bloggang.com mainmenu search

เป็นทางเลือกใหม่ที่มาช่วยคลายกังวลให้ผู้ป่วยที่มักมีอาการเกิดขึ้นไม่เลือกเวลาแถมยังชอบเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็หายไป บ้างก็ใจเต้นเร็ว บางทีก็เต้นแรงน่ากลัว แต่ตรวจไม่พบเวลาไปหาหมอ แต่น่าทึ่งที่ผู้ป่วยสามารถส่งอาการเต้นไปตรวจได้ทางโทรศัพท์หลังเกิดอาการทุกที่ทุกครั้ง

ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดปกติที่มาเข้ารับการตรวจอาการใจสั่น ใจหวิว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หัวใจเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมากเนื่องจากไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาเมื่อไรและเวลาใด โดยมักจะเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งเพียงไม่นาน จึงตรวจไม่พบเมื่ออยู่ต่อหน้าแพทย์และไม่สามารถค้นหาต้นเหตุของอาการหัวใจเต้นผิดปกติดังกล่าว แต่ภายหลังจากกลับไปแล้วก็มีอาการขึ้นมาสร้างความท้อแท้และกังวลใจให้กับผู้ป่วย
หัวใจเต้นผิดจังหวะมีอาการหลายอย่าง ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลยแต่จะพบได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป ขณะที่บางรายจะมีอาการไม่มากเช่น ใจสะดุด หัวใจเต้นไม่เรียบ หัวใจเต้นแรงๆ ใจสั่นๆ แต่บางคนก็เป็นรุนแรงขนาดขั้นเป็นลมหมดสติ รุนแรงที่สุดคือเสียชีวิตเฉียบพลันเลย เมื่อใดก็ตามที่มีความรู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการเหนื่อยโดยหาสาเหตุไม่เจออาจจะเป็นอาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อช่วยให้การตรวจวัดอัตราการเต้นผิดปกติของหัวใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากในอดีตที่ต้องใช้เครื่องบันทึกสัญญาณการเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีสายไฟฟ้าจำนวน 7 เส้น ติดตามตัวผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วยเครื่องบันทึกสัญญาณเป็นครั้งคราวแบบพกพา โดยจะมีขั้วไฟฟ้าอยู่เพียง 2 ขั้วเท่านั้น แต่เครื่องดังกล่าวมีข้อจำกัดตรงที่สามารถบันทึกข้อมูลได้เพียง 5 ครั้ง ซึ่งล่าสุดได้มีการพัฒนาเครื่องตรวจการเต้นของหัวใจแบบพกพา (EVENT RECORDER) ซึ่งจะใช้ในการบันทึกสัญญาณความผิดปกติของหัวใจในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการ ก็จะสามารถตรวจจับความผิดปกติได้โดยไม่ต้องใช้เวลามากนัก
กรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งอาจมีอาการไม่เหมือนกัน ซึ่งบางรายอาจมีอาการนานพอที่จะไปถึงโรงพยาบาลใกล้ที่สุดก็สามารถตรวจได้เลย แต่สำหรับรายที่หัวใจเต้นผิดปกติแบบมาๆ ไปๆ หลบๆ ซ่อนๆ ไม่ปรากฏตัวตลอดเวลา และเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ นั้น เทคโนโลยีนี้จะเหมาะมากเพราะทุกครั้งเมื่อเกิดอาการขึ้นมาก็เอาตัวเครื่องมาทาบที่หน้าอก จะสามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งหมด 6 ครั้งๆละ 32 วินาที ซึ่งเพียงพอต่อการตรวจจับความผิดปกติได้แล้ว
หลังจากนั้นผู้ป่วยก็สามารถส่งข้อมูลที่บันทึกไว้ไปให้เครื่องบันทึกข้อมูลที่ศูนย์หัวใจฯ โดยผ่านทางสายโทรศัพท์ ทำให้สามารถจะตรวจวัดได้เร็วขึ้นไม่ว่าการเต้นผิดจังหวะจะเกิดขึ้นเวลาใด มีช่วงสั้น-ยาวเพียงใด ซึ่งจะช่วยลดความกังวลใจ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลได้ค่อนข้างมาก
สำหรับสัญญาณที่ส่งผ่านทางสายโทรศัพท์นี้จะแสดงในรูปแบบของกราฟการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะปรากฏขึ้นภายในห้องดูแลผู้ป่วยหนักโรคหัวใจหรือ CCU ของโรงพยาบาล โดยหากพบความผิดปกติเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้กับผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทราบเพื่อวางแผนการรักษาในลำดับต่อไป โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาการรับส่งข้อมูลของเครื่องตรวจการเต้นของหัวใจแบบพกพาให้สามารถส่งข้อมูลได้โดยตรงไปยังคอมพิวเตอร์ผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณอินฟราเรดที่ติดมาพร้อมกับตัวเครื่อง ทำให้แพทย์สามารถเรียกหาข้อมูลได้จากการเข้าอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้ง่ายต่อการส่งสัญญาณของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดปกติจะขึ้นอยู่กับชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติแต่ละประเภท ซึ่งการรักษาจะเริ่มตั้งแต่การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการจนไปถึงวิธีการรักษาด้วยเทคนิคการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างเครื่องตรวจวิเคราะห์ระบบการนำไฟฟ้าหัวใจ (EP SYSTEM) และเครื่องค้นหาตำแหน่งของการเกิดวงจรไฟฟ้าภายในหัวใจ (CARTO SYSTEM) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดปกติได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการหายได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทานยาไปตลอดชีวิต
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นปกติ หากมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้น ผู้ป่วยควรทดสอบการเต้นของชีพจร ซึ่งหากอัตราการเต้นอยู่ในขอบเขตไม่ถึง 100 ครั้งต่อนาที นั่นอาจจะไม่ใช่การเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากการตื่นเต้นภายนอก เช่น การดื่มกาแฟ พักผ่อนไม่เพียงพอ มีปัญหาความเครียดทางอารมณ์ แต่หากอัตราการเต้นเร็วเกินกว่า 150 ครั้งต่อนาที มักจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป


ข้อมูลสุขภาพโดย โรงพยาบาลรามคำแหง
สายด่วนสุขภาพ โทร. 02-743-9999
Create Date :18 มกราคม 2555 Last Update :18 มกราคม 2555 16:54:45 น. Counter : Pageviews. Comments :1