8 ชั่วโมง ก็ทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติอีกครั้ง “ขณะเดียวกันเราก็ได้แจ้งให้ญาติของผู้ป่วยทราบว่าทางเลือกสุดท้ายก็คือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ”
*****หลังจากรับทราบจากแพทย์แล้ว ญาติของผู้ป่วยได้ติดต่อขอจองหัวใจดวงใหม่ที่มีผู้บริจาคให้กับศูนย์ปลูกถ่ายหัวใจที่โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยไม่ได้คาดคิดว่าจะได้รับหัวใจดวงใหม่อย่างรวดเร็วเพียง 7 ชั่วโมง ซึ่งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์หัวใจของโรงพยาบาลได้ติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจนเป็นที่เรียบร้อยและช่วยให้ผู้ป่วยรายนี้รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด
**** “ตอนนี้ใช้หัวใจใหม่มาได้ 5-6 เดือนแล้ว และมีอาการปกติเหมือนตายแล้วเกิดใหม่เลย ทำงานได้เหมือนคนปกติดีใจมาก และต้องขอขอบคุณคุณหมอจากโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ที่ช่วยชีวิตให้” อดีตผู้ป่วย เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
*****ในตอนท้ายอายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจของโรงพยาบาล ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ แต่หากอยู่ในระยะของโรคหัวใจล้มเหลวแล้ว ควรเน้นควบคุมเรื่องการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอและควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ เพื่อตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ ก็จะทำให้สภาพโดยทั่วไปดีขึ้น


//www.ram-hosp.co.th
Create Date :11 พฤษภาคม 2552 Last Update :11 พฤษภาคม 2552 10:57:15 น. Counter : Pageviews. Comments :1